| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป /a>|
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางวัฒนธรรม

            วัฒนธรรมของเชียงราย จัดเป็นวัฒนธรรมแบบผสมผสาน สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน นับตั้งแต่ได้ตั้งเป็นปึกแผ่นเป็นแคว้นล้านนา ได้เกิดวัฒนธรรมทั้งเก่าและใหม่มากมายหลายสาขา ทั้งที่เป็นของดั้งเดิมที่สืบทอดกันมา และที่แลกเปลี่ยนรับมาจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีวิถีชีวิตที่คล้ายคลึงกัน
โบราณวัตถุ และโบราณสถาน
            แหล่งโบราณคดี อุตสาหกรรมและเครื่องถ้วย  เตาเผาที่พบในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนเป็นแบบเตาชุด หรือเตาอุโมงค์ ภาชนะดินที่พบมีทั้งแบบเคลือบ และไม่เคลือบ อุณหภูมิที่เผาประมาณ ๑,๒๕๐ องศาเซลเซียส แหล่งเตาสำคัญได้แก่ แหล่งเตาเวียงกาหลง เป็นเตาเผาที่มีโครงสร้างระบายความร้อนในแนวนอน เตาเผาที่พบในเขตจังหวัดเชียงรายมีอยู่ ๓ แหล่งด้วยกันคือ
            เตาเผาเครื่องถ้วยบ้านโป่งแดง  อยู่ในเขตอำเภอพาน เป็นพื้นที่โบราณสถานมากกว่า ๑๐๐ ไร่ พื้นที่ส่วนมากเป็นท้องนา ที่ตั้งของเตาจะสร้างบนที่ที่เป็นเนินดิน มีอยู่ ๓ แห่งคือ เตาดอยสันป่าสัก เตาดอยสันธาตุ และเตาบ้านจำปูน พบเตาเผาจำนวน ๑๔ เตา พบเครื่องถ้วยเคลือบสีน้ำตาลอ่อน และสีเขียวใส มักตกแต่งด้วยการขูดขีดลายหรือปั้นแปะ
            เตาถ้วยชามเวียงกาหลง  อยู่ในเขตอำเภอเวียงป่าเป้า บริเวณที่ตั้งมีหลายแห่งด้วยกันคือ ที่บ้านนสันมะเค็ด บ้านทุ่งม่าน บ้านป่าส้าน และในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงอีกสองแห่ง ใกล้เคียงกับเมืองโบราณเวียงกาหลง และที่บ้านทุ่งฮั้ง กับบ้านหัวทราย ในเขตอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ได้สำรวจพบชิ้นส่วนเครื่องถ้วยเป็นจำนวนมาก
            แหล่งเตาเผาเวียงกาหลง  มักตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำลาว เมื่อถึงฤดูฝนและมีน้ำป่าหลากมา เตาก็จะถูกทำลายลงไปในแม่น้ำด้วย ลักษณะโดยทั้วไปของเครื่องถ้วยจากแหล่งเตาเวียงกาหลงมักจะเคลือบใส เขียนลายสีดำใต้เคลือบ อีกแบบหนึ่งเป็นภาชนะเคลือบสีขาวไม่มีลวดลาย ทั้งสองแบบเนื้อดินบาง
            สำหรับเตาเผาพื้นเมืองเชียงแสน ไม่พบแหล่งเตา พบแต่เพียงภาชนะดินเผามีรูปแบบพื้นบ้าน พบกล้องยาสูบเป็นจำนวนมาก เครื่องถ้วยเป็นเครื่องถ้วยชนิดแกร่งไม่เคลือบ ทำลวดลายโดยการขูดขีด หรือปั้นแปะ
    เมืองประวัติศาสตร์เชียงแสน
            ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๔๗ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้กองทัพจากกรุงเทพ ฯ ยกกำลังร่วมกับเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ เจ้าอุปราชเมืองเชียงใหม่ เจ้าเมืองนครลำปาง และเจ้าเมืองนครน่าน ยกกองทัพมาปิดล้อมเมืองเชียงแสน อยู่ถึง ๕ เดือน จึงตีเมืองได้ เจ้าอุปราชเมืองเชียงใหม่จึงสั่งให้รื้อกำแพงเมืองและเผาเมืองเสีย เพื่อไม่ให้พม่าใช้เป็นที่มั่นได้อีก และได้กวาดต้อนผู้คนประมาณ ๒๓,๐๐๐ ครัวเรือน ลงมาด้วย
            โบราณสถานที่สำคัญของเมืองเชียงแสนที่หลงเหลืออยู่มักเป็นศาสนสถานในพระพุทธศาสนาที่เหลือเป็นซากปรักหักพัง ได้แก่ พระเจดีย์ และพระวิหาร ซึ่งส่วนใหญ่มีรายชื่อปรากฏอยู่ในพงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน มีวัดอยู่ทั้งสิ้น ๑๔๐ วัด เป็นวัดในเมือง ๗๖ วัด วัดนอกเมือง ๖๕ วัด ในบริเวณเมืองเชียงแสนนอกจากวัดป่าสัก และวัดเจดีย์หลวงแล้ว ยังมีวัดพระธาตุจอมกิตติ วัดพระบวช วัดมุงเมือง วัดพระเจ้าล้านทอง วัดพระยืน วัดเสาเคียน วัดอาทิต้นแก้ว วัดพระธาตุภูเจ้า วัดสังฆาแก้วดอนทัน วัดผ้าขาวปาน วัดปงสนุก วัดพระธาตุผาเงา วัดสองพี้น้อง
       แหล่งประวัติศาสตร์
            เวียงหนองล่ม  เรียกกันโดยทั่วไปว่า เวียงหนอง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ ๕ ตารางกิโลเมตร อยู่ที่บริเวณทะเลสาบเชียงแสน หรือหนองบงกาย ตั้งอยู่ระหว่างเขตติดต่อของตำบลโยนก อำเภอเชียงแสน กับตำบลจันจว้า อำเภอแม่สาย
            ตามตำนานและพงศาวดารหลายเล่มกล่าวตรงกันว่า เจ้าชายสิงหนวัติ ได้พาผู้คนมาตั้งบ้านเมือง ชื่อว่าเมืองโยนกนาคพันสิงหนวัติ หรือโยนกนครหลวง มีกษัตริย์ปกครองมาตามลำดับ จนถึงพระเจ้ามหาชัยชนะเมืองเกิดถล่มกลายเป็นหนองน้ำ เรียกว่าเวียงหนองล่ม
            จากการสำรวจเบื้องต้นได้พบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ดังนี้
            ทางด้านทิศตะวันตกของหนองน้ำ ปรากฏหลักฐานการก่อสร้างศาสนสถานในพื้นที่ ประมาณ ๕ ไร่ พบโบราณวัตถุ เช่น เครื่องมือหินเก่า เครื่องมือหินกลาง เครื่องมือหินใหม่ สำริด เหล็ก ภาชนะดินเผา เครื่องถ้วย พาน กล้องยาสูบ เครื่องถ้วยสังคโลก ฯลฯ
            ใต้หนองน้ำชาวบ้านแม่ลาก แม่ลัว และบ้านห้วยน้ำลาก เล่าว่าได้เคยพบเสาไม้ลักษณะเป็นเสาเรือน และเครื่องมือไม้ลักษณะเป็นเครื่องมือรีดทำน้ำอ้อย
            เกาะดอนแท่น  มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เกาะหลวง มีชื่อปรากฏอยู่ในตำนาน และพงศาวดารหลายเล่ม มีความว่า เมื่อพระเจ้าแสนภูสร้างเมืองเชียงแสน ได้ทรงประทับอยู่ในวังบนเกาะดอนแท่น บริเวณหน้าเมืองเชียงแสน
            สมัยพระเจ้ากือนาครองเมืองเชียงใหม่ ทรงนำพระสีหลปฏิมามายังเมืองเชียงแสน กระทำพิธีอภิเษกพระบนเกาะดอนแท่น แล้วนำไปประดิษฐานไว้ที่วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงราย
            ประมาณปี พ.ศ.๑๙๒๖ พระมหาเถรเจ้าศิริวังโสนำเอาพระพุทธรูปสององค์เรียกว่าพระแก้ว และพระคำมาสร้างเป็นวัดพระแก้วบนเกาะดอนแท่น โดยสร้างวัดพระแก้วไว้ทางด้านใต้ วัดพระคำอยู่ทางด้านเหนือ
            เมื่อพระเจ้าสามฝั่งแกนครองเมืองเชียงใหม่ใน ปี พ.ศ.๑๙๕๖ พวกฮ่อยกทัพมารุกรานเมืองเชียงแสน พระมหาเถรศิริวังโสแห่งเกาะดอนแท่น สามารถขับไล่ทัพฮ่อออกไปได้ จึงโปรดประทานเกาะดอนแท่นทั้งเกาะแก่พระมหาเถร
            สมัยพระเจ้าพิกุลครองเมืองเชียงใหม่ พระญาณมงคลเถระ สมมติเสมาไว้ที่เกาะดอนแท่น แล้วบวชพระสงฆ์ที่เรือขนานหัวเกาะดอนแท่น
            ในสมัยพระเจ้ายอดเชียงรายครองเมืองเชียงใหม่ใน ปี พ.ศ.๒๐๓๖ โปรดให้ชำระนทีสีมาที่พระญาณมงคลเถระสมมติไว้แล้วที่เกาะดอนแท่น เมืองเชียงแสน
            สมัยพระยาอติโลกราช ทรงให้ร้อยขุนกับสิบอ้านนิมนต์เอาพระพุทธรูปพระเจ้าทองทิพย์องค์หนึ่งจากจอมทองเมืองเชียงใหม่ ที่เอามาจากเมืองลังกา มาประดิษฐานไว้ที่เกาะดอนแท่น
            เกาะดอนแท่นพังทลายลงไปในแม่น้ำโขงแต่เมื่อใดไม่มีผู้ใดทราบ เนื่องจากเชียงแสนได้เป็นเมืองร้างไปตั้งแต่รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    สิ่งสำคัญคู่บ้านเมือง
            เสาสะดือเมือง  ที่วัดดอยจอมทองมีเสาสะดือเมืองมีอาณาเขต และจำนวนเสามากที่สุดของประเทศไทยคือมีขนาด ๓๕ X ๓๕ เมตร และมีเสาอยู่รวมทั้งสิ้น ๑๐๙ ต้น รวมทั้งเสาบริวาร บริเวณสะดือเมืองมีจารึกด้วยภาษา ๓ ภาษา คือ ภาษาล้านนา ภาษาไทยกลาง และภาษาอังกฤษ
            กู่พระเจ้าเม็งราย  ตั้งอยู่ในบริเวณวัดงำเมือง บนดอยงำเมือง ในเขตอำเภอเมือง ฯ เป็นที่บรรจุอัฐิของพระเจ้าเม็งรายมหาราช ตามประวัติกล่าวว่า พระเจ้าชัยสงคราม ราชโอรสพระเจ้าเม็งรายได้มอบราชสมบัติให้เจ้าแสนภูราชโอรสให้ขึ้นครองนครเชียงใหม่ แล้วพระองค์ได้นำอัฐิพระราชบิดามาประทับอยู่ที่เมืองเชียงราย และได้ให้สร้างกู่บรรจุอัฐิของพระราชบิดาไว้ ณ สถานที่ดังกล่าว
    ภาษาถิ่น
            เชียงรายเป็นจังหวัดที่มีภาษาพูด และภาษาเขียนของตนเอง เรียกว่าภาษาพื้นเมืองหรือคำเมือง เป็นภาษาของชนชาวล้านนา หรือภาคเหนือตอนบน ซึ่งแต่ละจังหวัดจะมีสำเนียงแตกต่างกันออกไป และใช้ศัพท์ผิดเพี้ยนกันไปบ้าง
            ภาษาพูด  ใช้พูดจากันเรียกว่า อู้คำเมือง สำเนียงพูดของชาวเชียงรายไม่เหมือนกับจังหวัดอื่น ๆ ในภาคเหนือ คือไม่เนิบนาบ และไม่ห้วนจนเกินไป เป็นสำเนียงที่หล่อหลอมขึ้นมาใหม่ เนื่องจากเชียงรายเคยเป็นเมืองร้างผู้คนนานเกือบร้อยปี ได้มีการฟื้นฟูบ้านเมืองขึ้นมาใหม่เมื่อประมาณ ปี พ.ศ.๒๓๘๔ โดยได้เกณฑ์ราษฎรจากเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน และชนเผ่าไตใหญ่ ไตลื้อ ไตยอง และไตขืน (เขิน) ซึ่งอพยพจากเชียงตุง และสิบสองปันนา รวมทั้งชาวลาวจากประเทศลาว ได้เข้ามาอาศัยอยู่รวมกัน ดังนั้นสำเนียงพูดของชาวเชียงรายจึงมีความหลากหลายทางสำเนียงในพื้นที่ต่าง ๆ แต่ภาษาหลักของเชียงรายจะอยู่ที่อำเภอเมือง อำเภอเชียงแสน อำเภอแม่จัน อำเภอแม่สาย อำเภอเวียงชัย และอำเภอพาน ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ใช้ภาษาไทยกลางกันเป็นส่วนใหญ่
            ภาษาเขียน  เชียงรายก็เช่นเดียวกันกับจังหวัดทางภาคเหนืออื่น ๆ คือมีภาษาเขียนที่เรียกว่าอักขระล้านนา หรือตั๊วเมือง อักษรล้านนามีวิวัฒนาการมาจากอักษรพราหมีของอินเดีย  มีการจัดระบบของหลักภาษาคล้ายกับภาษาบาลี อักษรล้านนามีรูปทรงกลมป้อมคล้ายอักษรพม่าและมอญ แต่หลักการทางภาษาไม่เหมือนกัน จากหลักฐานในศิลาจารึกวัดพระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ แสดงให้เห็นว่ารูปทรงของอักษรล้านนามีรูปทรงเป็นตัวเหลี่ยมมาก่อน
            เมื่อปี พ.ศ.๑๙๐๐ ในรัชสมัยพระเจ้ากือนากษัตริย์ล้านนา แห่งราชวงศ์มังราย ได้นำเอาอักษรฝักขามแบบสุโขทัยมาใช้แทนอักษรตัวเมืองอยู่ระยะหนึ่ง ดังปรากฏอยู่ในหลักศิลาจารึกที่วัดพระยืนจังหวัดลำพูน และที่วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาเมื่อล้านนาตกเป็นประเทศราชของพม่าในสมัย พระเจ้าบุเรงนอง (มยินนอง) ล้านนาถูกบังคับให้ใช้อักษรพม่าแทนนานกว่า ๒๐๐ ปี จึงปรากฏว่ามีอักษรพม่าบางตัวปะปนอยู่ในอักษรล้านนามาจนถึงปัจจุบัน ตัวเลขของพม่าที่เรียกว่า เลขโหร ก็รับเอามาใช้จนถึงปัจจุบัน ส่วนตัวเลขของอักษรล้านนาเองนั้น คือตัวเลขที่ใช้ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา และในตำนานเท่านั้น ในรัชสมัยพระเจ้ากาวิละแห่งราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน หรือราชวงศ์กาวิละได้กอบกู้อาณาจักรล้านนากลับคืนมา และได้ฟื้นฟูอักษรล้านนาขึ้นใช้ในราชการอีกครั้งหนึ่ง
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ มีการจัดระเบียบการปกครองราชอาณาจักรใหม่ เมื่อประมาณ ปี พ.ศ.๒๔๔๓ ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์กาวิละ การใช้อักษรล้านนาได้เปลี่ยนใช้อักษรไทยกลางจนถึงปัจจุบัน
            อักษรล้านนา  เป็นภาษาเขียนที่นิยมใช้แพร่หลายในดินแดนล้านนา แคว้นสิบสองปันนา เชียงตุง ดังปรากฏในใบลาน สมุดข่อย พับกระดาษสา ซึ่งยังมีอยู่ตามวัด และบ้านของผู้สูงอายุในรูปของตำหรับตำรา และคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา
    ภาษาถิ่นของชนกลุ่มน้อย
            เชียงรายเป็นจังหวัดที่มีภาษาพูดมากภาษา จังหวัดหนึ่งของไทย ภาษาถิ่นของชนเผ่าในเชียงรายพอประมวลได้ดังนี้
            ภาษาไท - ยวน  เป็นภาษาตระกูลไต เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า คำเมือง เป็นภาษาที่ใช้กันใน ๘ จังหวัดภาคเหนือตอนบน ตัวอักษรที่ใช้เรียกว่า อักษรธรรม หรือตัวเมือง ภาษาล้านนามีหน่วยเป็นมีหน่วยเสียงพยัญชนะ ๑๙-๒๐ เสียง มีเสียงวรรณยุกต์ ๖ เสียง เป็นภาษาที่ใช้พูดมากที่สุดในเชียงราย
            ภาษาไทลื้อ  จัดเป็นกลุ่มภาษาไทหลวง มีอักษรเป็นของตนเอง คล้ายกับอักษรล้านนา ชาวไทลื้ออพยพมาจากสิบสองปันนา ผ่านทางประเทศลาว และพม่า มีชุมชนไทลื้ออยู่ในเขตตำบลยางฮ่อม อำเภอขุนตาล ตำบลศรีดอนไชย อำเภอเชียงของ และตำบลม่วงยาย ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น บางหมู่บ้านในอำเภอเชียงแสน อำเภอแม่สรวย และอำเภอแม่สาย ภาษาไทลื้อมีทั้งหมด ๑๙ หน่วยเสียง มีวรรณยุกต์ ๖ หน่วยเสียง ลักษณะพิเศษทางภาษาคือ มีการแปรเสียงวรรณยุกต์ของคำเมื่ออยู่ในวลี และประโยค
            ภาษาไทใหญ่  จัดเป็นกลุ่มภาษาไทหลวง มีตัวอักษรของตนเองเรียกว่า ลิกไต คล้ายตัวอักษรพม่ามีหน่วยเสียง ๑๘ หน่วยเสียง วรรณยุกต์ ๕ หน่วยเสียง มีการแบ่งการออกเสียงสระ ไ - และ ใ - อย่างชัดเจนกว่ากลุ่มอื่น ชาวไทใหญ่ปัจจุบันอยู่ในแถบหมู่บ้านพางคำ อำเภอแม่อาย บ้านสันป่าก่อ และบ้านหัวฝาย อำเภอแม่จัน บ้านห้วยน้ำขุ่น อำเภอแม่ฟ้าหลวง บ้านสบรวก อำเภอเชียงแสน
            ภาษาไทยอง  มีสำเนียงคล้ายภาษาไทลื้อ ไทยองอพยพมาจากเมืองยองในสิบสองปันนา ไปอยู่ที่จังหวัดลำพูนแล้วอพยพเข้ามาอยู่ที่ จังหวัดเชียงราย กระจายอยู่ในเขตหลายอำเภอได้แก่บ้านป่าถ่อน บ้านบ่อก๊าง อำเภอเชียงแสน บ้านแม่คำหลวง บ้านแม่คำสบเปิง บ้านเวียงสา บ้านหนองแหย่ง บ้านร่องก๊ก บ้านฝังหมิน บ้านป่าบงหลวง อำเภอแม่จัน บ้านม่วงคำ บ้านป่ากว๋าง อำเภอพาน บ้านด้าย บ้านฮ่องแฮ่ อำเภอแม่สาย บ้านป่าตาล อำเภอขุนตาล
            ภาษาไตหย่า  จัดเป็นกลุ่มภาษาไทหลวง เช่นเดียวกับภาษาไทใหญ่ ชาวไตหย่าอพยพมาจากรัฐฉาน มาอยู่ที่บ้านบ่อน้ำขาว และบ้านป่าสักขวาง ตำบลแม่ไร่ อำเภอแม่จัน เมื่อประมาณ ปี พ.ศ.๒๔๗๐ - ๒๔๗๓ ลัษณะทั่วไปคล้ายภาษาไทใหญ่มาก มีหน่วยเสียง ๑๘ หน่วยเสียง วรรณยุกต์ ๕ หน่วยเสียง
            ภาษาไทขืน (เขิน)  อยู่ในกลุ่มภาษาไทหลวง ชาวไทขืนอพยพมาจากเมืองเชียงตุง มีชุมชนอยู่ในเขตอำเภอแม่สาย มีอักษรเป็นของตนเองเรียกว่า ตัวขืน คล้ายอักษรธรรมล้านนา แต่มีบางคำเป็นภาษาพม่า มีหน่วยเสียง ๒๐ หน่วยเสียง วรรณยุกต์ ๕ - ๖ หน่วยเสียง
            ภาษาลัวะ  อยู่ในตระกูลภาษากลุ่มมอญ - เขมร มีลักษณะพิเศษ คือ มีเสียงพยัญชนะต้นและคำควบกล้ำมาก โดยเฉพาะคำควบกล้ำ ร และ ล ไม่มีอักษรของตนเอง ในเชียงรายมีชาวลัวะอยู่ประมาณ ๑๘ หมู่บ้าน ๑๙๐ หลังคาเรือน คือบ้านปุยคำ และบ้านห้วยชมพู อำเภอแม่ลาว
            ภาษาขมุ  จัดอยู่ในภาษาถิ่นตระกูล มอญ - เขมร อพยพมาจากประเทศลาวไม่เกิน ๑๐๐ ปีมานี้ไม่มีตัวอักษรของตนเอง ปัจจุบันตั้งชุมชนอยู่แถบริมแม่น้ำโขง ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ
            ภาษาจีนฮ่อ  จัดอยู่จัดอยู่ในภาษาถิ่นตระกูลฮั่น - จีน มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในมณฑลยูนานประเทศจีน ปัจจุบันตั้งชุมชนอยู่ที่บ้านเทอดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง และที่บ้านผาตั้ง อำเภอเวียงแก่น
            ภาษาบิซู  เป็นภาษาถิ่นในตระกูล ทิเบต - พม่า เช่นเดียวกับภาษากะเหรี่ยง ลีซอ มูเซอร์ และอีก้อ บิซูเป็นชาวเขาเผ่าหนึ่ง มีถิ่นเดิมอยู่ในประเทศลาว ได้อพยพเข้ามาอยู่ในเขตจังหวัดเชียงราย เมื่อประมาณ ๖๐ ปีมาแล้ว ปัจจุบันอยู่ในหมู่บ้านห้วยชมพู บ้านดอยปุย บ้านหล่าและบ้านผาแดง ตำบลดอยงาม อำเภอพาน
            ภาษาอีก้อ  หรือภาษาอาข่า เป็นภาษาถิ่นในตระกูล ทิเบต - พม่า ไม่มีตัวอักษรเป็นของตนเอง ภาษาอีก้อแยกเป็นภาษาถิ่นย่อยได้อีกสามภาษา ภาษาอีก้อไม่มีตัวสะกด ไม่มีเสียงควบกล้ำ ไม่มีวรรณยุกต์โท จัตวา มีชุมชนอยู่ในเขตอำเภอแม่จัน
            ภาษาลีซอ  เป็นภาษาถิ่นตระกูล ทิเบต - พม่า ในกลุ่มภาษาโลโล + พม่า ภาษาลีซอมีภาษาถิ่นย่อยอีก ๕ ภาษา ไม่มีตัวอักษรของตนเอง มีหน่วยเสียง ๓๑ หน่วยเสียง มีเสียงสระ ๔ หน่วยเสียง วรรณยุกต์ ๓ หน่วยเสียงไม่มีตัวสะกด มีชุมชนอยู่ในเขตอำเภอแม่จัน
            ภาษามูเซอร์  หรือภาษาละฮู เป็นภาษาถิ่นในตระกูล ทิเบต - พม่า แบ่งเป็น ๔ ภาษาย่อย ไม่มีตัวสะกด มีเสียง วรรณยุกต์ ๖ เสียง ไม่มีตัวอักษรของตนเอง มีชุมชนอยู่ในเขตอำเภอแม่สรวย อำเภอเวียงป่าเป้า และหมู่บ้านมูเซอร ตำบลตาดควัน อำเภอพญาเม็งราย
            ภาษากะเหรี่ยง  เป็นภาษาถิ่นในตระกูล ทิเบต - พม่า ในจังหวัดเชียงรายมีอยู่สองกลุ่มคือ กะเหรี่ยงขาว และกะเหรี่ยงแดง มีชุมชนอยู่ในหมู่บ้านดอย ตำบลปงน้อย อำเภอดอยหลวง และในเขตอำเภอแม่สรวย กับอำเภอเวียงป่าเป้า
            ภาษาแม้ว  จัดอยู่ในกลุ่มภาษาแม้ว - เย้า เป็นภาษาถิ่นในตระกูล ทิเบต-พม่า ไม่มีตัวอักษรใช้ แต่ได้ยืมตัวอักษรจีนมาใช้ ไม่มีตัวสะกด วรรณยุกต์ ๗ - ๙ เสียง มีชุมชนอยู่แถบดอยผาหม่น อำเภอเวียงแก่น ดอยพญาพิภักดิ์ อำเภอขุนตาล และบ้านแม่หลวงอุปถัมภ์ อำเภอพญาเม็งราย
            ภาษาเย้า  จัดอยู่ในกลุ่มภาษา แม้ว - เย้า เป็นภาษาถิ่นในตระกูล ทิเบต - พม่า ไม่มีตัวอักษรใช้ แต่ได้ยืมตัวอักษรจีนมาใช้ ไม่มีตัวสะกด วรรณยุกต์ มี ๗ - ๘ เสียง มีชุมชนอยู่ในเขตอำเภอขุนตาล อำเภอเวียงแก่น และบ้านผาเดื่อ อำเภอแม่ฟ้าหลวง

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |