| ย้อนกลับ |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางพระพุทธศาสนา

            ร่องรอยของโบราณสถาน ในเขตอำเภอเชียงแสนที่ยังเหลืออยู่ จะเป็นซากปรักหักพังของศาสนสถานในพระพุทธศาสนา ได้แก่ พระเจดีย์ และพระวิหาร ซึ่งส่วนใหญ่มีประวัติปรากฏอยู่ในพงศาวดาร เมืองเงินยางเชียงแสน และมีวัดอยู่ทั้งสิ้น ๑๔๐ วัด เป็นวัดในเมือง ๗๖ วัด และวัดนอกเมือง ๖๕ วัด แต่เนื่องจากกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในเมืองเชียงแสนปัจจุบัน เป็นกลุ่มชนที่อพยพมาอยู่ใหม่ทั้งสิ้น ดังนั้นชื่อที่เรียกวัดต่าง ๆ บางแห่งจึงมิได้เรียกชื่อตามที่ปรากฏในพงศาวดาร แต่เรียกชื่อตามที่ชาวบ้านในปัจจุบันรู้จักกัน เช่น วัดมุงเมือง วัดช้างค่ำ วัดสองพี่น้อง เป็นต้น
            มรดกทางพระพุทธศาสนาในเขตจังหวัดเชียงรายพอประมวลได้ดังนี้
วัดพระธาตุจอมกิตติ



            วัดพระธาตุจอมกิตติ  ตั้งอยู่บนดอยจอมกิตติ นอกเมืองเชียงแสนไปทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ ๒ กิโลเมตร สิ่งสำคัญภายในวัดได้แก่ พระเจดีย์จอมกิตติ องค์เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสเตี้ย ๆ ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวคว่ำ ย่อมุมซ้อนกันสี่ชั้นรองรับเรือนธาตุ ซึ่งย่อมุมเช่นกัน มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นประทับยืนทั้งสี่ด้าน ส่วนยอดเป็นองค์ระฆังทรงสูง มีลายดอกกลมระหว่างเส้นคู่ขนานวัดตรงกลาง ส่วนยอดทำเป็นกลีบมะเฟืองรองรับปล้องไฉน และปลียอด ส่วนพระเจดีย์จอมแจ้ง และพระเจดีย์สวนสนุกนั้นอยู่บริเวณใกล้เคียง
            ตำนานการสร้างพระธาตุจอมกิตติ กล่าวว่ามีการสร้างถึงสองครั้ง ครั้งแรก พระเจ้าพังคราช และพระเจ้าพรหมมหาราช ราชโอรสโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๑๔๘๓ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ  สมัยเดียวกับการสร้างพระธาตุจอมทองของเมืองเชียงราย ครั้งที่สอง พระเจ้าสุวรรณคำล้าน เจ้าเมืองเชียงแสน ให้หมื่นเชียงสงสร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๐๓๐ ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระเจ้ายอดเชียงราย ได้ก่อสร้างพระเจดีย์ครอบองค์เดิม ต่อมาพระธาตุชำรุดทรุดโทรมมาก เจ้าฟ้าเฉลิมเมืองพร้อมด้วยคณะศรัทธาได้บูรณะปฏิสังขรณ์อีกเมื่อปี พ.ศ.๒๒๒๗ จากรูปทรงที่ปรากฏอยู่ปัจจุบัน องค์พระธาตุเจดีย์ไม่เก่าเกินกว่าพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ส่วนพระพุทธรูปประทับยืนในซุ้มทิศ คงจะซ่อมเสริมขึ้นระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๒ - ๒๓
วัดพระบวช
            วัดพระบวช  ตั้งอยู่ตรงข้ามวัดมุมเมืองในตัวอำเภอเชียงแสน โบราณสถานสำคัญภายในวัดได้แก่พระเจดีย์ที่ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจตุรัสทรงสูง ถัดจากฐานสี่เหลี่ยมขึ้นไปเป็นฐานย่อมุม และองค์ระฆังกลม ลักษณะพระเจดีย์เข้าใจว่าเป็นศิลปแบบแรกที่สร้างขึ้นในระยะที่พระพุทธศาสนาเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์ เริ่มแพร่หลายจากอาณาจักรสุโขทัย เข้ามาสู่ดินแดนในภาคเหนือตอนบน และแสดงอิทธิพลของพระเจดีย์ทรงกลมแบบพุกาม และอาจเป็นต้นแบบให้กับเจดีย์ทรงกลมในระยะต่อมา
            ตามตำนาน และพงศาวดารกล่าวว่า  พญากือนาได้โปรดให้สร้างพระเจดีย์ พระวิหาร และพระพุทธรูปขึ้นในปี พ.ศ.๑๘๘๗ เมื่อครั้งยังทรงดำรงตำแหน่งเป็นรัชทายาทครองอยู่ที่เมืองเชียงแสน ต่อมาในปี พ.ศ.๒๒๖๐ เมืองเชียงแสนเกิดอุทกภัย ทำให้วัดนี้ทรุดตัวลงไป อย่างไรก็ดีจากรูปทรงทางสถาปัตยกรรมของพระเจดีย์ เชื่อว่าน่าจะสร้างขึ้นประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐
วัดมุงเมือง
            วัดมุงเมือง  ตั้งอยู่ตรงข้ามวัดพระบวชในตัวอำเภอเชียงแสน ภายในวัดมีโบราณสถานที่สำคัญคือ พระเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจตุรัสย่อมุมซ้อนกันสี่ชั้น รองรับฐานปัทม์ย่อมุม ถัดขึ้นไปเป็นเรือนธาตุ มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางเปิดโลกทั้งสี่ด้าน ส่วนยอดเป็นองค์ระฆังกลม มีเจดีย์เล็ก ๆ ประดับอยู่ที่มุมคล้ายเจดีย์ที่วัดป่าสัก วัดนี้ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้าง จากรูปทรงทางสถาปัตยกรรม และพระพุทธรูปยืนปูนปั้นที่ประดิษฐานอยู่ในซุ้มทิศ พอจะสันนิษฐานได้ว่าน่าจะสร้างขึ้นภายหลังวัดป่าสัก เพราะมีวิวัฒนาการทางรูปแบบเพิ่มมากยิ่งขึ้น และน่าจะมีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐
วัดพระเจ้าล้านทอง
            วัดพระเจ้าล้านทอง  ตั้งอยู่ริมถนนพหลโยธิน อยู่ห่างจากวัดพระบวชไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๒๐ เมตร
            ตามตำนานและพงศาวดารกล่าวว่า พระยาศิริราชเงินกอง โอรสพญาติโลกราชทรงสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๐๒๓ พร้อมทั้งหล่อพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัยขึ้นองค์หนึ่งหนักล้านทอง (๑,๒๐๐ กิโลกรัม) จึงเรียกกันว่า พระเจ้าล้านทอง เป็นพระประธาน ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารหลวง มีขนาดหน้าตักกว้าง ๒,๒๕ เมตร สูง ๒.๗๐ เมตร ในวัดนี้ยังมีพระพุทธรูปสำริดอีกองค์หนึ่ง นำมาจากวัดพระเจ้าทองทิพ ซึ่งเป็นวัดร้างเรียกกันว่า พระเจ้าทองทิพ มีขนาดหน้าตักกว้าง ๑ ศอก ๑๕ นิ้ว สูง ๒ ศอก ๑๐ นิ้ว มีศิลปสุโขทัย และอยุธยาปะปนอยู่คือ เปลวพระรัศมีแบบสุโขทัย พระพักตร์และไรพระศกแบบอยุธยา รวมทั้งการทำฐานที่สูงขึ้นซึ่งเป็นที่นิยมในศิลปะล้านนายุคหลัง จึงอาจกำหนดอายุได้ประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๒๒ - ๒๓ ด้านหลังพระวิหาร มีพระเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองขนาดใหญ่ เหลืออยู่เพียงส่วนฐาน ส่วนบนชำรุดหักพังไปหมดแล้ว จากซากของโบราณสถานที่เหลืออยู่ แสดงว่ามีการก่อสร้างครอบพระเจดีย์ทรงระฆังรูปแปดเหลี่ยมขนาดเล็กตั้งอยู่ภายใน
วัดพระยืน
            วัดพระยืน  ตั้งอยู่ในตัวอำเภอเชียงแสน ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงพระเจดีย์เท่านั้น เป็นเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมจตุรัสซ้อนลดหลั่นกันสามชั้น มีเรือนธาตุย่อมุม มีลวดบัวคาดกลางโดยตลอด ตอนบนเป็นองค์ระฆังแปดเหลี่ยม
            ตามตำนาน และพงศาวดารกล่าวว่า พญาคำฟูโอรสของพญาแสนภู ทรงโปรดให้สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๑๘๗๕ ต่อมาพระเจดีย์เกิดชำรุด พระยาหลวงไชยชิตจึงทำการซ่อมแซม เมื่อปี พ.ศ.๒๑๘๑ จากรูปแบบของสถาปัตยกรรมสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างเมื่อประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๒๑
วัดเสาเคียน
            วัดเสาเคียน  ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของตัวอำเภอเชียงแสน สิ่งสำคัญภายในวัดคือฐานพระวิหารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ มีฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยปูนปั้นอยู่ทางด้านหลัง ถัดจากวิหารเป็นพระเจดีย์ย่อมุมมีองค์ระฆังทรงกลม
วัดอาทิต้นแก้ว
            วัดอาทิต้นแก้ว  ตั้งอยู่ใกล้ประตูเมืองเชียงแสนทางด้านทิศเหนือ ห่างออกไปประมาณ ๗๐๐ เมตร สิ่งสำคัญภายในวัดได้แก่ พระเจดีย์ประธานที่สร้างครอบซ้อนกันสององค์ และพระวิหารที่มีฐานชุกชีสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป
            ตามพงศาวดารโยนกกล่าวว่า เมื่อปี พ.ศ.๒๐๓๘ พระเมืองแก้วได้เสด็จมาเมืองเชียงแสน เพื่อทำการประณีประนอมพระสงฆ์ในสำนักต่าง ๆ เนื่องจากมีความขัดแย้งกันในพระสงฆ์สำนักต่าง ๆ อย่างรุนแรง โดยได้เป็นองค์ประธานในการบวชกุลบุตรชาวเชียงแสน ให้เป็นพระสงฆ์ในสำนักต่าง ๆ ให้สามารถกระทำพิธีร่วมกันได้ หลังจากนั้นได้มีการสร้างพระเจดีย์ครอบองค์เดิม จึงกลายเป็นพระเจดีย์ทรงกลม ที่มีชั้นมาลัยเถารูปฐานบัวลูกแก้วแปดเหลี่ยม แบบเดียวกับวัดพระยืน
วัดพระธาตุภูเจ้า


            วัดพระธาตุภูเจ้า  ตั้งอยู่บนดอยเชียงเมี่ยง ในเขตบ้านสบรวก อำเภอเชียงแสน ห่างจากตัวอำเภอออกไปประมาณ ๑๑ กิโลเมตร
            ตามตำนาน และพงศาวดารกล่าวว่า ลาวก่อ ลาวเกื้อ และลาวเก้า โอรสพระเจ้าลาวจังกราชพากันไปเที่ยวที่สบห้วยตม พบปูขนาดใหญ่ตัวหนึ่ง จึงช่วยกันไล่จับ ปูได้หนีเข้ารูไป ลาวก่อและลาวเกื้อจึงให้ลาวเก้า ผู้เป็นน้องนั่งรออยู่ที่ลำห้วย รออยู่นานไม่พบพี่ทั้งสองจึงกลับไปทูลพระบิดา พระบิดาทรงเห็นว่าโอรสทั้งสามไม่รักใคร่สมานกัน หากอยู่ด้วยกันคงไม่เป็นสุข จึงได้ส่งลาวก่อไปเมืองกวาง ลาวเกื้อไปครองเมืองผาลานผานอง ส่วนลาวเก้าให้ครองเมืองของพระองค์ เมื่อได้ขึ้นครองราชย์ ลาวเก้าทรงพระนามว่า พระยาลาวเก้าแก้วเมืองมา พระองค์ได้ทรงสร้างพระเจดีย์ขึ้นบนดอยที่ปูหนีขึ้นไปเมื่อปี พ.ศ.๑๓๒๐
            โบราณสถานภายในวัดประกอบด้วย มณฑปที่มีฝาผนังทึบสามด้าน ภายในมีแท่นประดิษฐานพระพุทธรูป พระวิหารก่ออิฐถือปูน หลังคาตกแต่งด้วย ลายปูนปั้น เช่นเดียวกับวัดสัสดีที่ในตัวอำเภอเชียงแสน ด้านหลังเป็นกลุ่มเจดีย์ที่ทรุดโทรมปรักหักพัง แต่ยังปรากฏร่องรอยในการทำรูปช้างปูนปั้นประดับที่ส่วนฐาน
วัดสังฆาแก้วดอนทัน
            วัดสังฆา ฯ  ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงในเขตอำเภอเชียงแสน มีซากเนินดิน วิหาร และพระเจดีย์ จำนวน ๕ เนินด้วยกัน
            ตามพงศาวดารโยนก กล่าวว่า วัดสังฆา ฯ สร้างโดยปู่เจ้าลาวจก เมื่อประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๒ แต่จากหลักฐานทางโบราณคดี สันนิษฐานว่าวัดนี้น่าจะมีอายุอยู่ประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๒๓ โบราณวัตถุที่น่าสนใจได้แก่แผ่นอิฐที่มีการขูดขีดลวดลาย ทั้งที่เป็นตัวอักษรและรูปภาพต่าง ๆ เกี่ยวกับชาดกเรื่องพระเวสสันดร
วัดผ้าขาวป้าน


            วัดผ้าขาวป้าน  ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงในตัวอำเภอเชียงแสน อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ ๓๐๐ เมตร สิ่งสำคัญภายในวัดได้แก่ พระเจดีย์บนฐานสูง มีเรือนธาตุและซุ้มทิศประดิษฐานพระพุทธรูปปางประทานอภัย และพระพุทธรูปปางลีลา ส่วนยอดเป็นเจดีย์ทรงกลม
            ตามตำนานกล่าวว่า พระยาลาวเก้าแก้วเมืองมา ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ.๑๓๔๐ ตามจารึกที่พบที่วัดผ้าขาวป้านกล่าวว่า เมื่อปี พ.ศ.๒๑๖๐ เจ้าเมืองเชียงแสนพร้อมด้วยภรรยาได้สร้างพระเจดีย์ขึ้นองค์หนึ่ง เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันต์ พร้อมทั้งอุทิศบ้านเรือนคน และที่ดินให้แก่วัด เมื่อพิจารณาจากรูปทรงทางสถาปัตยกรรม พระเจดีย์องค์นี้น่าจะมีอายุหลังพระธาตุจอมกิตติ คือมีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๓
วัดปงสนุก


            วัดปงสนุก  ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ห่างจากตัวที่ว่าการอำเภอเชียงแสนไปทางด้านทิศใต้ ประมาณ ๕๐๐ เมตร ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างเมื่อใด ด้านหลังพระอุโบสถมีพระเจดีย์ทรงกลมรูปทางคล้ายพระเจดีย์ที่วัดพระบวช สันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ แผนผังของพระเจดีย์ และพระอุโบสถมีลักษณะผิดไปจากสมัยโบราณ เนื่องจากในพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ได้มีการเปลี่ยนพระวิหารหลังเดิมให้เป็นพระอุโบสถ และสร้างพระวิหารขึ้นใหม่ ทำให้แผนผังผิดไปจากเดิมคือพระเจดีย์ และพระวิหารต้องตั้งอยู่ในแกนเดียวกัน
            ซึ่งวัดปงสนุก  มีปรากฏอยู่ที่เมืองลำปาง สนับสนุนเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ว่ามีการอพยพผู้คนไปมาระหว่างเมืองลำปาง กับเมืองเชียงแสน
วัดพระธาตุผาเงา


            วัดพระธาตุ  ตั้งอยู่นอกตัวอำเภอเชียงแสนไปทางใต้ ตามเส้นทางเชียงแสน - เชียงของ อยู่ห่างตัวเมืองออกไปประมาณ ๕ กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ ๑๔๓ ไร่ สิ่งสำคัญของวัดคือ พระธาตุผาเงา ซึ่งเป็นพระเจดีย์ทรงระฆังขนาดเล็ก ตั้งอยู่บนหินก้อนใหญ่ แต่เดิมวัดนี้เป็นวัดร้าง ชาวบ้านสบคำต้องการย้ายวัดสบคำจากที่เดิม ที่ถูกแม่น้ำโขงกัดเซาะพังทะลาย จึงได้มาฟื้นฟูวัดร้างแห่งนี้ขึ้นเป็นวัดดังเดิม ภายในพระวิหารหลังเดิม พบพระพุทธรูปปูนปั้นบริเวณหน้าตักพระประธาน ที่เรียกกันว่า หลวงพ่อผาเงา พระพุทธรูปองค์ดังกล่าวถูกฝังอยู่ใต้ฐานชุกชีพระประธาน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระพักตร์รูปไข่ พระหนูเป็นปม พระรัศมีเป็นเปลว แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปสุโขทัย มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐
วัดสองพี่น้อง


            วัดสองพี่น้อง  อยู่ห่างจากวัดพระธาตุผาเงาไปตามเส้นทางไปอำเภอเชียงของ ๑ กิโลเมตร สิ่งที่สำคัญภายในวัดได้แก่พระเจดีย์ประธานทรงปราสาท หรือทรงมณฑป มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมมีห้ายอด และมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืนสี่ด้าน มีแผนผังคล้ายพระเจดีย์เชียงยืน การทำบัวหัวเสาแบบเจดีย์วัดกู่กุดที่ลำพูน
            ตามตำนานกล่าวว่า พระเจดีย์องค์ที่สร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิของพระยาคำฟู (พ.ศ.๑๘๘๑ - ๑๘๘๘) ส่วนพื้นที่นี้พญาแสนภูทรงให้สร้างเมืองเวียง ปรึกษาเพื่อหาทำเลที่สร้างเมืองแห่งใหม่ (เมืองเชียงแสน) ยังปรากฏร่องรอยกำแพงเมืองคูเมือง และวัดร้างอยู่จำนวนหนึ่ง
พระธาตุจอมทอง (ดอยทอง)
            พระธาตุ  ตั้งอยู่บนยอดดอยจอมทอง ริมฝั่งแม่น้ำกกในเขตอำเภอเมือง ฯ
            ตามตำนานกล่าวว่า เป็นพระธาตุเก่าแก่ที่มีมาก่อนที่พ่อขุนเม็งรายจะทรงสร้างเมืองเชียงราย กล่าวว่าพระเรือนแก้วผู้ครองเมืองไชยนารายณ์ ทรงสร้างเมื่อปี พ.ศ.๑๔๓๘ สันนิษฐานว่าเมื่อพ่อขุนเม็งรายทรงพบชัยภูมิที่สร้างเมืองเชียงราย จากดอยจอมทองนั้น คงจะมีการบูรณะองค์พระธาตุดอยจอมทองด้วย
วัดพระสิงห์


            วัดพระสิงห์  ตั้งอยู่ริมแม่น้ำกก ในตัวอำเภอเมือง มีพื้นที่ประมาณ ๔ ไร่ แต่เดิมเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ องค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่วิหารลายคำ วัดพระสิงห์เชียงใหม่
            ตามประวัติกล่าวว่า เจ้ามหาพรหมพระอนุชาพระเจ้ากือนากษัตริย์ผู้ครองนครเชียงใหม่ ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาจากเมืองกำแพงเพชร พระเจ้ากือนาโปรดให้ประดิษฐานไว้ที่เมืองเชียงรายเพื่อหล่อจำลอง แต่เมื่อสิ้นพระเจ้ากือนา พระเจ้าแสนเมืองพระราชนัดดาของพระองค์ได้ขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ พระเจ้าพรหมยกกองทัพจากเมืองเชียงรายไปประชิดเมืองเชียงใหม่ เจ้าแสนเมืองสามารถป้องกันเมืองไว้ได้ แล้วยกทัพมาตีเมืองเชียงราย แล้วได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับไปประดิษฐานที่วัดพระสิงห์นครเชียงใหม่แต่นั้นมา
วัดพระแก้ว


            วัดพระแก้ว  ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเชียงราย ตามประวัติกล่าวว่า เมื่อปี พ.ศ.๑๘๗๙ ในรัชสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกนครองเมืองเชียงใหม่ ฟ้าได้ผ่าเจดีย์ร้างองค์หนึ่งและได้พบพระพุทธรูปลงรักปิดทองอยู่ภายในพระเจดีย์ ต่อมารักกระเทาะออก จึงพบว่าเป็นพระพุทธรูปที่สร้างด้วยหยก
วัดพระธาตุจอมแว่
            วัดพระธาตุจอมแว่ ตั้งอยู่บนภูเขาจอมแว่ ในเขตตำบลเมืองพาน อำเภอพาน ห่างจากตัวอำเภอไปทางด้านทิศเหนือประมาณ ๓ กิโลเมตร เป็นพระธาตุที่ชาวอำเภอพาน และอำเภอใกล้เคียงนับถือว่าเป็น พระธาตุศักดิ์สิทธิ์ มีงานนมัสการพระธาตุทุกปีในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ทางเหนือ หรือเดือน ๙ ทางใต้
            วัดนี้เป็นวัดที่ประดิษฐานพระพุทธจอมเกศมหามังคลานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ สูง ๖๐ ฟุต ตั้งเด่นอยู่บนยอดดอย
พระธาตุเวา
            พระธาตุเวา  อยู่บนดอยริมฝั่งแม่น้ำสาย ในเขตตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย ตามประวัติกล่าวว่า พระองค์เวาหรือเว้า ผู้ครองนครนาคพันธ์โยนกเป็นผู้สร้างเพื่อบรรจุพระเกศาธาตุองค์หนึ่ง นับเป็นพระบรมธาตุที่เก่าแก่องค์หนึ่งรองลงมาจากพระบรมธาตุดอยตุง
พระบรมธาตุดอยตุง


            พระบรมธาตุ ฯ  ประดิษฐานอยู่บนดอยตุง ในเขตอำเภอแม่ฟ้าหลวง อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงรายประมาณ ๔๘ กิโลเมตร องค์พระธาตุเจดีย์บรรจุพระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) ของพระพุทธเจ้า ซึ่งได้อัญเชิญมาจากมัธยมประเทศ นับเป็นครั้งแรกที่พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์ ได้มาประดิษฐานอยู่ในดินแดนล้านนาไทย เมื่อก่อสร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ได้ทำธงตะขาบ ซึ่งภาษาพื้นเมืองเรียกว่า ทุง (ออกเสียงว่าตุง) ยาวถึงพันวา ไปปักไว้บนยอดดอย ถ้าหากปลายธงปลิวไปไกลถึงเมืองไหน ก็กำหนดหมายเป็นฐานพระสถูปเพียงนั้น ด้วยเหตุนี้ดอยแห่งนี้จึงได้ชื่อว่าดอยตุง นับว่าเป็นดอยซึ่งประดิษฐานพระปฐมเจดีย์แห่งล้านนาไทย
            ตามตำนาน  สิงหนวัติและตำนานโยนก กล่าวว่า พระมหากัสสปะเถระเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พระเจ้าอชุตราช เจ้าผู้ครองนครนาคพันธ์โยนกไชยบุรี เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมด้วยมุขมนตรี เสวกอำมาตย์ ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินได้ร่วมใจกันสร้างขึ้น เมื่อพุทธศักราชที่ ๑ ต่อมาอีก ๑๐๐ ปี มีพระอรหันต์องค์หนึ่งมีนามว่า พระมหาวชิรโพธิเถระ ได้นำเอาพระบรมสารีริกธาตุ พระรากขวัญเบื้องซ้ายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาถวายให้กับพระเจ้ามังรายนธิราช แล้วจึงได้พร้อมใจกันนำเอาพระบรมธาตุขึ้นบรรจุไว้ในพระเจดีย์
            พระบรมธาตุดอยตุง  เป็นปูชนียสถานที่สำคัญ เมื่อถึงเทศกาลนมัสการพระบรมธาตุ จะมีพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศใกล้เคียง เช่นชาวเชียงตุงในรัฐฉาน ชาวหลวงพระบาง ชาวเวียงจันทน์เดินทางมานมัสการทุกปี ถึงเป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ของจังหวัดเชียงราย

| ย้อนกลับ | บน |