| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางธรรมชาติ

ต้นน้ำลำธาร และแหล่งน้ำสำคัญ
            จังหวัดเชียงราย มีแม่น้ำลำธารที่เป็นแหล่งน้ำสำคัญเป็นประโยชน์แก่การกสิกรรม และการประมง รวม ๘ สาย ด้วยกันคือ

            แม่น้ำโขง  ต้นน้ำอยู่ในประเทศจีน ไหลผ่านประเทศไทยในเขตอำเภอเชียงแสน ที่บ้านสบรวก แล้วไหลผ่านไปทางเขตอำเภอเชียงของ ก่อนที่จะไหลเข้าสู่ประเทศลาว แม่น้ำโขงช่วงที่ไหลผ่านจังหวัดเชียงราย ใช้เป็นเส้นกั้นพรมแดนระหว่างไทยกับลาว มีความยาวในช่วงนี้ ประมาณ ๙๔ กิโลเมตร ชาวเชียงรายในสองอำเภอที่แม่น้ำไหลผ่านได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงในด้านเกษตรกรรม การประมง และการคมนาคมทางน้ำ
            แม่น้ำกก  ต้นน้ำเกิดในรัฐฉาน แล้วไหลเข้าสู่ประเทศไทยในเขตอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นได้ไหลวกมาทางทิศตะวันออกผ่านเขตอำเภอเมืองเชียงราย อำเภอแม่จัน อำเภอเชียงแสน แล้วไหลไปบรรจบแม่น้ำโขงที่สบกก ในเขตอำเภอเชียงแสน มีความยาวประมาณ ๑๑๕ กิโลเมตร
            แม่น้ำอิง  ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาในเขตอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ไหลผ่านอำเภอเชียงคำ อำเภอเทิง ไปบรรจบแม่น้ำโขงที่สบอิง ในเขตอำเภอเชียงของ มีความยาวประมาณ ๑๓๖ กิโลเมตร
            แม่น้ำคำ  ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาในเขตอำเภอแม่จัน ไหลไปบรรจบแม่น้ำโขงที่สบคำ ในเขตอำเภอเชียงแสน มีความยาว ประมาณ ๘๕ กิโลเมตร
            แม่น้ำลาว  ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขานางแก้ว ในเขตอำเภอเวียงป่าเป้า ไหลผ่านอำเภอแม่สรวย อำเภอเมือง ฯ ไปบรรจบแม่น้ำกกที่สบลาว ใกล้บ้านแม่ข้าวต้ม มีความยาวประมาณ ๑๓๗ กิโลเมตร
            แม่น้ำสาย  ต้นน้ำอยู่ในเขตรัฐฉาน แล้วไหลมาทางด้านทิศตะวันออก ผ่านอำเภอแม่สาย และอำเภอเชียงแสน แล้วไหลไปบรรจบแม่น้ำโขงที่สบรวก ในเขตอำเภอเชียงแสน มีความยาวประมาณ ๓๐ กิโลเมตร เป็นเส้นกั้นพรมแดนระหว่างไทยกับพม่า
            แม่น้ำรวก  ต้นน้ำเกิดในเขตประเทศพม่า ไหลผ่านอำเภอแม่สาย และอำเภอเชียงแสนไปบรรจบแม่น้ำโขงที่ สบรวก ในเขตอำเภอเชียงแสน
            แม่น้ำจัน  ต้นน้ำเกิดจากภูเขาสามเส้า ทางด้านทิศตะวันตกของอำเภอแม่จันติดกับรัฐฉาน แล้วไหลไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับแม่น้ำคำไหลไปบรรจบแม่น้ำโขง มีความยาวประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร
ถ้ำในเขตจังหวัดเชียงราย

            จังหวัดเชียงรายมีถ้ำอยู่เป็นจำนวนมาก บางถ้ำมีประวัติอันเล่าสืบต่อกันมายาวนาน
            ถ้ำพระ  อยู่ในเขตตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง ฯ อยู่ฟากด้านเหนือของแม่น้ำกกบนดอยที่ทอดตัวยาวไปตามลำน้ำ ยาวประมาณ ๑ กิโลเมตร ตัวถ้ำอยู่ปลายสุดของภูเขาทางด้านทิศตะวันตก อยู่สูงกว่าพื้นดิน ประมาณ ๑๒ เมตร มีบันไดก่อด้วยอิฐขึ้นไปถึงปากน้ำ บริเวณถ้ำลดคอนกรีต ปากถ้ำกว้างประมาณ ๖ เมตร ตัวถ้ำลึกประมาณ ๒๐ เมตร ทางด้านซ้ายภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยมีน้ำหยดตลอดเวลา ถือกันว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์รักษาโรคได้ ภายในถ้ำพระเคยมีพระพุทธรูปอยู่เป็นจำนวนมากทั้งที่หล่อด้วย โลหะ ปูนปั้น และที่ทำด้วยไม้ ต่อมาในสมัยสงครามมหาเอเซียบูรพา ได้มีผู้ขนเอาพระพุทธรูปดังกล่าวออกไปจากถ้ำนี้เป็นจำนวนมาก พระพุทธรูปที่หล่อด้วยโลหะบางองค์ พระเศียรเป็นแก้วกลมขนาดหน้าตักกว้าง ประมาณ ๖ นิ้ว เป็นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสน - โจฬะ
            ถ้ำช้างล้วง  ตั้งอยู่ในดอยลูกเดียวกันกับถ้ำพระอยู่ประมาณกึ่งกลางของดอยทางทิศใต้ที่ติดต่อกับแม่น้ำกก อยู่ห่างจากถ้ำพระไปทางด้านทิศตะวันออก ประมาณ ๕๐๐ เมตร ปากถ้ำอยู่สูงกว่าพื้นดิน มีบันไดขึ้นไปถึงปากถ้ำ ภายในถ้ำมีปล่องให้แสงสว่างสาดเข้าไปในถ้ำ ความลึกของถ้ำประมาณ ๕๐ เมตร และกว้างพอสมควร บริเวณกลางถ้ำค่อนเข้าไปข้างในมีฐานชุกชี มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่หลายองค์ พระประธานหน้าตักกว้าง ประมาณ ๓ ศอก และมีพระพุทธรูปอื่น ๆ อีก เกือบ ๑๐ องค์เป็นพระปูนปั้นทั้งหมด
            ถ้ำยุบ  ตั้งอยู่ในดอยลูกเดียวกับถ้ำพระอยู่ทางด้านทิศตะวันออกสุดของดอย การที่ได้ชื่อว่าถ้ำยุบ เนื่องจากว่าปากถ้ำอยู่ต่ำลงไปจากพื้น ปากถ้ำกว้างประมาณ  ๖ เมตร ถ้ำลึกประมาณ ๑๐ เมตร ภายในถ้ำมืดพื้นถ้ำเป็นดิน และมักเปียกแฉะอยู่เสมอ ทางเข้าถ้ำยุบมีอยู่สองทาง ทางแรกเข้าทางด้านทิศตะวันออก ทางที่สองเข้าทางด้านทิศเหนือ ทางด้านนี้ทางเข้าแคบขนาดคนเดินเรียงเดี่ยวได้เท่านั้น
            ถ้ำพระอภิรมย์ (ถ้ำผาจะรุย)  อยู่บนดอยในเขตตำบลป่าแงะ อำเภอป่าแดด ตัวถ้ำอยู่ทางด้านใต้สุดของดอย ซึ่งมีความยาวประมาณ ๑.๘ กิโลเมตร ทอดตัวไปตามแนวเหนือ-ใต้ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ ๖๐ กิโลเมตร
            ถ้ำตุ๊ปู่  อยู่บนดอยกลุ่มเดียวกับถ้ำพระ ห่างจากถ้ำพระประมาณ กิโลเมตรเศษ ตัวดอยอันเป็นที่ตั้งของถ้ำยาวประมาณ ๗๐๐ เมตร ทอดตัวไปตามทิศเหนือ-ใต้ อยู่ห่างจากลำน้ำกกประมาณ ๗๐๐ เมตร อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๖ กิโลเมตร อยู่ในเขตตำบลริมกก อำเภอเมือง ฯ
            ถ้ำดอยก่องข้าว  อยู่ในเขตบ้านดอยฮาว ตำบลดอยฮาง อำเภอเมือง ฯ อยู่ห่างจากตัวเมืองออกไปประมาณ ๗ กิโลเมตร ตัวถ้ำตั้งอยู่บนดอยกลุ่มเดียวกับดอยถ้ำพระ อยู่ห่างกันประมาณ ๒ กิโลเมตร ตัวดอยทอดตัวไปตามแนวเหนือ - ใต้ ยาวประมาณ ๗๐๐ เมตร สูงประมาณ ๑๓๐ เมตร ตัวถ้ำอยู่ทางด้านใต้สุดของดอย บริเวณร่มรื่นได้รับการปรับปรุงอย่างดี อยู่สูงจากระดับพื้นดินขึ้นไป ๗ เมตร ที่ได้ชื่อว่าดอยก่องข้าว เพราะตัวดอยมีรูปร่างเหมือนกองข้าวที่กองอยู่ในลานนวดข้าว ปากถ้ำกว้างประมาณ ๓ เมตร ตัวถ้ำเลี้ยวไปทางด้านเหนือ ส่วนที่กว้างสุดของถ้ำประมาณ ๖ - ๗ เมตร ตัวถ้ำลึกประมาณ ๓๐ เมตร ที่สุดของถ้ำมีพระเจดีย์องค์หนึ่งสูงประมาณ ๔ เมตร เป็นเจดีย์สร้างใหม่ มีพระพุทธรูปขนาดหน้าตักกว้าง ๒ ศอก บนยอดดอยก่องข้าวสมัยสงครามมหาเอเซียบูรพามีเจดีย์ขนาดเล็กอยู่องค์หนึ่ง ไม่ทราบว่าสร้างสมัยใด อิฐที่สร้างเป็นอิฐสมัยโบราณก้อนใหญ่มาก นอกจากนั้นบนดอยลูกนี้ยังพบโบราณวัตถุอยู่มากเช่น เศษภาชนะดินเผา โอ่ง ขวานหิน โลหะทองเหลืองหล่อเป็นรูปต่าง ๆ
            ถ้ำมืด ถ้ำลม  อยู่ในเขตตำบลธารทอง อำเภอพาน ตั้งอยู่บนกลุ่มดอยเตี้ย ๆ สูงไม่เกิน ๒๐๐ เมตร มีดอยอยู่ ๔ - ๕ ดอย อยู่ในบริเวณเดียวกัน ห่างกันไม่เกินสองกิโลเมตร ทอดตัวยาวไปตามทิศเหนือ-ใต้ ยาวประมาณ หนึ่งกิโลเมตร ตัวถ้ำอยู่ทางด้านเหนือสุดของดอย หน้าถ้ำเป็นลานกว้างประมาณ ๓ ไร่ มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่หลายต้นทำให้บริเวณร่มรื่น ถ้ำทั้งสองอยู่ใกล้กัน ถ้ำแรกอยู่สูงจากระดับพื้นดินประมาณ ๕ เมตร ปากถ้ำกว้างประมาณ ๔ เมตร สูงประมาณ ๒ เมตร ตัวถ้ำลึกประมาณ ๑๘ เมตร ตัวถ้ำกว้างไปทางด้านข้างจุคนได้ประมาณ ๕๐ คน ภายในถ้ำมีฐานชุกชีพร้อมพระพุทธรูปหลายองค์ พื้นภายในถ้ำเทคอนกรีตไว้ทั้งหมด เคยพบกระดูกมนุษย์และสัตว์โบราณ ก่อนที่จะมีการลาดคอนกรีต เมื่อประมาณ ปี พ.ศ.๒๕๓๓ ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปสำรวจ
            อีกถ้ำหนึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกัน แต่ลึกเข้าไปจากถ้ำแรกประมาณ ๖๐ เมตร ปากถ้ำแคบกว้างประมาณ ๒ เมตร สูงประมาณ ๕ เมตร ภายในถ้ำเป็นหุบเหวลึก และมืดสนิท สามารถเดินเข้าไปจากปากถ้ำเพียง ๒ เมตรเท่านั้น มีลมพัดออกมาจากภายในถ้ำแรงมาก จึงเรียกว่าถ้ำลม อากาศเย็นทึบและอับ จึงยังไม่มีผู้ใดเข้าไปสำรวจถ้ำนี้
            ถ้ำหลวงแม่สรวย  อยู่ในเขตตำบลแม่สรวย อำเภอแม่สรวย ตัวถ้ำตั้งอยู่บนกลุ่มดอยแม่สรวย ซึ่งอยู่หลายสิบลูก ดอยลูกนี้สูงประมาณ ๕๐๐ เมตร จากพื้นราบ ปากถ้ำอยู่ทางทิศใต้ตรงใต้สุดของดอย ปากถ้ำแคบมากกว้างเพียงประมาณ ๕๐ เซนติเมตร ความแคบดังกล่าวนี้ยาวประมาณ ๔ เมตร ดังนั้นการเข้าไปในถ้ำจึงต้องใช้วิธีคลานเข้าไป ปัจจุบันสภาตำบลแม่สรวย ได้ทำการระเบิดปากถ้ำให้กว้างขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย พอให้คนเข้าไปโดยวิธีก้มตัวทีละคน ผ่านช่องนี้ไปแล้ว จะเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ จุคนได้หลายร้อยคน ตัวถ้ำลึกมาก แยกออกไปได้หลายทาง บางแห่งเป็นเหวอยู่ข้างใน มีหินงอกหินย้อยอยู่หลายแห่ง มีโพรงอากาศจากเพดานถ้ำ ทำให้บริเวณนั้นมีแสงสว่าง บางแห่งมีธารน้ำไหลออกมานอกถ้ำ ทางด้านทิศตะวันตก มีน้ำไหลตลอดเวลา
            มีผู้เคยพบมูยาติน หรือกล้องยาสูบที่ปั้นด้วยดินในถ้ำนี้เป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นยังมีผู้พบภาชนะดินเผาและขวานหินโบราณ ถ้าเดินไปทางด้านทิศตะวันตก จะทะลุออกปากถ้ำอีกแห่งหนึ่ง แสดงว่าทางเข้าถ้ำมีอยู่สองทาง ปัจจุบันได้มีการปรับปรุงหน้าถ้ำให้ร่มรื่นเหมะแก่การมาเที่ยวชม และพักผ่อนหย่อนใจ
            ถ้ำหลวงนางนอน  อยู่ในเขตตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย ตัวถ้ำอยู่บนกลุ่มดอยนางนอน หรือดอยทา ดอยย่าเฒ่า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของดอยตุง ปากถ้ำอยู่ทางทิศเหนือของดอย อยู่สูงกว่าระดับพื้นดินเล็กน้อย ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยอยู่เป็นจำนวนมากที่สุดถ้ำหนึ่งในเขตจังหวัดเชียงราย ปากถ้ำกว้างประมาณ ๒๐ เมตร มีลักษณะลาดเอียงลงไปภายในถ้ำพื้นถ้ำไม่ราบเรียบ เต็มไปด้วยหินงอกเป็นตะปุ่มตะป่ำอยู่ทั่วไป หินงอกหินย้อยหลายแห่งเชื่อมกันเป็นเสา จากพื้นถ้ำถึงเพดานถ้ำ หินย้อยบางแห่งมีลักษณะคล้ายม่านกั้น หินงอกหินย้อยดังกล่าว เมื่อกระทบแสงไฟจะเป็นประกายระยิบระยับ สวยงามมาก และมีรูปร่างแตกต่างกันออกไปตามจินตนาการของผู้ได้เห็น และตั้งชื่อเอาไว้ เช่น ห้องโถงท้องพระโรง ห้องนั่งเล่นเป็นรูปคน รูปสัตว์ ฯลฯ น้ำที่หยดจากผนังถ้ำบางแห่งกลายเป็นแอ่งน้ำเล็ก ๆ กลายเป็นบ่อน้ำทิพย์ บ่อน้ำมนต์ฤษี เนื่องจากน้ำสอาดดื่มกินได้ โพรงอากาศที่ทะลุจากเพดานถ้ำด้านบน ทำให้มีแสงสว่างส่องลงมาถึงภายในถ้ำได้หลายแห่ง ภายในถ้ำมีหลายหลืบ หลายชั้นเป็นจำนวนมาก บางแห่งมีหุบเหว บางตอนถ้ำมีขนาดใหญ่ จุคนได้หลายร้อยคน มีผู้เล่าลือสืบต่อมาว่าถ้ำนี้สามารถทะลุไปออกถ้ำเชียงดาวที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ได้ ยังไม่มีการสำรวจถ้ำนี้อย่างเป็นทางการ
            ถ้ำปลา  อยู่ในเขตตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย ตั้งอยู่ในกลุ่มดอยนางนอน ดอยย่าเฒ่า ดอยทา และดอยตุง เช่นเดียวกับถ้ำหลวงนางนอน บนดอยลูกนี้มีถ้ำอยู่สามแห่งด้วยกันคือ ถ้ำปลา ถ้ำเปลวปล่องฟ้า และถ้ำพญานาค ตัวถ้ำอยู่ทางทิศใต้ของวัด พุทธสถานถ้ำปลา อยู่ห่างกันประมาณ ๑๕๐ เมตร ปากถ้ำเล็กแคบขนาดพอให้คนเดินเอียงตัวเข้าไปได้สูงประมาณ ๒ เมตร ลักษณะคล้ายหลืบผามากกว่าถ้ำ มีน้ำไหลออกมาจากถ้ำตลอดเวลา และไหลอยู่ตลอดปี ธารน้ำลึกประมาณ ๑ เมตร บางครั้งจะเห็นปลาแหวกว่ายอยู่
            ถ้ำปลามีการกล่าวถึงตำนานเกี่ยวกับพุทธประวัติตอนต่าง ๆ ตามตำนานกล่าวว่า พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาฉันอาหาร ณ ที่นี้พร้อมกับพระสาวก และได้ประทานชีวิตปลาปิ้งไว้ ภายในถ้ำมีปลาชนิดหนึ่งอาศัยอยู่ตามลำธารเล็ก ๆ ข้างลำตัวมีลายคล้ายรอยไม้ตาหับคีบปิ้ง และมีลักษณะพิเศษคือ สามารถมองเห็นก้างของมันได้ บางครั้งในฤดูฝนเคยมีผู้พบเศษกระเบื้องดินเผาไหลตามน้ำออกมาจากถ้ำ ยังไม่มีหน่วยงานใดสำรวจถ้ำนี้อย่างจริงจัง
            ถ้ำเปลวปล่องฟ้า  อยู่ในเขตตำบลโป่งผา อำเภอแม่สายบริเวณเดียวกันกับถ้ำปลา อยู่ห่างจากถ้ำปลาประมาณ ๔๐ เมตร แต่อยู่สูงขึ้นไปประมาณ ๗๐ เมตร ทางด้านทิศใต้ของถ้ำปลา ปากถ้ำกว้างประมาณ ๑๒ เมตร ลึกเข้าไปในถ้ำทางทิศตะวันตกประมาณ ๓๐ เมตร มีพระเจดีย์สูงประมาณ ๑๔ เมตร มีพระพุทธรูปก่อด้วยอิฐถือปูนอยู่หลายองค์ ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยอยู่หลายแห่ง มีรูปร่างต่าง ๆ กันตามจินตนาการของผู้พบเห็น เช่นเป็นรูปเต่า รูปช้างชูงวง เป็นต้น บางแห่งเป็นแอ่งน้ำเล็ก ๆ เรียกกันว่าบ่อน้ำทิพย์ ใช้รักษาโรคได้ มีโพรงอากาศทะลุจากเพดานถ้ำ เป็นโพรงขนาดใหญ่ทำให้แสงสว่างส่องเข้ามาในถ้ำได้ จึงเรียกว่า เปลวปล้องฟ้า
            ถ้ำนี้มีประวัติกล่าวไว้ในตำนานพระเจ้าเลียบโลก ตำนานดอยตุง และตำนานโยนกเชียงแสน มีความว่าพระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาที่ถ้ำนี้ ที่ห้องโถงใหญ่ของถ้ำมีห้องโถงใหญ่จุคนได้หลายร้อยคน หินงอกหินย้อยภายในถ้ำสวยงาม เมื่องส่องไฟไปที่ผนังถ้ำ จะเกิดประกายระยิบระยับสวยงาม ปัจจุบันทางวัดได้ปรับปรุงให้เป็นสถานที่ ที่ร่มรื่นน่าท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจ มีผู้นิยมไปเที่ยวชมมาก
            ถ้ำพญานาค  ตั้งอยู่บริเวณเดียวกันกับถ้ำปลา และถ้ำเปลวปล้องฟ้า แต่อยู่เหนือขึ้นไปประมาณ ๒๐๐ เมตร ตัวถ้ำอยู่สูงกว่าระดับพื้นดินเล็กน้อย ปากถ้ำกว้างประมาณ ๑๐ เมตร ลึกเข้าไปในถ้ำ ประมาณ ๒๕ เมตร มีฐานชุกชี มีพระพุทธรูปอยู่หลายองค์ ภายในถ้ำมีห้องต่าง ๆ อยู่หลายห้อง ลึกเข้าไปอีกประมาณ ๓๐ เมตร พบแท่นก่อด้วยอิฐกว้างประมาณ ๑ เมตร ยาวประมาณ  ๖ เมตร สันนิษฐานว่าเป็นแท่นสำหรับพระสงฆ์นั่งประกอบพิธี เป็นของเก่าทำมานานแล้วอิฐที่ใช้มีขนาดใหญ่ ซึ่งไม่มีการผลิตขึ้นใช้ในปัจจุบัน ลึกเข้าไปอีกประมาณ ๓๐ เมตร พบพระพุทธรูปหินทรายหลายองค์อยู่ในสภาพชำรุด
            ในถ้ำมีหินงอกหินย้อยอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อถูกแสงไฟ จะเป็นประกายระยิบระยับสวยงาม เป็นถ้ำที่ลึกมาก ไม่มีปล่องบนเพดานถ้ำ และไม่มีตำนานที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด
            ถ้ำตุ๊ปู่  อยู่ในเขตตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย ตัวถ้ำอยู่บนดอยในกลุ่มดอยนางนอน และดอยอื่น ๆ ในบริเวณเดียวกันดังกล่าวแล้ว อยู่เหนือจากถ้ำปลาขึ้นไปประมาณ ๒ กิโลเมตร หน้าผาบางแห่งสูงชัน บริเวณถ้ำเป็นป่ารกชัฏ
            ตามตำนานดอยตุงมีกล่าวถึงถ้ำนี้มีความว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาที่ดอยตุง และฉันภัตตาหาร จากนั้นได้ทรงเทศนาสั่งสอนชาวบ้าน ชาวเมืองให้ทำความดี หลังจากนั้นได้มีฤษีอุปัฏฐากพระบรมธาตุดอยและได้มาพักอยู่ที่ถ้ำนี้ และยังมีพระภิกษุสงฆ์มาพักด้วย คำว่าตุ๊ปู่ หมายถึงพระสงฆ์แก่ ๆ นั่นเอง
            ถ้ำนี้เป็นถ้ำเล็ก ๆ ปากถ้ำกว้างประมาณ ๓ เมตร ตัวถ้ำลึกประมาณ ๗ เมตร ไม่มีหินงอกหินย้อย ภายในถ้ำมีฐานชุกชี มีพระพุทธรูปอยู่หลายองค์ เศษอิฐที่ปรากฏอยู่เป็นอิฐโบราณ
            ถ้ำปุ่ม  อยู่ในกลุ่มดอยนางนอน และดอยอื่น ๆ ในบริเวณเดียวกันที่กล่าวมาแล้ว อยู่ห่างจากถ้ำปลาไปทางด้านทิศเหนือของถ้ำปลา ประมาณ ๓ กิโลเมตร มีตำนานกล่าวถึงถ้ำปุ่มอยู่หลายฉบับ โดยเฉพาะตำนานเชียงแสนและตำนานดอยตุง มีความว่า พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาที่ถ้ำนี้แล้วเอาปุ่มที่ใส่น้ำให้พระองค์ดื่มมาไว้ในถ้ำนี้สองใบ โดยมีฤาษีเป็นผู้นำมาไว้ ได้มีผู้เอาปุ่มดังกล่าวไปไว้ที่บ้าน แต่พอตกกลางคืนปุ่มก็จะกลับมาอยู่ที่เดิม
            ตัวถ้ำหันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออก อยู่สูงกว่าระดับพื้นดินเล็กน้อย ปากถ้ำกว้างประมาณ ๕ เมตร เมื่อเข้าไปในถ้ำประมาณ ๒ เมตร ทางด้านซ้ายมือจะมีรูปปุ่ม (พุ่ม หรือกุมภ์) ก่อด้วยอิฐจำนวนสองใบนอกเล็กกว่าใบที่อยู่ถัดไปข้างในเล็กน้อย วางอยู่บนฐานสูงประมาณ ๑ เมตร ภายในถ้ำมืดสนิท ลึกเข้าไปในถ้ำประมาณ ๓๐ เมตร จะมีทางแยกออกเป็นสองทาง ทางหนึ่งไปทางด้านทิศเหนือ อีกทางหนึ่งไปทางด้านทิศใต้ทางที่ไปด้านทิศเหนือ ลึกเข้าไปอีกประมาณ ๖ เมตร จะมีสายน้ำไหลออกไปทางด้านท้ายถ้ำ ซึ่งเป็นช่องขนาดเล็กคนไม่สามารถลอดเข้าไปได้
            มีหินงอกหินย้อยภายในถ้ำเป็นจำนวนมาก หลายแห่งหินงอกและหินย้อยเกาะอยู่ที่ผนังถ้ำ ดูคล้ายผ้าม่านผืนใหญ่ บางแห่งเป็นรูปหัวช้าง และภาพอื่น ๆ ตามจินตนาการ
            ถ้ำแก้ว (ถ้ำผาจม)  อยู่ในเขตตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย ตัวถ้ำอยู่บนเขาติดกับแม่น้ำสาย นับว่าเป็นเขาที่อยู่ทางเหนือสุดของประเทศไทย อยู่สูงจากพื้นดิน ประมาณ ๗๐ เมตร มีลักษณะลาดเอียงไปทางด้านทิศตะวันออก ปากถ้ำกว้างประมาณ ๒ เมตร สูงประมาณ ๓ เมตร พื้นถ้ำเทคอนกรีต ปากถ้ำมีรูปฤาษีก่อด้วยอิฐ ลึกเข้าไปในถ้ำประมาณ ๘ เมตร มีพระพุทธรูปก่อด้วยอิฐขนาดกว้างหน้าตักศอกเศษ สุดถ้ำมีพระเจดีย์สูงประมาณ ๓ เมตร นับว่าเป็นถ้ำขนาดเล็ก แต่มีเรื่องราวปรากฏอยู่ในตำนานโยนกและตำนานพระธาตุดอยตุง มีความว่า พระพุทธเจ้าได้เคยเสด็จมาโปรดสัตว์ ณ ที่นี้ทั้งสี่พระองค์ที่ล่วงมาแล้ว และจะมีต่อไปอีกหนึ่งพระองค์ ก็จะเสด็จมาโปรดสัตว์ ณ ที่นี้อีกเช่นกัน
            บริเวณหัวดอย ที่ติดกับลำน้ำแม่สายมีฝายหินทิ้งอยู่แห่งหนึ่ง เพื่อทดน้ำเข้ามาสู่ผืนนาในฝั่งไทย ฝายนี้มีมานานแล้วกว่า ๑,๐๐๐ ปี ในตำนานโยนกกล่าวว่า มีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าพรหมมหาราช
            เชียงรายเป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางธรรมชาติ ครั้งหนึ่งเคยได้รับขนานนามว่า  เป็น "เมืองแห่งเจ็ดสายน้ำ สามฝ่ายฟ้า สามสิบห้ายอดดอย" มีน้ำตกใหญ่น้อยรวม ๒๐ แห่ง มีถ้ำขนาดใหญ่มีชื่อเสียงระดับประเทศ และถ้ำเล็กถ้ำน้อยประมาณ ๒๐ ถ้ำ นอกจากนั้นยังได้รับขนานนามว่า เป็นดินแดนแห่งเทือกเขาและทะเลหมอก
ภูเขาที่สำคัญและยอดเขาที่สำคัญ

            ดอยตุง  เป็นยอดเขาสูง เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขานางนอน อยู่ในเขตอำเภอแม่ฟ้าหลวง มีความสูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณ ๑,๖๓๐ เมตร สภาพอากาศเย็นสบาย ในฤดูหนาวอากาศจะหนาวเย็นคล้ายประเทศในเขตหนาว ดอยตุงเป็นดินแดนแห่งการอนุรักษ์ผืนป่า และอนุรักษ์วัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อย มีสถานที่สวยงามตามธรรมชาติอยู่หลายแห่งด้วยกัน ได้แก่ สถูปดอยช้างมูบ อยู่ห่างจากองค์พระธาตุดอยตุง ประมาณ ๕ กิโลเมตร เป็นจุดชมวิวทางธรรมชาติที่สวยงามแห่งหนึ่ง ในบรรดาจุดชมวิวอื่น ๆ เช่น จุดชมวิวดอยผาฮี จุดชมวิวดอยผาหมี และจุดชมวิวกิโลเมตรที่ ๑๒
            โครงการพัฒนาดอยตุง ในพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทร ฯ เพื่อฟื้นฟูสภาพที่ถูกหักร้างถางพงทำพืชไร่ของชนกลุ่มน้อย ได้เริ่มเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๑ ทำให้ป่าดอยตุงกลับฟื้นคืนสภาพขึ้นมาใหม่

            ดอยผางาม  เดิมชื่อดอยผาแสนผาหมื่น ตั้งอยู่กลางทุ่งนา อยู่ในเขตตำบลดอนศิลา อำเภอเวียงชัย เป็นภูเขาหินขนาดใหญ่ สูงชันประมาณ ๒๐๐ เมตร เรียงรายกันอยู่หลายลูก ลักษณะที่โดดเด่นคือ คล้ายกับภูเขาที่ผูดขึ้นจากพื้นดินเหมือนยกมาตั้งไว้ มีหน้าผาสูงชัน บนยอดเขามีแอ่งน้ำและโพรงหินมีปลาอาศัยอยู่ในแอ่งน้ำนั้นด้วย

            ดอยแม่สลอง  อยู่ในเขตตำบลแม่สลอง อำเภอแม่ฟ้าหลวง เป็นดินแดนแห่งภูเขาเป็นที่อยู่อาศัยของชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่ม รวมทั้งชาวจีนฮ่อพลัดถิ่น (กองพล ๙๓ ) ที่บ้านสันติคีรี เป็นดินแดนแห่งดอกซากุระงาม หรือดอกพญาเสือโคร่งที่จะบานในฤดูหนาว จากทิวเขาสลับซับซ้อน และม่านเมฆทิวหมอกบนดอยสูง นับเป็นภูมิทัศน์ที่สวยงามประทับใจ อากาศหนาวเย็นมากในฤดูหนาว มีสินค้าพื้นเมืองจากชาวเขา และจีนฮ่อ ซึ่งมีผลไม้เมืองหนาวรวมอยู่ด้วย

            ภูชี้ฟ้า  เป็นยอดเขาสูงของดอยผาหม่น ที่ทอดตัวกั้นเขตแดนไทยกับลาว อยู่บริเวณบ้านร่มฟ้าหลวง ในเขตตำบลบ่อ อำเภอเวียงแก่น และบ้านร่มฟ้าไทย ตำบลตับเต่า อำเภอเทิง เป็นสถานที่มีความงามทางธรรมชาติ ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของเชียงราย ลักษณะของภูชี้ฟ้าเป็นภูเขาสูงทำมุม ๔๕ องศา ชี้ไปยังฝั่งประเทศลาว เดิมภูชี้ฟ้ามีชื่อว่า ผาฟ้า มีผู้ให้ชื่อว่า ภูชี้ฟ้าว่า เป็นหลังคาสยาม จากลักษณะของยอดที่แหลมสูงเสียดฟ้า มีความสูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๗๐๐ เมตร เมื่ออยู่บนยอดภูชี้ฟ้า จะมองเห็นทิวทัศน์ที่สวยงามโดยรอบได้ดี ในช่วงฤดูหนาวจะมีทะเลหมอกที่สวยงาม สายหมอกจะลอยเป็นผืนยาวคล้ายท้องทะเลไกลสุดสายตา แสงจากอาทิตย์อุทัยตอนเช้าจะให้ภาพที่สวยงามมาก อากาศเย็นที่อุณหภูมิ ประมาณ ๔ - ๗ องศาเซลเซียส และมีสายลมพัดมาไม่ขาดสาย ทำให้หนาวเหน็บยิ่งขึ้น ประกอบกับดอกพญาเสือโคร่ง และดอกเสี้ยวป่าที่บานสะพรั่งไปทั่วดอย เพิ่มความสวยงามตามธรรมชาติแก่ผู้พบเห็นยิ่งขึ้น
            ดอยผาตั้ง  เป็นส่วนหนึ่งของดอยผาหม่น ซึ่งกั้นพรมแดนระหว่างไทยกับลาว ในเขตอำเภอเวียงแก่น เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน อากาศหนาวเย็นตลอดปี อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๘๐๐ เมตร เป็นสถานที่ที่มีทัศนียภาพสวยงามแปลกตา ของอำเภอเวียงแก่น ดังคำขวัญของอำเภอว่า  เวียงแก่นชายแดนไทยลาว น้ำงาวใส ผาไดดัง ผาตั้งงาม ในฤดูหนาวซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม อากาศหนาวจัด ลมแรงและมีทะเลหมอก เช่นเดียวกับภูชี้ฟ้า จุดที่ชมดวงอาทิตย์ขึ้นยามเช้าคือบริเวณผาบ่อง หรือประตูสยาม ซึ่งเป็นหน้าผามีช่องขนาดใหญ่ให้มองลอดไปดูทัศนียภาพประเทศลาว และยังเป็นช่องทางที่ใช้เดินทางติดต่อกันระหว่างไทยกับลาว และเมื่อขึ้นไปที่ดอยสามร้อยยอด ซึ่งเป็นยอดเขาสูงก็จะสามารถชมทะเลหมอก และทัศนียภาพบนดอยสูงของทั้งสองประเทศได้
ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ

            น้ำพุร้อน  เกิดจากการแทรกตัวของหินอัคนี จากการเคลื่อนไหวอันรุนแรงของผิวโลก ทำให้เกิดรอยแตกและรอยเลื่อนขนาดใหญ่เป็นจำนวนมาก ทำให้พลังความร้อนใต้พิภพได้รับการปลดปล่อยออกมา น้ำพุร้อนเกิดจากน้ำฝนที่ไหลซึมลงไปผสมกับน้ำข้างล่างในแหล่งกับเก็บเดิม โดยซึมไปตามรอยเลื่อนแล้วไปสัมผัสกับหินที่ยังร้อนอยู่ภายใต้ผิวโลก ปรากฏเป็นน้ำพุร้อน หรือที่เรียกอีกอย่างว่าโป่งน้ำร้อน
            โป่งน้ำร้อนแม่จัน  มีอุณหภูมิแหล่งกักเก็บในระดับ ๑๗๕ - ๒๐๐ องศาเซลเซียส อยู่ในเขตตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จัดว่าเป็นแหล่งน้ำพุร้อนขนาดใหญ่ มีพื้นที่ประมาณ ๑๐ ไร่ ลักษณะเป็นเนินดินปนหินแกรนิตที่ถูกแรงดันภายในพื้นโลก เกิดเป็นรูปโค้งนูน มีบ่อน้ำพุร้อนเป็นจุด ๆ แต่ละจุดมีอุณหภูมิสูง และปานกลางแตกต่างกันไป บางจุดมีน้ำพุร้อนพุ่งขึ้นสูงถึง ๗ เมตร น้ำที่ไหลออกมามีกลิ่นกำมะถันอยู่ด้วย ปัจจุบันได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว
            โป่งน้ำร้อนอำเภอเมือง  อยู่ที่บ้านโป่งนาคำ ตำบลบ้านโป่งยางผาเดียว และบ้านโป่งน้ำร้อน เป็นกลุ่มที่มีอุณหภูมิกักเก็บในเขตระดับต่ำ มีอุณหภูมิอยู่ระหว่าง ๑๔๐ - ๑๗๐ องศาเซลเซียส มีขนาดไม่ใหญ่นัก
            โป่งน้ำร้อนอำเภอเวียงป่าเป้า  เป็นโป่งน้ำร้อนขนาดเล็กอยู่ในเขตตำบลแม่เจดีย์ มีอุณหภูมิอยู่ระหว่าง ๑๔๕ - ๑๗๐ องศาเซลเซียส ปัจจุบันถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง เนื่องจากอยู่ติดกับทางหลวงสายเชียงราย - เชียงใหม่
            โป่งน้ำร้อนอำเภอพาน  เป็นน้ำพุร้อนขนาดเล็ก อยู่ในเขตตำบลห้วยทรายขาว ติดกับทางหลวงหมายเลข ๑ ช่วงเชียงราย - พะเยา ปัจจุบันได้ปรับปรุงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวขนาดเล็ก มีลักษณะเป็นบ่อน้ำร้อนขนาดเส้นผาศูนย์กลาง ประมาณ ๓ เมตร
    น้ำตก
            เชียงรายเป็นเมืองแห่งขุนเขาจึงมีน้ำตกใหญ่น้อยอยู่เป็นจำนวนมาก สำหรับน้ำตกขนาดใหญ่ที่เป็นที่รู้จักกันดี และเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดมีดังนี้
            น้ำตกขุนกรณ์  เป็นน้ำตกที่สูงที่สุดของเชียงราย มีความสูงถึง ๗๐ เมตร และเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำกรณ์ อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ ติดต่อกับอำเภอแม่ลาว เดิมชื่อน้ำตกตาดหมอก เกิดจากเทือกเขาดอยช้าง เส้นทางไปสู่น้ำตกจะลดเลี้ยวไปตามหุบเขา และเชิงดอย มีธรรมชาติที่ร่มรื่นสวยงาม
            น้ำตกปูแกง  อยู่ในอุทยานแห่งชาติดอยหลวง ในเขตตำบลแม่เย็น อำเภอพาน อุทยานดอยหลวงมีพื้นที่ครอบคลุมรอยต่อ ๓ จังหวัดคือ เชียงราย พะเยา และลำปาง ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นต้นกำเนิดแหล่งน้ำของกว๊านพะเยา แม่น้ำวัง และแม่น้ำลาว ชื่อของน้ำตกปูแกงได้มาจากชื่อของใบพลูชนิดหนึ่ง ซึ่งขึ้นอยู่บริเวณน้ำตก ใบพลูชนิดนี้มีกลิ่นฉุนคล้ายแมงแกงจึงเรียกว่าปูแกง เพราะพลูทางภาคเหนือจะเรียกปู อีกนัยหนึ่งคำว่า แกง ชาวบ้านใช้เรียกพืชพรรณที่มีรสฉุนกว่าแกงเช่น ข่าแกง ขิงแกง
            น้ำตกปูแกงเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ มีความสูงถึง ๙ ชั้น เนื่องจากมีลักษณะเป็นผากว้าง จึงทำให้สายน้ำที่ตกลงมาจากหน้าผาสูง ๓๐ เมตรนั้น แลดูเหมือนม่านน้ำสวยงามมาก
    แหล่งน้ำธรรมชาติ
            แหล่งน้ำธรรมชาติของจังหวัดเชียงรายมีอยู่เป็นจำนวนมาก แหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่ยังคงเหลืออยู่ในเขตจังหวัดเชียงราย มีดังนี้
            หนองหลวง  อยู่ในเขตคาบเกี่ยวระหว่างอำเภอเมือง ฯ และอำเภอเวียงชัย มีพื้นที่ครอบคลุม ๓ ตำบล คือ ตำบลเวียงชัย ตำบลดอนศิลาในเขตอำเภอเวียงชัย และตำบลห้วยสักในเขตอำเภอเมือง ฯ  หนองหลวงมีขนาดความกว้างประมาณ ๔ กิโลเมตร และยาวประมาณ ๗ กิโลเมตร มีพื้นที่โดยรอบรวมทั้งตัวหนองประมาณ ๑๒,๔๐๐ ไร่ มีเกาะอยู่ ๘ เกาะ มีพื้นที่ประมาณ ๕๐๐ ไร่ บริเวณขอบหนองมีร่องน้ำกระจายอยู่โดยรอบ บริเวณรอบหนองหลวงมีภูเขาและเนินเขาล้อมอยู่สามด้าน คือดอยลาน ดอยห้วยองดอยโตน ดอยปุย และดอยหัวตาด น้ำที่ไหลลงสู่หนองหลวงไหลมาจากห้วยหลายสาย เมื่อปริมาณน้ำสูงถึงระดับหนึ่ง จะล้นฝายกั้นน้ำ ไหลลงสู่แม่น้ำสกึ๋น และไปลงแม่น้ำลาว และแม่น้ำกก การระบายน้ำจากหนองหลวงตามธรรมชาติยังไม่เพียงพอ เกิดปัญหาการเอ่อท้นท่วมไร่นาในฤดูน้ำหลาก หนองหลวงมีพื้นที่รับน้ำประมาณ ๑๘๐ ตารางกิโลเมตร มีปริมาณน้ำแต่ละปี ประมาณ ๖๓ ล้านลูกบาศก์เมตร ระดับน้ำลึกแตกต่างระหว่างฤดูแล้งกับฤดูฝน ในฤดูแล้งจะลึกประมาณ ๓ - ๕ เมตรในฤดูฝนจะลึกประมาณ ๕ - ๑๐ เมตร
            ปัจจุบันหนองหลวงอยู่ในความดูแลของสถานีประมงประจำจังหวัดเชียงราย มีการอนุรักษ์สัตว์น้ำ นกน้ำ ตลอดจนการส่งเสริมการท่องเที่ยว

            ทะเลสาบเชียงแสน (หนองบงกาย)  เป็นหนองน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ มีพื้นที่ประมาณ ๒,๗๐๐ ไร่ ตั้งอยู่ในเขตตำบลโยนก อำเภอเชียงแสน และพื้นที่บางส่วนของตำบลจันจว้า กิ่งอำเภอดอยหลวง ลักษณะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญในระดับนานาชาติ (รวมอยู่ในกลุ่มจังหวัดเชียงแสน) มีความลึกเฉลี่ย ๒.๕ เมตร มีเกาะกลางน้ำสองเกาะ ตัวทะเลสาบมีภูเขาล้อมรอบอยู่เป็นจำนวนมาก น้ำในทะเลสาบไหลระบายไปทางด้านทิศตะวันออก เดิมเรียกว่าหนองบงกาย เนื่องจากบริเวณขอบหนองมีต้นไผ่บงคาบขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านบางแห่งเรียกว่า เวียงหนอง เพราะบริเวณหนองน้ำแห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของเมืองโยนก หรือโยนกนาคพันธุ์บุรีศรีช้างแสน เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๐ อันเนื่องจากเกิดแผ่นดินถล่ม จนเมืองทั้งเมืองจมหายลงไปกลายเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ ชาวบ้านที่หาปลาในหนองเคยพบเครื่องถ้วยชาม และเครื่องเคลือบเป็นจำนวนมาก รวมทั้งเสาบ้านเรือนที่ผุพังและซากอิฐ
            ปัจจุบันทะเลสาบเชียงแสนได้รับการพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว และเป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ และนกประจำถิ่น เช่นนกอีโก้ง นกอีลุ้ม นกอีล้ำ และนกที่อพยพมาจากถิ่นอื่นในฤดูหนาว ได้แก่ นกเป็นปากพลั่ว นกเป็ดหอม นกเป็ดเทาก้นดำ นกเป็ดปากเขียว และนกเป็ดเปียหน้าเขียว เป็นต้น ทางราชการได้ประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๘ อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยรักษาเขตหวงห้ามล่าสัตว์อำเภอเชียงแสน

            สามเหลี่ยมทองคำ  เป็นพื้นที่ที่เกิดจากแม่น้ำรวกไหลมาบรรจบแม่น้ำโขงที่บ้านสบรวก ทำให้ผืนดินบนฝั่งพม่าเป็นมุมแหลม เป็นรูปสามเหลี่ยม คั่นระหว่างแม่น้ำโขงกับแม่น้ำรวก อยู่ในเขตอำเภอเชียงแสน
            การที่ได้ชื่อว่าสามเหลี่ยมทองคำเนื่องจากในอดีตดินแดนส่วนนี้เป็นที่ปลูกฝิ่น และผลิตยาเสพติดเป็นที่อาศัยของชนกลุ่มน้อย
            ปัจจุบันสามเหลี่ยมทองคำเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในระดับนานาชาติ มีท่าเรือขนาดใหญ่ไว้บริการนักท่องเที่ยว แล่นทวนน้ำไปตามแม่น้ำโขงขึ้นไปถึงยูนนาน และสิบสองปันนา หาดเชียงราย เป็นหาดทรายที่เกิดจากแม่น้ำกก ก่อนไหลผ่านหมู่บ้านปากลัด บริเวณใกล้เคียงหมู่บ้านปากลัด ร่องน้ำได้กัดเซาะฝั่งซ้ายของแม่น้ำเข้าไปมากกว่า ทำให้กระแสน้ำพัดพาเอาทราย ซึ่งไหลมาตามแม่น้ำกกไปทับถมทางฝั่งขวามากขึ้นเรื่อย ๆ  ประกอบกับบริเวณนั้นเป็นคุ้งน้ำ จึงเกิดการตื้นเขินเป็นเนินทรายกว้างไกล ลาดลงสู่สายน้ำคล้ายหาดทรายชายทะเล ด้านตรงข้ามหาดเป็นโขดผาสูง หาดทรายยาวประมาณ ๑ กิโลเมตร และกว้างประมาณ ๑๐๐ เมตร ในฤดูแล้งน้ำลดลงจะเห็นพื้นที่หาดเพิ่มมากขึ้น มีสายน้ำไหลริน ๆ ผ่านหาดเป็นแห่ง ๆ มีฝูงปลาเล็ก ๆ แหวกว่ายไปมา เดิมเรียกหาดพัทยาน้อย ต่อมาทางจังหวัดได้ปรับปรุงเป็นสถานที่ท่องเที่ยว โดยสร้างเป็นสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระศรีนครินทร ฯ และเปลี่ยนชื่อเป็นทางการว่าหาดเชียงแสน

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |