| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา | |
- การพัฒนาเกาะสีชังให้เป็นท่าเรือน้ำลึกและเป็นที่แปรพระราชฐานในฤดูร้อน
ในอดีตเกาะสีชังเคยขึ้นอยู่กับจังหวัดสมุทรปราการ ต่อมาได้โอนมาขึ้นกับอำเภอศรีราชา
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกาะสีชังมีผู้คนอาศัยอยู่ทางด้านหัวแหลม
ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระราชฐานในสมัยต่อมา ในบรรดาราษฎรที่อาศัยอยู่ที่เกาะสีชัง
มียายเสมเป็นผู้อาวุโส และได้เข้าเฝ้ารับเสด็จทุกครั้ง จึงได้รับพระราชทานสัญญาบัตร
ตั้งให้เป็น ท้าวคีรีรักษา
ปกครองดูแลลูกบ้าน ที่เกาะสีชัง
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อการค้าระหว่างไทยกับต่างประเทศเจริญยิ่งขึ้น
มีเรือบรรทุกสินค้าไปมาค้าขายกับกรุงเทพ ฯ เป็นจำนวนมาก ในเวลามีคลื่นลมจัดมักมาจอดรับลำเลียงสินค้ากันที่เกาะสีชัง
เพราะมีที่กำบังลม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้า
ฯ ให้ตรวจทำแผนที่หยั่งน้ำ และตรวจศิลาใต้น้ำตามเส้นทางที่เรือจะเดินทางไปมาโดยละเอียด
ที่ใดมีศิลาใต้น้ำที่อาจเป็นอันตรายต่อเรือก็ให้เอาทุ่นเหล็กมาทอดไว้เป็นเครื่องหมายแก่ชาวเรือ
ในปี พ.ศ.๒๔๒๒
ในปี พ.ศ.๒๔๓๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างอาคารที่พักขึ้นที่เกาะสีชัง
สามหลัง เพื่อใช้เป็นที่พักของผู้ป่วย พระราชทานนามอาคารตามพระนามสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา
ฯ สมเด็จพระนางเจ้าเสวภาผ่องศรี ฯ และพระอัครชายาเธอพระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์
ฯ ผู้บริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์จัดซื้อเครื่องเรือนตกแต่งอาคารทั้งสามหลังคือ
หลังที่อยู่ริมหาด มีนามว่า ตึกวัฒนา
อาคารหลังกลม มีนามว่า ตึกผ่องศรี
และอาคารหลังยาว มีนามว่า ตึกอภิรมย์
ในปี พ.ศ.๒๔๓๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างค่ายหลวงที่ประทับและขุดบ่อน้ำบ่อใหญ่
สำหรับกักเก็บน้ำไว้ให้ราษฎรใช้ พระราชทานนามว่า บ่ออัษฎางค์ ตามพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ
เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ นอกจากนั้นยังทรงสร้างท่าเรือและสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินเรือด้วย
ในปี พ.ศ.๒๔๓๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างถาวรวัตถุเพิ่มเติมคือ สร้างสะพานยาวตั้งแต่ชายหาดลงไปถึงน้ำลึก เพื่อให้เรือเข้ามาจอดได้ในเวลาน้ำลง สะพานดังกล่าว กว้างสองวา ยาวสองเส้น หนึ่งวา สองศอก พระราชทานนามว่า สะพานอัษฎางค์ โปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายศาลเจ้าซึ่งเป็นที่นับถือของชาวเกาะสีชังไปสร้างใหม่บนไหล่เขา พระราชทานนามว่า ศาลศรีชโลธรเทพ โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างประภาคารขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีศิลาใต้น้ำอยู่ตรงปากช่องทางเดินเรือ พระราชทานนามว่า อัษฎางค์ประภาคาร โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างเสาธงขึ้นบนยอดเขาสูง พระราชทานนามว่า ยอดพระจุลจอมเกล้า ฯ พระราชทานนามว่า เสาธงอัษฎางค์ โปรดเกล้า ฯ ให้ตัดถนนขึ้นหลายสาย เช่น ถนนอัษฎางค์ ถนนวัฒนา ถนนวชิราวุธ ถนนจักรพงษ์ และถนนสายสวลี เป็นต้น และโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างสวนป่าขึ้นที่ไร่บนเขา มีชื่อว่า จุลวัน มหาวัน มียอดเขา เนินผา ถ้ำ น้ำตก ลำธาร ประดับด้วยน้ำพุ และตุ๊กตาหินอ่อน พระราชทานนามว่า อัษฎางคะวัน
ในปี พ.ศ.๒๔๓๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างถาวรวัตถุเพิ่มเติมคือ
ขยายรั้วค่ายหลวงออกไปจนถึงคลองเทียนบน สร้างตำหนักอีกหลายหลัง ขุดบ่อสำหรับกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง
ที่สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอัญเชิญมาจากพุทธคยา ในประเทศอินเดีย
ไว้บนไหล่เขาคยาศีระ แห่งยอดพระจุลจอมเกล้า ฯ ย้ายวัดอัษฎางค์นิมิตรไปสร้างที่เนินเขายอดพระจุลจอมเกล้า
ฯ ด้านทะเล และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ฯ ทรงบริจาคทรัพย์สร้างโรงเรียน
พระราชทานนามว่า โรงเรียนเสาวภา
ในปีเดียวกันนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระราชฐานขึ้นที่เกาะสีชัง
พระราชทานนามว่า จุฑาธุชราชฐาน
พระที่นั่งและพระตำหนักที่สร้างด้วยไม้รวมสี่องค์ พระราชทานนามว่า พระที่นั่งโกสัยวสุภัณฑ์
พระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ พระที่นั่งโชติรสประภาต์ และพระที่นั่งเมขลามณี
ส่วนพระตำหนักมี ๑๔ องค์ พระราชทานนามตามชื่ออัญมณี คือ พระตำหนักวาสุกรีก่องเก็จ
ตำหนักเพชรระยับ ทับทิมสด มรกตสุทธิ บุศราคัม ก่ำโกมิน นิลแสงสุก มุกดาพราย
เพทายใส ไพฑูรกลอก ดอกตะแบกลออ โอปอล์จรูญ มูลการะเวก และตำหนักเอกฟองมุกด์
ประตูพระราชฐาน แปดแห่ง ได้แก่ ประตูนาถชุมนุม ภุมเทพาวาส ราชสุราลัย ไตรตรึงศ์พิมาน
ยามาคารรุจิ ดุสิตเทวสภา นิมานนรดี และประตูศรีษัฐสรว่า
ในปี พ.ศ.๒๔๔๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้รื้อถอนไม้จากพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์
ที่สร้างค้างอยู่ไปสร้างพระที่นั่งในราชวังดุสิต เป็นพระที่นั่งหกเหลี่ยมสองชั้น
ด้วยไม้สักทองทั้งหลัง และพลับพลาท่าน้ำ ซึ่งสร้างด้วยไม้ฉลุลวดลายวิจิตรบรรจงอย่างยิ่ง
พระราชทานนามว่า พระที่นั่งวิมานเมฆ
- ตั้งอำเภอศรีราชาและบริษัทศรีมหาราชาจำกัด
อำเภอศรีราชาเดิมเป็นส่วนหนึ่งของเมืองบางละมุง ซึ่งเป็นเมืองที่มีมาแต่สมัยอยุธยา
ในสมัยรัตนโกสินทร์ เมืองบางละมุงเป็นเมืองที่ขึ้นกับกรมท่า เจ้าเมืองเป็นที่
พระเพ็ชรคีรีศรีสงครามรามนรินทร์
ในปี พ.ศ.๒๔๔๐ เมืองบางละมุงเปลี่ยนเป็นอำเภอ เป็นหนึ่งสองอำเภอของจังหวัดชลบรี
อีกอำเภอหนึ่งคือ อำเภอนาเกลือ อำเภอเมืองบางละมุงตั้งอยู่ที่ตำบลบางพระ มีขุนเทพบุรี
(ช่วง) เป็นนายอำเภอ ต่อมาอำเภอเมืองบางละมุงเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอบางพระ และอำเภอนาเกลือเปลี่ยนเป็นอำเภอบางละมุงตามชื่อเดิม
ในปี พ.ศ.๒๔๔๖ ทางราชการได้ย้ายที่ว่าการอำเภอบางพระไปอยู่ที่ตำบลศรีราชา
แต่ยังคงใช้ชื่ออำเภอบางพระ จนถึงปี พ.ศ.๒๔๕๙ จึงเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอศรีราชา
บริษัทศรีมหาราชา เป็นบริษัทธุรกิจป่าไม้และอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ด้วยเครื่องจักรแห่งแรกในภาคตะวันออก
มีประวัติความเป็นมาคือ ในปี พ.ศ.๒๔๔๐ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีได้กราบถวายบังคมลาออกจากราชการ
และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตทำป่าไม้กระยาเลยที่ศรีราชา และได้รับสัมปทาน
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๑ พื้นที่ที่ได้รับสัมปทานครั้งแรกอยู่ระหว่างหนองค้อ ทางทิศตะวันออกไปจดตำบลโรงโป๊ะ
ทางตะวัตก ทิศเหนือสตั้งแต่หุบเขาบอนไปถึงทิศใต้ที่ตำบลเขาหลัก ต่อมาเขตสัมปทานได้ขยายตัวออกไปยังจังหวัดอื่น
ๆ ในภาคตะวันออก เมื่อเริ่มตั้งมีชื่อว่าบริษัทป่าไม้กระยาเลยศรีราชา ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทศรีราชาทุน
จำกัด เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๑ และได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทศรีมหาราชาจำกัด
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๔
ในปี พ.ศ.๒๔๕๑ บริษัทมีพื้นที่สัมปทานเพิ่มเป็น ๖๐๐ ตารางไมล์ มีต้นไม้เกือบสองล้านต้น
บริษัทบอร์เนียวเข้าร่วมทุน และเป็นผู้ดำเนินการแทนอยู่ ๑๕ ปี เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีจึงกลับมาจัดการเองอีกครั้ง
ในปี พ.ศ.๒๔๖๕ ประสบปัญหาในการดำเนินการจนต้องขายหุ้น และยืมเงินพระคลังข้างที่มาเป็นจำนวนมาก
เมื่อท่านถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ.๒๔๗๔ พระคลังข้างที่จึงเข้ามาดำเนินงานแทน
และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทศรีมหาราชา จำกัด เป็นทรัพย์สินสวนพระมหากษัตริย์
ต่อมาได้ขายกิจการให้แก่บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย ซึ่งเป็นบริษัทในเครือทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
บริษัทปูนซิเมนต์ไทยได้รวมทุนกับบริษัทไต้หวัน และฮ่องกง เปิดบริษัทใหม่ ยกเลิกกิจการทั้งหมด
โดยขอสงวนสิทธิ์ในโรงงานที่นอนสายรุ้ง และสิทธิ์ในสัมปทานป่าไม้ไว้เพียงสองแผนกเท่านั้น
- การสร้างโรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชา
ในปี พ.ศ.๒๔๔๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี
ซึ่งมาทำธุรกิจป่าไม้และอุตสาหกรรมแปรรูปไม้อยู่ที่ศรีราชา เป็นพระอภิบาลจัดสร้างพลับพลาที่ประทับสำหรับสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา
ฯ ท่านได้จัดสร้างเรือนไม้ขนาดใหญ่ขึ้นที่ชายทะเลแล้วเสร็จในปีเดียวกัน
ในปี พ.ศ.๒๔๔๕ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา ฯ ได้โปรดเกล้าให้จัดสร้างสถานพยาบาลขึ้น
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานนามว่า โรงพยาบาลสมเด็จ
ณ ศรีราชา ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๖๐ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา ฯ ได้ทรงมอบโรงพยาบางนี้ให้แก่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
ในความควบคุมดูแลของกระทรวงธรรมการ และในปี พ.ศ.๒๔๗๑ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้โอนไปสังกัดสภากาชาดสยาม
- การตั้งและพัฒนาสถานีทหารเรือบางพระ
ชายทะเลภาคตะวันออกของไทย เป็นบริเวณที่มีเรือพาณิชย์ต่างชาติไปมาค้าขาย และจอดพักขนถ่ายสินค้าอยู่เป็นประจำ
และมักถูกโจรสลัดซึ่งส่วนมากเป็นชาวจีนและชาวญวนคอยรบกวนปล้นสะดม เกิดความเดือดร้อนมาโดยตลอด
พระบาสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเคยประสบพวกโจรสลัดด้วยพระองค์เองที่บริเวณช่องแสมสาร
สัตหีบ เมื่อคราวเสด็จประพาสจันทบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๙ เรื่องโจรสลัดนี้กงสุลต่างประเทศก็เคยเรียกร้องให้ไทยจัดเรือปืนออกไปปราบปรามโจรสลัด
ดังนั้นในปี พ.ศ.๒๔๒๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้า
ฯ ให้พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ เสด็จออกไปจัดตั้งสถานีทหารเรือตามตำบลต่าง ๆ
แถบชายฝั่งทะเลตั้งแต่ชลบุรี บางพระ บางละมุง เกาะเสม็ด ระยอง จันทบุรี ขลุง
ตราด เกาะกูด ตลอดไปจนถึงเกาะเสม็ดนอก ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นของไทยอยู่
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๕ พระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอาภากรเกียรติวงศ์ (กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์)
ทรงได้รับพระบรมราชานุญาต ให้จัดตั้งกรมทหารขึ้นอย่างถาวรที่บางพระ โดยรววบรวมบุตรหมู่ทหารจากชลบุรี
และบางพระเข้าเป็นพวกเดียวกัน ต่อมายังไปรวมบุตรหมู่จากระยองไปจนถึงตราดมาไว้ที่กรมทหารเรือบางพระด้วย
ได้มีการจัดตั้งกรมทหารรบ ทหารปืนใหญ่ รวมทั้งกองเสบียงพาหนะ ทรงถอนทหารจำนวนมากออกจากกรุงเทพ
ฯ ให้ไปตั้งประจำตามกองทหารต่าง ๆ ที่บางพระ
- เมืองชลบุรีในช่วงต้นการปฎิรูปการปกครองส่วนภูมิภาค
นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๔๓๗ เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า
ฯ ให้ดำเนินการปฎิรูปการปกครองส่วนภูมิภาค โดยการนำระบบเทศาภิบาลมาใช้แทนระบบกินเมืองที่ใช้มาแต่เดิม
ยุบรวมเมืองชลบุรี เมืองพนัสนิคม
และเมืองบางละมุง เป็นเมืองชลบุรี
ก่อนปี พ.ศ.๒๔๓๗ หัวเมืองชั้นใน ชั้นนอก และเมืองประเทศราชแยกอยู่กับสามหน่วยงานคือ
กลาโหม มหาดไทย และกรมท่า ในปี พ.ศ.๒๔๓๗ ได้มีการประกาศปันหน้าที่กระทรวงกลาโหมกับกระทรวงมหาดไทย
ให้บรรดาหัวเมืองต่าง ๆ ที่เคยขึ้นอยู่กับกระทรวงกลาโหม และกรมท่า ให้มาขึ้นกับกระทรวงมหาดไทยเพียงกระทรวงเดียว
แล้วโอนงานอื่น ๆที่ควรเป็นงานของกระทรวงกลาโหม กระทรวงคลัง ฯลฯ จากกระทรวงมหาดไทยไปสังกัดตามกระทรวงที่มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องนั้น
ๆ โดยตรง
จากการปันหน้าที่ดังกล่าว มีผลให้เมืองชลบุรี เมืองพนัสนิคม และเมืองบางละมุง
ถูกโอนไปอยู่กับกระทรวงมหาดไทย และรวมอยู่ในมณฑลปราจีนบุรี
ในปี พ.ศ.๒๔๔๐ ได้มีการตราพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ เป็นกฎหมายปกครองสมัยใหม่
มีการจัดหน่วยบริหารที่เรียกว่า เมือง
เสียใหม่ คือให้ข้าราชการหัวเมืองทุกคนเข้ารับราชการโดยยึดถือความรู้ความสามารถเป็นเกณฑ์
และอยู่ในบังคับบัญชาของราชการส่วนกลาง รัฐบาลกลางเป็นผู้ให้เงินเดือน แต่งตั้งโยกย้ายเลื่อนชั้นและถอดถอน
การปฎิบัติงานในสำนักงานมีเวลาราชการที่จะให้บริการประชาชน ซึ่งต่างจากระบบกินเมือง
ที่ใช้อยู่เดิม มีการสืบสกุลทางการเมือง ไม่มีเงินเดือน ไม่มีสำนักงาน ทำงานที่บ้าน
มีรายได้จากค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ได้เกณฑ์ใช้แรงงานไพร่และทรัพย์สิ่งของจากราษฎรในปกครอง
ในปี พ.ศ.๒๔๔๑ มีการข้อบังคับลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ.๑๑๗ ว่าด้วยตำแหน่งข้าราชการประจำเมือง
ใบบอก รายงาน และคำสั่งการตรวจ การตั้งตำแหน่งและการทำบัญชีข้าราชการ การรักษาพระอัยการ
การโยธา และการศึกษา มีการแก้ไขระเบียบการแบ่งเขตการปกครอง กำหนดเขตการปกครองแต่ละหน่วย
โดยเฉพาะในขั้นต่ำให้มีขนาดและจำนวนพลเมืองไล่เลี่ยกัน เป็นระเบียบเดียวกัน
ตามข้อบังคับดังกล่าว เมืองชลบุรี เมืองพนัสนิคม และเมืองบางละมุง ได้ยุบรวมเป็นเมืองชลบุรี
มีคณะปกครองและส่วนราชการ ดังนี้
เมืองชลบุรี มีผู้ว่าราชการ จ่าเมือง และสารเลข
มหาดไทยเมือง มีปลัด สัสดี และศุภมาตรา
อัยการเมือง มี ยกรบัตร และผู้ช่วย
ศาลเมือง มีอธิบดีผู้พิพากษา ผู้พิพากษา และยกรบัตรศาล
นครบาลเมือง มีกองตำรวจภูธร
คลังเมือง มีพนักงาน
- เปลี่ยนจากเมืองเป็นจังหวัด
ในปี พ.ศ.๒๔๕๙ กระทรวงมหาดไทย ได้เปลี่ยนคำเรียก หน่วย การปกครองส่วนภูมิภาคจากเมืองเป็นจังหวัด
เปลี่ยนตำแหน่งผู้ว่าราชการเมือง เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด เปลี่ยนชื่ออำเภอตามชื่อตำบล
ที่เป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอนั้น ๆ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงมีพระราชหัตถเลขามาว่า นามอำเภอบางแห่งเป็นนามเมือง หรือสถานที่ที่มีตำนาน
ควรคงไว้ตามเดิม นอกจากนั้นให้เปลี่ยนไปตามที่เสนอมาในบัญชี
ด้วยเหตุดังกล่าว เมืองชลบุรีจึงเปลี่ยนเป็นจังหวัดชลบุรี และอำเภอต่าง ๆ
ได้เปลี่ยนชื่อไปคือ อำเภอเมือง เปลี่ยนเป็น อำเภอบางปลาสร้อย อำเภอพนัสนิคมคงเรียกอย่างเดิม
อำเภอบางพระ เปลี่ยนเป็นอำเภอบางละมุง อำเภอท่าตะกูด เปลี่ยนเป็นอำเภอพานทอง
และอำเภอบางละมุงเปลี่ยนเป็นอำเภอนาเกลือ
- การสร้างฐานทัพเรือสัตหีบ
สัตหีบเดิม อยู่ในเขตปกครองของเมืองบางละมุง ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลส่วนล่างสุด
(ชายธง) ของชายฝั่งทะเลจังหวัดชลบุรี ลักษณะภูมิประเทศเต็มไปด้วยภูเขา อ่าวใหญ่และเกาะใหญ่น้อย
ด้วยลักษณะภูมิประเทศดังกล่าว เป็นเหตุให้อ่าวสัตหีบถูกใช้เป็นที่จอดพักเรือรบในเวลาฝึกซ้อมรบทางทะเล
และเป็นที่ฝึกยิงตอร์ปิโดของกองเรือรบไทยในเวลาต่อมา
ในปี พ.ศ.๒๔๕๗ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมาทอดพระเนตรการซ้อมรบทางทะเล
ที่ตำบลสัตหีบโดยเรือพระที่นั่งจักรี ทรงเห็นว่าภูมิประเทศของสัตหีบเหมาะแก่การจัดตั้งเป็นฐานทัพเรือ
แต่เวลานั้นยังไม่เหมาะสมที่จะจัดสร้างฐานทัพเรือขึ้น จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้สงวนที่ดินติดริมฝั่งของตำบลสัตหีบ
และบริเวณใกล้เคียงไว้ และเพื่อมิให้มีการโจษขาน จึงมีพระบรมราชโองการประกาศว่า
ทางราชการสงวนที่ดินดังกล่าวไว้สำรับสร้างพระราชวัง
ต่อมาเมื่อกองทัพเรือมีเรือพิฆาตและเรือตอร์ปิโดเพิ่มขึ้น กระทรวงทหารเรือจึงได้ดำริจะสร้างฐานทัพเรือขึ้น
โดยจะเป็นที่จอดพัก อู่ซ่อม โรงงาน ที่เก็บเชื้อเพลิง อาวุธ กระสุนดินปืน
เสบียงอาหาร รวมทั้งมีป้อมปืนใหญ่ สำหรับให้ความคุ้มครองแก่กำลังรบทางเรือ
การพิจารณาสถานที่ก่อสร้างฐานทัพเรือนั้น สมเด็จ ฯ กรมหลวงชุมพร ฯ เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็น
สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพร ฯ ทรงสนพระทัยภูมิประเทศของสัตหีบ ทรงพิจารณาเห็นว่าเป็นชัยภูมิที่เหมาะสมที่สุด
ดังปรากฎในหนังสือกราบบังคมทูล เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๕ มีความตอนหนึ่งว่า
"สัตหีบเป็นสถานที่ที่อยู่เป็นสถานที่กลางของอ่าวไทย เป็นต้นทางของ Vital
Point คือ แม่น้ำเจ้าพระยา น้ำลึกพอที่จะเป็นอ่าวเรือใหญ่หรือเป็นที่ฝึกซ้อมยิงตอร์ปิโดได้
มีเกาะต่าง ๆ เป็นที่กำบังสำหรับเล็ดลอดออกทำการยุทธวิธีด้วยเรือเล็กได้สะดวก
ที่บนบกไม่ได้ตกเป็นสิทธิขาดของผู้ใด โดยทรงพระกรุณาให้เทศาภิบาลหวงห้ามไว้เป็นพระคุณแก่ทหารเรือยิ่ง
ทางบกมีทางติดต่อกับรถไฟสายปราจีนบุรีไม่ต้องกลัว Isolation อาจติดต่อกับกำลังทางบกและเป็นปีกหนึ่งของกองทัพฝ่ายตะวันออกได้สะดวก
เป็นที่ฝึกทหารทางทะเลได้ตลอดทั้งสองมรสุมโดยเป็นที่กำบังมิดชิด"
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประทานให้ด้วยตรงกับพระราชประสงค์อยู่แล้ว
กระทรวงทหารเรือมีโครงการจะสร้างเกาะสีชังเป็นฐานทัพชั้นใน สำหรับรักษาสนามทุ่นระเบิด
และป้องกันข้าศึกไม่ให้ผ่านสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยาได้ ส่วนสัตหีบจะเป็นฐานทัพเรือชั้นนอก
เป็นกำลังที่สุดของการรักษาอ่าวไทย ตั้งแต่เกาะช้างจังหวัดตราดและเกาะหลัก
ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันฑ์เข้ามา
เมื่อกระทรวงทหารเรือได้รับพระราชทานที่ดินในบริเวณสัตหีบแล้ว จึงได้เริ่มก่อสร้างสถานที่ต่าง
ๆ ด้วยการจัดหน่วยทำการขึ้นหน่วยหนึ่ง อยู่เชิงเขาแหลมเทียนด้านทะเลเรียกว่า
กองโยธาสัตหีบ
รับผิดชอบงานโยธาก่อสร้างสัตหีบ โดยใช้แรงงานบุกป่าซึ่งแรงงานส่วนใหญ่ได้มาจากนักโทษ
การก่อสร้างถนนหนทาง และอาคารสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ได้ดำเนินงานมาจนถึงปี พ.ศ.๒๔๗๓
ก็เสร็จสิ้นไปส่วนหนึ่ง แต่ยังไม่บรรลุถึงขั้นเป็นฐานทัพเรือ จึงตั้งชื่อว่า
สถานฝึกสัตหีบ
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |