| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา | |
ชลบุรีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี พ.ศ.๒๔๗๕
ได้มีการสร้างสัตหีบให้เป็นฐานทัพเรือย่างจริงจัง
ในปี พ.ศ.๒๔๘๐ สถานฝึกหัดสัตหีบได้เปลี่ยนชื่อเป็น สถานีทหารเรือสัตหีบ ในปี
พ.ศ.๒๔๘๖ ได้เปลี่ยนฐานะเป็นมณฑลทหารเรือที่ ๒ และได้เปลี่ยนกลับมาเป็นสถานีทหารเรือสัตหีบเมื่อปี
พ.ศ.๒๔๙๔ และได้เปลี่ยนเป็นฐานทัพเรือสัตหีบ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗
สัตหีบ เป็นกิ่งอำเภอขึ้นอยู่กับอำเภอบางละมุง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๗ และได้ยกฐานะเป็นอำเภอ
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๖
- การเปลี่ยนแปลงด้านคมนาคม
ในสมัยที่ยังไม่มีทางหลวงแผ่นดินติดต่อกับกรุงเทพ ฯ และจังหวัดต่าง ๆ ชลบุรีติดต่อกับกรุงเทพ
ฯ และจังหวัดใกล้เคียง โดยใช้เรือเดินทะเลทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่เป็นพาหนะหรือแม้แต่การติดต่อกับบางพื้นที่ในจังหวัดเดียวกัน
ทางหลวงแผ่นดินสายบางปะกง - ชลบุรี ซึ่งแยกจากทางหลวงแผ่นดินสายสมุทรปราการ
- ฉะเชิงเทรา แล้วเสร็จเปิดใช้งานได้ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๘๕ ในส่วนที่เป็นสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง
ชื่อสะพานเทพหัสดินทร์ สร้างเสร็จเปิดใช้งาน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๔
- กำเนิดสะพานตากอากาศบางแสน แหลมแท่น เขาสามมุข ก่อนปี พ.ศ.๒๔๘๖ ชายหาดบางแสนยังไม่เป็นที่รู้จักของคนภายนอก แต่เขาสามมุขเป็นที่รู้จักกันดี ตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เนื่องจากทะเลบริเวณเขาสามมุขเป็นทะเลที่ต่อเนื่องกับทะเลอ่างศิลา ซึ่งเป็นชายทะเลที่เป็นที่จอดพักเรือสินค้าจากต่างประเทศ ที่เข้ามาค้าขายกับราชอาณาจักรไทยในสมัยนั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูหนาว เพราะในฤดูหนาวแถบเกาะสีชังมีคลื่นลมแรงไม่สะดวกในการจอดพักเรือสินค้า เพื่อรอการขนถ่ายเข้าสู่ปากน้ำเจ้าพระยา บรรดาเรือสินค้าเหล่านั้นซึ่งมาจอดพักอยู่บริเวณทะเลแถบหัวเขาสามมุขไปจนถึงอ่างศิลา
สามมุข
ชุมชนเขาสามมุข ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นชุมชนเล็ก
ๆ มีอาชีพทางการประมง ที่หน้าผาหัวเขามีศาลเจ้าแม่สามมุข
เป็นที่เคารพนับถือของชุมชน แม้ที่อยู่ห่างไกลออกไปเชื่อว่าจะช่วยคุ้มครองให้ออกทะเลหาปลาได้อย่างปลอดภัย
และจับปลาได้มาก
เมื่อมีการสร้างบ้านพักตากอากาศขึ้นทางด้านทิศตะวันตกของเขา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๖
และในเวลาใกล้เคียงกันยังได้สร้างบ้านรับรองของรัฐบาลขึ้นในบริเวณใกล้ ๆ บ้านพัก
และตัดถนนเชื่อมจากบางแสนไปเขาสามมุข มีพื้นที่ประมาณ ๑๑๓ ไร่
ในปี พ.ศ.๒๕๐๓ ได้มีการสร้างบ้านรับรองของรัฐบาลขึ้นที่แหลมแท่น
ในปี พ.ศ.๒๕๓๖ เทศบาลตำบลแสนสุข ได้รับการยกฐานะเป็นเมืองพิเศษ (เมืองท่องเที่ยว)
แหลมแท่น อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเขาสามมุข ชื่อแหลมแท่น มีผู้เล่าว่าเป็นชื่อที่ได้มาจากเจ้าดารารัศมี พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมาประทับรักษาพระองค์อยู่ที่ค่ายหลวงอ่างศิลา ในปี พ.ศ.๒๔๔๙ ได้เสด็จมาประพาสที่นี่ ได้พระราชทานนามสถานที่แห่งนี้ว่า แหลมแท่น เนื่องจากเห็นว่าบริเวณหัวแหลม และริมทะเลมีแท่งหินใหญ่ตั้งอยู่ที่ชายฝั่งทั้งสองด้าน ชาวแหลมแท่นมีอาชีพด้วยการทำประมงและทอผ้า ผ้าที่ทอมีทั้งผ้าฝ้ายทอเป็นผ้านุ่งผ้าขาวม้าและผ้ายกดอก ทอใช้เองในครัวเรือน ในสมัยหลัง ๆ มีการนำไปขายในเมืองชลบุรีและกรุงเทพ ฯ
บางแสน
อยู่ทางตอนใต้ของแหลมแท่น เป็นหาดทรายที่มีความลาดชันน้อย ยาวจากแหลมแท่นไปจนจรดเขตบางพระ
ยาวประมาณ ๕ กิโลเมตร แบ่งเรียกเป็นสองส่วนคือ บางแสนบนกับบางแสนล่าง (หาดวอนนภา)
บางแสนบนคือ ส่วนที่ต่อจากแหลมแท่นไปทางใต้ ยาวประมาณ ๓ กิโลเมตร ส่วนที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนอาบน้ำทะเล
และเล่นกีฬาทางน้ำคือ ช่วงที่ต่อจากแหลมแท่นไปจนถึงวงเวียนชายหาด ยาวประมาณ
๒ กิโลเมตร
การสร้างบางแสนให้เป็นสถานตากอากาศชายทะเล เริ่มมีปี พ.ศ.๒๔๘๖ ในพื้นที่ประมาณ
๕๕๗ ไร่ โดยสร้างโรงแรมแสนสำราญขึ้น
สถานตากอากาศบางแสนได้ขึ้นทะเบียนราชพัสดุ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ตามมติ
ครม. เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๕
- เกิดสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกในภูมิภาค
ที่ตำบลแสนสุข ได้มีการวางศิลากฤษ์วิทยาลัยวิชาการศึกษา บางแสนในปี พ.ศ.๒๔๙๘
เป็นการขยายวิทยาเขตของวิทยาลัยการศึกษาประสานมิตร ออกไป นับว่าเป็นสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาแห่งแรกของไทยที่ตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาค
ในปี พ.ศ.๒๕๑๗ วิทยาลัยวิชาการศึกษาได้เปลี่ยนฐานะเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
วิทยาลัยวิชาการศึกษา บางแสน จึงมีฐานะเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตบางแสน
ในปี พ.ศ.๒๕๓๓ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางแสน ได้ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศ
ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยบูรพา ทำให้มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางแสน
มีสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยบูรพา
- เกิดอุตสาหกรรมปิโตรเลี่ยมที่ศรีราชา บริษัทโรงกลั่นน้ำมันไทยออย์ล
จำกัด หรือบริษัทไทยออย์ล จำกัด ก่อตั้ง
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๔ ที่อำเภอศรีราชา เริ่มผลิตน้ำมันออกสู่ตลาดเป็นครั้งแรกในปี
พ.ศ.๒๕๐๗ ด้วยกำลังกลั่น ๓๕,๐๐๐บาเรนต่อวัน ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๐ ได้สร้างหน่วยกลั่นที่
๒ ช่วยเพิ่มกำลังกลั่นเป็น ๖๕,๐๐๐ บาเรลต่อวันในปี พ.ศ.๒๕๒๒ ได้สร้างหน่วยกลั่นที่
๓ จากนั้นไดก็สร้างหน่วยกลั่นที่ ๔และได้ทำสัญญาร่วมทุนกับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย
ปัจจุบันบริษัทไทยออย์ล เป็นโรงกลั่นน้ำมันที่สมบูรณ์แบบที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
มีกำลังกลั่นรวม ๒๒๐,๐๐๐ บาเรล หรือ ๓.๕ ล้านลิตรต่อวัน คิดเป็นร้อยละ ๕๓
ของกำลังการผลิตจากโรงกลั่นต่าง ๆ ภายในประเทศ สามารถสนองความต้องการได้กว่าร้อยละ
๖๐ ของปริมาณความต้องการภายในประเทศทั้งหมด
โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมเอสโซ ศรีราชา
ตั้งอยู่ที่แหลมฉบัง อำเภอศรีราชา บนพื้นที่ประมาณ ๗๐๐ ไร่ เริ่มดำเนินกิจการ
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๐ โดยบริษัทเอสโซสแตนดาร์ด ประเทศไทย จำกัด มีกำลังการผลิต
๗,๐๐๐ บาเรลต่อวัน ในปี พ.ศ.๒๕๑๒ ได้เริ่มสร้างหน่วยกลั่นใหม่ มีกำลังผลิตเพิ่มขึ้นเป็น
๓๕,๐๐๐ บาเรลต่อวัน และได้สร้างท่าเรือรับน้ำมันขนาดใหญ่นอกฝั่งศรีราชา สามารถรับเรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ได้ถึง
๑๐๐๐,๐๐๐ ตัน
ในปี พ.ศ.๒๕๒๖ บริษัทได้รับอนุมัติจากรัฐบาลให้ขยายกำลังผลิตเป็น ๖๓,๐๐๐ บาเรลต่อวัน
และเพิ่มเป็น ๑๘๕,๐๐๐ บาเรลต่อวัน ในปี พ.ศ.๒๕๓๔ ใช้เงินลงทุน ๒๓,๐๐๐ ล้านบาท
แล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๕๔๓
คลังปิโตรเลียมศรีราชา
(ปตท) เป็นคลังสำรองผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ใหญ่ที่สุดของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย
ตั้งอยู่ที่บริเวณแหลมฉบัง ตำบลทุ่งศาลา อำเภอศรีราชา
ส่วนที่ ๑ คลังน้ำมันศรีราชา ประกอบด้วยถังน้ำมัน ๓๐ ถัง ความจุ ๖๘๐
ล้านลิตร ท่าเทียบเรือสี่ท่า ขนาด ๒,๐๐๐ ตัน และ ๘๐,๐๐๐ ตัน
ส่วนที่ ๒ คลังสำรองผลิตภัณฑ์ และท่าเทียบเรือเขาบ่อยา ประกอบด้วยถังเก็บกาซแบบทรงกลมความจุ
๒,๐๐๐ ตัน จำนวน ๖ ถัง และแบบถังตู้เย็น (Refigerated Tank) เก็บภายใต้ความเย็น
- ๔๒ องศาเซลเซียส ความจุถังละ ๑๐,๐๐๐ ตัน จำนวน ๒ ถัง มีท่าเทียบเรือสามารถรับเรือที่มีขนาด
๑๒๐,๐๐๐ ตัน
- กำเนิดเมืองพัทยา
เดิมพัทยาเป็นหมู่บ้านชาวประมงเล็ก ๆ อยู่ในสุขาภิบาลนาเกลือ อำเภอบางละมุง
มีสภาพทางธรรมชาติที่สวยงามคือ มีอ่าวกว้าง (ยาวประมาณ ๓ กิโลเมตร มีหาดทรายขาวสะอาด
น้ำทะเลใส ไม่มีแอ่งน้ำลึก จนเป็นอันตรายในการลงเล่นน้ำทะเล อากาศเย็นสบายทั้งกลางวันและกลางคืน
ทหารสหรัฐจากเวียดนามเริ่มมาพักผ่อนที่พัทยาครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๒ โดยมากันเป็นรุ่น
ๆ รุ่นละประมาณ ๕๐๐ คน เกิดการบริการเป็นอาชีพขึ้นใหม่แทนที่อาชีพประมง คนต่างถิ่นเริ่มอพยพเข้ามาอยู่อาศัย
และประกอบอาชีพในพัทยามากขึ้น
ในปี พ.ศ.๒๕๒๑ รัฐบาลได้ยกฐานะพัทยาให้เป็นเขตปกครองพิเศษในนามเมืองพัทยา
ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ.๒๕๒๑ ราชการบริหารส่วนท้องถิ่นแบบพิเศษนี้
เรียกว่า ระบบผู้จัดการเทศบาล
(City Manager) อำนาจบริหารตกอยู่กับคณะปลัดเมือง
นายกเมืองพัทยา ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากสภาเมืองพัทยา ไม่ได้มีอำนาจในการบริหารแต่อย่างใด
ชลบุรีในช่วงแผนพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก
เป็นแผนยุทธศาสตร์แบบผสมผสานภาครัฐและเอกชน โดยภาครัฐเป็นผู้นำทางการลงทุนด้านสาธารณูปโภค
และอุตสาหกรรมหลักขั้นพื้นฐาน ภาคเอกชนลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสนับสนุนการกระจายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
และอุตสาหกรรมออกไปสู่ภูมิภาคอย่างเป็นระบบ โดยมีระยะเวลาของแผนงาน ๒๐ ปี
ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๔ ถึงปี พ.ศ.๒๕๔๓
นโยบายการพัฒนาภาคตะวันออก มีสามประการคือ
๑ เพื่อให้เป็นภูมิภาคที่สามารถเปิดระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่การค้ากับนานาชาติได้มากยิ่งขึ้น
อย่างมีประสิทธิภาพ
๒ เพื่อเป็นแหล่งภูมิภาคที่สามารถรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กระจายออกจากกรุงเทพ
ฯ
๓ เพื่อปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศสู่อุตสาหกรรมใหม่ และกระจายการผลิตของอุตสาหกรรมให้มากยิ่งขึ้น
โดยใช้ทรัพยากรภายในภาคตะวันออกและภูมิภาคใกล้เคียง ตลอดจนความได้เปรียบของแหล่งที่ตั้งเป็นตัวเร่งรัดการพัฒนา
- โครงการตามแผนพัฒนา
เป็นลักษณะผสมผสานระหว่างโครงการทั้งที่เป็นของรัฐบาลและเอกชน ในส่วนของรัฐบาลมี
๑๒๓ โครงการ โครงการที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดชลบุรีได้แก่
ท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง
การท่าเรือแห่งประเทศไทยรับผิดชอบ มีการก่อสร้างท่าเรือคือ
๑ ท่าเทียบเรือคอนเทนเนอร์ ๓ ท่า สำหรับเรือขนาด ๒,๐๐๐ บีทียู (BTU)
๒ ท่าสินค้าเกษตร ๒ ท่า เพื่อรองรับเรือขนาด ๑๒๐,๐๐๐ ตัน
๓ ท่าเทียบเรือชายฝั่ง ๑ ท่า
๔ ท่าเทียบเรือเอนกประสงค์ ๑ ท่า
ดำเนินการก่อสร้างโดยกลุ่ม บริษัทอิตาเลียนไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๐
นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยรับผิดชอบ พื้นที่เป้าหมายการพัฒนาระยะแรกประมาณ
๒,๕๐๐ ไร่ ประกอบด้วยเขตอุตสาหกรรมทั่วไป เขตอุตสาหกรรมส่งออก เขตพาณิชยกรรม
และระบบสาธารณูปโภค
พื้นที่เป้าหมายการพัฒนา ระยะที่สอง ประมาณ ๒๑,๐๐ ไร่ เริ่มก่อสร้างเมื่อปี
พ.ศ.๒๕๓๑
สร้างท่อส่งน้ำหนองค้อ - แหลมฉบัง
กรมโยธาธิการรับผิดชอบ เป็นโครงการวางท่อเหล็กขนาด ๐.๙๐ - ๑.๐๐ เมตร ระยะทาง
๑๔ กิโลเมตร จากอ่างเก็บน้ำหนองค้อไปยังบ่อน้ำแหลมฉบัง สามารถส่งน้ำดิบได้
๒๑.๕ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี การก่อสร้างเสร็จ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒
สร้างทางรถไฟสายศรีราชา - แหลมฉบัง
การรถไฟแห่งประเทศไทยรับผิดชอบเป็นการสร้างทางรถไฟแยกจากสายสัตหีบ - ฉะเชิงเทรา
ที่สถานีรถไฟแหลมฉบัง ระยะทาง ๙.๓ กิโลเมตร เริ่มก่อสร้าง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒
สร้างระบบสื่อสารและโทรคมนาคมแหลมฉบัง
องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยรับผิดชอบ โครงการมีสามลักษณะคือ
๑ สร้างชุมสายอ่าวอุดม ที่ตำบลอ่าวอุดม และชุมสายแหลมฉบัง ที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง
๒ ขยายวงจรต่อผ่านเส้นทางชลบุรี - ศรีราชา - อ่าวอุดม และเส้นทางศรีราชา -
แหลมฉบัง
๓ จัดเตรียมงานโทรคมนาคม และวิทยุสื่อสาร
สร้างระบบไฟฟ้าแหลมฉบัง
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาครับผิดชอบ โครงการนี้มีสองลักษณะคือ
๑ ติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าจาก ๒๓๐ KV เป็น ๑๑๕ KV มายังบริเวณแหลมฉบัง
๒ เสริมระบบจำหน่ายโดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อรับกระแสไฟฟ้าฝ่ายผลิต และลดแรงดันไฟฟ้าลงเป็น
๒๒ KV
การสร้างระบบถนนสายชลบุรี - พัทยาสายใหม่
กรมทางหลวงรับผิดชอบ เป็นการสร้างถนนสี่ช่องจราจร พร้อมถนนเลี่ยงเข้าเมือง
และทางแยกเข้าแหลมฉบัง ยาว ๖๕ กิโลเมตร เริ่มสร้างในปี พ.ศ.๒๕๓๒ แล้วเสร็จในปี
พ.ศ.๒๕๓๔
สร้างเคหะชุมชนใหม่
การเคหะแห่งชาติรับผิดชอบ ลักษณะโครงการคือ
๑ สร้างแหล่งชุมชนรองรับแรงงาน ในบริเวณนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง
๒ สร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยพร้อมสาธารณูปโภคจำเป็น การก่อสร้างระยะที่
๑ เริ่มในปี พ.ศ.๒๕๓๑ และเสร็จในปี พ.ศ.๒๕๓๕
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |