| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

จังหวัดกาญจนบุรี

            จังหวัดกาญจนบุรี อยู่ในภาคตะวันตกของประเทศไทย มีพื้นที่มากเป็นอันดับ สาม รองลงมาจาก จังหวัดเชียงใหม่ และนครราชสีมา ด้านทิศเหนือติดต่อกับ จังหวัดตาก และจังหวัดอุทัยธานี ด้านทิศตะวันออกติดต่อกับ จังหวัดสุพรรณบุรี และนครปฐม ด้านทิศใต้ติดต่อกับ จังหวัดราชบุรี และทางด้านทิศตะวันตกติดต่อกับ ประเทศพม่า
            โครงสร้างทางธรณีวิทยา พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นหินที่จัดอยู่ในหมู่หินตะนาวศรี ประกอบด้วย หินปูน หินทราย หินดินดาน และหินแปรประเภทหินชนวน หินควอร์ตไซต์ หินซีสต์ ทิวเขาถนนธงชัยกลาง และทิวเขาตะนาวศรี มีหินแกรนิต เป็นแกนกลางของภูเขา หินปูนจะพบอยู่เป็นบริเวณกว้างขวางมากที่สุด ภูเขามียอดแหลมรูปร่างต่าง ๆ สวยงาม สลับด้วยหลุมยุบ และหุบเขาเป็นแนวยาว และบางแห่งเป็นหน้าผาสูงชัน บริเวณเขาหินปูนมีแคลเซียมคาร์บอนเนตละลายต่อเนื่องเกิดเป็นถ้ำยาว และบางแห่งมีน้ำใต้ดินไหลผ่าน เรียกว่า ธารลอด ภายในถ้ำหินปูนมีหินงอกหินย้อยสวยงาม บริเวณที่เป็นน้ำตกจะมีหินปูนจับบริเวณที่พักน้ำ เกิดเป็นน้ำตกที่มีลักษณะลดหลั่นหลายชั้นสวยงาม
            ลักษณะภูมิประเทศ ประกอบด้วยทิวเขา หุบเขา และที่ราบลุ่มแม่น้ำ พื้นที่ด้านตะวันตก และด้านเหนือเป็นเทือกเขาแล้วค่อย ๆ ลาดลงทางด้านตะวันออก และด้านใต้ แบ่งพื้นที่ออกได้เป็น ๓ เขตใหญ่ ๆ คือ



            เขตภูเขาและที่สูง  พื้นที่ทางด้านเหนือของ จังหวัดในเขตอำเภอศรีสวัสดิ์ และอำเภอทองผาภูมิ มีลักษณะเป็นเทือกเขาต่อเนื่องมาจากเทือกเขาถนนธงชัย ทางด้านตะวันตกเป็นเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งกั้นเขตแดนไทยกับพม่า ทอดยาวลงไปทางใต้ในเขตอำเภอสังขละบุรี ทองผาภูมิ ไทรโยค อำเภอเมือง ฯ และอำเภอด่านมะขามเตี้ย บริเวณนี้เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารของจังหวัด และมีภูเขาที่มีความสูงตั้งแต่ ๑,๐๐๐ เมตรขึ้นไปในตอนเหนือของจังหวัด โดยเฉพาะในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เช่น เขาใหญ่ เขาแคลกู เป็นต้น
            บริเวณที่มีความสูง ๔๐๐ - ๑,๐๐๐ เมตร เป็นภูเขาในลุ่มน้ำแควใหญ่ และแควน้อยในเขตอำเภอสังขละบุรี ทองผาภูมิ ศรีสวัสดิ์ และอำเภเมือง ฯ ส่วนที่มีระดับสูง ๑๐๐ - ๔๐๐ เมตร อยู่ในเขตอำเภอไทรโยค บ่อพลอย และศรีสวัสดิ์
            เขตที่ราบลูกฟูก  ได้แก่ พื้นที่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีลักษณะเป็นที่ราบเชิงเขาสลับกับเนินเขาเตี้ย ๆ ในเขตอำเภอบ่อพลอย เลาขวัญ และบางส่วนของ อำเภอพนมทวน
            เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำแม่กลอง  ได้แก่พื้นที่ทางด้านทิศใต้ มีลักษณะเป็นที่ราบอยู่ในบริเวณบางส่วนของ อำเภอเมือง ฯ พนมทวน ท่าม่วง และท่ามะกา เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเกษตรกรรม ซึ่งมีอ้อย และข้าวนาปี
    แหล่งน้ำ


            กาญจนบุรี มีแหล่งน้ำอย่างอุดมสมบูรณ์ แหล่งน้ำผิวดินมีต้นน้ำอยู่ทางตอนเหนือของจังหวัด จนถึงเขตจังหวัดอุทัยธานี ลักษณะของทางน้ำเป็นร่องลึกในระหว่างหุบเขา มีล้ำน้ำบางสายไหลขึ้นไปทางเหนือเข้าสู่ประเทศพม่า เช่น ลำน้ำแม่กษัตริย์ แต่ลำธารส่วนใหญ่ไหลลงสู่แควน้อย และแควใหญ่ ซึ่งรับน้ำทางด้านตะวันตก และตอนกลางของพื้นที่ แล้วรวมกันเป็นแม่น้ำแม่กลอง ส่วนด้านตะวันออกมีลำตะเพินเป็นลำน้ำสำคัญของบริเวณนี้
            แม่น้ำแควน้อย (ไทรโยค)  ยาวประมาณ ๓๑๕ กิโลเมตร มีต้นกำเนิดจากลำธารเล็ก ๆ บนยอดภูเขา คือ ลำธารรันตี ซองกาเลีย และบิคลี่ ในเขตอำเภอสังขละบุรี และทองผาภูมิ  บริเวณนี้ที่มีลำน้ำสามสายมาบรรจบกันดังกล่าวเรียกว่าสามสบ แม่น้ำแควน้อยเป็นแม่น้ำที่สวยงาม ไหลผ่านภูมิประเทศที่สวยงาม มีน้ำตก น้ำพุ เกาะแก่ง อยู่ตลอดสาย จนบรรจบกับแม่น้ำแควใหญ่เป็นแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำแควน้อยมีพื้นที่รับน้ำประมาณ ๑๐,๔๐๐ ตารางกิโลเมตร
            แม่น้ำแควใหญ่ (ศรีสวัสดิ์)  ยาวประมาณ ๓๘๐ กิโลเมตร ต้นน้ำเกิดจากภูเขาใหญ่ชายแดนเหนืออำเภออุ้มผาง แล้วไหลลงทางใต้ไปบรรจบกับแม่น้ำแควน้อยที่ ตำบลปากแพรก อำเภอเมือง ฯ บริเวณทางตอนเหนือของแม่น้ำแควใหญ่ มีลักษณะค่อย ๆ ลาดลงมาทางใต้ มีสาขาที่สำคัญคือ ห้วยขาแข้ง แม่น้ำแควใหญ่มีพื้นที่รับน้ำประมาณ ๑๔,๘๐๐ ตารางกิโลเมตร
            แม่น้ำแม่กลอง  เกิดจากการไหลมาบรรจบกันของแม่น้ำแควน้อย และแม่น้ำแควใหญ่ที่ ตำบลปากแพรก อำเภอเมือง ฯ แล้วไหลผ่านอำเภอเมือง ฯ ท่าม่วง ท่ามะกา จากนั้นได้ไหลเข้าเขต จังหวัดราชบุรี แล้วไหลลงสู่ทะเล ที่อำเภอเมืองสมุทรสงคราม มีความยาวประมาณ ๑๓๐ กิโลเมตร
            ลำตะเพิน  เป็นลำน้ำที่ไหลผ่านบริเวณที่ราบลุ่มตะวันออกของจังหวัด แล้วไหลมาบรรจบแม่น้ำแควใหญ่ที่ ตำบลท่าเสา อำเภอเมือง ฯ มีความยาวประมาณ ๘๕ กิโลเมตร
    ประชากร
            จังหวัดกาญจนบุรี มีประชากรมากเป็นอันดับสามของภาคตะวันตก มีความหนาแน่นอยู่ในเขตอำเภอท่ามะกา ท่าม่วง และอำเภอเมือง ฯ
            ประชากรในเขตจังหวัดกาญจนบุรี มีอยู่หลายเชื้อชาติด้วยกัน ดังนี้
            คนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง  เป็นกลุ่มชนที่ยังรักษาประเพณี และวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนไว้ได้มาก ชาวกะเหรี่ยงจะตั้งถิ่นฐานอยู่ตามบริเวณที่ราบหุบเขา ระหว่างพรมแดนไทยกับพม่า เช่น ในเขตอำเภอสังขละบุรี ทองผาภูมิ และอำเภอเมือง ฯ
            คนไทยเชื้อสายมอญ  เป็นอีกกลุ่มชนหนึ่งที่ยังรักษาประเพณี และวัฒนธรรมของตนไว้ ชาวมอญส่วนใหญ่จะตั้งถิ่นฐานอยู่ตามแนวพรมแดนไทย - พม่า ในเขตอำเภอสังขละบุรี ทองผาภูมิ และอำเภอเมือง ฯ
            คนไทยเชื้อสายลาว  ในที่นี้หมายถึงลาวโซ่ง หรือไทยทรงดำ เป็นกลุ่มชนที่มีลักษณะทางเชื้อสายประเพณี และวัฒนธรรมคล้ายกับกลุ่มคนไทยมาก ได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย ตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ชาวลาวโซ่งจากเมืองแถง (เดียนเบียนฟู) และเมืองเวียงจันทน์ ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตเมืองเพชรบุรี และเขตเมืองใกล้เคียงคือ ราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี ในเขตจังหวัดกาญจนบุรี ชาวลาวโซ่ง จะอยู่ในเขตที่ราบของอำเภอพนมทวน ที่ตำบลดอนอิฐ อำเภอห้วยกระเจา ที่บ้านยาง อำเภอบ่อพลอย
            สำหรับประชากรกลุ่มอื่น ๆ ได้แก่ พม่า ละว้า ขมุ มีจำนวนไม่มากนัก กระจายอยู่ในเขตภูเขา ทางตอนเหนือของจังหวัด ในเขตอำเภอสังขละบุรี ทองผาภูมิ และศรีสวัสดิ์

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |