| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์

            จังหวัดกาญจนบุรี เป็นดินแดนที่มนุษย์ได้เข้ามาอยู่อาศัย ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ได้พบหลักฐานในยุคเริ่มแรกของมนุษย์ก่อนการเกษตรกรรมกว่า ๑๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว มนุษย์ยังคงดำรงชีพอยู่ด้วยการล่าสัตว์ ในระยะต่อมาจึงได้พัฒนาสู่การดำรงชีวิตด้วยการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ตั้งชุมชนบนที่ราบใกล้แหล่งน้ำ ต่อมาจึงได้มีการนำเอาโลหะมาใช้ประโยชน์ เกิดการรวมตัวเป็นสังคมขนาดใหญ่
            การค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ครั้งแรกในจังหวัดกาญจนบุรี เกิดขึ้นในช่วงสงครามมหาเอเซียบูรพา ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๘๔ - ๒๔๘๘ ได้พบเครื่องมือหินสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เป็นเครื่องมือหินกรวดหน้าเดียว และขวานหินขัดรูปสี่เหลี่ยม ซึ่งเป็นเครื่องมือสมัยหินเก่า มีลักษณะคล้ายกับที่พบที่มาเลเซีย อินโดนีเซีย และจีน เรียกเครื่องมือหินที่พบนี้ว่า วัฒนธรรมแควน้อย (Fingnoi or Fingoian)
            ต่อมาจากการขุดค้นของคณะสำรวจไทย - เดนมาร์ค ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๓ - ๒๕๐๕ และได้มีการดำเนินการต่อมาตามลำดับ พบว่าบางแห่งมีการอยู่อาศัยต่อเนื่องมาเป็นเวลานานหลายยุคหลายสมัย พอแบ่งออกได้ดังนี้
    ยุคหินเก่า
            มีอายุอยู่ประมาณ ๑๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว มนุษย์อยู่ในสังคมล่าสัตว์ ไม่มีถิ่นฐานแน่นอน พบหลักฐานตามถ้ำเพิงผา และที่ราบริมฝั่งแม่น้ำแควน้อย และแควใหญ่ บบเครื่องมือหินกรวดกะเทาะหน้าเดียว กะเทาะหยาบ พบในเขตตำบลบ้านเก่า อำเภอเมือง ฯ ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ ตำบลไทรโยค อำเภอไทรโยค ตำบลท่ากระดาน อำเภอศรีสวัสดิ์
     ยุคหินกลาง
            มีอายุอยู่ประมาณ ๑๐,๐๐๐ - ๕,๐๐๐ ปี พบเครื่องมือหินกะเทาะมีความประณีตมากขึ้น พบเครื่องปั้นดินเผาแบบง่าย ๆ จากหลักฐานที่พบแสดงว่า มนุษย์ในสมัยนี้อาศัยกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปตามถ้ำใกล้แหล่งน้ำ มีประเพณีการฝังศพ โดยใส่เครื่องมือเครื่องใช้ และเครื่องเซ่นฝังร่วมกับศพโรยดินแดงไว้ทั่วศพ แหล่งที่พบได้แก่ ถ้ำพระ ตำบลไทรโยค อำเภอไทรโยค ถ้ำทะลุ ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมือง ฯ
    ยุคหินใหม่
            มีอายุอยู่ประมาณ ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว มนุษย์ยุคนี้มีความเจริญกว่ายุคก่อนมาก หลักฐานที่พบได้แก่ เครื่องมือหินขัด เครื่องปั้นดินเผา เครื่องจักสาน เครื่องประดับ มนุษย์สมัยนี้รู้จักการเพาะปลูก และเลี้ยงสัตว์ อาศัยอยู่ตามที่ราบใกล้แหล่งน้ำ ซึ่งเหมาะแก่การเกษตรกรรม มีประเพณีการฝังศพโดยฝังเครื่องมือเครื่องใช้ และเครื่องเซ่นไว้ในหลุมฝังศพ แหล่งโบราณคดีในยุคนี้ มีอยู่เป็นจำนวนมากในเขต จังหวัดกาญจนบุรี ที่สำคัญได้แก่  ถ้ำเขาทะลุ บ้านท่าโป๊ะ ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมือง ฯ  ถ้ำหีบ บ้านท่าโป๊ะ ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมือง ฯ  บ้านเก่า ริมแม่น้ำแควน้อย ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมือง ฯ  บ้านกล้วย ตำบลวังด้ง อำเภอเมือง ฯ  บ้านโปร่งกระต่าย ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมือง ฯ  ถ้ำวังกระแจะ ตำบลวังกระแจะ อำเภอไทรโยค  ถ้ำตะกั่ว บ้านวังกระแจะ ตำบลวังกระแจะ  บ้านลุ่มสุ่ม ตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค  บ้านหินดาด ตำบลศรีมงคล อำเภอไทรโยค  ถ้ำองบะ ตำบลด่านแม่แฉลบ อำเภอศรีสวัสดิ์  ถ้ำผาแดง บ้านโป่งหวาย ตำบลด่านแม่แฉลบ อำเภอศรีสวัสดิ์  บ้านม่องคอย ตำบลท่ากระดาน อำเภอศรีสวัสดิ์  บ้านต้นมะพร้าว ตำบลหนองเป็ด อำเภอศรีสวัสดิ์
    ยุคโลหะ



            หลักฐานที่พบแสดงความสัมพันธ์กับอินเดีย ที่แหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร อำเภอพนมทวน พบภาชนะดินเผา ภาชนะสำริดเนื้อบางมีรูปลวดลายต่าง ๆ เครื่องมือเหล็ก เครื่องประดับ มีกำไลสำริด ตุ้มหู แหวน และลูกปัดสี
            ถ้ำองบะ  อำเภอศรีสวัสดิ์ พบกลองมโหระทึกสำริด ๒ ใบ ที่ถ้ำแห่งนี้พบหลักฐานต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุคหินเก่า ยุคหินกลาง ยุคหินใหม่ จนมาถึงยุคโลหะ มีอายุตั้งแต่ ๑๑,๐๐๐ - ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว นอกจากนี้ยังพบโลงศพไม้อีกด้วย
            ถ้ำรูป  บ้านพุหว้า ตำบลวังกระแจะ อำเภอไทรโยค ภายในถ้ำมีภาพเขียนสีแดงบนผนังถ้ำมีรูปคน รูปสัตว์ ภาพมือ และภาพลายเรขาคณิต
            ถ้ำผาแดง  บ้านโป่งหวาย ตำบลด่านแม่แฉลบ อำเภอศรีสวัสดิ์ มีภาพเขียนสีแดงบนหน้าผา มีความยาวกว่า ๖๐ เมตร มีอยู่ ๕ กลุ่มภาพด้วยกัน เขียนเป็นรูปกลุ่มคน สัตว์ประเภท วัว ควาย
            ถ้ำตาด้วง  บ้านปากคลอง ตำบลช่องสะเดา อำเภอเมือง ฯ เป็นภาพเขียนอยู่บนเพิงผาใหญ่ อยู่สูงจากพื้นประมาณ ๖ เมตร เป็นภาพกลุ่มบุคคล ทำกิจกรรมคล้ายขบวนแห่ หรือพิธีกรรม ตอนกลางเป็นวัตถุกลมสันนิษฐานว่าเป็นกลองหรือฆ้อง รูปต่อมาเป็นรูปขบวนแห่เป็นรูปลักษณะสี่เหลี่ยม สันนิษฐานว่าเป็นโลงศพ ในขบวนมีภาพคน ๑๘ คน และภาพเดี่ยวเป็นรูปคนขนาดใหญ่เขียนด้วยสีแดง บนศีรษะมีภาพคล้ายขนนกเสียบอยู่ มีภาพคนสามคน กำลังโก่งธนู และมีภาพคล้ายปลา
สมัยกรุงสุโขทัย (พ.ศ. ๑๗๘๑ - ๑๙๒๑ )
            ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มิได้กล่าวถึงเมืองกาญจนบุรี ในครั้งนั้นเมืองกาญจนบุรีอาจจะเป็นเพียงเมืองเล็ก ๆ และเป็นจุดที่อยู่บนเส้นทางผ่านไปยังเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง เช่น เมืองเมาะตะมะ เมืองมะละแหม่ง เมืองเย เมืองทวาย เมืองตะนาวศรี และเมืองมะริด เป็นต้น โดยผ่านไปทางด่านเจดีย์สามองค์ ด่านบ้องตี้ และเส้นทางอื่น ๆ อีกหลายแห่ง
สมัยกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. ๑๙๒๑ - ๒๓๑๐)


            เมืองกาญจนบุรีเก่า อยู่ที่บ้านท่าเสา ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมือง ฯ ตัวเมืองตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของลำน้ำแควใหญ่ และลำตะเพิน ทิศเหนือจดเขาชนไก่ ทิศตะวันออกจดทุ่งลาดหญ้า ทิศใต้จดวัดนางพิม ทิศตะวันตกจดลำน้ำแควใหญ่ และลำตะเพิน ลักษณะตัวเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ ๑๘๐ เมตร ยาวประมาณ ๓๖๐ เมตร มีกำแพงล้อมรอบ มีป้อมอยู่สี่มุมกำแพง ใช้คันดินเป็นกำแพงเมือง และอาจมีเสาระเนียดปักตามแนวคันดิน สิ่งก่อสร้างที่เป็นโบราณสถานคือ วัดขุนแผน วัดป่าเลไลย์ ตลาดทางทองประศรี วัดแม่หม้าย วัดนางพิมพ์ ภายในตัวเมืองเก่าไม่มีสิ่งก่อสร้างหลงเหลืออยู่
            สงครามไทยกับพม่าในอดีต กองทัพขนาดใหญ่ใช้เส้นทางด่านเจดีย์สามองค์ ซึ่งอยู่ชายแดนในเขต อำเภอสังขละบุรี ถึง ๑๒ ครั้ง เป็นการเดินทัพผ่านเมืองกาญจนบุรีเป็นอันดับแรก กาญจนบุรีจึงเป็นเมืองหน้าด่านของกรุงศรีอยุธยาทางด้านทิศตะวันตก ในปี พ.ศ. ๒๐๙๑ พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ ยกกองทัพขนาดใหญ่ มีกำลังพลมากกว่าหนึ่งแสนคน เข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์เป็นครั้งแรก
            ในสมัยกรุงศรีอยุธยาไทยได้ทำสงครามกับพม่า รวม ๒๔ ครั้ง และได้ทำการรบหรือเดินทัพผ่านในเขตเมืองกาญจนบุรี ถึง ๑๗ ครั้ง พอประมวลได้ดังนี้
            คราวเมืองทวายเป็นขบถ (พ.ศ. ๒๐๓๑)  ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมืองทวายซึ่งเป็นของไทยตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย เป็นขบถแข็งเมือง พระองค์จึงทรงจัดทัพไปตีเมืองทวายกลับคืนมา
            คราวพม่าตีเมืองเชียรกราน (พ.ศ. ๒๐๘๑)  เมืองเชียงกรานอยู่เหนือด่านพระเจดีย์สามองค์ขึ้นไป พระเจ้าตะเบงชะเวตี้กษัตริย์พม่า ยกกองทัพไปปราบมอญที่เมืองเมาะตะมะ แล้วเลยมาตีเมืองเชียงกรานของไทย สมเด็จพระไชยราชาทรงยกกองทัพไปตีกลับคืนมา
            คราวสมเด็จพระสุริโยทัยขาดคอช้าง (พ.ศ. ๒๐๙๑)  พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก สมเด็จพระศรีสุริโยทัย ถูกพระเจ้าแปรฟันขาดคอช้าง พม่าไม่สามารถตีกรุงศรีอยุธยาได้ต้องถอยทัพกลับไป
            คราวสมเด็จพระนเรศวรประกาศอิสระภาพ (พ.ศ. ๒๑๒๗)  สมเด็จพระนเรศวรเดินทัพจากพม่าผ่านเมืองกาญจนบุรี โดยผ่านป่าใหญ่ที่เป็นทุ่งใหญ่นเรศวรในปัจจุบัน
            คราวรบพระยาพสิมที่เมืองสุพรรณบุรี (พ.ศ. ๒๑๒๙)  พระยาพสิมคุมกองทัพเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ สมเด็จพระนเรศวร ทรงยกทัพมาสกัดที่เมืองสุพรรณบุรี รบกันที่เขาพระยาแมน พม่าแตกกลับไป
            คราวพระเจ้าหงสาวดีล้อมกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. ๒๑๒๙)  พระเจ้าหงสาวดี ส่งกำลังกองทัพมาตีไทยโดยได้ประชุมทัพที่เมืองกำแพงเพชร แล้วยกเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรทรงนำทัพไทยตีทัพพม่าถอยกลับไป ทหารพม่าส่วนหนึ่งแตกถอยร่นผ่านกลับไปทางด่าน พระเจดีย์สามองค์
            คราวพระมหาอุปราชายกทัพมาครั้งแรก (พ.ศ. ๒๑๓๓)  พม่าเดินทัพมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ สมเด็จพระนเรศวรทรงนำทัพไปสกัดทัพพม่าที่ลำน้ำท่าคอย เขตเมืองสุพรรณ ทัพไทยตีทัพพม่าแตกกลับไป
            คราวสงครามยุทธหัตถี (พ.ศ. ๒๑๓๕)  พระเจ้าหงสาวดีโปรดให้พระมหาอุปราชายกกองทัพมาตีไทย โดยยกกองทัพมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงยกกองทัพมาสกัดทัพพม่าที่ทางเมืองสุพรรณ ได้ทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา พระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์ กองทัพพม่าแตกกลับไปพม่า ทางด่านพระเจดีย์สามองค์
            คราวตีเมืองทวาย และตะนาวศรี (พ.ศ. ๒๑๓๕)  สมเด็จพระนเรศวรมหาราชโปรดให้แม่ทัพ ๖ คน ที่มีความผิดในสงครามยุทธหัตถี ยกกองทัพไปตีเมืองทวายตะนาวศรี และเมืองมะริด เพื่อเป็นการไถ่โทษ กองทัพไทยได้ยกไปพม่าผ่านด่านเจดีย์สามองค์ กองทัพไทยตีได้เมืองทั้งสามกลับคืนมา
            คราวสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้หัวเมืองมอญ (พ.ศ. ๒๑๓๗) พระเจ้าหงสาวดี ตั้งขุนนางชั้นผู้ใหญ่มาเป็นเจ้าเมืองเมาะตะมะ และส่งกำลังมาปราบเมืองเมาะลำเลิง เจ้าเมืองเมาะลำเลิงขอกำลังจากไทยไปช่วย สมเด็จพระนเรศวรโปรดให้กองทัพไทยไปช่วย โดยเดินทัพไปทางด่านพระเจดีย์สามองค์ พม่าสู้ไม่ได้ถอยทัพกลับไป
            คราวสมเด็จพระนเรศวรมหาราชตีหงสาวดี ครั้งที่ ๒ (พ.ศ. ๒๑๔๒)  สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงยกกองทัพไปทางหัวเมืองมอญทางใต้ ผ่านด่านพระเจดีย์สามองค์ แล้วจึงยกขึ้นไปตีกรุงหงสาวดี แต่พม่าชิงทิ้งเมืองหงสาวดี หนีไปอยู่เมืองตองอูเสียก่อน
            คราวพม่าตีเมืองทวาย (พ.ศ. ๒๑๕๖)  พม่ายกกำลังเข้ายึดเมืองทวาย และตะนาวศรี สมเด็จพระเอกาทศรถ จึงยกกำลังผ่านทางด่านเจดีย์สามองค์ ตีเมืองทั้งสองกลับคืนมาได้
            คราวพม่าตีเมืองทวาย (พ.ศ. ๒๑๖๕)  พระเจ้าอังวะยกกำลังมาตีเมืองทวายไว้ได้ พระเจ้าทรงธรรมส่งกำลังไปตีกลับคืนมา โดยเดินทัพผ่านด่านพระเจดีย์สามองค์ แต่ไม่สามารถตีเมืองทวายกลับคืนมาได้
            คราวรบพม่าที่เมืองไทรโยค (พ.ศ. ๒๒๐๖)  พระเจ้าอังวะส่งกองทัพมาปราบมอญ มอญหนีมาพึ่งไทยโดยเข้ามาทางเมืองกาญจนบุรี พม่าจึงยกกำลังติดตามเข้ามา สมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดให้พระยาโกษาธิบดี ยกกำลังไปสกัดทัพพม่าที่ยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ทัพพม่ายกมาถึงเมืองไทรโยค กองทัพไทยจึงให้กองทัพหน้าไปขัดตาทัพอยู่ที่ตำบลท่ากระดาน และด่านกรามช้างริมลำน้ำแควใหญ่ กองทัพพระยาโกษาธิบดียกเข้าตีพม่าที่เมืองไทรโยค กองทัพพระยาสีหราชเดโชไชยที่ยกลงมาช่วยจากเมืองศรีสวัสดิ์ได้ยกกำลัง อ้อมเขาไปเมืองสังขละสกัดทัพพม่าด้านหลัง พม่าแตกหนีกลับไป
            คราวไทยตีเมืองพม่า (พ.ศ. ๒๒๐๗)  สมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดให้เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ขุนเหล็ก) ยกกองทัพไปตีเมืองเมาะตะมะ โดยเดินทัพผ่านด่านพระเจดีย์สามองค์ ได้ตีหัวเมืองรายทางได้เมืองจิตกอง สิเรียม ย่างกุ้ง หงสาวดี และเมืองแปร แล้วเข้าล้อมเมืองพุกาม แต่ไม่สามารถตีหักเอาเมืองได้ จึงถอยทัพกลับ
            คราวพม่าล้อมกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. ๒๓๐๒)  พระเจ้าอลองพญาเห็นว่าไทยอ่อนแอ จึงจัดกำลังรุกเข้ามาทางด่านสิงขรผ่านเมืองเพชรบุรี พระเจ้าอลองพญาเตรียมทัพที่เมืองตะนาวศรี ฝ่ายเมืองกาญจนบุรีได้รับข่าวว่า พม่าจะยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ จึงมีใบบอกเข้ามาทางกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าเอกทัศน์จึงโปรดให้พระยาอภัยมนตรี เป็นแม่ทัพยกไปขัดตาทัพที่เมืองกาญจนบุรี แต่ได้ปะทะกับพม่าเสียก่อนที่เมืองวิเศษชัยชาญแตกกลับมา
            คราวเสียกรุงครั้งที่ ๒ (พ.ศ. ๒๓๑๐)  พม่ายกกองทัพเข้ามาตีไทยสองทิศทาง โดยให้มังมหานรธา ยกกำลังเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ เข้ามาตีกองทัพไทยที่เมืองกาญจนบุรีแตก แล้วจึงยกกำลังมาทางแม่น้ำแม่กลอง
    สถานที่จากเรื่องขุนช้างขุนแผน


            เมืองกาญจนบุรี มีความเกี่ยวพันกับเรื่องขุนช้างขุนแผน เช่นเดียวกับเมืองสุพรรณบุรี และกรุงศรีอยุธยา มีสถานที่ที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องขุนช้างขุนแผนอยู่มาก ยังปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบันดังนี้
            เขาชนไก่  เป็นภูเขาขนาดย่อมสูงประมาณ ๑๐๐ เมตร บนยอดเขาเป็นที่ราบและเป็นลานเตียน บนกลางลานมีหินประดับเป็นรอยรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ ๘ เมตร มีหลักหินฝังอยู่ตรงกลางหลักหนึ่ง เชื่อกันว่าเป็นสังเวียนการชนไก่ ระหว่างขุนแผนกับขุนช้าง
            วัดนางพิม  เชื่อกันว่าเป็นวัดที่นางพิมสร้างไว้ ยังปรากฏซากวัดเหลืออยู่จนถึงปัจจุบัน
            ตลาดนางทองประศรี  เชื่อกันว่าเป็นตลาดที่นางทองประศรี แม่ของขุนแผนสร้างไว้ ปัจจุบันอยู่บริเวณที่พักนักศึกษาคณะวิศว ฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
            วัดใหญ่ดงรัง หรือวัดส้มใหญ่ดงรัง  อยู่ในเขตตำบลหนองขาว อำเภอท่าม่วง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา เชื่อว่าเป็นสถานที่ที่ขุนไกร พ่อของขุนแผนมาเรียนวิชาที่วัดนี้
สมัยกรุงธนบุรี (พ.ศ. ๒๓๑๐ - ๒๓๒๕)
            หลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ขึ้นครองราชย์แล้ว พระเจ้าอังวะให้เจ้าเมืองทวายยกทัพเข้ามาทางด่านบ้องตี้ผ่านทางไทรโยค ผ่านเมืองกาญจนบุรี ราชบุรี เข้าตีบ้านบางกุ้งในเขตเมืองสมุทรสงคราม เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๐ กองทัพไทยโจมตีพม่าแตกหนีไปทางด่านเจ้าขว้าว และด่านทับตะโก
            ในปี พ.ศ. ๒๓๑๗ อะแซหวุ่นกี้ให้ยุงอคงหวุ่น ยกกำลังติดตามครัวมอญที่อพยพหนีพม่าเข้ามาในเขตไทย ได้ปะทะกับกำลังของไทยที่ท่าดินแดง พระยายมราช (แขก) แม่ทัพไทยจึงถอยมาตั้งรับที่ปากแพรก และที่หนองขาวในเขตอำเภอท่าม่วง แล้วเข้าตีทัพพม่าแตกกลับไป
            ในปี พ.ศ. ๒๓๑๘ พระเจ้ามังระให้โปสุพลา เป็นแม่ทัพยกมาทางเชียงใหม่ และให้ปะกันหวุ่นเป็นแม่ทัพ ยกมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ เพื่อเข้าตีกรุงธนบุรี พม่าที่ตั้งอยู่ที่นครสวรรค์ ถูกกองทัพไทยตีแตกพ่ายหนีมาทางเมืองอุทัยธานี กองทัพไทยไล่ติดตามมาทันที่บ้านเดิมบางนางบวช แขวงเมืองสุพรรณบุรี พม่าสู้ไม่ได้ แตกทัพหนีไปทางด่านพระเจดีย์สามองค์
สมัยรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๒๓๒๕ เป็นต้นมา)


            ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ไทยรบพม่า ๑๐ ครั้ง ได้ทำการรบในเขตจังหวัดกาญจนบุรี ๗ ครั้ง คือ
            สงคราม ๙ ทัพ (พ.ศ. ๒๓๒๘)  พม่ายกทัพมา ๕ ทาง ด้วยกำลัง ๙ กองทัพ ที่รู้จักกันดีในชื่อสงคราม ๙ ทัพ กองทัพที่ ๔ มีกำลัง ๑๑,๐๐๐ คน ยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ กองทัพที่ ๕,๖,๗,๘ มาเข้าที่ชุมพลที่เมืองเมาะตะมะ เตรียมยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ กองทัพไทยจัดกำลังหนึ่งกองทัพ เข้าสกัดทัพหลวงของพม่าที่จะยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ พยายามทำลายข้าศึกส่วนนี้ และขับไล่ออกไปจากราชอาณาจักรไทย โดยกองทัพที่ ๒ มีกรมพระราชวังบวรเป็นแม่ทัพ มีกำลังพล ๓๐,๐๐๐ คน นำกำลังไปสกัดทัพพม่าที่บริเวณเหนือทุ่งลาดหญ้า ประมาณ ๒๐ กิโลเมตร ในเขตเมืองกาญจนบุรี โดยตั้งค่ายอยู่ที่ช่องสะเดา และโป่งปัด กองทัพที่ ๔ ของพม่าไม่สามารถเจาะด่านนี้เข้ามาได้ จึงได้ไปตั้งมั่นตามแนวเขาและลำน้ำ รอกองทัพที่ ๕ มาสมทบ กำลังกองทัพที่ ๔ และที่ ๕ ของพม่ามีกำลังรบรวม ๑๖,๐๐๐ คน
            กรมพระราชวังบวรทรงดำเนินกลยุทธเพื่อเอาชนะพม่า ๕ ประการ ด้วยกันคือ ประการแรกตัดการส่งเสบียงของพม่า ตั้งแต่ท่าดินแดงลงมาช่องปิล๊อก ด่านบ้องตี้ จนถึงพุตะไคร้ ริมแม่น้ำแควน้อย โดยใช้การรบแบบกองโจร ประการที่สองใช้กระสุนปืนใหญ่ที่ทำจากไม้ ยิงรบกวนและทำลายข้าศึกตลอดเวลา โดยที่กระสุนไม่มีวันหมด เนื่องจากมีไม้จำนวนมากในป่า ประการที่สามลวงข้าศึกว่าฝ่ายไทยมีกำลังมาก มีการเพิ่มเติมกำลังอยู่ตลอดเวลา ประการที่สี่เมื่อข้าศึกอ่อนกำลังและเสียขวัญมากแล้ว ก็เข้าโจมตีข้าศึกพร้อมกันตลอดแนวรบ กองทัพที่ ๔ และที่ ๕ ของพม่าก็แตกพ่าย ฝ่ายไทยจับเชลยได้เป็นอันมาก ทำให้พระเจ้าปดุงต้องถอยทัพกลับไปเมืองเมาะตะมะ
            การรบพม่าที่ท่าดินแดง (พ.ศ. ๒๓๒๙)  พื้นที่นี้อยู่ในเขตบ้านวังปะโท่ ตำบลปรังผลุ อำเภอสังขละบุรี ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตอ่างเก็บน้ำเขื่อนเขาแหลม พระเจ้าปดุงกษัตริย์พม่ายกกองทัพมาตั้งอยู่ที่ท่าดินแดง และสามสบ (ในเขตอำเภอสังขละ) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และกรมพระราชวังบวร ฯ ได้เสด็จยกกำลังทางเรือจากคลองบางกอกน้อย เข้าแม่น้ำท่าจีน ตัดเข้าคลองหมาหอน แล้วออกแม่น้ำแม่กลอง เข้าสู่แม่น้ำแควน้อยมาถึงเมืองไทรโยค แล้วยกกำลังทางบกไปถึงเมืองขนุน แล้วทรงให้กรมพระราชวังบวร ฯ ยกกำลังไปตีพม่าที่สามสบ ซึ่งอยู่ใต้ด่านพระเจดีย์สามองค์ลงมาประมาณ ๒๕ กิโลเมตร ส่วนพระองค์ทรงยกกำลังเข้าตีทัพพม่าที่ท่าดินแดงพร้อมกันทั้งสองกองทัพ ได้ทำการรบติดต่อกัน ๓ วัน ๓ คืน กองทัพไทยก็ตีทัพพม่าแตกพ่ายกลับไป ฝ่ายไทยจับเชลย และยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ของข้าศึกไว้ได้เป็นจำนวนมาก ผลการรบครั้งนี้ผู้คนในเมืองพม่าพากันตื่นตกใจเป็นอันมาก ชาวต่างประเทศที่เห็นเหตุการณ์ในครั้งนั้น มีความเห็นว่า ถ้ากองทัพไทยยกติดตามไปก็น่าจะตีได้เมือง อมรปุระ เป็นแน่
            คราวไทยตีเมืองทวาย (พ.ศ. ๒๓๓๐)  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงนำทัพโดยขบวนเรือไปขึ้นบกที่เมืองท่าตะกั่ว (บ้านท่าเสา อำเภอไทรโยค) แล้วแบ่งการเดินทัพออกเป็นสองทางคือ กำลังส่วนน้อยยกไป ด่านบ้องตี้ กำลังส่วนใหญ่ยกไปทางช่องเขาสูง การรบครั้งนี้ กองทัพไทยได้ชัยชนะพม่า ที่ยกกองทัพมาสกัดอยู่ตลอดทางจึงถึงเมืองทวาย กองทัพพม่าที่รักษาเมืองทวาย ทิ้งเมืองข้ามไปตั้งมั่นอยู่อีกฟากหนึ่ง ฝ่ายไทยเห็นว่ามีกำลังน้อยกว่าพม่า จะรักษาเมืองทวายไว้ไม่ได้ จึงไม่ได้เข้ายึดเมืองและปกครองทวาย เมื่อพักกองทัพอยู่ที่เมืองทวายได้ ๑๕ วัน แล้วจึงยกทัพกลับไทย
            จากสงครามเก้าทัพ และท่าดินแดง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพิจารณาเห็นว่า ที่ตั้งเมืองกาญจนบุรีที่ลาดหญ้านั้นไม่เหมาะสม จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายเมืองมาอยู่ที่ปากแพรก ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำแควน้อย และแม่น้ำแควใหญ่ไหลมาบรรจบกันเป็นแม่น้ำแม่กลอง ตัวเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๒๐๐ เมตร ยาว ๔๔๐ เมตร กำแพงเมืองเป็นคันดินมีเสาระเนียดปักตามแนวคันดิน ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างกำแพงเมืองตามแนวกำแพงเดิมใช้เวลาสร้าง ๑๐ เดือนเศษ มีป้อมมุมเมือง ๔ ป้อม ทางกำแพงด้านยาวมี ๒ ป้อม มีประตูเมือง ๖ ประตู ประตูช่องกุฏิ ๒ ประตู และได้สร้างหลักเมืองอยู่ทางด้านตะวันออกของประตูเมือง กำแพงเมืองกาญจนบุรีสร้างเสร็จ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๔
            คราวเมืองทวาย มะริด และตะนาวศรีอ่อนน้อม (พ.ศ. ๒๓๓๔)  เจ้าเมืองทั้งสามได้ส่งฑูตเข้ามา พร้อมด้วยดอกไม้เงินดอกไม้ทอง ขออยู่ในขัณฑสีมาของไทย และได้นำเจ้าฟ้าหญิงไทยที่หนีพม่า ไปอยู่ทวายมาด้วย เมื่อทูตกลับไปเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เกณฑ์กองทัพหัวเมือง จำนวน ๕,๐๐๐ คน ให้พระยายมราชเป็นแม่ทัพยกไปช่วยรักษาเมืองทวาย และในปลายปีนั้น พระองค์พร้อมด้วยกรมพระราชวังบวร ได้เสด็จยกกองทัพหลวงโดยกระบวนเรือไปยังเมืองกาญจนบุรี ตั้งพลับพลาประทับทางลำน้ำน้อย คอยฟังข่าวทางเมืองทวาย เมื่อพระยายมราชจัดส่งเจ้าฟ้าหลานเธอ พร้อมด้วยพวกไทยที่ตกค้างอยู่เมืองทวาย มาถวายที่ค่ายหลวงแล้ว พระองค์จึงเสด็จกลับพระนคร ต่อมาทรงทราบว่าเจ้าเมืองทวายกระด้างกระเดื่องจึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้กรมพระราชวังบวรยกกองทัพไปจับตัวพระยาทวาย พร้อมกรมการเมือง และพรรคพวก โดยให้ครอบครัว และบริวารพระยาทวาย มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลคอกกระบือ ปัจจุบันเรียกบ้านทวาย ใกล้วัดยานนาวา
            คราวไทยตีเมืองทวาย มะริด และตะนาวศรี (พ.ศ. ๒๓๓๖) กองทัพไทยส่วนใหญ่ยกไปทางด่านบ้องตี้ เมืองกาญจนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงนำทัพไปประทับแรมที่ค่ายหลวงริมแม่น้ำแควน้อย แขวงเมืองไทรโยคที่บ้านหินดาด การรบไม่ประสบผลสำเร็จ กองทัพเรือถอนกำลังกลับเมืองชุมพร กองทัพหลวงถอยกลับมาบริเวณต้นแม่น้ำน้อย เมื่อถึงบ้านหินดาดแล้ว จึงเลิกทัพกลับพระนคร
            คราวขัดตาทัพพม่า (พ.ศ. ๒๓๖๓) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระเจ้าจักกายแมงกษัตริย์พม่า เตรียมทัพเข้าตีไทย ฝ่ายไทยจัดกำลัง ๔ กองทัพ เตรียมรับศึกทางใต้ ภาคเหนือ และชายแดนเมืองเพชรบุรี ราชบุรี และกาญจนบุรี สำหรับเมืองกาญจนบุรีพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงเป็นแม่ทัพยกมาขัดตาทัพที่บ้านลิ้นช้าง อยู่ระหว่างพื้นที่ที่แม่น้ำแควน้อย และแม่น้ำแควใหญ่ไหลมาบรรจบกัน กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ตั้งทัพอยู่ที่เมืองกาญจนบุรี ประมาณ ๑๐ เดือน คอยเฝ้าตรวจ ลาดตระเวนป้องกัน และหาข่าวจากชายไทยตั้งแต่ด่านพระเจดีย์สามองค์ ลงมาถึงด่านบ้องตี้
            คราวไทยช่วยอังกฤษรบพม่า (พ.ศ. ๒๓๖๗)  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว อังกฤษขอให้ไทยช่วยทำสงครามกับพม่า แต่ฝ่ายไทยพยายามหลีกเลี่ยงการทำสงครามโดยตรงกับพม่า จึงได้ส่งกองทัพเข้ายึดเมืองเมาะตะมะโดยใช้กำลังส่วนใหญ่ ออกไปทางด่านพระเจดีย์สามองค์


            การตั้งเมืองหน้าด่าน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงตั้งเจ้าเมืองต่าง ๆ บริเวณชายแดนไทยกับพม่าทางด้านตะวันตก ในเขตจังหวัดกาญจนบุรีในปัจจุบัน รวม ๗ เมืองด้วยกันคือ
                 เมืองสมิงสิงห์บุรี  เจ้าเมืองคือ พระสมิงสิงห์บุรี ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่พระสมิงสิงห์บุรี
                 เมืองลุ่มสุ่ม  เจ้าเมืองคือ พระลุ่มสุ่ม ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่ พระนินนะภูมิบดี
                 เมืองท่าตะกั่ว  เจ้าเมืองได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่ พระชินดิฐบดี
                 เมืองไทรโยค  เจ้าเมืองคือ พระไทรโยค ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่ พระโครธาภิโยค
                 เมืองท่าขนุน  เจ้าเมืองคือ พระท่าขนุน ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่ พระปนัสติฐบดี
                 เมืองทองผาภูมิ  เจ้าเมืองคือ พระทองผาภูมิ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่ พระเสลภูมิบดี
                 เมืองท่ากระดาน  เจ้าเมืองคือ พระท่ากระดาน ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่ พระผลกดิฐบดี
            การปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๗ เมืองกาญจนบุรีอยู่ในมณฑลราชบุรี ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๓๘ เมืองหน้าด่านถูกเปลี่ยนสภาพ และเข้าสังกัดเมืองกาญจนบุรีดังนี้
                 เมืองทองผาภูมิ ยุบลงเป็นหมู่บ้าน อยู่ในเขตกิ่งอำเภอสังขละบุรี
                 เมืองท่าขนุน ยุบลงเป็นกิ่งอำเภอสังขละบุรี
                 เมืองไทรโยค ยุบเป็นกิ่งอำเภอไทรโยค
                 เมืองท่าตะกั่ว ยุบเป็นหมู่บ้าน อยู่ในเขตกิ่งอำเภอไทรโยค
                 เมืองลุ่มสุ่ม ยุบเป็นหมู่บ้าน อยู่ในเขตกิ่งอำเภอไทรโยค
                 เมืองสิงห์ ยุบเป็นหมู่บ้าน อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ
                 เมืองท่ากระดาน ยุบเป็นหมู่บ้าน อยู่ในเขตอำเภอศรีสวัสดิ์
                 เมืองศรีสวัสดิ์ ยุบเป็นหมู่บ้าน อยู่ในเขตกิ่งอำเภอศรีสวัสดิ์
    ด่านในเขตเมืองกาญจนบุรี


            เมืองกาญจนบุรีเป็นจังหวัดชายแดนไทยด้านทิศตะวันตก ติดต่อกับพม่าจึงมีด่านอยู่เป็นจำนวนมากที่สำคัญ คือ
            ด่านพระเจดีย์สามองค์  อยู่ในเขตตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี ติดชายแดนพม่า พระเจดีย์องค์เหนืออยู่ห่างจากชายแดนพม่าประมาณ ๓๐ เมตร ฐานกว้าง ๙ ศอก สูง ๓ วา พระเจดีย์องค์ที่สอง และที่สาม ฐานกว้าง ๘ วา สูง ๓ วา เส้นทางด่านพระเจดีย์สามองค์นี้พวกไทย มอญ พม่า ละว้า และกะเหรี่ยง ใช้เป็นเส้นทางผ่านระหว่างไทย กับพม่ามาแต่โบราณกาล และในสงครามมหาเอเซียบูรพา กองทัพญี่ปุ่นก็ได้ใช้เส้นทางนี้เดินทัพเข้าสู่พม่า ทั้งทางรถยนต์ และทางรถไฟ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๘๕ - ๒๔๘๖
            ด่านบ้องตี้  ชื่อบ้องตี้มีทั้งเป็นลำน้ำคือห้วยบ้องตี้ และที่เป็นหมู่บ้านคือบ้านบ้องตี้ บ้านบ้องตี้บนอยู่ใกล้เชิงเขาที่ใกล้เส้นทางที่เข้าพม่า ส่วนที่เรียกว่าด่านบ้องตี้ น่าจะเกิดขึ้นเมื่อมีสงครามระหว่างไทยกับพม่า ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์
            ปัจจุบันบ้านบ้องตี้ ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นตำบลบ้องตี้ ขึ้นกับอำเภอไทรโยค ในสงครามมหาเอเซียบูรพา เมื่อกลางปี พ.ศ. ๒๔๘๕ กองทัพญี่ปุ่นได้ใช้เส้นทางด่านบ้องตี้เข้าตีเมืองทวายของพม่า
            สงครามมหาเอเซียบูรพา  หลังจากที่กองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกที่ประเทศไทย เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ แล้วก็ได้ดำเนินการสร้างทางรถไฟ เข้าสู่พม่าทางด่านพระเจดีย์สามองค์  เมื่อประมาณ เดือนตุลาคม ๒๔๘๕ สร้างเสร็จเมื่อเดือน ตุลาคม ๒๔๘๖ เป็นระยะทางที่อยู่ในเขตแดนไทย ๓๐๔ กิโลเมตร และอยู่ในเขตแดนพม่า ๑๑๑ กิโลเมตร โดยใช้แรงงานจากเชลยศึกชาวอังกฤษ ออสเตรเลีย ฮอลันดา และอินโดนีเซีย จำนวน ประมาณ ๖๐,๐๐๐ คน และมีกรรมกรจากชาวมลายู อินเดีย จีน ญวน อินโดนีเซีย พม่า และไทย รวมทั้งสิ้น ประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ คน


            ทางรถไฟสายนี้แยกจากบ้านหนองปลาดุก มายังอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เข้าเขตจังหวัดกาญจนบุรีที่บ้านลูกแก มีสถานีรถไฟ และค่ายทหารญี่ปุ่นที่สำคัญ ๆ อยู่ตามเส้นทางรถไฟคือ สถานีท่าเรือ สถานีท่าม่วง สถานีเขาดิน ซึ่งเป็นสถานีซ่อมบำรุงรถไฟขนาดใหญ่ สถานีปากแพรก ซึ่งเป็นสถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดของเส้นทางรถไฟสายนี้
            สะพานข้ามแม่น้ำแคว  ที่บ้านท่ามะขาม มีค่ายกรรมกรสร้างทางรถไฟ ค่ายเชลยศึก ค่ายทหารญี่ปุ่นที่ควบคุมการสร้างทางรถไฟ สถานีวังโพธิ สถานีท่าเสา สถานีไทรโยคใหญ่ ระหว่างสถานีท่าเสา กับสถานีไทรโยคใหญ่ ที่บ้านพุเตย เรียกว่า ช่องเขาขาด ซึ่งเป็นช่วงที่สร้างทางรถไฟที่ยากที่สุด มีเชลยศึกเสียชีวิตจากการสร้างทางรถไฟ ในช่วงนี้เป็นจำนวนมาก ต่อไปเป็นสถานีปรังกาสี และสุดท้ายเป็นสถานีนิเกะ เป็นสถานีสุดท้ายในเขตแดนไทย อยู่ใกล้กับพระเจดีย์สามองค์ ในเขตอำเภอสังขละบุรี
            เมื่อสงครามมหาเอเซียบูรพาสิ้นสุดลง ในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ รัฐบาลอังกฤษได้ขยายทางรถไฟ รวมทั้งส่วนประกอบของกิจการรถไฟให้กับไทยเป็นวงเงิน ๕๐ ล้านบาท และได้มีการสร้างสุสานผู้เสียชีวิตจากการสร้างทางรถไฟ ประมาณ ๔๑,๐๐๐ คน คือ สุสานดอนรัก อยู่ในเขตตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมือง ฯ มีจำนวน ๖,๙๘๒ คน สุสานเขาปูน อยู่ที่บ้านเขาปูนริมแม่น้ำแควน้อย อำเภอเมือง ฯ มีจำนวน ๑,๗๔๐ คน นอกจากนี้ยังมีศพผู้เสียชีวิตฝังอยู่ตามป่าช้า เช่นที่วัดถาวรวราราม พบว่ามีอยู่กว่า ๔,๕๐๐ ศพ จึงได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ไว้ที่ป่าช้าดังกล่าวให้ชื่อว่า อนุสาวรีย์กรรมกรและทหารนิรนาม

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |