มรดกทางวัฒนธรรม
กาญจนบุรี เป็นจังหวัดที่มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่ ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์
พบร่องรอยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ กระจายอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะตอนบนของพื้นที่จังหวัด ที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับกับที่ราบ
ตามลุ่มแม่น้ำซึ่งเหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ร่องรอยดังกล่าวมีอายุกว่า
๑๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว เครื่องมือที่ใช้ในการดำรงชีพเป็นเครื่องมือหินกะเทาะอย่างหยาบ
ต่อมาเมื่อประมาณ ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว ได้พัฒนามาสู่สังคมเกษตรกรรม มีการรวมตัวกันเป็นชุมชนอาศัยอยู่ตามที่ราบใกล้แหล่งน้ำ
รู้จักการเพาะปลูก และเลี้ยงสัตว์ เครื่องมือเครื่องใช้เป็นเครื่องมือหินขัด
มีการทำภาชนะดินเผา และเครื่องประดับ หลังจากนั้นจึงได้พัฒนามาเป็นสังคมเมือง
เครื่องมือเครื่องใช้ได้พัฒนามาเป็นการหล่อหลอมโลหะ เช่น สำริด และเหล็ก
เมื่อประมาณ ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว สังคมของคนในพื้นที่นี้ได้มีความติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนในดินแดนอื่น
ในสมัยทวาราวดี และลพบุรี จากนั้นได้เข้าสู่สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
จากความเป็นมาอันยาวนานของกาญจนบุรี ทำให้มีโบราณสถาน และโบราณวัตถุ จากหลายยุคหลายสมัยปรากฏอยู่เป็นจำนวนมาก
ตั้งแต่สมัยหินตลอดมาถึงสมัยปัจจุบัน
โบราณสถานและโบราณวัตถุ
ถ้ำองบะ อยู่ในเขตตำบลด่านแม่แฉลบ อำเภอศรีสวัสดิ์
สำรวจพบเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๘ คณะสำรวจก่อนประวัติศาสตร์ไทย - เดนมาร์ค ได้ดำเนินการขุดค้นเมื่อปี
พ.ศ. ๒๕๐๓ พบหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมาก แสดงถึงความเป็นอยู่ของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์
เมื่อประมาณ ๑๑,๐๐๐ - ๒,๐๘๐ ปีมาแล้ว พบโลงศพไม้ กลองมโหระทึกสำริด ภาชนะดินเผา
กำไลหิน กำไลสำริด จักรหิน เครื่องมือหิน กะเทาะ ลูกปัดหิน เครืองมือเหล็ก
แหวนเงิน ห่วงเงิน โครงกระดูกมนุษย์ และสิ่งอื่น ๆ อีกมาก
ถ้ำพระ อยู่ในเขตตำบลไทรโยค คณะสำรวจไทย -
เดนมาร์ค ได้ทำการสำรวจเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ตัวถ้ำตั้งอยู่บนเขาพระ ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแควน้อย
อยู่ห่างจากแม่น้ำประมาณ ๓๐ เมตร ปากถ้ำหันไปทางทิศใต้ และอีกถ้ำหนึ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้
ระหว่างถ้ำทั้งสองมีเพิงผา พื้นถ้ำอยู่สูงกว่าปากถ้ำเล็กน้อย พบเศษสำริด เศษภาชนะดินเผา
เครื่องมือหินกรวด สะเก็ดหิน ลูกปัดหินคาร์เนเลียน และโครงกระดูกมนุษย์อายุประมาณ
๑๐,๐๐๐ - ๘,๐๐๐ ปีมาแล้ว มีดินแดงโรยไว้ทั่วศพ ของที่ฝังไว้กับศพมีกระดูกสัตว์และเปลือกหอยกาบ
ถ้ำรูป (เขาเขียว) อยู่ที่บ้านพุหว้า ตำบลวังกระแจะ
อำเภอไทรโยค พบการเขียนสีบนผนังถ้ำ เป็นภาพเขียนสีแดงบนผนังหินมีทั้งรูปคน
รูปสัตว์ ภาพมือ และภาพลายเรขาคณิต คณะสำรวจไทย - เดนมาร์ค ได้ทำการสำรวจเมื่อปี
พ.ศ. ๒๕๐๓ สันนิษฐานว่า กลุ่มคนในภาพจะเป็นชุมชนสังคมเกษตรกรรม มีอายุไม่น้อยกว่า
๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว
ถ้ำตาด้วง อยู่ที่บ้านปากคลอง ตำบลช่องสะเดา
อำเภอเมือง ฯ ตัวถ้ำอยู่บนเขาวังกลา ใกล้อ่างเก็บน้ำท่าทุ่งนา พบภาพเขียนอยู่ที่เพิงผาใหญ่
มีแสงสว่างส่องถึง อยู่สูงจากพื้นประมาณ ๖ เมตร เป็นภาพบุคคลประกอบกิจกรรมคล้ายขบวนแห่หรือพิธีกรรม
ตอนกลางมีวัตถุรูปกลม สันนิษฐานว่า กลองหรือฆ้อง รูปต่อมาเป็นขบวนแห่เป็นรูปสี่เหลี่ยม
สันนิษฐานว่า เป็นโลงศพ ทำด้วยไม้คล้ายกับที่พบในถ้ำบริเวณใกล้เคียง
ภาพในขบวนแห่นับได้ ๑๘ คน และภาพเดี่ยวเป็นรูปคนขนาดใหญ ่เขียนด้วยสีแดงทีบ
บนศีรษะมีวัสดุคล้ายขนนกเสียบอยู่ ภาพคนสามคนกำลังโก่งคันธนู และภาพคล้ายปลา
สันนิษฐานว่าอายุของภาพอยู่ประมาณ ๒,๐๐๐ - ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว ได้มีการพบขวานหินกะเทาะที่ถ้ำแห่งนี้
ทำให้สันนิษฐานว่าถ้ำแห่งนี้เป็นที่อาศัยของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ยุคแรก
และได้มีการใช้ต่อมาจนถึงยุคโลหะ
ภาพเขียนที่ผนังผาภูเขาแดง อยู่ที่บ้านโป่งหวาย
ตำบลด่านแม่แฉลบ อำเภอศรีสวัสดิ์ เป็นภาพเขียนด้วยสีแดงคล้ายกับภาพเขียนที่ถ้ำตาด้วง
เป็นภาพคนมาชุมนุมกันคล้ายกับทำพิธีบางอย่างหรือมีงานรื่นเริง มีเครื่องประดับที่ศีรษะ
ที่เอวคล้ายมีผ้าคาดเอวแล้วปล่อยชายห้อยยาวออกมาสองข้าง มีรูปสุนัขรวมอยู่ด้วย
เป็นภาพที่มีอายุประมาณ ๓,๐๐๐ ปี ในยุคหินตอนปลาย สีแดงที่ใช้เขียนเป็นพวกยางไม้หรือเลือดนก
เขาชนไก่ อยู่ที่บ้านลาดหญ้า ตำบลลาดหญ้า
อำเภอเมือง ฯ พบหลักฐานทางโบราณคดีเป็นจำนวนมาก และมีอยู่หลายยุคหลายสมัยด้วยกัน
ได้แก่ เครื่องมือหินกะเทาะแบบสับตัด ทำจากหินกรวดแม่น้ำ เครื่องมือหินกะเทาะแบบเครื่องมือสำหรับขูด
เครื่องมือหินกะเทาะแบบขวานสั้น เครื่องมือหินกะเทาะใช้ปลายสำหรับขุด นอกจากนั้นยังพบหลักฐานสมัยหลังเช่น
โซ่คล้องช้างทำด้วยสำริด กล้องยาสูบสมัยอยุธยา ลูกปัดแก้ว และแหวนทองหัวพลอย
เป็นต้น
แหล่งโบราณคดีดอนน้อย อยู่ที่บ้านยางสูง
ตำบลหลุมรัง อำเภอบ่อพลอย มีสภาพเป็นเนินดินขนาดใหญ่ เป็นแหล่งผลิตเครื่องมือหินในภาคกลาง
รวมทั้งเป็นแหล่งถลุงหรือหลอมโลหะเหล็กเพื่อใช้ทำเครื่องมือ พบที่ฝังศพมีอายุประมาณ
๒,๐๐๐ - ๕,๐๐๐ ปี พบเครื่องมือทำจากหินตระกูลควรอร์ตซ์ เป็นขวานหินกะเทาะที่ยังไม่ได้ขัดให้เรียบ
นอกจากนี้ยังมีสะเก็ดหินที่ใช้งาน และขวานหินขัดด้วย
แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแควน้อย
ในเขตอำเภอเมือง ฯ เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์แห่งแรกในประเทศไทย
ที่มีการขุดค้นอย่างเป็นระบบโดยคณะสำรวจไทย - เดนมาร์ค ในระหว่างปี พ.ศ.
๒๕๐๒ - ๒๕๐๕
โบราณวัตถุที่ค้นพบมีภาชนะดินเผา ที่มีลักษณะเฉพาะคือทาสีดำ และสีน้ำตาล ผิวขัดมัน
หม้อสามขา มีการตกแต่งด้วยลายเชือกทาบในตอนล่าง และผิวขัดมันตอนบน พบโครงกระดูกมีเครื่องปั้นดินเผาสีดำ
และสีน้ำตาลวางอยู่เหนือศีรษะ หว่างขาและปลายเท้า สิ่งของอื่น ๆ ที่ฝังไว้ด้วยได้แก่ขวานหินขัด
และเปลือกหอยแครงเจาะรู ซึ่งคงใช้เป็นเครื่องประดับ ความสูงของโครงกระดูกผู้ชาย
เฉลี่ย ๑๖๐ - ๑๗๖ เซนติเมตร ผู้หญิง ๑๔๖ - ๑๖๑ เซนติเมตร
แหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร ตั้งอยู่ที่บ้านดอนตาเพชร
ในเขตอำเภอพนมทวน จากการสำรวจเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ พบโบราณวัตถุหลายชนิด ได้แก่
ภาชนะดินเผา ภาชนะสำริดหล่อเนื้อบางพิเศษมีรูปลวดลายต่าง ๆ เครื่องมือเหล็ก
เครื่องประดับต่าง ๆ เช่น กำไลสำริด ต่างหู แหวน และลูกปัดสีต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับอินเดีย
มีการทำลายสิ่งของเครื่องใช้ที่ฝังลงไปกับผู้ตาย เช่น ภาชนะดินเผา แวดินเผา
เครื่องมือเหล็ก คือมีดขอ และเคียวเกี่ยวข้าวเป็นต้น
โบราณสถานพงตึก อยู่ในเขตอำเภอท่ามะกา ได้มีการสำรวจเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๐ พบซากโบราณสถาน
และโบราณวัตถุสมัยทวาราวดี มีอายุอยู่ประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๒ หลายอย่างด้วยกัน
เช่น พระพุทธรูปสำริด พระพิมพ์ ระฆังหิน ภาชนะดินเผา ชิ้นส่วนของลวดลายปูนปั้น
ชาวบ้านในพื้นที่บริเวณนี้ยังพบตะเกียงแบบกรีก - โรมัน ทำด้วยสำริด สันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ประมาณ
พุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๒ ส่วนซากโบราณสถานที่สร้างด้วยอิฐ และศิลาแลงนั้น สันนิษฐานว่าเป็นฐานศาสนสถาน
นอกจากนี้ยังพบประติมากรรมรูปพระนารายณ์ทำด้วยหิน และมีส่วนของเสาหิน ซึ่งอาจเป็นศิวลึงค์
จากหลักฐานต่าง ๆ ที่พบ สันนิษฐานว่า เมืองโบราณพงตึกได้รับอิทธิพล วัฒนธรรมทวาราวดี
หรือศิลปะอินเดียแบบคุปตะ มีการนับถือทั้งศาสนาพุทธ และศาสนาพราหมณ์
อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์
อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์แห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตตำบลสิงห์ อำเภอไทรโยค เป็นอุทยานประวัติศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย
ตั้งอยู่ในบริเวณเมืองสิงห์ ซึ่งเป็นเมืองโบราณสร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.
๑๔๐๐ - ๑๗๐๐ ตามแบบวัฒนธรรมขอม เป็นเมืองขนาดเล็ก ในสมัยอยุธยาไม่ได้มีการแต่งตั้งเจ้าเมืองขึ้นปกครอง
และในทำเนียบศักดินาหัวเมือง ก็ไม่ปรากฏชื่อเมืองสิงห์อยู่ด้วย และคงถูกทิ้งร้างไปในที่สุด
ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ได้ทรงสถาปนาเมืองสิงห์ขึ้นมาใหม่ แต่มีฐานะเป็นเมืองด่านเล็ก ๆ มีเจ้าเมืองปกครอง
ขึ้นกับเมืองกาญจนบุรี ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามให้แก่เจ้าเมืองต่าง
ๆ ที่ครองเมืองด่านเล็ก ๆ ตามลำน้ำแควน้อยใหม่ทั้งหมด สำหรับเมืองสิงห์เจ้าเมืองได้รับพระราชทานนามว่า
พระสมิงสิงห์บุรินทร ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล
เมืองสิงห์จึงถูกลดฐานะลงเป็นตำบลสิงห์มาจนถึงปัจจุบัน
ตัวปราสาทเมืองสิงห์ สันนิษฐานว่าเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน สร้างขึ้นเมื่อประมาณ
พุทธศตวรรษที่ ๑๘ เป็นศิลปะเขมรแบบบายน ในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ของอาณาจักรขอม
รูปแบบสถาปัตยกรรมมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตั้งอยู่ริมฝั่งลำน้ำแควน้อย
ซึ่งไหลผ่านทางด้านทิศใต้ของเมือง และตัวเมืองทางใต้ขยายออกไปตามแนวแม่น้ำ
โดยใช้ลำน้ำเป็นคูเมืองทางด้านทิศใต้ กำแพงเมืองก่อด้วยศิลาแลงขนาดกว้าง ๘๘๐
เมตร ยาว ๑,๔๐๐ เมตร และสูงประมาณ ๕ เมตร ด้านในกำแพงดินลาดเป็นคันกำแพง มีเชิงเทินดิน
คูน้ำ ล้อมรอบ นอกกำแพงเมืองรอบนอกทางด้านทิศตะวันออก และทางด้านทิศเหนือ
มีกำแพงดินขาดเป็นตอน ๆ มีซากเหลืออยู่สามชั้น ทางด้านทิศตะวันตกมีซากกำแพงดินเหลืออยู่เจ็ดชั้น
ภายในตัวเมืองมีสระน้ำอยู่เจ็ดสระ โบราณสถานของเมืองสิงห์มี ดังนี้
โบราณสถานหมายเลข ๑ ประกอบด้วยทางเข้าปราสาท
มีลักษณะเป็นยกพื้นรูปกากบาทขนาดใหญ่ ก่อด้วยศิลาแลงอยู่ทางด้านหน้าก่อนเข้าเขตกำแพงแก้ว
ในแนวตรงกันกับประตูกำแพงรอบนอก และประตูซุ้ม หรือโคปุระกลางระเบียงคต ทางด้านทิศตะวันออกถัดเข้ามาตรงกลางเป็นฐานย่อมุม
ซึ่งเป็นฐานของซุ้มประตูทางเข้าปราสาทอีกชั้นหนึ่งก่อนถึงประตูชั้นใน ฐานนี้เชื่อมต่อกับทางเดินรูปกากบาท
นอกเขตกำแพงแก้ว และลานรูปสี่เหลี่ยมภายในเขตกำแพงแก้ว ปูพื้นด้วยศิลาแลง บนลานทำเป็นแอ่งตื้น ๆ
รูปสี่เหลี่ยมจตุรัสอยู่ที่มุมทั้งสี่ จำนวน ๔ แอ่ง ปูพื้นด้วยศิลาแลงเช่นเดียวกัน
ที่ขอบแอ่งมีหลุมสี่เหลี่ยมขนาดเล็กเรียงรายเป็นระยะโดยรอบ
- กำแพงแก้ว เป็นกำแพงแก้วศิลาแลง
ล้อมรอบโบราณสถานไว้ข้างใน กว้างประมาณ ๘๒ เมตร ยาวประมาณ ๑๐๔ เมตร ส่วนฐานของกำแพงแก้ว
ก่อกว้างออกมาจากตัวกำแพงแก้วมากคือประมาณ ๒.๔๐ เมตร
- ระเบียงคด และซุ้มประตู ทั้งสี่ด้านมีขนาด และลักษณะใกล้เคียงกัน ระเบียงคดทั้งสี่ด้านเป็นทางเดินที่มีหลังคาคลุม
และมีผนังกั้นไว้ทั้งสองด้านไม่อาจเดินทะลุถึงกันได้ตลอด ซุ้มประตูทั้งสี่ซุ้มมีมุขยื่นทั้งด้านใน
และด้านนอก ฐานย่อมุมด้านข้างทำเป็นปีกออกไปเชื่อมกับระเบียง ภายในมีลักษณะเป็นรูปกากบาท
- ซุ้มทิศ สร้างอยู่ตามมุมระเบียงคดทั้งสี่ทิศ
ระหว่างซุ้มทิศ และซุ้มประตูเชื่อมต่อกันด้วยระเบียงคด
- บรรณาลัย
เป็นอาคารรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าตั้งอยู่ที่มุมทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปรางค์ประธาน
หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ทางด้านเหนือและด้านใต้เจาะเป็นช่องหน้าต่าง
- ปราสาทประธาน ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจตุรัสย่อมุม
มีมุขยื่นออกไปรับกับมุขของซุ้มประตูทั้งสี่ด้าน มุขด้านทิศตะวันตกเจาะเป็นช่อง
ภายในองค์ปราสาทมีผังเป็นรูปกากบาท แบ่งออกเป็นห้าห้องคือ ห้องครรภ์เป็นห้องใหญ่อยู่ตรงกลาง
และห้องมุขทั้งสี่ด้าน
โบราณสถานหมายเลข ๒ เป็นปราสาทสร้างด้วยศิลาแลงประดับลายปูนปั้นตั้งอยู่บนฐานเขียงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซ้อนกันสองชั้นฐานชั้นล่าง กว้าง ๓๔ เมตร ยาว ๕๔ เมตร
สูงประมาณ ๑ เมตร ตรงกลางใช้ศิลาแลงเม็ดเล็ก ๆ อัดแน่น มีทางขึ้นอยู่ทางด้านทิศตะวันตก
ทำเป็นลานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง ๖.๕๐ เมตร ยาว ๑๐ เมตร และทำเป็นทางขึ้นอยู่ทางด้านทิศเหนือ
ถัดจากลานนี้ไปเป็นซุ้มประตูด้านหน้า ภายในเป็นห้องรูปกากบาทมีทางขึ้นทั้งสี่ทิศ
ทางด้านทิศตะวันออกของซุ้มประตู ด้านหน้ามีปรางค์สามองค์ตั้งเรียงอยู่บนฐานเดียวกัน
กว้าง ๑๕.๕๐ เมตร ยาว ๒๒.๒๐ เมตร อยู่ค่อนมาทางด้านทิศตะวันตก ปรางค์องค์กลางอยู่มีขนาดใหญ่กว่าปรางค์องค์ซ้าย
และองค์ขวา มีทางขึ้นอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ระหว่างปรางค์ทั้งสามองค์มีทางเดินเชื่อมต่อกัน
ซุ้มประตูด้านหลังอยู่ใกล้กับปรางค์องค์กลาง ด้านทิศเหนือและทิศใต้มีทางเดินเชื่อมกับห้องมุมด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
และตะวันตกเฉียงใต้ ทางด้านหลังของปรางค์ด้านซ้าย และด้านขวามีทางเดินกว้างประมาณ
๑ เมตร จากตัวปรางค์เชื่อมกับห้องมุมทั้งสอง ด้านหน้าของปรางค์ด้านขวาต่อกับแนวระเบียงยาว
บริเวณโบราณสถานหมายเลข ๒ พบแท่นประติมากรรมหินทรายเป็นจำนวนมาก
ลักษณะของตัวอาคารของโบราณสถาน หมายเลข ๒ มีลักษณะไม่สมดุลย์กัน แสดงว่ายังสร้างไม่เสร็จ
หรือมิฉะนั้นก็มีการสร้างเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่
โบราณสถานหมายเลข ๓ ตั้งอยู่นอกกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของโบราณสถาน
หมายเลข ๑ มีลักษณะเป็นแนวฐานของโบราณสถานขนาดเล็ก ก่อด้วยอิฐและศิลาแลง ถัดขึ้นมาเป็นฐานปัทมี
๑ ชั้น ก่อด้วยอิฐ ชั้นบนสุดก่อด้วยศิลาแลง จากหลักฐานต่าง ๆ ที่พบสันนิษฐานว่าโบราณสถานแห่งนี้อาจจะอยู่ในสมัยทวาราวดี
บราณสถานหมายเลข ๔ ตั้งอยู่ห่างจากกำแพงแก้วด้านทิศตะวันตกของโบราณสถานหมายเลข
๑ ประมาณ ๒๓๗ เมตร มีลักษณะเป็นพื้นชั้นเดียวรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อด้วยศิลาแลงเรียงเป็นระยะ
๔ ส่วน แต่ละส่วน กว้างประมาณ ๔ เมตร ยาวประมาณ ๗ เมตร ระยะเรียงห่างกัน ๐.๕๐
เมตร พื้นที่บางส่วนปูด้วยศิลาแลง พบกรวดแม่น้ำ และทรายอัดแน่น
เมืองครุฑ
เมืองครุฑอยู่ที่บ้านท่าตาเสือ ตำบลเมืองสิงห์ อำเภอไทรโยค อยู่ห่างจากเมืองสิงห์ไปทางทิศตะวันออกประมาณ
๖ กิโลเมตร บริเวณเมืองมีภูเขาล้อมรอบ คือเขาเมืองครุฑ ทางด้านทิศตะวันตก
และทิศเหนือ เขาแก้วน้อยทางตะวันออกเฉียงเหนือ เขาแก้วใหญ่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้
มีห้วยมะไฟไหลผ่านทางทิศตะวันตก ติดกับเชิงเขาเมืองครุฑ เมืองครุฑมีพื้นที่
๑๔๙ ไร่ มีกำแพงดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตามแนวทิศตะวันออก และทิศตะวันตก กว้างประมาณ
๓๓๐ เมตร ยาวประมาณ ๕๖๐ เมตร ตัวกำแพงกว้าง ๑๕ เมตร สูง ๓ เมตร มีกำแพงล้อมรอบเพียงสามด้าน ทางด้านทิศตะวันตกกับเขาเมืองครุฑ
และห้วยมะไฟไม่มีกำแพงดิน
สภาพโบราณสถานเดิมเป็นเนินดินอยู่ห่างจากห้วยมะไฟไปทางทิศตะวันออก ประมาณ
๒๒๐ เมตร ห่างจากแนวกำแพงด้านทิศเหนือ ๑๖๐ เมตร เนินดินมีลักษณะเป็นรูปยาวรีตามแนวทิศตะวันออก
- ตะวันตก ยาว ๒๐ เมตร กว้าง ๑๖ เมตร พบโบราณสถานก่อด้วยศิลาแลง ซึ่งเหลือเฉพาะส่วนฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยม
กว้าง ยาว ประมาณด้านละ ๖ เมตร สูงประมาณ ๑ เมตร ก่อด้วยศิลาแลง มีร่องรอยการฉาบปูนที่ผิวศิลาแลงบางก้อน
โบราณวัตถุที่พบได้แก่ชิ้นส่วนประติมากรรมรูปครุฑหินทราย ๗ ชิ้น เป็นส่วนของขา
เท้า สะโพก อก และปีกขวาของครุฑ กับชิ้นส่วนลวดลายดอกไม้ แกะสลักจากหินทราย
เมืองครุฑสันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในสมัยเดียวกันกับเมืองสิงห์
พระเจดีย์สามองค์
พระเจดีย์สามองค์ตั้งอยู่ที่บ้านพระเจดีย์สามองค์ ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี
เป็นด่านที่สำคัญของประเทศไทยทางด้านทิศตะวันตก เป็นเส้นทางเดินทัพที่สำคัญในการทำสงคราม
ระหว่างไทยกับพม่ามาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์
รวม ๑๕ ครั้ง สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นมาก่อนรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช รูปทรงเดิมของเจดีย์สามองค์ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นอย่างไร
ที่ปรากฏในปัจจุบันเป็นเจดีย์ทรงมอญ ก่ออิฐถือปูน ฐานรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส
มีขนาดเท่ากันทั้งสามองค์ สูง ๖ เมตร ตั้งอยู่ห่างกันองค์ละประมาณ ๕ เมตร
ได้ประกาศขอบเขตพื้นที่พระเจดีย์สามองค์เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เป็นพื้นที่รูปสี่เหลี่ยมจตุรัส
กว้าง ยาวด้านละ ๒๕ เส้น รวมเป็นพื้นที่ ๑ ตารางกิโลเมตร หรือ ๖๒๕ ไร่
เมืองกาญจนบุรีเก่า
เมืองกาญจนบุรีเก่าตั้งอยู่ริมแม่น้ำแควใหญ่ในเขตตำบลลาดหญ้า อำเภอเมือง ฯ มีป้อม ๔ ป้อม ขนาดกว้าง ยาว ด้านละ ๑๐ เมตร มีกำแพงเมืองทางด้านทิศใต้ และทิศเหนือยาวประมาณ ๓๕๕ เมตร ด้านตะวันออก และตะวันตก ยาวประมาณ ๑๖๕ เมตร
ทิศใต้อยู่ติดแม่น้ำแควใหญ่ พบเศษดินเผาสมัยอยุธยา เศษภาชนะเคลือบสีเขียวมะกอกเป็นไหขนาดใหญ่
เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์เหม็ง เครื่องสังคโลกเคลือบสีเขียวมีลายขุดใต้เคลือบก้อนตะกั่ว สันนิษฐานว่าหลอมขึ้นเพื่อทำเป็นลูกปืน
ในบริเวณเมืองเก่ายังมีโบราณสถานที่เป็นวัดเก่าแก่อีกหลายวัด ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ที่สำคัญคือ วัดขุนแผน วัดนางพิมพ์ และวัดแม่หม้าย ซึ่งมีวัดแม่หม้ายเหนือ
และวัดแม่หม้ายใต้
แหล่งโบราณคดีบ้านดอนเจดีย์
แหล่งโบราณคดีบ้านดอนเจดีย์ ตั้งอยู่บริเวณที่ดอนสูงใกล้ลำห้วยทวน ในเขตตำบลดอนเจดีย์
อำเภอพนมทวน พบเศษภาชนะดินเผากระจากยอยู่บริเวณรอบๆ โบราณสถานเป็นภาชนะดินเผา
ประเภทหม้อปากผายทั้งขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก ครกตะกรันดินเผา กระเบื้องมุงหลังคาตกแต่งลวดลายแบบลายขูด
และลายประทับ เป็นภาชนะดินเผาสมัยอยุธยา มีเนื้อแกร่ง เผาด้วยอุณหภูมิสูง
มีทั้งชนิดเคลือบสีน้ำตาล และไม่เคลือบ ส่วนใหญ่เป็นประเภทไหขนาดต่าง ๆ
แหล่งโบราณคดีแห่งนี้สันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ช่วงอยุธยาตอนต้น และตอนกลาง ได้พบซากกระดูกช้าง
และอาวุธสมัยโบราณ แสดงว่าบริเวณนี้เคยเป็นสนามรบมาก่อน โบราณสถานที่สำคัญ
มีดังนี้
เจดีย์ยุทธหัตถี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานในสงครามยุทธหัตถี
ระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กับพระมหาอุปราชา มีรูปแบบศิลปกรรมแบบอยุธยา
ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงกลม ก่ออิฐฉาบปูน สูงประมาณ ๗ เมตร ห่างออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเจดีย์
ประมาณ ๓๕๐ เมตร มีพระปรางค์ ๑ องค์ และเจดีย์สี่เหลี่ยมย่อมุมอีก ๒ องค์
ก่ออิฐฉาบปูน มีลวดลายประดับที่ฐานสิงห์ และที่ซุ้มปรางค์ด้านใต้มีลายประดับเป็นรูปคนในวรรณคดี
ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน และประกาศขอบเขต เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙ มีพื้นที่ ประมาณ
๖๘ ไร่
ปรางค์และเจดีย์ใกล้กับดอนเจดีย์ อยู่ที่บ้านดอนเจดีย์
ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอพนมทวน สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานสงคราม
เป็นศิลปกรรมสมัยอยุธยา ประกอบด้วยปรางค์ประธาน และเจดีย์บริวาร ก่ออิฐฉาบปูน
รวม ๓ องค์ ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ปรางค์ประธานทรงมณฑปสี่เหลี่ยมย่อมุม ถัดขึ้นไปเป็นเรือนธาตุก่อปิดทับ
ยอดปรางค์เป็นแบบฝักข้าวโพดมีกลีบขนุนประดับจำนวนมาก ลวดลายปูนปั้นมีความสวยงาม
เจดีย์บริวารเป็นเจดีย์รูปสี่เหลี่ยมย่อมุม
เจดีย์วัดบ้านน้อยอยู่ที่บ้านน้อย ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอพนมทวน มีซากวิหารร้าง
เจดีย์งาย ซุ้มกำแพง ๒ ชั้น เป็นโบราณสถานสมัยอยุธยา
กำแพงเมืองกาญจนบุรี
กำแพงเมืองกาญจนบุรีอยู่ในเขตตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมือง ฯ สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๔
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี
พ.ศ. ๒๔๗๘ เป็นกำแพงก่ออิฐถือปูน ด้านบนมีใบเสมา ตำกำแพงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
หันหน้าออกไปทางแม่น้ำแควใหญ่ มีป้อมมุม ๔ ป้อม ป้อมใหญ่ด้านหน้าเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้
๑ ป้อม และป้อมเล็กด้านหลังในแนวตรงกับด้านหน้า ๑ ป้อม รวมเป็น ๖ ป้อม มีประตูด้านข้างคือด้านทิศเหนือ
และทิศใต้ด้านละ ๑ ประตู รวมเป็น ๘ ประตู
ปัจจุบันกำแพงเมืองที่ยังคงเหลืออยู่ได้รับการบูรณะเป็นกำแพงเมือง และประตูด้านหน้า
ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เหนือประตูมีข้อความว่า เมืองกาญจนบุรี
พ.ศ. ๒๓๗๔ และมีป้อมเหลืออยู่ ๑ ป้อม
อนุสรณ์ไทยานุสรณ์
อนุสรณ์ไทยานุสรณ์ คือ อนุสาวรีย์เชลยศึก และกรรมกร ซึ่งทางกองทัพญี่ปุ่นจัดสร้างขึ้น
ตั้งอยู่บริเวณใกล้สะพานข้ามแม่น้ำแคว เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณ และเคารพสักการะ
วิญญาณของผู้เสียชีวิตจากการก่อสร้างงานให้แก่กองทัพญี่ปุ่น ตัวอนุสาวรีย์สร้างด้วยปูนก่อขึ้นเป็นแท่งสี่เหลี่ยมปลายสอบเข้าเล็กน้อย
สูง ๔ เมตร ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม มีบันไดทางขึ้นสี่ด้าน มีคำจารึกไว้อาลัยด้านละสองภาษา
รวมเป็นแปดภาษา คือ ภาษาอินเดีย พม่า มลายู จีน ฮอลันดา อังกฤษ ไทย
และญี่ปุ่น ส่วนที่เป็นภาษาไทยมีข้อความว่า
"ไทยานุสรณ์ งานใดซึ่งก่อให้เกิดผลเป็นส่วนรวม ผู้ที่ทำงานนั้นย่อมได้รับความยกย่อง
สรรเสริญกรรมกรเหล่านี้ ร่างกาย และชีวิตเขาดับไปแล้วก็จริง แต่ความดีที่เขาช่วยกันสร้างไว้
หารู้จักดับสูญไม่"
อนุสรณ์ไทยานุสรณ์ เปิดเมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๔๘๗ ในเดือนมีนาคมของทุกปี
จะมีสมาชิกสมาคมญี่ปุ่นในประเทศไทย ร่วมชุมนุมกัน ณ ที่นี้เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
สะพานข้ามแม่น้ำแคว
สะพานข้ามแม่น้ำแควอยู่ที่บ้านท่ามะขาม อำเภอเมือง ฯ สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ในระหว่างสงครามมหาเอเซียบูรพา เป็นส่วนหนึ่งของทางรถไฟ จากสถานีหนองปลาดุกในไทยผ่านเขตจังหวัดกาญจนบุรี ไปยังสถานีตันอูบีซายัดในพม่า เพื่อใช้ลำเลียงทหารเสบียงสัมภาระ และอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในการสงคราม โดยใช้แรงงานจากเชลยศึก และกรรมกร ในตอนแรกสร้างเป็นสะพานไม้ชั่วคราว อยู่ห่างจากสะพานปัจจุบันไปทางปลายน้ำ ประมาณ ๑๐๐ เมตร โดยใช้ท่อนซุงมาทำเป็นเสาเข็ม
ทำทั้งกลางวันกลางคืน ใช้เวลา ๓ เดือน หลังจากนั้นจึงเริ่มสร้างสะพานถาวร
ได้ก่อสร้างตอม่อสะพานก่อนหล่อด้วยคอนกรีต ขณะนั้นปูนซีเมนต์ขาดแคลน ต้องใช้วิธียืมจากหน่วยงานต่าง
ๆ ส่วนเหล็กลำเลียงมาจากมลายู แล้วนำมาประกอบเป็นตัวสะพาน ซึ่งประกอบด้วยช่องสะพานเหล็ก
๑๒ ช่อง มีความยาวทั้งสิ้น ประมาณ ๓๐๐ เมตร ใช้เวลาสร้างประมาณเดือนเศษเสร็จและได้ทำพิธีเปิดเป็นทางการ
เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๔๘๖ ฝ่ายสัมพันธมิตรได้พยายามทำลายด้วยการใช้เครื่องบินทิ้งระเบิด
รวม ๑๐ ครั้ง ครั้งหนึ่งลูกระเบิดถูกคอสะพานขาด ชำรุดไป ๓ ช่วง แต่ได้รับการซ่อมแซมจนใช้การได้
สุสานสหประชาชาติ
เมื่อสงครามมหาเอเซียบูรพาสงบลง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ฝ่ายสัมพันธมิตรผู้ชนะสงครามได้จัดสร้างอนุสรณ์สถานขึ้น
เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่ผู้ที่เสียชีวิตในสงครามมหาเอเซียบูรพา ได้จัดสร้างขึ้นในประเทศไทยที่จังหวัดกาญจนบุรี
๒ แห่งคือ สุสานกาญจนบุรี ที่บ้านดอนรัก และสุสานช่องไก่ (ช่องควาย) การสร้างสุสานทั้งสองแห่งนี้ได้มีการตกลงกันระหว่างรัฐบาลไทย
กับฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๔๙๗
สุสานกาญจนบุรี ชาวบ้านเรียกว่า ป่าช้าอังกฤษ
ตั้งอยู่ริมถนนแสงชูโต บ้านดอนรัก ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมือง ฯ ใกล้สถานีรถไฟกาญจนบุรี
มีพื้นที่ ๑๗ ไร่ ทางเข้าด้านหน้าเป็นรูปซุ้มประตูโค้งก่ออิฐถือปูน ๓ ประตู
ด้านหน้าเขียนตัวอักษรว่า Kanchanaburi War Cemetary ๑๙๓๙ - ๑๙๔๕ ภายในซุ้มเป็นห้องโถงเล็ก ๆ
ตรงกลางมีแผ่นหินอ่อนฝังอยู่ ในเสาจารึกข้อความทั้งในภาษาไทย และภาษาอังกฤษ
ดังนี้
"คริสตศักราช ๑๙๓๙ - ๑๙๔๕ แผ่นดินซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งสุสานนี้ เป็นสมบัติของประชาชนชาวไทย
ได้อุทิศให้เป็นสถานที่พักตลอดกาลสำหรับ ทหารเรือ ทหารบก และทหารอากาศ ซึ่งได้รับเกียรติ
ณ ที่นี้"
บริเวณกลางสนามหญ้าด้านในสุด สร้างเป็นไม้กางเขนขนาดใหญ่ บริเวณโดยรอบจัดทำที่ฝังศพอย่างมีระเบียบ
แต่ละหลุมฝังศพจมีแผ่นป้ายทองเหลือง จารึกชื่ออายุ สังกัดประเทศ และบันทัดสุดท้ายจะมีคำขวัญไว้อาลัย
สุสานกาญจนบุรี ได้รวบรวมศพผู้เสียชีวิตจากการสร้างทางรถไฟสาย ไทย - พม่า
มีจำนวน ๖,๙๘๒ คน ส่วนรายชื่อผู้เสียชีวิตอื่น ๆ ได้มาจากจารึกบนแผ่นซีเมนต์เหนือหลุมฝังศพของเหล่าเชลยศึกตามค่ายต่าง ๆ
ในจังหวัดกาญจนบุรี
สุสานเขาช่องไก่ (ช่องควาย) ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแควน้อย
ห่างออกไปประมาณ ๒๐๐ เมตร ที่บ้านลิ้นช้าง ตำบลปากแพรก อำเภอเมือง ฯ ลักษณะเหมือนสุสานกาญจนบุรี
มีพื้นที่ประมาณ ๑๑ ไร่ ด้านหน้าของซุ้มทางเข้าเขียนว่า Cungkai War Cemetary
๑๙๓๙ - ๑๙๔๕ พื้นที่บริเวณนี้เดิมเป็นที่ตั้งค่ายใหญ่ของเชลยศึก และกรรมกร เป็นค่ายที่มีกิจกรรมหลายอย่าง
เช่นโรงพยาบาล โบสถ์ มหาวิทยาลัย โรงภาพยนตร์ เป็นต้น เชลยศึกได้บันทึกถึงค่ายช่องไก่ไว้ว่า
"ค่ายช่องไก่ถือว่าเป็นค่ายคุมขังใหญ่ค่ายหนึ่ง เชลยศึกที่เจ็บป่วยจะถูกส่งมารักษาพยาบาลที่นี่
ความเป็นอยู่ของเชลยศึก และคนงานในตอนแรก ๆ มิสู้จะลำบากเท่าใดนัก อาหารการกินก็พอหาซื้อได้ในราคาย่อมเยาจากพ่อค้าแม่ค้าชาวไทย
แต่เมื่อญี่ปุ่นประกาศแผนรีบด่วน สภาพแห่งความสะดวกสบายก็เริ่มทรุดลง เชลยศึกทุกคนเคลื่อนย้ายเข้าไปในป่าลึก
ทหารญี่ปุ่นเข้มงวดมาก เกิดโรคระบาดทำให้เชลยศึกต้องเจ็บป่วย และล้มตายเป็นจำนวนมาก"
ที่ค่ายช่องไก่มีเชลยสับเปลี่ยนไปมาตลอดเวลาเป็นประจำมีจำนวนน้อยที่อยู่นานเป็นเดือน
คนนับพัน ๆ ถูกส่งออกไปทำงาน บางกลุ่มก็หายไปโดยไม่มีร่องรอย โรงพยาบาลในค่ายนี้ถูกขนานนามว่าเรือนมรณะ
สุสานทั้งสองแห่งได้รับทุนเป็นค่าดูแล และบำรุงรักษาจากองค์การทหารแห่งราชอาณาจักร
ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
ภาษาและวรรณกรรม
ภาษา
จังหวัดกาญจนบุรี เป็นแหล่งชุมชนที่มีผู้คนอาศัยอยู่ตลอดระยะเวลาอันยาวนาน
และมีพรมแดนติดต่อกับประเทศพม่าตลอดแนวด้านตะวันตก มีความยาวประมาณ ๓๘๐ กิโลเมตร
มีการอพยพเคลื่อนย้ายของกลุ่มชนต่าง ๆ ตลอดแนวชายแดนอยู่ตลอดเวลา ทำให้กาญจนบุรีเป็นที่รวมของกลุ่มชนหลายชาติพันธุ์
และภาษาจึงมีภาษาถิ่นอยู่เป็นจำนวนมาก แบ่งออกได้เป็น ๔ ตระกูลภาษาคือ
ภาษาพูดตระกูลไท ได้แก่ ภาษาลาวโซ่ง ภาษาลาวเวียง
ภาษาลาวพวน ภาษาลาวครั่ง มีมากในเขตอำเภอพนมทวน อำเภอหนองปรือ อำเภอเลาขวัญ
อำเภอบ่อพลอย อำเภอท่าม่วง อำเภอท่ามะกา อำเภอไทรโยค และอำเภอสังขละบุรี มีผู้พูดอยู่ประมาณ
๑๓,๗๐๐ คน
ส่วนภาษาไทย อีสาน เป็นภาษาที่กลุ่มคนไทยที่อพยพมาจากภาคอีสานมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตอำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอทองผาภูมิ และอำเภอไทรโยค ในคราวสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ ปัจจุบันมีผู้พูดอยู่ประมาณ ๓,๗๐๐ คน
ภาษาพูดตระกูลมอญ - เขมร ได้แก่ ภาษามอญ ภาษาซอง
(เขมรซอง) ภาษาขมุ และภาษาละว้า มีผู้พูดได้ในปัจจุบันประมาณ
๑๓,๒๐๐ คน กระจายอยู่ตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในเขต อำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอสังขละบุรี
อำเภอทองผาภูมิ และอำเภอไทรโยค
ภาษาพูดตระกูล ทิเบต - พม่า ได้แก่ ภาษาพม่า และภาษาทวาย
มีผู้พูดอยู่ประมาณ ๓,๑๐๐ คน ในเขตอำเภอสังขละบุรี อำเภอทองผาภูมิ อำเภอไทรโยค
อำเภอศรีสวัสดิ์ และอำเภอเมืองที่บ้านห้วยน้ำข้าว ตำบลบ้านเก่า
ภาษาพูดตระกูลกะเหรี่ยง มีผู้พูดกันมากในเขตอำเภอศรีสวัสดิ์
อำเภอสังขละบุรี อำเภอทองผาภูมิ อำเภอไทรโยค อำเภอเมือง ฯ ที่ตำบลบ้านเก่า
และอำเภอหนองปรือ ที่ตำบลสมเด็จเจริญ มีผู้พูดอยู่ประมาณ ๒๐,๐๐๐ คน
จารึก
ได้พบจารึกในเขตจังหวัดกาญจนบุรีเพียง ๓ หลัก เป็นจารึกบนฐานประติมากรรมหินทรายสีแดง
๑ หลัก ขนาดกว้าง ๘๒ เซนติเมตร ยาว ๘๔ เซนติเมตร ลักษณะตัวอักษรมีอายุอยู่ประมาณ
พุทธศตวรรษที่ ๑๘ พบที่โบราณสถานหมายเลข ๒ อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์
อำเภอไทรโยค เรียกว่าศิลาจารึกปราสาทเมืองสิงห์
จารึกอีกสองหลัก เป็นอักษรจารึกบนหลักศิลาเมืองกาญจนบุรี ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของศาลหลักเมืองกาญจนบุรี
มีลักษณะเป็นจารึกสองแผ่น แผ่นแรกเป็นจารึกหลักที่ ๑๔๒ ทำด้วยหินทราย ขนาดกว้าง
๓๑ เซนติเมตร สูง ๙๗ เซนติเมตร แผ่นที่ ๒ เป็นจารึกหลักที่ ๑๔๓ ทำด้วยไม้สักสีน้ำตาลใส่กรอบกระจก
ขนาดกว้าง ๒๓ เซนติเมตร สูง ๖๖ เซนติเมตร หนา ๑ เซนติเมตร จารึกทั้งสองหลักใช้อักษรภาษาไทย
บันทึกเรื่องราวการสร้างเมืองกาญจนบุรี เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๔
ตำนาน
ในจังหวัดกาญจนบุรี มีเรื่องเล่าเป็นตำนานอยู่เป็นจำนวนมาก เท่าที่มีการรวบรวมไว้ได้มี
ดังนี้
ตำนานปราสาทเมืองสิงห์ กล่าวถึงท้าวอู่ทอง และท้าวเวชสุวรรณโณ เป็นศิษย์ของฤาษี
วันหนึ่งทั้งสองคนแอบลงไปในบ่อเงินบ่อทอง ซึ่งฤาษีห้ามไว้ ท้าวอู่ทองลงไปในบ่อเงินบ่อทอง
ท้าวเวชสุวรรณโณก็ฉุดขึ้นมาได้ ครั้งท้าวเวชสุวรรณโณลงไปในบ่อน้ำกรด ท้าวอู่ทองกลับปล่อยให้น้ำกรดกัดกร่อน
ท้าวเวชสุวรรณโณโกรดแค้น จึงไล่ตามฆ่าท้าวอู่ทอง ท้าวอู่ทองหนีมาสร้างเมืองยังไม่เสร็จดี
ท้าวเวชสุวรรณโณก็ตามมาทัน เมืองที่สร้างค้างไว้คือ เมืองสระสี่มุม เมืองกลอนโด
เมืองครุฑ จนกระทั่งถึงเมืองสิงห์ จึงสามารถสร้างได้สำเร็จ ท้าวเวชสุวรรณโณก็ตามมาทันอีก
ท้าวอู่ทองหนีลงหีบ ท้าวเวชสุวรรณโณสะอุดโซ่มัดหีบ เมื่อเปิดออกดูพบอบจับท้าวอู่ทองกิน
ตำนานบ้านทวน อยู่ในเขตอำเภอพนมทวน มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาเป็นสองนัย
นัยหนึ่งเล่าว่า เพราะแม่น้ำที่ไหลผ่านหมู่บ้านนี่ไหลทวนจากทิศใต้ไปทิศเหนือ
ต่างไปจากแม่น้ำสายอื่น ๆ ที่ไหลจากทิศเหนือไปทางทิศใต้
ตำนานบ้านหนองขาว อยู่ในเขตอำเภอท่าม่วง ได้กล่าวถึงชาวหมู่บ้านดงสักและบ้านดอนกระเดื่อง
ได้ต่อสู้กับทหารพม่าที่เดินทัพผ่านมาเพื่อจะไปตีกรุงศรีอยุธยา ชาวบ้านสู้พม่าไม่ได้จึงหนีมารวมตัวกันอยู่ที่หนองน้ำใหญ่แห่งหนึ่ง
มีต้นหญ้าชนิดหนึ่งดอกสีขาว เรียกที่นั้นต่อมาว่า บ้านหนองหญ้าดอกขาว และได้เพี้ยนมาเป็นบ้านหนองหญ้าขาว
และบ้านหนองขาวในที่สุด
ตำนานตำบลท่าล้อ อยู่ในเขตอำเภอท่าม่วงมีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า ท้าวอู่ทองหนีโรคห่ามาพักไพร่พลอยู่
ณ ที่แห่งนี้ การเดินทางในครั้งนั้นใช้เกวียน ต้องมาถอดล้อและซ่อมแซมเกวียน
จึงเรียกว่า ท่าล้อ
ตำนานพระแท่นดงรัง อยู่ในเขตอำเภอท่ามะกา มีแท่นหินที่เชื่อกันว่าเป็นพระแท่นที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน
ตั้งอยู่ระหว่างต้นรัง การเดินทางมานมัสการพระแท่นดงรังต้องมาทางเรือ
แล้วจึงขี้นจากเรือเดินทางบกต่อไป บริเวณที่จอดเรือจึงเรียกว่า ท่าเรือ
ซึ่งปัจจุบันเป็นอำเภอในจังหวัดกาญจนบุรี
ตำนานตำบลท่าเรือ อยู่ในเขตอำเภอท่ามะกา เดิมเรียกว่าเกาะจิก เพราะเป็นเกาะใหญ่
มีต้นจิกใหญ่ขึ้นอยู่ ผู้ที่เดินทางโดยเรือไปนมัสการพระแท่นดงรัง พากันเอาเรือมาจอดใต้ต้นจิกเพื่อขึ้นเดินทางบกต่อ
ต่อมาบริเวณนี้จึงได้ชื่อว่า บ้านท่าเรือ
ตำนานอำเภอบ่อพลอย มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า พระพิชัย หัวหน้าคนมอญ ได้มาตั้งหมู่บ้านขึ้นเรียกว่าบ้านทุ่งนามอญ มีหน้าที่หาพลอย เพื่อส่งส่วยให้กับเมืองหลวง พระพิชัยจะออกไปหาพลอยขณะฝนตกหนักเมื่อได้พลอยแล้วก็นำไปเก็บไว้
และนำไปส่งครั้งละ ๑ ทะนาน ต่อมาชาวพม่าชื่อหม่องเกยะ ได้เข้ามาขุดพลอยตามบริเวณที่พระยาพิชัยเคยหา
ได้พบพลอยขนาดใหญ่ จึงได้นำไปขายในเมือง พอประชาชนทราบข่าวก็พากันไปขุดหาพลอยกันเป็นจำนวนมาก
จึงตั้งชื่อบริเวณดังกล่าวว่าบ่อพลอย