| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์

สมัยก่อนประวัติศาสตร์
            ในเขตจังหวัดขอนแก่นมีแหล่งชุมชนโบราณอยู่เป็นจำนวนมาก ที่สำคัญมีดังนี้
            แหล่งโบราณคดีโนนนกทา  อยู่ที่บ้านนาดี ตำบลกุดธาตุ กิ่งอำเภอหนองนาคำ มีอายุประมาณ ๔,๕๐๐ - ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว ได้ขุดพบโครงกระดูกมนุษย์ และสัตว์เลี้ยงกับเครื่องมือเครื่องใช้สมัยก่อนโลหะจนถึงสมัยโลหะ
            แหล่งโบราณคดีโนนเมือง  อยู่ที่บ้านนาโพ ตำบลชุมแพ อำเภอชุมแพ มีอายุประมาณ ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว ขุดพบโครงกระดูก และเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ
            แหล่งโบราณคดีบ้านโนนชัย  อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ มีอายุประมาณ ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว เป็นชุมชนโบราณเก่าแก่ ขุดพบภาชนะดินเผา เครื่องประดับ ภาชนะใส่เกลือ ปลาร้าและสินแร่ต่าง ๆ ที่ผลิตขึ้นสำหรับค้าขายกับชุมชนอื่น ๆ
            นอกจากนี้ยังมีชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ต่อเนื่องมายังสมัยประวัติศาสตร์อีกหลายแห่งเช่น
            ชุมชนโบราณบ้านเมืองเพีย  ตำบลเมืองเพีย อำเภอหนองไผ่ พบเศษภาชนะดินเผาที่มีลายสวยงามหลายสิบลาย
            ชุมชนโบราณบ้านศรีฐาน  ในเขตอำเภอเมือง ฯ ด้านตะวันตก
            ชุมชนโบราณท่ากระเสริม  ในเขตตำบลท่ากระเสริม อำเภอน้ำพอง
            โนนกู่  ที่บ้านโนนกู่ ตำบลสาวะถี อำเภอเมือง ฯ
            โนนแท่น  ที่บ้านบึงสวาง ตำบลบ้านเหล่า อำเภอบ้านฝาง
สมัยประวัติศาสตร์
            ในเขตจังหวัดขอนแก่นเคยเป็นดินแดนในความปกครองของขอมมาก่อน จากที่ปรากฏมีโบราณสถาน และโบราณวัตถุ ส่วนใหญ่เกิดจากคติความเชื่อจากศาสนาพราหมณ์ และพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน อันเป็นศาสนาที่ชาวขอมนับถืออยู่ในครั้งนั้น
            ในระยะแรก ของสมัยประวัติศาสตร์ อิทธิพลของวัฒนธรรมทวาราวดีได้เข้ามาสู่ดินแดน จังหวัดขอนแก่น งานศิลปกรรมรูปแบบหนึ่งที่พบคือ เสมาหินขนาดใหญ่ กลุ่มเสมาหินที่น่าสนใจแห่งหนึ่งคือ เสมาบริเวณเมืองโบราณบ้านโพธิชัย (เมืองชัยวาน) กิ่งอำเภอโคกโพธิชัย เมืองชัยวานเป็นเมืองโบราณพื้นที่เมืองเป็นรูปกลมรีเหมือนรูปไข่ กว้างประมาณ ๕๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๘๐๐ เมตร ภายในเมืองพบกลุ่มในเสมาหินบริเวณพระพุทธรูปใหญ่ ใบเสมาเหล่านี้ปักอยู่ในกรอบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าล้อมรอบทั้งแปดทิศ แต่ละทิศมีใบเสมาปักเป็นแนวเรียงกันสามแผ่น ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษที่ไม่พบในสมัยต่อมา
            แหล่งชุมชนโบราณ และศิลปกรรม  ในเขตจังหวัดขอนแก่นในสมัยประวัติศาสตร์ มีดังนี้
            ชุมชนโบราณดงเมืองแอม   วัดศรีเมืองแอม ตำบลดงเมืองแอม อำเภอเขาสวนกวาง มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ จากการสำรวจพบว่าเป็นเมืองขนาดใหญ่มาก มีคูเมืองจากด้านทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก ยาว ๒,๔๐๐ เมตร จากทิศเหนือไปทิศใต้ ยาว ๒,๐๐๐ เมตร มีคันดินคล้ายกำแพงเมืองซ้อนกันอยู่อีกแห่งหนึ่ง
            กลุ่มเสมาหินเมืองโบราณบ้านโพธิชัย  ตำบลโคกโพธิชัย กิ่งอำเภอโคกโพธิชัย มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๖
            ศิลจารึกและเสมาหินวัดไตรรงค์  อยู่ที่บ้านโนนชาด ตำบลโนนหัน อำเภอชุมแพ มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕
            พระพุทธรูปสลักหินปางไสยาสน์  อยู่บนหน้าผาเขาภูเวียงทางด้านทิศใต้ ในเขตอำเภอชุมแพ มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔
            ปราสาทหินเปือยน้อย หรือกู่เปือยน้อย  อยู่ในเขตอำเภอเปือยน้อย เป็นปราสาทหินที่สมบูรณ์และสวยงามมาก สร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗
            ปราสาทหินกู่แก้ว และหลักศิลาจารึกกู่แก้ว  อยู่ที่บ้านหัวสระ ตำบลดอนช้าง อำเภอเมือง ฯ มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘ สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗
            ปราสาทหินโนนกู่  อยู่ที่บ้านโนนกู่ ตำบลสาวะถี อำเภอเมือง ฯ
สมัยอาณาจักรล้านช้าง
            ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙ วัฒนธรรมล้านช้างแถบลุ่มแม่น้ำโขง พร้อมทั้งผู้คนเชื้อสายลาว ได้แผ่อิทธิพลมากลมกลืนวัฒนธรรมขอม ในเขตจังหวัดขอนแก่นจนหมดสิ้น คนขอนแก่นในยุคนี้จึงสืบทอดวัฒนธรรมล้านช้างทั้งทางด้านศิลปกรรม  สถาปัตยกรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ  ตลอดจนตัวหนังสือ
            สมัยที่อาณาจักรล้านช้างรุ่งเรืองอยู่นั้น ในเขตจังหวัดขอนแก่นมีเมืองที่จัดการปกครองแบบหัวเมืองลาว ขึ้นต่อเวียงจันทน์อยู่เมืองเดียวคือ เมืองภูเวียง
การตั้งเมืองขอนแก่น


            เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๒๒ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หลังจากกองทัพไทยยกเข้าตีกรุงพนมเปญ และยึดเขมรได้แล้ว ก็ได้ยกทัพตามลำน้ำโขงขึ้นไปตีเมืองจำปาสัก และตีเมืองเวียงจันทน์ได้ในที่สุด อาณาจักรลานช้างก็ตกเป็นเมืองขึ้นของไทยตั้งแต่นั้นมา
            การตั้งเมืองขอนแก่นเริ่มในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประมาณปี พ.ศ. ๒๓๓๒ เพียเมืองแพน ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านดอนกระยม ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอหนองไผ่ ได้แจ้งความจำนงไปยังพระยานครราชสีมา ขอเป็นเจ้าเมืองแยกจากเมืองสุวรรณภูมิซึ่งขึ้นกับเมืองนครราชสีมาและรับอาสาส่งส่วยตามประเพณี พระยานครราชสีมา จึงกราบทูลไปยังกรุงเทพ ฯ จึงโปรดเกล้าสให้ตั้งเพียเมืองแพนเป็นพระนครศรีบริรักษ์ยกบ้านบึงบอนขึ้นเป็นเมืองขอนแก่น ให้พระนครบริรักษ์ปกครอง เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๔๐
            เมืองขอนแก่นเมื่อแรกตั้งอยู่ที่บ้านโนนทอง ฝั่งตะวันตกของบึงบอน มีสามคุ้มคือคุ้มเหนือ อยู่บริเวณวัดหนองแวง  คุ้มกลางอยู่บริเวณรอบ ๆ วัดกลาง และคุ้มใต้อยู่บริเวณรอบ ๆ วัดธาตุ
            เพียเมืองแพน ได้สร้างเมืองโดยเริ่มจากตั้งบือบ้าน (เสาหลักเมือง) ปัจจุบันอยู่ทางทิศตะวันตกของวัดกลางในบ้านเมืองเก่า  จวนเจ้าเมืองมีสามหลัง หลังใหญ่เป็นที่สั่งราชการเมือง  ได้สร้างวัดขึ้นสองวัด วัดเหนือคือวัดหนองแวง  วัดกลาง และบูรณะขึ้นอีก ๑ วัด คือวัดพระธาตุโนนทอง
การย้ายเมืองขอนแก่น


            หลังจากตั้งเมืองขอนแก่นแล้ว ก็มีการย้ายที่ตั้งที่สั่งการ รวม ๖ ครั้ง คือ
            การย้ายครั้งที่ ๑  เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕๓ ได้ย้ายจากบ้านโนนทองไปบ้านดอนพันชาด  เมืองขอนแก่นมักมีปัญหาเรื่องเขตแดนกับเมืองชนบทอยู่บ่อย เพราะเมืองชนบทได้อ้างเขตแดนเข้ามาถึงบ่านทุ่ม  ดังนั้นเพือตัดปัญหาดังกล่าว พระนครศรีบริรักษ์ (ท้าวคำยวง) จึงย้ายเมืองจากบ้านโนนทองไปอยู่บ้านดอนพันชาด
            การย้ายครั้งที่ ๒  เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๑ จากบ้านดอนพันชาดไปบ้านโนนทัน ท้าวอินบุตรชายคนที่สองของท้าวคำยวงได้ย้ายเมืองมาอยู่ที่บ้านโนนทัน ทางทิศตะวันออกของบึงบอน ได้ตั้งเสาหลักเมืองที่บริเวณหลังศาลาเจ้ายาคูเย็น แล้วสร้างวัดท่าแขกไว้ต้อนรับแขก บูรณะวัดโพธิ์ให้เป็นวัดสำหรับประกอบพิธีสำคัญ
            ในปี พ.ศ. ๒๔๑๑ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าแต่งตั้งอุปอาตมุ่งเป็นพระนครศรีบริรักษ์ เจ้าเมืองขอนแก่น  ขณะนั้นเมืองขอนแก่นมีเมืองขึ้นอยู่ ๓ เมือง คือ เมืองพล ภูเวียงและเมืองคำพองน้อย (น้ำพอง)
            ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๑๘ แผ่นดินลาวถูกจีนฮ่อรุกราน  ลาวมีใบบอกมายังกรุงเทพ ฯ ทางกรุงเทพ ฯ จึงได้ให้หัวเมืองลาวในภาคอีสานจัดทัพไปปราบฮ่อ โดยมีเมืองขอนแก่นร่วมอยู่ด้วย  กองทัพเมืองขอนแก่นนำโดยหลวงศรีวรางค์ (ท้าวอู๋) ราชบุตร ได้ประกอบวีรกรรมตีกองทัพฮ่อแตกทุกแห่ง หลังศึกฮ่อ จึงได้รับโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งเป็นที่พระนครศรีบริรักษ์ ผู้ว่าราชการเมืองขอนแก่น เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๐ เจ้าเมืองขอนแก่นคนใหม่จึงยกกองราชบุตรซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านดอนขมขึ้นเป็นเมืองขอนแก่น ทำให้เมืองขอนแก่นแบ่งออกเป็นสองฝ่าย  ศาลาว่าการอยู่ห่างกัน ๖ กิโลเมตร ในการปกครองทางกรุงเทพ ฯ ให้แบ่งเมืองแบ่งประชาชนคนละครึ่ง ต่างขึ้นตรงต่อกรุงเทพ ฯ
            การย้ายเมืองครั้งที่ ๓  เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๔ จากบ้านโนนทับไปบ้านทุ่ม  เมื่อพระนครศรีบริรักษ์ (ท้าวมมุ่ง) ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๔ ราชวงษ์จึงพาข้าราชการฝ่ายเมืองเดิมยกจากบ้านโนนทับไปตั้งที่บ้านทุ่ม และในปีเดียวกัน ทางพระนครศรีบริรักษ์ (ท้าวอู๋) ได้ขอพระราชทานตั้งบ้านภูเม็ง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของบ้านทุ่ม ขึ้นเป็นเมืองขึ้นกับเมืองขอนแก่นและได้รับโปรดเกล้า ฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๔ โดยพระราชทานนามว่าเมืองปัญจาคีรีและตั้งท้าววรบุตร (สน สนธิโสมพันธ์) เป็นที่พระเกษตรวัฒนาเจ้าเมือง
            การย้ายรวมเมืองครั้งที่ ๔  เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๔ จากบ้านดอนบมรวมกับบ้านทุ่ม ในปี พ.ศ. ๒๔๓๔ พระยาสุริยเดช ฯ ปลัดข้าหลวงที่หนึ่งประจำหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ ได้รับมอบหมายให้ทำการสอบสวนเรื่องราวต่าง ๆ ที่ปกครองเมืองขอนแก่นทั้งสองคณะ ทะเลาะเบาะแว้งกล่าวโทษกัน ผลการสอบสวนได้ความว่าผิดด้วยกันทั้งสองฝ่าย และเห็นว่าการที่เมืองขอนแก่นเป็นสองฝ่ายมีกรมการเต็มตามตำแหน่งด้วยกันทั้งสองฝ่าย มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๑๙ นั้น จะมีปัญหาต่อไปไม่สิ้นสุด
            ต่อมาในปีเดียวกัน พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ได้ทรงมารับหน้าที่ปลัดข้าหลวงที่หนึ่งประจำหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ ได้ทรงศึกษาปัญหาของเมืองขอนแก่นแล้วให้เหตุผลว่า บ้านดอนบนอยู่ไกลจากทางสัญจรไปมาและบ้านทุ่มนั้นห่างเมืองเดิมย้ายไปก่อนปี พ.ศ. ๒๔๒๔ จึงให้เมืองใหม่ย้ายตามไปรวมกัน


            การย้ายเมืองครั้งที่ ๕  เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๒ จากบ้านทุ่มไปบ้านเมืองเก่า ในปี พ.ศ. ๒๔๔๒ บ้านทุ่มเกิดแห้งแล้งกันดารน้ำ ประกอบกับเส้นทางคมนาคมเปลี่ยนไปทางด้านพระลับ พระนครศรีบริรักษ์จึงได้ย้ายเมืองกลับมาอยู่ที่บ้านเมืองเก่าอีกครั้ง ตั้งจวนและศาลากลางอยู่ทางด้านทิศเหนือของบึงแก่นนคร
            การย้ายเมืองครั้งที่ ๖  เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๑ จากบ้านเก่าไปบ้านพระลัย เมื่อหลวงวิไสยสิทธิกรรม (จีน ปิยะรัตน์) ย้ายมาเป็นผู้ว่าราชการเมืองขอนแก่น ในปี พ.ศ. ๒๔๕๑ เห็นว่าบริเวณที่ตั้งศาลากลางเดิมนั้นน้ำท่วม จึงย้ายเมืองจากบ้านเมืองเก่ามาตั้งที่บ้านพระลัย
ขอนแก่นสัมปฏิรูปการปกครอง


            หัวเมืองลาวแต่เดิมกว้างขวางมาก ครอบคลุมบริเวณอาณาจักรหลวงพระบางด้านเหนือรวมทั้งสิบสองบจุไท หัวพันทั้งห้าทั้งหก ตอนใต้ของประเทศจีน อาณาจักรเวียงจันทน์รวมมาถึงภาคอีสานตอนบน อาณาจักรจำปาสักจรดอาณาจักรเวียดนาม รวมทั้งอาณาจักรเขร ไทยได้ปกครองหัวเมืองลาวทั้งหมดตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๒๒ จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๓๖ เป็นเวลานานถึง ๑๑๔ ปี ดินแดนลาวทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงจึงตกเป็นของฝรั่งเศส
            ในปี พ.ศ. ๒๔๓๓ ไทยเกรงว่าฝรั่งเศสจะเข้ามาแย่งชิงหัวเมืองลาว ซึ่งอยู่ในความปกครองของไทย จึงได้เปลี่ยนแปลงวิธีการปกครองหัวเมืองลาวใหม่ เพื่อให้ครอบคลุมได้ง่าย และดูแลได้ทั่วถึง โดยแบ่งหัวเมืองลาวออกเป็นสี่เขตการปกครอง แต่ละเขตมีข้าหลวงใหญ่เป็นผู้ปกครอง ได้ปก่ เขตหัวเมืองฝ่ายตะวันออก เขตหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ เขตหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ และเขตหัวเมืองลาวฝ่ายกลาง
            จังหวัดขอนแก่นอยู่ในเขตหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๓๗ ไทยเริ่มจัดการปกครองหัวเมืองเป็นมณฑล รวม ๖ มณฑลด้วยกันคือ
            มณฑลลาวเฉียง  เปลี่ยนมาจากลาวพงดำ ที่ทำการมณฑลอยู่ที่ จังหวัดเชียงใหม่
            มณฑลลาวพวน  เปลี่ยนมาจากลาวฝั่งเหนือ ที่ทำการมณฑลอยู่ที่จังหวัดหนองคาย
            มณฑลลาวกาว  เปลี่ยนมาจากลาวฝ่ายตะวันออก และลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ทำการมณฑลอยู่ที่ จังหวัดอุบลราชธานี
            มณฑลลาวกลาง  เปลี่ยนมาจากลาวฝ่ายกลาง ที่ทำการมณฑลอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา
            มณฑลเขมร  ในส่วนที่ยังไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส คือ เมืองเสียมราฐ เมืองพระตะบอง เมืองศรีโสภณ และเมืองพนมศก
            มณฑลภูเก็ต  หัวเมืองฝ่ายใต้ตอนกลาง


            ในปี พ.ศ. ๒๔๓๗ ได้จัดการปกครองหัวเมืองเป็นระบบมณฑลเทศาภิบาล โดยรวมเมืองต่าง ๆ เข้าเป็นมณฑล แล้วส่งข้าราชการออกไปกำกับดูแล เรียกว่า ข้าหลวงเทศาภิบาล ให้ยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมือง อุปฮาดราชวงษ์ และราชบุตรเปลี่ยนเป็นผู้ว่าราชการเมือง ปลัดเมือง ยกกระบัตรเมือง และผู้ช่วยราชการเมือง เปลี่ยนชื่อเรียกมณฑลใหม่โดยตัดคำว่าลาวออก
            ในปี พ.ศ. ๒๔๔๓ มีการปรับเปลี่ยนชื่อมณฑลใหม่คือ มณฑลตะวันออกเป็นมณฑลบูรพา มณฑลตะวันตกเฉียงเหนือเป็นมณฑลพายัพ มณฑลฝ่ายเหนือเป็นมณฑลอุดร และมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือเป็นมณฑลอีสาน นอกจากนี้ยังได้รวมหัวเมืองหลาย ๆ เมืองเข้าเป็นบริเวณ เช่น เมืองชนบท เมืองภูเวียง เมืองขอนแก่น รวมเรียกว่า บริเวณพาชี ทางกรุงเทพ ฯ ส่งข้าราชการมากำกับดูแล เรียกว่า ข้าหลวงบริเวณ มีอำนาจหน้าที่มากกว่าผู้ว่าราชการเมือง
            ในปี พ.ศ. ๒๔๔๕ ทางราชการประกาศให้เมืองขึ้นทุกเมืองยุบลงเป็นอำเภอ เจ้าเมืองมาเป็นนายอำเภอ มีเมืองพล เมืองชนบท เมืองมัญจาคีรี เมืองภูเวียง และเมืองคำพองน้อย (น้ำพอง) เป็นอำเภอขึ้นกับเมืองขอนแก่น


            เมืองขอนแก่นได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาตามลำดับ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้มีการเปิดเดินรถไฟระหว่าง กรุงเทพ ฯ - ขอนแก่น ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ มีไฟฟ้าใช้เป็นครั้งแรกในเขตเทศบาล มีการตั้งน้ำโดยสูบน้ำมาจากบ้านกุดกว้าง ในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ มีน้ำประปาใช้เป็นครั้งแรก มีการซ่อมแซมธาตุใหญ่บ้านขาม แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นพระธาตุขามแก่น ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ได้กำหนดให้จังหวัดขอนแก่นเป็นศูนย์กลางการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็น ๑ ใน ๕ ของเมืองหลักตามแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |