| ย้อนกลับ |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางพุทธศาสนา

            จากโบราณสถาน และโบราณวัตถุ ที่พบในเขตจังหวัดขอนแก่น ในพื้นที่อันเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณหลายเมือง แสดงให้เห็นว่า พระพุทธศาสนาได้แผ่เข้ามาในพื้นที่ตั้งแต่สมัยทวาราวดี และต่อเนื่องมาจนถึงสมัยปัจจุบัน พอประมวลได้ ดังนี้
            เมืองโบราณบ้านเมืองเพีย  พบพระพุทธรูปหินทราย และใบเสมาหินทรายทั้งแบบเรียบและแบบที่มีลวดลายหม้อน้ำ ซึ่งมีอายุอยู่ในช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ตอนปลาย ต่อกับสมัยทวาราวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖


            เมืองโบราณเมืองชัยวาน  พบโบราณวัตถุเนื่องในพระพุทธศาสนาหลายประเภท ที่สำคัญคือ พระเจ้าใหญ่ พระพุทธรูปหินทรายปางสมาธิ ด้านหน้าองค์พระมีชิ้นส่วนเศียรนาค ทำด้วยหินทรายวางอยู่ สันนิษฐานว่า เป็นส่วนหนึ่งของพระเศียรเก่าของพระพุทธรูปองค์นี้ ซึ่งควรจะเป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก
            นอกจากนี้ยังพบกลุ่มใบเสมาอีกสามกลุ่ม กลุ่มแรกอยู่ใกล้บริเวณพระเจ้าใหญ่ มีใบเสมาปักอยู่รอบเนินดินทั้งแปดทิศ แต่ละทิศปักไว้สามใบ ซึ่งเป็นรูปแบบที่พบไม่มากนักในสมัยอื่นๆ กลุ่มที่สองเรียกว่าสิมมะลี มีอยู่หกใบ กลุ่มที่สามอยู่ในเขตวัดป่ามีอยู่ประมาณ สิบใบ บางใบทำขอบหยัก ๆ บางใบสลักลายก้านขดและลายกนกประดับอยู่เหนือฐานบัวอย่างงดงาม


            พระพุทธไสยาสน์ภูเวียง  อยู่ที่บ้านโนนสะอาด ตำบลไชยสอ อำเภอชุมแพ เป็นประติมากรรมสลักบนหน้าผาเป็นรูปพระพุทธไสยาสน์ พระพุทธไสยาสน์องค์นี้สร้างตามพุทธศิลป์แบบทวาราวดี ผสมผสานกับฝีมือช่างท้องถิ่นอีสานตามคตินิยมการสลักภาพพระพุทธรูปบนผาหินหรือผนังถ้ำ
            ชาวขอนแก่นมีประเพณีปีนเขาขึ้นไปนมัสการองค์พระนอนนี้เป็นประจำทุกปี ในเดือนเมษายน
           ชุมชนโบราณบ้านบัวสิมมา  พบใบเสมาหินทรายปักกระจายเป็นวงภายในบริเวณวัดหนองสระพัง มีขนาดต่าง ๆ กัน บางแผ่นสลักเป็นเสารองรับวงล้อพระธรรมจักร ตามแบบศิลปะอินเดีย บางใบทำลวดลายแกนกลางเป็นสันรูปสถูปหินทราย แกะสลักเป็นเศียรนาคฝังจมทรายอยู่ในบริเวณเดียวกัน
            นอกจากนี้ในบริเวณใกล้เคียงมีเนินดินมีกลุ่มใบเสมาหินทรายอยู่สองกลุ่ม กลุ่มแรก ที่ดอนปู่ตา มีใบเสมาอยู่สามใบ เคยมีผู้พบพระพุทธรูปสำริด และพระพุทธรูปหินอ่อนสีขาว กลุ่มที่สอง ที่โนนกกแจง อยู่ใกล้ดอนปู่ตา พบใบเสมาสี่ใบ
            เมืองโบราณบ้านท่ากระเสริม  พบใบเสมาขนาดใหญ่สลักลวดลายกลีบบัวไว้ที่ฐาน บางใบสลักเป็นช่องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ เรียงกัน สันนิษฐานว่าเป็นการนำใบเสมามาใช้ประโยชน์ในสมัยหลัง


            กู่แก้ว  เป็นโบราณสถานสำคัญแห่งหนึ่งของ จังหวัดขอนแก่น สร้างขึ้นเนื่องในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานในสมัย พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แห่งอาณาจักรขอม ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘ พบรูปพระวัชรสัตว์พระโพธิสัตว์วัชรปาณีทรงครุฑ


            รอยพระพุทธบาทหินลาด  อยู่ในบริเวณ ลานหินทรายด้านทิศเหนือของวัดป่า บ้านหนองตับเต่า ตำบลป่าปอ อำเภอบ้านไผ่ เป็นรอยพระพุทธบาทด้านซ้าย ยาวประมาณ ๑๗๐ เซนติเมตร ปลายพระบาทกว้าง ๘๐ เซนติเมตร ส้นพระบาทกว้าง ๔๐ เซนติเมตร สกัดส่วนพระบาทเป็นแนวเส้นตรง แล้วสอบโค้งมนตรงส่วนส้นพระบาท นิ้วพระบาทสกัดลึก แล้วทำขอบยกสูงเป็นสันระหว่างนิ้ว พื้นพระบาทเรียบเสมอกัน แสดงถึงลักษณะของพระมหาบุรุษ


            พระธาตุขามแก่น  ตั้งอยู่ที่วัดเจติยภูมิ บ้านขาม ตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพอง เป็นพระธาตุที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของจังหวัดขอนแก่น มีตำนานเล่าสืบกันมาว่า เมื่อครั้งสร้างพระธาตุพนม มีพระอรหันต์จากเมืองโมริยา อัญเชิญพระอังคารธาตุของพระพุทธเจ้าผ่านมาถึงบ้านขาม ก็วางโกศบรรจุพระอังคารธาตุไว้บนตอมะขามที่ต้นตายแล้วเพื่อพักแรม จากนั้นจึงเดินทางไปยังภูกำพร้า ซึ่งเป็นสถานที่สร้างพระธาตุพนม ปรากฏว่าพระธาตุพนมสร้างเสร็จแล้ว จึงได้อัญเชิญพระอังคารธาตุกลับมา ณ ที่พักแรมเดิมอีกครั้งหนึ่ง พบว่าตอมะขามที่ตายแล้วเกิดแตกกิ่งก้านขึ้นมาใหม่ จึงได้พร้อมใจกันสร้างพระธาตุเจดีย์คร่อมตอมะขามนั้น และบรรจุพระอังคารธาตุเอาไว้
            พระธาตุขามแก่นขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๘ และกำหนดขอบเขตโบราณสถานมีพื้นที่ ๒ งาน ๖๒ ตารางวา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๐
            พระธาตุขามแก่นได้มีการบูรณะครั้งใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ชาวบ้านขาม ร่วมกับทางอำเภอน้ำพอง พร้อมทั้งจังหวัดขอนแก่น จัดให้มีงานนมัสการ พระธาตุขามแก่นเป็นงานประจำปี ระหว่าง วันที่ ๑๓ - ๑๕ เมษายน ของทุกปี

| ย้อนกลับ | บน |