มรดกทางวัฒนธรรม
จังหวัดขอนแก่น เป็นดินแดนที่มีอารยธรรมมาช้านานแล้ว มีการตั้งชุมชนอยู่อาศัยกันมาไม่น้อยกว่า
๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว และอยู่ต่อเนื่องกันมาหลายยุคหลายสมัย มีโบราณสถาน และโบราณวัตถุปรากฏอยู่เป็นจำนวนมาก
ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ต่อเนื่องมาตามลำดับจนถึงปัจจุบัน
โบราณสถานสมัยก่อนประวัติศาสตร์
แหล่งโบราณคดีโนนนกทา อยู่ที่บ้านนาดี ตำบลกุดธาตุ กิ่งอำเภอหนองนาคำ เป็นร่องรอยการอยู่อาศัยที่เก่าที่สุดของ
จังหวัดขอนแก่นเท่าที่พบในปัจจุบันคือ ประมาณ ๓,๕๐๐ ปีมาแล้ว ลักษณะเป็นเนินดินเตี้ย ๆ
ขนาด กว้างประมาณ ๕๐ เมตร ยาวประมาณ ๑๐๐ เมตร จากการขุดค้นทางโบราณคดี พบว่าได้มีการเพาะปลูกกันมาตั้งแต่ยุคเริ่มแรกของการอยู่อาศัย รวมทั้งมีสัตว์เลี้ยงเพื่อใช้งานและเป็นอาหาร มีการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากเหล็ก และสำริด
แหล่งโบราณคดีโนนชัย อยู่ที่บ้านโนนชัย อำเภอเมือง ฯ ลักษณะเป็นเนินดินขนาดใหญ่ พบหลักฐานการตั้งชุมชน เมื่อ ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว มีการทำนาข้าว และผลิตเครื่องใช้เหล็ก
และสำริด มีการติดต่อแลกเปลี่ยนสินค้ากับชุมชนร่วมสมัยที่ห่างไกล มีการเลี้ยงสัตว์หลายชนิด
มีการใช้ภาชนะดินเผาเนื้อหยาบเคลือบน้ำโคลนสีแดง และเขียนลายสี
โบราณสถานต่อเนื่องสมัยประวัติศาสตร์
เมืองโบราณโนนเมือง อยู่ที่บ้านนาโพธิ ตำบลชุมแพ อำเภอชุมแพ เป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนโบราณที่มีการพัฒนาต่อเนื่อง
ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ประมาณ ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว ตลอดมาจนถึงสมัยทวาราวดี
ระยะนี้มีการขุดคูน้ำเป็นคูเมืองสร้างคันดินเป็นกำแพงเมือง เป็นขอบเขตเมืองสองวงซ้อนกัน
เมืองนี้ได้อยู่มาถึงสมัยลพบุรีจึงทิ้งร้างไปในที่สุด เมืองชั้นในรูปทรงค่อนข้างกลม
มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ ๔๒๐ เมตร เมืองชั้นนอกรูปทรงยาวรีมีเส้นผ่าศูนย์กลาง
ประมาณ ๖๐๐ เมตร มีเสมาหินทรายปักอยู่ในเมืองและพื้นที่โดยรอบ จากการขุดค้นพบว่า มีการฝังศพเป็นจำนวนค่อนข้างมาก
นับว่าเป็นโบราณสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดขอนแก่น
เมืองโบราณบ้านเมืองเพีย อยู่ที่บ้านเมืองเพีย ตำบลเมืองเพีย อำเภอบ้านไผ่ ลักษณะเมืองเป็นเนินดินรูปวงรี เส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ ๒ กิโลเมตร มีคูน้ำคันดินล้อมรอบสองชั้น
จากการสำรวจพบภาชนะบรรจุกระดูก แท่งหินบดยา แม่พิมพ์แหวนหรือกำไลดินเผา พระพุทธรูปปางสมาธิทำด้วยหินทราย
เครื่องมือเหล็ก เครื่องประดับสำริด ลูกปัดแก้ว และหิน บริเวณเมืองยังมีใบเสมาหินทรายทั้งแบบเรียบ
และแบบมีลวดลายหม้อน้ำ
เมืองโบราณชัยวาน อยู่ที่บ้านโพธิไชย ตำบลโพธิไชย กิ่งอำเภอโคกโพธิไชย ตัวเมืองมีรูปทรงเป็นวงรี ลักษณะเป็นเนินดินมีคูน้ำคันดินล้อมรอบ เส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ ๘๐๐ เมตร
ในบริเวณเมืองพบโบราณวัตถุเนื่องในพระพุทธศาสนาหลายประเภท และโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์บางส่วน
โบราณวัตถุที่สำคัญคือ พระเจ้าใหญ่พระพุทธรูปปางสมาธิทำด้วยหินทราย ได้พบกลุ่มเสมาอีกสามกลุ่ม กลุ่มแรกอยู่บริเวณใกล้กับพระเจ้าใหญ่ มีเสมาปักอยู่รอบเนินดินทั้งแปดทิศ กลุ่มที่สองเรียกว่าสิมมะลิอยู่หกหลัก กลุ่มที่สามอยู่บริเวณวัดป่ามีประมาณสิบกว่าหลัก
เมืองโบราณดงเมืองแอม อยู่ที่บ้านดงเมืองแอม ตำบลดงเมืองแอม อำเภอเขาสวนกวาง เป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย มีขนาดตามแนวตะวันออก-ตะวันตก
ประมาณ ๒,๔๐๐ เมตร มีผังเมืองเป็นเมืองแฝดสองวงต่อเนื่องกัน เมืองทางด้านทิศตะวันตกมีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน
เมืองทางด้านทิศตะวันออก มีรูปทรงวงรีแต่ด้านทิศใต้ขยายแผ่อ้อมไปทางทิศตะวันตก
พบศิลาจารึกของพระเจ้ามเหนทรวรมันเป็นจารึกบนแผ่นหินทราย จารึกด้วยภาษาสันสกฤต
อักษรปัลลวะ มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ข้อความกล่าวถึงพระนามมเหนทรวรมัน
กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรเจนละ พบร่องรอยการอยู่อาศัยมาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย
ซากโบราณสถานศิลาแลงในวัฒนธรรมลพบุรี
โบราณสถานสมัยวัฒนธรรมทวาราวดี
พระพุทธไสยาสน์ภูเวียง อยู่ที่บ้านโนนสะอาด ตำบลไชยสอ อำเภอชุมแพ เป็นประติมากรรมสลักบนหน้าผาเป็นรูปพระพุทธไสยาสน์ พระพุทธไสยาสน์องค์นี้สร้างตามพุทธศิลป์แบบทวาราวดี
ผสมผสานกับฝีมือช่างท้องถิ่นอีสานตามคตินิยมการสลักภาพพระพุทธรูปบนผาหินหรือผนังถ้ำ
ชาวขอนแก่นมีประเพณีปีนเขาขึ้นไปนมัสการองค์พระนอนนี้เป็นประจำทุกปี ในเดือนเมษายน
ชุมชนโบราณบ้านบัวสิมมา อยู่ที่บ้านบัวสิมมา ตำบลโนนอุดม อำเภอชุมแพ เป็นชุมชนโบราณในวัฒนธรรมทวาราวดี
อยู่ต่อเนื่องมาถึงสมัยวัฒนธรรมลพบุรี พบกลุ่มเสมาหินทรายปักกระจายเป็นวงภายในบริเวณวัดหนองสระพัง
มีขนาดต่าง ๆ กัน บางแผ่นสลักเป็นเสารองรับวงล้อพระธรรมจักรตามแบบศิลปะอินเดีย
บางแผ่นทำลวดลายแกนกลางเป็นสันรูปสถูปหินทรายแกะสลักเป็นเศียรนาคฝังจมทรายอยู่บริเวณเดียวกัน
นอกจากนี้บริเวณใกล้เคียงยังมีเนินดินที่พบโบราณวัตถุเป็นกลุ่ม ๆ อีก ๓ กลุ่ม
คือ
กลุ่มแรก ดอนปู่ตามีฐานรากโบราณสถานศิลาแลง สระน้ำโบราณ แลเสมาหินทรายสามแผ่นเคยพบพระพุทธรูปสำริด
และพระพุทธรูปหินอ่อนสีขาว
กลุ่มที่สอง อยู่ที่โนนกกแจงใกล้ดินปู่ตาพบเสมาสี่แผ่น
กลุ่มที่สาม ที่ดอนตาล พบร่องรอยโบราณสถานและเศษภาชนะดินเผาเล็กน้อย
หลักฐานที่พบในชุมชนโบราณบ้านบัวสิมมาแสดงให้เห็นว่าเป็นชุมชนที่มีขนาดใหญ่พอสมควร
มีพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แทนศาสนสถานอยู่หลายแห่ง และอาจเป็นการรวมกลุ่มกันของชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย
เพื่อพัฒนาระบบเป็นสังคมเมือง
เมืองโบราณบ้านท่ากระเสริม อยู่ที่บ้านท่ากระเสริม อำเภอน้ำพอง เป็นเมืองโบราณมีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ลักษณะเป็นเนินดินรูปวงรี กว้างประมาณ ๘๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๑,๐๐๐ เมตร ปัจจุบันคูเมืองแทบทุกด้านถูกทำลาย บริเวณกลางเนินดินเป็นที่ตั้งวัดป่า หรือวัดโนนเมืองเก่า ทางวัดได้นำเสมาที่พบบริเวณตัวเมืองมาปักล้อมรอบโบสถ์ใหม่
โบราณสถานสมัยวัฒนธรรมลพบุรี
ปราสาทเปือยน้อย อยู่ที่บ้านหัวขัว ตำบลเปือยน้อย อำเภอเปือยน้อย เป็นเทวสถานในศาสนาพราหมณ์
มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗ รูปแบบศิลปะแบบบาปวน นครวัดของขอม ประกอบด้วยกลุ่มปราสาทอิฐสามหลัง
ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงฐานเดียวกัน ทางมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้มีอาคารบรรณาลัยอยู่หนึ่งหลัง
ทั้งหมดมีกำแพงศิลาแลงล้อมรอบ มีซุ้มประตู (โคปุระ) ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
คือด้านทิศตะวันออก และทิศตะวันตก และมีคูน้ำรูปเกือกม้าล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง
ด้านหน้าสุดมีชาลาที่ยกระดับดินสูงกว่าเบื้องล่าง ถัดไปทางด้านทิศตะวันออกอีกฟากถนนมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ชื่อสระวงษ์
พบหินทรายสลักซึ่งเป็นส่วนประกอบอาคารที่สวยงาม หลายชิ้นเช่นทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์
หน้าบันของบรรณาลัยรูปอุมามเหศวร ทับหลังรูปคชลักษมี และพบจารึกที่กรอบประตูปราสาทประธาน
อักษรขอมโบราณภาษาสันสกฤต กล่าวถึงชื่อมุนีสุวันตยา และพระฤษีไวศัมปายนา การก่อสร้างและพิธีบูชายัญ
มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ พบแผ่นหินสลักรูปเทพพระเคราะห์และเทพผู้รักษาทิศ
ปราสาทเปือยน้อยขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๘ กำหนดขอบเขตโบราณสถาน
๘ ไร่ ๒ งาน ๕๒ ตารางวา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๕
กู่แก้ว อยู่ที่บ้านหัวสระ ตำบลดอนช้าง อำเภอเมือง ฯ เป็นโบราณสถานสำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดขอนแก่น
สร้างขึ้นเนื่องในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แห่งอาณาจักรขอม
มีอายุอยู่ประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๑๘ กู้แก้วเป็นศาสนสถานประจำโรงพยาบาลในสมัยนั้นที่เรียกว่าอโรคยาศาล
สร้างด้วยศิลาแลง และหินทรายประกอบด้วยปราสาทประธานทรงสี่เหลี่ยม มีมุขด้านข้างและบรรณาลัยเป็นอาคารสี่เหลี่ยมขนาดเล็กอยู่ที่มุมด้านหน้า
มีกำแพงศิลาแลงล้อมรอบโดยมีซุ้มประตู (โคปุระ) ทางด้านทิศตะวันตก นอกกำแพงด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีสระน้ำกรุขอบด้วยศิลาแลงหนึ่งสระ
กู่แก้วขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๕ และกำหนดขอบเขตโบราณสถาน
จำนวน ๒ ไร่ ๒ งาน ๑๔ ตารางวา จากการขุดแต่งได้พบโบราณวัตถุที่เป็นหลักฐานสำคัญหลายชิ้น
ได้แก่ ศิลาจารึกรูปเคารพศิลปะสมัยบายนของขอมมีอายุอยู่ประมาณ พุทธศตวรรษที่
๑๘ คือพระวัชรสัตว์ พระโพธิสัตว์วัชรปาณีทรงครุฑ และรูปเทพบนหลังสัตว์
กู่บ้านนาคำน้อย (กู่ประภาชัย) อยู่ที่บ้านนาคำน้อย ตำบลบัวใหญ่ อำเภอน้ำพอง เป็นศาสนสถานที่เรียกว่า อโรคยาศาล สร้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ มีปราสาทประธานสร้างด้วยศิลาแลง
๑ หลัง บรรณาลัย ๑ หลัง มีกำแพงศิลาแลงล้อมรอบ มีซุ้มประตู (โคปุระ) อยู่ทางด้านทิศตะวันออกด้านเดียว
นอกกำแพงด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีสระน้ำ กรุขอบด้วยศิลาแลงอยู่หนึ่งสระ
จะเห็นว่าองค์ประกอบของกู่บ้านนาคำน้อย กับกู่แก้วนั้นเหมือนกัน
กู่บ้านนาคำน้อยขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๘ และกำหนดขอบเขตโบราณสถานพื้นที่
๓ ไร่ ๒ งาน ๒๙ ตารางวา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๖
จากการขุดแต่ง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้พบโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก และหลายประเภทด้วยกันเช่น
เศียรพระวัชรสัตว์ ชิ้นส่วนจารึก และพระพุทธรูปบุเงิน - บุทอง เป็นต้น
โบราณสถานสมัยวัฒนธรรมล้านช้าง
รอยพระพุทธบาทหินลาด และแหล่งตัดหิน อยู่ที่บ้านหนองตับเต่า ตำบลป่าปอ อำเภอบ้านไผ่
บริเวณลานหินทรายทางด้านทิศเหนือของวัดป่า มีรอยพระพุทธบาทข้างซ้ายหนึ่งรอย
ยาว ๑๗๒ เซนติเมตร ปลายพระบาทกว้าง ๘๐ เซนติเมตร ส้นพระบาทกว้าง ๔๐ เซนติเมตร
มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ - ๒๓
ในบริเวณลานหินเดียวกันมีร่องรอยการสกัดหินไปใช้งานสองจุดด้วยกัน เป็นหินทรายสีแดง
รอยสกัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้างประมาณ ๖๕ - ๘๐ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๑๕๐ - ๑๘๐
เซนติเมตร ลักษณะเนื้อหินและขนาดใกล้เคียงกับหินทรายที่ใช้ก่อสร้างปราสาทเปือยน้อย
ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ ๑๒ กิโลเมตร
พระธาตุขามแก่น ตั้งอยู่ที่วัดเจติยภูมิ บ้านขาม ตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพอง
ถือว่าเป็นสัญลักษณ์สำคัญของจังหวัดขอนแก่น จากการศึกษาทางสถาปัตยกรรมพบว่าพระธาตุรูปแบบนี้น่าจะสืบทอดรูปทรงมาจากพระธาตุศรีสองรัก
ที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลยซึ่งสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ และพระเจ้าไชยเชษฐา
เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๒ แต่รูปทรงของเจดีย์องค์นี้ได้เปลี่ยนแปลงไปจากต้นแบบเดิมไปพอสมควร
รูปแบบที่เป็นอยู่ปัจจุบัน สันนิษฐานว่า มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๔ - ๒๕
พระธาตุขามแก่นขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๘ และกำหนดขอบเขตโบราณสถาน
พื้นที่ ๒ งาน ๖๒ ตารางวา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๐
ย่านประวัติศาสตร์
บ้านเมืองเก่า อยู่ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น อยู่ติดกับบึงแก่นนครด้านทิศตะวันตก เดิมชื่อบ้านโนนทองเคยเป็นที่ตั้งเมืองขอนแก่นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๔๐ - ๒๓๕๒
และครั้งที่ ๖ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๒ - ๒๔๕๐
บ้านโนนทัน
เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ก่อนเมืองขอนแก่น ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น
อยู่ติดกับบึงแก่นนครทางด้านทิศตะวันออก เคยเป็นที่ตั้งเมืองขอนแก่น เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๑ - ๒๔๒๔
บ้านดอนบม ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเทศบาลนครขอนแก่น ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๖
กิโลเมตร ติดกับแม่น้ำชีเคยเป็นที่ตั้งเมืองขอนแก่น เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๐ - ๒๔๓๔
บ้านทุ่ม
เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ก่อนตั้งเมืองขอนแก่น ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของเทศบาลนครขอนแก่น
อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๑๓ กิโลเมตร เคยเป็นที่ตั้งเมืองขอนแก่น เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๔ - ๒๔๔๒
ปากช่องภูเวียง
เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๙ เคยเป็นสมรภูมิระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพลาว
ซึ่งมีพระยานรินทร์เป็นแม่ทัพใหญ่ของเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ กองทัพลาวพ่ายแพ้
พระยานริทร์ถูกจับได้ และเสียชีวิต ณ ที่นี้ ชาวเมืองภูเวียงจึงตั้งศาลให้
ณ ตรงปากช่องแห่งนั้นให้ชื่อว่า ศาลเจ้าจอม
ภาษาและวรรณกรรม
ภาษา ในเขตจังหวัดขอนแก่นมีภาษาพูดที่แตกต่างกันออกไปตามสภาพท้องที่ ทุกหมู่บ้านสามารถเข้าใจภาษาไทยกลางได้เป็นอย่างดีทุกคน
มีภาษาเขียนเป็นของตนเอง คือตัวอักษรไทยน้อย และอักษรธรรม ในการเขียนอักษรไทยน้อย
และอักษรธรรมนั้น จะนำอักษรกาบ และอักษรสร้อยเข้ามาใช้ร่วมด้วยแต่เป็นส่วนน้อย
การเขียนจะเขียนลงบนใบลานเรียกว่าจาร เมื่อเขียนเสร็จจะใช้เชือกร้อยใบลานเข้าด้วยกัน
แล้วมัดไว้เป็นมัด ๆ มัดหนึ่งเรียกว่ผูกหนึ่ง
หนังสือใบลานในจังหวัดขอนแก่นมีชื่อเรียกอยู่สามลักษณะคือ
หนังสือลำ
คือ หนังสือที่จารึกเรื่องราวเรื่องเดียว แบ่งเป็นหลายผูก เช่น ลำแตงอ่อน
ลำผะเหวด
หนังสือผูก คือ หนังสือเรื่องเดียวในผูกเดียว เช่นหนังสือผูกเรื่องผาแดงนางไอ่
หนังสือผูกเรื่องจำปาสี่ต้น
หนังสือก้อม คือ หนังสือที่มีลักษณะสั้น ๆ ใช้จารึกประเภทคาถา ตำรา และวิธีการต่าง ๆ
ขนบธรรมเนียมประเพณี
คนขอนแก่นเดิมใช้ ฮีตคองและคะลำ เป็นสัญญาประชาคม ที่ทุกคนในสังคมต้องประพฤติปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
จึงทำให้สมาชิกในสังคมอยู่กันอย่างสงบสุข หากใครฝ่าฝืน เจ้าโคตร ซึ่งเป็นผู้อาวุโสสูงสุดในแต่ละตระกูล
จะเรียกผู้ฝ่าฝืนมาอบรมสั่งสอนให้อยู่ในฮีตในคอง ผู้ฝ่าฝืนจะยอดทำตามเจ้าโคตรว่ากล่าว
แล้วจัดดอกไม้เป็นขันห้า ขันแปด และเทียนเล่มบาทมาขอขมา หรือสมมา ต่อเจ้าโคตร
เป็นการแสดงถึงความสำนึกผิด ผู้เป็นเจ้าโคตรก็จะยกโทษให้
ฮีต มาจากจารีต ซึ่งมีที่มาของรากศัพท์จากภาษาบาลี หมายถึงประเพณีที่คนประพฤติสืบเนื่องกันมา ฮีตที่ชาวขอนแก่นยึดถือปฏิบัติคือ ฮีตที่สิบสอง ซึ่งเป็นงานบุญประจำเดือนทั้งสิบสองเดือนในรอบปี
นั่นก็คือประเพณีสิบสองเดือนนั่นเอง
ฮีตที่หนึ่ง ทำในเดือนอ้าย เรียกว่า บุญเข้ากำ คือการเข้าปริวาสกรรมของพระภิกษุผู้ต้องอาบัติในหมวดสังฆาทิเสส
ขณะที่ภิกษุเข้ากำ ชาวบ้านก็จะนำข้าวปลาอาหารไปถวายภิกษุเหล่านั้น เป็นการส่งเสริม
และให้กำลังใจแก่ผู้ที่สำนึกผิดเพื่อกลับตนเป็นคนดี
ฮีตที่สอง ทำในเดือนยี่ เรียกว่า บุญคูนลาน หรือบุญคูนข้าว ทำหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวและนวดข้าวเสร็จแล้ว มีการนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ แล้วเลี้ยงพระที่ลานนวดข้าว เสร็จแล้วพระภิกษุจะพรมน้ำพระพุทธมนต์ให้แก่กุ้มข้าว และผู้คนที่มาร่วมงาน จากนั้นเจ้าของนาก็จะนำน้ำพระพุทธมนต์ไปประพรมให้แก่
เครื่องมือที่ใช้ทำนา มีไถ คราด ตลอดจนวัวควายที่ใช้ไถนา เพื่อความเป็นสิริมงคล
และจะได้ผลผลิตเพิ่มพูนขึ้นในปีต่อไป
ฮีตที่สาม ทำในเดือนสาม เรียกว่า บุญข้าวจี่ เพื่อจะได้นำข้าวใหม่ที่ได้จากการทำนาในปีนั้น ไปถวายพระภิกษุสงฆ์ให้ฉันก่อน เพื่อให้ถูกต้องตามคอง ซึ่งคองมีข้อบัญญัติไว้ว่า
เมื่อได้ข้าวหรือผลไม้ออกลูกออกผลใหม่ ผู้เป็นเจ้าของต้องนำไปถวายพระภิกษุผู้ทรงศีล
ฉันก่อนตนเองเสมอ
ฮีตที่สี่ ทำในเดือนสี่ เรียกว่า บุญผะเหวด หรือบุญมหาชาติ เพื่อฟังเทศน์เรื่องเวสสันดรชาดกทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ให้จบในวันเดียว โดยเชื่อว่าผู้ใดปฏิบัติได้จะได้พบพระศรีอาริยเมตไตรย
ซึ่งจะเป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป
ฮีตที่ห้า ทำในเดือนห้า เรียกว่า บุญสงน้ำ เพื่อแสดงความกตัญญูรู้คุณ แก่ ปู่ ย่า ตายาย พ่อ แม่ และครูอาจารย์ โดยการนำน้ำหอมดอกไม้ และเทียนไปไหว้ และไปรดน้ำให้ท่าน หรือหาบน้ำไปให้ท่านอาบเรียกว่า สงน้ำ
ฮีตที่หก ทำในเดือนหก เรียกว่า บุญบั้งไฟ เพื่อให้ฝนตกตามฤดูกาล และมีปริมาณเพียงพอแก่การทำนาทำไร่
โดยเชื่อว่าถ้าจุดบั้งไฟขึ้นไปบนท้องฟ้า เพื่อบอกพระยาแถนแล้ว พระยาแถนจะสั่งให้ฝนตกลงมาทันฤดูกาลทำนา
ฮีตที่เจ็ด ทำในเดือนเจ็ด เรียกว่า บุญซำฮะ หรือบุญเบิกบ้าน เพื่อขับไล่สิ่งที่เป็นเสนียดจัญไรตลอดจนโรคภัยไข้เจ็บออกจากหมู่บ้า
ฮีตที่แปด ทำในเดือนแปด เรียกว่า บุญเข้าวัสสา หรือบุญเข้าพรรษา เพื่อนำเทียนและผ้าจำนำพรรษา ไปถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ให้มีใช้ตลอดเวลาสามเดือน ที่อยู่จำพรรษา
ฮีตที่เก้า ทำในเดือนเก้า เรียกว่า บุญข้าวประดับดิน ทำในคืนวันแรมสิบสี่ค่ำเพื่อนำห่อข้าว ซึ่งมีอาหารคาวหวาน หมากพลูบุหรี ไปวางไว้ให้ผีบรรพบุรุษ คือ ปู่ ย่า ตา ยาย
ญาติผู้ใหญ่ที่ถึงแก่กรรมแล้วนำไปกิน โดยเชื่อว่าในคืนเดือนเก้าดับนี้ ประตูนรกจะเปิด
ยมพบาลจะปล่อยให้ผีในเมืองนรกมาเยี่ยมญาติในโลกมนุษย์เพียงคืนเดียวเท่านั้น
ฮีตที่สิบ ทำในวันเพ็ญเดือนสิบ เรียกว่า บุญข้าวสาก ทำเพื่อให้ข้าวกล้าในนางอกงาม และได้ผลบริบูรณ์ และเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับไปแล้วโดยเชื่อว่า
ผีตาแฮก ซึ่งเป็นผู้ปกปักรักษาข้าวกล้าให้ได้ผลบริบูร์ต้องได้รับการเซ่นไหว้
ฮีตที่สิบเอ็ด ทำในวันเพ็ญเดือนสิบเอ็ด เรียกว่า บุญออกวัสสา หรือบุญออกพรรษา
เพื่อจุดประทีปโดยไฟ และไหลเฮือไฟ (ไหลเรือไฟ) การจุดประทีปนั้นชาวขอนแก่น เรียกว่า
ไต้ประทีป เพื่อเป็นการบูชาพระพุทธเจ้า ส่วนการไหลเฮือไฟนั้น เพื่อเป็นการบูชารอยพระพุทธบาท
ดังนั้นจึงจัดดอกไม้ ธูปเทียน ข้าวต้มมัด และขนมหวานใส่ลงไปในเฮือไฟ ก่อนจะปล่อยให้เฮือไฟไหลไปตามสายน้ำ
จะตั้งจิตอธิษฐานให้ความไม่ดีไม่งามตลอดจนโรคภัยไข้เจ็บออกจากตัวตน แล้วไหลล่องไปตามสายน้ำ
พร้อมเฮือไฟที่ปล่อยไป
ฮีตที่สิบสอง ทำในเดือนสิบสอง และต้องทำก่อนวันขึ้นสิบห้าค่ำ เรียกว่า บุญกฐิน เพื่อนำผ้าไตรจีวรไปถวายแก่ภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาครบสามเดือน ภิกษุนั้นจะได้มีไตรจีวรเปลี่ยนใหม่
และได้อานิสงฆ์โดยเชื่อว่า กฐิน เป็นงานบุญ ที่สำคัญยิ่งใครได้สร้างบุญกฐิน
ตายไปแล้วไม่ตกนรก
คอง คือ ข้อปฏิบัติ หรือข้องดเว้นของประชาชน ที่จะต้องประพฤติปฏิบัติตามตำแหน่งฐานะทางสังคม
คองมีลักษณะบังคับให้กระทำหรือให้งดเว้นการกระทำ ผู้ใดฝ่าฝืนต้องได้รับโทษ
คองจึงเปรียบเหมือนกฎหมายชาวบ้าน ที่ไม่มีการเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร คองมีอยู่สิบสี่ข้อเรียกว่า คองสิบสี่
มีดังนี้
คองที่หนึ่ง เมื่อได้ข้าวใหม่หรือผลไม้ที่มีลูกมีผลครั้งแรก ผู้เป็นเจ้าของต้องนำไปบริจาคทานให้ผู้มีศีลก่อน
แล้วตนเองจึงกินภายหลัง
คองที่สอง อย่าโกงตาชั่ง อย่าจ่ายเงินกู้ อย่าปลอมแปลงเงินตรา และอย่ากล่าวคำหยาบช้าด่าทอกัน
คองที่สาม ให้พร้อมกันทำรังวัดและรั้วบ้านตัวเอง
คองที่สี่ ให้ล้างเท้าก่อนขึ้นเรือนทุกครั้ง
คองที่ห้า ให้ขอขมาก้อนเส้า คีไฟ แม่บันได และประตูบ้านเรือนของตนทุกวันพระ
คองที่หก ให้ล้างเท้าก่อนเข้านอนทุกคืน
คองที่เจ็ด ให้ภริยาจัดขันห้า (คือ ดอกไม้ห้าคู่ และเทียนห้าคู่) ขอขมาสามีและพ่อแม่ของตนทุกวันพระ
คองที่แปด ทุกวันพระและวันแรมสิบสี่ สิบห้าค่ำ ซึ่งเป็นวันเดือนดับ ให้นิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์ และเลี้ยงพระที่บ้านของตน
คองที่เก้า เมื่อภิกษุมาบิณฑบาต อย่าปล่อยให้ท่านยืนคอย เวลาใส่บาตรอย่าให้ถือถูกบาตร
และถูกต้องตัวพระภิกษุสามเณร ขณะที่ใส่บาตรห้ามสวนรองเท้า กางร่ม อุ้มลูก
หรือเอาผ้าคลุมศีรษะ
คองที่สิบ เมื่อพระภิกษุอยู่ปริวาสกรรม ให้จัดดอกไม้ธูปเทียน และอัฐบริขารไปถวายท่าน
คองที่สิบเอ็ด เมื่อเห็นภิกษุเดินผ่านมา ให้นั่งลงยกมือไหว้ แล้วค่อยเจรจา
คองที่สิบสอง อย่าเหยียบเงาพระภิกษุผู้มีศีลบริสุทธิ์
คองที่สิบสาม อย่านำอาหารที่ตนหรือคนอื่นกินแล้ว ไปถวายภิกษุ หรือเก็บไว้ให้สามีตนกิน
คองที่สิบสี่ อย่าเสพกามคุณในวันศีล หรือวันพระ วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา
วันมหาสงกรานต์ และวัดเกิดของตน
คะลำ หมายถึง ข้อห้ามหรือของต้องห้าม ถ้าผู้ใดฝ่าฝืน จะนำโทษภัยมาสู่ตน และคนอื่นในสังคมเดียวกัน คำลำจะแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนในด้านต่าง ๆ ดังนี้
การแต่งกาย มีข้อคะลำดังนี้
๑. ห้ามนุ่งผ้าลอยชาย เดินผ่านหน้าเจ้าโคตร ตายาย เพราะไม่สุภาพ ไม่เคารพผู้ใหญ่
๒. ห้ามเอาชายผ้านุ่ง ผ้าห่มเช็ดหน้า
๓. ห้ามผู้เป็นภริยาแต่งกายอวดผู้อื่นในเวลาที่สามีไปค้าขายต่างถิ่น
การกิน มีข้อคะลำดังนี้
๑. ห้ามคนที่อยู่บ้านเรือนเดียวกันกินข้าวไม่พร้อมกัน
๒. ห้ามผู้น้อยกินก่อนผู้ใหญ่ และห้ามภริยากินก่อนสามี
๓. ห้ามผู้ใหญ่กินเดนผู้น้อย และห้ามสามีกินเดนภริยา
๔. ห้ามเปิดฝากล่องข้าวทิ้งไว้ และเก็บสำรับกับข้าว เมื่อกินข้าวอิ่มแล้ว
๕. ขณะกินอาหาร ห้ามอ้าปากกว้าง แลบลิ้น เลียปาก เลียมือ กินคำใหญ่ เคี้ยวอาหารเสียงดัง
กินไม่เป็นเวลา และไม่รู้จักประมาณในการกิน
๖. ห้ามถ่มน้ำลาย และสั่งน้ำมูกในขณะที่กินอาหาร
๗. ห้ามกินข้าวด้วยมือซ้าย และห้ามพูดจาหยอกล้อกันขณะกินอาหาร
การนั่ง มีข้อคะลำดังนี้
๑. ห้ามผู้น้อยนั่งสูงกว่าผู้ใหญ่
๒. ห้ามลูกสะใภ้ ลูกเขย นั่งสูงกว่าเจ้าโคตร ลุงตา
๓. ห้ามลูกสะใภ้ ลูกเขย นั่งไขว่ห้างต่อหน้าพ่อแม่ และญาติผู้ใหญ่ของตนเอง
และของอีกฝ่ายหนึ่ง
๔. ห้ามผู้หญิงนั่งขัดสมาธิ
๕. ห้ามนั่งขวางประตู ขวางบันได
๖. ห้ามนั่งท่ามกลางผู้เฒ่าผู้แก่
๗. ห้ามนั่งบนหมอน
๘. ห้ามนั่งบนหัวนอน
๙. ห้ามนั่งขัดสมาธิเวลาฟังธรรมเทศนา เวลากินข้าว และต่อหน้าเจ้าโคตร เวลาที่เจ้าโคตรสอนบอก
ให้นั่งพับเพียบ
การยืน มีข้อคะลำดังนี้
๑. เป็นผู้น้อยห้ามยืนใกล้ผู้มีอาวุโสกว่า
๒. เป็นลูกสะใภ้หรือลูกเขย ห้ามยืนใกล้ ปู่ ย่า พ่อตา แม่ยาย และเจ้าโคตร
ลุง ป้า
๓. ห้ามผู้หญิงยืนปัสสาวะ
๔. ห้ามผู้น้อยยืนเท้าสะเอว เอามือไขว้หลัง หรือเอามือล้วงกระเป๋า ขณะคุยกับผู้ใหญ่
๕. ห้ามยืนเหยียบเงา พระภิกษุ
การเดิน มีข้อคะลำดังนี้
๑. เป็นผู้น้อยห้ามเดินใกล้ผู้ใหญ่
๒. เป็นลูกสะใภ้ ลูกเขย ห้ามเดินใกล้เจ้าโคตร ลุง ตา
๓. เดินบนเรือนห้ามกระทืบเท้า ห้ามเดินลงส้น และห้ามเดินลากเท้า
๔. ห้ามภริยาเดินเอาผ้านุ่งหรือผ้าซิ่นปัดป่ายผัว
๕. ห้ามเดินนำหน้าพระภิกษุ และผู้มีอาวุโสกว่าตน
๖. เวลาเดินผ่านเจ้าโคตร ลุง ตา ห้ามนุ่งผ้าลอยชาย
การนอน มีข้อคะลำดังนี้
๑. ก่อนนอนต้องล้างเท้า
๒. ตื่นเช้าต้องล้างหน้า
๓. ไม่นอนหันศีรษะไปทางทิศตะวันตก
๔. ห้ามภริยานอนก่อนสามี และตื่นนอนหลังสามี
๕. ห้ามนำเอาเสื้อผ้าเก่ามาหนุนต่างหมอน
๖. ห้ามลูกสะใภ้ หรือลูกเขย นอนห้องเปิง ซึ่งเป็นห้องสำคัญที่สุดของบ้านที่จัดไว้สำหรับเป็นที่พักอาศัยของเจ้าโคตร
ลุง ตา และไว้หิ้งของรักษาเรือน
การพูด มีข้อคะลำดังนี้
๑. ต้องรู้จักที่ต่ำที่สูง และปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับสถานที่นั้น ๆ
๒. อย่าเย่อหยิ่ง อวดรู้
๓. สุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตนทุกโอกาส
๔. ไม่ด่าทอกระทบกระเทียบผู้อื่น
๕. ห้ามสามีภริยาทะเลาะด่าทอกัน และข่มเหงกัน