| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางธรรมชาติ

            จังหวัดลำปาง ได้กำหนดพื่นที่ป่าสงวนแห่งชาติไว้รวม ๓๓ ป่า มีพื้นที่ประมาณ ๕,๕๑๔,๐๐๐ ไร่ ประมาณร้อยละ ๗๐ ของพื้นที่จังหวัด มีอุทยานแห่งชาติ ๕ แห่ง และวนอุทยาน ๖ แห่ง
            กรมป่าไม้ได้จัดตั้งหน่วยพัฒนาต้นน้ำในเขตจังหวัดลำปางขึ้น ๔ หน่วย ได้แก่
            หน่วยปรับปรุงต้นแม่น้ำวัง หน่วยที่ ๑ (แม่เจ้าฟ้า)  อำเภอแจ้ห่ม และอำเภอเมือง ฯ มีพื้นที่ประมาณ ๑๓๖,๐๐๐ ไร่
            หน่วยปรับปรุงต้นน้ำ หน่วยที่ ๓ (แม่ห้อม)  อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย และอำเภอวังเหนือ มีพื้นที่ประมาณ ๑๐๒,๐๐๐ ไร่
            หน่วยพัฒนาต้นน้ำ หน่วยที่ ๓๔ (ขุนงาว)  อำเภองาว มีพื้นที่ประมาณ ๑๓๖,๐๐๐ ไร่
            โครงการพัฒนาป่าไม้ที่สูงหน่วยที่ ๗ (แม่เมาะ)  อำเภองาว พื้นที่ประมาณ ๙๐,๐๐๐ ไร่
อุทยานแห่งชาติ
            ในเขตจังหวัดลำปางมีอุทยานแห่งชาติ ๕ แห่งด้วยกัน รวมพื้นที่ประมาณ ๕๑๕,๐๐๐ ไร่ ดังนี้
            อุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย  มีพื้นที่ประมาณ ๑๖๘,๐๐๐ ไร่ เดิมเป็นป่าสงวนแห่งชาติแล้วประกาศทับซ้อนเป็นอุทยานแห่งชาติ เต็มพื้นที่ของป่าสงวนแห่งชาติจำนวน ๔ ป่า ได้แก่ ป่าสงวนแห่งชาติแม่จางใต้ฝั่งซ้าย ป่าสงวน ฯ แม่ทาน ป่าสงวน ฯ แม่เสิม - แม่ปา และป่าสงวน ฯ แม่จางฝั่งซ้าย มีพื้นที่บางส่วนของอุทยาน ฯ อยู่ในเขตจังหวัดแพร่
            อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน  มีพื้นที่ประมาณ ๓๓๑,๐๐๐ ไร่ ประกาศทับซ้อนป่าสงวนแห่งชาติ ๒ แห่งคือ ป่าสงวน ฯ แม่ตุ๋ยฝั่งขวา และป่าสงวน ฯ แม่สุกแม่สอย
            อุทยานแห่งชาติแม่ยม  มีพื้นที่ประมาณ ๘,๐๐๐ ไร่ ประกาศทับซ้อนเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่งาวฝั่งซ้าย และมีบางส่วนอยู่ในเขตจังหวัดแพร่
            อุทยานแห่งชาติดอยหลวง  มีพื้นที่ประมาณ ๑๘๗,๐๐๐ ไร่ ประกาศทับซ้อนเขตป่าสงวนแห่งชาติขุนวังแปลงที่ ๑,๒,๓ ป่าแม่โป่ง และป่าแม่งาวฝั่งซ้าย มีบางส่วนอยู่ในเขตจังหวัดพะเยา และเชียงราย
            อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล  มีพื้นที่ประมาณ ๑๒๐,๐๐๐ ไร่ เดิมเป็นป่าสงวนแห่งชาติ มีบางส่วนอยู่ในเขตจังหวัดลำพูน
            สำหรับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามีอยู่แห่งเดียว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขตดอยผาเมือง มีพื้นที่ประมาณ ๘๗,๐๐๐ ไร่ ประกาศทับซ้อนป่าสงวน ฯ ป่าแม่ยาว และมีบางส่วนอยู่ในเขตจังหวัดลำพูน
ภูเขาไฟลำปาง

            เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐ ได้มีการสำรวจร่องรอยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ บริเวณลุ่มแม่น้ำจางโดยสถาบันสแกนดิเนเวียน ได้พบว่าบริเวณดอยเกิด ซึ่งเป็นเขตติดต่อระหว่างจังหวัดลำปางกับจังหวัดแพร่ พบว่ามีร่องรอยลาวาจากภูเขาไฟ ต่อมาได้สำรวจพบปล่องภูเขาไฟสองปล่อง
            บริเวณภูเขาไฟลำปาง ปัจจุบันเรียกว่า ดอยจำปาแดด มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล ๖๓๐ เมตร เป็นภูเขาไฟที่ดับมาแล้ว ประมาณ ๖๔๐,๐๐๐ - ๗๐๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว ตั้งอยู่ทางด้านซ้ายมือทางเข้าแม่เมาะ
            ภูเขาไฟลำปาง นับว่าเป็นแหล่งธรรมชาติที่น่าสนใจ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจแห่งหนึ่งของจังหวัดลำปาง
            นอกจากนี้ ยังมีร่องรอยของภูเขาไฟอีกลูกหนึ่งในเขตอำเภอเถิน แต่ยังไม่มีรายละเอียดจากการสำรวจ
เหมืองแม่เมาะ

            เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ นายพลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน อธิบดีกรมรถไฟหลวง มีพระประสงค์จะสงวนป่าไม้ไว้ จึงโปรดให้มีการสำรวจหาเชื้อเพลิงอย่างอื่นมาใช้แทนฟืนสำหรับหัวรถจักรไอน้ำของรถไฟ ได้จ้างผู้เชี่ยวชาญชาวฝรั่งเศส มาดำเนินการสำรวจในระยะแรก และในปี พ.ศ.๒๔๖๔ - ๒๔๖๖ ได้ว่าจ้างชาวอเมริกันมาดำเนินการสำรวจต่อไป
            ในปี พ.ศ.๒๔๗๐ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการให้สงวนแหล่งถ่านหิน ที่มีอยู่ในประเทศไว้ เพื่อให้ทางราชการเท่านั้น เป็นผู้ดำเนินการ และห้ามให้ประทานบัตรการทำเหมืองแก่เอกชนอื่นใดอีกต่อไป
            การสำรวจถ่านหินลิกไนต์ แบบเป็นครั้งเป็นคราวไม่ต่อเนื่อง ได้ดำเนินไปจนถึงปี พ.ศ.๒๔๗๕ จึงได้ยุติชะงักลงเป็นเวลานาน จนถึงปี พ.ศ.๒๔๙๓ กรมโลหะกิจหรือกรมทรัพยากรธรณีในปัจจุบัน ได้รื้อฟื้นโครงการสำรวจถ่านหินลิกไนต์ขึ้นมาดำเนินการอีก ในการนี้องค์การบริหารความมั่นคงร่วมกับ (M.S.A.) หรือต่อมาเป็นยูซอม (USOM) แห่งสหรัฐอเมริกา ได้ให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการและการเงิน การสำรวจแหล่งถ่านหินลิกไนต์ที่แม่เมาะได้เริ่มขึ้นอีกในระหว่างปี พ.ศ.๒๔๙๓ - ๒๔๙๖ ได้พบแหล่งถ่านหินลิกไนต์มีแนวชั้นติดต่อกัน ยาวไปตามลำห้วยในแอ่งแม่เมาะ ประมาณว่ามีถ่านหินลิกไนต์ในเบื้องต้นที่แม่เมาะจำนวน ๑๔ ล้านตัน และคาดว่าจะพบเพิ่มถึง ๑๒๐ ล้านตัน
            ในปี พ.ศ.๒๔๙๗ ได้ตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การพลังงานไฟฟ้าลิกไนต์ ได้เปิดการทำเหมืองแม่เมาะ โดยเปิดหน้าดินก่อนแล้วจึงขุดถ่านลิกไนต์ในปี พ.ศ.๒๔๙๘ เริ่มผลิตถ่านลิกไนต์จากเหมืองแม่เมาะ ออกจำหน่ายให้แก่โรงบ่มใบยาสูบในภาคเหนือ โรงงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่นครราชสีมา โรงปูนซีเมนต์ของบริษัทชลประทานซีเมนต์จำกัดที่ตาคลี นครสวรรค์ โรงไฟฟ้าวัดเลียบ และโรงไฟฟ้าสามเสนของการไฟฟ้านครหลวง (กทม.) การดำเนินการเจาะสำรวจหาปริมาณถ่านลิกไนต์พบว่า ที่แม่เมาะมีถ่านลิกไนต์ อยู่ประมาณ ๑๒๐ ล้านตัน และสามารถขุดขึ้นมาใช้งานได้คุ้มค่า ๔๓.๖ ล้านตัน
            ในปี พ.ศ.๒๔๙๙ ผลิตถ่านลิกไนต์ได้ ๑๒๐,๐๐๐ ตัน (เทียบกับไม้ฟืน ๓๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร เท่ากับต้นไม้ที่ใช้ทำฟืน ๓ - ๖ แสนตัน ซึ่งจะต้องตัดไม้จากป่าปีละประมาณ ๓๐,๐๐๐ ไร่ หรือเท่ากับน้ำมันเตา ๓๕ ล้านลิตร)
            พ.ศ.๒๕๐๓ รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งการลิกไนต์ โดยได้โอนกิจการ และทรัพย์สินขององค์การพลังงานไฟฟ้า มาเป็นของการลิกไนต์ การลิกไนต์ได้ดำเนินการเหมืองแม่เมาะเรื่อยมา และขยายงานออกไปตามลำดับ
            การดำเนินงานตามโครงการเหมืองแม่เมาะได้เริ่มตั้งแต่ ปี พ.ศ๒๕๑๖

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |