| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา | |
โบราณสถานและโบราณวัตถุของจังหวัดลำปางที่เป็นวัดและวัตถุที่ทรงคุณค่าทางศิลปกรรม
ที่ทางวัดสะสมไว้มีอยู่เป็นจำนวนมาก โบราณวัตถุดังกล่าวปรากฏอยู่ในรูปของประติมากรรมที่เป็นงานปั้น
แกะสลัก งานโลหะบางชิ้นอยู่ในลักษณะของงานช่างฝีมือ งานช่างไม้ งานจิตรกรรม
งานช่างปูน และเครื่องเขินโบราณ วัตถุเหล่านี้มีลักษณะเฉพาะของท้องถิ่นลำปาง
บางชิ้นเป็นงานศิลปะฝีมือสกุลช่างโบราณระดับช่างหลวง บางส่วนเป็นงานที่สะท้อนลักษณะพื้นบ้าน
ศิลปะวัตถุ หรือโบราณวัตถุเหล่านี้ประกอบด้วยพระพุทธรูป ซึ่งมีทั้งงานโลหะงานแกะสลัก
และพระพุทธรูปปูนปั้น นอกจากนี้จะเป็นศิลปวัตถุอันเนื่องมาจากศาสนา เช่น ธรรมมาสน์
ตู้พระธรรม หีบพระธรรม ขันเหลี่ยม ขันแก้วทั้งสาม เสลี่ยง จองเปิก ปราสาทหรือวิหารจำลอง
ปราสาทหอสรง อาสนะ มณฑปพระพุทธรูป ซุ้งโขง เครื่องราชกกุธภัณฑ์ (เครื่องบวชพระเจ้า)
นาคทัณฑ์ (หูช้าง) และยังมีโบราณวัตถุ ซึ่งเป็นสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ อีกหลายประเภท
ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุของชาติแล้ว ตั้งแต่
ปี พ.ศ.๒๕๒๗ - ๒๕๓๖ แต่ยังมีอีกหลายส่วนที่ยังไม่ได้ประกาศขึ้นทะเบียน และในส่วนที่ประกาศขึ้นทะเบียนแล้ว
ยังไม่มีการเก็บรักษาที่เหมาะสม
โบราณสถานของจังหวัดลำปา ส่วนใหญ่เป็นวัดต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งยังมีสภาพเป็นวัด
และที่เป็นวัดร้าง บางแห่งได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ
ในส่วนของวัดร้างมีอยู่ทั่วไปในบริเวณเมืองเขลางค์เก่าฝั่งตำบลเวียงเหนือ
ส่วนใหญ่เหลืออยู่เพียงกองอิฐ ไม่ปรากฏลักษณะเดิมให้เห็น ที่ยังพอเห็นรูปร่างอยู่บ้างได้แก่วัดกากแก้ว
วัดอุโมงค์ วัดป่าพร้าว วัดหมื่นครื้น
ศาสนสถานสำคัญของนครลำปาง
วัดพระธาตุลำปางหลวง
วัดพระธาตุลำปางหลวง ตั้งอยู่ในเขตตำบลลำปางหลวง อำเภอเกาะคา อยู่ห่างจากตัวเมืองลำปางไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ
๑๘ กิโลเมตร ตัววัดตั้งอยู่บนเนินสูง มีการจัดวางผัง และส่วนประกอบของวัดสมบูรณ์แบบที่สุด
มีสิ่งก่อสร้าง และสถาปัตยกรรมต่าง ๆ บริเวณพุทธาวาสประกอบด้วย องค์พระธาตุลำปางหลวง
เป็นประธาน มีบันไดนาคนำขึ้นไปสู่ซุ้มประตูโขง ถัดซุ้มประตูโขงขึ้นไปเป็น
วิหารหลวง บริเวณทิศเหนือขององค์พระธาตุมีวิหารบริวารตั้งอยู่คือ
วิหารน้ำแต้ม
และ วิหารต้นแก้ว
ด้านตะวันตกขององค์พระธาตุประกอบด้วย วิหารละโว้
และ หอพระพุทธบาท
ด้านใต้มี วิหารพระพุทธ
และ อุโบสถ ทั้งหมดนี้จะแวดล้อมด้วยแนวกำแพงแก้วทั้งสี่ด้าน
นอกกำแพงแก้วด้านใต้มีประตูที่จะนำไปสู่เขตสังฆาวาส ซึ่งประกอบด้วยอาคาร
หอพระไตรปิฎก กุฏิประดิษฐาน
พระแก้วดอนเต้า อาคารพิพิธภัณฑ์และกุฏิสงฆ์
ประวัติพระธาตุลำปางหลวง ตามตำนานกล่าวว่า ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระเถระสามองค์ได้เสด็จจาริกไปตามบ้านเมืองต่าง
ๆ จนถึงบ้านสัมภะการีวัน (บ้านลำปางหลวง)
พระพุทธเจ้าได้ประทับเหนือดอยม่อนน้อย
มีชาวลัวะคนหนึ่งชื่อ ลัวะอ้ายกอน
เกิดความเลื่อมใส ได้นำน้ำผึ้งบรรจุกระบอกไม้ป้างมะพร้าว และมะตูมมาถวายพระพุทธเจ้า
พระพุทธองค์ได้ฉันน้ำผึ้งแล้วทิ้งกระบอกไม้ป้างไปทางทิศเหนือ แล้วทรงพยากรณ์ว่า
สถานที่แห่งนี้ต่อไปจะมีชื่อว่าลัมพกัปปะนคร แล้วได้ทรงลูบพระเศียรได้พระเกศามาหนึ่งเส้น
มอบให้แก่ลัวะอ้ายกอน ลัวะอ้ายกอนได้นำพระเกศานั้น บรรจุในผอบทองคำ และใส่ลงในอุโมงค์พร้อมกับถวายแก้วแหวนเงินทองเป็นเครื่องบูชา
แล้วแต่งยนต์ผัด (ยนต์หมุน) รักษาไว้ และถมดินให้เรียบเสมอกัน แล้วก่อเป็นพระเจดีย์สูงเจ็ดศอกเหนืออุโมงค์นั้น
ในสมัยต่อมาก็ได้มีกษัตริย์อีกหลายพระองค์ มาก่อสร้างและบูรณซ่อมแซม จนกระทั่งเป็นวัดที่มีความงามอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ในทางประวัติศาสตร์นครลำปาง วัดพระธาตุลำปางหลวงมีประวัติว่า เมื่อปี พ.ศ.๒๒๗๕
นครลำปางว่างจากผู้ครองนคร และเกิดความวุ่นวายขึ้น ท้าวมหายศจากนครลำพูนได้ยกกำลังมายึดนครลำปาง
โดยได้มาตั้งค่ายอยู่ภายในวัดพระธาตุลำปางหลวง ครั้งนั้น หนานทิพย์ช้างวีรบุรุษของชาวลำปาง
ได้ทำการต่อสู้โดยลอบเข้ามาในวัด และใช้ปืนยิงท้าวมหายศตาย แล้วตีทัพลำพูนแตกพ่ายไป
ปัจจุบันยังปรากฏรอยลูกปืนอยู่บนรั้วทองเหลืองที่ล้อมองค์พระธาตุเจดีย์ ต่อมาหนานทิพย์ช้างได้รับสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าสุลวะลือไชยสงคราม
เจ้าผู้ครองนครลำปาง เป็นต้นตระกูล ณ ลำปาง เชื้อเจ็ดตน ณ เชียงใหม่ ณ ลำพูน
วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นโบราณสถานสำคัญ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณซากเมืองโบราณลัมพกัปปะนคร
ตามประวัติพระนางจามเทวีเคยเสด็จมานมัสการ และทำการบูรณะซ่อมแซมอยู่เสมอ นับว่าเป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณกาล
มีความสวยงาม และมีความยอดเยี่ยมทั้งสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และจิตรกรรม
เป็นที่ประดิษฐาน พระแก้วมรกต
ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวลำปาง และชาวพุทธทั่วไป
ประตูโขง
เป็นฝีมือช่างหลวงโบราณที่สวยงามก่ออิฐถือปูนทำเป็นซุ้มยอดแหลมเป็นชั้น ๆ
มีสี่ทิศ ประดับตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น รูปดอกไม้ และสัตว์ในหิมพานต์ ประตูโขงแห่งนี้ใช้เป็นสัญลักษณ์เมืองลำปางในตราจังหวัดลำปาง
วิหารหลวง
เป็นวิหารประธานของวัด ตั้งอยู่บนแนวเดียวกับประตูโขง และองค์พระธาตุเจดีย์
เป็นวิหารจั่วรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทรงวิหารโล่งตามแบบล้านนายุคแรก หลังคาจั่วซ้อนกันเป็นชั้น
ๆ ภายในวิหารบรรจุมณฑปพระเจ้าล้านทอง ด้านในของแนวคอสอง มีภาพเขียนสีโบราณเรื่องชาดก
องค์พระธาตุเจดีย์
เป็นเจดีย์ล้านนาผสมเจดีย์ทรงลังกา ก่ออิฐถือปูน ประกอบด้วยฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมด้วยบัวมาลัยสามชั้น
เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่หุ้มด้วยแผ่นทองเหลือง ฉลุลายหรือที่เรียกว่าทองจังโก ตามตำนานกล่าวว่าเป็นบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
วิหารน้ำแต้ม
เป็นวิหารบริวารตั้งอยู่ทางทิศเหนือขององค์พระธาตุเจดีย์ เป็นวิหารเครื่องไม้สี่เหลี่ยมผืนผ้า
รูปร่างและสัดส่วนงดงาม ภายในคอสองมีภาพเขียนสีโบราณที่เก่าแก่ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริด
ขนาดหน้าตักกว้าง ๔๕ นิ้ว
หอพระพุทธ
เป็นสถาปัตยกรรมก่ออิฐทรงสี่เหลี่ยม ฐานเจดีย์สร้างครอบรอยพระพุทธบาทไว้ สร้างขึ้นสมัยเจ้าหาญแต่ท้อง
เมื่อปี พ.ศ.๑๙๙๒
วิหารพระพุทธ
สร้างขึ้นคู่กับวิหารน้ำแต้ม สันนิษฐานว่าเดิมคงเป็นวิหารโล่ง ได้มีการบูรณะซ่อมแซมภายหลัง
ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง ๔๐ นิ้ว เป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะ
และส่วนสัดที่งดงามมาก
บันไดทางขึ้นด้านหน้าออกแบบเป็นรูปมังกรคายพญานาคทั้งสองข้างบันได เชิงบันไดมีรูปสิงห์ปูนปั้นขนาดใหญ่สองตัว
สร้างในสมัยเจ้าหอคำดวงทิพย์ เจ้าผู้ครองนครลำปาง เมื่อประมาณ ปี พ.ศ.๒๓๓๑
วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม
วัดพระแก้ว ฯ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำวัง ในเขตตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมือง ฯ บริเวณที่ตั้งวัดเป็นเนินดินสูงขนาดใหญ่
แต่เดิมวัดพระแก้วดอนเต้ากับวัดสุชาดารามเป็นคนละวัด แต่ตั้งอยู่ติดกัน ต่อมาภายหลังได้มีประกาศของกระทรวงศึกษาธิการให้ทั้งสองวัดเป็นวัดเดียวกัน
จึงได้มีการรื้อกำแพงกั้นเขตวัดออก
วัดพระแก้วดอนเต้า เป็นวัดเก่าแก่มีประวัติความเป็นมามากกว่า ๕๐๐ ปี เคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวว่า พระเจ้าสามฝั่งแกนเจ้าเมืองเชียงใหม่
ได้จัดขบวนช้างไปรับพระแก้วมรกตจากเชียงราย เพื่อจะอัญเชิญมาประดิษฐานยังนครเชียงใหม่
ครั้นถึงทางแยกเมืองนครลำปาง ช้างก็ตื่นวิ่งเข้าไปในนครลำปาง ในที่สุดพระเจ้าสามฝั่งแกนต้องยินยอมให้พระแก้วมรกต
ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระแก้วดอนเต้าเป็นเวลาถึง ๓๒ ปี ต่อจากนั้นจึงอัญเชิญไปประดิษฐานยังเมืองเชียงใหม่
ต่อมาพระเจ้าไชยเชษฐาซึ่งเคยมาครองเมืองเชียงใหม่ได้กลับไปครองเมืองหลวงพระบาง
จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไป และได้นำไปประดิษฐานอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์ ต่อเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ขณะเมื่อทรงเป็นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก
ยกทัพไปตีหัวเมืองลาวจนถึงเวียงจันทน์ จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตจากเวียงจันทน์มาประดิษฐานที่กรุงธนบุรี
ต่อมาเมื่อได้สถาปนากรุงเทพ ฯ เป็นเมืองหลวง จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
จนตราบเท่าทุกวันนี้
วัดสุชาดาราม ตามประวัติกล่าวว่า คือบริเวณที่ตั้งบ้านของนางสุชาดา
อุบาสิกาผู้หนึ่งของวัดพระแก้ว ฯ ที่ได้นำแตงโมลูกหนึ่งไปถวายพระเถระที่วัดพระแก้ว
ฯ ครั้นผ่าแตงโมลูกนั้นออก ก็พบว่ามีมรกตอยู่ข้างใน พระเถระรูปนั้นจึงจ้างช่างให้นำมรกตนั้นไปแกะสลักเป็นพระพุทธรูป
เรียกว่า พระแก้วดอนเต้า
ต่อมาได้มีผู้ไปฟ้องเจ้าเมืองลำปางในขณะนั้นว่า พระเถระและนางสุชาดาเป็นชู้กัน
เจ้าเมืองลำปางจึงให้จับนางสุชาดาไปประหารชีวิต ส่วนพระเถระองค์นั้นทราบข่าวก็ได้อัญเชิญพระพุทธรูปหนีไป
โดยได้นำไปฝากไว้ที่วัดพระธาตุลำปางหลวงจนถึงปัจจุบัน ส่วนสถานที่ตั้งบ้านของนางสุชาดาก็ได้มีผู้มีจิตศรัทธาในคุณงามความดีของนาง
บริจาคเงินสร้างวัดขึ้นชื่อวัดสุชาดาราม
วัดพระแก้ว ฯ มีพระเจดีย์ใหญ่ทรงล้านนา มีมณฑปยอดปราสาทแบบพม่าที่ประณีตงดงาม
มีพระวิหารทรงล้านนาที่มีรูปทรงงดงาม มีลวดลายแกะสลักไม้ที่บานหน้าต่าง ข้างในมีจิตรกรรมฝาผนังที่มีคุณค่าทางศิลปะ
และประวัติศาสตร์ มีพระอุโบสถทรงล้านนาขนาดกะทัดลัด มีสัดส่วนสวยงาม วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดารามได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๐
ลักษณะทั่วไปของวัดพระแก้ว ฯ เป็นวัดขนาดใหญ่มีผังวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยม พระวิหารหันหน้าไปทางทิศตะวันออก
มีพระเจดีย์ใหญ่อยู่หลังวิหาร สถาปัตยกรรมหลักของวัดล้านนาโดยทั่วไป ประตูโขงและพระวิหารหลวงถูกรื้อทิ้งแล้ว
เหลือเพียงพระเจดีย์ล้านนาขนาดใหญ่หนึ่งองค์ วิหารพระนอน และมณฑปยอดปราสาทศิลปแบบพม่าสร้างขึ้นในสมัยหลัง
ส่วนวัดสุชาดารามนั้นมีพื้นที่น้อย วิหารหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เจดีย์อยู่หลังวิหาร
เจดีย์
เป็นเจดีย์ทรงลังกาสุโขทัยผสมล้านนา ฐานสูงต่อมุมลดชั้นสูงกว่าปกติ ต่อตัวบัวมาลัยปล้องไฉนบนยอดระฆังมีขนาดใหญ่
ทำให้สัดส่วนของเจดีย์มีลักษณะมั่นคงแข็งแรง องค์ระฆังและปล้องไฉนหุ้มแผ่นทองจังโก
มณฑปปราสาทพม่า
อยู่ทางทิศใต้ขององค์เจดีย์ เป็นมณฑปหลังคายอดศิลบะพม่า ประดับลวดลายไม้ และแผ่นแกะสลักฝีมือละเอียดมาก
ภายในมณฑปเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทอง ประดับกระจกสีวิจิตรพิสดารมาก
โบสถ์วัดสุชาดาราม
เป็นโบสถ์ขนาดเล็กออกแบบเป็นลายยกพื้นสูง เป็นโบสถ์แบบปิดมีผนังล้อมรอบ มีโถงอยู่ส่วนหน้าของโบสถ์สัดส่วนสวยงาม
ภาพจิตรกรรมฝาผนังกล่าวถึงโทษที่ได้รับจากการทำบาปตามคติความเชื่อของชาวบ้าน
วัดพระธาตุเสด็จ
วัดที่เชื่อกันว่ามีพระบรมสารีริกธาตุ ในจังหวัดลำปางมีอยู่เพียงสองวัดคือ
วัดพระธาตุลำปางหลวง กับวัดพระธาตุเสด็จ วัดพระธาตุเสด็จเป็นวัดเก่าแก่อยู่ที่บ้านท่าเสด็จ
ตำบลบ้านแลง อำเภอเมือง ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตัวเมืองลำปาง ประมาณ
๑๗ กิโลเมตร ตัววัดตั้งอยู่ในที่ราบกว้างริมฝั่งแม่น้ำวัง ประกอบด้วยสถาปัตยกรรมสามอย่างคือ
ซุ้มประตูโขง วิหาร และเจดีย์
ตามพงศาวดารโยนกกล่าวว่า พระนางจามเทวีได้เสด็จมาเยี่ยมราชบุตรคือ เจ้าอนันตยศ
ซึ่งมาครองเมืองลำปางในขณะนั้น และได้เสด็จไปสักการะบูชาพระบรมสารีริกธาตุ
ที่ตำบลดอนปละหลวง ซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน พระธาตุเสด็จ
ครั้นสักการะแล้วพระบรมธาตุได้แสดงปาฏิหาริย์ แผ่ฉัพพรรณรังสีโชติช่วงสุกใสเป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก
นับแต่นั้นมาจึงเรียกว่าวัดพระธาตุเสด็จ
วัดพระธาตุเสด็จได้ก่อสร้าง และบูรณะจากเจ้าเมืองลำปางหลายองค์ ในพงศาวดารหอคำ
และตำนานเจ้าเจ็ดตน ได้กล่าวถึงเจ้าหอคำดวงทิพย์ ทรงบูรณะวัดพระธาตุเสด็จโดยร่วมมือกับราษฎร
รวบรวมเหรียญทอง ทองแดง มาบูรณะรอบรอยร้าวขององค์พระธาตุเสด็จ แล้วบุใหม่ด้วยทองจังโก
สร้างกำแพงและสร้างวิหารหลังใหญ่ สร้างพระพุทธรูป สร้างศาลาหลังใหญ่
ปัจจุบันวัดพระธาตุเสด็จ มีสถาปัตยกรรมเหลืออยู่เพียงวิหารสองหลัง และองค์พระธาตุเจดีย์
ส่วนซุ้มประตู และวิหารหลวงถูกรื้อและปฏิสังขรณ์ใหม่ จนไม่เหลือลักษณะเดิมให้เห็น
ที่คงเหลืออยู่คือ
วิหารสุวรรณโคมคำ
เป็นวิหารเครื่องไม้หลังคาจั่วฐานเตี้ยตามแบบของวิหารล้านนาสกุลช่างลำปาง
ลักษณะวิหารมีผนังปิดล้อมทำหน้าต่าง ไม่มีการประดับตกแต่งมากนัก มีการซ่อมแซมเปลี่ยนป้านลมเป็นคอนกรีต
และหล่อคอนกรีตรับฐานเสาเนื่องจากผุพังมาก แต่ยังคงลักษณะรูปทรง และสีคล้ายของเดิม
ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำ ปางสมาธิหน้าตักกว้าง ๔๐ นิ้ว
เจดีย์ เป็นเจดีย์เก่าแก่ ลักษณะแบบเจดีย์ล้านนาโดยทั่วไปคือ มีฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมสูง
มีบัวมาลัยองค์ระฆัง และปล้องไฉนหุ้มทองคำจังโกทั้งองค์ ดูสวยงามสุกอร่ามมองเห็นแต่ไกล
วัดพระเจดีย์ซาวหลัง
วัดพระเจดีย์ซาวหลังตั้งอยู่ที่บ้านวังหม้อ ตำบลต้นธงชัย อำเภอเมือง ฯ ได้รับพระราชทานเป็นพระอารามหลวงประเภทสามัญชั้นตรี
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๐
จากประวัติมีว่า เมื่อ ๕๐๐ ปี หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
มีพระอรหันต์จากอินเดียสองรูป ได้จาริกเผยแผ่พระพุทธศาสนามาถึงยังบริเวณนี้
เห็นสถานที่เงียบสงบเหมาะที่จะบำเพ็ญธรรม จึงใช้เป็นที่พำนักอาศัยปฏิบัติวิปัสนา
และอบรมสั่งสอนพุทธศาสนิกชนในละแวกนั้น จนมีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น
ในครั้งนั้นพญามิลินทรผู้แตกฉานในหลักธรรม ได้มาสนทนาซักถามปัญหาธรรมกับพระอรหันต์เถระทั้งสองรูป
และมีความประสงค์จะทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา พระอรหันต์ทั้งสองรูปได้ใช้มือลูบศีรษะ
มีเส้นเกศาติดมือมารูปละสิบเส้น แล้วมอบให้พญามิลินทร พญามิลินทรได้สร้างเจดีย์ขึ้นยี่สิบองค์
แล้วนำเอาเส้นเกศาบรรจุในเจดีย์องค์ละเส้น ต่อมาคนทั้งหลายจึงเรียกวัดนี้ว่า
วัดเจดีย์ซาวหลัง เจดีย์ทั้งยี่สิบหลังนี้ ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ในสมัยของเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต
เจ้าผู้ครองนครลำปางเสร็จเรียบร้อย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๖
ลักษณะการก่อสร้างเป็นศิลปะแบบพม่าผสมศิลปะล้านนา องค์ใหญ่สุดอยู่ตรงกลาง
แวดล้อมด้วยเจดีย์อีกสิบเก้าองค์ ด้านหน้าของเจดีย์แต่ละองค์ทำเป็นซุ้ม มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ข้างใน
วัดแสงเมืองมา
วัดแสงเมืองมาตั้งอยู่ในเขตตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมืองในบริเวณเมืองเก่าเขลางค์นคร
วัดนี้ไม่มีหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด จากหลักฐานที่เหลือคือ ฐานชุกชีที่โผล่ยื่นออกไปด้านหลังวิหาร
สันนิษฐานว่าสร้างมานานหลายร้อยปี อาจจะสร้างในสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกน ประมาณพุทธศตวรรษที่
๒๐ เจดีย์ที่อยู่ด้านหลังวิหารเป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม ฐานบัวลูกแก้วย่อมุม
ซึ่งเป็นลักษณะเจดีย์แบบล้านนาผสมพุกาม
วัดแสงเมืองมาได้ชื่อว่าเป็นวัดเค้า คือเป็นวัดเริ่มแรก งานประเพณีตานก๋วยสลากของวัดในเขตนครเขลางค์
จะต้องให้วัดแสงเมืองมากิ๋นสลากก่อนวัดอื่น หรือแม้แต่การลงโบสถ์ (สวดปาฏิโมกข์)
ของพระสงฆ์ในตำบลเวียงเหนือ ก็ต้องมาลงโบสถ์ที่วัดนี้ก่อน
วิหาร
เป็นวิหารทรงสูง ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศเหนือ มีบันไดด้านหน้า
ตกแต่งด้วยประติมากรรมรูปปั้นระบายสี ตกแต่งภายนอกด้วยลวดลายวิจิตรพิสดาร
แกะด้วยไม้แกะสลักประดับโลหะ และลายฉลุลงรักปิดทอง พระประธานในวิหารเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย
ลงรักปิดทองด้านบนของผนังวิหารทั้งสี่ด้านสร้างด้วยไม้ มีภาพจิตรกรรมสีฝุ่นเขียนบนแผ่นไม้
เจดีย์
เป็นลักษณะเจดีย์ที่ไม่ค่อยได้พบเห็นในลำปาง แต่ปรากฏในจังหวัดแพร่ รอบองค์เจดีย์มีกำแพงเตี้ย
ๆ ล้อมรอบมีทางเข้าเจดีย์สองด้าน ฐานล่างของเจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส
มีรูปสิงห์ปูนปั้นประดับสี่มุม ฐานรองรับองค์ระฆัง และระฆังเป็นทรงแปดเหลี่ยมส่วนต่อยอดเป็นทรงกลม
ยอดฉัตรของเจดีย์เป็นโลหะฉลุลาย
วัดบุญวาทย์วิหาร
วัดบุญวาทย์ ฯ ตั้งอยู่ที่ถนนบุญวาทย์ ตำบลหัวเวียง อำเภอเมือง ฯ เป็นวัดที่มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่
และเป็นวัดหลวงวัดแรกของจังหวัดลำปาง เป็นวัดที่มีพื้นที่แคบมาก เดิมชื่อวัดกลางเมือง
เป็นวัดที่ใช้ประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของเจ้านายมาแต่โบราณ ต่อมาเมื่อปี
พ.ศ.๒๓๔๗ สมัยเจ้าหลวงคำโสมผู้ครองนครลำปางได้รื้อวิหารหลังเก่าแล้วสร้างใหม่
และเปลี่ยนชื่อเป็นวัดหลวงไชยสัณฐาน ต่อมาเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปาง
เห็นความทรุดโทรมลงมากจึงรื้อแล้วสร้างใหม่ และให้หล่อพระประธานองค์ใหม่คือ
พระเจ้าตนหลวง
แล้วเปลี่ยนชื่อวัดใหม่ว่า วัดบุญวาทย์บำรุง
ในปี พ.ศ.๒๔๕๘ วัดบุญวาทย์ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงสามัญชั้นตรี
และได้รับพระราชทานนามใหม่ว่าวัดบุญวาทย์วิหาร
วิหารหลวง สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๕ มีลักษณะเป็นอาคารทึบ หลังคาจั่วฐานสูงกว่าวิหารล้านนา
ซึ่งได้รับแบบจากวิหารในกรุงเทพ ฯ ตกแต่งภายในด้วยลายไทยภาคกลาง เหลือร่องรอยศิลปะล้านนาอยู่เพียงบางส่วน
เช่น ตุงกระด้าง และค้ำยันซึ่งสันนิษฐานว่าคงจะนำมาจากวิหารหลังเดิม
วัดปงสนุก
วัดปงสนุก ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านปงสนุก ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมือง ฯ ประกอบด้วยวัดแฝดสองวัด
คือ วัดปงสนุกด้านเหนือ และวัดปงสนุกด้านใต้ และมีเนินสูงคั่นกลาง เป็นที่ตั้งขององค์เจดีย์
มณฑป ปราสาทเมืองเชียงเกี๋ยง และพระพุทธไสยาสน์
วัดนี้เดิมชื่อวัดเชียงภูมิ และวัดศรีจอมไศล เนินสูงที่ตั้งเจดีย์เรียกว่า
วัดบน
เป็นวัดเดียวในเมืองลำปางที่มีมณฑปปราสาท พระพุทธเจ้าสี่พระองค์ เป็นศิลปะเมืองเชียงเกี๋ยง
(ชื่อเมืองในสิบสองปันนา) สวยงามมาก วัดปงสนุกเป็นที่รวบรวมตำราโบราณ ของครูบาโน
ซึ่งเป็นปราชญ์ และช่างในสมัยนั้น
แต่เดิมวัดปงสนุกมีวิหารเก่า แต่ถูกรื้อสร้างใหม่คงเหลือแต่นาคทัณฑ์ ที่ใช้กับวิหารหลังใหม่เท่านั้น
ส่วนสถาปัตยกรรมที่สำคัญอยู่บนเนินสูงที่เรียกว่าวัดบน หรือศรีจอมไศล มีดังนี้
เจดีย์
เป็นเจดีย์ทรงลังกา มีฐานสูงตามแบบล้านนา หุ้มทองจังโกทั้งองค์ ลักษณะคล้ายเจดีย์วัดพระธาตุเสด็จ
คือมีฐานกลมรองรับฐานบัวมาลัยเพิ่มอีกสามชั้น ทำให้องค์เจดีย์มีรูปสวยงามมาก
มณฑปปราสาทเมืองเชียงเกี๋ยง
เป็นปราสาทพระพุทธรูปสี่พระองค์ประทับใต้ต้นโพธิ ปราสาทยอดแหลมซ้อนกันสี่ชั้น
หลังคามุงดินขอ เป็นศิลปะที่สวยงามแปลกตา เป็นการสร้างตามลักษณะปราสาทเจ้าฟ้าเมืองเชียงเกี๋ยง
วัดคะตึกเชียงมั่น
วัดคะตึก ตั้งอยู่ที่ถนนทิพย์ช้าง ตำบลหัวเวียง อำเภอเมือง ฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของเมืองเขลางค์รุ่นฝั่งตำบลหังเวียง
ปัจจุบันได้รวมวัดเชียงมั่นเข้าด้วยกัน รวมเรียกว่า วัดคะตึกเชียงมั่น
จากจารึกของวัดคะตึกได้ความว่า นักบุญ คณะสงฆ์ และเจ้าเมืองลำปางได้ร่วมกันสร้างวัดคะตึก
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๓ ปัจจุบันถูกล้อมรอบด้วยวิหารรุ่นใหม่
สถาปัตยกรรมที่ยังเหลืออยู่หลังเดียว วิหารล้านนาที่เก่ามาก โครงสร้างเป็นเครื่องไม้ทั้งหมดหลังคาจั่วซ้อนชั้น
วิหารโล่ง เป็นลักษณะวิหารล้านนาสกุลช่างลำปาง หลังคาเดิมมุงด้วยดินขอ ได้มาเปลี่ยนเป็นกระเบื้องหน้าวัวในภายหลัง
วัดเวียง
วัดเวียง ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านเวียง ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำวังในเขตตำบลอ้อมแรด
อำเภอเถิน เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์คู่กับเมืองเถิน ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านในด้านสถาปัตยกรรม
ถือว่าเป็นวัดที่มีฝีมือสกุลช่างที่ยอดเยี่ยม มีความสำคัญคล้ายคลึงกับวัดปงยางคุก
และวัดไหล่หิน
ตามพงศาวดารเมืองเถินกล่าวว่า วัดเวียงสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๑๙๒ โดยขุนด่านสุดตาได้เป็นอุบาสกอยู่ในวัดพระธาตุลำปางหลวง
มีลูกสามคนได้ร่วมกันสร้างวัดเวียงเถิน และได้มีการบูรณะซ่อมแซมตลอดมา มีศิลปกรรมที่น่าสนใจคือ
ซุ้มประตูโขง
มีลักษณะที่ได้รับอิทธิพลรูปแบบจากวัดพระธาตุลำปางหลวง แต่ฝีมือการสร้างเป็นงานช่างฝีมือพื้นบ้าน
วิหาร
เป็นวิหารโล่ง ยอดจั่วซ้อนกัน ภายในวิหารมีซุ้มพระพุทธรูป รูปลักษณะเหมือนซุ้มประตูโขง
ประดิษฐานพระประธาน
เหมือนวิหารหลวงวัดพระธาตุลำปางหลวง
วิหารวัดเวียงเป็นตัวอย่างของวิหารล้านนาดั้งเดิม ที่มีการพัฒนาให้เหมาะสมกับสภาพสังคมในยุคต่อมา
หอพระธรรม
เป็นอาคารเครื่องไม้ชั้นเดียว หลังคาปั้นหยาซ้อนกันสองชั้น อาคารเป็นแบบปิดล้อมมีช่องหน้าต่าง
ลักษณะเป็นเรือนของเมืองเถิน ปัจจุบันใช้เป็นที่เก็บรวบรวมวัตถุโบราณของวัด
เป็นอาคารที่มีค่าทางสถาปัตยกรรมอีกแห่งหนึ่ง
วัดนาเส่ง
วัดนาเส่ง ตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำวังที่บ้านนาเส่ง ตำบลนาเส่ง อำเภอเกาะคา
ไม่มีผู้ใดทราบประวัติวัดนี้ สันนิษฐานว่า ผู้คนที่อพยพหนีภัยสงครามจากเชียงแสนแล้วมาตั้งหลักแหล่งอยู่
ณ หมู่บ้านแห่งนี้ ได้ร่วมมือกันสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจ และเป็นศูนย์รวมใจของชาวบ้านมีศิลปกรรมที่น่าสนใจคือ
วิหาร
ได้รับการบูรณะเพิ่มเติมจากเดิม ลักษณะเป็นหลังคาจั่วทรงสูง การประดับตกแต่งลวดลาย
ได้รับอิทธิพลศิลปแบบรัตนโกสินทร์ พระประธานในวิหารเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นทาสี
ภาพเขียนบนผนังทั้งสี่ด้าน เป็นภาพเขียนสีฝุ่น แสดงเรื่องการเกิด แก่ เจ็บ
ตาย ของมนุษย์ ส่วนภาพเขียนบนแผ่นไม้ แสดงเรื่องราวของชาดก คติความเชื่อ แทรกความเป็นอยู่ของชาวบ้าน
ทำให้ทราบถึงการแต่งกาย สภาพความเป็นอยู่ และการประกอบอาชีพ อันเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวัฒนธรรมท้องถิ่นได้อย่างดี
วัดปงยางคก
วัดปงยางคก ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านปงยางคก ในเขตอำเภอห้างฉัตร เป็นวัดเก่าแก่มีมาแต่ดั้งเดิม
เป็นวัดตัวอย่างของสถาปัตยกรรมล้านนาสกุลช่างลำปาง ในด้านประวัติศาสตร์เป็นวัดที่ตั้งอยู่
ณ บ้านเกิดของหนานทิพย์ช้าง วีรบุรุษแห่งล้านนา ผู้กอบกู้เอกราชเมืองลำปางจากพม่า
เป็นวัดที่หนานทิพย์ช้างเคยบวชเรียนและใช้เป็นที่รวบรวมผู้คนเพื่อสู้รบกับพม่า
ซึ่งขณะนั้นท้าวมหายศผู้ครองนครลำพูนซึ่งตกเป็นเมืองขึ้นของพม่ายกกำลังมา
โดยใช้วัดพระธาตุลำปางหลวงเป็นที่มั่น
วัดปงยางคก มีกำแพงล้อมรอบทั้งหมดโดยไม่แบ่งเขตพุทธาวาส และสังฆาวาส
วิหารของวัดเป็นวิหารเครื่องไม้ ภายในมีศิลปะที่มีคุณค่าหลายประการด้วยกัน
คือ
โขงพระประธาน
พระประธานเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิเพชรทางทิศเหนือ ทางทิศใต้มีพระพุทธรูปปางประทานพร
ฐานหุ้มมณฑปก่ออิฐปูนปั้น ประกอบซุ้มโขงขนาดเล็ก
ธรรมมาสน์
ก่อด้วยอิฐฉาบปูนติดกระเบื้องเคลือบดินเผาสีต่าง ๆ ส่วนฐานตกแต่งแบบชาวพื้นเมือง
ตัวธรรมมาสน์ทำด้วยไม้ลงรักปิดทองลายรูปดอกไม้ ลักษณะของดอกและลายก้านต่าง
ๆ เป็นลายเดียวกัน
ภาพเขียน
มีภาพเขียนที่สวยงาม มีคุณค่าหลายแห่ง เช่น ลายดาวเพดาน หลังคาไม่มีเพดาน
แต่ใช้ตัวโครงสร้างประกอบ เช่น ไม้กลอน หัวเสา และแปลาน เป็นตัวแต่งลายประดับต่าง
ๆ โดยที่ช่างจำลองความคิดมาจากดวงดาวบนท้องฟ้า
ลวดลายที่คอสอง
เป็นรูปวงกลมใหญ่ มีรัศมีแผ่กระจายออกจากศูนย์กลางอันหมายถึงดวงอาทิตย์ แวดล้อมด้วยดวงจันทร์
และดวงดาวเป็นรูปกลม ลายดอกไม้หรือ ปูรณะฆฏะ ที่กระถางบูชา (หม้อดอก) ของวิหารวัดปงยางคก
ถือว่าเป็นผลงานทางศิลปะที่งดงามอ่อนช้อยอย่างยิ่ง
วัดไหล่หิน
วัดไหล่หิน หรือวัดไหล่หินแก้วช้างยืน หรือวัดเสลารัตนปัพพตาราม ตั้งอยู่ที่บ้านไหล่หิน
ตามประวัติกล่าวว่า วัดไหล่หินสร้างเมื่อประมาณ ปี พ.ศ.๒๒๒๖
วัดไหล่หิน เป็นวัดพี่วัดน้องกับวัดพระธาตุลำปางหลวง ที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมล้านนาสกุลช่างลำปาง
มีกำแพงล้อมเขตพุทธาวาส แต่ไม่มีบันไดขึ้นวัดเหมือนวัดพระธาตุลำปางหลวง มีศิลปะที่สำคัญของวัด
คือ
ซุ้มประตูโขง
เป็นงานช่างพื้นบ้าน ตัวซุ้มประกอบด้วยตุ๊กตาดินเผาเคลือบขนาดเล็กกว่าของวัดพระธาตุลำปางหลวง
วิหาร
เป็นวิหารโล่ง ฐานเตี้ย ด้านหน้าจั่วประดับลวดลายปูนปั้น ประดับกระจก
ฝีมือประณีต มีการประดับตุ๊กตารูปสัตว์ชนิดต่าง ๆ เช่น ลิง นก อยู่ตามหลังคาวิหาร
กุฏิโบราณ
เป็นกุฏิเครื่องไม้แบบชั้นเดียว หลังคา หน้าบัน มีการประดับลวดลายแกะสลักที่เก่าแก่มาก
สันนิษฐานว่า รื้อจากวิหารหลังเก่ามาติดไว้ ปัจจุบันเป็นที่เก็บรวบรวมวัตถุโบราณ
เครื่องปั้นดินเผาอาวุธโบราณ ของใช้เจ้านายสมัยก่อน นอกจากนี้ยังเป็นที่เก็บหีบพระธรรมบรรจุใบลานเก่าแก่อีกเป็นจำนวนมาก
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน | |