| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางวัฒนธรรม
โบราณสถาน และโบราณวัตถุ
       แหล่งโบราณคดี

           แหล่งภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ค่ายประตูผา  อยู่ในเขตอำเภอแม่เมาะ อยู่บริเวณหน้าผาด้านหลังศาลเจ้าพ่อประตูผา พบเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๑ เป็นภาพเขียนสีขนาดใหญ่ ที่ผนังเพิงผา ซึ่งเป็นหน้าผาชันสูงประมาณ ๕๐ เมตร ยาวตลอดแนวของเขา พื้นดินมีลักษณะเป็นดินฝุ่นสีน้ำตาลแดงเข้ม ถัดจากเพิงผาลงไปเป็นลาดไหล่เขาค่อนข้างชัน
                - ผาที่ ๑  เป็นรูปเขียนสีรูปมือ รูปสัตว์ และลายเรขาคณิต
                - ผาที่ ๒  เป็นรูปเขียนสีรูปมือ และรูปสัตว์
                - ผาที่ ๓  เป็นรูปเขียนสีรูปมือ รูปสัตว์ และรูปคนยืนอยู่ด้านหน้าวัว ภาพลายเส้นเป็นกรอบสี่เหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกัน ภาพลายเส้นแบบฟันปลาในเส้นคู่ขนาน
                - ผาที่ ๔  ห่างจากผาที่ ๓ ประมาณ ๒๐ เมตร มีผนังสองระดับ พบภาพเขียนสีบนผนังระดับบน เป็นภาพบุคคลแบบเงาทึบ สวมชุดคล้ายกระโปรง ภาพสัตว์คล้ายปลาหมึก และภาพสัตว์คล้ายช้าง หรือวัวมีเขายาวในลักษณะเส้นโครงร่าง และยังมีภาพอีกจำนวนหนึ่ง แต่ไม่ชัดเจนว่าเป็นภาพอะไร
                - ผาที่ ๕  ห่างจากผาที่ ๔ ประมาณ ๕ เมตร พบภาพเขียนสีบนผนังระดับบนเป็นภาพลายเส้นเรขาคณิต และภาพมือ มีความยาวประมาณ ๕ เมตร
                - ผาที่ ๖  มีพื้นที่ว่างประมาณ ๒ ตารางเมตรที่จะเขียนภาพได้ อยู่ห่างจากผาที่ ๔ ประมาณ ๒๐ เมตร พบภาพเขียนสีบนผนังด้านซ้าย และขวาเป็นภาพลายเส้นเราขาคณิต ในลักษณะสี่เหลี่ยมทั้งแบบลายเส้น และแบบเงาทึบ กับภาพลายเส้นกากบาท
                - ผาที่ ๗  มีลักษณะเป็นเพิงกว้างประมาณ ๗ เมตร ห่างจากผาที่ ๕ ประมาณ ๑๕ เมตร พบภาพเขียนสียาวประมาณ ๑๐ เมตร สูงจากพื้นดิน ตั้งแต่ ๑.๕ - ๗ เมตร เป็นภาพมือแบบเงาทึบ ภาพมือแบบลายเส้นคล้ายตัวยู (U) ภาพลายเส้นตัดกัน ภาพลายเส้นโค้งขนานกันคล้ายลายนิ้วมือ ภาพสัตว์คล้ายเต่า ภาพลายเส้นแบบฟันปลา ภาพลายเส้นแบบ - เครื่องหมายมากกว่า (>) และน้อยกว่า (<) ในกรอบสี่เหลี่ยม ภาพสัตว์แบบเงาทึบ และภาพคนแบบเงาทึบ
                - ผาที่ ๘  ลักษณะคล้ายผาที่ ๔ ห่างจากผาที่ ๖ ประมาณ ๑๐ เมตร พบภาพเขียนสีบนผนังระดับบน เป็นภาพเหมือนแบบเงาทึบ และภาพสัตว์แบบเงาทึบ
            จากลักษณะของภาพเขียนสี เทคนิค และวิธีการ น่าจะร่วมสมัยกับภาพเขียนสีบนผนังเพิงผา หรือถ้ำที่พบในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งมีอายุอยู่ประมาณ ๒,๕๐๐ - ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว
           แหล่งภาพเขียนสีในบริเวณใกล้เคียง  ในบริเวณใกล้เคียงกันยังพบแหล่งภาพเขียนสีในกลุ่มแหล่งโบราณคดีบ้านแม่เปิน ตำบลเมืองมาย อำเภอแจ้ห่ม ห่างออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ ๒๐ กิโลเมตร
                - ถ้ำผาเยี่ยมช้าง  ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของผาป๊กกะโล่ง พบภาพเขียนสีรูปคนบนเพดาน ๒ ภาพ เป็นภาพแบบเงาทึบในท่ายืนก้าวขาข้างหนึ่งไปข้างหน้า และภาพคนแบบเงาทึบแสดงท่าก้าวเดิน
                - ถ้ำเก๊าะเคาะ พบภาพเขียนสีแบบลายเส้น มีลักษณะเป็นเส้นโค้งต่อเนื่อง
            แหล่งโบราณคดีบริเวณใกล้เคียง พบแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์อีกหลายแหล่ง ในบริเวณโดยรอบแหล่งภาพเขียนสีประตูผา รัศมี ๓๐ กิโลเมตร ดังนี้
                - ถ้ำไม้ไฮ  อยู่ห่างจากถ้ำเก๊าะเคาะทิศใต้ประมาณ ๓๐๐ เมตร พบโกลนขวานหินขัด และเศษภาชนะดินเผา จำนวนมาก
                - ถ้ำช้างเผือก  อยู่ห่างจากแหล่งภาพเขียนสีประตูผามาทางทิศใต้ ประมาณ ๒๕ กิโลเมตร พบขวานหินขัด ทำด้วยหินแกรนิต ๑ ชิ้น
                - ถ้ำหลังสถานีโทรคมนาคม อยู่ห่างจากแหล่งภาพเขียนสีประตูผามาทางใต้ ประมาณ ๒๔ กิโลเมตร พบโกลนขวานหินแบบมีบ่า ค้อนหิน ชิ้นส่วนเครื่องมือหินขัด และเศษภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ
                - ถ้าดาบส  อยู่ที่บ้านป่าป๋วย ห่างจากแหล่งภาพเขียนสีประตูผามาทางใต้ประมาณ ๒๓ กิโลเมตร พบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ
                - ดอยผาชี  อยู่ห่างจากแหล่งภาพเขียนสีประตูผามาทางทิศใต้ ประมาณ ๑๘ กิโลเมตร ในกลุ่มถ้ำของดอยแห่งนี้ พบขวานหินขัด เศษภาชนะดินเผา กระดูกสัตว์ และกระดูกมนุษย์ อายุประมาณ ๑,๒๐๐ - ๑,๘๐๐ ปี
                - ถ้ำผาของ  อยู่ห่างจากแหล่งภาพเขียนสีประตูผามาทางทิศใต้ประมาณ ๘ กิโลเมตร พบขวานหินขัดโกลนขวานหินขัด กับสะเก็ดหินเป็นจำนวนมาก และพบเศษภาชนะดินเผาทั้งลายเชือกทาบ และลายขูดผิวเรียบและเขียนสีแดง
                - ถ้ำแต้ว  อยู่ห่างจากแหล่งภาพเขียนสีประตูผามาทางทิศตะวันออกประมาณ ๑๙ กิโลเมตร พบขวานหินขัดมีบ่า เครื่องมือหินเจาะรู กระดูกสัตว์ และกระดูกมนุษย์
ภาษาและวรรณกรรม

           คำเมืองในจังหวัดลำปาง  คำเมืองหรือภาษาไทยถิ่นเหนือ เป็นภาษาถิ่นของภาษาไทยที่พูดกันในเขตจังหวัดภาคเหนือของไทย ๘ จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ และน่าน กับบางอำเภอของจังหวัดตาก สุโขทัย และอุตรดิตถ์
            คำเมืองเป็นภาษาที่มีระบบตัวอย่างที่เรียกกันว่า ตัวเมืองบ้าง อักษรธรรมบ้าง อักษรธรรมล้านนาบ้าง
            คำเมืองจังหวัดลำปาง ใช้คำศัพท์เฉพาะถิ่นแตกต่างไปจากคำเมืองถิ่นอื่นอยู่หลายคำ จากการศึกษาภาษาถิ่นย่อยของคำเมืองในจังหวัดลำปาง สามารถแบ่งภาษาถิ่นย่อยได้เป็นสองถิ่นย่อย คือ ภาษาย่อยลำปางตอนเหนือ ได้แก่ ภาษาที่ใช้ในเขตอำเภอวังเหนือ อำเภอแจ้ห่ม อำเภอเมืองปาน อำเภอห้างฉัตร อำเภอเมือง ฯ อำเภอแม่เมาะ อำเภองาว อำเภอแม่ทะ อำเภอเสริมงาม อำเภอเกาะคา อำเภอสบปราบ ส่วนภาษาถิ่นย่อยลำปางตอนใต้ได้แก่ ภาษาที่ใช้ในเขตอำเภอเถิน และอำเภอแม่พริก
           ภาษาชนกลุ่มน้อยในจังหวัดลำปาง  มีภาษาพูดแตกต่างกันไปตามชาติพันธุ์ มีอยู่ ๙ ภาษาด้วยกันคือ
              ภาษาไทยลื้อ  ในจังหวัดลำปางมีผู้พูดภาษาไทยลื้ออยู่ประมาณ ๑๐,๕๐๐ คน ในทุกหมู่บ้านของตำบลกล้วยแพะ อำเภอเมือง ฯ
และบ้านสบปุง บ้านฮ้องห้า ตำบลน้ำโจ้ อำเภอแจ้ห่ม
              ภาษาขมุ  มีผู้พูดอยู่ประมาณ ๓๐๐ คน ในพื้นที่บ้านแม่พร้าว บ้านกลางห้วย ตำบลบ้านกวด อำเภองาว และบ้านนาไหม้ ตำบลเมืองมาย อำเภอแจ้ห่ม
              ภาษาลั๊วะ  มีผู้พูดอยู่เล็กน้อยประมาณ ๑๐๐ คน ในพื้นที่บ้านวังใหม่ ตำบลร่องเคาะ อำเภอวังเหนือ
              ภาษากะเหรี่ยง  มีผู้พูดอยู่ประมาณ ๓,๙๐๐ คน ในเขตสี่อำเภอคือ อำเภองาว บ้านบ้านแม่คิง บ้านแม่ฮ่างเหนือ บ้านแม่ฮ่างใต้ ตำบลนาแก บ้านแม่ง้าว บ้านแม่ลังใน ตำบลบ้านร่อง และบ้านห้วยดัด ตำบลบ้านอ้อน  อำเภอเสริมงาม ที่บ้านโป่งน้ำร้อน บ้านกลางสันโป่ง ตำบลเสริมกลาง และบ้านแม่เลียงพัฒนา ตำบลเสริมขวา อำเภอแม่เมาะ ที่บ้านห้วยตาด บ้านกลาง และบ้านแม่ส้าน ตำบลบ้านดง  อำเภอเมืองปาน ที่บ้านแม่ยาว บ้านห้วยมา บ้านห้วยโป่ง บ้านแม่กระโดง บ้านแม่ต๋อมนอก บ้านแม่ต๋อมใน บ้านแม่หมีนอก บ้านแม่หมีใน ตำบลหัวเมือง อำเภอแจ้ห่ม ที่บ้านแม่จอกฟ้า ตำบลทุ่งผึ้ง
              ภาษามูเซอ  มีผู้พูดอยู่ประมาณ ๑,๐๐๐ คน ในพื้นที่สามอำเภอ คือ
                    - อำเภอเมืองปาน ที่บ้านปางม่วง บ้านป่าคา ตำบลแจ้ซ้อน และบ้านมูเซอบ้านไร่ ตำบลหัวเมือง
                    - อำเภอแจ้ห่ม ที่บ้านห้วยริน บ้านแม่เม่า ตำบลทุ่งผึ้ง
                    - อำเภองาว ที่บ้านธารสวรรค์ ตำบลปงเตา
              ภาษาลีซอ มีผู้พูดอยู่ประมาณ ๒๐๐ คน ในพื้นที่บ้านวังใหม่ ตำบลร่องเคาะ อำเภอวังเหนือ
              ภาษาอีก้อ มีผู้พูดอยู่ประมาณ ๑,๓๐๐ คน ในพื้นที่สองอำเภอ คือ
                    - อำเภองาวที่บ้านแม่คิงเหนือ บ้านห้วยจอบ ตำบลนาแก ที่บ้านแม่คำหล้า ตำบลบ้านอ้อน ที่บ้านห้วยน้ำตื้น ตำบลปงเตา
                    - อำเภอแม่เมาะ ที่บ้านทาน ตำบลจางเหนือ
              ภาษาม้ง มีผู้พูดอยู่ประมาณ ๑,๐๐๐ คน ในเขตสี่อำเภอ คือ
                    - อำเภอแจ้ห่ม ที่บ้านแม่ก๋ากลาง บ้านแม้วแม่หล้า ตำบลเมืองมาย
                    - อำเภอวังเหนือ ที่บ้านผาแดง บ้านป่างิ้วหว่าน ตำบลทุ่งฮั้ว
                    - อำเภอเมืองปาน ที่บ้านแม่แวน บ้านใหม่พัฒนา ตำบลแจ้ซ้อน
                    - อำเภองาว ที่บ้านแม่พร้าว ตำบลบ้านหวด
              ภาษาเย้า  มีผู้พูดอยู่ประมาณ ๔,๘๐๐ คน ในเขตห้าอำเภอ คือ
                    - อำเภอเมือง ฯ ที่บ้านผาลาด ตำบลพระบาท
                    - อำเภองาว ที่บ้านแม่หยวก ตำบลบ้านร้อง ที่บ้านปางหละ บ้านห้วยน้ำริน บ้านขุน แม่ทวด ตำบลบ้านหวด ที่บ้านห้วยโป่ง บ้านห้วยหก บ้านแม่หล้า บ้านแม่แก้ บ้านแม่อ้อน บ้านกิ่วต่ำ บ้านบ่อสี่เหลี่ยม บ้านขุนแหง บ้านห้วยหม้อ ตำบลปงเตา
                    - อำเภอแจ้ห่ม ที่บ้านแม่เมาะ บ้านแม่ตาสามัคคี ตำบลปงดอน
                    - อำเภอวังเหนือ ที่บ้านแม่แจ๋มเย้า ตำบลแจ้ซ้อน
จารึกลำปาง

            มีจารึกที่ค้นพบตามวัด และสถานที่ต่าง ๆ ที่บ่อบอกถึงประวัติความเป็นมาของโบราณสถานโบราณวัตถุ และเรื่องราวความเป็นมาของสถานที่ และเหตุการณ์ต่าง ๆ ในอดีต
                จารึกที่พบในจังหวัดลำปาง มีทั้งที่จารึกลงในหิน ในโลหะและผสมหลาย ๆ อย่าง เท่าที่สำรวจพบมีดังนี้
                    - จารึกบนหิน ได้แก่ จารึกวัดพระธาตุลำปางหลวง วัดล้อมแรด วัดเกาะวารุการาม และวัดพระแก้วดอนเต้า
                    - จารึกบนไม้ มีปรากฏหลักฐานที่วัดพระธาตุลำปางหลวง วัดไหล่หิน และวัดพระแก้ว
                    - จารึกบนโลหะ มีที่วัดพระธาตุลำปางหลวง วัดป่าตันกุมเมือง วัดนางเหลียว วัดแม่เมืองมา และวัดปงสนุกเหนือ
                    - ลักษณะผสม คือจารึกโดยการใช้วัสดุตั้งแต่สองอย่างขึ้นไปผสมกัน มีที่วัดพระธาตุเสด็จ วัดพระธาตุลำปางหลวง วัดพระแก้วดอนเต้า และวัดอักโขชัยคีรี
ดนตรีพื้นบ้านลำปาง

            เมืองเขลางค์นครเป็นเมืองคู่แฝดกับเมืองหริภุญชัย หรือลำพูน ในสมัยทวาราวดี คือมีอายุไม่น้อยกว่า ๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว พุทธศาสนาได้เข้ามาสู่ดินแดนแห่งนี้หลายเส้นทางด้วยกัน เช่นจากลังกาโดยตรงจากลังกาโดยผ่านมอญ และสุโขทัย เรื่องที่เกี่ยวกับการดนตรีก็คือ การรับเอาอิทธิพลทางดนตรีของอินเดียผ่านทางลังกาเข้ามาในรูปของดนตรี ในพิธีกรรมทางศาสนา ดังปรากฏอยู่ในตำนานมูลศาสนา ซึ่งได้กล่าวถึงการบูชาด้วยเสียงขับเสียงร้อง และด้วยเสียงดนตรีในสมัยพระยาอาทิตตราช และกล่าวถึงวงดนตรีที่เรียกว่าปัญจดุริยดนตรี ซึ่งนำมาประโคมในพิธีกรรมทางศาสนาในสมัยพระเจ้ากือนา หลักฐานที่สำคัญคือ จารึกวัดพระยืนลำพูน (พ.ศ.๑๙๑๓) ซึ่งมีการกล่าวถึงเครื่องดนตรีต่าง ๆ ในสมัยนั้น เช่น ปีสรไน กาหล (แตรงอ) พาทย์ (ฆ้องวง) พิณ กลอง ฯลฯ
            วงดนตรีที่มีอิทธิพลแบบดนตรีแห่ของอินเดีย และลังกาก็คือ วงแห่กลองแอว ซึ่งชาวเหนือตามจังหวัดต่าง ๆ เรียกต่างกันไป เช่น วงตกเส้ง(ลำปาง) วงตึ่งโมง (เชียงใหม่) วงกลองอึด (แพร่) นอกจากนี้ชาวเหนือยังมีดนตรีประเภทอื่นของวัดอีก เช่น วงพาทย์ (ปี่พาทย) วงกลองสิ้งหม้อง วงกลองปูจา และวงกลองมอญเชิง เป็นต้น
            นอกจากดนตรีที่เกี่ยวข้องกับศาสนาแล้ว ยังมีดนตรีสำหรับความบันเทิงเช่น การอ๊อย ซอ ค่าว ฮ่ำ โดยเฉพาะการซอ จะมีวงดนตรีบรรเลงประกอบ เช่น วงปี่ชุม (จุม) หรือสะล้อซอซึง
            จากการที่ภาคเหนือมีอาณาเขตใกล้กันกับชาวไทยใหญ่จึงมีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมตลอดมา วงดนตรีแบบไทยใหญ่ เช่น วงกลองปู่เจ่ วงกลองมองเชิง จึงเป็นวงดนตรีที่แพร่หลายไปทั่วภาคเหนือ
           วงซอ  ซอในจังหวัดลำปาง มีทั้งแบบซอเมืองน่าน กับซอเชียงใหม่ ซอเมืองน่านมีคณะซอที่ใช้วงสะล้อ และซึงบรรเลงประกอบการซอ ส่วนซอเชียงใหม่เป็นคณะซอที่ใช้วงปี่จุมบรรเลงประกอบการซอ ประกอบด้วยปี ๓ - ๔ เลา และซึง ๑ คัน
           วงปี่จุม (ชุม)  เป็นวงดนตรีประกอบด้วยปี ๓ - ๔ เลา และซึง ๑ คัน บรรเลงประกอบการซอแบบเชียงใหม่
           วงสะล้อซอซึง  ต่างกับวงสะล้อซอซึงที่ใช้บรรเลงประกอบการซอแบบเมืองน่าน คือได้เพิ่มขลุ่ยขลิบ เครื่องประกอบจังหวะได้แก่ กลอง ฉิ่ง และฉาบ เข้ามาประสมวง แต่เดิมนั้น วงสะล้อซอซึงไม่มีการนำเอากลอง ฉิ่ง ฉาบ เข้ามาประสมวง เนื่องจากฉิ่ง ฉาบ ในสมัยก่อนเป็นเครื่องดนตรีของวัด เป็นเครื่องดนตรีสำหรับพิธีกรรมทางศาสนา จึงไม่มีการนำมาใช้เป็นเครื่องดนตรีภายในบ้านเรือน แต่จากผลที่รัฐบาลในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ได้ส่งเสริม และเผยแพร่วัฒนธรรมการรำวงไปทั่วประเทศในครั้งนั้น ทำให้ กลอง ฉิ่ง ฉาบ ถูกนำมาใช้ในวงสะล้อซอซึง ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

          วงพาทย์  ชาวลำปางเรียกวงปี่พาทย์พื้นบ้านของตนว่า วงพาทย์ บางครั้งเรียกว่า วงกลองทึ่งทัง อันเป็นการเรียกตามเครื่องดนตรี คือ กลองทึ่งทัง หรือตะโพนมอญ ซึ่งเป็นเครื่องชิ้นเด่นในวงที่ให้เสียงกระหึ่มกังวานได้ยินในระยะไกล
                วงพาทย์มีเอกลักษณ์เกี่ยวกับ แบบแผนการประสมวง และการบรรเลงแบบลำปางโดยเฉพาะ แม้ว่าจะมีวงพาทย์แบบนี้อยู่ตามจังหวัดอื่น ๆ ในภาคเหนือก็ตาม วงพาทย์ลำปางมีเอกลักษณ์โดยสังเขป ดังนี้
                แนหน้อย ดำเนินทำนองในทางของแนหน้อย เสียงของแนหน้อยตรงกับฆ้องลูกที่ ๘
                แนหลวง ดำเนินทำนองในทางของแนหลวง เสียงของแนหลวงตรงกับฆ้องลูกที่ ๕
                กลองทึ่งทังหรือตะโพนมอญ ตีทำจังหวะ โดยมีหน้าทับทั้งแบบหน้าทับทั่วไป และหน้าทับเฉพาะเพลง ประการสำคัญต้องทำหน้าที่เป็นเสียงประสานยืนด้วย
                กลองฮับ (รับ)  เป็นกลองสองหน้าขนาดเล็ก ๆ ใช้วางบนตักตีสอดรับกับกลองทึ่งทัง
                สว่าหรือฉาบใหญ่ มีหน้าที่ตีขัดจังหวะ เมื่อเทียบกับจังหวะของฉิ่งในดนตรีไทยแล้ว สว่าจะตีลงที่เสียงฉิ่งให้เสียงดังสว่า ส่วนตรงเสียงฉับของการตีฉิ่งนั้น จะตีสว่าเพียงเบา ๆ จึงเป็นการขืนจังหวะอันเป็นแนวคิดที่กลับกันกับจังหวะของฉิ่งในดนตรีไทย
                สิ้ง มีหน้าที่ทำจังหวะ โดยมีแบบแผนการตีสิ้งแตกต่างไปจากฉิ่งของดนตรีแบบภาคกลาง
                ไม้เหิบ หรือตะขาบ ทำหน้าที่ตบให้จังหวะลูกตกส่วนที่เป็นจังหวะหนักของห้องเพลง ใช้ประสมวงเฉพาะการฟ้อนผีเท่านั้น
                พาทย์ (ฆ้องวงใหญ่)  ทำหน้าที่เดินทำนองหลัก และเล่นในส่วนที่เป็นรายละเอียด ไม่ได้มีหน้าที่เดินทำนองหลักตามหลักวิชาของฆ้องวงใหญ่ เนื่องจากว่าแต่เดิมวงพาทย์เมืองเหนือยังไม่มีระนาดเข้ามาประสมวง
           วงกลองต่าง ๆ  หมายถึงวงดนตรีที่เรียกชื่อวงตามชื่อ หรือชนิดของกลอง ในภาคเหนือมีวงกลองอยู่หลายประเภท โดยมีเครื่องดนตรีประเภทเครื่องกระทบ เครื่องเคาะ เครื่องตีต่าง ๆ ได้แก่ ฆ้อง ฉาบ กรับ ตะขาบ หรือไม้เหิบ จำแนกได้ดังนี้
                - วงกลองสิ้งหม้อง  คือวงกลองยาวขนาดเล็กมีอยู่ตามวัดต่าง ๆ ประกอบด้วยกลองยาว ๑ ใบ สิ้ง (ปัจจุบันใช้ฉาบ) ๑ คู่ ฆ้องขนาดย่อม (เรียกตามเสียงว่าฆ้องหม้องหรือมอง) ๑ - ๓ ใบ หรือตามแต่จะหาได้ ปัจจุบันได้กลายเป็นวงกลองยาว แบบภาคกลางไปเกือบหมด โดยการเพิ่มจำนวนกลองเข้าไป
                - วงกลองปู่เจ่  ชาวไทยใหญ่เรียกกลองก้นยาว ที่พบในลำปางส่วนมากจะเป็นกลองปู่เจ่ขนาดเล็ก มีความยาวประมาณ ๑.๒๐ - ๑.๔๐ เมตร หากเป็นกลองปู่เจ่ของไทยใหญ่อาจยาวมากกว่า ๑.๕๐ เมตร มีการทำเสียงกลองให้หลากหลาย โดยใช้เทคนิคการตี เช่น ใช้กำปั้น ฝ่ามือ ปลายนิ้วเคาะ ฯลฯ คุณสมบัติพิเศษที่กลองชนิดอื่นทำไม่ได้คือ เสียงลูกส้น เสียงลงส้นหรือเสียงลูกปลาย ในการตีกลองปู่เจ่ ยังมีการฟ้อน เต้นออกลวดลาย หรือเล่นเชิงไปด้วย อาจมีการนั่งนอน เกลือกกลิ้ง เล่นท่ากันอย่างสนุกสนาน โดยมีฉาบคอยตีล้อกันกับมือกลอง เนื่องจากการเล่นกลองปู่เจ่เป็นการแสดงออกทางดนตรี แสดงความสามารถของผู้เล่นกลองและฉาบโดยเฉพาะ ดังนั้นการประสมวงจึงเป็นแบบใช้กลองใบเดียว ฉาบขนาดกลางหนึ่งคู่ ฆ้อง ๔ - ๗ ใบ หรืออาจมากถึง ๙ ใบ หากเป็นวงของชาวไต หรือไทยใหญ่จะใช้ฆ้องฮาว (ฆ้องราว) ซึ่งมีจำนวนฆ้อง ๔ - ๕ ใบ และอาจมีสิ้งอีกหนึ่งฝาห้อยพ่วงมาด้วย
                - วงกลองมองเซิง  มองเซิงในภาษาไทยใหญ่แปลว่าฆ้องชุด ซึ่งมีจำนวน ๔ - ๕ ใบ มีฆ้องสำหรับตีร่วมแกนกันอยู่เรียกว่าฆ้องฮาว (ราว) กลองที่ใช้ในวงมองเซิงเรียกกันว่ากลองมองเซิง เป็นกลองขึงหนังสองหน้า ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒๐ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๔๐ - ๖๐ เซนติเมตร ใช้ผ้าหรือเชือกผูกคล้องกับคอของผู้ตี โดยพักกลองไว้ที่หน้าท้อง ตีด้วยมือทั้งสองข้าง บางแห่งใช้ไม้ตีก็มี เครื่องทำจังหวะประกอบได้แก่ ฉาบขนาดใหญ่หนึ่งคู่ และฆ้องจำนวน ๓ - ๔ ใบ หรือใช้ฆ้องฮาวก็ได้
                - วงกลองบูชา (ปูจา)  เป็นกลองชุดขนาดใหญ่ มีไว้ประจำวัดโดยมีหอกลองเฉพาะหรือหอกลองใช้ร่วมกันกับหอระฆัง บางวัดที่ไม่มีหอกลองจะนำกลองไว้ตามศาลาตามแต่สะดวก วงกลองปูจาประกอบด้วยเครื่องดนตรีดังต่อไปนี้ คือ กลองตึ้ง เป็นกลองขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ ๖๐ เซนติเมตรขึ้นไป บางลูกอาจมีเส้นผ่าศูนย์กลางถึงหนึ่งเมตรก็มี ความยาวของกลองตั้งแต่หนึ่งเมตรถึงเมตรครึ่ง กลองตุ๊บหรือ ลูกตุ๊บ เป็นกลองขนาดเล็กจำนวนสามใบขนาดไล่เรี่ยกัน มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒๐ - ๔๐ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๕๐ - ๖๐ เซนติเมตร ฆ้อง ใช้ฆ้องขนาดใหญ่คือฆ้องอุ้ย และฆ้องโหย้ง อย่างละหนึ่งใบ บางวัดอาจใช้ฆ้องขนาดรองลงมา จำนวน ๔ - ๙ ใบก็มี สว่าหนึ่งคู่
            เนื่องจากเป็นกลองสำคัญประจำวัด การตีหรือการประโคมกลองจึงมีความหมายต่อพิธีกรรม หรือต่อวัด ต่อมวลชนที่อาศัยอยู่รอบวัด บทบาทของกลองบูชาพอประมวลได้ดังนี้
                ๑.  เป็นสัญญาณบอกวันพระ วัดต่าง ๆ จะประโคมกลองในช่วงเวลาประมาณ ๒ - ๓ ทุ่ม ของคืนก่อนวันพระเพื่อให้ชาวบ้านได้ทราบ จะได้เตรียมตัวในการปฏิบัติตนงดเว้นจากอบายมุข การเบียดเบียนสัตว์ การใช้แรงงานสัตว์
                ๒.  เป็นสัญญาณแสดงถึงกิจกรรมที่กระทำในวันพระ การตีกลองบูชา โดยไม่มีฆ้องและสว่าผสมวงเป็นระยะ ๆ นั้น แสดงให้ชาวบ้านได้ทราบถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่ดำเนินอยู่ในวัด เช่นการเทศนาธรรมได้จบแล้ว หรือได้เวลาพระทำวัตรเย็น เป็นต้น ชาวบ้านจะได้ร่วมโมทนาสาธุกับกิจกรรมนั้น ๆ
                ๓.  ใช้เป็นสัญญาณบอกเหตุ ให้มวลชนในหมู่บ้านได้ทราบ เช่น นัดหมายประชุม นัดหมายเข้าขบวน เคลื่อนครัวทาน แจ้งเหตุร้าย ฯลฯ
                ๔.  ใช้ตีเป็นกลองชัย เป็นการฉลองชัย ฉลองความสำเร็จ หรือแสดงความยินดีเมื่อมีอาคันตุกะมาเยี่ยม เช่น ขบวนแห่ผ้าป่า ขบวนกฐิน ขบวนครัวทาน หรือตีแสดงความปิติ เมื่อพระสงฆ์สวดให้พรเสร็จแล้ว
                - วงกลองสะบัดชัย  กลองสะบัดชัยเป็นกลองสองหน้า เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕๐ เซนติเมตร หนาประมาณ ๒๐ - ๓๐ เซนติเมตร ผูกไว้กับคานหาม เพื่อให้เคลื่อนที่ได้สะดวก ที่นิยมใช้ในการแสดงปัจจุบันมีอยู่สองแบบคือ แบบเป็นกลองเดี่ยวกับกลองที่มีลูกตุ๊บ ซึ่งจำลองมาจากกลองบูชา หรือย่อขนาดกลองบูชาให้เล็กลงสะดวกต่อการแบกหาม เช่นการบรรเลงไปกับขบวนแห่
            เครื่องดนตรีประกอบมีฉาบ ๑ - ๒ คู่ และฆ้องไม่น้อยกว่า ๓ ใบ บางแห่งใช้ฆ้องถึง ๙ ใบ จุดเด่นของกลองสะบัดชัย คือ เสียงกลองที่เร้าใจ คลุกเคล้าไปกับเสียงฉาบที่ตีล้อกับกลอง กับเสียงประสานของฆ้องที่ยืนจังหวะดังกระหึ่มไปทั่วงาน ลีลาท่าทางของนักแสดงมือกลองและมือฉาบหรือสว่า ที่สอดรับหลอกล้อ ซึ่งกันและกัน ช่วยเสริมให้กลองสะบัดชัยน่าดูน่าชมยิ่งขึ้น หากการแสดงมีระยะยาวนานมือกลองต้องมีคนคอยผลักอย่างน้อย ๑ - ๒ คน นอกจากใช้ฆ้อนหรือไม้ตีกลองแล้ว นักแสดงยังใช้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายช่วยตีกลองเช่นใช้ศีรษะ เข่า ศอก แต่ไม่นิยมใช้เท้าเตะกลอง เนื่องจากว่ากลองได้ลงอาคมไว้ถือว่าไม่สมควรเป็นการลบหลู่วิชา หรือลบหลู่ครู

                - วงกลองตกเส้ง  ชาวเหนือจะนำวงดนตรีที่มีแบบแผนในการบรรเลงที่นุ่มนวลช้า ๆ มาแห่นำขบวนงานบุญ โดยใช้วงกลองแอว หรือที่ชาวลำปางเรียกว่าวงตกเส้ง
            วงกลองแอวที่นำมาใช้ประโคมนำขบวนพิธีกรรมทางศาสนา แต่ละจังหวัดเรียกชื่อต่างกันไปเช่น เชียงใหม่ และลำพูนเรียกว่า วงตึ่งโนง แพร่เรียกว่า วงกลองอืด พะเยาเรียกว่าวงอืดสึ้ง
            ภาพรวมของวงกลองแอวดูคล้ายกัน คือใช้กลองยาวขนาดใหญ่แบบใช้คนหาม หรือบรรทุกบนล้อเข็นใช้ฆ้องขนาดใหญ่ที่ต้องใช้คนหามจำนวนสองใบ กลองตะหลดปดสามใบ ฉาบหรือสว่า หนึ่งคู่ และมีเครื่องเป่าสำหรับเดินทำนองคือ แน สองเลา
            นอกจากจะใช้ประโคมนำขบวนพิธีกรรม และประเพณีทางศาสนา เช่นขบวนครัวทาน ผ้าป่ากฐิน บวชนาค ฯลฯ ดนตรีจากวงตกเส้งยังใช้บรรเลงประกอบการฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน หรือการแสดงฟ้อนรำอื่น ๆ

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |