| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |


เมืองบริวารของแคว้นหริภุญชัย

            เวียงหริภุญชัย  เป็นเมืองโบราณที่เก่าแก่ที่สุดในแอ่งที่ราบเชียงใหม่ - ลำพูน มีกลุ่มเมืองที่กระจัดกระจายอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงตอนบน ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน กับบริเวณลุ่มแม่น้ำวัง ในเขตอำเภอเมือง ฯ และอำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง
            เวียงเขลางค์นคร  มีบทบาททางการเมืองคู่กับเวียงหริภุญชัยมาตลอดยุคสมัยของแคว้นหริภุญชัย เป็นเมืองที่โอรสองค์เล็กของพระนางจามเทวีปฐมกษัตริย์เมืองหริภุญชัย ไปครองหลังจากที่สร้างเสร็จ การแต่งตั้งผู้ครองเมืองนี้จะเป็นผู้ที่มีความสำคัญรองลงมาจากเมืองหริภุญชัยเสมอตั้งแต่เจ้าอนันตยศ ในสมัยแรกจนถึงพญาเบิกในสมัยพญาญีบา แต่ก็มีอยู่หลายสมัยที่ผู้ปกครองเมืองเขลางค์นครยกทัพไปตีเมืองหริภุญชัย
            เวียงท่ากาน  ตั้งอยู่ที่บ้านท่ากาน ตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ผังเวียงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด กว้าง ๔๙๐ เมตร ยาว ๗๔๐ เมตร ด้านตะวันตกติดกับแม่น้ำขาน ด้านตะวันออกติดกับแม่น้ำปิง มีร่องรอยการชักน้ำจากแม่น้ำปิงเข้ามาในคูเมือง กำแพงเมืองมีสองชั้น โดยมีคูเมืองคั่นกลาง ศูนย์กลางเวียงท่ากานเป็นวัดเช่นเดียวกับเวียงหริภุญชัย และเวียงเกาะในวัฒนธรรมหริภุญชัย
            วัดกลางเวียงท่ากานเป็นขนาดใหญ่  มีเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมอยู่กลางเมือง มีความเก่าแก่อยู่ประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๑๗ ร่วมสมัยกับหริภุญชัย พบร่องรอยวัฒนธรรมหริภุญชัย เช่น พระพุทธรูปประดับซุ้ม พระพิมพ์ดินเผา พระแผง และพบโบราณวัตถุในวัฒนธรรมล้านนา จากโบราณสถาน และโบราณวัตถุส่วนใหญ่ แสดงว่าเวียงท่ากานมีการดำรงสืบเนื่องจากยุคหริภุญชัยจนถึงยุคอาณาจักรล้านนา มีร่องรอยซากวัดอยู่หนาแน่น จากตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ได้มีการกล่าวถึง สมัยราชวงศ์มังรายได้จัดตั้งเป็นพันนาท่ากาน มีหมื่นท่ากานกินพันนาในฐานะของประมุขของเวียงท่ากาน และมีบทบาทสูงทางการเมืองเมื่อราชวงศ์มังรายสิ้นอำนาจลง
            เวียงมะโน  ตั้งอยู่ในเขตตำบลหนองตอง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเมืองโบราณสมัยหริภุญชัย ตั้งอยู่เหนือสุดห่างจากเวียงหริภุญชัยไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ แปดกิโลเมตร หลักฐานจากตัวอักษรที่พบในจารึกแม่หินบด ที่พบในเวียงมะโน ขนาดกว้าง ๒๑ เซนติเมตร สูง ๓๗ เซนติเมตร หนา ๓ เซนติเมตร จารึกเป็นอักษรมอญโบราณ เป็นภาษามอญ และภาษาพม่าโบราณ แสดงว่ามีความสัมพันธ์กับหัวเมืองมอญ และพม่า
            ผังเวียงมะโน  เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ ๗๕๐ เมตร ยาวประมาณ ๙๐๐ เมตร พบร่องรอยคูน้ำและคันดินเหลืออยู่บ้าง ด้านตะวันออกติดกับลำน้ำปิงเก่าซึ่งตื้นเขินแล้ว ในเวียงมะโนมีวัดกลางเวียง เช่นเดียวกับเวียงในยุคหริภุญชัยแต่มีขนาดเล็กกว่า และมีจำนวนไม่หนาแน่นเท่าเวียงท่ากาน
            การพบเครื่องปั้นดินเผาประเภทหม้อบรรจุอัฐิ ลายขูดขีดศิลปะหริภุญชัย เป็นเศษภาชนะแตกกระจัดกระจายอยู่ภายในเวียงเต็มไปหมด และมีความหนาแน่นบริเวณด้านทิศตะวันออกที่ติดกับลำน้ำ ส่วนศิลปะสมัยล้านนาประเภทเครื่องปั้นดินเผาก็พบเช่นกัน แสดงว่าเวียงมะโนมีความสืบเนื่องจากยุคหริภุญชัยถึงยุคล้านนา
            เวียงเถาะ ตั้งอยู่ที่บ้านสองแคว ตำบลสองแคว อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ผังเวียงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวเวียงอยู่ติดกับแม่น้ำปิงฝั่งตะวันตก ใกล้กับบริเวณที่แม่น้ำขานไหลมาบรรจบแม่น้ำปิง ตัวเวียงยาวขนานไปตามลำน้ำปิงในแนวทิศเหนือ-ใต้ ลักษณะเดียวกับเวียงหริภุญชัย จากการสำรวจพบว่าแม่น้ำปิงกัดเซาะจนตัวเวียงหายไปครึ่งเมือง ยังคงเห็นร่องรอยแนวแม่น้ำเดิมอยู่อย่างชัดเจน แต่ปัจจุบันแม่น้ำปิงได้เปลี่ยนเส้นทางไปไกลจากเวียงเถาะแล้ว
            รอยคันดินด้านตะวันตกพบเศษเครื่องปั้นดินเผาลายขูดขีดศิลปะหริภุญชัยอยู่บ้างเล็กน้อย หลักฐานสำคัญของเวียงเถาะคือ พระประธานวัดสองแคว ศิลปะหริภุญชัยประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ เป็นพระพุทธรูปศิลาเดิมประดิษฐานอยู่ ณ ที่นี้ ด้านหลังวิหารที่ประดิษฐาน พระพุทธรูปศิลาพบจารึกอักษรมอญโบราณ
            เวียงหอด  เวียงหอดหรือเวียงฮอด ตั้งอยู่ในเขตตำบลหางดง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเมืองโบราณสมัยหริภุญชัยที่อยู่ใต้สุด ผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างยาวด้านละประมาณ ๔๐๐ เมตร ด้านตะวันออกอยู่ใกล้แม่น้ำปิง สภาพคันดินคูน้ำถูกทำลายไปมาก ภาพในเวียงไม่ปรากฏวัดร้าง เหลืออยู่แต่บนผิวดิน ยังมีหลักฐานทางโบราณคดีเหลืออยู่บ้างเล็กน้อย เป็นเศษเครื่องปั้นดินเผา ที่มีลักษณะเช่นเดียวกับที่พบในเขตเมืองโบราณสมัยหริภุญชัย
            เวียงหอด  เป็นชุมชนสมัยหริภุญชัยที่มีความสัมพันธ์กับเมืองต่าง ๆ ตามแนวแม่น้ำปิง บริเวณที่เป็นชุมชนจะอยู่บริเวณวัดเจดีย์สูง ซึ่งมีกลุ่มวัดร้างอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งสองชุมชนคือตัวเวียงหอด และบริเวณวัดเจดีย์สูง รวมกันเป็นชุมชนเมืองหอด ในสมัยโบราณชุมชนหอดเป็นปากประตูสู่เมืองหริภุญชัย และดินแดนล้านนา เพราะตั้งอยู่บนเส้นทางคมนาคมสู่พม่า อยุธยา และเมืองทางใต้
สมัยผนวกเข้ากับอาณาจักรล้านนา
            เมื่อพญามังรายตีเมืองลำพูนได้ในประมาณ ปี พ.ศ.๑๘๓๕ ได้ให้ขุนฟ้าครองเมืองหริภุญชัย ส่วนพญามังรายไปสร้างเวียงกุมกาม เมื่อปี พ.ศ.๑๘๓๗ และไปสร้างเมืองเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๑๘๓๙ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนา โดยการผนวกแคว้นหริภุญชัย และแคว้นโยนกเข้าด้วยกัน
            ในขณะที่พญามังรายครองเมืองเชียงใหม่ พญาเบิกโอรสพญาญีบา เจ้าเมืองเขลางค์นครได้ยกกองทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ ได้ยกทัพมาล้อมเวียงกุมกามไว้ แต่ขุนครามโอรสพญาเม็งรายเจ้าเมืองเชียงรายยกกำลังมาช่วยไว้ได้ ตีกองทัพเมืองเขลางค์นครแตกกลับไป พญาเบิกถูกจับได้ที่ตำบลแม่ตาน (ขุนตาน) และถูกปลงพระชนม์ ณ ที่นั้น พญาญีบาอพยพหนีไปพึ่งพระยาพิษณุโลกที่เมืองสองแคว ขุนครามยึดเมืองเขลางค์นครได้แล้ว แต่งตั้งให้ขุนเสนาครองเมืองเขลางค์นคร เป็นการขยายอาณาเขตของพญาเม็งรายไปในดินแดนลุ่มแม่น้ำวัง
            สำหรับเมืองลำพูน ซึ่งอยู่ใกล้กับเมืองเชียงใหม่มาก ได้ให้ขุนนางไปปกครองเช่น ขุนฟ้าในสมัยพญามังราย หมื่นละพูนในสมัยพระนางจิรประภา และแสนลำพูนไชยในสมัยพระไชยเชษฐา แต่ในบางรัชกาลก็ดูแลเมืองลำพูนเอง
ชุมชนโบราณในเขตเมืองลำพูนในยุคล้านนา
            เวียงลี้  ตั้งอยู่บนเนินเขาในเขตตำบลลี้ อำเภอลี้ ตัวเวียงยังมีร่องรอยคูเมืองปรากฏอยู่ ส่วนแนวกำแพงเมืองเห็นไม่ชัดเจนนัก ตัวเวียงหันหน้าออกสู่ที่ราบทุ่งหลวงลี้ อันเป็นบริเวณที่ห้วยแม่แวน และห้วยแม่แต๊ะกับแม่น้ำลี้ไหลมาบรรจบกัน
            ตามตำนานพื้นเมืองที่เล่าต่อกันมาถึงการตั้งเมืองนี้ว่า มีพระนางจามรี นำผู้คนหนีภัยโรคระบาดจากเมืองหลวงพระบาง หรืออีกสำนวนหนึ่งว่า จากเมืองตอนเหนือของเมืองเชียงใหม่ เมื่อมาถึงเนินเขาลูกหนึ่ง เห็นว่าเป็นชัยภูมิดีจึงได้สร้างเวียงขึ้น และได้มีเจ้าเมืองปกครองต่อมาอีกสามองค์จนถึงสมัยเจ้านิ้วงามได้ถูกข้าศึกจากสุโขทัยมาตีเมืองได้ และกวาดต้อนผู้คนไปเมืองสุโขทัย
            เวียงหนองล่อง  ตั้งอยู่ในเขตตำบลวังผาง กิ่งอำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน ตัวเวียงตั้งอยู่ไม่ไกลจากแม่น้ำลี้นัก ผังเวียงเป็นรูปสี่เหลี่ยม ยังปรากฏร่องรอยของคูเวียงและคันดินบางส่วน
            จากตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ได้กล่าวถึงพญาจ่าบ้าน เจ้าเมืองเชียงใหม่ที่ได้ขับไล่อิทธิพลพม่าออกไปจากเชียงใหม่ จากการช่วยเหลือของพระเจ้ากรุงธนบุรี และพญากาวิละ ในปี พ.ศ.๒๓๑๗ ฝ่ายพม่าได้ยกกำลังมาตีเมืองเชียงใหม่คืน พญาจ่าบ้านจึงนำผู้คนมาตั้งมั่นที่เวียงหนองล่อง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๐
            เวียงสะแกง  ตั้งอยู่ในเขตตำบลหนองล่อง กิ่งอำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน ตั้งอยู่ใกล้กับบริเวณที่แม่น้ำลี้ไหลมาบรรจบแม่น้ำปิง เป็นสถานที่ตั้งมั่น เพื่อต่อสู้กับพม่าของพญาจ่าบ้าน เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๒ ต่อมาพญากาวิละ ได้รวบรวมผู้คนเพื่อตีเมืองเชียงใหม่คืนจากพม่า ได้รวบรวมผู้คนของพญาจ่าบ้านที่เวียงสะแกงได้ ๗๐๐ คน แล้วไปตั้งมั่นที่เวียงป่าซางต่อไป
            เวียงหวาย  ตั้งอยู่ในเขตตำบลบ้านโฮ่ง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน อยู่ทางทิศตะวันตกของวัดพระเจ้าสะเลียมหวาน มีพระพุทธรูปพระเจ้าสะเลียมหวาน เป็นพระพุทธรูปไม้สะเดาหวาน(สะเลียมหวาน) ปางอุ้มบาตร สูง ๒.๔๐ เมตร ประดิษฐานอยู่
            ตามตำนานพระเจ้าสะเลียมหวาน แสดงว่ามีเจ้าเมืองปกครองสืบต่อกันมา ยังปรากฏศาลเจ้าเมืองพญาจันทร์ตั้งอยู่
            เวียงหวาย  กลายเป็นเมืองร้างไปพร้อมกับอาณาจักรล้านนา
            เวียงป่าซาง  ตั้งอยู่ในเขตตำบลป่าซาง อำเภอป่าซาง ในครั้งที่พระเจ้ากาวิละแห่งเมืองลำปางรวบรวมผู้คนเพื่อฟื่นฟูเมืองเชียงใหม่  เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๓๒๕ เป็นต้นมา โดยนำกำลังพล ๓๐๐ คน จากเมืองลำปางมาสมทบกับกำลังของพญาจ่าบ้านที่เวียงสะแกง  ได้มาตั้งมั่นอยู่ที่เวียงป่าซางเป็นฐานในการเข้าไปฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ใน ปี พ.ศ.๒๓๓๙
            เวียงป่าซาง  ตั้งอยู่บนสองฝั่งของแม่น้ำทา ตัวเวียงยาวประมาณ ๑,๐๐๐ เมตร มีป้อมปราการแข็งแรง มีร่องรอยของป้อมปราการที่เหลืออยู่สี่ป้อม ภายในเวียงมีวัดอยู่สองแห่ง
สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

            เมื่อพระเจ้ากาวิละได้เข้าไปตั้งมั่นที่เมืองเชียงใหม่ได้แล้วใน ปี พ.ศ.๒๓๓๙ ในระยะแรกก็ได้ไปเกลี้ยกล่อมผู้คนจากเมืองเล็กเมืองน้อย แถบแม่น้ำสาละวินมาไว้ที่เวียงป่าซาง พระเจ้ากาวิละได้ไปเกลี้ยกล่อมเจ้าฟ้าเมืองยอง เมืองฝาง เมืองเชียงราย และเมืองสาด ให้ต่อต้านพม่า เจ้าเมืองยองยอมทิ้งเมืองพาผู้คนมาอยู่ที่เวียงป่าซาง
            ในปี พ.ศ.๒๓๔๕ เจ้ากาวิละเริ่มตีเมืองเชียงตุง และเมืองสาดได้ และตีเมืองเชียงแสนได้ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๔๗ โดยกองกำลังผสมจาก เชียงใหม่ กรุงเทพ ฯ ลำปาง เวียงจันทน์ และเมืองน่าน ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๔๘ กองทัพเชียงใหม่ได้ยกขึ้นไปกวาดต้อนผู้คนตามเมืองที่อยู่ทางตอนเหนือของเมืองเชียงแสนคือ เมืองยอง เมืองยู้ เมืองหลวย เมืองเชียงตุง เมืองเชียงขาง  เมืองวะ เมืองลอง เมืองกาย เมืองขัน เมืองหุน เมืองงาด เมืองงึม เมืองเสี้ยว สิบสองปันนา เชียงรุ่ง ฯลฯ
           การปฏิบัติการดังกล่าว เป็นการกวาดต้อนผู้คนครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ล้านนา ทำให้เกิดการตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ในเขตเมืองเชียงใหม่ และลำพูนของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ผู้คนที่ถูกกวาดต้อนมา หากเป็นช่างฝีมือ และไพร่ชั้นดีจะกำหนดให้อยู่ในเมือง เช่น เขินที่หายยา อพยพมาจากเชียงตุง เชี่ยวชาญการทำเครื่องเขินมาอยู่เชียงใหม่ระหว่างกำแพงเมืองชั้นนอก และชั้นในทิศใต้ ยวนบ้านฮ่อมเชี่ยวชาญการทำดอกไม้กระดาษ กลุ่มไต หรือไตใหญ่ เชี่ยวชาญด้านการค้า ส่วนไพร่ที่ไร้ฝีมือจะให้ไปตั้งถิ่นฐานอยู่นอกเมืองเช่นเขินที่สันทราย ยองที่ลำพูน
            ผู้คนที่ถูกกวาดต้อนมาจะยกมาเป็นกลุ่มเมือง เมื่อมาตั้งถิ่นฐานใหม่ได้ตั้งชื่อหมู่บ้านตามชื่อบ้านเมืองเดิมที่ถูกกวาดต้อนมา เช่น บ้านเมืองลวง บ้านเมืองแสน เมืองวะ เมืองสาด เมืองยู้ เมืองหลวย เมืองพยาก เป็นต้น บางแห่งแต่งตั้งตามทำเลใหม่ เช่นบ้านช่างกระดาษ สันป่าตอง บ้านป่าลาน บ้านสันกลาง เป็นต้น
            เมืองลำพูนได้รับการจัดตั้งขึ้นใหม่ ภายหลังจากที่คนยอง ที่ถูกกวาดต้อนมาอยู่ลำพูนใน ปี พ.ศ.๒๓๔๘ มีพระยาบุรีรัตน์ (คำฝั้น) อนุชาพระเจ้ากาวิละมาครองเมืองเป็นคนแรก มีเจ้าบุญมาน้องคนสุดท้ายของตระกูลเจ้าเจ็ดตน เป็นพระยาอุปราช เมืองลำพูนมีความสำคัญรองลงมาจากเมืองเชียงใหม่ และเมืองลำปางตามลำดับ คาดว่าคนเมืองยองถูกกวาดต้อนมาอยู่ที่ลำพูน ประมาณ ๑๐,๐๐๐ คน
            การแบ่งไพร่พลยอง ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองลำพูน ให้พระยามหยังคบุรีเจ้าเมืองยอง และน้องอีกสามคน ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำกวง ตรงข้ามกับเมืองลำพูน ที่บ้านเวียงยอง ให้ผู้คนที่อพยพจากเมืองยู้ เมืองหลวย ไปตั้งถิ่นฐานอยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้ชุมชนเหล่านี้ทอผ้าให้กับเจ้าเมืองลำพูน
            นอกจากนั้นการตั้งถิ่นฐานของชาวยองจะขยายตัวไปตามแนวลำน้ำ หมู่บ้านหลักในขณะนั้นในเขตลุ่มแม่น้ำกวง มีบ้านเวียงยอง บ้านยู้ บ้านหลวย บ้านตอง บ้านหลิ่วห้า (ศรีบุญยืน) บ้านปิงห่าง (หนองหมู) ตามลุ่มแม่สาร มี บ้านป่าขาม บ้านสันป่าสัก บ้านสัมคะยอม ในเขตลุ่มแม่น้ำปิง มี บ้านริมปิง บ้านประตูป่า บ้านหลุก บ้านบัว บ้านบาน ในเขตลุ่มน้ำแม่ทา มี บ้านป่าซาง บ้านสบทา บ้านฉางข้าวน้อย บ้านแซม บ้านสะปุ๋ง บ้านหวาย อีกส่วนหนึ่งได้ขยายตัวจากที่ราบป่าซางเข้าสู่เขตอำเภอบ้านโฮ่ง และอำเภอลี้ ในลุ่มแม่น้ำลี้
            มีชาวไตเขินจากเชียงตุง มาตั้งถิ่นฐานที่บ้านสันดอนรอม นอกเขตกำแพงเมืองทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ที่บ้านแป้น ตำบลบ้านแป้น และก่อนการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวยอง ได้มีการกวาดต้อนชาวไตใหญ่จากเมืองปุ เมืองปั่น เมืองสาด เมืองนาย เมืองขวาด เมืองแหน และกลุ่มคนที่เรียกว่า ยางค้างหัวตาด ยาวหัวด่าน มาไว้ที่เวียงป่าซาง
            ภายหลังที่ตั้งเป็นเมืองลำพูน เมื่อปี พ.ศ.๒๓๔๘ ในฐานะเป็นหัวเมืองประเทศราชขึ้นกับราชอาณาจักรสยามแล้ว ในปี พ.ศ.๒๓๕๑ พระเจ้ากาวิละได้เกณฑ์กำลังพลชาวเมืองลำพูน ประมาณ ๑,๐๐๐ คนรวมกับกำลังจากเชียงใหม่ และลำปาง เข้าตีเมืองยาง ที่ถูกพม่ายึดไว้แต่ไม่สำเร็จ จึงเทครัวอพยพชาวเมืองยองลงมาอยู่ที่เชียงแสน
           พระยาอุปราช (บุญมา)  แห่งเมืองลำพูน ผู้เป็นอนุชาองค์เล็กของตระกูลเชื้อเจ็ดตน ได้รับแต่งตั้งจากกรุงเทพ ฯ ให้เป็นเจ้าเมืองลำพูนองค์ที่สอง ระหว่างปี พ.ศ.๒๓๕๙ - ๒๓๗๐ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาอุปราช (น้อย อินทร) เป็นพระยาลำพูนองค์ที่สาม ระหว่างปี พ.ศ.๒๓๗๐ - ๒๓๘๑ เมืองลำพูนได้ขยายตัวไปผู้คนไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในลุ่มน้ำต่าง ๆ อย่างมีความมั่นคง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๒ ดร.ริชาร์ดสัน ข้าราชการชาวอังกฤษได้เข้ามาสำรวจเส้นทาง และสภาพการค้าในเขตเมืองเชียงใหม่ ลำปาง และลำพูน ได้บันทึกไว้ว่า ประชากรของเมืองลำพูนมีอยู่ประมาณ ๑๔,๐๐๐ คน
            ในปี พ.ศ.๒๓๘๑ พระยาลำปางไชยวงศ์ เจ้าเมืองลำปางได้ถึงแก่พิราลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้แต่งตั้งพระยาอุปราช (น้อย อินทร) เจ้าเมืองลำพูนไปเป็นเจ้าเมืองลำปาง และโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาอุปราช (คำตัน) เป็นเจ้าเมืองลำพูน (องค์ที่สี่) คนมอญและคนพม่าในบังคับอังกฤษเริ่มเข้ามาดำเนินธุรกิจทำไม้ ในป่าปลายแขนแขวงเมืองตาก เมืองเชียงใหม่ และเมืองลำพูน
            พระยาอุปราช (คำตัน) เป็นเจ้าเมืองลำพูนถึง ปี พ.ศ.๒๓๘๔ ก็พิราลัย พระยาบุรีรัตน์ (เจ้าน้อยธรรมลังกา) บุตรเจ้าบุญมาได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นเจ้าเมืองลำพูน (องค์ที่ห้า)ถึงปี พ.ศ.๒๓๘๖ ก็พิราลัย เจ้าหนานไชยลังกาได้รับโปรดเกล้า ฯ เป็นเจ้าเมืองลำพูน (องค์ที่หก) ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับขนานนามเป็นเจ้าไชยลังกาพิศาลโสภาคุณหริภุญชัย เป็นเจ้านครลำพูนถึง ปี พ.ศ.๒๔๑๔ จึงให้ยกเลิกตำแหน่งพระยาหัวเมืองแก้ว เปลี่ยนเป็นตำแหน่งเจ้าบุรีรัตน์
ยุคปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
            เจ้าราชวงศ์ดาวเรืองรักษาการเจ้าเมืองลำพูน ตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๔๑๔ - ๒๔๑๘ จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าดาราดิเรกไพโรจน์ เจ้านครลำพูนไชย
            หลังจากที่มีการทำสนธิสัญญาเชียงใหม่ (ฉบับที่ ๑) เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๖ ลงนามที่กัลกัดตาแล้ว ทางกรุงเทพ ฯ ได้ส่งพระนรินทร์ราชเสนี (พุ่ม ศรีไชยยันต์) ปลัดบัญชีกรมพระกลาโหมไปเป็นข้าหลวงสามหัวเมือง ประจำอยู่ที่เชียงใหม่ เพื่อควบคุมดูแลให้เจ้าหลวงเชียงใหม่ ลำปาง และลำพูนปฏิบัติตามสนธิสัญญาเชียงใหม่ ทำหน้าที่ประสานงาน ระหว่าง กรุงเทพ ฯ กับล้านนา แต่การปฏิบัติงานยังไม่ได้ผล จึงได้มีการแก้ไข และทำสนธิสัญญาเชียงใหม่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๔๒๖ กำหนดให้คนในบังคับอังกฤษต้องขึ้นศาลต่างประเทศทั้งคดีแพ่ง และอาญา
            ตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๔๒๗ ได้ยกเลิกฐานะหัวเมืองประเทศราชแล้วจัดการปกครองโดยรวมหัวเมืองใกล้เคียงกัน จัดเป็นหน่วยการปกครองที่เรียกว่า มณฑล ดินแดนล้านนาจึงเป็นมณฑลพายัพ กระทรวงมหาดไทยส่งข้าหลวงเทศาภิบาลมาปกครอง ส่วนแต่ละเมืองก็ส่งข้าหลวงประจำเมืองมาปกครอง และส่งนายแขวงมาปกครองแขวงหรืออำเภอ ส่วนตำบลและหมู่บ้านให้คนในท้องถิ่นปกครอง
            พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเลือกสรรข้าหลวงที่มีความสามารถ และเป็นเจ้านายเชื้อพระวงศ์ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับนับถือ และยำเกรงของเจ้าผู้ครองนคร ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นพิชิตปรีชากร มาดำรงตำแหน่งข้าหลวงพิเศษ มีการแต่งตั้งเสนาหกตำแหน่งคือ กรมมหาดไทย กรมทหาร กรมครัว กรมยุติธรรม กรมวัง และกรมนา เข้าไปแทนตำแหน่งเจ้าขันห้า (เจ้าเมือง เจ้าอุปราช เจ้าราชวงศ์ เจ้าบุรีรัตน์ และราชบุตร) และเค้าสนามหลวง(ขุนนางชั้นสูง ๓๒ คน)
            ในปี พ.ศ.๒๔๓๑ เจ้าดาราดิเรกรัตน์ไพโรจน์ พิราลัย เกิดปัญหาแย่งชิงอำนาจในหมู่เจ้านายและบุตรหลาน ข้าหลวงพิเศษมณฑลลาวเฉียงได้มอบให้เจ้านายเมืองลำพูน ปรึกษาหารือกันในการจัดการปกครองเมืองลำพูนเสียใหม่
            เมื่อสิ้นสมัยเจ้าเหมพินธุไพจิตร (คำหยาด) เจ้าผู้ครองนครลำพูน ลำดับที่ ๘ (พ.ศ.๒๔๓๑ - ๒๔๓๘) ทางกรุงเทพ ฯ มีนโยบายที่จะปฏิรูปการปกครองเมืองลำพูนก่อนเมืองเชียงใหม่ และลำปาง เพราะเป็นเมืองเล็ก แต่ก็ได้รับการต่อต้านจากเจ้านายและบุตรหลาน
            การปฏิรูปการปกครองอย่างจริงจัง มีขึ้นในสมัยเจ้าอินทยศโชติ (เจ้าน้อยหมวก) เจ้าเมืองลำพูน ลำดับที่ ๙ (พ.ศ.๒๔๓๘ - ๒๔๕๔) ในปี พ.ศ.๒๔๔๓ ได้จัดราชการเมืองลำพูนใหม่โดยการบริหารราชการระดับเมืองเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการบริหาร ที่เรียกว่า เค้าสนามหลวง เจ้าผู้ครองนคร ข้าหลวงประจำนคร และข้าหลวงผู้ช่วย แบ่งเขตการปกครองเมืองลำพูนออกเป็นสองแขวง คือ แขวงในเมือง นอกเมืองลำพูน และแขวงเมืองลี้ มีนายแขวง (นายอำเภอ) ที่ส่วนกลางแต่งตั้งมาปกครอง ในแต่ละแขวง แบ่งออกเป็นแคว้น มีแคว่น (กำนัน) ปกครอง แขวงลำพูนแบ่งออกเป็น ๒๘ แคว้น แขวงเมืองลี้ แบ่งออกเป็น ๕ แคว้น จำนวนประชากรในปี พ.ศ.๒๔๔๕ จากรายงานมี ประมาณ ๑๑๐,๐๐๐ คน แขวงลำพูนมีประมาณ ๙๒,๐๐๐ คน
            ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ดำเนินนโยบายยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมืองโดยเด็ดขาด นับตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๔๖๙ เป็นต้นไป หากเจ้าเมืองใดว่างลงจะไม่โปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งขึ้นอีก เจ้าเมืองลำพูนองค์สุดท้ายคือ นายพลตรี เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ (พ.ศ.๒๔๕๔ - ๒๔๘๖) ส่วนเจ้าเมืองที่มีชีวิตอยู่ก็ได้เงินเดือนไปจนกว่าจะถึงแก่กรรม
ลำดับเจ้าผู้ครองนครลำพูน
            ๑.  เจ้าคำฝั้น (พ.ศ.๒๓๔๘ - ๒๓๕๙) เป็นอนุชาของพระเจ้ากาวิละ บุตรลำดับที่ แปดของเจ้าชายแก้วแห่งเมืองลำปาง เป็นแม่ทัพคนหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ในการขับไล่อิทธิพลพม่าออกไปจากล้านนาที่เมืองเชียงแสน
            ๒.  เจ้าบุญมา (พ.ศ.๒๓๕๙ - ๒๓๗๐) เป็นอนุชาพระเจ้ากาวิละ บุตรลำดับที่สิบของเจ้าชายแก้วแห่งเมืองลำปาง
            ๓.  เจ้าน้อยอินทร (พ.ศ.๒๓๗๐ - ๒๓๘๑) เป็นบุตรเจ้าคำสม เจ้าเมืองลำปางองค์แรก และในปี พ.ศ.๒๓๘๑ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองลำปาง
            ๔.  เจ้าน้อยคำตัน (พ.ศ.๒๓๘๑ - ๒๓๘๔) เป็นบุตรเจ้าบุญมา เจ้าเมืองลำพูนองค์ที่สอง
            ๕.  เจ้าน้อยธรรมลังกา (พ.ศ.๒๓๘๔ - ๒๓๘๖) เป็นบุตรเจ้าบุญมา น้องเจ้าน้อยคำตัน
            ๖.  เจ้าไชยลังกาพิศาลโสภาคุณหริภุญชัย - เจ้าหนานไชยลังกา (พ.ศ.๒๓๘๖ - ๒๔๑๔) เป็นบุตรคนที่สี่ของเจ้าคำฝั้น เจ้าเมืองลำพูนองค์ที่หนึ่ง
            ๗.  เจ้าดาราดิเรกรัตนไพโรจน์ (พ.ศ.๒๔๑๔ - ๒๔๓๑) เป็นบุตรลำดับที่ หกของเจ้าไชยลังกา ฯ ในช่วงนี้ทางกรุงเทพ ฯ ไม่ได้แต่งตั้งเจ้าเมืองลำพูนเป็นเวลาสี่ปี (พ.ศ.๒๔๑๔ - ๒๔๑๘) ในครั้งสงครามเชียงตุง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๕ ได้เป็นแม่ทัพคนหนึ่งของกองทัพเมืองลำพูน
            ๘.  เจ้าเหมพันธุ์ไพจิตร เจ้าคำหยาด(พ.ศ.๒๔๓๑ - ๒๔๓๘) เป็นบุตรเจ้าไชยลังกา ฯ
            ๙.  เจ้าอินทยงยศ - เจ้าน้อยหมวก (พ.ศ.๒๔๓๘ - ๒๔๕๔) เป็นบุตรเจ้าดาราดิเรกรัตน์ไพโรจน์ ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล
            ๑๐.  นายพลตรีเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ (พ.ศ.๒๔๕๔ - ๒๔๘๖) เป็นบุตรเจ้าอินทยงยศ ทางกรุงเทพ ฯ ให้มีการยกเลิกตำแหน่งเจ้าผู้ครองนคร ในฐานะหัวเมืองประเทศราช เป็นเจ้าผู้ครองลำพูนองค์สุดท้าย

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |