| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |


มรดกทางวัฒนธรรม

โบราณสถาน และโบราณวัตถุ
            จังหวัดลำพูน มีประวัติความเป็นมายาวนาน มีร่องรอยโบราณสถานที่เก่าแก่ มีคุณค่าทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี มีสถานที่ที่เป็นแหล่งโบราณคดี แหล่งประวัติศาสตร์ มีหลักฐานทางโบราณคดีที่สำรวจพบหลายประเภท มหาอำมาตย์โท พระยาราชนุกูลวิบูลย์ภักดี สมุหเทศาภิบาลพายัพ ได้ดำริที่จะรวบรวมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่ค้นพบและได้รับบริจาคจากประชาชน แล้วจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับมณฑลพายัพขึ้น เพื่อมิให้โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุเหล่านั้นสูญหายไป สำหรับที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ครั้งแรกคือ บริเวณศาลาบาตร ตรงมุมด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ขององค์พระธาตุหริภุญชัย ปัจจุบันโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุบางส่วนได้ขึ้นทะเบียน และจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติหริภุญชัย จังหวัดลำพูน
    แหล่งโบราณคดี

            แหล่งโบราณคดีสมัยก่อนล้านนาในลุ่มแม่น้ำกวง  พบแหล่งโบราณคดีหลายแห่งที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของการอยู่อาศัยที่ต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน มีผู้คนอยู่อาศัยดำรงชีวิตแบบดั้งเดิม ในสังคมเกษตรกรรมสมัยโลหะตอนปลาย กระจายอยู่ตามแนวลำน้ำตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๒ มีรูปแบบทางวัฒนธรรมรวมกันเป็นของตนเอง และมีการติดต่อแลกเปลี่ยนกับชุมชนภายนอก จนถึงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๔ เมื่อวัฒนธรรมจากภาคกลางของประเทศเข้ามาผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และวัฒนธรรม
            แหล่งโบราณคดีเมืองลำพูน  ที่ตั้งเมืองลำพูน หรือหริภุญชัย ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำกวง ทางด้านทิศตะวันออกของตัวเมืองปัจจุบัน มีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมค่อนข้างรี หรือที่ตามตำนานกล่าวว่ามีรูปเหมือนหอยสังข์ เมืองนี้ตามตำนานกล่าวว่า ฤาษีวาสุเทพได้สร้างขึ้นมาแล้ว ไปอัญเชิญพระนางจามเทวีราชธิดากษัตริย์เมืองละโว้มาปกครอง เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๓ มีกษัตริย์ปกครองสืบต่อกันมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ในสมัยพญาญีจึงสิ้นราชวงศ์ มีหลักฐานจากศิลาจารึกภาษามอญโบราณ เป็นอักษรมอญเจ็ดหลัก กล่าวถึงกษัตริย์หริภุญชัย ที่ครองราชย์ในช่วงปี พ.ศ.๑๕๙๖ - ๑๖๔๑ ทรงบำเพ็ญกุศลเนื่องในพุทธศาสนา
            แหล่งโบราณคดีวัดสังฆาราม (ประตูลี้)  ตั้งอยู่ในเขตตำบลในเมือง อำเภอเมือง ฯ วัดสังฆาราม เป็นวัดเก่าแก่ ตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี กล่าวกันว่าเป็นวัดหนึ่งของวัดสี่มุมเมือง เป็นวัดที่ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศใต้ พบพระพิมพ์ดินเผาสกุลช่างต่าง ๆ ภาชนะดินเผาแบบหริภุญชัย และกลุ่มโครงกระดูกคนเป็นจำนวนมาก พบหม้อที่บรรจุกระดูกคนแบบวัฒนธรรมหริภุญชัย เศษกระดูกคนเผาไฟ ลูกปัดแก้ว พระพิมพ์ดินเผา เชิงเทียน ภาชนะดินเผาประเภทเครื่องเคลือบสีขาวของจีน สมัยราชวงศ์ซุ่ง เครื่องประดับสำริด เครื่องมือเหล็ก กระเบื้องมุงหลังคา และมีเศษอิฐกระจายอยู่หนาแน่น
            แหล่งโบราณคดีบ้านวังไฮ  ตั้งอยู่บนที่ราบทางตะวันออกของแม่น้ำกวง ในเขตบ้านวังไฮ ตำบลเวียงยอง อำเภอเมือง สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่โล่ง บริเวณที่พบหลักฐานเป็นเนินดินสูงกว่าบริเวณพื้นที่โดยรอบเล็กน้อย พบเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๙ ได้พบโบราณวัตถุหลายประเภท ได้แก่ โครงกระดูกมนุษย์ ภาชนะดินเผา แวดินเผา เครื่องมือหินกะเทาะ เครื่องมือเหล็ก เครื่องประดับประเภทลูกปัดหิน ลูกปัดแร่ อาเกต กำไลสำริด ต่างหูแก้ว ฯลฯ จากหลักฐานที่พบพอสรุปได้ว่า ในระยะแรกมีกลุ่มชนสังคมดั้งเดิมอยู่ในแถบที่ราบเชียงใหม่ - ลำพูน มีวัฒนธรรมแบบแรกเริ่มสังคมบรรพกาล มีการติดต่อกับกลุ่มชนจากภาคกลางที่นำวัฒนธรรม ทวาราวดีมาด้วย และเริ่มค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงการฝังศพมาเป็นการเผาศพ เพราะจากชั้นดินที่สองได้พบภาชนะแบบหริภุญชัยที่ใช้บรรจุกระดูกอยู่เป็นจำนวนพอสมควร
            แหล่งโบราณคดีโรงเรียนบ้านเวียงยอง (วัดดอนแก้ว)  วัดดอนแก้วเป็นวัดร้าง  ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางด้านตะวันออกของแม่น้ำกวง ในเขตตำบลเวียงยอง อำเภอเมือง ฯ พบพระพุทธรูปหินทรายสามองค์ พบศิลาจารึกสองหลักเป็นเรื่องราวการสร้างเจดีย์โดยพระเจ้าสรรพสิทธิ์ มีอายุอยู่ประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๑๗ จากการขุดค้นทางโบราณคดี พบหลักฐานกิจกรรมของมนุษย์ในอดีตเป็นสามระยะ ได้ขุดพบก้อนดินเหนียวที่เหมาะสำหรับทำผลิตภัณฑ์ประเภทดินเผา พบร่องรอยเกี่ยวกับประติมากรรมรูปปั้น ได้พบก้อนดินเผาเนื้อสุกสีแดง ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นแกนของประติมากรรมปูนปั้น เป็นการพบหลักฐานกิจกรรมที่อาจเกี่ยวข้องกับ การสร้างวัตถุเนื่องในพระพุทธศาสนา
            แหล่งโบราณคดีบ้านวังม่วง  ตั้งอยู่ริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำกวง ในเขตตำบลเวียงยอง อำเภอเมือง ฯ พื้นที่เป็นดินป่าละเมาะ พบเศษภาชนะดินเผาคล้ายคลึงกับที่พบในแหล่งโบราณคดีบ้านศรีย้อย สันนิษฐานว่าเป็นแหล่งโบราณคดีที่อยู่ในสมัยหริภุญชัย หรือก่อนหน้านั้น
            แหล่งโบราณคดีบ้านศรีย้อย  ตั้งอยู่ริมตลิ่งฝั่งขวาของแม่น้ำกวงค่อนไปทางทิศใต้ของตัวเมืองลำพูน ในเขตตำบลต้นธง อำเภอเมือง ฯ พบเศษภาชนะดินเผาตกแต่งผิวด้วยลวดลาย และวิธีการต่าง ๆ ทั้งลายขูดลายขีด ลายประทับ ภาชนะรูปทรงต่าง ๆ เช่นหม้อก้นกลม หม้อมีเชิง ชามก้นบาตร และฝาโกศ ซึ่งเป็นภาชนะในสมัยหริภุญชัย สันนิษฐานว่าเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชุมชนเกษตรกรรมสมัยหริภุญชัย หรือก่อนหน้านั้น
            แหล่งโบราณคดีวัดมณียาราม (กู่ละมัก)  ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของตัวเมืองลำพูน ริมฝั่งแม่น้ำกวงฝั่งตะวันตก ในเขตตำบลบ้านธง อำเภอเมือง ฯ ตามพงศาวดารโยนก ได้กล่าวถึง การสร้างมหาเจดีย์ในวัดกู่ละมัก โดยพระนางจามเทวีโปรดให้นายธนูศิลป์ยิงธนูเสี่ยงทาย เพื่อหาสถานที่สร้างมหาเจดีย์ ธนูมาตกริมฝั่งแม่น้ำกวงด้านทิศตะวันตก บริเวณที่เป็นวัดกู่ละมักปัจจุบัน พระนางจามเทวีจึงโปรดให้ก่อมหาเจดีย์ตรงจุดที่ลูกธนูตกแล้วบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายใน
            จากการขุดค้น เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔ ปรากฏร่องรอยมนุษย์สามชั้นวัฒนธรรม ระยะแรกโบราณวัตถุที่พบส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนภาชนะดินเผาแบบหริภุญชัย ชิ้นส่วนเครื่องประดับสำริด และถ่านที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ มีอายุอยู่ประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๖ ระยะที่สอง พบชิ้นส่วนเครื่องถ้วยล้านนา ในพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑ เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หยวน พุทธศตวรรษที่ ๑๘ - ๒๐ และราชวงศ์หมิง พุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑ ปะปนอยู่กับเครื่องถ้วยหริภุญชัย ระยะที่สามพบร่องรอยของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน โดยพบชั้นดินที่นำมาปรับพื้นที่ภายในวัด โบราณวัตถุที่พบมีหลายอย่างที่เป็นศิลปะหริภถุญชัย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริเวณวัดแห่งนี้มีร่องรอยว่าเคยเป็นที่ตั้งศาสนสถานรุ่นเก่า ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘
            แหล่งโบราณคดีบ้านบ่อแก้ว  ตั้งอยู่ในเขตตำบลต้นธง อำเภอเมือง ฯ พบเศษภาชนะดินเผา เครื่องเคลือบเตาพื้นเมืองล้านนา และเครื่องถ้วยจีน โดยขุดพบตุ้มถ่วงแหดินเผา กล้องยาสูบดินเผา ลูกปัดหินคาร์เนเลียน ภาชนะดินเผาทรงหม้อคณที ซึ่งเป็นลักษณะของภาชนะแบบหริภุญชัย แสดงว่ามีการใช้พื้นที่แห่งนี้เป็นที่อยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยหริภุญชัยแล้ว
            แหล่งโบราณคดีบ้านสันต้นธง  ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำกวง ในเขตตำบลต้นธง อำเภอเมือง ฯ ลักษณะพื้นที่เป็นเนินเตี้ย ๆ กลางทุ่งนา มีซากโบราณสถานเป็นเนินเตี้ย ๆ และมีเศษอิฐกระจายอยู่ทั่วไป พบโบราณวัตถุที่เป็นเศษภาชนะกระเบื้อง อิฐเสาอาคาร ชิ้นส่วนภาชนะลายขูดขีดรูปสามเหลี่ยมแบบหริภุญชัย และชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมในสมัยล้านนา แสดงว่าพื้นที่นี้มีการอยู่อาศัยตั้งแต่สมัยหริภุญชัยต่อเนื่องมาจนถึงล้านนา
            แหล่งโบราณคดีบ้านสัมมะนะ  ตั้งอยู่ในเขตตำบลต้นธง อำเภอเมือง ฯ พบเศษภาชนะดินเผา ซึ่งสามารถนำมาต่อกันได้เป็นรูปทรงหม้อก้นกลมขนาดเล็กและขนาดใหญ่ หม้อขนาดใหญ่ขึ้นรูปด้วยมือ เนื้อดินค่อนข้างละเอียด ทำลายเชือกทาบบริเวณก้นหม้อ ส่วนหม้อขนาดเล็กมีเนื้อหยาบ ลายเชือกทาบ และอีกใบหนึ่งทำลายขูดขีดเป็นเส้นคลื่นรอบตัวหม้อ และไหล่ โดยผิวภาชนะมีการทำน้ำดิน และขัดมัน นอกจากนี้ยังพบภาชนะรูปทรงกระบอก ที่มีการขัดผิวดำ และทำลายขูดขีดรอบ ๆ ภาชนะ และยังพบกระดูกมนุษย์ถูกฝังอยู่ร่วมกับภาชนะดินเผาดังกล่าว พื้นที่นี้จึงน่าจะเป็นแหล่งฝังศพของกลุ่มคนพื้นเมืองดั้งเดิม ที่ดำรงชีวิตตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณที่ราบริมแม่น้ำ
            แหล่งโบราณคดีวัดสันริมปิง  ตั้งอยู่ในเขตตำบลริมปิง อำเภอเมือง ฯ จากการสำรวจ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๘ พบโบราณวัตถุจำพวกเศษภาชนะดินเผากระจัดกระจาย โบราณวัตถุที่พบส่วนใหญ่เป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน และโบราณวัตถุที่เกี่ยวเนื่องกับการสร้างที่อยู่อาศัยหรือศาสนสถาน จึงสันนิษฐานได้ว่าพื้นที่แห่งนี้น่าจะเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนขนาดใหญ่ และน่าจะมีความสัมพันธ์กับชุมชนภายในเมืองหริภุญชัย และมีการใช้พื้นที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องมาจนถึงสมัยล้านนา
            แหล่งโบราณคดีเมืองโบราณ  ตั้งอยู่บนเนินเขาในเขตตำบลลี้ อำเภอลี้ ได้มีการสำรวจ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕ พบหลักฐานทางโบราณคดีประเภท ภาชนะดินเผา ตะกัน ครกดินเผา สากดินเผา เครื่องถ้วยจีน เครื่องมือเหล็ก เครื่องมือหิน สรุปได้ว่าเมืองโบราณแห่งนี้มีอายุอยู่ประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๒๐ จนถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๒
            แหล่งโบราณคดีบ้านทาปลาดุก ตั้งอยู่ในเขตตำบลทาปลาดุก อำเภอแม่ทา เป็นแหล่งฝังศพของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย พบเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙ โบราณวัตถุที่พบได้แก่ โครงกระดูกมนุษย์หนึ่งโครง ขวานหินขัดขนาดเล็กหนึ่งชิ้น ภาชนะดินเผาหลายใบ มีรูปแบบสำคัญอยู่สามแบบคือ
                -  แบบที่ ๑ เป็นหม้อมีสัน ก้นกลม ไหล่กว้าง คอสั้น ขอบปากบานออก ที่ช่วงล่างและก้นหอยมีลายเชือกทาบ เหนือสันที่บริเวณไหล่จนถึงคอ ผิวขัดมันเรียบ มีลายขีดเป็นแถบรูปสามเหลี่ยมผสมลายจุดในเส้นคู่ขนาน และเขียนลายสีแดงโดยรอบ ภาชนะดินเผาลักษณะนี้ไม่เคยพบในแหล่งโบราณคดีใดในเขตภาคเหนือตอนบนมาก่อน
                -  แบบที่ ๒ เป็นภาชนะดินเผารูปทรงกระบอก ก้นแบบตัดตรง มีลายเชือกทาบผิวรูปทรงกระบอกเรียบ คล้ายภาชนะดินเผาที่พบในแหล่งโบราณคดีบ้านสัมมะนะ
                -  แบบที่ ๓ เป็นภาชนะดินเผาชามก้นกลมขนาดใหญ่ มีลายเชือกทาบ ขอบปากพับเข้า
โบราณสถาน
 
 

            ประตูเมืองและกำแพงเมือง  เมืองลำพูนเคยมีกำแพงเมืองล้อมรอบ ก่อนที่จะถูกรื้อลงในระหว่างปี พ.ศ.๒๔๙๐ - ๒๕๐๐ แนวกำแพงเมืองเดิมนั้นเป็นแนวกำแพงที่บูรณะขึ้นมาในสมัยของพระเมืองแก้ว โดยยึดแนวเดิมที่สร้างในสมัยแรกที่ตั้งเมืองเป็นหลัก เป็นกำแพงก่ออิฐตลอดทั้งแนว มีความกว้างประมาณ ๓ เมตร ตัวกำแพงแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนฐานสูงประมาณ ๓ เมตร กับส่วนด้านบนเป็นเชิงเทินที่ประดับใบเสมา ประตูเมืองมีอยู่โดยรอบ ด้านทิศใต้มีประตูลี้ ปัจจุบันไม่เหลือให้เห็นแล้ว ทางด้านทิศตะวันออกที่ติดกับลำน้ำกวงมีประตูใหญ่หน้าเมืองเรียกว่า ประตูท่าขาม หรือท่าข้าม ปัจจุบันคือสะพานท่าขามนั่นเอง ถัดขึ้นไปทิศเหนือบริเวณหน้าวัดพระธาตุหริภุญชัย ฯ เป็นช่องประตูแคบ ๆ เรียกว่า ประตูท่าสิงห์ ถัดขึ้นไปอีกไม่ไกลเป็นประตูท่านาง ทางด้านทิศเหนือมีประตูช้างสี ซึ่งเดิมมีความกว้างเพียง ๓ เมตร ประตูเมืองด้านทิศตะวันตกมีเพียงประตูมหาวัน ปัจจุบันคงเหลือของเดิมให้เห็นเฉพาะส่วนฐานของประตูด้านเหนือ ส่วนด้านใต้คงเหลือเพียงกองอิฐเตี้ย ๆ บางส่วน

             กู่ช้าง - กู่ม้า  เป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่บนที่ราบริมฝั่งแม่น้ำกวงในเขตอำเภอเมือง ฯ จากเอกสารตำนานพงศาวดาร และเรื่องราวที่เล่าสืบต่อกันมากล่าวว่า กู่ช้างเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อบรรจุซากของพญาช้างคู่บารมีของเจ้าอหันตยศโอรสพระนางจามเทวี พญาช้างเชือกนี้ชื่อปู่ก่ำงาเขียว
            ลักษณะทางสถาปัตยกรรม ฐานเป็นฐานหน้ากระดานกลมห้าชั้น ก่อด้วยอิฐสอดิน ชั้นนอกสอปูน ฐานชั้นที่ห้าเป็นฐานบัวคว่ำ รองรับองค์เจดีย์ทรงกระบอก ปลายสอบเข้าหากัน ก่อด้วยอิฐธรรมดาขนาดเล็ก แกนในหล่อด้วยอิฐ สอดิน ผสมกับบางส่วนที่สอปูน ผิวนอกสุดฉาบปูน องค์เจดีย์ส่วนเหนือฐานบัวคว่ำถึงปลายยอดสุด ๘.๕๐ เมตร ความสูงจากหน้ากระดาน ชั้นที่ ๑ ถึงยอดสูงสุด ๑๓ เมตร
            เจดีย์กู่ช้างมีลักษณะรูปทรงแบบเดียวกับเจดีย์ บอ บอ คยี ของพม่า คือ มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก ตั้งอยู่บนฐานกลมห้าชั้น มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๓
            เจดีย์กู่ม้าตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของเจดีย์กู่ช้าง เป็นเจดีย์ก่ออิฐสอดิน และฉาบปูนด้านนอกเหมือนเจดีย์กู่ช้าง ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นเจดีย์ทรงกลม หรือทรงระฆัง ด้านบนเป็นบัลลังก์ ส่วนยอดหักหายไปแล้ว
            เจดีย์กู่ช้าง - กู่ม้า  ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๓
            โบราณสถานกู่ไก่  ตั้งอยู่นอกเมืองลำพูน ห่างจากแนวกำแพงเมืองไปทางด้านเหนือประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร ตามตำนานมูลศาสนา พงศาวดารโยนก และจามเทวีวงศ์ พงศาวดารลำพูนกล่าวว่า สร้างขึ้นในสมัยพญาอาทิตยราชแห่งหริภุญชัย ให้เป็นที่อาศัยของ เปตตกุกกฏไก่ขาว ซึ่งเป็นศรีสวัสดิ์แก่พระนคร เชื่อกันว่าองค์เจดีย์ขนาดเล็กที่ตั้งอยู่บริเวณนอกกำแพงด้านตะวันตกของวัดไก่แก้ว ในปัจจุบันคือสถานที่บรรจุอัฐิของเปตตกุกกฏ
            ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของเจดีย์ ซึ่งประกอบด้วยชั้นฐานเชียงในผังรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสรองรับชุดฐานปัทม์ ย่อเก็จ คาดด้วยลูกแก้วอกไก่สองเส้น เหนือชุดฐานปัทม์เป็นชั้นบัวคว่ำบัวหงาย รองรับชุดมาลัยเถาแปดเหลี่ยม ซึ่งเป็นงานสถาปัตยกรรมที่นิยมในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ หรือสมัยที่พระเมืองแก้วครองนครเชียงใหม่
            กู่นายเก๋  ประวัติความเป็นมาไม่ปรากฏ คงใช้ชื่อชาวบ้านที่เป็นเจ้าของที่ดินที่กู่ตั้งอยู่ ตัวกู่ตั้งอยู่ในเขตตำบลเวียงยอง อำเภอเมือง ฯ ตั้งอยู่บนเนินดิน ลักษณะเป็นอาคารทรงมณฑป หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ฐานล่างสุดเป็นชุดฐานเขียง ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ย่อเก็จ เรือนธาตุเป็นสี่เหลี่ยมย่อเก็จ เจาะทางเข้าด้านหน้า ก่อผนังทึบทำเป็นซุ้มจระนำ เดิมคงปั้นพระพุทธรูปประดิษฐานไว้ที่มุม แต่ละมุมปั้นลายกาบบน กาบล่างเวลาประจำยามอก ส่วนยอดพังทะลายไปแล้ว ในส่วนของลายประดับที่กาบบน กาบล่าง ประจำยามอก ลวดลายมีส่วนคล้ายคลึงกับลายที่ซุ้มโขง วัดเจ็ดยอดจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีจารึกบอกว่าสร้างในสมัยพระเจ้าติโลกราช ที่ปลายซุ้มจระนำ ด้านทิศใต้เป็นรูปมกรคายนาค
            กู่เฮือง  ตั้งอยู่ที่บ้านศรีดอนชัย ตำบลบ้านธิ อำเภอบ้านธิ สภาพเป็นเนินดินขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก อยู่กลางที่นา ตัวกู่เฮืองเป็นอาคารทรงมณฑปก่ออิฐสอดิน ฉาบปูน มีขนาดเล็ก มีรูปทรงสี่เหลี่ยมตั้งแต่ฐานจนถึงยอด เรือนธาตุทำเป็นมุขติดผนังสี่ทิศ หันหน้าไปทางตะวันออก ซึ่งเจาะเป็นช่องประตูเข้าสู่ภายในอาคาร ส่วนที่เหลืออีกสามด้านก่อผนังทึบ ทำเป็นซุ้มจระนำ มีลวดลายปูนปั้นประดับอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของอาคาร เช่น ที่ส่วนฐานของอาคารในชั้นบัวหงาย ส่วนเรือนธาตุชั้นล่างเป็นชั้นบัวลูกแก้วอกไก่ ประดับด้วยลายลูกประคำเป็นแถวยาวในกรอบเส้นลวด ในส่วนลายประดับบัวเชิงประจำยามอก และบัวรัดเกล้า ที่มุมผนัง ผนังย่อมุมทำเป็นกรอบเส้นหยักรูปสามเหลี่ยม ภายในประดับด้วยลายดอกไม้ ใบไม้
            ลายประดับดอกซุ้มจระนำ เป็นซุ้มโค้งมีหยักแหลม กาบปลายซุ้มโค้งออกกรอบซุ้มประดับด้วยลายดอกไม้ใบไม้ อยู่ภายในแนวลูกประคำเส้นลวดที่ทำเป็นกรอบ ทั้งด้านบนและด้านล่าง
            หน้าบันของซุ้มจระนำ ทำเป็นลวดลายต่าง ๆ คือ ทิศตะวันออกทำเป็นลายธรรมจักร ทิศเหนือประดับด้วยลายรูปนกยูงในแผ่นวงกลม ล้อมรอบด้วยลายลูกประคำเส้นลวดและลายใบไม้ ทิศใต้เป็นลวดลายรูปม้า ในแผ่นวงกลมโดยรอบ มีร่องรอยคล้ายกับลวดลายประดับหน้าบันด้านทิศเหนือ
            ลายปูนปั้นที่ประดับที่กู่เฮือง มีลักษณะคล้ายกับลายปูนปั้นที่เจดีย์วัดเจ็ดยอด จังหวัดเชียงใหม่

             คุ้มหลวงลำพูน  พลตรีเจ้าจักรดำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองลำพูนองค์สุดท้าย สร้างขึ้นบนที่ดินกลางเมืองลำพูน แทนคุ้มเก่าที่สร้างด้วยไม้สักทั้งหลังที่รื้อออกไป ไม่ปรากฏปีที่สร้างแน่ชัด ตัวคุ้มตั้งอยู่ในพื้นที่สี่ไร่เศษ มีกำแพงก่ออิฐถือปูนล้อมรอบทั้งสี่ด้าน ตัวอาคารสร้างด้วยคอนกรีต และไม้สักสองชั้นรูปทรงอย่างยุโรป หลังคาทรงปั้นหยา ด้านหน้าซ้ายขวาเป็นหลังคารูปโดมทั้งสองข้าง บนจั่วหลังคาด้านหน้ามีอักษรย่อ จค. ซึ่งหมายถึงจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าของผู้สร้างอาคารหลังนี้
            แต่เดิมประตูทางเข้าออกของกำแพงคุ้มแห่งนี้ อยู่ทางด้านทิศเหนือ ซึ่งมีที่เทียบขึ้น - ลง ช้างพาหนะ ที่ใกล้เสาประตูรั้วในสมัยก่อน ปัจจุบันประตูด้านนี้ถูกปิดไป

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |