| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางธรรมชาติ

แหล่งน้ำสำคัญ
            จังหวัดลำพูน มีแม่น้ำสำคัญอยู่สี่สายด้วยกันคือ แม่น้ำปิง แม่น้ำกวง แม่น้ำทา และแม่น้ำลี้
            แม่น้ำปิง  เป็นแม่น้ำสายสำคัญที่ไหลอยู่ในหุบเขา ระหว่างทิวเขาถนนธงชัยกลางกับทิวเขาผีปันน้ำตะวันตก มีต้นน้ำอยู่ที่ดอยถ้วย ในเทือกเขาแดนลาวในเขตตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ แล้วไหลลงมาทางใต้ ผ่านเข้าเขตจังหวัดลำพูนที่ อำเภอเมือง ฯ จากจุดนี้ลงไปแม่น้ำปิง เป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างจังหวัดเชียงใหม่ กับจังหวัดลำพูน ลงไปทางใต้ของอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นระยะทาง ประมาณ ๗๐ กิโลเมตร  มีลำน้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำปิง คือ แม่น้ำกวง แม่น้ำลี้ ห้วยแม่หาด และแม่น้ำก้อ แม่น้ำปิง มีพื้นที่รับน้ำ ประมาณ ๖,๓๖๐ ตารางกิโลเมตร

            แม่น้ำกวง  ต้นน้ำอยู่ที่ดอยผีปันน้ำ หรือดอยนางแก้ว ดอยมด แล้วไหลไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านที่ราบเชียงใหม่ - ลำพูน ไหลเข้าเขตจังหวัดลำพูนในเขตอำเภอเมือง ฯ แล้วไปบรรจบแม่น้ำปิงที่บ้านสบกวง (ปากบ่อง) อำเภอป่าซาง มีความยาวประมาณ ๙๕ กิโลเมตร มีลำน้ำสาขาที่สำคัญ คือ แม่น้ำทา แม่น้ำสาร แม่น้ำตีบ แม่น้ำธิ มีพื้นที่รับน้ำประมาณ ๑,๗๔๐ ตารางกิโลเมตร
             แม่น้ำทา  ต้นน้ำอยู่ที่ดอยขุนทา ในเทือกเขาผีปันน้ำมีตะวันตก ในเขตกิ่งอำเภอแม่ออม จังหวัดเชียงใหม่ แล้วไหลผ่านพื้นที่ราบ ซึ่งมีภูเขาขนาบอยู่สองข้างไปสู่อำเภอแม่ทาทางทิศใต้ แล้วไหลวกขึ้นไปทางเหนือ ผ่านที่ราบเชียงใหม่-ลำพูน อำเภอป่าซาง แล้วไหลไปบรรจบแม่น้ำกวงที่บ้านสบทา  บริเวณเขตต่อระหว่าง อำเภอเมือง ฯ กับอำเภอป่าซาง มีความยาว ประมาณ ๙๐ กิโลเมตร

            ลำน้ำสาขาของแม่น้ำทา ได้แก่ห้วยโฮ่งฮ่าง ห้วยแม่ป่าข่า ห้วยแม่ยอนหวาย ห้วยทรายขาว ห้วยแม่สะป๊วด ห้วยแม่ตุ๊ด  ห้วยแม่ขะนาด  และห้วยแม่เมย
           แม่น้ำลี้  ต้นน้ำอยู่ที่ดอยสบเปิม อำเภอทุ่งหัวช้าง แล้วไหลลงมาทางใต้จนถึงบริเวณใกล้อำเภอลี้ แล้วไหลวกขึ้นไปทางเหนือ ผ่านอำเภอลี้ อำเภอบ้านโฮ่ง จากนั้นไหลไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ไปบรรจบแม่น้ำปิงที่บ้านวังสะแกง (สบลี้) กิ่งอำเภอเวียงหนองล่อง มีความยาวประมาณ ๑๙๐ กิโลเมตร มีพื้นที่รับน้ำประมาณ ๓๒๐ ตารางกิโลเมตร
            ลำน้ำสาขาของแม่น้ำลี้ ได้แก่ ห้วยแม่หาง ห้วยป่าตึง ห้วยห้าง ห้วยแม่สา ห้วยงาช้าง ห้วยแม่แสม ห้วยไร่ ห้วยช้างหาย ห้วยหินฝน ห้วยหลวงน้ำ ห้วยแม่ปันแดง ห้วยส้าน ห้วยโป่ง ห้วยไถ ห้วยแม่แพม ห้วยแม่อุย ห้วยป้างหลวง ห้วยปิง ห้วยอูม ห้วยธาร ห้วยแม่ปวง แม่น้ำแวน แม่น้ำแม่แตะ ห้วยแม่ระงอง ห้วยแม่แนต ห้วยแม่ตีบ ห้วยแม่จ๋อง ห้วยผาหมื่น ห้วยแม่ป๊อก แม่น้ำแม่ลอบ
ป่าสงวนแห่งชาติ

            ในเขตจังหวัดลำพูน มีป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน ๑๐ ป่า มีพื้นที่ประมาณ ๒,๙๓๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๑,๘๓๐,๐๐๐ ไร่ ดังนี้
                -  ป่าแม่ธิ - แม่ตีบ - แม่สาร มีพื้นที่ประมาณ ๑๙๐ ตารางกิโลเมตร ประมาณ ๑๑๙,๐๐๐ ไร่
                -  ป่าแม่อาว มีพื้นที่ประมาณ ๙๐ ตารางกิโลเมตร ประมาณ ๕๔,๐๐๐ ไร่
                -  ป่าบ้านโฮ่ง มีพื้นที่ประมาณ ๓๒๐ ตารางกิโลเมตร ประมาณ ๒๐๓,๐๐๐ ไร่
                -  ป่าแม่ทา มีพื้นที่ประมาณ ๖๓๐ ตารางกิโลเมตร ประมาณ ๓๙๓,๐๐๐ ไร่
                -  ป่าแม่ตีบ - แม่แนต มีพื้นที่ประมาณ ๔๗๐ ตารางกิโลเมตร ประมาณ ๒๙๔,๐๐๐ ไร่
                -  ป่าขุนแม่ลี้ มีพื้นที่ประมาณ ๒๖,๗๓๐ ตารางกิโลเมตร ประมาณ ๑๖๗,๐๐๐ ไร่
                -  ป่าแม่ลี้ มีพื้นที่ประมาณ ๔๔๐ ตารางกิโลเมตร ประมาณ ๒๗๕,๐๐๐ ไร่
                -  ป่าแม่หาด - แม่ก้อ มีพื้นที่ประมาณ ๔๔๐ ตารางกิโลเมตร ประมาณ ๒๗๕,๐๐๐ ไร่
                -  ป่าเหมืองจี้ - สันป่าสัก มีพื้นที่ประมาณ ๒๐ ตารางกิโลเมตร ประมาณ ๑๓,๐๐๐ ไร่
                -  ป่าดอยขุนตาน มีพื้นที่ประมาณ ๖๐ ตารางกิโลเมตร ประมาณ ๓๙,๐๐๐ ไร่
วนอุทยาน
            มีอยู่แห่งเดียวคือ วนอุทยานดอยเวียงแก้ว อยู่ในเขตอำเภอลี้ มีพื้นที่ประมาณ ๔๒ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๒๖,๐๐๐ ไร่
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
            มีอยู่แห่งเดียวคือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง อยู่ในเขต จังหวัดลำพูนและลำปาง มีพื้นที่ประมาณ ๔๙๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๖๒๗,๐๐๐ ไร่
อุทยานแห่งชาติ
            มีอยู่สองแห่งด้วยกันคือ อุทยานแห่งชาติขุนตาน ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดลำพูนและลำปาง และอุทยานแห่งชาติแม่ปิง ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดลำพูน และเชียงใหม่

            อุทยานแห่งชาติขุนตาน   เป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘ มีพื้นที่ประมาณ ๒๕๕ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๑๖๐,๐๐๐ ไร่ โดยกำหนดเอาแนวป่าสงวนแห่งชาติดอยขุนตานเดิมเป็นหลัก  เป็นอุทยาน ฯ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภูเขาในภาคเหนือ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดลำพูน และลำปาง มีพืชชนิดต่าง ๆ และสัตว์ป่าอยู่มาก นอกจากนี้ยังมีสถานที่ประวัติศาสตร์ที่สำคัญอยู่หลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุโมงค์รถไฟขุนตาน ซึ่งเป็นอุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดแห่งแรกของประเทศไทย มีความยาวประมาณ ๑,๓๖๒ เมตร พื้นที่อุทยาน ฯ อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล ระหว่าง ๓๒๕ - ๑,๓๗๓ เมตร

            สถานที่สำคัญบนอุทยาน ฯ
            ย.๑  เป็นที่ราบบนยอดเขาหนึ่งในสี่แห่ง อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล ๙๐๐ เมตร ห่างจากสถานีรถไฟขุนตาล ประมาณ ๔ กิโลเมตร มีตำหนักเก่าแก่ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน สร้างเป็นที่ประทับ เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จมาทรงงานควบคุมการก่อสร้างทางรถไฟ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๐ - ๒๔๖๑

            ย.๒  เป็นจุดที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล ๑,๐๓๕ เมตร อยู่ห่างจาก ย.๑ ประมาณ ๑ กิโลเมตร เป็นบริเวณที่เป็นที่พักของบริษัทตัดไม้ที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาล และในสมัยสงครามมหาเอเซียบูรพา บริเวณนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์ทางทหารของไทย เมื่อสงครามสงบลงแล้ว พลตรี หม่อมราชวงศ์ ศึกฤทธิ์  ปราโมช ได้ซื้อพื้นที่ดังกล่าวผ่านทางบริษัท หลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ที่กรุงเทพ ฯ เป็นเนื้อที่ประมาณ ๒๐ ไร่ มีเอกสารสิทธิ์เป็น นส.๓ ได้สร้างบ้านพัก และสวน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เคยเสด็จพระราชดำเนินมาประทับ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒ และ พ.ศ.๒๕๑๖ จุดเด่นที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งที่ ย.๒ คือ ลานสน เป็นลานกว้างตามธรรมชาติที่สวยงาม นักท่องเที่ยวสามารถกางเต๊นท์พักแรมได้
            ย.๓  เป็นจุดที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล ๑,๒๒๕ เมตร อยู่ห่างจาก ย.๒ ประมาณ ๒ กิโลเมตร  คณะมิชชันนารีอเมริกันได้มาสร้างที่พักไว้ ณ บริเวณนี้ และจะเดินทางมาพักผ่อนในเดือนเมษายนของทุกปี ปัจจุบันได้เปิดที่พักให้นักท่องเที่ยวในความดูแลของมหาวิทยาลัยพายัพ จุดเด่นของ ย.๓ คือ สามปอยขุนตาน เป็นกล้วยไม้พันธุ์พื้นเมืองที่มีกลีบดอกหนา และแข็งแรงดอกใหญ่สวยงาม มีเฉพาะที่ดอยขุนตานแห่งนี้

            ย.๔  เป็นจุดที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล ๑,๓๗๓ เมตร อยู่ห่างจาก ย.๓ ประมาณ ๑ กิโลเมตร เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ใช้ตั้งกล้องสำรวจในสมัยสงครามมหาเอเซียบูรพา  มีหมุดหลักฐานงานแผนที่ของกรมแผนที่ทหาร เรียกบริเวณนี้ว่า ม่อนส่องกล้อง  และเป็นต้นกำเนิดของคำว่า ย.ที่ย่อมาจากคำว่ายุทธศาสตร์ ณ จุดนี้จะมองเห็นทิวทัศน์ที่สวยงามของป่าเขา ตัวจังหวัดลำปาง และลำพูน
            น้ำตก  ในเขตอุทยาน ฯ มีน้ำตกอยู่สี่แห่งคือ น้ำตกตาดเหมย น้ำตกห้วยน้ำแป๊ป น้ำตกทากู่ และน้ำตกแม่ไพร
            ม่อนเจดีย์  เป็นม่อนที่อยู่ต่อออกไปจาก ย.๔ บริเวณดังกล่าวมีเจดีย์ที่สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๐ เส้นทางเดินยังไม่สะดวก และอยู่ไกลออกไปมาก

            อุทยานแห่งชาติแม่ปิง  เดิมอุทยานแห่งนี้เป็นป่าสงวนแห่งชาติแม่หาด - แม้ก้อ มีพื้นที่ประมาณ ๑,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๖๒๕,๐๐๐ ไร่ เป็นอุทยานแห่งชาติ อันดับที่ ๓๒ ของประเทศ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๔ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอสบเงา จังหวัดตาก อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน พื้นที่อุทยานบางส่วนเป็นลำแม่น้ำปิงที่ยาวประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร สองฝั่งแม่น้ำประกอบด้วยหินผา หินงอก หินย้อย สามารถเดินทางโดยทางเรือได้จาก อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ หรือจากเขื่อนภูมิพล อำเภอสามเงา จังหวัดตาก
               ลักษณะโดยทั่วไปของอุทยาน มีเทือกเขาสลับซับซ้อน ยอดเขาสูงสุดคือดอยห้วยอ้ายหลาว สูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๒๓๘ เมตร เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายสายคือ ห้วยแม่หาด ห้วยแม่ก้อ ห้วยโป่งกะ ห้วยแม่วง ห้วยไคร้ ห้วยขุนแผน ฯลฯ
               เขตอุทยานครอบคลุมพื้นที่ฝั่งซ้ายแม่น้ำปิง และมีเขตรับผิดชอบติดต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย โดยมีทะเลสาบแม่ปิงกั้นกลาง จึงมีสัตว์ป่าเป็นจำนวนมาก และหลากหลายชนิด
            สถานที่สำคัญในอุทยาน ฯ
            ถ้ำยางวี  เป็นถ้ำหินปูนขนาดใหญ่ ภายในมีหินงอก หินย้อย และมีค้างคาวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก บริเวณใกล้เคียงมีป่าเรียกว่า ป่าพระบาทยางวี เป็นป่าสนเขา มีธรรมชาติ และทิวทัศน์ที่สวยงาม
            ทุ่งกิ๊ก - ทุ่งนางู  ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของอุทยาน เป็นทุ่งหญ้าธรรมชาติที่กว้างใหญ่ และเป็นที่ราบเนินเขา พื้นที่ปกคลุมด้วยทุ่งหญ้า สลับกับป่าเต็งรัง มีต้นเป็ง หรือต้นปลงขึ้นอยู่ทั่วไป
            น้ำตกก้อหลวง  เป็นน้ำตกที่มีต้นกำเนิดจากลำน้ำในห้วยแม่ก้อ ไหลผ่านหินดินดานสีเทาดำและหินทราย มีความสูงลดหลั่นกันลงมาทั้งหมดเจ็ดชั้น มีหินงอกหินย้อยอยู่เป็นจำนวนมาก มีอ่างน้ำขนาดใหญ่ มีปลาอาศัยอยู่หลายชนิด เป็นน้ำตกที่สวยงามแห่งหนึ่ง
            แก่งก้อ  เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ บริเวณโดยรอบประกอบด้วยน้ำตก อุมแป น้ำตกอุมปาด เกาะคู่สร้างคู่สม ผาเต่า ผาคันเบ็ด ผานางนอน แก่งสร้อย และพระบาทบ่อลม
            แม่น้ำปิง  ในช่วงที่ผ่านเขตอุทยาน ฯ เป็นระยะทางประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร มีสภาพทางธรรมชาติที่สวยงามอย่างยิ่ง

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |