| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

 
สิ่งสำคัญและเอกลักษณ์วัฒนธรรม

            บ่อน้ำทิพย์ดอยคะม้อ  ตั้งอยู่บนยอดดอยคะม้อ ซึ่งมีลักษณะเป็นภูเขาสูงชัน ยอดเขาแหลมแตกต่างจากยอดเขาบริเวณใกล้เคียง บนยอดดอยคะม้อมีความกว้างประมาณ ๑๒ เมตร ยาว ประมาณ ๓๐ เมตร  บ่อน้ำทิพย์มีปากบอกว้างประมาณ ๓ เมตร ความลึกไม่ปรากฎ เมื่อลงไปในบ่อลึก ๓ วา จากปากบ่อ แล้วมองกลับไปทางปากบ่อจะเห็นว่าดัวบ่อมีลักษณะรูปร่างคล้ายนิ้วมือ
            ดอยคะม้อตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของอำเภอเมือง ฯ ในเขตตำบลมะเขือแจ้ อำเภอเมือง ฯ อันเป็นส่วนหนึ่งของป่าสวนแห่งชาติ ป่าแม่ธิ - แม่ตีบ - แม่สาร  ตามหลักฐานทางธรณีวิทยา บริเวณนี้เคยเป็นภูเขาไฟที่ดับมานานแล้ว มีลักษณะเหมือนหม้อคว่ำ ชาวเมืองแต่โบราณเรียกว่า ดอยคว่ำหม้อ ภายหลังเพี้ยนมาเป็นดอยคะม้อ เป็นดอยที่ล้อมรอบด้วยภูเขาสลับซับซ้อน เป็นต้นน้ำของห้วยแม่ตีบ การเดินทางขึ้นยอดดอยคะม้อ ซึ่งอยู่สูงจากเชิงเขาประมาณ ๓๐๐ เมตร มีทางลาดจากเชิงเขาจำนวน ๑,๗๔๙ ขึ้น ทำให้การเดินทางสดวกขึ้นมาก
            มีตำนานเล่าต่อกันมาว่า เมื่อครั้งพุทธองค์ได้เสด็จจาริกไปโปรดสัตว์ในที่ต่าง ๆ ได้แวะมาฉันภัตตาหารบนยอดดอยแห่งนี้ ก่อนจะฉันภัตตาหาร พระพุทธองค์ทรงบิณฑบาตร แล้วนำขึ้นไปยังดอยลูกหนึ่ง อยู่ทางตอนเหนือของดอยคะม้อ ดอยลูกนั้นได้ชื่อว่า ดอยห้างบาตร อยู่ในเขตตำบลห้วยทราย อำเภอบ้านธิ บนดอยห้างบาตร มีรอยบาตรประทับอยู่บนแผ่นหิน เมื่อพระพุทธองค์ฉันภัตตาหารแล้วไม่มีน้ำจะเสวย จึงทรงตั้งพระอธิฐานถึงพุทธบารมี แล้วใช้นิ้วหัวแม่มือกดลงบนแผ่นหิน เมื่อยกหัวแม่มือขึ้น ก็มีน้ำพุ่งขึ้นมาให้เสวย แล้วจึงตรัสแก่พระอานนท์ว่า เมื่อตถาคตเสด็จดับขันธปรินิพานแล้ว ธาตุของตถาคตจะไปตั้งอยู่กลางเมืองหริภุญชัย ในสมัยพญาอาทิตยราชแล้วคนทั้งหลาย จะมาตักเอาน้ำแห่งนี้ไปสรงพระธาตุของตถาคต
            ความสำคัญของบ่อน้ำทิพย์ดอยคะม้อ คือ
                -  ใช้เป็นน้ำสรงองค์พระธาตุหริภุญชัย ในประเพณีสรงน้ำพระธาตุ ฯ ที่มีขึ้นเป็นประจำทุกปี ตรงกับวันเพ็ญเดือนหก (วันวิสาขบูชา) ตรงกับวันเพ็ญเดือนแปดเหนือ ชาวบ้านเรียกว่า ประเพณีเดือนแปดเป็ง จะมีพิธีตักน้ำจากบ่อทิพย์ก่อนสรงพระธาตุ ฯ สามวัน และจะจัดขบวนแห่น้ำทิพย์มาสรงน้ำพระธาตุ ฯ เป็นประจำทุกปี
                -  ใช้น้ำในบ่อน้ำทิพย์ในพิธีบรมราชาภิเษก และงานพระราชพิธีต่าง ๆ นับเป็นหนึ่งในสิบแปดแห่งของน้ำศักดิ์สิทธิที่ได้รับจากแหล่งน้ำต่าง ๆ ของประเทศ เพื่อมาตั้งทำน้ำพระพุทธมนต์ ณ มหาเจดีย์สถานที่เป็นมหานครโบราณ

            อุโมรถไฟถ้ำขุนตาน  ตั้งอยู่ที่บ้านขุนตาน ตำบลทาปลาดุก อำเภอแม่ทา ห่างจากตัวจงหวัดลำพูนประมาณ ๔๐ กิโลเมตร เป็นอุโมงค์ที่เจาะทะลุผ่านเข้าไปในดอยงาช้าง ของเทือกเขาขุนตาน ที่เป็นเทือกเขาขนาดใหญ่ ขวางกั้นเส้นทางจากจังหวัดลำปางไปยังจังหวัดลำพูน
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เริ่มดำเนินการในกิจการรถไฟ เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๔๐ โดยเริ่มจากกรุงเทพ ฯ สู่บางปะอิน จังหวัดอยุธยา ต่อมาได้สร้างทางรถไฟต่อไปยังอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี และต่อมาได้สร้างทางแยกจากสถานีชุมทางบ้านพาชีไปยังภาคเหนือ เปิดใช้การถึงสถานีปากน้ำโพ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๘ และในปีเดียวกันนี้ได้เริ่มสำรวจ เพื่อเจาะอุโมงค์รถไฟที่ดอยงาช้าง เทือกเขาขุนตาน ใช้เวลาทำการสำรวจอยู่สองปี
            การเจาะอุโมงค์ขุนตาน เริ่มเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๐ โดยมีวิศวกรชาวเยอรมัน เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างจากตัวเมืองลำปาง ที่เป็นหัวงาน การเดินทางสู่บริเวณที่ก่อสร้าง ต้องใช้วิธีเดินเท้าหรือขี่ม้า การขนอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการก่อสร้างต้องใช้แช้างและเกวียนบรรทุกไป ส่วนที่เป็นโขตเขตต้องใช้วิธีนำผ่านไปด้วยรอก  การขุดเจาะเป็นด้วยความยากลำบากอย่างยิ่ง เครื่องมือเครื่องใช้ทุ่นแรงมีไม่เพียงพอ ต้องใช้แรงงานคนเป็นส่วนใหญ่ กรรมวิธีในการขุดเจาะเริ่มด้วยการเจาะเล็ก ๆ เข้าไปก่อนโดยใช้หรือใช้แรงคนตอกสกัด เมื่อได้รูลึกเข้าไปตามที่ต้องการ แล้วจึงเอาดินระเบิดไดนาไมต์ฝังในรูนั้น จากนั้นก็ใส่เชื้อประทุแก๊บเข้าไป เพื่อทำหน้าที่จุดระเบิด โดยมีสายชนวนต่อยาวออกไปเพื่อความปลอกภัยของผู้จุดระเบิด
            การขุดเจาะอุโมงค์รถไฟขุนตาน ใช้วิธีเจาะที่ทันสมัยเช่นเดียวกับการเจาะอุโมงค์ใหญ่ ๆ ที่ยังใช้อยู่ในปัจจุบัน มีการขุดเป็นสองช่องอยู่ข้างบน และข้างล่าง เพื่อสะดวกในการขุดดิน และหินออกจากอุโมงค์ และทำการขุดอุโมงค์จากปลายอุโมงค์ทั้งสองด้านเข้าไปบรรจบกันตรงกลาง เมื่อขุดเจาะเข้าไปลึก ๆ ไม่มีอากาศเพียงพอต่อการหายใจ ก็ใช้วิธีการสูบอากาศจากภายนอกเข้าไปช่วยด้วยเครื่องสูบลมที่ใช้เครื่องจักรไอน้ำ การขนดินและหินที่ขุดเจาะออกจากอุโมงค์ ส่วนใหญ่ใช้แรงงานคน เป็นอุโมงค์ขนาดเล็กไม่ยาวมาก
            การขุดเจาะอุโมงค์รถไฟขุนตานใช้เวลา ๘ ปี อุโมงค์ทะลุกันได้เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๘ มีปริมาณหินที่ขุดเจาะออกมาประมาณ ๖๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร ได้นำเอาหินจำนวนนี้มาถมลำห้วยบริเวณปากอุโมงค์ จนกลายเป็นที่ตั้งของตัวสถานีรถไฟขุนตานที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
            เมื่อเสร็จการขุดเจาะแล้วงานก่อสร้างขึ้นต่อไปเป็นการบุผังอุโมงค์คอนกรีดเสริมเหล็ก เพื่ความแข็งแรงและป้องกันน้ำรั่วซึม ซึ่งต้องใช้เวลาทำอยู่ ๓ ปี เสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๑ และต้องใช้เวลาอีก ๓ ปี กว่าที่จะการเดินรถไฟสายเหนือ จะไปสุดทางที่จังหวัดเชียงใหม่ได้ การวางรางรถไฟจากลำปางไปยังปากอุโมงค์ทางด้านทิศใต้ เป็นด้วยความยากลำบาก เนื่องจากภูมิประเทศแถบปางหละ มีสภาพเป็นป่าเปลี่ยว แม้ว่าจะมีระยะทางเพียง ๘ กิโลเมตร แต่เป็นโขดเขาสูงชันลดเสี้ยวไปตามหุบเหว ชะง่อนเผาและป่าทึบ ช่วงระหว่างปางหละกับปากอุโมงค์ขุนตานต้องผ่านเหวลึกสามแห่ง ต้องใช้วิธีทำสะพานทอดข้ามเหวลึกดังกล่าว
            อุโมงค์รถไฟขุนตาน ใช้เวลาก่อสร้าง ๑๔ ปี นักเป็นอุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดในประเทศไทย มีความยาม ๑,๓๖๒ เมตร ปากอุโมงค์ด้านทิศเหนือสูงกว่าปากอุโมงค์ด้านทิศใต้ ๑๔ เมตร ทั้งนี้เพื่อให้น้ำสามารถระบายออกไปทางปากอุโมงค์ด้านทิศใต้ได้ ณ จุดนี้เป็นจุดที่ทางรถไฟพาดผ่านสูงที่สุดในประเทศไทย อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล ๕๗๘ เมตร และเป็นช่วงที่ลาดชันที่สุดของทางรถไฟทั่วประเทศ เมื่อนับจากสถานีแม่ตานน้อย จังหวัดลำปาง ถึงสถานีขุนตานจังหวัดลำพูน ความยาว ๘ กิโลเมตร มีระดับต่างกัน ๒๐๐ เมตร

            ถนนสายเชียงใหม่ - ลำพูน (สายเก่า)  ถนนสายนี้มีความผูกพันกับแม่น้ำปิงห่าง ต้นยาง และต้นขี้เหล็กอย่างแนบแน่น เดิมแม่น้ำปิงห่างจะไหลผ่านทางด้านทิศตะวันออกของเวียงกุมกาม และทิตะวันตกของตัวเมืองหริภุญชัย ระยะทางจากเวียงกุมกามถึงตัวเมืองหริภุญชัยประมาณ ๒๕ กิโลเมตร ต่อมาแม่น้ำปิงได้เปลี่ยนทางเดิน ทำให้แม่น้ำปิงเดิมที่ไหลผ่านเวียงกุมกามและเมืองหริภุญชัย กลายเป็นแม่น้ำปิงห่าง เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำ ระหว่างเมืองเชียงใหม่กับเมืองลำพูน มีการตั้งหมู่บ้านตลอดแนวแม่น้ำและมีวัดอยูอตลอดแนวประมาณ ๓๐ วัด ทำให้เกิดเส้นทางคมนาคมทางบกเลียบแนวแม่น้ำห่าง เป็นเส้นทางบกที่สำคัญของการติดต่อระหว่างเชียงใหม่กับเมืองลำพูนมาแต่เดิม และมีการพัฒนาเส้นทางมาตามลำดับ
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการสร้างถนนอย่างเป็นทางการ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๘ โดยพระยาทรงสุรเดช (อั้น บุนนาค) ข้าหลวงใหญ่มณฑลลาวเฉียง เริ่มสร้างถนนสายนี้ตั้งแต่เชิงสะพานนวรัฐ เลียบแม่น้ำปิงที่วัดกู่ขาว จนถึงตัวเมืองลำพูน ถนนสายนี้ส่วนหนึ่งสร้างบนผนังดินธรรมชาติของแม่น้ำปิงห่าง ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๘ - ๒๔๕๔ ทางราชการได้นำต้นไม้ยางมาให้ชาวบ้านช่วยกันปลูกตลอดสองข้างทาง ส่วนในเขตตัวเมืองลำพูนได้ปลูกต้นขี้เหล็ก ทำให้มีต้นไม้ปลูกอยู่สองข้างถนนสายนี้ตลดอเส้นทางประมาณสองพันต้น มีระยะห่างดันประมาณสิบวา นับเป็นเอกลักษณ์ของถนนสายนี้

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |