| ย้อนกลับ |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

พระพุทธรูป

            พระพุทธรุปส่วนใหญ่ที่พบในเขตจังหวัดลำพูน แบ่งออกได้เป็นสองสมัยคือ พระพุทธรูปศิลปะหริภุญชัย และพระพุทธรูปศิลปะล้านนา แต่ละสมัยแบ่งออกเป็นช่วงระยะเวลาและรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปดังนี้
            พระพุทธรูปศิลปะหริภุญชัย  แบ่งออกได้เป็นช่วงเวลาคือ
            พระพุทธรูปที่มีอายุก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๗ แบ่งออกได้เป็นสองหมวดใหญ่ คือ
               หมวดที่หนึ่ง  แสดงถึงศิลปะอินเดียแบบปาละ มักสลักด้วยศิลา มีแผ่นประภามณฑลอยู่เบื้องหลัง พระพักตร์กลม พระขนงเป็นเส้นโค้ง พระเนตรเหลือบต่ำลง พระโอษฐแย้มเล็กน้อย ขนวดพระเกษามีขนาดใหญ่ พระเกตุมาลาเตี้ย
                หมวดที่สอง  แสดงถึงอิทธิพลศิลปะทวารวดี หล่อด้วยสำริด และพระพิมพ์ในลักษณะพระพักตร์แบน พระปรางเป็นโหนกสูง พระขนงต่อกันเป็นเส้น พระนาสิกใหญ่ พระโอษฐ์หนา เม็ดพระศกเป็นขมวดแหลม พระเกตุมาลาสูงทรงกรวย
            พระพุทธรูปในช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ.๑๖๐๐ - ๑๘๓๖ แบ่งออกได้เป็นสามหมดใหญ่ คือ
                หมวดที่หนึ่ง  เศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ทำด้วยศิลาแลง หุ้มด้วยหยาบ ๆ พระพักตรก่อนข้าวหยาบ พระนลาฎโหนก พระนาสิกแบบใหญ่ พระขนงเป็นรูปปีกกานูนเชื่อมติดต่อกัน พระเนตรโปนเหลือบตาลง พระโอษฐใหญ่หนา มีไรพระมัสสุ เม็ดพระศกแหลมและมีขอบพระเกษา พระพักตร์ดูขมึงทึง มีวิวัฒนาการมาจากพระพุทธรูปศิลปะทวารวดี
                หมวดที่สอง พระพุทธรูปมักทำด้วยดินเผาจากแม่พิมพ์ ส่วนใหญ่ใช้ประดับซุ้มเจดีย์ พระพักตร์ค่อนข้างเหลี่ยม มีขอบพระเกศา เม็ดพระศกเป็นขมวกแหลม รูปพระเศียรแบบและบานออกพระนลาฎกว้าง พระขนงต่อกันเป็นรูปปีกกา พระเนตรเหลือบต่ำลง พระนาสิกแบบใหญ่ พระโอษฐ์หนา พระมัสสุเป็นเส้นอยู่เหนือขอบพระโอษฐ์ชั้นบน
                หมวดที่สาม  เศียรพระพุทธรูปดินเผาทำจากแม่พิมพ์ มักมีสีนวลเทา พระพักตร์สั้น พระศกเป็นเม็ดเล็ก ๆ  พระขนงเป็นรูปปีกนาติดต่อกับพระเนตรเหลือบลงต่ำ พระนาสิกเล็ก พระโอษฐ์บาง ไม่มีไร พระมัสสุ ส่วนประกอบใบหน้าไม่เทอะทะ ทำให้พระพักตร์ดูบางและอ่อนละมุน พระเกตุมาลาเป็นกรวยแหลมเรียบ ๆ
            พระพุทธรูปศิลปะล้านนา  แบ่งออกได้เป็นสี่หมวด คือ
               หมวดที่หนึ่ง  มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙  เป็นระยะเริ่มแรกของศิลปะล้านนา แบ่งออกได้เป็นสามกลุ่ม คือ
                   กลุ่มที่ ๑  เศียรพระพุทธรูปเครื่องสำริด แสดงให้เห็นถึงการละทิ้งรูปแบบศิลปะสมัยทวารวดี หันไปรับอิทธิพลศิลปะเขมร ลักษณะพระนาสิกเรียว และศิราภรณ์แบบบายน รูปทรงใบหน้าเป็นแบบธรรมชาติของมนุษย์
                   กลุ่มที่ ๒  สืบเนื่องและรักษาลักษณะเฉพาะศิลปะหริภุญชัยไว้ เช่น พระขนงเป็นรูปปีกกา พระพักตร์เหลี่ยม มีขอบไรพระเกศา เม็ดพระศกเล็กแหลม
                   กลุ่มที่ ๓  แสดงศิลปะอินเดียแบบปาละ มีลักษณะใกล้เคียงกับพระพุทธรูปสุโขทัยรุ่นแรก คือ มีพระพักตร์ค่อนข้างยาว พระขนงโค้งเป็นเส้น พระนาสิกเป็นสันใหญ่ พระเนตรกลีบบัวเหลือบลงต่ำ พระโอษฐ์ที่แย้มมีความกว้างเสมอพระนาสิก พระหนุอูม และมีปุ่มกลม ขมวดพระเกษาใหญ่ พระเกตุมาลาทรงกรวยเตี้ย พระองค์อวบประทับนั่งขัดสมาธิเพชร หรือขัดสมาธิราบปางมารวิชัย ครองจีวรห่มเฉียง มีชายสังฆาฏิสั้น หยักเป็นริ้ว บางองค์มีชายสังฆาฏิคลี่เป็นริ้ว แสดงถึงศิลปะอินเดียแบบปาละ - เสนะ ในรัฐบังคลาเทศ
               หมวดที่สอง  มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่๑๙ - ๒๑ แสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของศิลปะล้านนา มีการมรสนิยมของตนในศิลปะร่วมสมัย จากภายนอกคือ ศิลปะสุโขทัย และศิลปะอยุธยา ให้เข้ามาผสมผสานกับของล้านนา จำแนกออกได้เป็นสามกลุ่ม คือ
                   กลุ่มที่ ๑  แสดงอิทธิพลศิลปะปาละ พระพักตร์มักมีลักษณะกลม ขมวดพระเกศากลมใหญ่ ไม่มีขอบไรพระศก พระขนงโค้งเป็นเส้น พระเนตรรูปกลีบบัวเหลือบต่ำ ปลายชี้ขึ้น สันพระนาสิกเล็กเรียวลง พระโอษฐ์เล็กตวัดปลายขึ้นมีขนาดกว้างไล่เรี่ยกับพระนาสืก พระหนอูมมีปุ่มกลม
                    กลุ่มที่ ๒  แสดงถึงอิทธิพลของศิลปะสุโขทัย มักประทับนั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัย พระพักตร์เป็นรูปไข่ พระขนงโค้งเป็นเส้นนูน บรรจบกันบนดั้งพระนาสิก ส่วนใหญ่จะมีรัศมีเป็นเปลว พระองค์บอบบาง ชายสังฆฏิยาวจรดพระนาถี
                   กลุ่มที่ ๓  แสดงถึงอิทธิพลศิลปะอยุธยา พระพักตร์รูปไข่ มีขอบไรพระเกศา ขมวดพระเกศาละเอียด พระเกตุมาลาเป็นครึ่งวงกลม พระรัศมีเป็นเปลว พระขนงโค้ง พระเนตรรูปกลีบบัว มีขอบพระเนตรบนซ้อนกันสองชั้น
               หมวดที่สาม  มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ - ๒๔ แสดงลักษณะประจำของถิ่น แบ่งออกได้เป็นสองกลุ่ม คือ
                   กลุ่มที่หนึ่ง  แสดงอิทธิพลของศิลปะล้านนาและสุโขทัย เม็ดพระศกแหลม พระรัศมีเป็นเปลวสูง พระนาสิกแลมโค้ง พระกรรณโค้งออก พระหัตถ์มีนิ้วเสมอกัน
                   กลุ่มที่สอง  ได้รับอิทธิพลศิลปะสุโขทัย ที่เห็นได้ชัดคือ พระพุทธรูปแบบพะเยา วัสดุที่ใช้ส่วนใหญ่คือ หิทวาย นิยมทำร่องพระนาสิกหรือพระโอษฐ์
            ต่อมาการสร้างพระพุทธรูปด้วยสำริดลดจำนวนลง หันมาสร้างด้วยไม้เป็นส่วนใหญ่
               หมวดที่สี่  เป็นหมวดล้านนาฟื้นฟู  มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๔ - ๒๕ ร่วมสมัยกับศิลปะรัตนโกสินทร์ มีการสร้างพระพุทธรูปและสิ่งของถวายพระจากวัสดุมีค่า เช่น เงิน และนิยมสร้างพระพุทธรูปไม้แกะสลักลงรักปิดทอง ที่ฐานมีจารึกอักษรล้านนา
พระพิมพ์

            จากการสำรวจและขุดค้นแหล่งโบราณคดีในเขตจังหวัดลำพูน และที่ชาวบ้านพบในรูปแบบต่าง ๆ ได้พบโบราณวัตถุอันเนื่องในพระพุทธศาสนา ประเภทพระพิมพ์จำนวนหนึ่ง คือ พระพิมพ์ซุ้มพุทธคยา พระกวาง พระลือหน้ามงคล พระแปด และพระสิบแปด โดยขุดพบในชั้นวัฒนธรรมล้านนา (พุทธศตวรรษที่ ๑๙)
            พระพิมพ์ซุ้มพุทธคยา  มีรูปแบบเหมือนพระพิมพ์ ที่แพ่หลายอยู่ในพม่า ที่เมืองพุกาม และพะโค ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ส่วนพระลือหน้ามงคลนั้น เป็นกลุ่มพระพิมพ์ที่มีอายุในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๖ เป็นกลุ่มพระพิมพ์ที่คลี่คลายคติ และรูปแบบมาจากเรื่องราวในพุทธประวัติสองตอน คือ ตอนตรัสรู้ใต้ต้นโพธิที่พุทธคยา และตอนแสดงปฐมเทศนา ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ซึ่งเป็นภาพพุทธประวัติที่นิยมสร้างกันในอินเดีย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในสกุลช่างคุปตะ (พุทธศตวรรษที่ ๗ - ๑๑) และสกุลปาละ (พุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๔)
            สำหรับพระลือหน้ามงคล ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มปรกโพธิ (กลุ่มพระรอด พระคง พระเปิม และพระบัง) สร้างตามคติและรปแบบที่แสดงเรื่องราวในพุทธประวัติตอนตรัสรู้ และปฐมเทศนา ซึ่งแสดงภาพพระพุทธเจ้าปางมารวิชัย และมีกวางสองตัวหมอบอยู่ข้าง (สัญลักษณ์การแสดงปฐมเทศนาที่ป่ากวาง) แสดง่วาอิทธิพลพุทธศาสนาที่ปรากฎในเมืองหริภุญชัยนั้น มาจากหลายสาย มีอิทธิพลศิลปะอินเดีย แบบคุปตะผ่าน วัฒนธรรมทวารวดีเข้ามาทางหนึ่ง และมีคตินิยมของชาวพื้นเมืองผสมผสาน จึงปรากฎรูปแบบพระพิมพ์ที่มีลักษณะแตกต่างออกไป กลายเป็นแบบเฉพาะของชุมชนในวัฒนธรรมหริภุญชัยต่อไป
            สำหรับพระแปด พระสิบแปด  เป็นรูปแบบพระพิมพ์ที่มีคติการสร้างตามคติพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ที่แผ่เข้ามาในประเทศไทย พร้อมกับอิทธิพลวัฒนธรรมเขมรแบบบายน ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘ ซึ่งนิยมแสดงภาพพระพุทธเจ้าทรงเครื่องกษัตริย์ตามคติมหายาน
           พระรอด  เป็นพระพิมพ์ที่มีชื่อเสียงรู้จักดี ในวงการพระเครื่องจัดให้ ในวงการพระเครื่องจัดให้อยู่ในชั้นสูงสุดของพระสกุลลำพูน เป็นหนึ่งในพระเครื่องชุดเบญจภาคี ซึ่งประกอบด้วย พระสมเด็จวัดระฆัง พระรอดมหาวัน พระนางพญา พิษณุโลก พระผงสุพรรณ และประซุ้มกอ
            ตามประวัติกล่าวว่า พระสุเทวฤาษี และพระสุกกพันตฤาษี ได้สร้างเมืองหริภุญชัย และได้เชิญพระนางจามเทวี ราชธิดาเจ้ากรุงละโว้ ขึ้นมาเป็นปฐมกษัตริย์ของนครหริภุญชัย และได้จัดของไว้เป็นเครื่องป้องกันรักษา จึงผูกอาถรรพ์ไว้กลางใจเมือง แล้วนำมาพิมพ์พระสองชนิดคือ พระคง เพื่อความมั่งคงและพระรอด เพื่อให้รอดพ้นจากภยันตรายทั้งปวง เมื่อสร้างเสร็จก็สุมไฟด้วยไม้ป่ารกฟ้า แล้วนำพระคงบรรมจุในเจดีย์ทั้งสี่ทิศ และนำพระรอดบรรจุไว้ที่วัดมหาวนาราม หรือวัดมหาวันในปัจจุบัน
            พุทธลักษณะของพระรอด เป็นพระพิมพ์เนื้อดินผสมว่าน สีที่พบมีหลายสีขึ้นอยู่กับไฟที่ใช้ในการเผา เช่า สีหม้ใหม่ สีขาวดินสอพอง สีดำ สีเทา สีน้ำตาล สีเขียวหินครก สีชมพู สีเหลืองนวล สีมันปู สีแดง องค์พระพิมพ์ทำเป็นพระพุทธรูปปารวิชัย เบื้องล่างมีฐานรองรับ ครองจีวรหม่เฉียง เบื้องหลังมีลวดลายประดับเป็นรูปก้านโพธิ และในโพธิประดับอยู่ พระรอดมีหลายขนาด ที่นิยมมีอยู่ห้าพิมพ์คือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก พิมตื้น และพิมพ์ต้อ แต่ละพิมพ์ยังมีลักษณะแตกต่างกันออกไปในรายละเอียด และยังมีพิมพ์อื่น ๆ
            พระรอดแต่เดิมมีอยู่ทั่วไปตามดินที่บริเวณวัดมหาวัน เพราะได้มีการนำเอาเศษดิน หิน อิฐเก่า จากดินเจดีย์ที่มีพระรอด และพระพิมพ์อื่น ๆ ปะปนอยู่มาถมคาบทั่วไปของวัด ในการบูรณะครั้งแรกผู้คนยังไม่สนใจพระเครื่อง เมื่อมีการให้ความสนใจในพระรอด ก็ได้มีการขุดหาพระรอดกันเรื่อยมาจนไม่มีเหลือ ต่อมาจึงมีการทำเลียแบบกันมากขึ้น
           พระคง หรือพระลำพูนดำ ลำพูนแดง เป็นพระพิมพ์สำคัญมีอยู่ทั่วไปในเมืองลำพูน ส่วนใหญ่พบที่วัดพระคงฤาษี และวัดมหาวัน พระคงมีพุทธลักษณะอวบอ้วนปางมารวิชัย ประทับใต้ร่มโพธิบัลลังก์ ขัดสมาธิเพชร ครองจีวรห่มคลุมอันเป็นอิทธิพลของศิลปะคุปตะ
            พระคงลำพูนมีอยู่หลายพิมพ์ มีทั้งแบบที่มีหู ตา ปาก จมูกพร้อม และชนิดที่ไม่มีหน้าตาให้เห็น เพราะเป็นพระพิมพ์ที่เป็นส่วนผสมของเนื้อดินและว่าน รวมทั้งเกษรดอกไม้ต่าง ๆ หลายชนิด พระคงมีทั้งที่ทำด้วยดินเผา และทำด้วยโลหะต่าง ๆ เช่น ทองคำ นาค เงิน ชิน ตะกั่ว และสำริด แต่พระคงเนื้อดินมีมากกว่าที่เป็นเนื้อโละ ขนาดของพระคงมีทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก
            รูปลักษณะของพระคงจะมีลักษณะคล้ายปลายนิ้วคน คือส่วนปลายมุมโค้งเล็กนี้ ขนาดใหญ่ที่สุดมีขนาดเท่านิ้วแม่มือ ขนาดเล็กสุดมีขนาดเท่านิ้วก้อย สีของพระคงมีอยู่หลายสี เช่น สีดำ สีเขียวหินครก สีแดง สีขาว สีเหลืองดอกจำปา สีเทา สีเนื้อ สีหม้อไหม่ แต่สีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ สีเขียวหินครก เพราะมีเนื้อแกร่งมาก สีดำแท้ ๆ ก็เป็นอีกสีหนึ่งที่ได้รับความนิยม เชื่อกันว่าพระคงเป็นพระที่ฤาษีเป็นผู้สร้างไว้
           พระบาง  เป็นพระพิมพ์ที่มีขนาดและพุทธลักษณะคล้ายกับพระคงมาก แต่มีลักษณะไปร่งบางกว่าพระคง แต่ที่แตกต่างกันก็คือ การประทับนั่ง และวางแขนซ้ายในลักษณะยกขึ้นเป็นมุม ๔๕ องศา ผิดกับพระคงที่วางแขนซ้ายหักศอกทำมุม ๙๐ องศา เม็ดบัวใต้ฐานที่ประทับขององค์พระ จะเรียงรายกันอย่างเป็นระเบียบกว่าพระคง ด้านหลังของพระบางส่วนใหญ่จะไม่หนา และนิยมเบี้ยวเหมือนกับพระคง
            พระบางที่พบมีทั้งเนื้อดินและเนื้อโลหะ พบมากที่วัดพระคง วัดดอนแก้ว วัดมหาวัน และวัดประตูลี้ พระบางที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ พระบางที่ขุดได้จากวัดพระคง และในบริเวณบ้านของชาวบ้านที่เคยเป็นบริเวณวัดในสมัยโบราณคือ พระบางกรุครูขาว และพระบางวัดดอนแก้ว ซึ่งเป็นวัดร้าง อยู่ในเขตตำบลเวียงยอง อำเภอเมือง ฯ
           พระเปิม  เป็นพระพิมพ์ขนาดใหญ่ กว้างประมาณหนึ่งนิ้ว สูงประมาณนิ้วครึ่ง มีลักษณะคล้ายพระคงและพระบางผสมกัน องค์พระมีความคมชัด ปางมาวิชัย บนฐานที่เม็ดบัวแก้วประดับอย่างสวยงาม กิ่งและใบโพธิจะเห็นคมชัด มีเนื้อละเอียด สีของพระเปิมเป็นเช่นเดียวกับสีของพระคง
            พระเปิมที่มีเชื่อเสียงมากที่สุดคือ พระเปิมของกรุวัดพระมหาธาตุหริภุญชัย ซึ่งได้ขุดพบในเจดีย์ปทุมวดี นอกจากนี้ยังพบที่วัดมหาวัน และวัดดอนแก้ว
           พระลือหน้ามงคล  เป็นพระพิมพ์ขนาดกลาง กว้างสองเซนติเมตร สูงสามเซนติเมตร ใหญ่กว่าพระคงและพระบางเล็กน้อย ขุดพบที่วัดประตูลี้ วัดมหาวัน วัดพระคงฤาษี วัดดอนแก้ว และบริเวณสำนักฆ์กู่เหล็ก
            พุทธลักษณ์จะแตกต่างกับพระคง พระคง พระบาง พระเปิม คือ องค์พระที่ครองจีวร ห่มดองมีสังฆาฏิพาดบ่า ประทับนั่งบนฐานที่มีลักษณะคล้ายดอกบัว โดยรอบองค์พระจะมีรัศมีรอบ ๆ ซุ้มประดับด้วยดอกบัวและก้านบัว ที่ไม่ใช้ใบโพธิเหมือนกับพระคง พระบาง พระเปิม องค์ที่พิมพ์ชัดจะมีพระพักตร์ดูงดงามของศิลปะหริภุญชัย เนื้อองค์พระออกจะหยาบ เพราะมีแร่ต่าง ๆ ปนอยู่
           พระลบ  เป็นพระพิมพ์ที่ลบเลือนไม่ชัดเจน มีหลายสี เดิมพบเพียงสีแดงเข้มเท่านั้น ต่อมาได้พบองค์พระมีสีต่างๆ มากขึ้น เช่นเดียวกับพระพิมพ์ดินเผาอื่น ๆ สกุลลำพูน ที่ทำด้วยโลหะกันขุดพบที่ยริเวณกรุหน่องเสน้าเรียกว่า กู่พระลบ เพียงแห่งเดียวเท่านั้น
           พระเหลี้ยมเล็กพิมพ์นิยม  เป็นพระพิมพ์มีรูปทรงเป็นลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ทรงเทริดขนนก ประดับองค์ด้วยสร้อยถนิมพิมพาภรณ์อย่างเต็มยศ ประทับนั่งใต้รัศมีของซุ้มรูปกลีบบัว ภายใต้เศวตฉัตรของกษัตริย์ สองข้างเป็นรูปราชกุมาร มีฉัตรเป็นที่สังเกตุตรงส่วนบน ใต้ที่ประทับเป็นรูปหัวช้างสามเชือก ขุดพบที่วัดประตูลี้ วัดมหาวัน วัดพระคงฤาษี วัดดอนแก้วและวัดดอยดิ องค์พระเนื้อละเอียด แต่ที่เนื้อหยาบเต็มไปด้วยเม็ดแร่ก็มี
            นอกจากพระเหลี้ยมพิมพ์นิยมแล้ว ยังมีพระเหลี้ยมหม้อ พระเหลี้ยมหลวงอีกด้วย
           พระสิบสอง  เป็นพระพิมพ์ขนาดใหญ่ บางคนเรียกว่าพระแปด เพราะจะนับองค์ที่เป็นพระเท่านั้น ไม่นับพวกเตียรถียที่ประกอบอยู่ เป็นพระพิมพ์ที่มีอยู่แพร่หลายทั่วไป แม้ที่จังหวัดลพบุรีก็มีการขุดพบ ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงความเกี่ยวพันทางประวัติศาสตร์และศิลปะ พุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปแบบหริภุญชัยผสมผสานกับแบบลพบุรี พระสิบสองที่ขุดพลในบริเวณอาณาจักรหริภุญชัย จาอถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของพระพิมพ์ของหริภัญชัย
           พระกวาง  เป็นพระพิมพ์ขนาดใหญ่ เช่นเดียวกับพระสิบสอง แต่ทรงชลูดกว่า เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งบนฐานบัลลังก์ มีสาวกพนมมือไหว้อยู่สองข้าง ใต้ฐานที่ประทับด้านล่าง จะมีรูปกกวางสองตัวหมอบอยู่ พบมากในวัดมหาวัน วัดประตูลี้ กรุสำนักสงฆ์กู่เหล็ก และบริเวณวัดร้างในเวียงท่ากาน อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่
           พระปลีกล้วย  เป็นพระพิมพ์ขนาดใหญ่ มีลักษณะยาว และหนาคล้ายปลีกล้วย กว้างสามนิ้ว หนานิ้วครึ่ง สูงหกนิ้ว ทำเป็นรูปพระพุทธเจ้าสองพระองค์คือ พระสมณโคดม และพระศรีอริยเมตไตรยอยู่ด้านบน ประทับอยู่ใต้ชั้นทรงปราสาททั้งสองข้าง มีพระอัครสาวกซ้ายขวายืนอยู่ในท่าประทานอภัย ด้านล่างเป็น พระสมณโคดมประทับนั่งบนลัลลังก์กลีบบัวหงายสองข้าง อัครสาวกนั่งประนมมืออยู่ ถัดออกไปเป็นพวกเทวดาสวมมงกุฏ มือถือดอกบัวอยู่สองข้าง ล่างสุดตรงใต้ฐานอัครสาวกซ้ายขวาจะมีหัวช้างประดับอยู่สองข้าง พระปลีกล้วยเป็นพระพิมพ์ที่หาได้ยากของสกุลลำพูน
           พระสิบแปด  เป็นพระพิมพ์ขนาดใหญ่ มีพระพุทธรูปอยู่สิบแปดองค์  มีขนาดกว้างสี่นิ้ว หนาหนึ่งนิ้ว สูงหกนิ้ว ขุดได้ที่วัดมหาวัน วัดประตูลี้ วัดดอนแก้ว
           พระสามดอนแก้ว  เป็นพระพิมพ์เนื้อดินเผาขนาดก มีขนาดกว้างสองนิ้ว หนาครึ่งนิ้ว สูงสามนิ้ว ส่วนใหญ่ขุดพบที่วัดดอนแก้ว วัดมหาวัน และวัดประตูลี้ ทำเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง ปางมารวิชัย ทรงเทริดขนนก ประดับสร้อยถนิมพิมพาภรณ์ ประทับอยู่ใต้ซุ้มโพธิพฤกษ์ มีอัครสาวกซ้ายขวานั่งอยู่บนดอกบัว ที่เรียกว่าพระสามเพราะมีพระพุทธเจ้าและพระอัครสาวกอีกสององค์รวมเป็นสามองค์
           พระป๋วย  เป็นพระพิมพ์ที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ คือ กว้างสองนิ้ว หนาครึ่งนิ้ว สูงสี่นิ้ว องค์พระดูคล้ายกับมีองค์เปล่า จึงเรียกว่า พระป๋วย คือเปลือยเปล่า ขุดพบที่วัดดอนแก้วแห่งเดียว
           พระสามท่ากาน  มีลักษณะองค์พระเป็นสามองค์อยู่ในกรอบสามเหลี่ยมเช่นเดียวกับพระซุ้มกระรอก กระแต หรือพระตัวกายที่ขุดพบได้ที่เมืองลพบุรี เป็รพระพิมพ์ขนาดกลาง กว้างสองนิ้วครึ่ง สูงสามนิ้ว หนาครึ่งนิ้ว ขุดพบมากที่วัดร้างในเวียงท่ากาน อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ และขุดพบในเมืองลำพูน และลพบุรี เป็นจำนวนมากเช่นกัน
           พระลือซุ้มนาค  เป็นพระพิมพ์เนื้อดินเผา องค์พระเป็นรูปหยดน้ำขนาดใหญ่ กว้างหนึ่งนิ้ว สูงนิ้วครึ่ง เป็นพระพุทธรูปแบบขอมทรงมงกุฏ พระเนตรโปน พระโอษฐ์แบะ ประทับนั่งานลัลลังก์ใต้ซุ้ม โพธิพฤกษ์ ขุดพบที่วัดมหาวัน และวัดประตูลี้
           พระลือหลวง  เป็นพระพิมพ์เนื้อดินขนาดค่อนข้างใหญ่ ขนาดกว้างสองนิ้ว สูงสามนิ้ว หนาครึ่งนิ้ว ทำเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งอยู่บนฐานบัว ด้านบนซุ้มโค้งมีลวดลายประดับสวยงาม พระพักตร์ดูขึงขัง ตามลักษณะของศิลปะขอมละโว้ ผสมผสานกับศิลปะหริภุญชัย เนื้อองค์พระละเอียด พบหาได้น้อย
           พระงบน้ำอ้อย  เป็นพระเนื้อดินเผาที่ทำเป็นรูปกลม แบนราบ ด้าหน้าเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งอยู่บนฐานลัลลังก์ มีลวดลายเป็นรูปเจดีย์เล็ก ๆ ประดับอยู่สองข้างองค์พระ ด้านล่างของฐานที่ประทับ มีตัวอักษรอินเดียโบราณ จารึกนูนขึ้นมาเห็นได้ชัดเจน อีกชนิดหนึ่งมีองค์พระเล็ก ๆ พิมพ์เรียงกันเป็นตับ คล้ายการเรียงตัวของใบมะขาม องค์พระก็มีขนาดเล็กเท่าใบมะขาม พระพิมพ์ชนิดนี้คือ พระรอดใบมะขาม แต่ก็เรียกกันในชื่อพระงบน้ำอ้อย ขุดพบที่วัดมหาวันเพียงแห่งเดียว
           พระซุ้มพุทธคยา  เป็นพระพิมพ์ขนาดใหญ่ กว้างสามนิ้ว สูงสี่นิ้ว ด้านหลังหนารูปคล้ายวงรี พุทธลักษณะเช่นเดียวกับพระอบน้ำอ้อ แต่ทำคนละรูปแบบ มีรูปแบบศิลปะทวาราวดีผสมหริภุญชัย มีการขุดพบที่นครปฐม ลพบุรี และอยุธยา ด้านล่างขององค์พระมีตัวอักษรอินเดียโบราณอยู่เช่นเดียวกันกับพระงบน้ำอ้อย
เจดีย์

            เจดีย์หรือสถูป ซึ่งชาวล้านนาเรียกว่า ธาตุ นิยมสร้างสำหรับบรรจุอัฐิ มีทั้งพระบรมสารีริกธาตุ พระอรหันตธาตุ และแม้แต่ของกษัตริย์
            รูปแบบเจดีย์ที่พบในเขตจังหวัดลำพูน จำแนกออกได้ดังนี้
            เจดีย์แบบที่ ๑  เป็นรูปแบบเจดีย์ที่มีมาก่อนตั้งเมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.๑๘๓๙  วัสดุที่ใช้ก่อสร้างเป็นแลงผสมกับอิฐ มีลักษณะรูปทรงกรวยเหลี่ยม แต่ละชั้นจะมีซุ้มจระนำประดับ หรือบางรูปแบบจะเป็นเจดีย์แบบเหลี่ยม โดยเฉพาะฐานและเรือนธาตุ ที่เรือนธาตุจะมีซุ้มจระนำประดับทั้งสี่ด้าน ส่วนเจดีย์ที่ยอดเป็นเจดีย์ทรงกลม และมีเจดีย์บริวารล้อมรอบ ตัวอย่างได้แก่ เจดีย์สี่เหลี่ยม และเจดีย์แปดเหลี่ยม วัดจามเทวี สุวรรณเจดีย์ และเจดีย์เชียงยัน วัดพระธาตุหริภุญชัย
           เจดีย์แบบที่ ๒  เป็นเจดีย์ทรงระฆัง แรกสร้างในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ได้แก่ เจดีย์อุโมงค์เชิงดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ สร้างในสมัยพระเจ้ามังราย เจดีย์ทรงระฆังได้สืบทอดรูปแบบประเพณีมาถึงช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ได้แก่ เจดีย์พระธาตุหริภุญชัย คงเป็รูปแบบที่ถึงจุดสมบูรณ์ ในสมัยพระเจ้าติโลกราช
            วิวัฒนาการของรูปแบบเจดีย์พระธาตุหริภุญชัย ทำให้เชื่อว่าพระเจ้าติโลกราช โปรดให้ก่อสร้างเจดีย์ครอบเจดีย์องค์เดิม ซึ่งสร้างในสมัยพระเจ้าอาทิตยราช ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๗ เจดีย์องค์เดิมเป็นเจดีย์ทรงปราสาท ได้มีการบูรณะเพิมเติมอีกหลายรัชกาล รวมทั้งสมัยพระเจ้ามังรายปฐมกษัตริย์แห่งแคว้าล้านนา ก่อนจะถึงคราวเปลี่ยนรูปแบบเป็นเจดีย์ทรงระฆัง ในสมัยพระเจ้าติโลกราช รูปลักษณะและทรวดทรงได้รับการปรับปรุงให้สูงโปร่งยิ่งขึ้น จนได้สัดส่วนสมบูรณ์แบบ
           เจดีย์แบบที่ ๓  เป็นเจดีย์ทรงปราสาทคือ เจดีย์ที่มีเรือนธาตุ เหนือเรือนธาตุเป็นยอดแหลม ในช่วงระยะเวลาของพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เจดีย์ทรงปราสาทของล้านนา เกี่ยวข้องกับอิทธิพลศิลปะพม่า ที่สืบทอดมาจากสมัยเมืองพุกาม เมื่อเข้าสู่พุทธศตวรรษที่ ๒๐ เป็นช่วงการคลี่คลาย ก่อนที่ที่เจดีย์ทรงปราสาทจะมีรูปแบบต่าง ๆ เพิ่มขึ้น โดยมีองค์ประกอบบางชนิดของเจดีย์ทรงระฆัง เข้ามาร่วมอยู่ด้วยอย่างสำคัญ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่  ๒๑ เป็นต้นมา
            ในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เจดีย์ทรงปราสาทของวัดเกาะกลาง (วัดหนองคู่) ก่อด้วยอิฐทรงยังไม่สูงโปร่ง ส่วนฐานำรุดมาก และเจดีย์ยังอยู่ในรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสยกเก็จออกทั้งสี่ด้าน เพื่อเป็นฐานของจตุรมุขส่วนกลาง คือเรือนธาตุเป็นแท่นทึบทรงสี่เหลี่ยม ประดับเสาอิงที่มุมทั้งสี่จตุรมุขค่อยื่น จากด้านทั้งสี่ของเรือนธาตุ เพื่อเป็นจระนำไว้ประดิษฐานพระพุทธรูป ซุ้มของแต่จระนำเป็นซุ้มลด ตอนบนเรือนธาตุมีชั้นลดของเรือนธาตุ มุมทั้งสองชั้นลด คงมีไว้สำหรับตั้งเจดีย์ขนาดเล็ก (สถุปีกะ) ประจำมุมละองค์ ส่วนบนมีแท่นเตี้ยรองรับทรงระฆังค่อนข้างใหญ่ เมื่อรวมยอดที่ประจำมุมทั้งสี่ของเรือนธาตุชั้นลด จึงเป็นทรงปราสาทที่มีห้ายอด
            การมีพระพุทธรูปประดิษฐานที่จระนำทั้งสี่ทิศ คล้ายกับเจดีย์แบบหนึ่งในศิลปะพุกาม แต่เจดีย์แบบพุกาม มีพระพุทธรูปประดิษฐานที่ด้านทั้งสี่ของเสาขนาดใหญ่ เสานี้ก่ออยู่กลางคูหาของเรือนธาตุ ทำหน้าที่รับน้ำหนักส่วนบน ซึ่งเป็นทรงระฆัง หรือทรงศิขร คูหาที่ประดิษฐานพระพุทธรูปตรงกับความหมายของวิหารด้วย จึงเรียกว่า เจดีย์วิหาร
            ในพุทธศตวรรษที่ ๒๐  รูปแบบของเจดีย์ที่สร้างขึ้นที่เมืองลำพูน มีเจดีย์วัดพระยืน วัดนี้มีมาอยู่ก่อนการบูรณะครั้งสำคัญหลายครั้ง แต่ยังมีเค้าโครงที่เหลืออยู่ให้ศึกษารูปแบบบางประการได้บ้าง องค์เจดีย์สร้างบนยกพื้นเป็นชั้นลดหลั่น ลานประทักษิณชั้นบนมีทรงเจดีย์ขนาดเล็กประจำมุม เป็นเจดีย์บริวารที่มุมทั้งสี่ของลานประทักษิณ แบบอย่างเช่นนี้มีอยู่ก่อนในศิลปะพุกาม เช่นเดียวกับลักษณะโดนรวมที่เป็นทรงเจดีย์สี่เหลี่ยมของเรือนธาตุเจดีย์ประธาน จระนำยื่นออกเป็นมุมทั้งสี่ด้าน เหนือเรือนธาตุเป็นหลังคาลาดรองรับชุดฐานซ้อนต่อยอดทรงระฆังบัลลังก์ปลีและปล้องไฉน
            ระเบียองค์ทรงปราสาทที่มียอดทรงระฆัง เทียบเคียงได้กับเจดีย์ในวัดเกาะกลาง เมืองลำพูน และเจดีย์วักอุโมงค์เมืองเชียงใหม่ การรับเปลี่ยนในความบูรณะปฏิสังขรณ์เจดีย์วัดพญายืน อยู่ประมาณพุทธตวรรษที่ ๒๑ และครั้งสำคัญ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๓ ปัจจุบันมีมุขจระนำทั้งสี่ด้าน จึงไม่มีคูหา
            เจดีย์แบบที่ ๔  หลังจากยุคล้านนา บ้านเมืองตกอยู่ในการปกครองของพม่า งานก่อสร้างคงมีอยู่น้อย รูปแบบของเจดีย์ทรงระฆังที่สร้างขึ้นใหม่หลายแห่ง ในเขตจังหวัดลำพูน ได้จำลองแบบเจดีย์พม่ายุคหลังมาสร้างในช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๕ เช่นที่วัดป่าตาล อำเภอป่าซาง วัดสุพรรณรังษี อำเภอเมือง ฯ เป็นต้น
โบสถ์ วิหาร และหอไตร
           โบสถ์  เป็นอาคารที่พระสงฆ์ใช้ทำสังฆกรรม เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยม ภายนอกจะมีใบสีมาปักอยู่โดยรอบเป็นการแสดงขอบเขต ภายในมีพระพุทธประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี เพื่อเป็นประธานในการประกอบสังฆกรรม เบื้องหน้าพระประธานมีแท่นยกพื้นสำหรับพระสงฆ์ ๒๑ รูป และน้ำในการประกอบพิธี
            โบสถ์มีลักษะทั่วไปเช่นเดียวกับวิหาร แต่มักมีขนาดเล็กกว่า มีหลักสีมาที่ตำแหน่งทิศหลักทั้งแปดรอบโบสถ์ เป็นเครื่องแสดงความแตกต่างจากวิหารทางล้านนา การสร้างโบสถ์มีความสำคัญน้อยกว่าวิหาร
           วิหาร  เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ อยู่ในเขตพุทธาวาส ภายในประดิษฐานพระพุทธูป วิหารใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมทั้งพระสงฆ์กับฆราวาส ในสมัยโบราณ วิหารมีความสำคัญกว่าโบสถ์ จึงมีขนาดใหญ่ วิหารมีหลายรูปแบบ และหลายขนาดขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ในการก่อสร้าง
            ลักษณะของวิหารโดยทั่วไป เป็นอาคารขนาดใหญ่ทอดวางตามแนวยาว หลังคาซ้อนกันหลายชั้นลดหลั่นกันตามลำดับ จากเล็กไปหาใหญ่ ทั้งจังหวะหลังคาเป็นระยะ ๆ สอดคล้องกับฐานของวิหารที่ยกเก็จออกไปทางด้านหน้า การลดชั้นหลังคาออกมาทางด้ารหน้านิยมมากกว่าการลดชั้นหลังคาทางด้านหลัง แตกต่างจากวิหารทางภาคกลาง ที่นิยมทำหลังคาลดชั้นหน้าหลังจำนวนเท่ากัน จั่วซึ่งเป็นโครงหลังคาปิดด้วยฝาลูกฟักทางด้านสกัดหลัง นับเป็นงานประดับที่แสดงโครงสร้างของหลังคาด้วย สำหรับจั่วด้านสกัดหน้ามักปิดด้วยแผงบันประดับงานปูนปั้น หรือแกะสลักไม้ ป้านลมไม่นิยมนาคสะดุ้งแบบภาคกลาง ป้านลมโค้งอ่อน เน้นระนาบเอนของตับหลังคา ปลายป้านลมงอนเป็นหัวพญานาคก็มี ทำเป็นตัวเหราก็มี มักทำเฉพาะอาคารขนาดเล็ก งานประดับตบแต่งป้านลมนิยมใช้กระจกสีเคลือบตะกั่วอ่อนไว้ด้านหลัง
            ผนังวิหารมีทั้งก่อด้วยอิฐหรือก่อด้วยอิฐครึ่งไม้ ฐานยกพื้นสูงพอสมควร หันหน้าไปางด้นทิศตะวันออก มักมีบรรไดพาดขึ้นด้านหน้า ราวบันไดเป็นพญานาค และอาจจะมีประตูขนาดเล็กทางด้านทิศใต้ สำหรับเป็นที่พระสงฆ์เข้าภายในวิหาร
            ส่วนในของวิหารบางแห่งมีกู่สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป ซึ่งกู่จะมีการประดับตกแต่งลวดลายปูนปั้นอย่างสวยงาม เป็นลวดลายแบบธรรมชาติ และลายประดิษฐ์ ผสมกับคติวามเชื่อต่าง ๆ เช่น นาค มกร หงส์ เป็นต้น

           หอไตร  หอไตรมีชื่อเรียกหลายชื่อได้แก่ หอมณเฑียรธรรม หอพระธรรมเฑียรธรรม หอพระธรรม หอธรรม ปฏิฆระ หอพระไตรปิฏก
            หอไตรเป็นอาคารหรือสถานที่เก็บรักษาพระไตรปิฏก ที่อยู่ประจำในแต่ละวัด
            ลักษณะของไตรที่พบในเขตจังหวัดลำพูน มีอยู่สามแบบคือ หอไตรที่เป็นเครื่องไม้ทั้งสามหลัง หอไตรที่เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ และหอไตรที่เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทั้งหลัง
            หอไตรที่เป็นเครื่องไม้ทั้งหลัง เป็นอาคารขนาดเล็กใต้ถุนสูง แผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากั้นฝาทึบทั้งสี่ด้าน ไม่มีช่องหน้าต่าง ๑ - ๒ ช่อง หรือมากกว่านั้น ด้านหน้ามีประตูทางเข้าหนึ่งประตู แต่บางแห่ง มักไม่มีบันไดขึ้น เวลาขึ้นต้องนำบันไดมาพาดเวลาจะขึ้น และยกบันไดออกเมื่อลงมาแล้ว บางแห่งกั้นห้องตรงกลาง รอบ ๆ ระเบียงล้อม หรือกั้นห้องชิดด้านใดด้านหนึ่ง หลังคาลดชั้นมุงกระเบื้อง ประกอบด้วยช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ หน้าบันประดับลวดลายแกะสลักกระจก ตัวหอไตรมักประดับลวดลายฉลุไม้อย่างงาม บางแห่งมีการทาชาด ลงรักปิดทอง ประดับกระจกในส่วนต่าง ๆ ด้วย มีที่สร้างกลางสระน้ำอยู่หลายแห่ง เช่น หอไตรวัดสันกำแพง หอไตรวัดป่าเหลือง อำเภอป่าซาง ส่วนที่สร้างบนดิน เช่น หอไตรวัดประตูม้า หอไตรวัดหมูปิ้ง อำเภอเมือง ฯ หอไตรวัคงฤาษี หอไตรวัดป่าป๋วย อำเภอบ้านไฮ่ง เป็นต้น
            หอไตรที่เป็นครึ่งตึกครึ่งไม้ คือชั้นล่างก่ออิฐถือปูนเป็นห้องทึบ มีทางเข้าด้านหลัง ด้านข้างเจาะช่องหน้าต่าง ชั้นบนเป็นอาคารไม้ เหมือนหอไตรที่เป็นเครื่องไม้ทั้งหลัง เช่น หอไตรวัดพระธาตุหริภุญชัย
            หอไตรที่ก่ออิฐถือปูนทั้งหลัง เป็นอาคารสองชั้น ทั้งชั้นล่างและชั้นบนก่อผนังทึบ ด้านหน้ามีประตูทางเข้า ด้านล่างเจาะเป็นช่องหน้าต่าง บางแห่งชั้นล่างก่อผนังทึบสามชั้น อีกด้านทำเป็นช่องโค้ง ไม่มีบันไดขึ้นชั้นบน แต่เจาะช่องเอาไว้สำหรับพาดขึ้นไป ภายในหอไตรบางแห่งมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง เช่น หอไตรวัดหนองเชือก หอไตรวัดฉางข้าวน้อยใต้ อำเภอป่าซาง
ประเพณีสรงน้ำพระบรมธาตุหริภุญชัย

            พระบรมธาตุหริภุญชัยเป็นปูชนียสถานสำคัญยิ่งของจังหวัดลำพูน เป็นจอมเจดีย์องค์ในจำนวนแปดแห่งของประเทศไทย เป็นเจดีย์เก่าแก่ที่สร้างในสมัยพระเจ้าอาทิตยราช เป็นศูนย์รวมศรัทธาของประชาชนโดยทั่วไป ประเพณีสรงน้ำ เป็นประเพณียิ่งใหญ่ของชาวจังหวัดลำพูน และจังหวัดใกล้เคียง เป็นประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติมาเป็นประจำทุกปี
            ประเพณีสรงน้ำพระบรมธาตุ กำหนดจัดขึ้นที่วัดพระธาตุหริภุญชัย ฯ ในวันขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนแปดเหนือ ที่ชาวเหนือเรียกว่า วันแปดเป็ง (ประมาณเดือนพฤษภาคม) ตรงกับวันเพ็ญเดือนหกของภาคกลาง หรือวันวิสาขบูชา งานประเพณีเริ่มตั้งแต่วันขึ้นเก้าเป็นต้นไป ผู้ที่มาร่วมงานมีหลากหลาย ทั้งคนพื้นบ้าน คนพื้นเมือง ชาวเขา และคนต่างถิ่น มีการแต่กายกันตามประเพณีท้องถิ่น ชุดพื้นเมือง ชาวเขาเตรียมข้าวของเรียกว่า ดาครัว ญาติพี่น้องจากต่างบ้านต่างถิ่น จะมาช่วยกัน แต่งดาเป็นการรวมญาติพี่น้องได้มาพบกันในวัด มีกิจกรรรมเจ็ดวันเจ็ดคืน มีพิธีราษฎร และพิธีหลวง ดังนี้
          พิธีราษฎร  เริ่มเวลาประมาณ ๐๗.๐๐ นาฬิกา คณะศรัทธาประชาชนประกอบพิธีทำบุญตักบาตร เวลา ๑๑.๐๐ นาฬิกา ถวายภัตตาหารเพลแก่พระภิกษุสงฆ์ ประจำวิหารทั้งสี่ คือ พระวิหารหลวง วิหาร พระละโว้ วิหารพระเจ้าทันใจ และวิหารพระพุทธ พระสงฆ์อนุโมทนา เป็นอันเสร็จพิธีราฎร

          พิธีหลวง  เริ่มเวลาประมาณ ๑๓.๐๐ นาฬิกา คณะข้าราชการจังหวัดลำพูน นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัด นำขบวนแห่งน้ำสรงพระราชทาน เครื่องสักการะประกอบด้วย ดอกไม้เงินทอง ธูปเทียนของหลวง ผ้าห่มพระธาตุสีแดง น้ำหอม และน้ำศักดิ์สิทธิบนดอยคะม้อ เริ่มขบวนแห่งจากศาลากลางจังหวัด เข้าสู่พระธาตุหริภุญชัย
            การประกอบพิธีสรงน้ำพระบรมธาตุ เริ่มพิธีทาศาสนา อัญเชิญน้ำสรงพระราชทานน้ำศักดิ์สิทธิจากดอยคะม้อ ชักรอกขึ้สรงน้ำพระบรมธาตุ พระสงฆ์ทรงสมณสักดิ์ เจริญชัยมงคลคาถา โดยมีพราหมณ์แปดคน ประจำอยู่บนเจดีย์พระบรมธาตุ หลังจากนั้นจึงเปิดโอกาสให้พระพุทธศาสนิกชน โดยขึ้นไปนำน้ำขมิ้น ส้มป่อย รวมกันเป็นสลุงหลวง ขึ้นสรงน้ำโดยวิธีชักรอกเช่นกัน เวลาประมาณ ๑๗.๐๐ นาฬิกา เป็นอันเสร็จพิธีหลวง
            หลังจากเสร็จพิธีสงฆ์น้ำพระราชทาน และน้ำศักดิ์สิทธิแล้ว จะมีขบวนครัวทาน จากวัดและอำเภอต่าง ๆ แห่เข้าสู่บริเวณพิธี เพื่อนมัสการ และสักการะพระบรมธาตุ  ขบวนครัวทานจะตกแต่งให้เป็นเรื่องทางพระพุทธประวัติ หรือมหาชาติที่ให้ข้อคิด คติธรรม ในขบวนจะประกอบด้วย ขบวนตุง ธงทิว การแสดงศิลปะพื้นบ้าน การบรรเลงดนตรีพื้นบ้าน ตลอดงานสรงน้ำจะมีพิธีกรรมทางศาสนา และมหรสพทั้งเจ็ดวันเจ็ดคืน
            ภาคกลางคืน ภายหลังพิธีสรงน้ำพระบรมธาตุเสร็จเรียบร้อยแล้ว ถ้าปีไหนตรงกับวันวิสาขบูชา ในตอนหัวค่ำจะประกอบพิธีเวียนเทียน ประทักษิณองค์บรมธาตุสามรอบ แต่ถ้าปีไหนไม่ตรงกับวันวิสาขบูชา ก็จะมีการแสดงพุทธาภิเษกพร้อมกันทั้งวัด จากวิหารทั้งสี่ทิศ เพื่อเจิรญทางพุทธมนต์ มีการแสดงพระธรรมเทศนาหนึ่งกัณฑ์ สวดเบิกหรือสวดพุทธาภิเษกวิการละสีวาร โดยพระสงฆ์ในเขตอำเภอเมือง ฯ และอำเภอบ้านธิ จะสวดเบิกในวิหารด้านทิศตะวันออก พระสงฆ์จากอำเภอป่าซาง และกิ่งอำเภอเวียงหนองล่อง จะสวดเบิกในวิหารพระพุทธด้านทิศใต้ พระสงฆ์จากอำเภอแม่ทา จะสวดเบิกในวิหารพระเจ้าทันใจด้านทิศตะวันตก และพระสงฆ์จากอำเภอลี
อำเภอบ้านโฮง และอำเภอหัวช้าง จะสวดเบิกอยู่ในวิหารพระเจ้าละโว้ ด้านทิศเหนือ ผู้ปฏิบัติธรรมจะนุ่งขาวห่มขาวมีเครื่องนอน เสือ หมอน มุ้ง เข้านอนรักษาศิลในวัดบนวิหารคต รอบปริมณฑลองค์พระธาตุหริภุญชัย
ประเพณีตานสลากย้อม
            ประเพณีกินสลาก หรือตานสลาก เป็นประเพณีเก่าแก่ในพระพุทธศาสนาตั้งแต่ครั้งกาล ปรากฎอยู่ในบททุกนิยม ในล้านนามีการทำบุญสลากภัตร ที่มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นคือ กิ๋นก๋วยสลาก หรือกินสลาก หรือตานก๋วยสลาก หรือตรนสลากย้อม ในความหมายเดียวกันแต่จะมีความแตกต่างกันในวิธีการทำบุญ ที่ปฏิบัติกันตามคติความเชื่อ และความนิยมของแต่ละท้องถิ่น
            สำหรับจังหวัดลำพูน การตานสลากจะเริ่มในวันเพ็ญเดือนสิบ (เดือนสิบสองเหนือ ประมาณเดือนกันยายน) และสิ้นสุดในเดือนสิบเอ็ด (เดือนเกี๋ยวเหนือ) โดยจะมีการตานสลากภัตรที่วัดพระธาตุก่อนเป็นวัดแรก ส่วนอื่น ๆ จะตามสลากภัตรหรือไม่ก็ได้ แล้วแต่การตกลงของชาวบ้าน ถ้าวัดใดจะตานสลาก ต้องทำพิธีหลังวัดพระธาตุหริภุญชัย
            การตานก๋วยสลากในจังหวัดลำพูน มีพิธีการคล้ายกับทางภาคเหนือโดยทั่วไป คือ มีการเตรียมงานก่อนวันพิธีจริงเรียกว่า วันดา มีการทำเส้นสลาก เพื่อเป็นการแจ้งเจตจำนงของผู้เป็นเจ้าของ และการอุทิศส่วนกุศล แต่ในจังหวัดลำพูน มีวิธีการทำบุญตานก๋วยสลากภัตรแตกต่างจากจังหวัดอื่นคือ มีการตานสลากภัตรที่เรียกว่า การตานสลากย้อม
            สลากย้อม เป็นทานใหญ่ชนิดหนึ่งที่ต้องลงทุนลงแรงในการแต่งดา โดยเฉพาะในตำบลริมปิง ประตูป่า และตำบลอุโมงค์ อำเภอเมือง ฯ  การทานสลากย้อมนิยมกันว่าเป็นหน้าที่ของหญิงสาวที่จะพึงทานโดยเฉพาะ พ่อแม่จะแนะนำให้ลูกสาวของตน ทราบถึงหน้าที่หญิงสาวพึงปฏิบัติเป็นเบื้องแรกคือ การเก็บหอมรอมริบเงินทองที่หามาด้วยน้ำพักน้ำแรง เพื่อรักษาไว้ตานสลากย้อม โบราณกล่าวว่าหญิงใดยังไม่ได้ตานสลากย้อม ยังไม่สมควรแต่งงาน การเตรียมการในเรื่องนี้ ใช้เวลาประมาณ ๔ - ๕ ปี
            การเตรียมสิ่งของถวายทาน จะใช้เวลายาวนานกว่าการสลากภัตรแบบอื่น โดยจะเริ่มซื้อของเตรียมไว้ทีละเล็กละน้อย ตั้งแต่สร้อยคอ ทองคำ เข็มขัดเงิน และเครื่องเรือนครบทุกชิ้น นอกนั้นเป็นส้มสุก ลูกไม้ กล้วยทั้งเคลือ มะพร้าวทั้งหลาย และมีขนมนมเนยทุกอย่าง
            ต้นสลากย้อมนิยมทำสูงประมาณ ๕ - ๖ วา ยอดต้นสลากมักปักร่มกางกั้นไว้ตามกลอน และเชิงชายของร่ม จะห้อยสร้อย เข็มขัด ตลับเงิน และเงินเหรียญประดับดาอย่างสวยงาม ลำต้นของสลากย้อม จะใช้ฟางมัดล้อมรอบ เพื่อให้ง่ายแก่การปักไม้สำหรับแขวนสิ่งต่าง ๆ การแต่งดาใช้เวลารวมเดือน กระดาษสีที่นำมาประดับนับเป็นร้อยแผ่น เมื่อแต่งดาเสร็จถึงวันตานสลากแล้ว ก็จะช่วยกันหามแห่ไปจากบ้าน ไปยังวัดที่มีงานตานสลากภัตร สลากย้อมจะให้คนหามอย่างน้อย ๑๒ คน การถวายทานก็เหมือนกับการตานสลากภัตรโดยทั่วไป เมื่อสลากย้อมได้แก่ พระภิกษุหรือสามเณรรูปใดแล้ว พระภิกษุหรือสามเณรรูปนั้น ต้องหาคนมาอ่านครรโลงของเจ้าของสลากย้อมให้จบก่อน จึงจะประเคนของ และรับพรเป็นอันเสร็จพิธี

| ย้อนกลับ | บน |