| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์

            จังหวัดเลย มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน จังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน บริเวณพื้นที่บางอำเภอปรากฎร่องรอยถิ่นฐานเป็นที่อาศัยของสัตว์โลกล้านปี บริเวณพื้นที่หลายอำเภอปรากฎมีภาพเขียน และเครื่องใช้สมัยหินในถิ่นฐาน ที่เคยเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ พื้นที่บางอำเภอเป็นแหล่งรวมใบเสมาหินทราย สมัยทวารวดี มีร่องรอยการก่อตั้งชุมชนกระจายในพื้นที่อำเภอต่าง ๆ ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นเมือง ในบริเวณพื้นที่ยังคาบเกี่ยวอยู่กับเขตอิทธิพลของขอม ล้านช้าง และสุโขทัย
การตั้งถิ่นฐาน

            ยุคก่อนการตั้งชุมชน  พื้นที่ของจังหวัดเลย มีร่องรอยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เช่น ได้พบภาพเขียนสี หรือศิลปถ้ำอยู่ตามเพิงผาถ้ำ และพบเครื่องมือหินกระจายอยู่ตามหมู่หินกรวดในแม่น้ำลำธาร หลักฐานที่ได้จากการสำรวจภาพเขียนสี หรือศิลปถ้ำ และเครื่องมือสมัยหิน มีดังนี้
                ศิลปถ้ำ  จากการสำรวจศิลปถ้ำ ในเขตจังหวัดเลย ที่อยู่ตามเพิงผา เคยถูกใช้เป็นที่อยู่อาศัย บางแห่งใช้เป็นที่ฝังศพ บางแห่งใช้เป็นที่สร้างศิลปะ เช่น ภาพวาดไว้บนผนัง หรือตามซอกหิน พบมีอยู่ตามเขาหินปูนห้าแห่ง เทือกเขาหินทราย สามแห่ง และเขาหินแกรนิตหนึ่งแห่ง คือ
                    เขาปูน  ห้าแห่ง ได้แก่

                        - ถ้ำผาปู่  วัดถ้ำผาปู่ บ้านนาอ้อ ตำบลนาอ้อ อำเภอเมือง ฯ
                        - ถ้ำมโหฬาร  บ้านน้อยสุขใจ ตำบลหนองหิน อำเภอหนองหิน เป็นภาพเขียนที่ที่ออกจะดั้งเดิม
                        - ถ้ำสูง  วัดถ้ำมโหฬาร บ้านน้อยสุขใจ ตำบลหนองหิน อำเภอหนองหิน
                        - ถ้ำผาฆ้อง ๑  ภูผาฆ้อง บ้านผาฆ้อง ตำบลห้วยส้ม อำเภอภูกระดึง พบภาพคนกับวัวกระทิง
                        - ถ้ำผาฆ้อง ๒  ภูผาฆ้อง  บ้านผาฆ้อง ตำบลห้วยส้ม อำเภอภูกระดึง
                    เขาหินทราย สามแห่ง ได้แก่

                        - ถ้ำพระ  บ้านนาน้อย ตำบลศรีฐาน  อำเภอภูกระดึง
                        - ถ้ำมือ  บ้านนาน้อย ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง
                        - ถ้ำกิววิว  บ้านาน้อย ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง
                    เขาหินแกรนิต หนึ่งแห่ง ได้แก่
                        - ภูถ้ำพระ  บ้านกกดู่ ตำบลกกดู่ อำเภอเมือง ฯ

                เครื่องมือหิน   แบ่งออกได้เป็นสามสมัย ตามรูปแบบของเครื่องมือหินที่ใช้คือ
                    สมัยหินเก่า  เป็นเครื่องมือหินที่ทำจากหินกรวดแม่น้ำ เป็นเครื่องมือหินกะเทาะแบบง่าย ๆ เรียกโดยทั่วไปว่า เครื่องมือสับตัด มนุษย์สมัยนี้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยการล่าสัตว์ และหาผลไม้ต่าง ๆ เป็นอาหาร
                    สมัยหินกลาง  เป็นเครื่องมือที่ทำจากหินกรวดแม่น้ำ แต่มีวิธีการกะเทาะประณีตกว่าสมัยหินเก่า มีทั้งเครื่องมือกะเทาะหน้าเดียว และกะเทาะสองหน้า เครื่องมือปลายแหลม เครื่องขูด การดำรงชีวิตของมนุษย์สมัยนี้ ยังคงดำรงชีวิตอยู่ด้วยการล่าสัตว์ หาผลไม้ ในที่บางแห่งปรากฎหลักฐานของประเพณีการฝังศพด้วย
                    สมัยหินใหม่  เป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ที่มีความละเอียดประณีตขึ้นกว่าสองสมัยแรก มีการขัดฝนเครื่องมือหิน ดำรงชีวิตด้วยการเพาะปลูก มีการล่าสัตว์อยู่บ้าง มักเลือกอาศัยในบริเวณริมแม่น้ำ และน้ำท่วมไม่ถึง หรือใกล้เชิงเขา รู้จักประเพณี การฝังศพ

                    จากหลักฐานการขุดค้น ณ บริเวณแม่น้ำโขง ในเขตอำเภอเชียงคาน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒ - ๒๕๑๗ พบหลักฐานเครื่องมือหินกะเทาะ ที่ทำจากหินกรวดแม่น้ำเป็นส่วนใหญ่ ชนิดของหินมีทั้ง หินตะกอน หินอัคคี และหินแปร ลักษณะของเครื่องมือจะเป็นแบบเครื่องขุด เครื่องมือสับตัด และสะเก็ดหิน สามารถใช้กะเทาะได้ ทั้งหน้าเดียว และสองหน้า ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า กลุ่มชนโบราณกลุ่มแรก ๆ ที่อาศัยอยู่ในเขตจังหวัดเลย และบริเวณใกล้เคียง น่าจะเป็นชุมชนในสังคมล่าสัตว์ หรือสังคมเกษตรกรรม ที่ดำรงชีวิตอยู่ด้วยการล่าสัตว์ และเก็บพืชพันธุ์ไม้เป็นอาหาร หลักฐานเครื่องมือหินดังกล่าว มีอายุประมาณ ๙,๐๐๐ ปี
                    นอกจากนั้น ในบริเวณแถบนี้ยังพบเครื่องมือหินขัด เช่น ขวานหินขัด ซึ่งพบกระจัดกระจายอยู่โดยทั่วไป ในทุกภาคของประเทศ กลุ่มชนดังกล่าวเชื่อว่าเป็นกลุ่มชนที่อยู่ในสังคมเกษตรกรรม ที่รู้จักการเพาะปลูกแล้ว พืชหลักที่สำคัญได้แก่ ข้าว เครื่องมือหินที่ทำมีความประณีต มีการขัดฝนให้สวยงาม สามารถใช้ในงานที่เกี่ยวกับความร้อนที่สูงขึ้น เพื่อนำมาใช้ในการประดิษฐ ภาชนะดินเผา บางชุมชนมีความเจริญถึงขั้น การใช้โลหะกรรมที่สามารถ ประดิษฐเครื่องมือ เครื่องใช้ที่ทำด้วยสำริด และเหล็ก
                    จากที่กล่าวมาแล้ว แสดงให้เห็นว่า กลุ่มชนโบราณที่อาศัยอยู่ในแถบจังหวัดเลย เป็นกลุ่มชนในสังคมก่อนเกษตรกรรม หรือสังคมล่าสัตว์ในระยะเริ่มแรก แล้วต่อมาได้มีการพัฒนาเป็นสังคมเกษตรกรรม

                    จากการสำรวจทางโบราณคดี ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๒๖ - ๒๕๒๘  ในเขตอำเภอภูกระดึง พบกำไลสำริด เหล็ก ทองเหลือง และเศษภาชนะ ซึ่งมีลวดลายในยุคเดียวกับบ้านเชียง
            ยุคก่อตั้งชุมชน  มีวิวัฒนาการมาจากยุคก่อนตั้งชุมชน ดังนี้
                ชุมชนโบราณในบริเวณลุ่มแม่น้ำพองตอนต้น  จากการขุดพบเศษภาชนะ กำไลสำริด กำไลเหล็ก ที่บ้านวังลาน ตำบลผานกเต้า อำเภอภูกระดึง แสดงให้เห็นว่าบริเวณบ้านวัวลานในอดีต คงเป็นที่ตั้งชุมชนโบราณในสังคมเกษตรกรรม มีพัฒนาการต่อเนื่องจนถึงขั้นโลหกรรม มีอายุประมาณ ๔,๐๐๐ - ๕,๐๐๐ ปี มาแล้ว
                ภูกระดึง  เป็นแหล่งรวมศิลปถ้ำรวมห้าแห่ง นอกจากนั้นยังพบกำไลสำริด เศษภาชนะที่มีสีสันอยู่ในยุคเดียวกันกับบ้านเชียง
ลำดับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์
            เมืองด่านซ้าย  มีประวัติความเป็นมาพอประมวลได้คือ เมื่ออาณาจักรโยนก ล่มสลายด้วยพระเจ้าอนุรุทธ กษัตริย์พม่า เมื่อปี พ.ศ.๑๕๔๗ พระเจ้าไชยสิริ ผู้ครองเมืองไชยปราการ ได้อพยพผู้คนไปตั้งถิ่นฐานใหม่ทางใต้ ทรงเป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์อู่ทอง ทรงพระนามว่า พระเจ้าศิริชัยเชียงแสน
            เมื่อเวลาล่วงต่อมากว่า ๒๕๐ ปี  พ่อขุนบางกลางหาว กับพ่อขุนผาเมือง ได้นำผู้คนจากแคว้นฟางคำ ลงมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านแคว้นล้านช้าง แล้วข้ามแม่น้ำเหืองขึ้นมาทางฝั่งขวาของลำห้วยน้ำหมัน มาจนถึงที่ราบแห่งหนึ่ง จึงหยุดพัก แบ่งผู้คนตั้งถิ่นฐาน พ่อขุนผาเมืองตั้งบ้านด่านขวา จากการสำรวจพบบริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งอุโบสถวัดบ้านด่านขวา มีใบเสมาหิน ปักอยู่ในหลุมสะดืออุโบสถ พื้นที่โดยรอบมีลักษณะเป็นแหล่งนา ปัจจุบันอยู่ริมฝั่งขวาห้วยน้ำริน ชาวบ้านหัวนาแหลม ตำบลภูหอ อำเภอด่านซ้าย
            ส่วนพ่อขุนบางกลางหาว พาผู้คนข้ามฟากไปพักพลชั่วคราวอยู่ในที่แห่งหนึ่ง จากนั้นได้อพยพไปตั้งถิ่นฐานที่ริมฝั่งซ้าย ห้วยน้ำหมัน เรียก บ้านด่านซาย  ส่วนบริเวณที่พักพลชั่วคราวสันนิษฐานว่า เป็นบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านเก่า ต่อมาจึงแบ่งผู้คนขึ้นไปตามลำน้ำ ไปขุดคูคลองจากฝั่งซ้ายห้วยน้ำหมัน ขึ้นไปจรดเนินเขา แล้วชักน้ำมากักเก็บไว้ใช้ทั้งการเกษตร และใช้เป็นปราการธรรมชาติป้องกันการรุกราน จากพวกขอมซึ่งอยู่ที่แคว้นสนามจันทร์ เมืองสุโขทัย และได้แบ่งผู้คนขึ้นมาตั้ง
บ้านเรือนเป็นแมวมองคอยสอดแนมพวกขอมที่จะเข้ามารุกราน เรียกหมู่บ้านตั้งใหม่ว่า บ้านค่ายคู (หนองคู)
            ปรากฏว่าในฤดูฝน น้ำในห้วยน้ำริน ได้นำเอากรวดหินดินทรายไหลหลากเข้ามาท่วมบ้านเรือนที่ไร่ที่นาของบ้านด่านขวา เกิดความเดือดร้อน พ่อขุนผาเมืองจึงคิดขยับขยายข้ามภูน้ำรินไปพักพลอยู่ชั่วคราวในที่แห่งหนึ่งเรียกเมืองโปงถ้ำ (ปัจจุบันอยู่ห่างจากบ้านโคกงามไปทางด่านซ้ายประมาณ ๒ กิโลเมตร)  ครั้นหาชัยภูมิที่อยู่ใหม่ได้แล้วจึงอพยพผู้คนไปตั้งถิ่นฐานบนหลังภูเขา เรียก เมืองภูครั่ง
            ต่อมาไม่นานก็ได้อพยพผู้คนไปอยู่ที่เมืองราด (ปัจจุบันยังมีซากเมืองโบราณอยู่ระหว่างเขตอำเภอศรีเทพกับอำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ อยู่ห่างจากเมืองศรีเทพไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๓๐ กิโลเมตร)
            พ่อขุนบางกลางหาว ในกาลต่อมาเห็นว่าเมืองบางยางซึ่งเป็นเมืองใหญ่ข้ามภูเขาไปทางทิศตะวันตกห่างจากบ้านค่ายคู ด้วยการเดินเท้าเพียงชั่ววันเดียว ผู้คนก็มีจารีตประเพณีตลอดจนสำเนียงพูดเช่นเดียวกัน จึงเห็นควรที่จะอพยพผู้คนไปรวมอยู่ที่เมืองบางยาง บ้านด่านซ้ายเดิมซึ่งต่อมาเรียกบ้านนาหอ และเมืองด่านซ้ายเปรียบเหมือนเป็นเมืองหน้าด่าน ต่อมาเมื่อมีกำลัง และความพร้อมพอที่จะขับไล่พวกขอมออกไป จึงได้มีใบบอกแจ้งไปให้ขุนผาเมืองที่เมืองราด ให้นำกำลังขึ้นไปช่วย เมื่อทุกฝ่ายพร้อมก็ได้ยกกำลังเข้าโจมตีสมาสโชลมลำพง ข้าหลวงขอมผู้ปกครองเมืองสุโขทัย ออกไปจากแคว้นสนามจันทร์ แล้วสถาปนาพ่อขุนบางกลางหาว ขึ้นเป็นเจ้าปกครองสุโขทัย เมื่อปี พ.ศ.๑๘๐๐ เป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วง ทรงพระนามพ่อขุนศรีอินทราทิตย์
            เมืองเลย เมืองเซไล เมืองทรายขาว  ได้มีผู้นำคำจารึกด้วยอักษรฝักขาม เรื่องเมืองเซเลอเลิวในสมุดข่อยหรือสมุดไทดำ มาเผยแพร่เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๙  ข้อความในจารึกกล่าวว่าเมื่อปี พ.ศ.๑๘๙๓ พ่อเจ้าฟ้าพาผู้คนอพยพลงมาตั้งเมืองเซเลเลิว พ่อเจ้าฟ้าอพยพมาจากชายราชอาณาจักรตอนเหนือของกรุงสุโขทัย ผ่านไปสู่แคว้นล้านนากับแคว้นล้านช้าง
            ในห้วงระยะเวลาดังกล่าว บริเวณที่ตั้งจังหวัดเลยและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดิมอยู่ในเขตการปกครองของขอม ครั้นเจ้าฟ้าอุ้มฟ้าหล้าธรณี กษัตริย์ลาวองค์ที่ ๒๓ แห่งกรุงล้านช้างมีอำนาจ (พ.ศ.๑๘๖๙ - ๑๙๑๕) บริเวณพื้นที่ดังกล่าวจึงตกอยู่ใต้อำนาจโดยปริยาย
            ประวัติของเมืองเลย  เชื่อกันว่ามาจากเมืองเซเลอเลิวหรือเซเลไล (เนื่องจากชาวเลยโบราณมักออกเสียงสระไอเป็นสระเอิว)
                กลุ่มผู้สร้างเมืองเลย ประวัติความเป็นมาของเมืองเลยเป็นการอพยพของกลุ่มชนในอาณาจักรสุโขทัยซึ่งมีผู้นำ (พ่อเจ้าฟ้า) มีความสนิทสนมอยู่กับ เจ้าชีวิตเมืองหลวงพระบาง ได้ลงมาตั้งเมืองขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำในเขตอิทธิพลของขอม และเรียกชื่อเมืองตามชื่อแม่น้ำ
                   พ่อเจ้าฟ้า  ผู้นำอพยพ เป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้สร้างวัดไว้เป็นอนุสรณ์ ให้ชื่อว่า วัดกู่ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเซไล
                   เจ้าฟ้าห่มขาว  เป็นบุตรพ่อเจ้าฟ้า ได้ทำการพัฒนาบ้านเมืองในด้านต่าง ๆ  บูรณะวัดกู่ สร้างพระธาตุกุดเฮือดำ ในสมัยนี้ไม่มีการส่งส่วย และเริ่มเป็นทางผ่านในการเดินสาร ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับกรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้าง จึงมีสร้อยต่อชื่อเมืองเรียกว่า เมืองเซไลใช้ข่าว
                   ท้าวหล่าน้ำ  ได้ทำนุบำรุงบ้านเมืองและพระพุทธศาสนา สร้างวัดเทิงไว้เป็นอนุสรณ์ ปัจจุบันยังเหลือซากอยู่ที่บ้านทรายขาว
                   ท้าวศิลา  ได้สร้างวัดทุ่ง หรือวัดทุ่งนาคันทุง อยู่นอกเมืองไว้เป็นอนุสรณ์
                   ท้าวสายเดือน  ได้สร้างวัดตาล ปัจจุบันเรียกวัดโพธิ์เย็น ไว้เป็นอนุสรณ์  ห้วงเวลานี้เมืองเซเลเลิวยังต้องส่งส่วยผ้าขาวอีก จึงมีสร้อยชื่อเมืองว่า เซเลยเลิวซายขาว
                   ท้าวเดือนสุข  ครองเมืองอยู่ได้ไม่นาน ได้เกิดทุพภิกขภัย ชาวเมืองล้มตายเป็นอันมาก จึงได้อพยพผู้คนไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ริมห้วยน้ำหมาน เรียกว่า บ้านแฮ หรือบานแห่  สร้างวัดศรีภูมิ หล่อพระพุทธรูปนวโลหะปางมารวิชัยไว้ประจำบ้านประจำเมือง เรียก พระเจ้ามิ่งเมือง (พระพุทธมิ่งเมืองมงคล) เมื่อปี พ.ศ.๒๒๒๐

                เมืองทรายขาว เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔ ได้มีผู้พบคำจารึกที่ฐานพระพุทธรูปนวโลหะปางประทานอภัยหรือปางห้ามสมุทร ศิลปะล้านช้าง ณ วัดศรีสุทธาวาส อำเภอเมือง ฯ มีความว่า เมื่อ ปี พ.ศ.๒๒๕๕ ได้มีการสร้างพระพุทธรูปองค์นี้โดยมีมหาสมเด็จสังฆราชา เจ้าวัดกลางเมืองทรายขาว เป็นประมุขฝ่ายสงฆ์ และมีพระยาทรายขาวเป็นประมุขฝ่ายฆราวาส
                เมืองเชียงคาน  เมืองเชียงคานในพงศาวดารล้านช้างบ่งว่า ขุนคาน เจ้าเมืองเชียงของ โอรสขุนดัว เป็นผู้สร้างเมืองเชียงคาน เดิมอยู่ที่บ้านผาฮด ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง
                ในปี พ.ศ.๑๙๖๓ บรรดาสมณพราหมณ์พฤฒามาตย์ทั้งปวงได้อัญเชิญท้าวลือชัย โอรสพระเจ้าสามแสน ซึ่งครองเมืองซ้ายขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้ากรุงล้านช้าง ทรงพระนามว่า พระเจ้าชัยจักรพรรดิแผ่นแผ้ว พระองค์มีพระประสงค์จะส่งเสริมพระพุทธศาสนา จึงได้โปรดให้ไปอัญเชิญพระบาง จากเมืองเวียงคำ มาให้ราษฎรได้สักการะบูชา แต่เรือที่อัญเชิญพระบางได้ล่มลงระหว่างทาง ต่อมาเมื่อมีผู้พบพระบางอยู่ที่หาดทรายจึงได้อัญเชิญกลับไปประดิษฐานที่เมืองเวียงคำตามเดิม
                ในปี พ.ศ.๒๐๑๙ เกิดศึกญวนยกทัพเข้าตีกรุงล้านช้าง ท้าวแทนคำ อนุชาได้พาพระธิดา และพระราชวงศ์ไปพำนักอยู่ที่เมืองเชียงคาน แล้วได้รวบรวมกำลังยกมาทางเรือ ขึ้นไปตีเมืองกลับคืนจากญวน ส่วนพระเจ้าชัยจักรพรรดิได้ประทับอยู่ที่เมืองเชียงคาน ไปจนพระชนมายุได้ ๖๕ พรรษา จึงสวรรคตในปี พ.ศ.๒๐๒๐ ท้าวแท่นคำ อุปราชราชโอรสได้ขึ้นครองราชย์ทรงพระนามพระเจ้าสุวรรณบัลลังก์
                ในปี พ.ศ.๒๒๕๔ อาณาจักรล้านช้างแยกออกเป็นอาณาเขต ไม่สามารถดำรงความเป็นเอกราชได้ ชาวเมืองเชียงคาน บางส่วนได้อพยพไปตั้งบ้านเรือน อยู่บริเวณฝั่งซ้ายแม่น้ำเหือง (ปัจจุบันเป็นบ้านบุ่งคล้า แขวงไชยบุรี ประเทศลาว)
                ในปี พ.ศ.๒๔๓๖ เมื่อฝรั่งเศสเข้ายึดครองดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงทั้งหมด ชาวเมืองเชียงคานจึงอพยพไปอยู่ที่เมืองปากเหือง ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำเหือง ที่ไหลมาบรรจบแม่น้ำโขง เรียกถิ่นฐานใหม่แห่งนี้ว่า เมืองปากเหือง และเรียกเมืองปากเหืองเดิมว่าเมืองปากเหืองโบราณ ต่อมาจึงเปลี่ยนเรียกเป็นเมืองเชียงคานใหม่  ต่อมาเมื่อเห็นฝรั่งเศสตามมาครอบครองบริเวณแขวงไชยบุรี ซึ่งอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขงอีก จึงได้พากันอพยพไปอยู่บ้านท่านาจันทร์ ซึ่งอยู่ทางฝัางขวาของแม่น้ำโขง และอยู่เยื้องเมืองเชียงคานเดิมลงไปตามลำน้ำโขงประมาณหนึ่งกิโลเมตรเศษ ได้เปลี่ยนเรียกเมืองใหม่เชียงคาน สร้างศาลาว่าการเมือง (วิหารวัดมหาธาตุ) เรียกศาลเมืองใหม่เชียงคาน สร้างหอโองการหรือจวนเจ้าเมือง
                ในสมัยรัตนโกสินทร์เมืองเชียงคานได้ถูกโอนการปกครองมาขึ้นกับเมืองเลย ในมณฑลอุดรธานี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๔
พัฒนาการของบ้านเมืองสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ - ๖
            การยกบ้านขึ้นเป็นเมือง  เมืองเลยมีประวัติความเป็นมาแน่ชัดอย่างเป็นทางการในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาท้ายน้ำ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้ไปสำรวจทำบัญชีไพร่สม เมื่อได้เดินทางไปถึงเมืองลม หรือเมืองหล่มบาจาย (อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์) ได้เดินทางข้ามภูเขาหลวงมาสำรวจ เห็นเมืองทรายขาวเป็นชุมชนใหญ่ ผู้คนอาศัยอยู่หนาแน่น จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งบ้านแฮขึ้นเป็นเมืองเรียกเมืองเลย ตามชื่อทีร่ปรากฎอยู่ในจารึกฐานพระพุทธรูป ที่เคยเรียกมาแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และที่ปรากฎอยู่ในจดหมายเหตุ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เป็นเมืองหน้าด่านขอบขัณฑสีมา ให้ท้าวคำแสนกับท้าวเหง้า สองพี่น้องเชื้อสายหลวงพระบาง รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่หลวงศรีสงคราม เป็นเจ้าเมืองเลย ในขั้นต้นด้วยการปกครองตนเอง โดยทางรัฐบาลกลางไม่ต้องจ่ายเบี้ยหวัดเงินปี
            หลวงศรีสงคราม (คำแสน) กับหลวงศรีสงคราม (เหง้า) ปกครองเมืองเลยไปจนสิ้นสมัย (พ.ศ.๒๓๙๖ - ๒๔๑๖ ) ต่อจากนั้นทางราชการจึงได้ส่งหลวงราชภักดี (สนธิ์) ขึ้นมาปกครองตามนโยบายรัฐบาลกลางโดยตรง ส่วนวิธีจัดการปกครองยังดำเนินการไปตามระบบเดิม
                เมืองเลยสมัยก่อนการปฏิรูปการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล  การปกครองบ้านเมืองตามแบบเดิมที่เรียกว่ากินเมือง ผู้ที่เป็นเจ้าเมืองจะถูกสรรหาจากผู้ที่ทรงคุณวุฒิในท้องถิ่นที่ประชาชนให้ความศรัทธาเชื่อถือขึ้นมาเป็นผู้ปกครอง ทำการปกครองกันเองตามคำแนะนำจากรัฐบาลในราชธานี
                เมืองเลยสมัยปฏิรูปการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล  เริ่มมีการตั้งมณฑลเป็นครั้งแรกก่อน พ.ศ.๒๔๓๑ แต่ยังไม่ได้จัดเป็นลักษณะเทศาภิบาล มีหกมณฑลคือ มณฑลลาวเฉียง (ต่อมาเป็นมณฑลพายัพ) มณฑลลาวพวน (ต่อมาเป็นมณฑลอุดร) มณฑลลาวกาว (ต่อมาเปลี่ยนเป็นมณฑลอีสาน) มณฑลเขมร (ต่อมาเปลี่ยนเป็นมณฑลบูรพา) มณฑลลาวกลาง (ต่อมาเป็นมณฑลนครราชสีมา) และมณฑลภูเก็ต
                    เมืองเลยขึ้นอยู่กับมณฑลลาวพวน (มณฑลอุดร)  มีอำเภอขึ้นอยู่ในปกครองครั้งแรกสามอำเภอคืออำเภอกุดป่อง (อำเภอเมือง ฯ) อำเภอท่าลี่ และอำเภอนาออก
                    อำเภอนากอกเดิม  อยู่ในแขวงไชยบุรี ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๖ เมื่อฝรั่งเศสเข้ามายึดครองดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงของไทยไปหมด และยังได้ข้ามมายึดครองบริเวณแขวงไชยบุรีของไทย ที่อยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงไปอีก อำเภอนากอกจึงตกเป็นของฝรั่งเศสด้วย เมืองเลยจึงตั้งบ้านอาฮี ที่อยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำเหืองของไทย ขึ้นเป็นตำบลอาฮี แทนอำเภอนากอกเป็นการชั่วคราว
                    ต่อมาเมื่อมีการแก้ไขการปกครองเป็นแบบเทศาภิบาล จึงได้ยุบอำเภออาฮีมาเป็นตำบลอาฮี ขึ้นอยู่ในการปกครองของอำเภอท่าลี่ ได้มีการโอนอำเภอต่าง ๆ ให้ขึ้นอยู่ในการปกครองของเมืองเลย มีอำเภอด่านซ้าย จากเมืองพิษณุโลก อำเภอเชียงคานจากเมืองพิชัย และยกฐานะแขวงวังสะพุงขึ้นเป็นอำเภอวังสะพุง โอนจากเมืองหล่มสัก เมืองเลยจึงมีอำเภอเกิดขึ้นในระหว่างนั้นรวมห้าอำเภอคือ อำเภอเมือง ฯ อำเภอท่าลี่  อำเภอด่านซ้าย อำเภอเชียงคาน และอำเภอวังสะพุง
เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์
            เหตุการณ์สงคราม  ที่สำคัญมีอยู่สามเหตุการณ์ด้วยกันคือ
                การอพยพหนีภัยการเมือง  ในปี พ.ศ.๒๔๓๖ ไทยต้องเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ให้แก่ฝรั่งเศสไปทั้งหมด เมืองเชียงคานซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งขวาแม่น้ำโขง เยื้องกับเมืองเดิมไปทางทิศเหนือเล็กน้อย เมืองที่ตั้งใหม่เรียกว่า เมืองใหม่เชียงคาน คือ ที่ตั้งอำเภอเชียงคานปัจจุบัน ผู้ที่อพยพมาครั้งนั้นประมาณ สามในสี่ของเมืองเชียงคานเดิม ต่อมาฝรั่งเศสได้เปลี่ยนชื่อเมืองเชียงคานเดิม เป็น เมืองสานะคาม หัวหน้าผู้อพยพครั้งนั้นคือ พระอนุพินาศ เจ้าเมืองเชียงคาน นั่นเอง
                ศึกบ้านนาอ้อ  เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๐ ฝรั่งเศสหาทางที่จะยึดดินแดนไทยอีกคือ เมืองเชียงคาน ที่ตั้งขึ้นใหม่ถึงกับข้ามโขงมาขู่เข็ญเจ้าเมืองเชียงคานใหม่ โดยหลอกว่า ทางบางกอกได้ยกเมืองเชียงคานให้แก่ฝรั่งเศสแล้ว เจ้าเมืองเชียงคานได้ออกอุบายให้ฝรั่งเศส ไปยึดเมืองเลยให้ได้เสียก่อน เพราะเจ้าเมืองเชียงคานทราบดีว่า ทางเมืองเลยกองทหารเตรียมมาแต่ครั้ง พ.ศ.๒๔๓๖ แล้ว และได้ส่งข่าวให้ทางเมืองเลยทราบ ฝรั่งเศสหลงกลได้ยกกำลังพล โดยมีฝรั่งหนึ่งนายเป็นหัวหน้า มีลูกน้องเป็นคนลาวเพียงไม่กี่คน เข้ายึดนาอ้อ ยุยงให้ชาวบ้านแข็งเมืองต่อรัฐบาลไทย โดยสัญญาว่าจะปลดปล่อยบ้านนาอ้อ ให้เป็นเมืองนครหงส์ มีเจ้าเมือง กรมการเมือง เช่นเดียวกับเมืองเลย ปรากฎว่ามีชาวบ้านหลงเชื่ออยู่ไม่กี่คน สุดท้ายกองทหารจากเมืองเลยเข้าปราบปรามไม่กี่วัน พวกฝรั่งเศสก็แตกพ่ายไปทางเวียงจันทน์ (ปัจจุบันยังมีซากสนามเพลาะของทหารไทยอยู่ที่บ้านโพน ห่างจากบ้านนาอ้อ ประมาณ ๒ กิโลเมตร)
                ศึกด่านซ้ายและท่าลี่  ฝรั่งเศสได้ใช้อำนาจเดินทัพเข้ายึดอำเภอด่านซ้าย ในปี พ.ศ.๒๔๔๖ และได้นำศิลาจารึกตำนานพระธาตุศรีสองรัก ล่องแม่น้ำโขง เพื่อจะนำไปเวียงจันทน์ แต่เรือบรรทุกศิลาจารึกล่มที่แก่งฟ้า เขตอำเภอปากชม ศิลาจารึกจมน้ำหายไป (มีเรื่องที่ไม่ยืนยันว่า ต่อมาภายหลังว่ามีผู้พบศิลาจารึกดังกล่าว ในแม่น้ำโขงและฝรั่งเศสได้นำไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ ลูฟ นครปารีส)
                ขณะนั้นพระมหาเถระ ชาวอำเภอด่านซ้ายชื่อ พระคูลุน แห่งวัดหนามแท่ง ตำบลด่านซ้าย พร้อมพระแก้วอาสา (กองแสง) เจ้าเมืองด่านซ้าย และเพียศรีวิเศษ ได้ขอคัดลอกไว้ก่อนที่ฝรั่งเศสจะนำไปปเวียงจันทน์ แล้วเขียนในศิลาจารึกมีข้อความอย่างเดียวกัน เวลานี้ยังเก็บรักษาไว้บริเวณวัดพระธาตุศรีสองรัก
                ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๙ ฝรั่งเศสได้คืนเมืองด่านซ้าย ให้โดยแลกกับดินแดนเขมร ที่เป็นของไทยบางส่วน ในห้วงเวลาที่ฝรั่งเศสครอบครองเมืองด่านซ้าย สามปีเศษนั้น ไทยได้อพยพอำเภอไปตั้งที่บ้านขามป้อม ตำบลโพนสูง อำเภอด่านซ้าย เสร็จเรื่องแล้วจึงกลับคืนไปตั้งอำเภอที่เดิม
                ในระยะเวลาใกล้ ๆ กันกับที่ฝรั่งเศสยึดอำเภอด่านซ้ายนั้น ทหารฝรั่งเศสตั้งอยู่ที่บ้านหาดแดง แม่น้ำเหือง ได้ยกพลยึดอำเภอท่าลี่ เพราะเห็นว่าเคยยึดอำเภอด่านซ้ายมาแล้ว แต่ครั้งนี้ฝ่ายไทยได้หลอกล่อให้ฝรั่งเศสเดินทัพมาอย่างสะดวก พอใกล้ถึงที่ตั้งอำเภอ ก็ถูกหน่วยกล้าตายของอำเภอท่าลี่ ซุ่มโจมตี ฝ่ายฝรั่งเศสพ่ายแพ้กลับไป นับแต่นั้นมา ไม่ปรากฎว่าฝรั่งเศสข้ามแม่น้ำเหือง มาก่อกวนอีกเลย
                ผีบุญที่บ้านหนองหมากแก้ว  เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๗  ได้เกิดมีผีบุญขึ้นมากลุ่มหนึ่ง จำนวนสี่คน โดยอ้างว่ากลุ่มของตนได้รับบัญชาจากสวรรค์ ให้ลงมาบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่บรรดาผู้ที่ยากไร้ ได้กำหนดสถานที่ประกอบพิธีกรรม และสั่งสอนผู้คนที่วัดบ้านหนองหมากแก้ว บ้านหนองหมากแก้ว ตำบลปวนพุ อำเภอภูกระดึง
                กลุ่มผีบุญ มีนายบุญมา จตุรัส เป็นหัวหน้า อุปสมบทได้หลายพรรรษา เดินทางมาจากจังหวัดชัยภูมิ มีหน้าที่ทำน้ำมนต์ อันศักดิ์สิทธิ์ให้ผู้คนใช้สะเดาะเคราะห์ ทำเครื่องรางของขลัง ไว้ป้องกันตัว
                รองหัวหน้าชื่อ ทิดเถิก เป็นผู้คงแก่เรียนของบ้านหนองหมากแก้ว ขนานนามตนเองเป็น เจ้าฝ่าตีนแดง มีหน้าที่ทำผ้ประเจียดป้องกันภัย
                คนต่อมาคือ นายสายทอง อินทไชยศรี ขนานนามตนเองเป็น เจ้าหน่อเลไลย์ อ้างว่าได้รับบัญชาจากสวรรค์ ให้มาปราบยุคเข็ญ มีวาจาสิทธิ์ สามารถสาปผู้ละเมิดกฎสวรรค์ ให้เป็นไปตามโทษที่ควรได้รับ
                คนสุดท้ายคือ นายก้อนทอง พลชา  เป็นชาววังสะพุง รับราชการเป็นสารวัตร อำเภอวังสะพุง มีความศรัทธาในกลุ่มผีบุญ จึงได้ลาราชการมาร่วมงาน
                กลุ่มผีบุญ ใช้ศาลาการเปรียญวัดบ้านหนองหมากแก้ว เป็นศูนย์กลางในการประกอบพิธีกรรม ทุกวันเวลาเช้าและเย็น ชาวบ้านทุกคนจจะต้องมาร่วมเข้าพิธีสวดมนต์ไหว้พระ เป็นประจำขาดไม่ได้ และในเวลากลางคืนทุกคืน บรรดาสาว ๆ หรือภรรยาผู้ใดก็ตาม ที่มีรูปร่างดีหน้าตาสวยงาม นำพวงมาลัยดอกไม้สดและน้ำหอม ผลัดกันเข้าไปมอบให้กลุ่มผีบุญ ต่อจากนั้นก็เริ่มพิธีฟ้อนรำบวงสรวง รอบพวกผีบุญ หากผีบุญตนใดพอใจสตรีนางใด ในวงฟ้อนก็จะใช้พวงมาลัยเกี่ยวปลายไม้ ไปคล้องคอสตรีคนนั้นไว้ เป็นเครื่องหมายให้ทราบว่า สตรีนั้นได้รับความโปรดปรานจากผีบุญเป็นพิเศษ และนับเป็นวาสนาอย่างยิ่ง ในคืนนั้นที่จะได้เข้าเวรปรนนิบัติผีบุญ
                กลุ่มผีบุญ ได้บัญญัติกฎข้อบังคับไว้สามประการ ที่ชาวบ้านจะต้องปฎิบัติโดยเคร่งครัดคือ
                    - ต้องสวดมนต์ไหว้พระ เป็นประจำทุกเช้าเย็น ขาดไม่ได้
                    - ต้องฟ้อนรำ บวงสรวงกลุ่มผีบุญเป็นประจำทุกคืน ขาดไม่ได้
                    - ต้องหมั่นทำบุญ ให้ทานอยู่เป็นนิจ และต้องรำลึกถึงพระคุณบิดามารดาอยู่เสมอ
                กิตติศัพท์ของกลุ่มผีบุญ ได้เลื่องลือกันออกไปไกล ทำให้ผู้คนสนใจ หลั่งใหลกันมาหาอย่างมากมาย ทำให้กลุ่มผีบุญเกิดอหังการ์ คิดการใหญ่ ประกาศว่าจะยกกำลังตีเอาเมืองเลย เมื่อตีได้แล้วจะยกกำลังเลยไป ตีเอาเมืองเวียงจันทน์เพื่อตั้งตนเป็นเอกราช หลังจากนั้นก็ได้คัดเลือกผู้คนได้ ๒๓ คน  ปืนแก้ป ๑ กระบอก ปืนคาบศิลา ๒ กระบอก พร้อมด้วย อาวุธ หอก ดาบ แหลน หลาว ครบครันทุกคน ครั้นได้ฤกษ์ก็ยกกำลัง จากบ้านหนองหมากแก้ว มุ่งหน้าไปทางเหนือ อ้อมบ้านนาหลัก แล้วไปตั้งมั่นอยู่ริมห้วยทางทิศเหนือ ของอำเภอวังสะพุง บริเวณบ้านห้วยอีเลิศ
                ระหว่างนั้น หลวงพิศาลสารกิจ นายอำเภอวังสะพุง ได้ติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มผีบุญ อย่างใกล้ชิด แล้วรายงานให้ทางจังหวัดเลยทราบ ทางจังหวัดเลยได้ทำรายงานไปยังกองบังคับการตำรวจภูธร จังหวัดอุดรธานี และรายงานไปยังฝ่ายทหาร ที่ค่ายประจักษ์ศิลปาคมด้วย
                ผู้บังคับการตำรวจภูธร จังหวัดอุดรธานี (พ.ต.อ.พระปราบภัยพาล)  ขณะนั้นได้นำกำลังตำรวจเข้าสมทบกับกำลังของจังหวัดเลย ร่วมกับเจ้าหน้าที่อำเภอวังสะพุง ได้วางแผนเพื่อปราบปรามพวกผีบุญ และได้เข้าโอบล้อมพวกผีบุญไว้ มีการปะทะกันเล็กน้อย พวกผีบุญก็แตกหนีไป ทางการจับกลุ่มผีบุญไว้ได้ทั้งหมด แล้วนำไปฟ้องศาลฐานก่อการจราจล ศาลพิพากษาเห็นว่ากลุ่มผีบุญ เคลิบเคลิ้ม หลงไหล ในนิยายพื้นเมืองของชาวอีสาน เรื่องสังข์ศิลปชัย และจำปาสี่ต้น จนหลงลืมตัวไป ไม่ได้คิดกบฎต่อแผ่นดิน จึงเห็นใจ พิพากษาให้จำคุกคนละสามปี ส่วนบริวารให้ปล่อยตัวไป
           การตั้งเมืองเลย  เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๖  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ พระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า ผู้คนในแขวงนี้มีปริมาณเพิ่มขึ้นมากกว่าแต่ก่อน สมควรได้ตั้งเป็นเมือง เพื่อประโยชน์ในการปกครองอย่างใกล้ชิด จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาท้ายน้ำ ออกมาสำรวจเขต แขวงต่าง ๆ แล้วเห็นว่า หมู่บ้านแฮ ซึ่งตั้งอยู่ริมห้วยหมาน และอยู่ใกล้กับแม่น้ำเลย มีภูมิประเทศที่หมาะสม แก่การสร้างป้อมค่าย เพราะมีภูเขาล้อมรอบ และมีพลเมืองหนาแน่นพอ จะตั้งเป็นเมืองได้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งเป็นเมือง เรียกชื่อตามนามของแม่น้ำเลยว่า เมืองเลย
            ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๐  ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นแบบเทศาภิบาล โดยแบ่งเป็นมณฑล เมือง อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน เมืองเลยจึงแบ่งการปกครองเป็น สี่อำเภอ อำเภอที่เป็นที่ตั้งตัวเมือง เรียกว่า อำเภอกุดป่อง ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๒ - ๒๔๔๙  ได้ปลี่ยนชื่อเมืองเลยเป็น บริเวณลำน้ำเลย ในปี พ.ศ.๒๔๙๙-๒๔๕๐  เปลี่ยนเป็น บริเวณลำน้ำเหือง ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๐  ให้ยกเลิกบริเวณแม่น้ำเหือง ให้คงเหลือไว้เฉพาะเมืองเลย และเปลี่ยนชื่อ อำเภอกุดป่อง เป็น อำเภอเมืองเลย
| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |