| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางธรรมชาติ

พื้นที่ป่า

             จังหวัดเลย มีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขา และเทือกเขาที่สลับซับซ้อน มีป่าไม้ขึ้นปกคลุม ในปี พ.ศ.๒๕๔๑ มีพื้นที่ป่าเหลืออยู่ประมาณ ๕,๐๖๗,๐๐๐ ไร่  แบ่งออกได้ดังนี้
             ป่าไม้ถาวร  ตามมติคณะรัฐมนตรี  เป็นป่าไม้ในพื้นที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญ มีดังนี้
             อำเภอเมือง  ได้แก่ ป่าภูบ่อปิด ป่าโคกใหญ่ ป่าห้วยหมาก ป่าภูทอง และป่าภูเหล็ก
                 อำเภอวังสะพุง  ได้แก่ ป่าแม่ซำนาว ป่าห้วยบูน ป่าภูแผงม้า ป่าภูหลวง ป่าซำทอง และป่าดงหนองใหญ่
                 อำเภอภูหลวง  ได้แก่ ป่าภูหลวง  ป่าภูหอ ป่าภูค้อ และป่าภูตะแต
                 อำเภอภูเรือ  ได้แก่ ป่าดงขุนแดน ป่าโคกใหญ่ ป่าภูผาแง่ม และป่าภูเรือ
                 อำเภอด่านซ้าย  ได้แก่ ป่าภูเปลือย และป่าภูขี้เถ้า
                 อำเภอนาแห้ว  ได้แก่ ป่าภูเปลือย และป่าภูขี้เถ้า
                 อำเภอปากชม  ได้แก่ ป่าภูเขาแก้ว และป่าดงปากชม
                 อำเภเนาด้วง  ได้แก่ ป่าโคกผาดำ ป่าโคกหนองข่า และป่าภูบ่อปิด
                 อำเภอภูกระดึง  ได้แก่ ป่าภูค้อ ป่าภูกระแต ป่าห้วยส้ม ป่าภูผาแดง ป่าภูผาขาว และป่าภูผายา
             ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย  เป็นป่าเพื่อการอนุรักษ์ ได้รับการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าคือ

                อุทยานแห่งชาติภูกระดึง  อยู่ในเขตตำบลศรีฐาน อำเภอภูกกระดึง ชื่อภูกระดึง มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ได้ยินเสียงกระดึง หรือระฆังดังมาจากยอดเขาลูกนี้เสนอ ในวันโกนหรือวันพระ จึงได้รับขนานนามว่าภูกระดึง บนภูกระดึงมีธรรมชาติที่สวยงามแปลกตา อากาศเย็นสบายเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง
                อุทยาน ฯ ภูกระดึงได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๕ นับเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งที่สองของประเทศไทย ต่อจากอุทยาน ฯ เขาใหญ่ มีพื้นที่ประมาณ ๓๕๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๒๑๘,๐๐๐ ไร่ มีพื้นที่รบบนยอดเขาประมาณ ๖๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๓๗,๕๐๐ ไร่
                สภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาทรายยอดตัด ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของที่ราบยสูงโคราช ใกล้กับด้านลาดทางทิศยตะวันออกของเทือกเขาเพชรบูรณ์
ตัวภูกระดึงมีความสูงของพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง ๔๐๐ - ๑,๒๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปอากาศเย็นตลอดปี ฟดูหนาวอากาศหนาวเย็น อุณหภูมิโดยเฉลี่ยประมาณ ๒๖ องศาเซลเซี่ยส
                    ชนิดของป่าและพรรณไม้  ประกอบด้วยป่าเต็งรังหรือป่าแพะ ป่าแดง ป่าโคก พบมากในบริเววณที่มีความสูงประมาณ ๒๕๐ - ๖๐๐ เมตร จากระดับยน้ำทะเล มีพื้นที่ประมาณ ๒๗ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณร้อยละ ๘ ของวพื้นที่อุทยาน ฯ
                    ป่าเบญจพรรณ พบมากในบริเววณความสูงประมาณ ๒๘๐ - ๑,๐๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล มีพื้นที่ประมาณ ๒๓๔ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณร้อยละ ๖๗ ของพื้นที่อุทยาน ฯ
                    ป่าดิบแล้ง  พบมากในบริเวณความสูงประมาณ ๓๐๐ - ๘๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล มีพื้นที่ประมาณ ๑๔ ตาราง
กิโลเมตร หรือประมาณร้อยละ ๔ ของพื้นที่อุทยาน ฯ
                    ป่าดิบเขา  พบมากในบริเววณความสูงประมาณ ๑,๐๐๐ - ๑,๓๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล มีพื้นที่ประมาณ ๔๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณร้อยละ ๑๑ ของพื้นที่อุทยานฯ
                     ป่าสนเขา  พบมากในบริเวณความสูงประมาณ ๑,๐๐๐ - ๑,๓๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล มีพื้นที่ประมาณ ๑๔ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณร้อยละ ๙ ของพื้นที่อุทยานฯ
                    สัตว์ป่า  ที่สำคัญได้แก่ ช้างป่า หมูป่า หมีควาย เลียงผา เสือโคร่ง เสือดาว หมาไน หมาจิ้งจอก ลิง ชะนี ค่าง นกมีประมาณ ๑๓๗ ชนิด และมีเต่าปูลูเป็นต้น
                    สถานที่ท่องเที่ยว  ประเภทที่เป็นหน้าผาได้แก่ผานกนางแอ่น ผาหมากดูก ผานาน้อย ผาหล่มสัก ล้วนแต่มีทิววทัศน์ที่สวยงามอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการชมดวงอาทิตย์ขึ้นและตก
                    ประเภททุ่งหญ้า และสระน้ำได้แก่ ลานวัดพระพุทธเมตตา สระอโนดาด และสระแก้ว เป็นต้น
                    ประเภทน้ำตก ได้แก่น้ำตกวัวกวาง น้ำตกเพ็ญ น้ำตกโผนพบ น้ำตกถ้ำใหญ่ น้ำตกถ้ำสอ น้ำตกขุนพอง และน้ำตกผาน้ำผ่า เป็นต้น
                อุทยาน ฯ ภูเรือ  อยู่ในเขตตำบลอาฮี อำเภอท่าลี่ และตำบลลาดค่าง ตำบลหนองบัว ตำบลร่องจิก ตำบลภูเรือ อำเภอภูเรือ ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อ ปี พ.ศ.๒๕๒๒ เป็นอุทยาน ฯ แห่งที่ ๒๖ ของประเทศไทย
                อุทยนาน ฯ ภูเรือ มีพื้นที่ประมาณ ๑๒๑ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๗๕,๕๐๐ ไร่ มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาหลายยอด สลับกับเนินเขา มีความลาดชันมาก ทิศทางการลาดเทจากทิศเหนือไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต มียอดภูเรือเป็นยอดสูงสุด สูง ๑,๓๖๕ เมตร จากกระดับน้ำทะเล เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำของลำห้วยหลายสาย
                อุทยาน ฯ ภูเรือ มีอากาศหนาวเย็นตลอดปี อุณหภูมิเฉลี่ย ๒๖ องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดที่เคยวัดได้คือ ๔ องศาเซลเซียส ในฤดูหนาวช่วงที่อุณหภูมิลดต่ำมากจะเกิดปรากฎการณ์น้ำค้างแข็งตัวเป็นเกล็ดคล้ายหิมะ ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า แม่คะนิ้ง
                    ชนิดของป่าและพรรณไม้  จำแนกออกได้เป็น ๕ ประเภทด้วยกันคือ
                        ป่าดิบแล้ง มีพื้นที่ประมาณร้อยละ ๒๐ ของพื้นที่ทั้งหมด ไม้ที่สำคัญมีไม้ยาง ไม้ตะเคียน ไม้มะค่า ไม้คาบโซ่ ฯลฯ
                        ป่าเบญจพรรณ มีพื้นที่ประมาณร้อยละ ๒๐ ของพื้นที่ทั้งหมด มีไม้ไผ่ชนิดต่าง ๆ เช่น ไผ่ป่า ไผ่ข้าวหลาม ไผ่ไร่ ไผ่เปราะ ไผ่หก ไผ่ขาว ไผ่หางช้าง และมีไม้ยืนต้นขนาดปานกลางเช่นไม้ประดู่ ไม้ตะแบก ไม้ส้าน ฯลฯ
                        ป่าเต็งรัง มีพื้นที่ประมาณร้อยละ ๒๕ ของพื้นที่ทั้งหมด พบในระดับความสูง ๕๐๐ - ๑๐๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล มีไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ไม้ที่สำคัญได้แก่ ไม้ริว ไม้กระพี้ ไม้กระโดน ฯลฯ
                        ป่าเขาสน มีพื้นที่ร้อยละ ๑๐ ของพื้นที่ทั้งหมด พบในระดับความสูงตั้งแต่ ๑,๐๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเลขึ้นไป ได้แก่สนสองใบ เหมือด ก่อ ฯลฯ
                        ทุ่งหญ้า มีพื้นที่ประมาณร้อยละ ๒๕ ของพื้นที่ทั้งหมด มีหญ้าขจึ้นตามธรรมชาติ บางแห่งมีก้อนหินโผล่ขึ้นมาอยู่ทั่วไป

                     สัตว์ป่า  อุทยาน ฯ ภูเรือ มีขนาดไม่กว้างขวางมากนัก พื้นที่ถูกตัดขาดจากผืนป่าโดยรอบ ทำให้ความหลากหลายของพันธุ์สัตว์ป่ามีค่อนข้างน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดของพื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดเล็กได้แก่ หมูป่า หมี หมาจิ้งจอก อีเห็น กระต่าย กระรอก ลิง สัตว์เลื้อยคลาน และนกชนิดที่พบเห็นได้โดยทั่วไป เช่นไก่ฟ้าหลังขาว นกกระทาแดง นกบางชนิดบินอพยพมาจากแถบหนาวในช่วงฤดูหนาว

                    แหล่งท่องเที่ยว  อุทยาน ฯ ภูเรือ มีสวถานที่ท่องเที่ยวเป็นหน้าผาหลายแห่งเช่น ผาโหล่นน้อย ผาซำทอง ซึ่งสามารถชมทิววทัศน์ได้อย่างสวยงาม กว้างไกล ลำห้วยสายหลักไหลผ่านหินสูงชัน เกิดเป็นน้ำตกหลายแห่งเช่น น้ำตกห้วยไผ่ น้ำตกหินสามชั้น เป็นต้น

                เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง  อยู่ในเขตอำเภอภูเรือ มีความสูง ๑,๕๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล ได้รับการกำหนดให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗ มีพื้นที่ประมาณ ๘๕๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๕๓๐,๐๐๐ ไร่ และได้ประกาศพื้นที่เพิ่มเติม เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔ ประมาณ ๓๐,๕๐๐ ไร่ อยู่ในเขตอำเภอวังสะพุง อำเภอภูเรือ อำเภอด่านซ้ายและอำเภอภูหลวง
                สภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงใหญ่ บรนิเวณเทือกเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๒๐๐ - ๑,๕๐๐ เมตร เป็นที่ราบกว้าง มีพื้นที่ประมาณ ๑๔๐ ตารางกิโลเมตร เป็นแนวยาวจากเหนือไปใต้ ยอดเขาสูงมีหลายยอดเช่น ภูยองภู ภูปักได้ ภูหนัง ภูโปก ยอดที่สูงอยู่ที่ภูขวาง สูงบจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๑,๕๗๐ เมตร หินต้นกำเนิดเป็นหินทราย พบหินชั้นเป็นบางแห่ง หินในระดับยต่ำกว่า ๑,๙๐๐ เมตร ลงไปเป็นหินกลุ่มภูกระดึง ในระดับความสูง ๑,๙๐๐ เมตร ขึ้นไปเป็นหินกลุ่มพระวิหาร และที่ภูยองภูเป็นกลุ่มภูพาน ดินบนที่ราบหลังภูเขาเป็นดินทรายละเอียดสีขาว บางแห่งเป็นดินร่วนปนทรายและดินเหนียว ไม่ค่อยพบดินลูกรัง พื้นดินสามารถดูดซับน้ำลงใต้ดินได้เร็ว ทำให้มีน้ำไหลในแม่น้ำลำธารตลอดปี เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของแม่น้ำเลย และยังเป็นส่วนหนึ่งของต้นน้ำป่าสักด้วย

                    ชนิดของป่า และพรรณไม้  มีพันธุ์ไม้ในเขตร้อนขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก พันธุ์ไม้หลายชนิดที่เกิดอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย มีขึ้นอยู่บนภูหลวง และในระดับความสูง ๑,๒๐๐ - ๑,๕๕๐ เมตร  พบพันธุ์ไม้ในเขตหนาวขึ้นกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป นักพฤกษศาสตร์กล่าว่า การกระจายพันธุ์ไม้ของประเทศอื่น ลงมาทางใต้ได้สิ้นสุดลงที่ภูหลวง ชนิดของป่าแบ่งออกได้เป็น
                        - ป่าไม้เบญจพรรณ  มีอยู่ท่างด้านทิศตะวันออก ในพื้นที่ที่มีระดับต่ำกว่า ๖๐๐ เมตร เช่น ไม้ประดู่ ไม้แดง ไม้มะค่าโทง ไม้ตะเคียนหิน ไม้ยาง ไม้ยมหิน ไม้สมพง ฯลฯ
                        - ป่าดงดิบชื้น  เป็นป่าที่มีความชุ่มชื้นสูง พบบริเวณป่าทึบริมห้วย ลำธาร พันธุ์ไม้ผลัดใบ ได้แก่ ไม้พะวา มะไผป่า ชะมวง สะตอ ตังหน แซะ เลือดควาย แดงนำ มะหาด กาลพฤกษ์ สมุย ไม้ค้อ  ฯลฯ
                        - ป่าดงดิบเขา  เป็นป่าส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดของภูหลวง มีลักษณะรกทึบ ความชื้นสูง มีพันธุ์ไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ สมุนไพร ของป่า และไม้ที่เป็นส่วนประกอบของป่า ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากมายหลายชนิด เช่น ไม้ยางควน สบ ก่อแดง บุญนาค ตังหน มะหาด สบแผง สบหางกระรอก ข่าต้น  อบเชย ไม้มะไฟเดือนห้า (ไม้เมเปิล) ซึ่งเป็นไม้ประจำชาติของแคนาดา  บริเวณป่าที่เคยถูกแผ้วถางมาก่อน จะพบไม้เบิกนำ จำพวก ไม้คายูโซ่ หมากมือ กระทุ่ม ทองหลางป่า งิ้วป่า จำปีป่า ตุ้มเต้น ไม้พื้นล่างของป่าชนิดนี้ได้แก่ ต้นเร่ว บรเพ็ด ยาหัว รางจืด หวาย และไม้ไผ่ต่าง ๆ เป็นต้น
                        - ป่าสนเขา  พบบนที่ราบของเทือกเขา ประกอบด้วยสนสามใบ และสนสองใบ ส่วนใหญ่เป็นสนสามใบ เกิดขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ มีพื้นที่ประมาณ ๓ - ๖ ตารางกิโลเมตร เช่น ป่าสนที่โหลนเต้ โคกแบกใหญ่ โคกแบกดำ บริเวณตอนกลาง โคกแบกภูปักใต้ โคกหัวเตย บริเวณส่วนเหนือ มีเกิดอยู่เป็นหย่อมเล็ก หย่อมน้อย กระจายอยู่ทั่วบนที่ราบภูหลวง
                        - ป่าน้ำท่วม  พบเป็นแห่ง ๆ บนที่ราบหลังภูตอนกลาง จากภูขวางถึงลำห้วยน้ำทบ ต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ในป่าน้ำท่วม จะมีลักษณะแคระแกร็น ลำต้นคดงอ จะพบไม้เสม็ดแดง ที่มีลักษณะแคระแกร็น ขึ้นอยู่ชายป่าน้ำท่วม ภายใต้ป่าน้ำท่วม จะมีตะไคร่น้ำจำพวกข้าวตอกฤาษี ขึ้นปกคลุมพื้นดิน และโคนไม้ ดูคล้ายพรมสีเขียวอ่อนปูอยู่ภายใต้ป่า บางแห่งพบเป็นระยะทางยาวหลายร้อยเมตร
                        - ป่าใหญ  ที่ราบบนภูหลวง จะมีทุ่งหญ้าสลับกันไปกับป่าไม้ มีขนาดเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง บางแห่งมีพื้นที่เนื่องกันมากกว่า ๒ ตารางกิโลเมตร ป่าหญ้ามีสองชนิด คือ ป่าหญ้าคา และป่าหญ้าชนิดอื่น ที่มีไม้พุ่มเตี้ย เช่น ต้นกุหลาบแดง กุหลาบขาว ส้มแปะ สมสร้อย เมี่ยงหลาง และต้นก่อ ขึ้นรวมอยู่ด้วย
                        - ป่าเต็งรัง  พื้นดินเป็นลูกรัง ค่อนข้างแล้ง ต้นไม้แคระแกร็น ป่าชนิดนี้พบเป็นส่วนน้อย ที่บริเวณน้ำตกธารทอง และน้ำตกปลาบ่า ไม้ที่ขึ้นอยู่มี ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้ประดู่ ไม้ติ้ว ไม้มะขามป้อม ไม้ตีนนก ไม้กระโดน ฯลฯ

                    สัตว์ป่า  จากสภาพของป่าบนภูหลวง ที่มีทั้งป่าทึบ ป่าโปร่ง ทุ่งหญ้า บริบูรณ์ด้วยแหล่งน้ำ มีต้นไม้ ที่มีผลไม้ และใบ เป็นอาหารของสัตว์ป่า กระจัดกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ จึงมีสัตว์ป่าหลายชนิด อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก สัตว์ป่าที่สำรวจพบแล้ว ได้แก่ เลียงผา หรือเยือง หรือกูรำ หรือโครำ  อาศัยอยู่ตามบริเวณหน้าผา หรือบริเวณน้ำตก มีอยู่ประมาณ ๓๐ - ๔๐ ตัว  ช้างป่า อาศัยประจำอยู่ที่ยอดภูปักใต้ ที่ขุนห้วยน้ำทบ และในเทือกเขาป่ารกทึบ ด้านตะวันตก อยู่รวมกันเป็นโขลงๆ ละ ๗ - ๒๐ ตัว มีอยู่ประมาณ ๑๕๐ - ๒๐๐ ตัว กระทิง หรือเมย อาศัยอยู่ประจำบนพื้นที่ราบหลังภูเขา บริเวณโหลนเมย บริเวณภูขวาง และที่ขุนหวยน้ำทบ ปกติจะหากินอยู่ใกล้ ๆ บริเวณแหล่งที่อยู่อาศัยดังกล่าว กวาง อาศัยและเดินหากินประจำ บริเวณสองฝั่งขุนแม่น้ำเลย ซึ่งมีหน้าผา ป่าดงดิบ ทุ่งหญ้าคา มีโป่งเกลือ  และอาหารที่อุดมสมบูรณ์ เดินหากินอยู่ใกล้ ๆ แหล่งที่อยู่อาศัยในฤดฝน เดินหากินไกลกว่า ในฤดูแล้งมีอยู่ประมาณ ๗๐ - ๑๐๐ ตัว  เสือโคร่ง  พบร่องรอยเดินหากินทั่วเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พบมากบนที่ราบหลังภู มีอยู่ประมาณ ๑๐ ตัว
                    นอกจากนั้น ยังมีสัตว์ป่าที่พบมาก ได้แก่ อีเก้ง หมูป่า หมีควาย หมาป่า เม่นหางพวง หนูหริ่ง อีเห็นลายเสือ กระต่ายป่า ลิง ค่าง ชะนี ไก่ป่า ไก่ฟ้า นกชนิดต่าง ๆ และเตาปูลู เป็นต้น
                    แหล่งธรรมชาติที่สวยงาม  มีป่าไม้ ทุ่งหญ้า หน้าผา พรรณไม้ น้ำตก สภาพภูมิประเทศที่แปลกตา เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนที่ใด ประกอบกันเป็นทัศนียภาพที่สวยงาม ให้ชมได้ตลอดปีดังนี้

                        - ทุ่งดอกไม้  ในที่ราบหลังภูหลวง จะมีทุ่งดอกไม้แทรกสลับกับป่าไม้อยู่ทั่วไป บางแห่งมีความยาวถึว ๒ กิโลเมตร บางทุ่งมีพื้นที่ติดต่อกับหน้าผาสูงชัน ในทุ่งดอกไม้จะมีกองหิน ที่มีกล้วยไม้ ตะไคร่น้ำ ฟองหิน และต้นไม้แคระ จำพวกเหง้าน้ำทิพย์ ขึ้นจับเกาะอยู่อย่างสวยงาม ทุ่งดอกไม้แต่ละแห่งจะมีจำนวนชนิดพันธุ์ไม้ดอก แตกต่างกันออกไป ในฤดูร้อนจะมีต้นไม้จำพวกส้มแปะ ปานอ้า  กุหลาบขาว  กุหลาบแดง เอื้องตาเหิน เอื้องคำ เอื้องหมอน ไข่ เอื้องสาย บานสะพรั่งอยู่ทั่วไป ในฤดูฝน จะประดับดวยดอกเปราะภู หญ้าข้าวกำ เอ็นอ้า กล้วยไม้รองเท้านารี ปีกแมลงปอ หว้านไก่แดง หงอนไก่จู ใบของต้นไฟเดือนห้า ที่เปลี่ยนเป็นสีแดงสดใสทั้งต้น ดอกฝักปราบดอย เป็นต้น
                        ทุ่งที่มีดอกไม้ ได้แก่ โคกยาง โคกผาเตลิ่น โคกหนองงูเหลือม โคกนกระทา โคกห้วยเตย และโคกเล็ก โคกน้อย ติดต่อกันจนถึงซุ้มงูเห่า ซึ่งเป็นทุ่งดอกไม้ที่สวยงาม ทางตอนใต้ของภูหลวง ต้นดอกไม้ในทุ่งต่าง ๆ จะออกดอกไม่พร้อมกัน โคกที่อยู่ตอนเหนือ ดอกไม้จะบานก่อนโคกที่อยู่ตอนใต้ ทุ่งดอกไม้จึงมีให้ชมได้ตลอดปี
                         - หน้าผา  หน้าผาหินทราย ที่ล้อมรอบที่ราบบนภูหลวง มีธรรมชาติ และทิวทัศน์ที่งดงามหลายแห่ง เช่น ผาเตริ่น ซึ่งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๑,๕๕๐ เมตร ส่วนที่มีทิวทัศน์งดงาม มีความยาวกว่า ๒ กิโลเมตร บริเวณหน้าผาเป็นทุ่งกุหลาบขาว และกุหลาบแดง ติดต่อกับทุ่งดอกไม้ ที่อยู่ด้านหลังผา ที่ใต้หน้าผาจะเห็นต้นกุหลาบแดง กอใหญ่ขึ้นเรียงรายไปตามหน้าผา จะมองเห็นที่ราบต่ำ พื้นที่เพาะปลูกในเขตอำเภอวังสะพุง และอำเภอเมือง ฯ ถ้ามองไปทางทิศใต้ จะเห็นเทือกเขาภูหลวง อยู่ท่ามกลางละอองหมอก ในวันที่อากาศแจ่มใสจะมองเห็นยอดภูกระดึง ทางด้านหลังและตะวันตก จะมองเห็นเทือกภูเขาปักใต้ และเทือกภูเขาหนัง อยู่เบื้องหลังทุ่งดอกไม้ ผาโหล่นแต้ และผากบเป็นผาทางด้านใต้สุดของภูหลวงมีป่าสนขึ้นยาวเหยียดไปตามหน้าผาสลับไปกับทุ่งหญ้าและทุ่งดอกไม้ ที่ยอดผากบเป็นหน้าผาชะโงกยื่นออกไปดูคล้ายกบหมอบอยู่ที่หน้าผา ด้านตะวันออกของผากบเป็นทุ่งหญ้าลักษณะเว้าโค้งเรียบเรียกว่า สนามกอล์ฟช้าง มองไปทางทิศใต้จะเห็นภาพภูหอทาบ กับภูกระดึง ซึ่งอยู่ทางด้านหลังคล้ายกับภูเขาไฟ เป็นภาพที่ประทับใจยิ่ง

                    น้ำตก  เกิดจากธารน้ำไหลตกจากหน้าผาที่สูงชัน ธารน้ำตกเป็นทางยาว หน้าผาที่กว้างใหญ่เบื้องหลังน้ำตก จะพบพรรณไม้ทรงพุ่มแปลกตาขึ้นอยู่บริเวณหน้าผา น้ำตกบางแห่งตกจากหน้าผาสูงถึง ๗๐ เมตร กว้าง ๑๒๐ เมตร ได้แก่ น้ำตกตาดเลยที่ขุนแม่น้ำเลย น้ำตกเลยหง่าที่ห้วยเลยหง่า น้ำตกตาดหลุที่ห้วยน้ำทบ เป็นต้น
ต้นน้ำลำธารและแหล่งน้ำสำคัญ
             ในเขตจังหวัดเลยมีแม่น้ำลำธารหลายสาย แต่ส่วนใหญ่เป็นแม่น้ำขนาดเล็กและสั้น พอประมวลได้ดังนี้
             แม่น้ำเลย  ไหลผ่านกิ่งอำเภอภูหลวง อำเภอวังสะพุง อำเภอเมือง ฯ และอำเภอเชียงคาน แล้วไหลไปบรรจบแม่น้ำโขงทางทิศตะวันตกของอำเภอเชียงคาน
                    - ลำน้ำหมาน ลำน้ำอวย ลำน้ำลาย  ไหลผ่านอำเภอเมือง ฯ
                    - ลำน้ำปวน ลำน้ำฮวย ลำน้ำสวย  ไหลผ่านอำเภอวังสะพุง
                    - ลำน้ำหมัน ลำน้ำพุง ลำน้ำสัก  ไหลผ่านอำเภอด่านซ้าย
                    - ลำน้ำสาย ลำน้ำข้าวมัน  ไหลผ่านอำเภอภูเรือ
                    - ลำน้ำพึง ลำน้ำแพร่ ลำน้ำหู  ไหลผ่านอำเภอนาแห้ว
                    - ลำน้ำคาน  ไหลผ่านอำเภอท่าลี่
                    - ลำน้ำชม ลำน้ำสงาว ลำน้ำมั่ง  ไหลผ่านอำเภอปากชม
                    - ลำน้ำพอง ลำน้ำพองโก  ไหลผ่านอำเภอภูกระดึง
                    - แม่น้ำโขง และลำน้ำเหือง  กั้นเขตแดนประเทศไทยกับประเทศลาว ในเขตอำเภอนาแห้ว อำเภอด่านซ้าย อำเภอท่าลี่ อำเภอเชียงคาน และอำเภอปากชม
เอกลักษณ์ทางธรรมชาติ
            ภูหลวง  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง นับว่าเป็นมรดกแห่งอีสาน มีพื้นที่ประมาณ ๕๓๐,๐๐๐ ไร่ ครอบคลุมพื้นที่สี่อำเภอคือ อำเภอวังสะพุง ภูเรือ ด่านซ้าย และอำเภอภูหลวง
            เขาหลวงเป็นเทือกเขาสูงใหญ่ ยอดสูงสุดอยู่ที่ภูขวาง สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๑,๕๗๐ เมตร บนยอดภูหลวงมีลักษณะเป็นที่ราบ มีพื้นที่ประมาณ ๑๔๐ ตารางกิโลเมตร มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ อากาศเย็นตลอดปี อุณหภูมิเฉลี่ย ๒๐ - ๒๔ องศาเซลเซียส  ในฤดูหนาวอากาศหนาวจัด อุณหภูมิเฉลี่ย ๑๐ - ๑๕ องศาเซลเซียส
            ธรรมชาติบนยอดภูหลวงมีความงดงาม มีทุ่งไม้ดอกนานาพันธุ์ มีน้ำตกอยู่มากมายหลายแห่งเช่น น้ำตกตาดเลย อยู่ในน้ำตกตากลุ น้ำตกน้ำค้อ น้ำตกตาดสาน น้ำตกธารทอง และน้ำตกสายทอง เป็นต้น
            ภูเรือ  อยู่ในอุทยานแห่งชาติภูเรือ เป็นภูเขาสูงใหญ่ บนยอดเขาเป็นที่ราบกว้างใหญ่ มีลักษณะเฉพาะคือส่วนหนึ่งเป็นหน้าผา ชะโงกหินที่ยื่นออกมาเหมือนหัวเรือสำเภาใหญ่ ตั้งอยู่ในเขตตำบลหนองบัว อำเภอภูเรือ และส่วนหนึ่งอยู่ในเขตอำเภอท่าลี่ มีพื้นที่ประมาณ ๑๒๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๗๕,๕๐๐ ไร่ เป็นเขาหินทราย มีป่าสนสวยงาม มีทุ่งหญ้า สวนหิน และหน้าผาชมวิว น้ำตกห้วยไผ่ สูงประมาณ ๓๐ เมตร
            ภูกระดึง  อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ตั้งอยู่ที่ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง มีพื้นที่ประมาณ ๒๑๘,๐๐๐ ไร่ หรือประมาณ ๓๕๐ ตารางกิโลเมตร  มีพื้นที่ราบบนยอดเขา ประมาณ ๓๗,๕๐๐ ไร่ หรือประมาณ ๖๐ ตารางกิโลเมตร มีพันธุ์ไม้นานาพันธุ์ ทุ่งสนเมืองหนาว เมเปิล ทุ่งหญ้า ไม้ดอกเมืองหนาวหลากหลายชนิด มีน้ำตกและหน้าผาหลายแห่ง ที่ผานกแอ่นเป็นจุดที่ชมทัศนียภาพยามรุ่งอรุณที่งดงาม และที่ผาหล่มสักเป็นจุดที่ชมดวงอาทิตย์ตก ที่สวยงามเช่นกัน

            แก่งคุดคู้  อยู่ที่บ้านนาน้อย ตำบลเชียงคาน อำเภอเชียงคาน เป็นเกาะแก่งอยู่กลางลำน้ำโขง มีภูเขาใหญ่น้อยเรียงรายอยู่ทางฝั่งด้านประเทศลาว ในเขตเมืองสานะคาน แขงไชยะบุรี
            แก่งที่รับกับน้ำที่ไหลคดเคี้ยว มีความสวยงามเปรียบดังสวรรค์บนดินที่ธรรมชาติได้สร้างสรรไว้
| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |