| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางวัฒนธรรม

            ลพบุรีเป็นเมืองเก่าแก่โบราณ มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ และได้มีการตั้งถิ่นฐานต่อเนื่องกันมาหลายยุคหลายสมัย โดยไม่ขาดสายมาจนถึงปัจจุบัน  บรรดาโบราณสถานต่าง ๆ จึงมีอยู่เป็นจำนวนมาก และยังคงปรากฎอยู่จนถึงทุกวันนี้  โบราณสถานที่สำคัญพอประมวลได้ดังนี้

เทวสถานหรือปรางค์แขก

            อยู่ที่ตำบลท่าหิน อำเภอเมือง  เป็นปรางค์ที่สร้างด้วยอิฐไม่สอปูน  มีอยู่สามองค์ แต่ไม่มีเฉลียงเชื่อมต่อกันเหมือนปรางค์สามยอด  มีกรอบประตูทางเข้าด้านหน้าอยู่องค์ละหนึ่งประตู  กรอบประตูไม่มีทางเข้าออก  เดิมเป็นศาสนสถานของศาสนาพราหมณ์ลัทธิฮินดู  มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 มีลักษณะคล้ายปรางค์ศิลปะเขมร แบบพะโค  เป็นปรางค์แบบเก่าคือ มีประตูศิลาเข้ากรอบเลียนแบบเครื่องไม้
            ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  องค์ปรางค์ได้รับการซ่อมแซมด้วยอิฐสอปูน และได้สร้างวิหารเล็กหน้าปรางค์ มีประตูทางเข้าแบบโค้งแหลม ที่หน้าจั่วมีลายปูนปั้น และถังเก็บน้ำประปาอยู่ทางทิศใต้ของตัวปรางค์
            เทวสถานปรางค์แขกนับว่าเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่ที่สุดของจังหวัดลพบุรี ที่ยังคงเหลือสภาพสมบูรณ์และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์

พระปรางค์สามยอด

            อยู่ที่ตำบลท่าหิน  อำเภอเมือง  เป็นโบราณสถานที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดลพบุรี  ตั้งอยู่บนเนินดินใกล้กับศาลพระกาฬ  เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางพุทธศาสนา  มีอายุอยู่ประมาณ พุทธศตวรรษที่ 18  สร้างด้วยศิลาแลง  หินทรายตกแต่งด้วยลายปูนปั้นที่สวยงาม ลักษณะเป็นปรางค์เรียงต่อกันสามองค์  องค์กลางสูงประมาณ 15 เมตร  มีฉนวนทางเดินเชื่อมต่อกันเป็นศิลปะเขมรแบบบายน  ปรางค์องค์กลางมีฐานซึ่งเดิมคงเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป มีเพดานไม้เขียนลวดลายสีแดงเป็นรูปดอกไม้ ด้านหน้าเป็นวงโค้งที่นิยมทำกันในยุคนั้น  ภาพในวิหารอัฐิมีพระพุทธรูปหินทรายปางมารวิชัย ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ดี เป็นศิลปะแบบสมัยอยุธยาตอนต้น มีอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 20
            ปรางค์สามยอดนี้ สันนิฐานว่าชนชาติขอมเป็นผู้สร้าง โดยได้นำแบบอย่างการก่อสร้างมาจากปรางค์อินเดีย สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพ ในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ปรางค์องค์กลางประดิษฐานพระพุทธรูปปางนาคปรก  ปรางค์องค์ขวาประดิษฐานรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ปรางค์องค์ซ้ายประดิษฐานรูปนางปรัชญาปารมิตา

ปรางค์นางผมหอม

            อยู่ที่ตำบลหนองยายโต๊ะ อำเภอชัยบาดาล  มีลักษณะเป็นปรางค์องค์เดียวโดด ๆ ก่อด้วยอิฐก้อนใหญ่ไม่สอปูน ปัจจุบันยอดปรางค์หักหมด มีประตูเข้าไปในตัวปรางค์ได้ กรอบประตูสร้างด้วยแท่งหิน ภายในตัวปรางค์เป็นห้องโถง รอบ ๆ องค์ปรางค์มีก้อนหินใหญ่อยู่เกลื่อนกลาด ห่างออกไปจากองค์ปรางค์ไปไม่มากนักเป็นเนินดิน มีซากอิฐอาจจะเป็นฐานวิหารหรือเจดีย์ ชาวบ้านเรียกว่า โคกคลีน้อย และยังมีเนินดินกว้างอยู่อีกแห่งหนึ่งเรียกว่า โคกคลีใหญ่  บริเวณที่ตั้งของปรางค์นางผมหอม มีแม่น้ำมาบรรจบกันสองสาย คือ  ลำสนธิกับลำพญากลาง  สันนิษฐานว่าบริเวนนี้เดิมคงเป็นเมืองโบราณ
            มีตำนานพื้นเมืองเรื่องปรางค์นางผมหอมอยู่ว่า  ราชธิดาของเจ้าเมืองแห่งหนึ่งชื่อนางผมหอม มีความงามเป็นเลิศ ทุกครั้งที่นางสระสนาน มักจะไปนั่งที่ก้อนหินก้อนหนึ่งแล้วสระผม บริเวณที่ก้อนหินนั้นตั้งอยู่จึงเรียกว่า ท่านางสระผม วันหนึ่งผมของนางลอยไปตามน้ำกษัตริย์อีกเมืองหนึ่งเก็บผมของนางได้ เกิดความหลงไหลเจ้าของผม จึงให้ทหารออกตามหาเจ้าของผม จนพบแล้วกลับมากราบทูลให้ทรงทราบ  กษัตริย์องค์นั้นจึงเสด็จไปหานาง เมื่อพบแล้วก็เกิดความรักแต่นางมีคู่หมั้นก่อนแล้ว และเป็นสหายของพระองค์ด้วย ดังนั้นทั้งสองฝ่ายจึงพนันตีคลีกัน ผู้ใดชนะก็จะได้นางผมหอมไปเป็นชายา  นางผมหอมเฝ้าดูการตีคลีด้วยความอัดอั้นตันใจจึงได้ผูกคอตาย  ฝ่ายทั้งสองชายเมื่อทราบเรื่องก็ชวนกันกระโดดน้ำตายด้วยความเสียใจ  สถานที่แห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า ปากชวน  ส่วนศพนางผมหอมก็ได้บรรจุไว้ในปรางค์  จึงได้ชื่อว่า ปรางค์นางผมหอม  สถานที่ตีคลีพนันกันก็ได้ชื่อว่า โคกคลี

ศาลพระกาฬ

            อยู่ใกล้ปรางค์สามยอด  เป็นเทวสถานเก่าแก่สมัยขอมครองเมืองลพบุรี มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 16 สร้างด้วยศิลาแลงเรียงซ้อนกันเป็นฐานสูง จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ศาลสูง  เป็นเทวสถานแบบขอม มีลักษณะเป็นปรางค์เดี่ยวขนาดใหญ่ รูปร่างสี่เหลี่ยมจตุรัส มีมุขยื่นด้านหน้า มีบันไดขึ้นลงทั้ง 4 ด้าน เรือนธาตุหรือองค์ปรางค์หักพังหมดแล้ว ทับหลังสลักเป็นรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ ทำด้วยหินทราย อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 17  ได้พบศิลาจารึกหลักที่ 18 เป็นเสาแปดเหลี่ยม กับศิลาจารึกศาลสูงหลักที่ 19 และ 20  เป็นอักษรขอม  ภายในวิหารประดิษฐานรูปพระนารายณ์ประทับยืนทำด้วยหินสององค์ หรือเป็นรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร  องค์เล็ก เป็นเทวรูปรุ่นเก่า องค์ใหญ่เป็นประติมากรรมแบบลพบุรี
ศาลพระกาฬเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้านคู่เมืองลพบุรีมาช้านานจนถึงปัจจุบัน

ป้อม ประตู เมือง ประตูชัย ประตูพะเนียด

      ป้อมปราการของเมืองลพบุรี  ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ค่อนข้างสมบูรณ์ มี 2 แห่งคือ  ป้อมท่าโพธิ และป้อมชัยชนะสงคราม
      ป้อมท่าโพธิ    อยู่บนเนินเขาท่าโพธิ  ทางด้านเหนือของวัดมณีชลขันธ์
      ป้อมชัยชนะสงคราม    อยู่ทางทิศตะวันออกของสถานีรถไฟลพบุรี เป็นป้อมที่มีลักษณะสูงใหญ่มาก สร้างในสมัยลพบุรี
       กำแพงเมือง ป้อมค่ายและประตูหอรบของเดิม สร้างไว้แข็งแรงมากทั้ง 4 ด้าน ได้มีการสร้างเพิ่มเติมในสมัยพระราเมศวรเสด็จไปครองเมืองลพบุรี  ในสมัยสมเด็จพระมหาจักพรรดิ์  ทรงให้รื้อกำแพงเมืองออกเสีย ด้วยเกรงว่าข้าศึกจะมายึดใช้เป็นประโยชน์  ในรัชสมัยพระนารายณ์มหาราช พระองค์ได้ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างเพิ่มเติม  โดยสร้างเฉพาะตอนพระราชวังกับป้อมที่มุมเมือง และได้สร้างประตูเมืองขึ้นมาใหม่
      ประตูเมือง สร้างในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช คือ  ประตูชัย และประตูพะเนียด
      ประตูชัย    อยู่ทางมุมกำแพงพระนารายณ์ราชนิเวศน์ด้านตะวันออกเฉียงใต้  มีลักษณะสูงเด่น ช่องประตูโค้งแหลม  ประตูนี้อยู่ติดกำแพงเมือง ซึ่งมีลักษณะเป็นกำแพงดิน ขนานคู่กับพระราชวังด้านทิศใต้
      ประตูพะเนียด    อยู่ในบริเวณค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  ซากประตูที่เหลือมีลักษณะค่อนข้างสมบูรณ์ ในบริเวณนี้มีร่องรอยพะเนียดคล้องช้าง เป็นเนินดินปรากฎอยู่  พะเนียดคล้องช้างนี้ได้ใช้จับช้างมาหลายยุคหลายสมัย

วัดนครโกษา

            อยู่ที่ตำบลท่าหิน อำเภอเมือง ใกล้กับศาลพระกาฬ เดิมเป็นเทวสถานของขอม มีพระปรางค์แบบลพบุรี มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 อยู่ด้านหน้า พระพุทธรูปปูนปั้นแบบอู่ทองบนปรางค์ ได้สร้างเพิ่มเติมขึ้นภายหลัง ได้พบพระพุทธรูปหินขนาดใหญ่แบบลพบุรี มีร่องรอยดัดแปลงเป็นพระพุทธรูปอยู่ 2 องค์  ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ เทวสถานแห่งนี้ ภายหลังมีผู้สร้างเป็นวัดในสมัยอยุธยา จะเห็นได้จากซากวิหารที่เหลือแต่ผนังและเสาอยู่ทางด้านหน้า มีเนินเจดีย์สูงก่อด้วยอิฐอยู่ด้านหลัง
            การที่ได้ชื่อว่าวัดนครโกษา  มีผู้สันนิษฐานว่าเนื่องจากเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ขุนเหล็ก) ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
เป็นผู้บูรณะจึงได้ชื่อนี้

พระนารายณ์ราชนิเวศน์

            ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำลพบุรี ทางด้านตะวันตกของตัวเมืองลพบุรี เดิมเรียกว่า วังนารายณ์  สันนิษฐานว่าเป็นพระราชวังของพระราเมศวร คราวที่ประทับอยู่ที่เมืองลพบุรี เมื่อถึงรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระราชวังที่เมืองลพบุรีอย่างงดงาม ลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมไทยผสมกับยุโรป  เมื่อสิ้นรัชสมัยของพระองค์ พระราชวังนี้ได้ถูกทิ้งร้าง  ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้บูรณะพระราชวังแห่งนี้ขึ้นมาใหม่  เพื่อให้เป็นราชธานีชั้นใน และพระราชทานนามว่า พระนารายณ์ราชนิเวศน์

            พระราชวัง แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ชั้น  ชั้นนอกอยู่ทางทิศตะวันออก เป็นที่ทำการรัฐบาลและเป็นคลัง  ชั้นกลางเป็นโรงช้างโรงม้า  ชั้นในอยู่ทางด้านทิศตะวันตก  เป็นพระราชมณเฑียร  ที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงสร้าง มีพระที่นั่ง 3 องค์ คือ พระที่นั่งจันทรพิศาล  พระที่นั่งสุทธาสวรรย์  และพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท  พระที่นั่งและตึกต่าง ๆ  ได้สร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พอประมวลได้ดังนี้
            พระที่นั่งและตึกที่สร้างในรัชสมัยพระนารายณ์มหาราช  ได้แก่ พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท  พระที่นั่งจันทรพิศาล  พระที่นั่งสุทธาสวรรย์  ตึกเลี้ยงต้อนรับแขกเมือง  ตึกพระเจ้าเหา  หมู่ตึกสิบสองท้องพระคลังและถังเก็บน้ำ
            พระที่นั่งและตึกที่สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่ หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ  หมู่ตึกพระประเทียบ  ทิม บ้านหลวงรับราชทูต หรือบ้านวิชาเยนทร์

บ้านหลวงรับราชทูต หรือบ้านวิชาเยนทร์

            ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของพระนารายณ์ราชนิเวศน์  ใกล้กับปรางค์แขก  และวัดเสาธงทองในเขตตำบลท่าหิน อำเภอเมือง  สร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  เนื่องจากสถานที่แห่งนี้เป็นที่พำนักของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์  จึงได้ชื่อว่าบ้านวิชาเยนทร์  และเมื่อคราวที่ทูตจากประเทศฝรั่งเศส คือ เชอวาเลีย เดอโชมองต์  เข้ามาเมื่อปี พ.ศ. 2228  ก็ได้พักอยู่ ณ ที่นี้จึงได้ชื่อว่าบ้านหลวงรับราชทูต
            พื้นที่บริเวณบ้านวิชาเยนทร์ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน  มีตึกใหญ่น้อยอยู่หลายหลัง มีถังเก็บน้ำประปา และมีกำแพงล้อมรอบทั้งสี่ด้าน  นับว่าเป็นสถานที่ที่ใหญ่โต รองลงมาจากพระนารายณ์ราชนิเวศน์  ส่วนกลางและส่วนด้านตะวันออก  มีสิ่งก่อสร้างที่มีความสัมพันธ์กันคือ โบสถ์ และตึกหลังใหญ่สองชั้น ใช้เป็นที่ต้อนรับทูตต่างประเทศ  โบสถ์ทางคริสตศาสนาเป็นของนิกายเยซูอิต  อาคารบริเวณด้านตะวันตกคงเป็นที่อาศัยของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์
            ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของอาคารบางหลังเป็นแบบยุโรป  แต่บางหลังเช่นอาคารที่เป็นโบสถ์ ผังและแบบของโบสถ์เป็นแบบยุโรป  แต่ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นซุ้มเรือนแก้ว  และมีปลายเสาเป็นรูปกลีบบัวยาว อันเป็นศิลปะแบบไทย  นับว่าเป็นโบสถ์คริสต์ที่ตกแต่งโบสถ์แบบพุทธหลังแรกในโลก

พระที่นั่งไกรสรสีหราช หรือพระที่นั่งเย็น

            อยู่ที่ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมือง สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นบนเกาะกลางทะเลชุบศร  เพื่อใช้เป็นที่สำราญพระอริยาบท  หลังจากเสด็จประพาสล่าช้างบริเวณภูเขาทางด้านทิศตะวันออก  เคยใช้เป็นที่ต้อนรับพระราชอาคันตุกะ จากฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ. 2228  เพื่อสำรวจจันทรุปราคา  ยังมีภาพการสำรวจจันทรุปราคาที่พระที่นั่งแห่งนี้ ซึ่งชาวฝรั่งเศสวาดไว้ เป็นรูปสมเด็จพระนารายณ์มหาราชสวมลอมพอก  และทรงใช้กล้องส่องดูดาวยาววางบนขาตั้ง  พระที่นั่งนี้มีเขื่อนหินถือปูนล้อมรอบ  ปัจจุบันเหลือแต่ผนัง เครื่องบนหักพังหมดแล้ว เป็นพระที่นั่งชั้นเดียว มีผังเป็นทรงจตุรมุข  ทะเลชุบศรเป็นพื้นที่ลุ่มมีพื้นที่ติดต่อกับทุ่งพรหมมาสตร์ไปทางทิศตะวันออก ในฤดูฝน น้ำฝนจะไหลจากภูเขา มารวมอยู่ในแอ่งนี้ จนแลดูคล้ายทะเลสาบ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ทำประตูกั้นน้ำ-ระบายน้ำไว้  แล้วไขให้น้ำไหลล้นลงมายังสระแก้ว แล้วฝังท่อดินเผา นำน้ำจากสระแก้วไปยังตัวเมือง ปัจจุบันทะเลชุบศรตื้นเขินหมดแล้ว

วัดสันเปาโล

            อยู่ในเขตตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมือง  คำว่าสันเปาโล  คงจะเพี้ยนมาจาก เซนต์ปอลหรือ แซงต์เปาโล (Saint Paulo) วัดนี้ตั้งอยู่ตรงกับตำแหน่งแผนที่เมืองลพบุรี ที่ชาวฝรั่งเศสทำขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  เป็นวัดในคริสตศาสนานิกาย เยซูอิต  มีหอคอยแปดเหลี่ยม สำหรับใช้เป็นที่สังเกตุปรากฎการณ์ทางดาราศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2228  นับว่าเป็นหอดูดาวแห่งแรกของไทย  หอนี้ยังปรากฎอยู่จนบัดนี้  มีซากอาคารก่ออิฐเป็นผนังฉาบปูน แบ่งเป็นห้องสี่เหลี่ยมอยู่รวมกันเป็นแถวมีจำนวน 6 ห้อง  เป็นสถาปัตยกรรมไทยผสมยุโรป  เพราะปรากฎว่ามีการใช้ลวดลายของบัวประดับอาคาร

เพนียดคล้องช้าง

            ตั้งอยู่นอกเมืองทางทิศตะวันออกในบริเวณค่ายสมเด็จพระนารายณ์  ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมือง  ลักษณะเป็นเนินดินรูปสี่เหลี่ยม  มีมาแต่สมัยขอม เป็นที่จับช้างป่ามาใช้ในราชการเป็นคราว ๆ  ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  เมอร์ซิเออร์  เชวาเลีย  เดอโชมองต์  ราชาทูตฝรั่งเศส  ซึ่งเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีกับราชอาณาจักรไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก ได้บันทึกเป็นจดหมายเหตุไว้ว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้จับช้างให้ชมที่เพนียดแห่งนี้  ในบริเวณใกล้เพนียดมีประตูเมือง เรียกว่า ประตูเพนียด  ซึ่งสร้างในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
สระมโนห์รา
            อยู่ข้างปรางค์สามยอดในเขตตำบลท่าหิน อำเภอเมือง  เป็นสระใหญ่มากสระหนึ่ง
สันนิษฐานว่าอาจจะขุดเป็นสระเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในเมือง หรือมิฉะนั้นก็ใช้ดินที่ขุดจากสระ ถมสร้างหรือสร้างปรางค์สามยอด
สระเสวย
            อยู่บนเนินดินติดกับแม่น้ำลพบุรี  ห่างจากวัดมณีชลขัณฑ์ไปทางเหนือประมาณ 150 เมตร  ในเขตตำบลพรหมมาสตร์ อำเภอเมือง  ไม่มีประวัติว่าสร้างในสมัยใด  สันนิษฐานว่าคงมีมาแล้วแต่ครั้งกษัตริย์โบราณ (พระร่วง)  ที่ครองเมือง  ใช้น้ำในสระส่งส่วยน้ำไปให้ขอม
สระแก้ว
            อยู่ในเขตตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมือง  เป็นสระที่มีมาแต่โบราณ  ชาวเมืองได้อาศัยน้ำในสระนี้บริโภค  เชื่อว่าเป็นน้ำสะอาดบริสุทธ์  และเป็นศิริมงคล  จึงได้นำไปใช้ในงานพระราชพิธี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทำพิธีชุบพระแสงศัตราวุธ ที่สร้างขึ้นใหม่ครั้งหนึ่ง

แท่งหินลูกศร

            อยู่บริเวณหลังวัดปืนใหญ่ริมแม่น้ำลพบุรี  มีแท่งหินโผล่ขึ้นมาเหนือระดับดิน สูงประมาณ 1 เมตร เข้าใจว่าเป็นหลักเมืองโบราณ สมเด็จกรมพระยาดำรงค์ราชานุภาพ ได้ทรงนิพนธ์เกี่ยวกับศาลลูกศรไว้ ในตำนาน เมืองลพบุรีมีความว่า
            หลักเมืองลพบุรีอยู่ทางตลาดข้างเหนือวัง เรียกกันว่า ศรพระราม  จะมีมาแต่สมัยก่อนขอม  ฤาเมื่อครั้งขอมทราบไม่ได้แน่ ที่เรียกกันว่า ศรพระรามนั้น เกิดแต่เอาเรื่องรามเกียรติ์ มาสมมุติเป็นนามของเมืองนี้  ความในเรื่องรามเกียรติว่า  เมื่อเสร็จศึกทศกัณฑ์  พระรามกลับไปครองเมืองอยุธยาแล้ว จะสร้างเมืองประทานหนุมาณจึงแผลงศรไป ลูกศรพระรามไปตกบนยอดเขา ทำให้ยอดเขาราบลง  หนุมาณตามไปถึงจึงเอาหางกวาดดินเป็นกำแพงเมือง แล้วพระอินทร์ให้พระวิษณุกรรมลงมาสร้างเมือง เสร็จแล้วพระรามจึงประทานนามว่า เมืองลพบุรี  ด้วยเหตุนี้จึงอ้างกันมาก่อนว่า หลักเมืองนั้นคือ ลูกศรพระรามกลายเป็นหิน ต่อมาได้มีการก่อกุฎิครอบรักษาไว้ นับถือกันอย่างเป็นศาลเทพารักษ์

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |