| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

ศิลปหัตกรรมและงานช่าง
    ประติมากรรม
                ตุ๊กตาแกะสลักวัดจองกลาง  เป็นงานสลักไม้เป็นรูปตัวละครในเรื่องพระเวชสันดรชาดก และพระพุทธประวัติบางตอน ซึ่งได้นำมาจากพม่า เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๐๐
    จิตกรรม

                ภาพวาดบนกระจก  ที่วัดจองกลาง เป็นภาพวาดพุทธประวัติ วาดลงบนกระจกใส แบบภาพวาดกลับคือวาดด้านในให้มองเป็นภาพจากด้านนอก ส่วนด้านในคือด้านที่วาดนั้น จะมองไม่เป็น มีทั้งหมด ๑๘๐ ภาพ ติดไว้กับฝาผนังศาลาการเปรียญวัดจองกลาง ผู้วาดภาพเป็นจิตรกรชาวพม่า

                ภาพวาดพระเวสสันดร  เป็นศิลปะการวาดภาพแบบพม่า ซึ่งจิตรกรชาวพม่าได้วาดไว้ โดยใช้สีน้ำมันวาดบนผื้นผ้า เป็นศิลปะที่เน้นเครื่องทรงและความเป็นอยู่แบบพม่า นับว่าเป็นของเก่าที่หาดูได้ยากในปัจจุบัน ภาพนี้ประดับไว้บนกุฎิวัดศรีบุญเรือง อำเภอแม่สะเรียง มีทั้งหมด ๑๓ กัณฑ์

              ภาพวาดฝาผนังวัดโป่ง  อยู่ในตำบลเวียงเหนือ อำเภอปาย เป็นภาพพระเจดีย์ มีตุงหรือธงอยู่ทั้งสองข้าง กรอบภาพเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ขนาดประมาณ ๒๐ นิ้ว กรอบทาด้วยสีเงิน บนพื้นสีแดง ภาพพระเจดีย์สีทอง ภาพดังกล่าวนำมาติดเรียงกันไว้สวยงาม ทำเป็นผนังห้อง ไม่ทราบว่าผู้ใดวาด เชื่อกันว่าเป็นภาพพระเจดีย์ของวัดโป่งองค์เก่า และเคยติดอยู่ที่ผนังกุฎิหลังเก่า ไม่ทราบว่าวาดเพื่อความมุ่งหมายอะไร

                ผ้าม่านประดับมุก  มีผู้นำมาจากพม่าเพื่อถวายให้กับเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดต่อแพ ลักษณะเป็นผ้าประดับมุก ลูกปัด และทับทิม ๑๖๔ เม็ด ปักด้วยฝีมือบนผ้ากำมะหยี่ การแต่งกายของตัวละครเป็นแบบศิลปะพม่า สันนิษฐานว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับเวสสันดรชาดก ตอนทรงม้าออกจากเมืองและทรงช้างกลับเข้าเมือง
            เครื่องจักสาน เครื่องถม เครื่องปั้นดินเผา

                เครื่องจักสาน  ส่วนใหญ่เป็นการสานเครื่องใช้ที่จำเป็นในชีวิตประจำวันเช่น แปมพร้า กระบุง แปมปา (กระบุง) สำหรับสะพายไว้ข้างหลัง กระผ้า ฯลฯ

                เครื่อง เงิน  เครื่องถม  เป็นงานช่างเงิน ทำเกี่ยวกับเครื่องใช้ เครื่องประดับ เช่น เข็มขัดเงิน สร้อย แหวน กำไล

                เครื่องปั้นดินเผา  ในอดีตจะปั้นเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น หม้อน้ำ หม้อแกง คนโท แจกัน กล้องยาสูบ ฯลฯ

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |