| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

   แหล่งประวัติศาสตร์
                วังช้างเผือก  เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๐๕๔ เจ้ามหาชีวิตเมืองเชียงใหม่ พระนามว่า ศรีใจยา ยกทัพมาตีบ้านดอน (บ้านเวียงเหนือ อำเภอปาย) เดินทัพมาถึงบริเวณที่เจ้ามหาชัยเคยฝังศีระษะซากไว้ รับสั่งหยุดทัพและส่งกองสอดแนมไปหาข่าว เมื่อเจ้ามหาชีวิตยกทัพมาใกล้ถึงบ้านดอน มีวังน้ำอยู่แห่งหนึ่งจึงนำช้างลงอาบน้ำ วังน้ำแห่งนี้ต่อมาได้ชื่อว่า วังช้างเผือก แล้วจึงเคลื่อนทัพมาประชิดตัวเมือง รุ่งขึ้นก็เรียกทัพเข้าตีบ้านดอน พม่าแตกหนีไปทางทิศตะวันตก ได้มีการสู้รบกันที่ประตูเมืองจนพม่าแพ้ไป ชาวบ้านจึงเรียกประตูด้านนี้ว่า ประตูม่าน (ม่านคือพม่า) ทุ่งนาฝั่งตะวันตกก็เรียกทุ่งม่าน ส่วนพวกที่หนีมาทางด้านใต้ พะก่าส่างกงน้องชายพะก่ากันนะ ถูกเจ้ามหาชีวิตฆ่าตาย ต่อมาจึงเรียกว่า ประตูดำ (หมายถึงคนตาย) และถนนสายนี้ต่อมาเรียกว่า กองส่างกง (กองคือถนน) ฝ่ายพะก่ากันนะผู้ครองบ้านดอนก็ได้ยอมแพ้
                ด้วยเหตุนี้บ้านดอนหรือเวียงเหนือในปัจจุบันจึงมีคนสองเผ่าคือไทยใหญ่ อยู่ทางทิศตะวันตกและคนพื้นเมืองเชียงใหม่อยู่ทางทิศตะวันออก

                เส้นทางประวัติศาสตร์  เป็นเส้นทางเดินทัพและตั้งค่ายของทหารญี่ปุ่นในเขตอำเภอขุนยวม ครั้งสงครามมหาเอเซียบูรพา ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๘๔ - ๒๔๘๘ กองทัพญี่ปุ่นได้ใช้พื้นที่อำเภอขุนยวมเดินทัพเข้าไปสู่ประเทศพม่า และเมื่อสงครามยุติลงก็ได้เดินทางกลับในเส้นทางเดิม
                ในระยะแรกทหารช่างของกองทัพญี่ปุ่น ได้มาสำรวจสร้างเส้นทางโดยประสานกับจังหวัดและอำเภอเพื่อขอคนงานก่อสร้าง เริ่มวางแผนสร้างทาง ตั้งแต่ถนนปากทางเข้าแม่มาลัย ไปถึงอำเภอปาย อำเภอปางมะผ้า อำเภอเมือง ฯ และอำเภอขุนยวม ฯ และออกไปทางบ้านต่อแพ ห้วยปลามุง ขึ้นไปตามลำห้วยต้นนุ่น ออกสู่พม่าที่น้ำบาง แม่แจ๊ะ จังหวัดดอยก่อของพม่า ในการก่อสร้างถนนยุทธศาสตร์ กับเส้นทางที่สร้างมาจากจังหวัดกาญจนบุรีเป็นวงรอบ
                ในปี พ.ศ.๒๔๘๕ ชาวบ้านถูกเกณฑ์มาทำถนนวนดังกล่าว โดยจากหมู่บ้านต่าง ๆ หมู่บ้านละ ๑๐ - ๓๐ คน ทำงานคนละ ๕ - ๑๐ วัน จึงจะหยุดพัก และค่อยเกณฑ์กันมาใหม่ ได้รับค่าจ้างวันละ ๕๐ สตางค์ ถึง ๑.๕๐ บาท แต่จะไม่ให้ทำใกล้หมู่บ้านของตนเอง ชาวบ้านแต่ละกลุ่มจะมีทหารญี่ปุ่นคอยควบคุมการทำงาน ๑ - ๒ คน ยกเว้นในการสร้างสะพานต้องใช้เครื่องมือเช่น ปั้นจั่น จึงจะมีทหารญี่ปุ่นหลายคน
                ตลอดเส้นทางมีหลักกฐานปรากฎเป็นระยะ ๆ มีบ้านแม่สุริน หนองปาก่อ เขตสุขาภิบาล วัดต่อแพ ห้วยปลามุง ห้วยปอ ห้วยงูเห่า ละสูบอ นาอ่อน ห้วยใส จนถึงเขตแดนพม่า

                ชุมชนโบราณบ้านเวียงเหนือ  อยู่ที่บ้านเวียงเหนือ ตำบลเวียงเหนือ อำเภอปาย มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ปรากฎช่องประตูทั้งสี่ด้านคือ ทิศเหนือเรียกว่า ประตูชัย ทิศตะวันออกเรียกว่า ประตูทัพ ทิศใต้เรียกว่า ประตูดำ (ประตูผี) ทิศตะวันตกเรียกว่า ประตูม่าน
                ปัจจุบันคูน้ำ และกำแพงดินยังมีสภาพสมบูรณ์ พื้นที่ภายในประมาณณ ๕๐๐ - ๖๐๐ ไร่ ไม่ปรากฎร่องรอยอาคารโบราณสถานแต่อย่างใด พื้นที่โดยรอบเป็นที่ราบกว้างใหญ่ ตามประวัติศาสตร์เชื่อว่า ชุมชนโบราณแห่งนี้เกิดขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๑๘๖๐ มีลักษณะเป็นเมืองหน้าด่าน คราวใดที่เมืองพุกามยกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ ก็มักจะผ่านและยึดกครองเป็นฐานที่มั่น คราวใดที่สามารถขับไล่พม่าออกไปได้ก็มาขึ้นกับอาณาจักรล้านนา
                ตัวชุมชนโบราณ ฯ ตั้งอยู่บนเนินดินสูงจากที่ราบโดยรอบทั้งสี่ทิศ ตัวเมืองเป็นรูปเกือบจะกลม มีคูเมืองสามด้าน คือด้านทิศเหนือบางส่วน ด้านทิศตะวันออกและด้านทิศใต้บางส่วน คูเมืองกว้างประมาณ ๔ - ๘ เมตร ลึกประมาณ ๓.๕ เมตร มีคันดินเหลือำแพงดินและกำแพงอิฐอยู่โดยยรอบทั้งสี่ทิศ บางส่วนถูกทำลายไป มีลำน้ำไหลผ่านสองสาย คือทิศเหนือที่ลำห้วยแม่เมือง ทิศตะวันตกมีลำน้ำปาย พื้นที่โดยรอบชุมชน ฯ เป็นที่ราบกว้างใหญ่ มีถนนเข้าสู่ชุมชน ฯ สองเส้นทางคือ
                บ้านเวียงเหนือเดิมเรียกบ้านดอน  ตั้งอยู่บนที่ดอน มีป่าไผ่ล้อมรอบ ในปี พ.ศ.๑๘๒๖ พิงคนคร (เชียงใหม่) มีพระเจ้าครามครองอยู่ ได้ทราบข่าวว่าชาวพม่าชื่อ พะก่าซอ มาตั้งทัพและสร้างบ้านดอนเป็นปึกแผ่น ขุดคูเมืองรอบบด้าน สร้างประตูเมืองสองประตู ทางทิศใต้และทิศตะวันตก
                พระเจ้าคราม คิดจะยึดบ้านดอนเป็นเมืองขึ้นแต่สิ้นพระชนม์ก่อน ต่อมาในปี พ.ศ.๑๘๙๐ พระเจ้าเสนะภูมิผู้เป็นโอรส ขึ้นครองเมืองเชียงแสนอยู่ได้ส่งเจ้ามหาชัยมายึดบ้านดอน ขณะที่หยุดพักแรมช้างเชือกหนึ่งล้มโดยไม่ทราบสาเหตุ จึงให้เผาและผึ่งกระดูกช้างไว้ใกล้ที่พักแรม ต่อมาบริเวณนั้นเรียกว่า บวกหัวช้าง  อยู่บนเส้นทางอำเภอปายไปจังหวัดเชียงใหม่
                ในปี พ.ศ.๑๙๘๐ พะกาซอ สร้างบ้านดอนจนมั่นคงแข็งแรง มีผู้คนมาอยู่มากขึ้นจึงกลับไปพม่า และให้ลูกชายชื่อ พะกั่นนะ ดูแลแทน ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๐๕๔ เจ้ามหาชีวิต ศรีใจยา ได้ยกทัพมาตีบ้านดอนอีกแต่ยังไม่ทันสำเร็จ
                ในปี พ.ศ.๒๑๙๘ เจ้าแก้วเมืองมา ราชนัดดาเจ้าชัยสงครามได้มาครองบ้านดอนเวียงใหม่ และได้รับคำสั่งให้เสาะหาสถานที่ฝึกสอนช้างจึงได้เดินทางลงมาตามลำน้ำปาย ตั้งค่ายพักแรมที่บริเวณปางหมูในปัจจุบัน และได้พบสถานที่ฝึกสอนช้างในร่องน้ำแห่งหนึ่ง จึงให้ตั้งหมู่บ้านขึ้นคือ ที่เป็นตัวเมืองแม่ฮ่องสอนปัจจุบัน
                เมืองแม่ฮ่องสอนโบราณ  ปัจจุบันคือ ตำบลจองคำ ในเขตเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน ตามแนวเมืองโบราณคือ
                    ทิศเหนือ  เริ่มจากกำแพงวัดหัวงเวียง ผ่านตลาดสดเลียบแนวสนามบิน ตัดออกหน้าประตูโรงพยาบาลศรีสังวาลย์ และจากแนวกำแพงด้านทิศตะวันตกของวัดหัวเวียง  ตัดออกไปทางสามแยกวัดม่วยต่อ เดิมเป็นประตูเมืองเรียกว่า ประตูดำ เพราะใช้เป็นทางนำศพออกไปป่าช้า
                    ทิศตะวันออก  จากหน้าประตูโรงพยาบาลศรีสังวาลย์ เดิมเป็นประตูเมือง เรียกประตูทัพ ตัดไปตามแนวรั้วโรงพยาบาล จรดลำน้ำแม่ฮ่องสอน ยังปรากฎแนวคูเมืองอยู่บ้าง
                    ทิศใต้  เริ่มจากลำน้ำแม่ฮ่องสอน หลังโรงไฟฟ้าตัดขนานแนวทุ่งไปสู่ถนนขุนลุมประพาส มีประตูเมืองเก่า เรียกว่า ประตูเผือก ตัดไปจรดกำแพงวัดถ้ำก่อ
                    ทิศตะวันตก  เริ่มจากแนวรั้วด้านทิศตะวันออกของวัดถ้ำก่อ ตัดออกสำนักงานประถมศึกษาจังหวัด ผ่านหมู่บ้านเลียบแนวถนนผดุงม่วย ไปจรดสามแยกวัดม่วยต่อ
                    ตัวเมืองอยู่ในแอ่งภูเขา มีลำน้าไหลขนาบทั้งสองด้าน ทางทิศใต้เป็นลำน้ำแม่ฮ่องสอน ทางทิศเหนือเป็นลำน้ำบุ๊ ลำน้ำทั้งสองไหลไปบรรจบกันที่บ้านสบป่อง และไหลไปบรรจบแม่น้ำปาย ตัวเมืองเป็นรูปวงรีเหลี่ยม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑ ตารางกิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ ๑.๕ ตารางกิโลเมตร
                    คูเมืองโบราณ  จากหลักฐานข้อมูลที่พบกล่าวว่า ขุดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๒ ปัจจุบันไม่มีร่องรอยเหลืออยู่ บางแห่งกลายเป็นร่องน้ำไป ผู้ที่เคยเห็นคูเมืองโบราณกล่าวว่า คูเมือง ฯ มีลักษณะเป็นร่องมีเสาไม้ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒๕ - ๓๐ นิ้ว ปักเรียงสลับกัน เสาดังกล่าวสูง ๓.๐ - ๓.๕ เมตร
                ชุมชนบ้านต่อแพ  ตั้งอยู่บนเนินที่ราบลุ่มแม่น้ำและหุบเขา มีแม่น้ำยวมไหลผ่าน ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ด้านทิศเหนือเป็นที่ราบระหว่างภูเขา มีแม่น้ำสายเล็กไหลผ่าน ทิศตะวันตกติดภูเขา สภาพที่เป็นชุมชนโบราณไม่เหลืออยู่
                คำว่า ต่อแพ สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า ต่อแม่ หมายถึง การนำไม้ไผ่มาต่อเป็นแพ เมื่อพ่อค้ามาซิ้อข้าวได้แล้ว ก็จะต่อแพบรรทุกข้าวลงเรือล่องไปตามลำน้ำยวม ไปขายที่เมืองยวมหรือเมืองแม่สะเรียง
                หมู่บ้านต่อแพ มีประวัติความเป็นมาไม่น้อยกว่า ๓๐๐ ปี  โดยสันนิษฐานจากคูเมืองโบราณ

                ชุมชนโบราณบ้านทุ่งพร้าว - บ้านดอน  บริเวณที่พบเป็นที่ราบ และเป็นทุ่งนามีคูเนินดินล้อมโดยรอบ สูงจากระดับทุ่งนาประมาณ ๑ - ๑.๕ เมตร มีรูปร่างเป็นรูปวงกลมรี ปัจจุบันเหลือเพียงคันดินยาวเป็นแนวบางส่วนเป็นตอน ๆ ทางด้านทิศเหนือ ทิศตะวันออกและทิศใต้ ส่วนทางด้านทิศตะวันตกคันดินหายไป
                เมืองยวมเดิม เรียกว่า เมืองยวมใต้ มีหลักฐานแสดงว่าได้มีการตั้งบ้านเรือนมาแล้ว ตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ.๑๙๐๐ ในพงศาวดารโยนกได้ระบุเหตุการณ์เกี่ยวกับเมืองนี้ว่า เป็นเมืองหน้าด่านของเมืองเชียงใหม่ ไว้คอยตั้งรับการรุกรานจากกองทัพพม่า ที่จะเข้ามาตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ

                ชุมชนโบราณดอยเวียง  ตั้งอยู่บนเนินเขาทางทิศตะวันออกของวัดต่อแพ ที่บ้านต่อแพ ตำบลแม่เงา อำเภอขุนยวม พื้นที่เป็นเนินเขาขนาดย่อม มีลำน้ำยวมไหลผ่านทางทิศตะวันออกและทิศเหนือ มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ คูน้ำกว้างประมาณ ๔ - ๕ เมตร มีคันดินสองข้างล้อมรอบพื้นที่ประมาณ ๗๕๐ไร่  บนจุดสูงสุดของเนินพบกลุ่มโบราณสถานประกอบด้วย
                    วิหาร  มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ด้านท้ายมีฐานชุกชี
                    เจดีย์  อยู่ด้านหลังวิหาร หักพังเหลือเพียงฐานรูปสี่เหลี่ยม จตุรัสทรงสูง ย่อเก็จ และพบปล้องไฉน ตกอยู่ข้างฐานเจดีย์ น่าจะเป็นเจดีย์ทรงระฆัง
                    อาคาร  อยู่ด้านหน้าเจดีย์  อยู่ในสภาพหักพังจนไม่เหลือร่องรอยให้เห็นว่ามีลักษณะใด
                    อาคาร  อยู่ห่างจากวิหารไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณ ๒๐ เมตร อยู่ในสภาพหักพังหมด
                    สระน้ำ  มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ กว้าง ๕๐ เมตร ยาว ๔๐ เมตร ปัจจุบันตื้นเขิน
                จากหลักฐานที่พบสันนิษฐานว่า ดอยเวียง แห่งนี้ น่าจะเป็นป้อมค่าย หรือชุมชนชั่วคราวในเวลาสงคราม หรือแหล่งศาสนสถานของชุมชน ที่ตั้งอยู่บนที่ราบ ที่น่าจะได้รับอิทธิพลทางศิลปกรรมจากล้านนา ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ - ๒๒
   ย่านประวัติศาสตร์

                ป๊อกกาด  ป๊อก หมายถึง หย่อม หรือย่าน กาดคือ ตลาด ในอดีตป๊อกกาดเป็นย่านร้านค้า สินค้าส่วนใหญ่มาจากพม่า ย่านดังกล่าวนี้อยู่ในเขตเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน ปัจจุบันไม่เหลือร่องรอยให้เห็นเป็นความทรงจำที่เล่าขานสืบต่อกันมา

                บ้านห้วยเดื่อ  เป็นหมู่บ้านเล็กอยู่ทางทิศตตะวันตกเฉียงใต้ ของตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ห่างออกไปประมาณ ๗ กิโลเมตร เป็นย่านการค้าในอดีต โดยเป็นท่าเรือรับส่งสินค้าจากพม่า ก่อนเข้าสู่ตัวเมืองแม่ฮ่องสอน สิ่งก่อสร้างที่ยังปรากฎอยู่คือ ศาลาท่าเรือห้วยเดื่อ อยู่ติดท้ายหมู่บ้านโป่งแดง เป็นสถานที่พักสำหรับผู้เดินทางทางเรือ โดยเฉพาะลูกจ้างถ่อเรือ

                ป๊อกกองขวาง  คือบริเวณสองฟากถนน สายสั้น ๆ ที่ตัดขวางเชื่อมต่อสายหลักของหมู่บ้านขุนยวม อำเภอขุนยวม ในอดีตเป็นร้านค้าของชาวอินเดีย มีศาลากลางบ้านใช้เป็นที่พักคนเดินทาง และพ่อค้านำสินค้าจากเมืองอื่นมาเร่ขายชั่วคราว ศาลาดังกล่าวสร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๐๐ เป็นอาคารไม้ยกพื้นมุงสังกะสี เชิงชายมีลายไม้ประดับ
                สามแยกกาลา  อยู่ในตัวอำเภอแม่สะเรียง ในอดีตกลุ่มชนที่ประกอบอาชีพค้าขายจะมีแต่ชาวอินเดียและชาวปากีสถาน ซึ่งส่วนใหญ่อพยพมาจากพม่า เดิมบริเวณสามแยกดังกล่าวเป็นแหล่งกลางของร้านค้าชาวอินเดีย ปัจจุบันบริเวณนี้เป็นศูนย์กลางการค้าของอำเภอ ร้านค้าของชาวอินเดียลดลง ร้านค้าชาวจีนและชาวไทยเพิ่มขึ้น
                ปางลาย  ปางคือสถานที่พักแรมหรือที่ใช้ประกอบกิจกรรมร่วมกัน ลายคือศิลปลีลา ท่าทางหรือวิธีการต่อสู้ป้องกันตัว ในอดีตเมื่อว่างจากการประกอบอาชีพ โดยมากจะเป็นช่วงตรุษสงกรานต์ จะมีผู้เชี่ยวชาญการต่อสู้ป้องกันตัวออกเร่ฝึกสอน เมื่อมาถึงหมู่บ้านใด ผู้เชี่ยวชาญประจำหมู่บ้านจะมาทดลองวิชา หากแพ้จะยอมรับเป็นครู หากชนะ ผู้เชี่ยวชาญอาคันตุกะก็จะเดินทางไปยังหมู่บ้านอื่น หรือยอมรับตัวเป็นศิษย์
                เมื่อทั้งสองฝ่ายตกลงกันแล้วก็จะเลือกสถานที่ฝึกสอน ส่วนใหญ่จะเป็นสถานที่ลี้ลับพอสมคววร เพราะต้องการความสงบ มักเป็นบริเวณป่าช้า ผู้เรียนจะตกแต่งเครื่องบูชาครูและค่าบูชาครูตามที่ผู้สอนกำหนด ผู้สอนจะทำพิธีไหว้ครูพร้อมทั้งให้สาบานว่า จะใช้วิชาที่เรียนไปเพื่อป้องกันตัวเท่านั้น การสอนใช้เวลา ๗ - ๑๕ วัน
                สถานที่ดังกล่าวจะมีอยู่เกือบทุกหมู่บ้าน แต่ปัจจุบันไม่มีกิจกรรมในเรื่องนี้อีกแล้ว
   แหล่งอุตสาหกรรม
                เตาเผาห้วยน้ำหยวก  อยู่บริเวณห้วยน้ำหยวก ใกล้วัดม่วยต่อ อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ ๕๐๐ เมตร ตำบลขุนยวม อำเภอขุนยวม สภาพทั่วไปเป็นเนินเล็ก ๆ เตี้ย ๆ มีลำห้วยขนาดเล็กคือห้วยน้ำหยวกไหลผ่านไปบรรจบแม่น้ำยวม ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้
                กลุ่มชนที่มาตั้งเตาเผาผลิตเครื่องเคลือบ เริ่มเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๔ ผลิตเพียงปีละครั้งในช่วงออกพรรษาเท่านั้น โดยเลือกขุดพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นเนินริมห้วย ภาชนะดินเผาที่ผลิตคือ แจกันทรงสูง กระโถน อ่างมีหู ชาม ตะคัน (บางประทีป) เคลือบสีเขียวแบบเซลาคอน ซึ่งมักทำลวดลายประดับเป็นแนวต่อเนื่องก่อนเคลือบ นอกจากนั้นยังมีภาชนะแบบไม่เคลือบด้วยคือภาชนะดินเผาน้ำต้นรูปทรงต่าง ๆ มักเผากลางแจ้งและมีประติมากรรมรูปสัตว์ด้วย
                การปั้นภาชนะใช้วิธีปั้นขึ้นด้วยมือโดยใช้ไม้แป้นและหินถูช่วย และปั้นขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน เมื่อปั้นเสร็จแล้วจึงใช้ด้ายปาดตัดก้นภาชนะออกจากแป้น แล้วนำมาตกแต่งอีกครั้ง นำมาผึ่งในที่ร่มจนแห้งแล้วนำมาเคลือบ โดยใช้วิธีจุ่มและใช้น้ำชุบน้ำดินทาลงบนภาชนะ ผึ่งให้แห้งแล้วนำเข้าเตาเผา ซึ่งจะเผาครั้งเดียวนาน ๘ - ๑๐ ชั่วโมง ถึงสองวันสองคืน

                การตีเหล็ก  เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนมาแต่เดิม ในอดีตเป็นการทำเครื่องมือเครื่องใช้ในการเกษตรและอื่น ๆ ปัจจุบันยังมีการตีเหล็กอยู่บ้างในกลุ่มชนชาวเขา หรือชาวชนบทที่อยู่ห่างไกล

                การทำเครื่องเงิน  ที่แม่ลาน้อย เป็นมรดกตกทอดของชาวเผ่าลัวะ ซึ่งมีฝีมือในการทำเครื่องเงินมาแต่อดีต ปัจจุบันมีทำอยู่ที่บ้านละอูบ ตำบลแม่ลาน้อย และบ้านสันติสุข ตำบลแม่ลาหลวง อำเภอแม่ลาน้อย

                การทอผ้า  ในอดีตชาวแม่ฮ่องสอนทอผ้าไว้ใช้เอง เครื่องมือทอผ้าเป็นแบบต่าง ๆ ปัจจุบันยังทำอยู่บ้างในกลุ่มชาวไทยภูเขา

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |