| หน้าต่อไป |
| พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

จังหวัดนราธิวาส

            จังหวัดนราธิวาส เป็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศมาเลเซีย ตั้งอยู่บนฝั่งด้านตะวันออกของแหลมมลายู มีพื้นที่ประมาณ ๔,๔๗๕ ตารางกิโลเมตร
            ทิศเหนือ  ติดต่อกับอำเเภอสายบุรี  และอำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี และอ่าวไทย
            ทิศตะวันออก ติดต่อกับอ่าวไทย และประเทศมาเลเซีย
            ทิศใต้  ติดต่อกับรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย
            ทิศตะวันตก  ติดต่อกับอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา
            พื้นที่โดยทั่วไป เป็นป่าและภูเขาประมาณสองในสามของพื้นที่ทั้งหมด พื้นที่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นพื้นที่ติดภูเขา และค่อย ๆ ลาดลงเป็นพื้นที่ค่อนข้างราบ และพื้นที่ราบจดชายทะเลอ่าวไทย ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นชายฝั่งทะเลที่เกิดจากการยกตัว มีหาดทรายและสันทรายขนานไปกับชายทะเล สลับกับที่ลุ่มต่ำที่เรียกว่าพรุ ซึ่งเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยมีพื้นที่ประมาณ ๒๘๓,๐๐๐ ไร่
            จังหวัดนราธิวาส มีภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อน มีสองฤดูคือ ฤดูฝนสองระยะ คือระยะที่ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งพัดพาเอาความชื้นจากมหาสุมทรอินเดีย และทะเลอันดามัน เข้ามาทำให้มีฝนตกชุกตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม ถึงกลางเดือนตุลาคม และระยะที่ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งอิทธิพลจากความกดอากาศ และพายุหมุนโซนร้อนที่พัดมาจากอ่าวไทย ทำให้ฝนตกชุกช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนมกราคม เป็นช่วงที่มักเกิดน้ำท่วมในภาคใต้และจังหวัดนราธิวาส ปริมาณฝนสูงสุดในเดือนพฤศจิกายนประมาณ ๖๐๐ มิลลิเมตร ต่ำสุดในเดือนกกุมภาพันธ์ประมาณ ๔๕ มิลลิเมตร อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ ๒๗ องศาเซลเซียส
ทรัพยากรธรรมชาติ

           ทรัพยากรน้ำ  แหล่งน้ำในจังหวัดนราธิวาสเป็นแม่น้ำต่าง ๆ คือ
                - แม่น้ำสายบุรี  มีต้นน้ำอยู่ระหว่างเขาอุลกาโอกับเขาตาโป้ ในทิวเขาสันกาลาคีรี ในเขตอำเภอสุคีริร แล้วไหลผ่านอำเภอจะแนะ อำเภอศรีสาคร อำเภอรือเสาะ วจังหวัดนราธิวาส อำเภอรามัน จังหวัดยะลา แล้วไหลลงสู่อ่าวไทยที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี มีความยาวประมาณ ๒๙๕ กิโลเมตร
                - แม่น้ำโก - ลก  มีต้นกำเนิดจากเขาเยลี ในทิววเขาสันกาลาคีรี เป็นแม่น้ำที่กั้นพรมแดนระหว่างไทยกับมาเลเซีย ไหลผ่านอำเภอแว้ง อำเภอสุไหงโก-ลก แล้วไหลลงสู่อ่าวไทยในเขตอำเภอตากใบมีความยาวประมาณ ๑๐๓ กิโลเมตร
                - แม่น้ำบางนรา  เป็นเแม่น้ำที่ไหลแยกออกจากแม่น้ำโก - ลก ที่ตำบลเกาะสะท้อน อำเภอตากใบ แล้วไหลไปทางทิศตะวันตกได้รับน้ำจากกคลองสุไหงปาดี คลองยะกัง และคลองตันหยงมัส ที่ไหลมาบรรจบแล้วไหลวกขึ้นเหนือ แล้วไหลลงสู่อ่าวไทยในเขตตำบลบางนาค อำเภอเมือง ฯ มีความยาว ๕๕ กิโลเมตร
                - แม่น้ำตากใบ  เป็นแม่น้ำที่เกิดจากสันทรายนอกริมฝั่งทะเล เป็นแนวยาวปิดกันให้น้ำไหลออกทางเดียวที่ปากแม่น้ำโก-ลก บริเวณบ้านดาบา อยู่ชายฝั่งตะวันออก ในเขตตำบลศาลาใหม่ ตำบลเจ๊ะเห มีความยาวประมาณ ๑๔ กิโลเมตร
                - คลองตันหยงมัส  มีต้นกำเนิดจากภูเขาตก และภูเขาระเว ไหลผ่านอำเภอระแงะไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีคลองบอยอ และคลองไอกาแน เป็นคลองย่อยไหลมาบรรจบ มึความยาวประมาณ ๔ กิโลเมตร
            ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า  เนื่องจากพื้นที่ของจังหวัดส่วนใหญ่เป็นภูเขา ประกอบกับมีฝนตกเกือบตลอดปี จึงมีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์เป้นป่าดิบชื้นและป่าดิบภูเขา มีพื้นที่ป่าประมาณ ๑,๘๓๕ ตารางกิโลเมตร ประมาณร้อยละ ๔๑ ของพื้นที่จังวหัด บริเวณที่เป็นที่ลุ่มต่ำจะเป็นป่าพรุ  ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของพื้นที่ ได้แก่ ป่าพรุแดง พรุบาเจาะ พรุกาบแดง มีพื้นที่ประมาณ ๒๘๓,๐๐๐ ไร่ หรือประมาณ ๔๕๓ ตารางกิโลเมตร  ประมาณร้อยละ ๑๐ ของพื้นที่จังหวัด
มีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอยู่หลายแห่งได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ฮาลา - บาลา
ประชากร

            ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยอิสลามประมาณร้อยละ ๘๒ และชาวไทยพุทธประมาณร้อยละ ๑๗ นอกจากนั้นนับถือศาสนาอื่น ๆ เมื่อปีพ.ศ.๒๕๔๑ มีประชาชนประมาณ ๖๘๗,๕๐๐ คน มีครัวเรือนประมาณ ๑๒๕,๖๐๐ ครัวเรือน ประชากรทีนับถือศาสนาอิสลาม ใช้ภาษามลายูท้องถิ่น ในชีวิตประจำวันมากกว่าการใช้ภาษากลาง ขนบธรรมเนียมประเพณีก็เป็นไปตามลักษณะของสังคมมุสลิม ซึ่งมีความเชื่อศาสนาและค่านิยมตามหลักศาสนาอิสลาม มุสลิมเชื่อว่าศาสนาอิสลามเป็นศาสนาของพระเจ้าที่ประทานให้มวลมนุษย์โดยผ่านศาสนฑูตมูฮำมัด ประเพณีศาสนาอิสลามที่สำคัญในท้องถิ่นได้แก่
                - วันอิดิลพิตรี  หรือวันฮารียอปอซอ เป็นวันที่นับจากถือศีลอด หนึ่งเดือนแล้ว
                - วันเมาลิด  เป็นวันทีระลึกถึงศาสดาของศาสนาอิสลาม
                - ประเพณีขึ้นบ้านใหม่
                - พิธีเข้าสุนัต  ซึ่งอิสลามพึงกระทำเพื่อสะดวกในการประกอบพิธีละหมาด
                - ประเพณีการแต่งงาน หรือบาแกปูโล๊ะ แปลว่า การกินข้าวเหนียว
                - การทำความเคารพศพ เมื่อศพผ่านมาให้ยืนตรง และศพแต่ละศพจะไว้ได้ไม่เกิน ๒๔ ชั่วไมง ต้องทำพิธีฝังให้เรียบร้อย ในด้านความเชื่อและค่านิยม ชาวไทยอิสลามถือว่าการไปประกอบพิธีทางศาสนาที่นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย เป็นค่านิยมสูงสุดในหมู่คนไทยอิสลาม เมื่อกลับมาจะได้รับการยกย่องเป็นหะยี ผู้ที่เป็นหะยีแล้วจะต้องมีศาสนบัญญัติห้าประการคือ
                - ต้องปฏิญาณตน ต้องถือละหมาด ต้องถือศีลอด ต้องให้ทาน ต้องไปประกอบพิธีที่นครเมกกะ
            สำหรับผู้ที่นับถือพุทธศาสนา ก็มีขนบธรรมเนียมประเพณีความเลื่อมใสศรัทธาในพระรัตนตรัย และมีค่านิยมเหมือนกับชาวพุทธทั่วไป
            ภาษาพูดในชีวิตประจำวัน ชาวไทยที่เป็นพุทธศาสนิกชน ใช้ภาษาพูดหลากหลาย เพราะมีประชากรหลายกลุ่มมาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดนราธิวาส ที่มาจากภาคกลางและจากจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้ จึงมีสำเนียงพูดหลายสำเนียง เช่น สำเนียงภาษาไทยใต้ตอนบน ภาษาไทยใต้ตอนล่าง และยังมีภาษาพูดและสำเนียงที่แปลกไปจากภาษาไทยภาคใต้ใน
จังหวัดอื่น ๆ มากเป็นพิเศษคือ สำเนียงภาษาเจ๊ะเห มีพูดกันมานานและมีอยู่ในกลุ่มคนไทยพุทธ ดั้งเดิมของจังหวัดนราธิวาส เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่นของอำเภอตากใบ
            การประกอบอาชีพของประชากรส่วนใหญ่คืออาชีพเกษตรกรรม เช่น การทำสวนยางพารา สวนผลไม้และการทำนา ส่วนประชากรที่อาศัยอยู่ริมฝั่งทะเลด้าน
ตะวันออกซึ่งมีอยู่เป็นแนวยาวจะประกอบอาชีพการประมง  การประกอบอาชีพใช้แรงงานรับจ้างมีน้อย เพราะมีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติที่เอื้ออำนวย
การปกครอง
            การปกครองส่วนภูมิภาค แบ่งการปกครองออกเป็น ๑๓ อำเภอ ได้แก่อำเภอบาเจาะ อำเภอยี่งอ อำเภอเมือง ฯ  กิ่งอำเภอเจาะไอร้อง อำเภอตากใบ อำเภอสุไหงปาดี อำเภอ
สุไหงโก - ลก อำเภอแว้ง อำเภอสุคิริน อำเภอจะแนะ อำเภอระแงะ อำเภอศรีสาคร และอำเภอรือเสาะ
            มีตำบล ๗๗ ตำบล มีหมู่บ้าน ๕๒๗ หมู่บ้าน มีการจัดระเบียบการปกครองตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ เช่นเดียวกับภูมิภาคอื่น ๆ
            ในปี พ.ศ.๒๔๕๙ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนเรียกเมืองเป็นจังหวัด รายนามผู้ที่ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองและผู้ว่าราชการจังหวัด พอประมวลได้ดังนี้
                - พระยาภูผาภักดี พระยาเมืองระแงะ ครั้งบริเวณเจ็ดหัวเมือง
                - พระนราภิบาล พระพิศัยสุทรการ หลวงปริวรรตวิจิต  ไม่มีหลักฐานข้อมูลเวลาที่เป็นเจ้าเมือง
                - พระยานราศัยสุนทร ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๖๒ - ๒๔๖๕
                - พระยาสุรพลพิพิธ   ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๖๕ - ๒๔๖๗
                - พระยาศรีสุทัศน์     ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๖๙ - ๒๔๗๒
                - พระยาเพชราภิบาลนฤเบศร์   ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๒ - ๒๔๗๕
                - พระศรีสุทัศน์       ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๕ - ๒๔๘๐
                - พระพิชิตบัญชาการ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๘๐ - ๒๔๘๑
                - หม่อมหลวงทวีวงศ์  ถวัลยศักดิ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ - ๒๔๘๓
                - หลวงภูวนารถนฤบาล ฯ         ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๘๓ - ๒๔๘๔
                - พระพินิจเสนาการ  ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๘๔ - ๒๔๘๕
                - หลวงจรูญบูรกิจ    ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๘๕ - ๒๔๘๗
                - นายอิน  ตุงคะผลิน ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๘๗ - ๒๔๙๐
การศึกษา
            จังหวัดนราธิวาสมีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม  พูด อ่านและเขียนภาษาไทยได้น้อยมาก  ในอดีตการจัดการศึกษาจึงต้องทำให้ประชาชนพูด และอ่านเขียนภาษาไทยได้เพราะภาษาไทยเหมือนจะเป็นภาษาที่สองของพื้นที่บริเวณนี้ เพราะในชีวิตประจำวันไม่นิยมใช้ภาษาไทย
            ในพื้นที่บริเวณจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา มีสถานศึกษาและผู้สอนศาสนากระจายอยู่ทั่วบริเวณ จนกลายเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาศาสนาอิสลาม ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์
            ในอดีต จากรายงานของกระทรวงธรรมการ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๓ พบว่าเยาวชนส่วนใหญ่ในแถบนี้ ได้รับการศึกษาทุกคน แต่จะเรียนเป็นภาษามลายู เพราะถือว่าคนใดที่ไม่รู้จักหนังสือศาสนาของตน ย่อมได้รับการตำหนิติเตียน  การเรียนการสอนในโรงเรียนของบุคคล หรือโรงเรียนเอกชนในบริเวณนี้ ก่อนที่จะมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร พ.ศ.๒๔๖๑ และพระราชบัญญิตประถมศึกษา พ.ศ.๒๔๖๔  ผู้อำนวยการเฉลี่ยตำบลละสองแห่ง และมีรวมทั้งสิ้น ๔๗๙ แห่ง เป็นการเรียนการสอนด้านศาสนาเพียงอย่างเดียว ไม่มีหลักสูตรแน่นอน แล้วแต่ความพอใจและความถนัดของโต๊ะครู ไม่มีระบบการวัดผล และการเลื่อนชั้นส่วนใหญ่เมื่อเรียนจบตำราเล่มหนึ่งก็เรียนตำราเล่มอื่น ๆ ต่อไป  เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการอ่านอัลกุรอ่าน เพื่อให้อ่านได้ถูกต้อง เข้าใจบัญญัติของศาสนา และนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้  ส่วนใหญ่เรียนในเวลากลางคืนตามหมู่บ้านทั่ว ๆ ไป
            ในปี พ.ศ.๒๔๔๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ มีพระบรมราโชบายที่จะขยายการศึกษาไปสู่หัวเมือง โดยทรงวางจุดหมายของการศึกษาไว้อย่างกว้าง ๆ สองประการคือ เพื่อให้มีความประพฤติชอบ และเพื่อให้ประกอบอาชีพในทางที่ชอบ ปรากฎว่าการจัดการตั้งโรงเรียนสำหรับสอนภาษาไทยสมัยนั้นจนถึง พ.ศ.๒๔๔๘ ไม่ประสบผลสำเร็จ มีการจัดตั้งแล้วต้องยกเลิกไปหลายครั้งในบางพื้นที่ เพราะไม่มีผู้สนใจและขาดแคลนครูผู้สอน
            ในจังหวัดนราธิวาส เริ่มมีการเรียนการสอนภาษาไทยครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๕ โดยจัดตั้งโรงเรียนชั้นมูลจำนวนหนึ่งแห่งที่บ้านบุกิตตาหยง (อยู่ในอำเภอเจาะไอร้องในปัจจุบัน) และจัดให้มีการสอนภาษาไทยในสุเหร่า จำนวนสองแห่งคือโรงเรียนอำเภอโต๊ะโม๊ะ (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอภูเขาทอง อำเภอสุคิริน) และโรงเรียนบางนรา (อยู่ที่มัสยิดประจำจังหวัดนราธิวาสปัจจุบัน) แต่การศึกษาในระยะแรก ๆ ไม่ได้ผล เนื่องจากชาวบ้านไม่นิยมส่งบุตรหลานเข้าเรียน ชาวบ้านไม่ต้อนรับครูที่นับถือศาสนาพุทธซึ่งสอนภาษาไทยในโรงเรียนสุเหร่า จึงหลีกเลี่ยงไม่ยอมเข้าเรียน เพราะเกรงว่าเด็กที่เข้ามาเรียนจะกลายเป็นไทยไป
            การศึกษาภาษาไทยในจังหวัดนราธิวาสจึงพัฒนาอย่างช้า ๆ จนถึงปี พ.ศ.๒๔๖๕ จึงมีโรงเรียนสอนภาษาไทยทุกอำเภอ มีการเกณฑ์เด็กให้เข้าเรียนอย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นผลส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความวุ่นวาย มีการก่อกบฎในปี พ.ศ.๒๔๖๕ ของมณฑลปัตตานี ทำให้ต้องมีการผ่อนผันการเกณฑ์เด็กเข้าเรียนตามพระราชบัญญัติประถมศึกษา การพัฒนาการศึกษาในบริเวณนี้จึงชะงักไปอีกระยะหนึ่ง
            โรงเรียนราษฎร์ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ.๒๔๖๑ ในจังหวัดนราธิวาสสมัยนั้นเป็นแห่งแรกคือ โรงเรียนเพ่งมิ้น ตั้งอยู่ในเขตตำบลบางนรา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๒
            การเร่งรัดการศึกษาภาษาไทยในจังหวัดนราธิวาสเริ่มอีกครั้งภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕ และมาปรากฎเป็นรูปธรรมอย่างจริงจังเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๐ โดยกำหนดให้กำนัน ผู้เใหญ่บ้าน จัดตั้งโรงเรียนประชาบาลให้ครบทุกตำบล และในปีนี้เอง กระทรวงศึกษาธิการได้รายงานสถิติผู้ไม่รู้หนังสือ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนี้
                - จังหวัดนราธิวาส มีผู้ไม่รู้หนังสือร้อยละ ๘๘.๒๐
                -  จังหวัดปัตตานี  มีผู้ไม่รู้หนังสือร้อยละ ๘๑.๖๐
                - จังหวัดยะลา มีผู้ไม่รู้หนังสือร้อยละ ๗๗.๐๐
                - เฉลี่ยทั่วประเทศ มีผู้ไม่รู้หนังสือร้อยละ ๕๙.๙๐
            กระทรวงศึกษาธิการได้ทบทวนการเรียนการสอนภาษามลายู ที่สอนควบคู่กับภาษาไทยอีกครั้ง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๔ และได้มีคำสั่งให้ยกเลิกการเรียนภาษามลายู ในโรงเรียนประชาบาลที่จัดตั้งขึ้นใหม่จนครบทุกหมู่บ้าน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เว้นแต่โรงเรียนที่เคยมีครูสอนภาษามลายูอยู่เดิม อนุญาตให้สอนภาษามลายูในชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ได้ เนื่องจากครูที่เคยสอนภาษามลายูเหล่านี้ ไม่มีพื้นความรู้ทางภาษาไทยเพียงพอ ที่จะใช้สอนภาษาไทยได้ และมายกเลิกเมื่อมีการใช้แผนการศึกษาชาติ พ.ศ.๒๕๐๓ ซึ่งสอดคล้องกับพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระราชทาน ณ คุรุสัมมมาคาร จังหวัดยะลา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑ มีใจความว่า
                "การศึกษาที่นี่สำคัญมาก ให่พยายามจัดให้ดีให้พลเมืองสามารถพูดภาษาไทยได้ แม้จะพูดได้ไม่มากนัก เพียงพอรู้เรื่องวกันก็ยังดี เพราะเท่าที่ผ่านมาคราวนี้ มีผู้ไม่รู้ภาษาไทย ต้องใช้ล่ามแปล ควรพูดให้เข้าใจกันได้ เพื่อสะดวกในการติดต่อซึ่งกันและกัน"
            ได้มีความพยายามได้ทุกระดับเพื่อเร่งรัดพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างจริงจังขึ้น จากสถิติผู้ไม่รู้หนังสือในปี พ.ศ.๒๕๐๓ และ พ.ศ.๒๕๑๓ มีดังนี้
                - จังหวัดนราธิวาส ปีพ.ศ.๒๕๐๓  มีอยู่ร้อยละ ๗๐.๖   พ.ศ.๒๕๑๓ มีอยู่ร้อยละ ๕๓.๑
                - จังหวัดปัตตานี ปี พ.ศ.๒๕๐๓  มีอยู่ร้อยละ ๖๘.๕  พ.ศ.๒๕๑๓  มีอยู่ร้อยละ ๕๐.๘
                - จังหวัดยะลา ปีพ.ศ.๒๕๐๓  มีอยู่ร้อยละ ๖๒.๐   พ.ศ.๒๕๑๓ มีอยู่ร้อยละ ๔๔.๐
                - ทั่วประเทศ ปีพ.ศ.๒๕๐๓  มีอยู่ร้อยละ ๒๙.๒   พ.ศ.๒๕๑๓ มีอยู่ร้อยละ ๑๘.๒
            นักเรียนในชั้นประถมศึกษา จะเป็นไทยอิสลามมากกว่าไทยพุทธ แต่เมื่อมาถึงชั้นมัธยมศึกษากลับเป็นไทยพุทธมากกว่าไทยอิสลามหลายเท่า
            ทางราชการได้เร่งพัฒนาการศึกษาในพื้นที่นี้อย่างเร่งด่วน มีการเปิดขยายโรงเรียนประถมศึกษาทุกหมู่บ้านที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ในปี พ.ศ.๒๕๔๒ มีโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติในจังหวัดนราธิวาส ๒๕๕ แห่ง โรงเรียนอนุบาลถึงมัธยมศึกษา ๕๔ แห่ง
            ทางราชการได้นำแนวคิดให้โรงเรียนบุคคล (ปอเนาะ) สอนศาสนาคู่กับการสอนภาษาไทยอีกครั้ง โดยในปี พ.ศ.๒๕๐๔ ได้ประกาศใช้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการปรับปรุงอุดหนุนปอเนาะ ในภาคศึกษา ๒ วางแนวทางปรับปรุงอาคารสถานที่ และมีอาคารเรียนเป็นเอกเทศ พยายามปรับให้เป็นโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามโดยรัฐให้เงินอุดหนุน ส่วนปอเนาะใดไม่สามารถดำเนินการปรับปรุงได้ตามแนววดังกล่าวได้ก็ให้ล้มเลิกไป
            จากการสำรวจเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๙ พบว่า ปอเนาะที่ทำการปรับปรุง และได้ทำการสอนศาสนาอิสลาม และวิชาสามัญควบคู่กันอย่างได้ผล โดยได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐในจังหวัดนราธิวาส มีจำนวน ๘๔ แห่งบางโรงเรียนได้พัฒนาขึ้นตามลำดับจนขยายถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย บางโรงเรียนไม่สามารถพัฒนาตนเองได้ก็ต้องล้มเลิกไปในที่สุด
            จากการสำรวจเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๒ พบว่าโรงเรียนดังกล่าวมีจำนวน ๕๘ แห่ง แยกเป็นโฌรงเรียนที่สอนศาสนาอย่างเดียว ๑๗ แห่ง
            ส่วนโรงเรียนที่สังกัดกรมสามัญศึกษาได้เปิดขยายครบทุกอำเภอที่ไม่มีโรงเรียนราษฎร์ ที่เปิดสอนในระดับเดียวกันในปี พ.ศ.๒๕๔๑ มีโรงเรียนที่เปิดสอนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน ๑๕ แห่ง
            สำหรับโรงเรียนราษฎร์มีการขยายตัวในอัตราที่ช้า พบว่ามีโรงเรียนราษฎร์ทั้งสิ้น ๑๙ แห่ง
           จำนวนสถานศึกษา  ปัจจุบันมีสถานศึกษา รวมทั้งหมด ๔๘๘ แห่ง (ไม่รวมแหล่งวิชาการนอกระบบ) สังกัด สปช. ๒๕๕ แห่ง สังกัด สศ. ๑๘ แห่ง สังกัด สช. ๘๒ แห่ง สังกัด กศป. ๑๕ แห่ง สังกัดเทศบาล ๑๐ แห่ง
           จำนวนนักศึกษาก่อนประถมศึกษา ๓๑,๒๐๐ คน ระดับประถมศึกษา ๘๘,๒๐๐ คน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ๑๗,๓๐๐ คน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ ปวช. ๙,๔๐๐ คน ระดับอุดมศึกษา (ปวส.) ๙๐๐ คน ระดับอุดมศึกษา (วิทยาลัยพยาบาล) ๔๐๐ คน รวม ๑๔๗,๗๐๐ คน
                - นอกระบบ  หลักสูตรการจัดการศึกษาสายสามัญ ๑๗,๑๐๐ คน

| หน้าต่อไป | บน |