| ย้อนกลับ | |
| พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา | |
วัดเขากง
วัดเขากงเป็นวัเก่าแก่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๒๑ วัดนี้ต่อมาได้กลายเป็นวัดร้างอยู่ระยะหนึ่งจนถึงปี
พ.ศ.๒๔๙๔ จึงได้มีพระภิกษุมาจำพรรษาอีกครั้งหนึ่ง และกระทรวงศึกษาธิการได้ยกฐานะเป็นวัดที่มีพระสงฆ์
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗ ตั้งอยู่ในเขตตำบลลำภู อำเภอเมือง ฯ
อุโบสถสร้างขึ้นตามแบบของกรมการศาสนา เป็นแบบทรงไทยสมัยใหม่ สร้างเสร็จเมื่อปี
พ.ศ.๒๕๒๓ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จมาทรงตัดลูกนิมิต
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๖
พระพุทธทักษิณมิ่งมงคล
โครงการก่อสร้างพระพุทธทักษิณมิ่งมงคล และการปรับปรุงบริเวณเขากง ถือกำเนิดมาจากคำปรารภของคณะสงฆ์
กับทางจังหวัดนราธิวาส และจังหวัดอื่น ๆ ทางภาคใต้ว่า ณ บริเวณเขากงแห่งนี้เคยเป็นสถานที่ของพระพุทธศาสนามาแต่โบราณ
ปรากฎหลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดพบคือ บนเนินเขาที่ประดิษฐาน พระพุทธทักษิณมิ่งมงคล
มีซากเจดีย์อยู่สามองค์ ปรักหักพังเหลืออยู่เพียงฐานเจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส
ประกอบบัวคว่ำบัวหงาย จากเศษบัวและส่วนประกอบของเจดีย์ที่ขุดพบในบริเวณนี้
แสดงว่าฐานตอนบนขึ้นไปเป็นฐานย่อมุมไม้สิบสอง กับมีอิฐโค้งขนาดต่าง ๆ กัน
ทำลดหลั่นขึ้นไปสู่เจดีย์ประธานตรงกลาง เมื่อประกอบส่วนต่าง ๆ ของเจดีย์เข้าที่แล้วจะเป็นเจดีย์แบบห้ายอด
นอกจากนี้ยังพบเศียรพระพุทธรูป และเศียรพระโพธิสัตว์ฝ่ายมหายาน ภาพปั้นปูนและลวดลายรอบฐานเจดีย์อีกเป็นจำนวนมาก
แสดงว่าเป็นเจดีย์ในฝ่ายมนตรยาน พระพุทธศาสนาที่สี่ตอนปลาย ระหว่างประมาณปี
พ.ศ.๑๗๐๐ - ๑๘๐๐
การสร้างพระพุทธรูปใหญ่บนยอดเนินเขาสูงสุดในบริเวณเขากง เพื่อให้เป็นพระพุทธรูปประจำภาคใต้รวม
๑๔ จังหวัด ให้มีพระพุทธลักษณะตามอิทธิพล ของสกุลศิลปะอินเดียใต้โจฬะรุ่นหลัง
ที่แผ่อิทธิพลมาในระยะเดียวกับสกุลศิลปะเสนา แห่งอินเดียเหนือ ตลอดพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย
และตลอดไปจนสุดแหลมมลายู ในเขตประเทศมาเลเซียปัจจุบัน
พระพุทธรูปสกุลนี้พบมากที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เรียกกันว่า พระพุทธรูปแบบนครศรีธรรมราช
หรือเรียกกันแบบสามัญว่า
พระพุทธรูปแบบขนมต้ม
มีพุทธลักษณะพิเศษจากความบันดาลใจของศิลปินที่เน้นหนักให้พระวรกายล่ำสันทุกส่วน
ผิดกับแบบอื่นๆ สังฆาฏิจัดกลีบแผ่กว้างเต็มพระอังสาเบื้องซ้าย และชายจีวรใต้พระเพลา
ทำเป็นริ้วให้ความรู้สึกทางการตกแต่งสวยงามกว่าแบบอื่นอย่างเห็นได้ชัด พระพุทธรูปสกุลนี้
ชาวใต้นิยมสร้างกันระหว่างประมาณปี พ.ศ.๑๗๐๐ - ๑๘๐๐ มีปรากฏอยู่ตามซากเมืองเก่าต่าง
ๆ ของภาคใต้
พระพุทธทักษิณมิ่งมงคลเป็นพระพุทธปางปฐมเทศนา ก่อด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ประดับด้วยโมเสคสีทอง
หันพระพักตร์ไปทางด้านทิศตะวันออกสู่อ่าวไทย
วัดชลธาราสิงเห
วัดชลธาราสิงเห บางคนเรียกว่าวัดเจ๊ะเห ตั้งอยู่ในเขตตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ
สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๓ เดิมชื่อวัดท่าพรุ
มีรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยท้องถิ่น
ที่มีเอกลักษณ์มาช้านาน รูปแบบดังกล่าวได้กลายเป็นต้นแบบของสถาปัตยกรรมท้องถิ่นในระยะหลัง
ประกอบด้วยอาคารหลัก ๆ หลายหลัง ได้แก่ อุโบสถ หอระฆัง ศาลาวัด เจดีย์ กุฏิ
อุโบสถ
ลักษณะการก่อสร้างเป็นแบบสถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ หลังคาเป็นอาคารไม้ทรงไทย
ผนังก่ออิฐถิอปูนขนาดห้าห้อง รวมมุขด้านหน้าเป็นหกห้อง หลังคาทรงจั่วมีชั้นลดด้านหน้าและด้านหลังด้านละสองชั้น
หลังคาปีกนก ประกอบด้วยช่อฟ้าใบระกา และหางหงส์ มีเสาฝังด้านในผนังด้านละสามด้าน
รอบตัวอุโบสถมีเสารายรอบนอกรับเชิงชายปีกนก จำนวน ๒๒ ต้น การก่อฝาผนังมีลักษณะรอม
(งุ้ม) ปลาย มีประตูเข้าด้านหน้าสามประตู ประตูด้านข้างสองประตู
หน้าต่างข้างด้านละสี่ช่อง บนประตูบนหน้าต่าง ปั้นกนก ลวดลายซุ้มทรงมงกุฎ
เพดานมีขื่อรับความยาวของอุโบสถสองต้นขวางสามต้น
กุฏิเจ้าอาวาส ตั้งอยู่บริเวณกลางวัด เป็นกุฏิขนาดใหญ่ สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๖๓ เป็นอาคารไม้ หลังคาซ้อนกัน ๓ ชั้น มีมุขทรงไทยยื่นออกมาข้างหน้า พื้นไม้ยกสูงและลดเป็นชั้น ๆ มีระเบียงด้านข้าง มีมุขด้านหน้าโล่งไม่มีหลังคา พื้นลาดซีเมนต์ มีประตูทางขึ้นด้านมุขทรงไทย มีซุ้มประตูทรงมงกุฎข้างละหนึ่งซุ้ม บริเวณด้านบนหน้าต่าง และฝาผนังกั้นห้องประดิษฐ์เป็นรูปทรงมงกุฎโดยรอบ เชิงชายด้านนอกประดับด้วยลายฉลุไม้ลวดลายต่าง ๆ
จิตรกรรมฝาผนัง
เป็นจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถทั้งสามด้าน (ยกเว้นด้านหลังพระประธาน) ที่เสาและที่เพดาน
มีอายุอยู่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ลักษณะจิตรกรรม เขียนด้วยสีฝุ่น เขียนสีตัดกันแรงกล้า สภาพยังสมบูรณ์ดี เป็นภาพพุทธประวัติ
มีพื้นที่เขียนภาพประมาณ ๑๙๐ ตารางเมตร
การลำดับภาพเริ่มจากมุมด้านทิศใต้มาทางทิศตะวันออก โดยแบ่งฝาผนังเป็นแนวตั้งสี่ช่องเสา
ในแต่ละช่องเสาแบ่งออกเป็น ๓ ช่วงคือ ช่วงบน ช่วงกลางและช่วงล่าง นับว่าเป็นการแบ่งพื้นที่แปลกออกไปจากจิตรกรรมที่อื่น
ๆ ตอนบนสุดเป็นวิทยาธร ต่อเป็นเทพชุมนุมหนึ่งชั้นนั่งประนมหัตถ์ถือดอกไม้
ถัดลงมาเป็นช่องสี่เหลี่ยมซ้อนกันสองชั้น เป็นภาพพุทธประวัติเริ่มตั้งแต่ตอนลาพระนางยโสธรา
และพระราหุล แล้วเรียงเรื่องลำดับโดยพิสดารจนถึงตอนประทับรอยพระพุทธบาท พื้นที่ระหว่างช่องหน้าต่าง
เป็นพื้นที่ปูนร่างเสาแต่ละต้นเขียนลวดลายอย่างงดงามตลอดต้น ด้านหน้าพระประธานมีภาพพระพุทธเจ้าตอนเสด็จลงจากดาวดึงส์
เป็นภาพขนาด
ใหญ่
ผนังด้านล่างเป็นพื้นที่ว่าง มีแต่ภาพมณฑปเหนือเศียรพระพุทธรูป เพดานเขียนลวดลายบนพื้นแดง
พระพุทธไสยาสน์
สันนิษฐานว่า สร้างก่อนสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา เป็นพระปูนติดกระเบื้องทอง
มีความยาวจากยอดพระเศียรถึงฝ่าพระพุทธบาท ยาวประมาณ ๘ เมตรเศษ
หอพระนารายณ์
ตั้งอยู่ในวัดชลธาราสิงเห เป็นสิ่งก่อสร้างพื้นเมือง ก่ออิฐถือปูน โครงสร้างฐานเป็นสี่เหลี่ยม
มีมุขทรงไทยยื่นออกมาด้านหน้า หลังคามุงกระเบื้องดินเผาซ้อนกัน ๔ ชั้น คล้ายยอดมงกุฎ
ส่วนยอดหลังคาทำเป็นปล้องไฉน ประดับด้วยบัวกลุ่มจนถึงปลียอด
วัดราษฎร์สโมสร
วัดราษฎร์สโมสรตั้งอยู่ในเขตอำเภอรือเสาะ มีพระพุทธรูปปางสมาธิองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่
พระพุทธรูปองค์นี้ เคยเป็นพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดนราธิวาส ก่อนที่จะสร้างพระพุทธทักษิณมิ่งมงคล
วัดพระพุทธ
วัดพระพุทธตั้งอยู่ในเขตตำบลพร่อน อำเภอตากใบ
ศาลาการเปรียญ
ตั้งอยู่กลางบริเวณวัด เป็นศาลาการเปรียญขนาดกลาง รูปสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างยาวด้านละ
๗.๕๐ เมตร โครงสร้างเป็นอาคารไม้ หลังคาแบบจตุรมุขย่อมุมไม้สิบสอง มีรูปครุฑประดับที่หน้ามุขทั้งสี่ด้าน
พื้นส่วนหนึ่งเป็นพื้นไม้ยกสูงประมาณ ๑ เมตร ด้านหน้าเป็นพื้นซีเมนต์
พระพุทธรูป
ชาวบ้านเรียกพ่อท่านพระพุทธ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่กุฏิหลังเก่าของวัด เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่
สร้างด้วยไม้
ราชพฤกษ์
ขนาดหน้าตักกว้างประมาณสองฟุต ไม่ปรากฏว่าสร้างในสมัยใด เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์
เป็นที่เคารพบูชาของชาวพุทธ
ทั่วไป
พระพุทธไสยาสน์
สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๙๕ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ประดิษฐานอยู่ภายในบริเวณริมสระน้ำทางทิศตะวันตกใกล้กับเจดีย์
หันพระพักตร์ไปทางด้านทิศตะวันตก หันพระเศียรไปทางทิศเหนือ องค์พระยาวประมาณ
๗ เมตรเศษ
| ย้อนกลับ | บน | |