|
ย้อนกลับ
|
หน้าต่อไป
|
|
พัฒนาการทางประวัติศาสตร์
|
มรดกทางธรรมชาติ
|
มรดกทางวัฒนธรรม
|
มรดกทางพระพุทธศาสนา
|
ประเพณีของชาวไทยพุทธ
ชาวไทยพุทธในจังหวัดนราธิวาส มีประเพณีเช่นเดียวกับชาวไทยพุทธในจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้ของไทย
-
ประเพณีชิงเปรต
เป็นประเพณีเนื่องในเทศกาลวันสารท เดือนสิบของชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธ จัดทำในวัดทุกวัดในวันแรม ๑๔ หรือ ๑๕ ค่ำ เดือนสิบ โดยทำร้านจัดสำรับอาหารคาวหวานไปวางอุทิศส่วนกุศลให้เปรตชน (ปู่ ย่า ตา ยาย และบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว) ร้านที่วางอาหารเรียกว่า ร้านเปรต ซึ่งสร้างไว้กลางวัด ยกเสาสูง มีสี่เสาบ้าง เสาเดียวบ้าง ปัจจุบันวัดส่วนใหญ่นิยมทำร้านเปรตสองร้าน โดยแบ่งออกเป็นร้านเสาสูงสำหรับคนหนุ่ม อีกร้านเป็นเสาเตี้ยสำหรับผู้หญิงและเด็ก ได้แย่งชิงกันเพื่อความสนุกสนาน บนร้านเปรตจะมีสายสิญจ์วงไว้รอบและต่อยาวไปถึงที่พระสงฆ์นั่งทำพิธีกรรม เมื่อทำพิธีเสร็จแล้ว จะมีผู้ตีระฆังให้สัญญาณ บรรดาผู้มาร่วมทำบุญก็จะเข้าไปรุมแย่งอาหารสิ่งของ อาหารคาวหวาน ที่อยู่บนร้านเปรตอย่างสนุกสนาน ซึ่งเรียกว่า การ
ชิงเปรต
เมื่อเสร็จจากการชิงเปรต ก็จะจัดอาหารถวายเพลแก่พระภิกษุสงฆ์ทุกรูปที่อยู่ในวัด ต่อจากนั้นผู้มาร่วมงานทุกคนก็จะกินอาหารร่วมกัน
ประเพณีชิงเปรตของชาวนราธิวาส แต่เดิมทำกันเต็มรูปแบบ มีการแต่งกายเป็นเปรต มีการสร้างร้านเปรตแบบเสาเดียวสูง โดยใช้ไม้หลาโอน ปลอกเปลือกให้ลื่น แล้วเพิ่มความลื่นโดยใช้น้ำมันที่ได้จากเปลือกบ้าง ไขมันสัตว์บ้าง ทาเสาตั้งแต่โคนถึงปลาย เสาสูงประมาณ ๑๐ - ๑๕ เมตร ทำให้ปีนป่ายได้ยาก บางครั้งต้องใช้เวลาเป็นค่อนวันกว่าจะปีนเสาได้สำเร็จ แต่ของที่ได้บนร้านก็คุ้มค่าเหนื่อย
-
ประเพณีบังกุลบัว
คือการทำบุญระลึกถึงญาติที่ล่วงลับไปแล้ว และนำกระดูกมาบรรจุไว้ในบัว (ที่บรรจุอัฐิ) ประจำหมู่บ้านในแต่ละวัดหรือบัวประจำตระกูล พิธีนี้มีขึ้นระหว่างเดือนห้าของทุกปี ถือเป็นงานชุมนุมญาติของแต่ละหมู่บ้าน ตำบล คือพอถึงวันบังกุลบัว บรรดาญาติพี่น้องลูกหลาน ที่ไปประกอบอาชีพอยู่ต่างถิ่น จะพร้อมใจกันกลับบ้านเพื่อทำบุญในวันนี้ ในวันนี้จะมีการทำความสะอาดตกแต่งบัว บางทีจึงเรียกว่า
ทำบุญรดน้ำบัว
งานบังกุลบัว เริ่มตั้งแต่วันแรมค่ำ เดือนห้า เป็นต้นไป โดยทำวัดละวันไปจนกว่าจะครบทุกวัด ในแต่ละอำเภอ บางวันก็มีการทำบุญรดน้ำบัวพร้อมกันหลายวัด ตามที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะของแต่ละวัด ซึ่งแน่นอนเป็นประจำทุกปี
งานพิธีบังกุลบัวของวัดใด ชาวบ้านในละแวกนั้นก็จะเป็นเจ้าภาพนิมนต์พระภิกษุสงฆ์จากวัดต่าง ๆในละแวกใกล้เคียงกันมาร่วมงานบุญ ตลอดจนพระภิกษุที่อยู่ที่อื่น แต่มีญาติโยมอยู่ในหมู่บ้านนั้น ๆ ก็จะกลับมาโดยไม้ต้องมีฎีกานิมนต์
พิธีเริ่มตั้งแต่นำอาหารไปถวายพระสงฆ์เช้าก่อน พอพระสงฆ์ฉันเช้าเสร็จ ก็จะแยกย้ายกันกลับไปเตรียมอาหารเพล ซึ่งต้องจัดอย่างพิเศษคือ ต้องมีอาหารคาวหวานครบ ๗ อย่าง เรียกว่า
ครบพอก
แต่ละครอบครัวจะนำอาหารมาครอบครัวละพอก (ใส่ถาดหนึ่งชุด) มาชุมนุมกันที่วัดพร้อมด้วยหมาก มะพร้าวและแตงโม โดยจะนำผลไม้ไปกองรวมกันที่หน้าบัวเพื่อแบ่งถวายพระภิกษุแต่ละรูป ที่นิมนต์มาในงาน ส่วนหนึ่งจะเก็บไว้ ผลไม้ที่นำมาถวายพระภิกษุต้องผูกด้วยด้ายขาวเรียกว่า
เครื่องทาน
ยกเว้นแตงโม ที่นำมาผ่าถวายพระภิกษุทันที ไม่ต้องผูกด้ายขาว
อาหารที่เตรียมมา จะรวมกันเป็นพวก ๆ ในหมู่เครือญาติและเพื่อนสนิท แล้วนำไปถวายพระ โดยแบ่งกันตามสังฆการี (สังหรี) ในช่วงนี้บางคนจะไปรดน้ำบัว ทั้งที่เป็นบัวรวม และบัวประจำตระกูล พระภิกษุรูปใดจะได้ฉันอาหารของชาวบ้านกลุ่มใดนั้น จะใช้วิธีจับฉลากคล้ายทำสลากภัต เมื่อเสร็จพิธีสงฆ์ พระฉันอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ละกลุ่มก็จะรับพวกของตนมากินอาหารร่วมกันในหมู่เครือญาติและเพื่อนสนิท หลังจากนั้นก็จะเริ่มพิธีสรงน้ำพระและรดน้ำผู้สูงอายุ การรดน้ำจะเริ่มโดยการสรงน้ำพระพุทธรูป สรงน้ำพระภิกษุเจ้าอาวาส แล้วถึงพิธีรดน้ำปู่ ย่า ตา ยาย บางทีก็เรียกพิธีนี้ว่า
ผลัดน้ำคนแก่
หรือ
อาบน้ำคนแก่
ในช่วงนี้บางคนที่ไปอยู่ต่างถิ่นและได้มีโอกาสกลับมาบ้าน ก็จะถือโอกาสไปเยี่ยมญาติ มีการเตรียมอาหารไว้รับรอง ถ้ามีคนมากก็ตั้งวงดื่มกินกันเป็นวงใหญ่อย่างสนุกสนาน มีการชนวัว ตีไก่ หรือเปิดบ่อนการพนันชั่วคราว
-
ประเพณีลาซัง
เป็นประเพณีของชาวพุทธในจังหวัดนราธิวาสแถวอำเภอตากใบเรียกว่า ลัมซัง สาเหตุที่เกิดประเพณีนี้สืบเนื่องมาจากความเชื่อเรื่องที่นา เรื่องแม่โพสพ โดยเชื่อว่าถ้าทำพิธีนี้แล้วจะทำให้ข้าวในนาปีต่อไปงอกงาม ให้ผลผลิตสูง
หลังจากที่เก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว ผู้นำชุมชนก็จะกำหนดวันลาซัง พร้อมกับนิมนต์พระภิกษุจากกวัดใกล้ ๆ ๓ - ๕ รูป และจะบอกต่อๆ กันไปในหมู่บ้านว่าจะทำพิธีในวันใด
ก่อนวันลาซัง ต้องเตรียมการทำขนมจีน ตามประเพณีเดิมขนมจีนต้องทำเองมีจำนวนค่อนข้างมากเพื่อถวายพระสงฆ์ และแบ่งปันกันกินในหมู่ผู้ที่มาร่วมงาน
ในวันงานชาวบ้านจะไปชุมชุมกัน ณ สถานที่จัดงานส่วนใหญ่มักจะเป็นศาลากลางทุ่งนา มีการตกแต่งทำความสะอาด และจัดเตรียมลานกว้างกลางทุ่งนา เพื่อใช้จัดกิจกรรมหลังจากเสร็จพิธี จากนั้นชาวบ้านจะนำขนมจีนมาเลี้ยงพระ เมื่อพระฉันเสร็จผู้ร่วมงานก็จะกินขนมจีนร่วมกัน ในภาคบ่ายจะมีกิจกรรมการละเล่นต่าง ๆ เป็นที่สนุกสนาน เช่น ชักคะเย่อ แย้ลงรู ชนวัว ตีไก่ เล่นไพ่ เล่นลูกกอเจาะ (ลูกเต๋า) เล่นโป
งานประเพณีลาซัง ของอำเภอตากใบ ในบางตำบล บางหมู่บ้าน เช่น ตำบลพร่อน ตำบลเกาะสะท้อน และตำบลโฆษิต จะจัดเป็นแบบงานเทศกาลประจำปี มีภาพยนตร์ (หนังตะลุง) และการแสดงอื่น ๆ ตอนกลางคืนด้วย
-
ประเพณีลากพระหรือชักพระ
เป็นประเพณีเนื่องในพระพุทธศาสนา ทำพิธีหลังจากวันมหาปวารณาหรือวันออกพรรษาหนึ่งวัน ตรงกับวันแรมค่ำ เดือนสิบเอ็ด พุทธศาสนิกชนจะพร้อมใจกัน อัญเชิญพระพุทธรูปขึ้น ประดิษฐานบนบุษบก ที่วางอยู่เหนือรถ หรือล้อเลื่อน แล้วแห่แหนชักลากไปตามถนน ไปรวมกัน ณ จุดที่นัดหมาย อาจเป็นวัดใดวัดหนึ่งหรือสถานที่ที่กำหนดไว้ เช่น ในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส ก็จะชักลากไปยังหาดนราทัศน์ อำเภอตากใบ ไปที่ศูนย์วัฒนธรรม อำเภอระแงะ ไปรวมกันที่วัชรอุทยาน
รถหรือล้อเลื่อนที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ชาวบ้านเรียกว่า
เรือพระ
ปกติจะตบแต่งเป็นรูปเรือ ใช้คนลากโดยเชือกลากเป็นสองสาย บนเรือพระจะมีคนตีโทน เพื่อปลุกใจให้ชาวบ้านมาร่วมพิธี เมื่อเรือพระไปถึงจุดหมาย ชาวบ้านจะนำอาหารมาถวายพระสงฆ์ที่มาพร้อมเรือพระ หรือพระสงฆ์ที่ชาวบ้านนิมนต์มาเพื่อร่วมงานลากพระ เมื่อพระฉันเสร็จแล้วชาวบ้านก็จะร่วมกันกินอาหาร แล้วเริ่มกิจกรรมเพื่อความสนุกสนาน ได้แก่ การประกวดเรือพระ การแข่งขันตีโพน หรือกลองใหญ่ แข่งขันซัดต้ม แข่งขันกีฬาพื้นบ้าน พอสมควรแก่เวลา พอตกเย็น ๆ ลากเรือพระวัดของตน แยกย้ายกันกลับวัด
-
ประเพณีกินวาน
หมายถึง การไหว้วานให้เพื่อนบ้านมาช่วยลงแรงทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยที่ผู้ร่วมแรงไม่คิดค่าแรง งานบางอย่างอาจผลัดเปลี่ยนช่วยกันทำเป็นบ้าน ๆ อย่างที่ทางภาคกลางเรียกการ
ลงแขก
แต่งานกินวานบางอย่างอาจไม่มีโอกาสที่จะผลัดเปลี่ยนกัน การไหว้วานใช้วิธีบอกกล่าวกันด้วยวาจา ผู้ไหว้วานอาจจะไปบอกด้วยตนเอง หรือมอบหมายให้คนอื่นบอกแทนก็ได้ เรียกว่า
ออกปาก
และถือเป็นประเพณีที่เจ้าภาพจะต้องเลี้ยงอาหารผู้มาร่วมลงเรง จึงมักใช้คำว่า ไปกินวาน
ในจังหวัดนราธิวาสส่วนใหญ่เป็นการวานสำหรับการทำไร่ทำนา หามเรือน ลากเรือ เคลื่อนย้ายบ้าน ฯลฯ การออกปากกินวานมักจะออกปากโดยไม่ได้ระบุตัวบุคคล แต่จะออกปากเป็นบ้าน (ครอบครัว) แล้วแต่หัวหน้าครอบครัวจะกำหนดให้ใครไปกินวาน โดยดูจากลักษณะของงานถ้าเป็นงานเบา ๆ เช่น เก็บข้าวดำนาก็จะให้ผู้หญิงไป ถ้าเป็นงานหนัก เช่น ไถนา หามเรือน รื้อย้ายก็จะให้ผู้ชายไป ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ไปกินวาน เมื่อไปถึงที่กินวานก็ต้องไปบอกเจ้าภาพว่าคนในบ้านนี้มาแล้ว
อาหารที่จัดเลี้ยงแขกที่มากินวาน ถ้าเป็นงานที่ต้องทำตลอดวัน ต้องเลี้ยงอาหารหนักทั้งคาวหวานและเครื่องดื่ม อาหารหวานที่นิยมจัดเลี้ยงคือลอดช่อง (บัวลอย) ถั่วเขียว
-
ประเพณีการบวชพระ
ชาวไทยพุทธเมื่ออายุ ๒๐ ปี บริบูรณ์ แล้วจะบวชเป็นพระภิกษุ ถ้ายังอายุไม่ถึง ๒๐ ปี ก็บวชเป็นสามเณร การที่บุตรหลานได้บวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาถือเป็นงานบุญที่สำคัญ ในชนบทจะมีการจัดพิธีใหญ่โต มีการเลี้ยง มีมหรสพ การแสดงต่าง ๆ มากมาย มีการแสดงตัวของผู้ที่จะออกบวชบนเวที แล้วกล่าวยกย่องมอบพวงมาลัยจนล้นคอเช่นเดียวกับนักแสดงที่มีชื่อเสียง ขบวนแห่นาคมีกลองยาว แตรวง และเครื่องดนตรีอื่น ๆ ที่มีในท้องถิ่นนั้น บางแห่งให้นาคนั่งลงบนหลังช้างก็มี เป็นงานแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของเจ้าภาพ
เมื่อขบวนแห่ไปถึงวัดแล้วก็มีการจัดทำพิธีทำขวัญนาคในศาลาวัด โดยวางเครื่อง
อัฐบริขาร
ที่มีแปดอย่างได้แก่ สบง จีวร สังฆาฎิ บาตร มีดโกน หรือมีดตัดเล็บ เข็ม ประคตเอวและกระบอกกรองน้ำ พาพิธีกรผู้ชำนาญมาเป็นผู้
ทำขวัญนาค
พรรณาถึงบุญคุณพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดมา การบวชเป็นพระภิกษุเป็นยอดแห่งความกตัญญู ให้พ่อแม่กาะชายผ้าเหลืองไปสู่นิพพานในโลกหน้าได้ อันเป็นความเชื่อของชาวพุทธ ที่ได้ปลูกฝังกันมาแต่โบราณ
เมื่อเสร็จพิธีแห่นาคและทำขวัญนาคแล้ว เจ้านาคก็จะเข้าโบสถ์รับศีล แล้วถวายตัวให้พระอุปัชฌาย์ทำการอุปสมบทให้ในอุโบสถของวัดนั้น ๆ คลองจีวรเป็นพระภกษุแล้วเป็นเสร็จพิธีสงฆ์ พ่อแม่เจ้าภาพก็จะมีการฉลองสมโภชพระในวันรุ่งขึ้น เลี้ยงแขกเหรื่อที่ใกล้ชิดเป็นการจบพิธีบวชพระโดยสังเขป
|
ย้อนกลับ
|
หน้าต่อไป
|
บน
|