| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์

            จังหวัดนราธิวาส เดิมมีฐานะเป็นอำเภอคือ อำเภอบางนรา ขึ้นอยู่กับเมืองสายบุรี ต่อมาได้โอนไปขึ้นกับเมืองระแงะ ดังนั้นประวัติความเป็นมาของนราธิวาส จะต้องกล่าวถึงเรื่องราวของเมืองปัตตานี เมืองสายบุรี และเมืองระแงะ
            ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลมหาราช พระองค์ได้มีรับสั่งให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ยกทัพหลวงมาปักษ์ใต้ เพื่อปราบปรามข้าศึกที่ยกเข้ามารุกรานพระราชอาณาเขตทางใต้ เมื่อปราบปรามข้าศึกได้ราบคาบแล้วจึงได้เสด็จไปประทับ ณ เมืองสงขลา แล้วมีรับสั่งไปยังหัวเมืองมลายูทั้งหลาย ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นกับกรุงศรีอยุธยามาแต่ก่อนให้มาอ่อนน้อมเหมือนเดิม
            พระยาไทรบุรีและพระยาตรังกานู ยอมอ่อนน้อมแต่โดยดี แต่พระยาปัตตานีได้ตั้งแข็งเมืองไม่ยอมมาอ่อนน้อม พระองค์จึงรับสั่งให้ยกกองทัพลงไปตีเมืองปัตตานี เมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๒ ตีได้เมืองปัตตานี
            เมื่อได้เมืองปัตตานีแล้วได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาสงขลา (บุญฮุย) อัญเชิญตราตั้งให้พระยาจะนะ (ขวัญช้าย) เป็นพระยาปัตตานี และให้อยู่ในความกำกับดูแลของเมืองสงขลา
            เมื่อพระยาปัตตานี (ขวัญช้าย) ถึงแก่กรรม ได้โปรดเกล้า ฯ ใให้นายพ่ายน้องชายพระยาปัตตานี (ขวัญซ้าย) เป็นพระยาปัตตานี และแต่งตั้งให้นายยิ้มซ้าย บุตรพระยาปัตตานี (ขวัญซ้าย) เป็นหลวงสวัสดิภักดี ผู้ช่วยราชการเมืองปัตตานี และได้ย้ายที่ว่าการเมืองปัตตานีจากบ้านมะนา (อ่าวนาเกลือ) ไปตั้งที่บ้านยานู
            ในระหว่างนั้นพวกซาเหยดรัตนาวงศ์ และพวกโมเซฟได้คบคิดกันเข้าปล้นบ้านพระยาปัตตานี (พ่าย) และบ้านหลวงสวัสดิศักดิ์ (ยิ้มซ้าย) แต่ถูกตีถอยหนีไปหลบซ่อนตัวอยู่ที่ตำบลบ้านกะลาพอ เขตเมืองสายบุรี
            เนื่องจากเมืองปัตตานีมีอาณาเขตกว้างขวาง มีโจรผู้ร้ายปล้นบ้านเรือนราษฎรชุกชุม พระยาปัตตานี (พ่าย) จึงได้แจ้งข้อราชการไปยังเมืองสงขลา พระยาสขลา (เถี้ยนจ๋อง) ได้ออกมาปราบปรามและจัดแบ่งเมืองปัตตานีออกเป็นเจ็ดหัวเมือง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๕ แล้วทูลเกล้า ฯ ถวายรายชื่อเมืองที่แยกออกไปดังนี้คือ เมืองปัตตานี เมืองหนองจิก เมืองยะลา เมืองรามัน เมืองระแงะ เมืองสายบุรีและเมืองยะหริ่ง
            ต่อมาได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาอภัยสงครามกับพระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋อง) เป็นผู้เชิญตราตั้งออกไปพระราชทานแก่เจ้าเมืองทั้งเจ็ดหัวเมือง ดังนี้
                - ให้ตวนสุหลง          เป็น  พระยาปัตตานี
                - ให้ตวนหนิ            เป็น  พระยาหนองจิก
                - ให้ตวนยะลอ          เป็น  พระยายะลา
                - ให้ตวนหม่าโซ่        เป็น  พระยาสายบุรี
                - ให้นายพ่าย           เป็น  พระยะหริ่ง
            ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาปัตตานี (ตวนสุหรง) พระยาหนองจิก (ตวนกะจิ) พระยายะลา (ตวนบางกอก)  และพระยาระแงะ (หนิแงะ) ได้สมคบกันเป็นกบฎ โดยได้รวบรวมกำลังพลออกตีบ้านพระยายะหริ่ง (พ่าย) แล้วเลยออกไปตีเมืองเทพาและเมืองจะนะ พระยาสงขลา (เถี้ยนแส้ง) ทราบเรื่องจึงได้มีใบบอกไปยังกรุงเทพ ฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระพระยาเพชรบุรีเป็นแม่ทัพออกไปสมทบช่วยเมืองสงขลาออกทำการปราบปรามตั้งแต่เมืองจะนะ เมืองเทพา ไปถึงเมืองระแงะ พระยาระแงะ (หนิเดะ) หนีรอดไปได้
            ในระหว่างที่ทำการรบกันอยุ่นั้น หนิบอสู ชาวบ้านบางปูซึ่งพระยายะหริ่งแต่งตั้งให้เป็นกรรมการเมืองยะหริ่งได้เป็นกำลังสำคัญ จึงได้นับแต่งตั้งเป็นผู้รักษาราชการเมืองระแงะ และได้ย้ายที่ว่าราชการเมืองระแงะจากบ้านระแงะ ริมพรมแดนติดต่อกับเมืองกลันตันมาตั้ง ณ ตำบลบ้านตันหยงมัส (อำเภอระแงะปัจจุบัน)

            ต่อมาเมื่อพระยาระแงะ (หนิบอสู) ถึงแก่กรรมก็ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาคีรีรัตนพิศาล (ตวนโหมะ) บุตรพระยาระแงะ (หนิบอสู) ว่าราชการเมืองระแงะแทน มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาภูผาภักดิ์ ศรีสุวรรณปกระเทศวิเศษวังษา
            พ.ศ.๒๔๓๒  พระยาระแงะ (ตวนโหมะ)  ถึงแก่กรรม พระยาสุนทรานุรักษ์ (ชม) ผู้ช่วยราชการผู้รักษาว่าราชการเมืองสงขลา จัดให้ตวนเหงาะ บุตรตวนสุหลง ผู้เป็นพี่ต่างมารดาของพระยาระแงะ (ตวนโหนะ) เป็นผู้รักษาราชการเมืองระแงะ
            พ.ศ.๒๔๓๔  เมื่อถึงกำหนดที่บริเวณเจ็ดหัวเมือง ต้องนำต้นไม้เงินต้นไม้ทองและเครื่องราชบรรณาการเข้าไปทูลเกล้า ฯ ถวายพระเจ้าแผ่นดิน ณ กรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเจ้าเมืองทั้งเจ็ดเมือง ได้ถวายความจงรักภักดีด้วยความพร้อมเพรียงกัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตรปูนบำเหน็จ ความดีความชอบให้ และได้ใช้สืบต่อกันมา จนกระทั่งยุบเลิกการปกครองบริเวณเจ็ดหัวเมือง
            ต่อมาได้โปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศกฎข้อบังคับสำหรับปกครองบริเวณเจ็ดหัวเมือง ร.ศ.๑๒๐ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๔ ให้ยกเลิกการปกครองแบบเก่าเสีย ให้หัวเมืองทั้งเจ็ดเมืองคงเป็นเมืองอยู่ตามเดิม และให้พระยาเมืองเป็นผู้รักษาราชการบ้านเมืองต่างพระเนตรพระกรรณ มีกองบัญชาการเมืองโดยมีพระยาเมืองเป็นหัวหน้า ปลัดเมือง ยกกระบัตรเมือง และผู้ช่วยราชการเมืองรวมสี่คน ให้มีกรมการชั้นรอง เสมียนพนักงานตามสมควร โดยมีข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณเจ็ดหัวเมืองคนหนึ่ง สำหรับตรวจตราแนะนำราชการทั้งปวงทั่งบริเวณทั้งเจ็ดหัวเมือง ต่างพระเนตรพระกรรณในราชการทุก ๆ เมือง ข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณยังทำหน้าที่จัดการในบริเวณให้เป็นไปตามกฎข้อบังคับ และปฎิบัติราชการตามท้องตรากรุงเทพ ฯ และคำสั่งของข้าหลวงเทศาภิบาล มณฑลนครศรีธรรมราช
            พระยาเมืองที่รับราชการสนองพระเดชพระคุณด้วยดี ก็ได้รับพระราชทานผลประโยชน์ให้พอเลี้ยงชีพและรักษาบรรดาศักดิ์ตามสมควรแก่ตำแหน่ง และพระราชทานเงินผลประโยชน์ที่เก็บได้ซึ่งหักค่าใช้จ่ายแล้วนั้น ไว้เป็นเงินสำหรับจัดการทำนุบำรุงบ้านเมืองเป็นปี ๆ พระยาเมืองและศรีตวันกรมการซึ่งเป็นคนในพื้นบ้านเมือง  ถ้าได้รับราชการด้วยดีตลอดชั่วเวลารับราชการ เมื่อต้องออกจากหน้าที่โดยชรา หรือโดยทุพพลภาพประการใดก็ดีจะได้รับพระราชทานเบี้ยเลี้ยงบำนาญต่อไป
           เรื่องการศาล  จัดให้มีศาลเป็นสามชั้น คือศาลบริเวณ ศาลเมือง และศาลแขวง มีผู้พิพากษาสำหรับศาลเหล่านั้นพิจารณาคดีตามพระราชกำหนดกฎหมาย เว้นแต่คดีแพ่งที่กี่ยวกับครอบครัวและมรดก ซึ่งอิสลามิกชนเป็นโจทก์และจำเลย หรือเป็นจำเลยให้ใช้กฎหมายอิสลาม แทนบทบัญญัติกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แว้นแต่บทบัญญัติว่าด้วยอายุความมรดก ยังคงต้องใช้กฎหมายแพ่ง และพาณิชย์บังคับ
            การใช้กฎหมายอิสลามในการพิจารณาอรรถคดีดังกล่าวตามข้อบังคับสำหรับการปกครองบริเวณเจ็ดหัวเมือง ร.ศ.๑๒๐ เรียกตุลาการตำแหน่งนี้ว่า โต๊ะกาลี  ต่อมาได้มีข้อข้อกำหนดไว้ในศาลตรากระทรวงยุติธรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐  เรียกตำแหน่งนี้ว่า ดาโต๊ะยุติธรรม เพื่อให้สอดคล้องกับตำแหน่งเสนายุติธรรม ในมณฑลพายัพ ดาโต๊ะยุติธรรมเป็นผู้รู้และเป็นที่นับถือของอิสลามิกชน เป็นผู้พิพากษาตามกฎหมายอิสลาม
            ได้มีประกาศพระบรมราชโองการให้จัดตั้งมณฑลปัตตานี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๙ มีสาระสำคัญว่า "แต่ก่อนจนมาถึงเวลานี้บริเวณเจ็ดหัวเมือง มีข้าหลวงใหญ่ปกครอง ขึ้นอยู่กับข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ทรงพระราชดำริเห็นว่า ทุกวันนี้การค้าขายในบริเวณเจ็ดหัวเมืองเจริญขึ้นมาก และการไปถึงกรุงเทพ ฯ ก็สะดวกกว่าแต่ก่อนประกอบกับบริเวณเจ็ดหัวเมืองมีท้องที่กว้างขวาง และมีจำนวนผู้คนมากขึ้นสมควรแยกออกเป็นมณฑลหนึ่งต่างหาก ให้สะดวกแก่ราชการที่จะทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้แยกบริเวณเจ็ดหัวเมือง ออกมาจากมณฑลนครศรีธรรมราช และให้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง เรียกว่า มณฑลปัตตานี และทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาศักดิ์เสนีย์ (หนา บุนนาค)  เป็นข้าหลวงเทาศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลปัตตานี"
            มณฑลปัตตานี มีเมืองที่มารวมอยู่สี่เมืองคือ เมืองปัตตานี (รวมเมืองหนองจิก ยะหริ่ง และเมืองปัตตานี)  เมืองยะลา (รวมเมืองรามัน และเมืองยะลา) เมืองสายบุรี และเมืองระแงะ
            ในปี พ.ศ.๒๔๕๐ ได้ย้ายที่ว่าราชการเมืองระแงะ จากตำบลบ้านตันหยงมัสมาตั้งที่บ้านมะนารอ อำเภอบางนรา และยกฐานะอำเภอบางนราขึ้นเป็นเมืองบางนรา ส่วนเมืองระแงะเดิมนั้นให้เป็นอำเภอและขึ้นอยู่กับเมืองบางนรา มีอำเภอในเขตปกครองคือ อำเภอบางนรา อำเภอตันหยงมัส กิ่งอำเภอยะบะ อำเภอสุไหงปาดี กิ่งอำเภอโต๊ะโม๊ะ อำเภอตากใบ และอำเภอยี่งอ
            พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสมณฑลปักษ์ใต้ เมื่อเสด็จถึงเมืองบางนรา ก็ได้ทรงพระราชทานพระแสงราชศัตราแก่เมืองบางนรา และได้โปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองบางนราเป็นเมืองนราธิวาส เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๘
            พ.ศ.๒๔๗๖  ได้ยุบเลิกมณฑลทั่วราชอาณาจักร
            พ.ศ. ๒๔๘๑  กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศยกฐานะกิ่งอำเภอโค้วโบ๊ะ เป็นอำเภอแว้ง
            พ.ศ.๒๔๘๒  ยกฐานะกิ่งอำเภอยะบะ เป็นอำเภอรือเสาะ
            พ.ศ.๒๔๙๑  ยกฐานะตำบลสุไหงโก - ลก ขึ้นเป็นกิ่งอำเภอ และยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๖
            พ.ศ.๒๕๑๗  ตั้งกิ่งอำเภอศรีสาคร และยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๒
            พ.ศ.๒๕๑๐  ตั้งอำเภอสุคิริน
            พ.ศ.๒๕๒๕  ตั้งกิ่งอำเภอจะแนะ และยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒
            พ.ศ.๒๕๓๖  ตั้งกิ่งอำเภอเจาะไอร้อง และยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |