| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์

การตั้งถิ่นฐาน
          มีชุมชนโบราณหลายแห่งตั้งแต่อำเภอเขาย้อย ลงไปจนถึงอำเภอชะอำ จากากรศึกษาทางโบราณคดีพบว่า พื้นที่ที่มีความสูง ๓.๕ - ๔.๐ เมตร จะเป็นทะเลในสมัยทวารวดี ดังนั้นพื้นที่ราบทางด้านตะวันออกตั้งแต่ อำเภอชะอำ อำเภอท่ายาง อำเภอบ้านแหลม จนถึงอำเภอเขาย้อย จะเป็นทะเลทั้งหมดไปจนถึงตัวเมืองราชบุรี
          ชุมชนโบราณสมัยทวารวดีที่สำคัญได้แก่ ชุมชนโบราณหนองปรง ในเขตอำเภอเมือง ฯ โบราณสถานทุ่งเศรษฐี ที่บ้านโคกเศรษฐี ตำบลนายาว อำเภอชะอำ ชุมชนแหล่งนี้อยู่ในเขตที่พบพระพุทธรูปโคลน และเศษวัสดุต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก แหล่งชุมชนโบราณส่วนใหญ่จะอยู่ใกล้แม่น้ำ และติดชายฝั่งทะเล
          เมื่อชุมชนโบราณสมัยทวารวดีในเขตเมืองเพชรบุรีสิ้นสุดลงแล้ว จึงปรากฎชื่อเมืองเพชรบุรีในสมัยสุโขทัย สันนิษฐานว่า เป็นชุมชนใหญ่มีกษัตริย์ปกครอง ต่อมาในสมัยอยุธยาเมืองเพชรบุรี ยังอยู่ในฐานะเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ และเมืองหน้าด่าน มีความสำคัญสืบเนื่องมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์
ความเป็นมาของเมืองเพชรบุรี

          ในเขตเมืองเพชรบุรี ปรากฏหลักฐานว่ามีผู้คนอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ได้พบหลักฐานเครื่องมือเครื่องใช้ประเภทขวานหินขัด เครื่องประดับที่ทำจากหิน ภาชนะดินเผา โดยเฉพาะในเขตภูเขาทางด้านทิศตะวันตก พบโบราณวัตถุที่ถ้ำเขากระปุก อำเภอท่ายาง พบขวานหินขัด บริเวณใกล้เขากระจิว อำเภอท่ายาง พบภาชนะดินเผา ลูกปัดทำจากหินคาร์นีเลียนจำนวนมาก ที่บริเวณบ้านดอนขุนห้วย อำเภอชะอำ ซึ่งเป็นเขตภูเขาเชื่อมต่อกับที่ราบ
          ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณบ้านหนองแฟบ อำเภอท่ายาง พบโครงกระดูกและโบราณวัตถุได้แก่ ภาชนะดินเผา ลูกปัดหินอาเกต ลูกปัดหินคาร์นีเลียน ลูกปัดแก้ว เครื่องมือเหล็กที่มีรูปแบบดังที่พบตามแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในแถบภาคกลางของประเทศไทย แสดงให้เห็นว่า มีการตั้งถิ่นฐานในดินแดนแถบนี้มานานแล้ว และยังมีการติดต่อกับชุมชนภายนอก เนื่องจากพบโบราณวัตถุต่างกัน ได้แก่ ลูกปัดหิน เป็นต้น ชุมชนโบราณเหล่านี้ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง
          สรุปได้ว่ากลุ่มคนในสมัยหินขัด อาศัยอยู่ในเขตภูเขาทางทิศตะวันตก และในที่ราบลุ่มแม่น้ำเพชรบุรี เมื่อประมาณ ๔,๐๐๐ - ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว
          การติดต่อระหว่างชุมชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะบริเวณคาบสมุทรมลายูและภาคกลางของไทย อยู่ในเส้นทางคมนาคมระหว่างอินเดียกับจีนซึ่งอาศัยการเดินเรือเป็นหลัก เส้นทางเดินเรือที่สำคัญเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๗ เป็นการเดินเรือตามเส้นทางการค้าระหว่างอินเดียกับจีน ที่ต้องผ่านคาบสมุทรมลายู โดยเดินทางเลียบตามชายฝั่งคาบสมุทรมลายูทั้งทางด้านตะวันตก (ทะเลอันดามัน) และด้านตะวันออก (อ่าวไทย) ชุมชนแถบลุ่มแม่น้ำเพชรบุรีตั้งอยู่ทางด้านตะวันออก จึงน่าเป็นจุดผ่านหรือจุดพักการเดินทางที่อยู่บนเส้นทางดังกล่าว
          ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาการเดินเรือน้ำลึกในพุทธศตวรรษที่ ๑๑ มีการขยายการค้าทางเรือของจีน นอกจากนี้ การใช้เส้นทางข้าม คาบสมุทรทางตอนบนของแหลมมลายู ซึ่งผ่านมาทางแม่น้ำตะนาวศรี ข้ามทิวเขาตะนาวศรีมายังฝั่งอ่าวไทย คงมีการใช้มากขึ้น เนื่องจากมีปัญหาโจรสลัดในช่องแคบมะละกา ชุมชนที่ตั้งอยู่ในเส้นทางคมนาคมเหล่านี้เป็นแหล่งรวมสินค้าหรือจุดแวะพักเพื่อสะสมเสบียง
          เมื่อกระแสวัฒนธรรมจากภายนอกโดยเฉพาะอินเดีย ได้เข้ามาผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่นในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ได้เกิดเป็นรูปแบบวัฒนธรรมที่เรียกว่า วัฒนธรรมทวารวดี เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๖ ดินแดนในที่ราบลุ่มแม่น้ำเพชรบุรีคงรับเอารูปแบบวัฒนธรรมดังกล่าวเข้ามาด้วย จึงได้พบหลักฐานร่องรอยชุมชนทวารวดีกระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณนี้จนถึงคาบสมุทรมลายู รวมทั้งที่ตั้งซึ่งอยู่ในเส้นทางคมนาคม ระหว่างคาบสมุทรมลายู และดินแดนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
เพชรบุรีในวัฒนธรรมทวารวดี

          ถึงแม้ว่าไม่พบเมืองที่มีรูปแบบของเมืองในสมัยทวารวดีในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเพชรบุรีที่แน่ชัดเหมือนในลุ่มแม่น้ำอื่น ๆ เช่น เมืองคูบัว ในที่ราบลุ่มแม่น้ำแม่กลอง และเมืองอู่ทอง ในที่ราบลุ่มแม่น้ำสุพรรณบุรี แต่ก็ได้พบโบราณสถานและโบราณวัตถุในสมัยทวารวดีกระจัดกระจายอยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำเพชรบุรีเป็นจำนวนมาก เช่น พระพุทธรูป ธรรมจักรซึ่งส่วนใหญ่จะพบเป็นโกลน รวมทั้งหินบดที่หนองปรง ในเขตอำเภอเขาย้อย
          กลุ่มบ้านหนองพระ  อยู่ใกล้เขตภูเขา พบร่องรอยโบราณสถาน และรูปเคารพที่ทำจากหิน
          กลุ่มโบราณสถานเนินโพธิ์ใหญ่  อยู่ในเขตอำเภอบ้านลาด มีร่องรอยการอยู่อาศัยหนาแน่น พบเศษภาชนะดินเผา โกลนพระพุทธรูป และลูกปัดแก้ว กลุ่มโบราณสถานแห่งนี้อยู่ใกล้แม่น้ำเพชรบุรีมากกว่าแหล่งอื่น ๆ
          กลุ่มเขากระจิว  อยู่ในเขตอำเภอท่ายาง พบร่องรอยโบราณสถานและแหล่งที่อยู่อาศัยกระจายอยู่ใกล้กับเขากระจิว พบร่องรอยมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ ในพื้นที่ใกล้เคียงบริเวณบ้านหนองแฟบ
          กลุ่มทุ่งเศรษฐี  อยู่ในเขตอำเภอชะอำ พบศาสนสถานขนาดใหญ่ที่สุดในที่ราบลุ่มแม่น้ำเพชรบุรี ตั้งอยู่ใกล้กับชุมชนที่มีร่องรอยการอยู่อาศัยค่อนข้างหนาแน่น และมีโบราณสถานอยู่บนยอดเขา ที่สามารถใช้เป็นจุดสังเกตได้  ที่ตั้งของกลุ่มนี้อยู่ไม่ไกลจากทะเล จึงน่าจะอยู่ในเส้นทางการเดินเรือเลียบชายฝั่งด้วย และยังอยู่ในเส้นทางข้ามคาบสมุทร โดยผ่านเข้ามาทางช่องเขา (ช่องสิงขร) ในเขตเมืองประจวบคีรีขันธ์
เมืองเพชรบุรีในวัฒนธรรมเขมร

          เมื่อวัฒนธรรมเขมรโบราณเริ่มขยายตัวตามดินแดนแถบนี้ ชุมชนในลุ่มแม่น้ำเพชรบุรีก็ได้รับอิทธิพลของวัฒนธรรมเขมรโบราณ เช่นกัน มีการสร้างเมืองในรูปแบบวัฒนธรรมเขมรโบราณ เป็นรูปสี่เหลี่ยมอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเพชรบุรี
          หลักฐานที่เห็นได้ชัดได้แก่ โบราณสถานที่วัดกำแพงแลง ที่มีลักษณะเป็นปรางค์ขนาดใหญ่ห้าองค์ ก่อด้วยศิลาแลง ตกแต่งด้วยลายปูนปั้น ล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลง พบรูปเคารพที่สำคัญคือ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พบพระพุทธรูปปางสมาธิองค์เล็ก ๆ ประดับเรียงเป็นแถวเหมือนที่พบในที่อื่น ๆ ได้แก่ สระโกสินารายณ์ จังหวัดราชบุรี ปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี ถ้ำใหญ่คูหาสวรรค์ จังหวัดลพบุรี และที่ประเทศกัมพูชา
          ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของวัดกำแพงแลง เป็นลักษณะศิลปะบายน จึงสันนิษฐานว่า โบราณสวถานที่วัดกำแพงแลงเป็นพุทธสถานของฝ่ายมหายานที่ได้รับอิทธิพลศิลปะเขมรโบราณแบบบายน มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘ พบร่องรอยโบราณสถานในวัฒนธรรมเขมรอีกแห่งคือ วัดมหาธาตุ โดกยที่ฐานชั้นล่างพบว่าก่อด้วยศิลาแลง
          ยังปรากฎหลักฐานทางด้านเอกสารได้แก่ จารึกปราสาทพระขรรค์ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ได้กล่าวถึงหัวเมืองต่าง ๆ ๒๓ แห่ง ซึ่งได้ประดิษฐานพระไชยมหานาถ รวม ๖ เมือง ซึ่งให้มีการสันนิษฐานว่า ปัจจุบันอยู่ในประเทศไทยได้แก่ ลโวทยปุระ สุวรรณปุระ สัมพูกปัฎฎนะ ชัยราชบุรี ศรีชัยสิงห์บุรี และศรีชัยวัชรบุรี สำหรับศรีชัยวัชรบุรี คือ เมืองเพชรบุรี มีพระปรางค์วัดกำแพงแลง เป็นศาสนสถานสำคัญ
          ในช่วงเวลาดังกล่าว เมืองเพชรบุรี น่าจะเป็นเมืองท่าค้าขายเช่นเดียวกับเมืองราชบุรีซึ่งเป็นเมืองร่วมสมัยเดียวกัน ได้พบหลักฐานเครื่องถ้วยชามจีนในชุมชนโบราณหลายแห่ง ที่เป็นชุมชนโบราณสมัยทวารวดี ได้พบเศษภาชนะดินเผาของจีน ที่มีอายุตั้งแต่สมัยห้าราชวงศ์ จนถึงราชวงศ์สุ้ง หยวน และเหม็ง เป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นถึงการติดต่อกับจีน ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๖ จนถึงพุทธศตววรษที่๑๘ - ๑๙
เมืองเพชรบุรีร่วมสมัยกับสุโขทัย
          จากบันทึกของ ลาร์ ลูแบร์ ได้กล่าวถึงกษัตริย์เมืองเพชรบุรีไว้ว่า ปฐมกษัตริย์สยามทรงพระนามว่า พระปฐมสุริยเทพ ฯ ครองนครชัยบุรี เมื่อ พ.ศ.๑๓๐๐ สืบต่อมาสิบชั่วกษัตริย์ องค์สุดท้ายทรงพระนามว่า พญาสุนทรเทพ ฯ โปรดให้ย้ายเมืองหลวงมาตั้งใหม่ชื่อว่า ธาตุนครหลวง ในปี พ.ศ.๑๗๓๑ กษัตริย์องค์ที่ ๑๒ ทรงพระนามว่า พระพนมไชยศิริ ได้ให้ราษฎร์ไปอยู่ ณ เมืองนครไทย ทางตอนเหนือของเมืองพิษณุโลก ส่วนพระองค์เองไปสร้างเมืองใหม่ชื่อว่า พิบพลี ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำสายหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา มีกษัตริย์สืบต่อมาสี่ชั่วกษัตริย์ จนถึงองค์สุดท้ายทรงพระนามว่า รามาธิบดี ได้สร้างเมืองสยามขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๑๘๙๔
          มีหลักฐานที่กล่าวถึงเมืองเพชรบุรี ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ว่า ".....เบื้องหัวนอนรอดคนที พระบาง แพรก สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี ศรีธรรมราช ฝั่งพระสมุทร เป็นที่แล้ว....."
          มีปรากฎชื่อเมืองเพชรบุรีในเอกสารจีน ราชวงศ์หงวนว่า กันมู่ติง (กทรเตง) ส่งทูตจากเมืองปี้ชา ปู้หลี่ (เพชรบุรี) มาถวายเครื่องราชบรรณาการ ซึ่งตรงกับปี พ.ศ.๑๘๓๗ ปีที่ ๓๑ ในราชวงศ์ รัชกาลจี้หยวน ตรงกับรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง ฯ
          มีร่องรอยวัฒนธรรมก่อนสมัยอยุธยาในเขตเมืองเพชรบุรี มีโบราณสถานและโบราณวัตถุหลายอย่าง ที่มีความแตกต่างจากศิลปะแบบอยุธยา ซึ่งเรียกว่า ศิลปะก่อนอยุธยา เช่น พระพุทธรูปในถ้ำเขาหลวง เจดีย์แปดเหลี่ยมในถ้ำเขาหลวง ใบเสมาที่วัดมหาธาตุ ซึ่งเป็นเสมาสลักจากหินทรายแดง ตัวเสมาสลักลวดลายเป็นประติมากรรม นอกจากนี้ยังมีเสมาจากวัดร้างต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก มีลักษณะเก่ากว่าแบบที่นิยมในสมัยอยุธยา
เมืองเพชรบุรีในสมัยอยุธยา
          ในสมัยอยุธยา เพชรบุรีเป็นเมืองชุมทางเชื่อมต่อระหว่างเมืองในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยากับหัวเมืองชายทะเลทางใต้ เป็นเมืองท่าสำคัญที่เรือสินค้าต่าง ๆ แวะจอดพักก่อนเดินทางต่อไปกรุงศรีอยุธยาหรือจะล่องไปหัวเมืองทางใต้ รวมทั้งการเดินทางทางบกไปยังเมืองท่าฝั่งยตะวันตกคือ เมืองมะริด เมืองเมาะลำเลิง และหัวเมืองมอญ จากศิลาจารึกวัดเขากบ ซึ่งเป็นศิลาจารึกสมัยสุโขทัยได้กล่าวถึงเส้นทางที่ผ่านเมืองเพชรบุรีไปยังอินเดียคือ เดินทางมาขึ้นบกที่เมืองตะนาวศรี แล้วตัดข้ามมาเมืองเพชรบุรีแล้วไปราชบุรี จนถึงอโยธยาแสดงว่าเส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่ใช้กันมาแต่โบราณ
          ชาวโปรตุเกส ที่เดินทางไปยังอินเดียและมะละกา ในปี พ.ศ.๒๐๕๔ ได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองท่าสำคัญ ที่มีบทบาททางการค้าระหว่างตะวันตกกับตะวันออก ได้กล่าวถึงเมืองเพชรบุรี (Peperim Pepory) ว่าเป็นเมืองท่าสำคัญเมืองหนึ่งทางฝั่งตะวันตก มีเจ้าเมืองปกครองเยี่ยงกษัตริย์ และมีสำเภาส่งไปค้าขายในภูมิภาคต่าง ๆ ด้วย
          จากบันทึกของบาทหลวง เดอ ชัวซีย์ กล่าวถึงเมืองเพชรบุรีว่า เป็นเมืองท่าส่งข้าวและผ้าฝ้ายเป็นสินค้า
          จดหมายเหตุการเดินทางของสังฆราชแห่งเบริธ ที่เดินทางมาเมื่อปี พ.ศ.๒๒๐๕ โดยเดินทางผ่านเข้ามาทางเมืองตะนาวศรี เมืองมะริด เมืองกุย เมืองปราณ เมืองเพชรบุรี มีความตอนหนึ่งว่า "จากเมืองปราณบุรี ได้มาถึงเมืองเพชรบุรี (Pipiti) โดยใช้เวลาเดินทางห้าวัน เมืองนี้เป็นเมืองใหญ่ มีกำแพงเมืองก่ออิฐ
          จดหมายเหตุของ ม.เซเบเรต์ ราชทูตฝรั่งเศส ที่เดินทางมาเจริญพระราชไมตรี ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อปี พ.ศ.๒๒๓๐ กล่าววถึงการเดินทางไปลงเรือที่เมืองมะริดว่า ได้ล่องเรือจากเมืองลพบุรี ผ่านอยุธยา บางกอก แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำเพชรบุรี ถึงเมืองเพชรบุรี แล้วเดินทางต่อไปชะอำ เมืองปราณ เมืองตะนาวศรี และเมืองมะริด ระหว่างเดกินทางได้บันทึกเหตุการณ์และบรรยายสภาพบ้านเมืองต่าง ๆ เอาไว้ ได้กล่าวถึงเมืองเพชรบุรีไว้ว่า
          "เมื่อเรือได้เข้าลำน้ำเพชรบุรี ได้พบผู้ว่าราชการเมืองเพชรบุรี .....ออกนำหน้าเรือพวกเรา และได้โยงเรือพวกเราสามลำขึ้นไปจนถึงเมืองเพชรบุรี ซึ่งอยู่ห่างปากน้ำเข้าไปปราณ ๘ ไมล์ แถวปากน้ำเพชรบุรีเป็นที่เปล่าเปลี่ยว ไม่มีผู้คนอยู่เลย แต่เมื่อขึ้นไปตามลำน้ำ ประมาณ ๒ ไมล์ ภูมิประเทศดูดีขึ้น สองข้างแม่น้ำเป็นทุ่งนา .....บางแห่งก็เป็นทุ่งเต็มไปด้วยโค กระบือ มีเจ้าของนำมาเลี้ยง .....เมืองเพชรบุรีเป็นเมืองขนาดใหญ่ในสยาม แต่เดิมพระเจ้าแผ่นดินสยามก็เคยมาประทับอยู่ที่เมืองนี้เสมอ เมืองนี้มีกำแพงก่อด้วยอิฐล้อมรอบและมีหอรบหลายแห่ง แต่กำแพงชำรุดหักพังไปมากแล้ว ยังเหลือดีอยู่แถวเดียว บ้านเรือนไม่สวยงาม เพราะเป็นเรือนที่สร้างด้วยไม้ไผ่ทั้วสิ้น สิ่งที่งามมีแต่วัดวาอารามเท่านั้นและวัดในเมืองนี้ก็มีเป็นอันมาก"
          นอกจากที่กล่าวมาแล้ว เพชรบุรียังเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ใช้เป็นที่ตั้งกำลังทางทหารทั้งทางบกและทางน้ำ ในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา เมื่อพระยาละแวก ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาถึงสามครั้ง พระยาเพชรบุรีมีส่วนสำคัญในการศึกด้วยทุกครั้ง ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระองค์ได้โปรดให้ยกทัพไปตีเขมร พระยาเพชรบุรีได้รับมอบหมายให้เป็นนายกองเรือ ยกขึ้นไปตีเมืองป่าสักและเมืองจตุรมุข แล้วจึงยกไปสมทบกองทัพหลวงที่เมืองละแวก
          เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงยกทัพไปตีพม่า ได้โปรดให้พระยาเพชรบุรียกทัพช้างม้าและพลรบ จำนวน ๓,๐๐๐ คน เป็นทัพหนุน
          ในปี พ.ศ.๒๓๐๘ พม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา ได้เดินทัพผ่านเมืองเพชรบุรี สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์โปรดให้พระยาตาก และพระยาเพชรบุรี คุมกองทัพเรือ ไปรับทัพพม่า พระยาเพชรบุรีถูกพม่าล้อมและตายในที่รบ
          ในปี พ.ศ.๒๓๑๒ สมเด็จพระเจ้าตากสิน โปรดให้ยกทัพไปตีนครศรีธรรมราช พระยาเพชรบุรีเป็นกองหน้า และได้ตายในที่รบ กองทัพหลวงยกไปทางเรือ ถึงตำบลบางทะลุ หาดเจ้าสำราญ กองเรือถูกพายุ เรือล่มหลายลำ ต้องพักอยู่ที่เมืองเพชรบุรีระยะหนึ่ง
เมืองเพชรบุรีสมัยรัตนโกสินทร์
          การเดินทัพของพม่าที่เข้าตีเมืองทางภาคใต้ของไทย จะเดินทัพมาทางด่านสิงขร ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับเมืองเพชรบุรี ในการรบครั้งสำคัญที่ตำบลลาดหญ้า แขวงเมืองกาญจนบุรี พระยาสีหราชเดโชชัย พระยาท้ายน้ำ และพระยาเพชรบุรี ได้รับคำสั่งให้ไปคอยซุ่มโจมตีหน่วยลำเลียงเสบียงของข้าศึก แต่ทั้งสามคำทำงานไม่ได้ผลจึงถูกประหารชีวิต กองทัพพม่าที่เข้ามาทางด่านบ้องตี้ ได้เข้าตีเมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี ต่อลงไปถึงเมืองชุมพร
          ในปี พ.ศ.๒๓๓๖ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เตรียมทัพไปตีพม่า โดยยกทัพไปตั้งที่เมืองทวาย ฝ่ายพม่าได้ยกทัพมาล้อมตีเมืองทวาย และยกเข้าตีค่ายพระยาเพชรบุรี ซึ่งคุมกำลังไปในการทัพครั้งนี้ด้วย พม่าตีค่ายพระยาเพชรบุรีถึงสองครั้งจึงยึดค่ายได้ แต่ฝ่ายเราก็ยึดคืนได้ภายหลัง
          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พม่ายกทัพมาตีหัวเมืองฝ่ายใต้ พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาพลเทพไปรักษาเมืองเพชรบุรี และโปรดเกล้า ฯ ให้กรมหลวงพิทักษ์มนตรี เสด็จไปคอยสั่งการทัพที่เมืองเพชรบุรี
          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าเมืองไทรบุรีแข็งเมือง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๒ พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาเพชรบุรีคุมทัพไปตั้งอยู่ที่เมืองสายบุรี เพื่อดูแลหัวเมืองมลายู
          จากเอกสารที่พิมพ์เผยแพร่เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๒ ได้แสดงข้อมูลประชากรในเมืองเพชรบุรีว่ามีชาวสยามจำนวน ๒,๗๐๐ คน ชาวจีน ๘๐๐ คน ชาวมาเลย์ ๔,๓๐๐ คน และชาวลาว ๕๓๐ คน

          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะที่พระองค์ทรงผนวช ได้เสด็จประพาสเมืองเพชรบุรีหลายครั้ง และเมื่อพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์ ก็ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระนครคีรี ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๐๒ โดยสร้างอยู่บนสามยอดเขาซึ่งเดิมเรียกว่า เขาสมณะ ต่อมาพระองค์ได้พระราชทานนามใหม่ว่าเขามหาสวรรค์ที่ยอดเขายอดกลาง โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระเจดีย์ใหม่ครอบองค์เดิมที่ชำรุด แล้วบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ แล้วพระราชทานนามว่า พระธาตุจอมเพชร ยอดเขาทางด้านทิศตะวันออก โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระเจดีย์ศิลา พระวิหาร พระปรางค์ หอระฆัง และศาลา ยอดเขาทางด้านทิศตะวันตก สร้างพระราชวังสำหรับเป็นที่ประทับ ประกอบด้วยพระที่นั่งและหมู่อาคารต่าง ๆ พระราชทานนามไว้ เช่น พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ พระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรค์ พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท เป็นต้น
          พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมาประทับที่พระนครคีรีอยู่เสมอ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ฟื้นฟูประเพณีแรกนาของเมืองเพชรบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๒ และส่งเสริมการทำนา เนื่องจากเวลานั้นข้าวเป็นสินค้าออกที่สำคัญ การประกอบพิธีแรกนาขวัญ พระองค์เสด็จไปเป็นองค์ประธาน ให้พระยาเพชรบุรีเป็นพระยาแรกนา หลังจากปี พ.ศ.๒๔๐๘ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้ากรมนาออกมาตั้งพิธีแรกนา พิธีแรกนาได้ทำสืบต่อมาจนสิ้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้เสด็จประพาสเมืองเพชรบุรีหลายครั้ง และได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างทางรถไฟจากกรุงเทพ ฯ มาถึงเมืองเพชรบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๖
          ในปลายรัชสมัยของพระองค์ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์พระนครคีรี เพื่อใช้รับรองแขกเมือง และได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระราชวังบ้านปืนขึ้นอีกแห่งหนึ่ง มาแล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า พระรามราชนิเวศน์
          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้เสด็จไปประทับแรมที่เมืองเพชรบุรีหลายครั้ง ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพลับพลาที่ประทับแรมขึ้นที่ชายทะเล ในเขตตำบลบางทะเล เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เป็นอาคารไม้ ใต้ถุนสูง หลังคามุงจาก ฝาขัดแตะ พระราชทานนามว่า ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญ ในช่วงเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๖๐ - ๒๔๖๖ พระองค์ได้เสด็จมาประทับแรมที่
ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญเกือบทุกปี
          ในเวลาต่อมา พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ประกอบด้วยพระที่นั่งสามองค์ ได้แก่ พระที่นั่งสมุทรพิมาน พระที่นั่งไพศาลสาคร และพระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์ ในปี พ.ศ.๒๔๖๘ พระองค์ได้เสด็จมาประทับแรม ณ พระราชนิเวศน์แห่งนี้เป็นครั้งสุดท้าย

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |