| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางวัฒนธรรม

โบราณสถาน

          จังหวัดเพชรบุรีเป็นดินแดนที่มีร่องรอยผู้คนอยู่อาศัยมายาวนาน ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยปัจจุบัน จึงมีโบราณสถานปรากฎร่องรอยอยู่เป็นจำนวนมากในหลายยุคหลายสมัย พอประมวลได้ดังนี้
          แหล่งโบราณคดีเขากระปุก  บ้านเขากระปุก ตั้งอยู่ที่เขากระปุก ตำบลเขาประปุก อำเภอท่ายาง เขากระปูกเป็นเขาหินปูนทอดตัวตามแนวเหนือใต้ พบโบราณวัตถุหลายชนิด ได้แก่ ภาชนะดินเผา เครื่องมือเหล็ก และลูกปัด ซึ่งมีรูปแบบเหมือนกับแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในเขตจังหวัดราชบุรี มีเนินสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทางทิศตะวันตกของเนินมีโบราณสถานก่อด้วยอิฐ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๔ เมตร อิฐที่ใช้เป็นอิฐขนาดใหญ่มีขนาด ๓๒ x ๑๘ x ๘.๕ เซนติเมตร เนินดินด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ประมาณสามไร่ พบโบราณวัตถุและอิฐกระจายอยู่ในบริเวณพื้นที่มาก ในเขตหมู่บ้านหนองปรง และมีเศษภาชนะดินเผาสมัยทวารวดี และสมัยอยุธยากระจายอยู่ทั่วบริเวณ
          แหล่งโบราณคดีหนองพระ   ตั้งอยู่ที่บ้านหนองพระ ตำบลบ้านทวน อำเภอบ้านลาด พบเนินดินและอิฐแตกหักกระจายอยู่ทั่วไป พบโบราณสถานแต่ไม่สามารถระบุลักษณะแลขนาดได้ แนวโบราณสกถาน ก่อเรียงด้วยอิฐขนาดใหญ่หลายชั้น ใช้การสอดินในการก่อเรียงอิฐ อิฐมีขนาดใหญ่ เนื้อหยาบ มีส่วนผสมของแกลบข้าวอยู่มาก เป็นลักษณะแบบเดียวกับอิฐที่ใช้ในสมัยทวารวดี ทางด้านทิศตะวันออกของหนองพระ พบร่องรอยโบราณสถานบนยอดเขาพระนอก บ้านตาห้วยหลวง ซึ่งเป็นเทือกเขาสูง สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นศาสนสถานในสมัยทวารวดี
          แหล่งโบราณคดีเนินโพธิใหญ่ เนินดินแดง วัดป่าแป้น   ตั้งอยู่ที่บ้านโพธิใหญ่ ตำบลบ้านลาด อำเภอบ้านลาด ปรากฎแห็นแนวอิฐซึ่งมีก้อนอิฐมีขนาดใหญ่ เนื้อหยาบ มีส่วนผสมของแกลบข้าวมาก เป็นประเภทของอิฐที่พบในสมัยทวารวดี และน่าจะมีความสัมพันธ์กับเนินดินแดง ซึ่งเป็นซากโบราณสถาน กว้างประมาณ ๒๕ เมตร สูงประมาณ ๔ เมตร พบเศษอิฐกระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่ และยังพบอิฐทรงกลมที่ตกแต่งเป็นพิเศษพบศิลาแลงปะปนอยู่ด้วย พบชิ้นส่วนพระพักตร์พระพุทธรูปสมัยทวารวดี ชิ้นส่วนหินบดและเศษภาชนะดินเผาจำนวนหนึ่ง สันนิษฐานว่า เป็นโบราณสถานสมัยทวารวดี ขนาดใหญ่ที่สุดที่พบในบริเวณนี้
          แหล่งโบราณคดีบ้านเขากระจิว  ตั้งอยู่ที่บ้านเขากระจิว ตำบลท่ายาง อำเภอท่ายาง อยู่ใกล้เขากระจิวและวัดบรรพตาวาส (วัดเขากระจิว) เดิมเป็นเนินดินแต่ถูกไถไปหมด พบอิฐขนาดใหญ่มีส่วนผสมของแกลบข้าวมาก แผงอิฐฝังอยู่ใต้ดินบริเวณร่องน้ำ เคยพบแนวถนนปูด้วยอิฐขนาดใหญ่ระหว่างเชิงเขากับบริเวณโรงเรียนเขากระจิว ซึ่งเป็นที่ตั้งของเนินโบราณสถาน
          เศษภาชนะดินเผาที่พบบริเวณเขากระจิว มีรูปแบบของภาชนะสมัยก่อนประวัติศาสตร์ปะปนอยู่กับภาชนะแบบทวารวดี พบร่องรอยศาสนสถานในสมัยทวารวดีบริเวณเชิงเขาและบนเขา
          พื้นที่ใกล้เคียงกับเขากระจิว พบโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เช่นขวานหินขัด ปะปนอยู่กับโบราณวัตถุสมัยทวารวดี พบโครงกระดูกที่บ้านหนองแฟบ เป็นการพบโบราณวัตถุร่วมกับโครงกระดูก มีรูปแบบเหมือนที่พบในแหล่งก่อนประวัติศาสตร์หลายแห่งในภาคกลาง คือภาชนะดินเผา เครื่องประดับสำริด ลูกปัดหินคาร์เนเลียน หินอาเกตและเครื่องมือเหล็ก ทำให้เห็นถึงความเป็นอยู่ของชุมชนโดยรอบเขากระจิว ซึ่งได้พัฒนาเป็นชุมชนสมัยประวัติศาสตร์ ที่มีการติดต่อกับภายนอก และพัฒนาขึ้นเป็นชุมชนสมัยทวารวดี เมื่อได้รับวัฒนธรรมอินเดีย ตลอดจนรับพระพุทธศาสนาเข้ามา จึงมีการสร้างศาสนสถานที่เขากระจิว ซึ่งเป็นศาสนสถานสำคัญของชุมชน ชุมชนบริเวณนี้คงอยู่ต่อเนื่องกันมา โดยได้พบร่องรอยโบราณวัตถุรุ่นหลังจากจีน แหล่งชุมชนนี้คงสัมพันธ์กับแหล่งโบราณคดีบ้านใหม่และแหล่งโบราณคดีบ้านลาดปลาเค้า ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกประมาณสองกิโลเมตร และได้พบร่องรอยสมัยทวารวดีเช่นกัน
          แหล่งโบราณคดีบ้านใหม่  ตั้งอยู่ที่บ้านใหม่ ตำบลท่ายาง อำเภอท่ายาง พบแหล่งโบราณคดีรวมสี่แห่งด้วยกันคือ
               -  นาหนองหมัน   พบเศษภาชนะดินเผาและก้อนดินเผาไฟเป็นจำนวนมาก บริเวณใกล้กันนี้ชาวบ้านเรียกว่า หนองช้างน้อย พบเศษอิฐกระจายอยู่ สันนิษฐานว่า อาจเป็นโบราณสถานอีกแห่งหนึ่ง
               -  บอมเตาอิฐ  เดิมพื้นที่บริเวณนี้เป็นเนินอิฐสูง เศษอิฐบริเวณนี้มีขนาดใหญ่ เนื้อหยาบ มีส่วนผสมของแกลบข้าวมาก ลักษณะและขนาดคล้ายกับอิฐที่พบที่แหล่งโบราณคดีบ้านมาบปลาเค้า
               -  นาไร่โคก  เดิมเป็นที่ดอนขนาดใหญ่ ในบริเวณนี้พบกระดูกเผาไฟในหม่อดินเผา ฝังอยู่ในดินลึกประมาณ ๕๐ เซนติเมตร ประมาณ ๑๐๐ ใบ
               -  หนองตุ๊ดตู่  พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งเคลือบ ลักษณะเป็นเครื่องถ้วยอันนัมของญววน มีเศษภาชนะดินเผากระจายอยู่ทั่วไปเต็มพื้นที่ ทั้งภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เนื้อแกร่งและเศษภาชนะดินเผาเครื่องเคลือบเนื้อละเอียด และเครื่องลายครามของจีน
          จากการพบแหล่งโบราณคดีทั้งสี่แห่งนี้ สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นแหล่งโบราณสถานสมัยทวารวดี และน่าจะเป็นชุมชนสมัยทวารวดีที่มีขนาดใหญ่ มีการติดต่อกับชุมชนอื่นและน่าจะเกี่ยวข้องกับชุมชนในละแวกใกล้เคียง ที่บริเวณเขากระจิวและบ้านมาบปลาเค้า
          แหล่งโบราณคดีบ้านมาบปลาเค้า  ตั้งอยู่ที่บ้านมาบปลาเค้า ตำบลมาบปลาเค้า อำเภอทุ่งยาง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเขากระจิว บริเวณใกล้เคียงพบเศษอิฐกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป พบศิลาแลงสองชิ้นรูปร่างกลม เจาะรูตรงกลางกว้าง ๑๐ เซนติเมตร และชิ้นส่วนศิลาแลง ที่สามารถนำมาประกอบกันเป็นรูปทรงกลมหลายชิ้น สันนิษฐานว่า เป็นชิ้นส่วนประกอบสถาปัตยกรรมทรงเจดีย์ คล้ายกับที่พบที่ศาสนสถานของเมืองโบราณบ้านคูเมือง อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งเป็นชุมชนสมัยทวารววดี
          แหล่งโบราณคดีบ้านดอนเตาอิฐ  ตั้งอยู่ที่บ้านดอนเตาอิฐ ตำบลบึกเตียน อำเภอท่ายาง อยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลประมาณ ๒ กิโลเมตร เป็นที่ดอน มีพื้นที่ประมาณ ๑๐๐ ไร่ มีเนินโบราณสถานที่ถูกขุดทำลายเสียหายไปมาก บนเนินพบเศษอิฐกระจายอยู่ทั่วไป พบโบราณวัตถุจำนวนมากบริเวณด้านทิศตะวันตกของเนิน โดยเฉพาะเศษภาชนะดินเผา เนื้อดินซึ่งมีสันเป็นจำนวนมาก ภาชนะมีสันนี้แพร่หลายในชุมชนสมัยทวารวดี พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง พบลูกปัดหินสีขาวสลับน้ำตาล จุกดินเผาหรือตราประทับ แท่นหินบดและกระดูกสัตว์
          จากหลักฐานที่พบ มีร่องรอยการอยู่อาศัยตั้งแต่สมัยทวารวดีต่อเนื่องมาจนถึงสมัยอยุธยา ปรากฎหลักฐานจากสิ่งก่อสร้าง สันนิษฐานว่า เป็นศาสนสถานในสมัยทวารวดี

          โบราณสถานทุ่งเศรษฐี  ตั้งอยู่ที่บ้านโคกเศรษฐี ตำบลนายาง อำเภอชะอำ บริเเวณเชิงเขาจอมปราสาท ซึ่งสูงประมาณ ๒๙๐ เมตร เป็นเนินโบราณสถานขนาดใหญ่ ก่อด้วยฐานอิฐ กว้างประมาณ ๒๐ เมตร สูงประมาณ ๗ เมตร เป็นอิฐที่มีส่วนผสมของแกลบมาก ซึ่งนิยมใช้ในสมัยทวารวดี จากการขุดแต่งพบว่า มีลักษณะทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมทั้งสี่ด้าน ตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น ซึ่งเป็นลักษณะโบราณสถานสมัยทวารววดี ที่มีการตกแต่งลวดลายปูนปั้นบริเวณรอบฐานโบราณสถาน
          จากการสำรวจพบหลักฐานว่า มีชุมชนอาศัยอยู่ค่อนข้างหยนาแน่น ทางด้านทิศตะวันออกของโบราณสถาน และบนยอดเขาจอมปราสาท นอกจากนี้ยังพบร่องรอยศาสนสถานในถ้ำบนเขา ที่อยู่นอกชุมชนบริเวณเขาตาจีนทางทิศเหนือ
     โบราณสถานในวัฒนธรรมเขมร

          วัดกำแพงแลง  ตั้งอยู่ในเขตตำบลท่าราบ อำเภอเมือง ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นอิทธิพลศิลปะขอมโบราณแบบบายน มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ประกอบด้วย ปรางค์ประธานหนึ่งองค์ และปรางค์ทิศอีกสี่องค์ มีกำแพงล้อมรอบ ได้ขุดพบประติมากรรมรูปเคารพในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ศิลปะแบบบายนมีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘
              ปราสาทศิลาแลง  ประกอบด้วยเทวสถานศิลาแลงรวมห้าองค์ ล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลง ทั้งด้านเหนือและด้านใต้ ยาวด้านละ ๙๗ เมตร มีประตูเข้าทั้งสองด้าน กำแพงด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ยาวด้านละ ๗๒ เมตร มีประตูเข้าทั้งสองด้านเช่นกัน กำแพงสูงห้าศอก พื้นที่ภายในกำแพงประมาณ ๔ ไร่เศษ
          มีผู้สันนิษฐานว่า พระปรางค์แห่งนี้เดิมคงสร้างขึ้นในศาสนาพราหมณ์ เพราะปรากฎมีลวดลายปูนปั้นเป็นรูปสิงห์และครุฑ และพระปรางค์แต่ละองค์คงประดิษฐานเทวรูป เนื่องจากปรากฎฐานสำหรับตั้งเทวรูปเหลืออยู่ ต่อมาได้มีผู้แปลงเทวสถานแห่งนี้เป็นศาสนสถานของพระพุทธศาสนา เรียกว่า วัดกำแพงแลง บริเวณใกล้กับพระปรางค์พบซากเจดีย์อยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ อิฐที่ก่อเจดีย์มีภาพเขียนสีเป็นลวดลายสวยงามมาก สันนิษฐานว่า เป็นฝีมือช่างสมัยอยุธยา
          แหล่งโบราณคดีบ้านหนองเตียน  ตั้งอยู่ที่บ้านหนองเตียน ตำบลท่าไม้รวก อำเภอท่ายาง พบหินบดเป็นแท่นทรงสี่เหลี่ยม ที่มักพบในแหล่งโบราณคดีสมัยทวารววดี พบภาชนะดินเผา เป็นเครื่องถ้วยจีนมีอายุอยู่ประมาณปลายสมัยอยุธยา
          ทางด้านทิศเหนือ พบเศษภาชนะดินเผากระจายเป็นบริเวณกว้าง พบทั้งภาชนะเนื้อดินเนื้อแกร่ง บางชิ้นมีลวดลายที่แสดงว่าผลิตจากเตาบ้านบางปูน เมืองสุพรรณบุรี นอกจากนี้ยังพบขันสำริดเนื้อบางและเครื่องถ้วยจีน
          แหล่งโบราณคดีโคกแครง  ตั้งอยู่ที่บ้านใหม่ ตำบลบ้านกุ่ม อำเภอเมือง มีพื้นที่ประมาณ ๔ ไร่ พบเนินดินตั้งอยู่บนที่สูง
ประมาณ ๕ เมตรจากระดับน้ำทะเล บนผิวดินพบร่องรอยของโบราณวัตถุอยู่หนาแน่นมาก ส่วนใหญ่เป็นภาชนะดินเผา มีทั้งเนื้อหยาบและเคลือบแบบต่าง ๆ เศษเครื่องถ้วยจีนและเปลือกหอยแดงเป็นจำนวนมาก สันนิษฐานว่า เป็นที่พักอาศัยหรือแหล่งชุมชนโบราณ มีอายุประมาณ ๓๐๐ - ๕๐๐ ปีมาแล้ว
          แหล่งโบราณคดีโคกบ้านเก่า  ตั้งอยู่ที่บ้านบางหอ ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม อยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลประมาณ ๖ กิโลเมตร เรียกกันว่าบ้านโคกเก่า ลักษณะเป็นเนินดินขนาดใหญ่ มีพื้นที่ประมาณ ๑๐ ไร่ ล้อมรอบด้วยป่าชายเลน  ทางด้านทิศเหนือ ห่างออกไปประมาณ ๒๐๐ เมตร มีคลองบางหอไหลผ่านไปบรรจบกับแม่น้ำเพชรบุรี
          หลักฐานส่วนใหญ่ที่พบเป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน สันนิษฐานว่า เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยในสมัยอยุธยา มีการใช้ทรัพยากรจากทะเล และติดต่อกับชุมชนภายนอก
          แหล่งโบราณคดีบ้านสระพัง  ตั้งอยู่ที่บ้านสระพัง ตำบลสระพัง อำเภอเขาย้อย สภาพโดยทั่วไปเป็นพื้นที่ราบ อยู่ไม่ไกลจากสระพัง (แหล่งน้ำโบราณ) ห่างออกมาทางด้านทิศตะวันออกประมาณ ๒๐๐ เมตร ตั้งอยู่ใกล้กับร่องรอยแนวสันทรายโบราณ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเส้นทางคมนาคมทางบกของชุมชนโบราณ
          พบเศษภาชนะดินเผาทั้งที่เป็นเนื้อดิน  เครื่องเคลือบและเครื่องถ้วยจีน เศษภาชนะดินเผาเนื้อดินมีทั้งผิวเรียบ และตกแต่งผิวด้วยการขูดขีด การกดประทับ เขียนสีและทาน้ำดิน ส่วนเศษภาชนะเคลือบ ผลิตจากเตาศรีสัชนาลัยประเภทเคลือบเขียวอมฟ้าขูดขีดเป็นลวดลายใต้เคลือบ และเครื่องถ้วยจีนประเภทเครื่องลายคราม เขียนลวดลายสีแดงและสีเขียวใต้เคลือบ ซึ่งพบเห็นทั่วไปในแหล่งโบราณคดีสมัยอยุธยา สันนิษฐานว่าน่า จะเป็นชุมชนสมัยอยุธยา
    โบราณสถานสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์

          เสาชิงช้า  อยู่ในเขตตำบลทุ่งราบ อำเภอเมือง ฯ  บริเวณที่ตั้งเป็นเขตเทวสถานในศาสนาพราหมณ์ ซึ่งมีการประกอบพิธีสำคัญในเมืองเพชรบุรีมาแต่สมัยโบราณ ใกล้กับเสาชิงช้าเคยมีโบราณสถานเรียกว่า โบสถ์พราหมณ์ ประกอบด้วยเทวสถาน เสาชิงช้า โบสถ์ รวมทั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ปัจจุบันเหลือเสาไม้อยู่เพียงต้นเดียว
          วัดเพชรพลี  ตั้งอยู่ในเขตตำบลท่าราบ อำเภอเมือง ฯ  ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด เหลือเพียงใบเสมาที่อยู่รอบอุโบสถ เป็นใบเสมาแบบเก่า ส่วนสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ เช่น พระสุวรรณเจดีย์ ศาลาการเปรียญ ล้วนก่อสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์
          เจดีย์แดง  ตั้งอยู่บนบ้านไร่พะเนียด ตำบลบ้านหม้อ อำเภอเมือง ฯ อยู่ริมฝั่งขวาของแม่น้ำเพชรบุรี เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้ยี่สิบ ฐานสิงห์ ก่ออิฐ ไม่ถือปูน สูงประมาณ ๒๐ เมตร สันนิษฐานว่า สร้างในสมัยอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ เมื่อปี พ.ศ.๒๒๔๔
          ชื่อบ้านไร่พะเนียดสันนิษฐานว่าบริเวณนี้น่าจะเคยเป็นที่ตั้งเพนียดคล้องช้างมาก่อน
          ถ้ำพระเขานาขวาง  ตั้งอยู่ที่บ้านนายาง ตำบลนายาง อำเภอชะอำ  อยู่สูงจากพื้นดินประมาณ ๑๐ เมตร ตัวถ้ำกว้างประมาณ ๑๒ เมตร ภายในถ้ำด้านในสุด ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ก่ออิฐถือปูน
          ทางด้านทิศตะวันออกของเขานาขวาง พบร่องรอยชุมชนสมัยอยุธยา เป็นชุมชนขนาดใหญ่ เช่น แหล่งบ้านนายาง บ้านดอน นาเตาอิฐ พบเครื่องมือเครื่องใช้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเศษภาชนะดินเผาและเครื่องถ้วยจีน
แหล่งประวัติศาสตร์
          พระตำหนักตำบลโตนดหลวง  เมื่อปี พ.ศ.๒๑๓๔ สมเด็จพระนเรศวร ฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินทางสถลมารค พร้อมด้วยสมเด็จพระเอกาทศรถ ไปยังตำบลสามร้อยยอด เพื่อเสด็จออกทรงเบ็ดทอดปลาฉลามกลางทะเล และได้เสด็จไปประทับแรม ณ พระตำหนักตำบลโตนดหลวง เป็นเวลา ๑๒ วัน จึงเสด็จเข้าเมืองเพชรบุรี
          เมื่อปี พ.ศ.๒๒๔๖ สมเด็จพระเจ้าเสือ ได้เสด็จประพาสเมืองเพชรบุรี และได้ประทับแรม ณ พระตำหนักตำบลโตนดหลวง เช่นกัน จากนั้นได้เสด็จไปทรงเบ็ดที่ตำบลสามร้อยยอด
          เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามชายฝั่งทะเลของจังหวัดเพชรบุรี ถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ว่าชายฝั่งทะเลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
          พลับพลาที่ประทับตำบลบางทะเล  ตำบลบางทะเลหรือตำบลหาดเจ้าสำราญในปัจจุบัน เป็นตำบลที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์ได้เสด็จยกทัพหลวงไปทางชลมารค เมื่อถึงตำบลบางทะเล เมืองเพชรบุรี เรือถูกพายุล่มหลายลำ พระองค์จึงได้ประทับแรมและตั้งพิธีบวงสรวง ณ พลับพลาที่ตำบลบางทะลุ ก่อนเสด็จต่อไปยังเมืองนครศรีธรรมราช
          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรม ณ พลับพลาที่ตำบลบางทะลุ หนึ่งคืน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๑ ที่ประทับเป็นพลับพลาค่ายหลวงที่พระยาเพชรบุรี และชาวเมืองเพชรบุรีสร้างถวาย
          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๗ พระองค์ได้เสด็จมาประทับแรม ณ เมืองเพชรบุรีหลายวัน และได้เสด็จไปประทับแรมที่พลับพลาที่ประทับบางทะลุ หนึ่งคืน แล้วเสด็จต่อไปยังตำบลบ้านแหลม
          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างที่ประทับแรม ณ ชายทะเลตำบลบางทะลุ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๑ พระราชทานนามว่า ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญ และพระองค์ได้เสด็จมาพักแรมหลายครั้ง

          พระนครคีรี  อยู่ในเขตตำบลหนองกระแซง อำเภอเมือง ฯ  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๒ บนยอดเขาที่ยอดสามยอดติต่อกันเรียกว่า เขามหาสมณะ ต่อมาพระองค์ได้พระราชทานนามว่า เขามหาสวรรค์ ที่ยอดกลางได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระเจดีย์ใหม่ครอบพระเจดีย์องค์เดิม ซึ่งชำรุดมากแล้วบรรจุพระบรมสารีริกธาตุพระราชทานว่า พระธาตุจอมเพชร ยอดเขาทางด้านทิศตะวันออกได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพุทธสถาน หรือวัดพระแก้ว ยอดเขาทางด้านทิศตะวันตก ได้โปรดเกล้าให้สร้างพระราชวังสำหรับใช้เป็นที่ประทับแรม ประกอบด้วยหมู่พระที่นั่งและอาคารต่าง ๆ ดังนี้

               -  พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์  เป็นพระที่นั่งองค์ใหญ่ที่สุดในหมู่พระที่นั่งของพระนครคีรี เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้น หลังคาทรงปั้นหยา มุงด้วยกระเบื้องเผาแบบจีน ใช้เป็นท้องพระโรงสำหรับออกขุนนาง ต่อมาในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้แก้ไขดัดแปลงเพื่อให้เป็นที่ประทับของพระราชอาคันตุกะ จากต่างประเทศ หลายท่านด้วยกัน

               -  พระที่นั่งปราโมทย์มไหศวรรย์  เป็นพระที่นั่งสองชั้นลักษณะคล้ายเกํงจีน สร้างติดต่อกับพระที่นั่งองค์แรก ชั้นล่างมีห้องโถงสองห้อง ชั้นบนมีห้องโถง ห้องบรรทม และห้องแต่งพระองค์

               -  พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท  เป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นอาคารทรงจตุรมุข ปรางค์ห้ายอด มียอดปรางค์ใหญ่อยู่ตรงกลาง ยอดปรางค์เล็กอยู่ที่มุมทั้งสี่ ตัวปราสาทตั้งอยู่บนฐานสูงซ้อนกันสามชั้น มีหอคอยเป็นรูปโดมโปรางทรงแปดเหลี่ยม หลังคาโค้งครึ่งวงกลม มุงกระจก ภายในแขวนโคมตั้งอยู่ทั้งสี่ทิศ
               -  พระที่นั่งราชธรรมสภา  ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของพระที่นั่งเวชยันต์ ฯ เป็นอาคารชั้นเดียวคล้ายเก๋งจีน ประตูหน้าต่างทำเป็นวงโค้ง ตกแต่งด้วยเสาติดผนัง หัวเสาเป็นศิลปะกรีกแบบไอโอนิค เหนือเสาตกแต่งด้วยปูนปั้น ซึ่งเป็นแบบผสมกันระหว่างศิลปะไทย จีนและตะวันตก
               -  หอชัชวาลเวียงชัย  ตั้งอยู่หน้าพระที่นั่งราชธรรมสภา สร้างขึ้นเพื่อจะทรงส่องกล้องทอดพระเนตรดวงดาว ชาวบ้านเรียกว่า กระโจมแก้ว หรือหอส่องกล้อง ลักษณะเป็นหอคอยรูปกลมคล้ายกระโจมไหสูงสองชั้น หลังคาทำเป็นรูปโดมมุงกระจกโค้ง
               -  หอพิมานเพชรมเหศวร์  ตั้งอยู่บริเวฯหน้าพระที่นั่งเพชรภูมิ ฯ มีอยู่สามหลัง หอตรงกลางมีขนาดใหญ่กว่าหอด้านข้าง ที่หอกลางมีแท่นประดิษฐานพระพุทธรูป เป็นอาคารชั้นเดียวขนาดเล็ก
               -  ตำหนักสันถาคารสถาน  เป็นที่ประทับของเจ้านายฝ่ายใน เป็นอาคารสองชั้น หลังคาโครงสร้างไม้มุงกระเบื้องแบบจีน ชั้นบนเป็นพื้นไม้ ห้องรับแขกอยู่ตอนกลาง สองข้างเป็นห้องนอน
               -  โรงมโหรสพหรือโรงโขน  อยู่ติดกับตำหนักสันถาคาร มีเวทีเป็นรูปอัฒจรรย์ ก่อกำแพงเป็นฉากกั้นกลาง มีประตูสองข้างฉาก หลังฉากเป็นที่แต่งตัวของละคร โขน หน้าเวทีเป็นลานดิน
               -  กลุ่มอาคารนารีประเวศ  ประกอบด้วยอาคารก่ออิฐถือปูนชั้นเดียวสองหลัง มีลานเชื่อมตรงกลางตั้งอยู่ในกำแพงรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน นอกจากนี้ยังมีทิมดาบองค์รักษ์ โรงสูทกรรม ศาลาด้านหน้า ศาลาเย็นใจ ฯลฯ

          พระรามราชนิเวศน์  มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า พระราชวังบ้านปืน ตั้งอยู่ที่บ้านปืน ตำบลบ้านหม้อ อำเภอเมือง ฯ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๓ เสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นเนื่องจากพระนครคีรี ตั้งอยู่บนเขาการเสด็จประทับแรมไม่สะดวก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมาประทับแรมรวม ๙ ครั้ง และทรงใช้เป็นสถานที่พระรชทานเลี้ยงเอกอัครราชฑูตฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา
          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้กพระราชทานพระราชวังแห่งนี้เป็นโรงเรียนผู้กำกับลูกเสือ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ต่อมาเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูเกษตรกรรม โรงเรียนประชาบาลประจำตำบล และสุดท้ายอยู่ในความดูแลของกองพันที่ ๓ กรมทหารราบที่ ๑๑ รักษาพระองค์
          ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญ  ตั้งอยู่ที่ชายทะเลตำบลบางทะลุ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างเป็นพลับพลาที่ประทับแรม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เป็นอาคารไม้ยางใต้ถุนสูง หลังคามุงจาก ฝาขัดแตะ มีหลายหลังเชื่อมระเบียงต่อกัน หลังที่เป็นห้องบรรทมใกล้ทะเลมากกว่าหลังอื่น มีใต้ถุนคล้ายท้องพระโรง ใช้เป็นที่เสวยพระกระยาหาร และทอดพระเนตรการแสดงมหรสพต่าง ๆ

          พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน  ตั้งอยู่ที่ตำบลมฤคทายวัน (ตำบลบางควายเดิม) สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๖ เสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๗ เป็นอาคารไม้ประกอบด้วยอาคาร ๑๖ หลัง แบ่งออกเป็นสามหมู่ใหญ่คือ พระที่นั่งสมุทรพิมาน พระที่นั่งพิศาลสาคร และพระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์ พระราชนิเวศน์แห่งนี้ เป็นที่ประทับพักผ่อนพระราชอิริยาบทในฤดูร้อน ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และใช้เป็นที่เลี้ยงรับรองราชฑูตต่างประเทศและได้โปรดเกล้า ฯ ให้เป็นเขตอภัยทานแก่สัตว์ทั้งหลาย
          ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของกองบังคับการฝึกพิเศษ กอลบัญชาการตำรวจตะเวนชายแดน เรียกว่า ค่ายพระรามหก

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |