| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

อุทยานประวัติศาสตร์

          พระนครคีรีได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘ และได้ขึ้นทะเบียนเป็นวัดมหาสมณาราม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๙ นับเป็นพระราชวังบนยอดเขาแห่งแรก ที่ประกอบด้วยพระราชวังและพุทธสถาน ในพื้นที่เดียวกัน
          การดำเนินงานโครงการอุทยานประวัติศาตร์พระนครคีรี เริ่มทำการสำรวจและปฎิบัติงานตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๓ เป็นต้นมา ปรัปปรุงสภาพภูมิสถาปัตยกรรมให้มีความรมรื่น สวยงาม เหมาะสมกับอาคารสถานที่ การบูรณะแล้วเสร็จ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๑ ได้มีการประกอบพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี เปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครคีรี และหอสมุดแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒
ศิลปกรรม
          จังหวัดเพชรบุรี  มีหลักฐานทางศิลปกรรมหลายสมัย ในสมัยอยุธยาปรากฎผลงานศิลปกรรมของเมืองเพชรบุรี ที่มีลักษณะเด่นเป็นรูปแบบเฉพาะ เรียกว่า สกุลช่างเพชรบุรี
          งานศิลปกรรมส่วนใหญ่เป็นงานที่เกี่ยวเนื่องในศาสนา ในอดีตสำนักศึกษาวิชาช่างจึงอยู่ตามวัดต่าง ๆ วิชาช่างที่มีผู้นิยมเรียนกันมากได้แก่ ช่างเขียน ช่างไม้ ช่างปั้น ช่างแกะสลัก ฯลฯ
          งานจิตรกรรม  ได้แก่ ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถของวัดต่าง ๆ มีอยู่หลายแห่งด้วยกัน
          งานปฎิมากรรม  เป็นงานประติมากรรมประกอบสถาปัตยกรรม ซึ่งนิยมทำลวดลายหน้าบันด้วยปูนปั้นหรือแกะสลักเป็นรูปต่าง ๆ ปรากฎอยู่ที่หน้าบันพระอุโบสถหลายหลังด้วยกัน นอกจากนั้นยังมีฐานใบเสมา ที่ประดับด้วยลวดลายปูนปั้นที่งดงาม รวมทั้งบานประตูไม้จำหลักของอุโบสถ และศาลาการเปรียญอีกหลายแห่ง
ภาษาและวรรณกรรม
          ภาษาถิ่นเพชรบุรี หรือภาษาเมืองเพชร  จะมีสำเนียงเพี้ยนออกไปจากภาษาภาคกลางที่กรุงเทพ ฯ สำเนียงชาวเพชรบุรี มีลักษณะเฉพาะตัวที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ สำเนียงชาวเพชรแท้ ๆ จะอยู่ในเขตอำเภอบ้านลาด และอำเภอที่อยู่ใกล้เคียง
          รูปแบบประโยคของภาษาเมืองเพชรมีลักษณะพิเศษโดยเฉพาะการปฎิเสธจะใช้คำว่า "ไม่" ตามหลังคำกริยา และเปลี่ยนระดับเสียงของคำกริยาเป็นเสียงตรี เช่น กิ๊นไม่ (ไม่กิน) เอ๊าไม่ (ไม่เอา) มี้ไม่ (ไม่มี) เป็นต้น นอกจากนี้สำเนียงการออกเสียงยังมีลักษณะเฉพาะสตัว เช่น คำว่า "น้ำ" จะออกเสียงสั้นตามเสียง "สระอำ" ไม่นิยมออกเสียงยาวเป็๋น "น้าม" เหมือนชาวกรุงเทพ ฯ นอกจากนี้ยังมีภาษาถิ่นบางคำที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น แมลงปอ ใช้คำว่า  แมงกระทุย เมฆ ใช้คำว่า ขี้ฝน หรือขี้ฟ้า เสือ ใช้คำว่า เฒ่าร้า เป็นต้น
          วรรณกรรม  งานวรรณกรรมที่มีอยู่ตามวัดต่าง ๆ ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพชำรุด และเป็นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ปรากฎอยู่ในใบลานและสมุดข่อย ยังมีอยู่ที่วัดขุนตรา วัดเกาะ วัดพระรูป วัดหนองกาทอง วัดนอกต้นสน วัดบางทะลุ วัดโคก วัดศาลาเขื่อน ฯลฯ
          วรรณกรรมที่มีการชำระและเผยแพร่แล้วได้แก่ มหาชาติเมืองเพชรบุรี วรรณกรรมพลิบพลี ประชุมวรรณกรรมคำสอน อนุศาสน์คำสอน พระมาลัยกลอนสวด นิราศเขมร นิราศลังกา นิราศเขาลูกช้าง ลิลิตอุณหิศวิชัย คัมภีร์ตำราดาว ปรมัตถ์คำกลอน กาพย์กลอนสวดเรื่องพระสุบิน
          นอกจากนี้ยังมีวรรณกรรมที่พบตามวัดต่าง ๆ อีกมากเช่น วรรณกรรมโลกนิติ ประถมมาลา บทละครลักษณะวงศ์ พระวรวงศ์ สุธนคำฉันท์ ฯลฯ
งานช่างฝีมือ

          ปูนปั้นเมืองเพชร  เป็นเอกลักษณ์การสร้างสรรค์งานศิลปะประเภทหนึ่งที่มีมาแต่โบราณ โดยใช้ปูนที่ทำจากเปลือกหอยเผาไฟ ผสมน้ำอ้อยและวัสดุอื่น ๆ แต่ส่วนใหญ่มีปูนผสมกับน้ำอ้อยและวัสดุอื่น ๆ แต่ส่วนใหญ่มีปูนผสมกับน้ำอ้อยเป็นหลัก ซึ่งจะทำให้ปูนมีความเหนียวสามารถปั้นเป็นรูปต่าง ๆ ได้ และเมื่อแห้งแล้วจะแข็งตัวทนแดดทนฝนได้ดี งานปูนปั้นส่วนใหญ่ใช้เป็นเครื่องตกแต่งประดับอาคาร สิ่งก่อสร้างทางสถาปัตยกรรม เพราะปูนปั้นสามารถทำเป็นลวดลายต่าง ๆ เลียนแบบเครื่องไม้ได้เป็นอย่างดี
          งานศิลปะปูนปั้นเป็นสกุลช่างสาขาหนึ่งของเพชรบุรีที่มีเอกลักษณะสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นงานที่เกี่ยวเนื่องในพุทธศาสนา ทำให้เกิดช่างปูนปั้นขึ้นตามวัดต่าง ๆ เช่นกลุ่มช่างวัดใหญ่สุวรรณาราม กลุ่มช่างวัดเกาะ (แก้วสุวรรณาราม) กลุ่มช่างวัดพระทรง กลุ่มช่างวัดยาง ฯลฯ แต่ละกลุ่มมีเอกลักษณะเฉพาะกลุ่มที่เด่นเป็นพิเศษ
          งานศิลปะปูนปั้นของเมืองเพชรบุรี ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นฝีมือชั้นครูในสมัยอยุธยาตอนปลาย และในสมัยรัตนโกสินทร์ ได้แก่
               -  หน้าบันปูนปั้นพระนารายณ์ทรงครุฑ ลายพุ่มกระจังของโบสถ์วัดใหญ่สุวรรณาราม
               -  หน้าบันปูนปั้นขึ้นลายสะบัดเป็นเปลวไฟของโบสถ์วัดเขาบันไดอิฐ
               -  หน้าบันปูนปั้นพระนารายณ์ทรงครุฑ และพุทธประวัติของวัดไผ่ล้อม
               -  หน้าบันปูนปั้นพระนารายณ์ทรงครุฑ ลายช่อหางโต และลายปูนปั้นฐานเสมาของวัดสระบัว

          ช่างทองเมืองเพชร  ช่างทองโดยทั่วไปแบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ ช่างทองรูปพรรณและช่างทำภาชนะต่าง ๆ ช่างทองเมืองเพชรอยู่ในกลุ่มช่างทองรูปพรรณ รูปแบบทองรูปพรรณของเมืองเพชรมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นิยมทำเครื่องประดับประเภทสร้อยคอ สร้อยข้อมือ แหวน ตุ้มหู ลวดลายที่ได้สร้างสรรค์จนเป็นที่นิยมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีดังนี้
               -  ขัดมัน  เป็นชื่อสร้อยคอ มีลักษณะเป็นห่วงกลมเกี่ยวกันเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องกัน โดยช่างจะใช้ตะไบลบเหลี่ยมห่วงของสร้อยตลอดเส้น
               -  สี่เสา หกเสา และแปดเสา  เป็นลวดลายการถักห่วงกลมขนาดเล็ก ๆ จำนวนมากอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำเป็นสร้อยคอและสายสะพายแล่ง สรอยสี่เสาจะมีขนาดเล็ก สร้อยหกเสามีขนาดปานกลาง ส่วนสร้อยแปดเหลี่ยมจะมีขนาดใหญ่
               -  สมอเกลียว  เป็นสร้อยที่ทำจากลวดลายทองคำขดเป็นห่วงแล้วเชื่อมต่อกันเป็นลูกโซ่ปะวะหล่ำหรือปะวะหล่ำทรงเครื่อง ซึ่งเลียนแบบมาจากโคมจีน
               -  ลูกสน  มีลักษณะคล้ายลูกสนทะเล ประกอบด้วยโครงลวดทองขนาดเล็กต่อประกอบกัน
               -  เต่าร้าง  เป็นชื่อเรียกตุ้มหู มีลักษณะคล้ายพวงของผลเต่าร้าง
               -  ลูกไม้ปลายมือหรือเล็บมือ  เป็นทองรูปพรรณประเภทสร้อยข้อมือ ประกอบด้วยทรงกระบอกขนาดเล็กคั่นด้วยทอง ทำเป็นรูปดอกพิกุลหรือเป็นรูปห้าแฉก คล้ายฝ่ามือและฝ่านิ้ว
               -  ดอกพิกุล  เป็นลวดลายทอง นิยมใช้ตกแต่งหรือประกอบทองรูปพรรณลวดลายอื่น
               -  ดอกมะลิ  เป็นทองรูปพรรณมีลักษณะคล้ายดอกมะลิกำลังบาน โดยกลีบดอกมะลิแต่ละดอกจะประดับเพชรซีก ยาวรี ด้วยวิธีการตีขอบ
               -  ก้านบัว  เป็นชื่อเรียกกำไลข้อเท้า สำหรับเด็กในสมัยก่อนมีลักษณะเป็นห่วงขนาดใหญ่ กลมเกลี้ยง
               -  บัวสัตตบงกช (กระดุม)  เป็นลายทองรูปพรรณ เลียนแบบบัวสัตตบงกช มีชื่อเรียกในหมู่ช่างทองเมืองเพชรบุรีว่า กระดุม
               -  บัวจงกลและมณฑป  เป็นลวดลายของช่างเขียนลายไทย ซึ่งช่างงทองได้นำมาออกแบบเป็นปิ่นปักผม
               -  ประจำยาม  ช่างทองได้ดัดแปลงลายประจำยามมาทำเป็นจี้ มีสองชนิดคือ จี้ตัวผู้กับจี้ตัวเมีย
               -  เสมหรือปลา  เป็นลวดลายที่ช่างทองสมัยโบราณนิยมทำเป็นแผ่นทอง และดุนให้เป็นลวดลายเสมาหรือปลา
               -  ผีเสื้อ  เป็นทองรูปพรรณที่มีรูปแบบการสร้างสรรค์จากโครงสร้างของผีเสื้อ
               -  งู พญานาค และมังกร  เป็นลวดลายทอง ซึ่งดัดแปลงจากสัตว์ประเภทงู ช่างนิยมทำเป็นแหวนงูประเภทต่าง ๆ
               -  มังกร  ลวดลายมังกร เป็นการแกะสลักผสมผสานการเคาะและดุนลวดลายลงบนแผ่นทองคำ ซึ่งตีขึ้นเป็นรูปกำไล
               -  ตะขาบ  เป็นลวดลายทองรูปพรรณ ที่เลียนแบบตัวตะขาบ นิยมทำเป็นสร้อยข้อมือ
               -  พิรอด  ในสมัยโบราณพิรอดเป็นแหวนซึ่งถักด้วยผ้ายัญหรือด้ายดิบ นิยมใช้เป็นเครื่องราง ช่างทองได้ดัดแปลงลวดลายมาทำเป็นแหวนพิรอด
               -  ตะไบ  เป็นแหวนฝังพลอยหรือเพชรซีกทั่ว ๆ ไป แต่ช่างทองเมืองเพชรบุรีใช้วิชาการสลักลวดลาย
          หม้อตาลเมืองเพชร  เป็นอุตสาหกรรมพื้นบ้านเกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผา แหล่งผลิตแห่งแรกอยู่ที่หมู่บ้านหม้อเมืองเพชรบุรี การผลิตหม้อตาลเมืองเพชร ประกอบด้วยเครื่องมือต่าง ๆ ดังนี้
               -  ไม้ใหม่  เป็นไม้ตีนอกหม้อเพื่อให้เป็นลายขีด มีลักษณะเป็นไม้เซาะเป็นร่องคล้ายไม้ที่ใช้คดแป้งทำขนมครองแครง ทำให้หม้อตาลมีผิวนอกไม่เรียบ เหมือนหม้อดินหุงข้าว เป็นลักษณะพิเศษที่แตกต่างกัน
               -  ไม้ลบ  รูปร่างคล้ายไม้กะต่าม แต่บางกว่า ใช้ตีหม้อด้านนอก ขณะตกแต่งให้เรียบร้อย หลังจากลงไม้ใหม่แล้ว
               -  ไม้ขนอด  เป็นไม้ใช้ขอดดิน ทำด้วยไม้ไผ่ผ่าซีก กว้างประมาณ ๒ นิ้ว ยาว ๑๒ - ๒๕ นิ้ว เหลาส่วนกลางให้บาง ใช้จับปลายทั้งสองข้างขอดดินออกมา จากดินที่กองไว้ก็จะได้ดินที่เป็นขุยละเอียด  ดินที่กองไว้เรียกว่า สำทับ
               -  ไม้กะต่าม  ทำด้วยไม้รูปร่างคล้ายตะหลิว มีด้ามสำหรับถือ ตอนปลายเป็นสี่เหลี่ยม ใช้ตีตกแต่งหม้อตาลด้านนอกหลังจากขึ้นรูปแล้ว นิยมใช้คู่กับลูกกะเท่อ ซึ่งรับอยู่ภายในหม้อ
               -  ลูกกะเท่อ  ใช้สอดรับด้านในของหม้อตาล ขณะที่ใช้ไม้กะต่ายตีอยู่ด้านนอก ทำด้วยดินเผา มีลักษณะเป็นรูปทรงกลมสองตอนติดต่อกัน ตรงกลางคอด ลูกกลมเล็กเป็นที่สำหรับมือจับ  ส่วนลูกกลมใหญ่ใช้รับผิวหม้อด้านใน
              -  แป้นหมุน  เป็นแท่นไม้สัณฐานกลมมนคล้ายลูกข่าง  ด้านบนมีผิวเรียบเพื่อวางดินตุมสำหรับขึ้นรูปทรงขณะเริ่มปั้นหม้อตาล มีความกว้างประมาณหนึ่งศอก สูงประมาณหนึ่งศอก  กึ่งกลางของแป้นหมุนตอนล่างสุดเจาะรูตรงกลางเพื่อสวมกับเดือยที่ปักลงดิน ไม้ที่ใช้ทำแป้นหมุนมักใช้ไม้ที่มีน้ำหนัก เพราะตอนหมุนจะได้มีแรงเหวี่ยงมากขึ้น
               -  ดินหลุม  เป็นดินที่ผ่านขั้นตอนการใช้งานแล้ว โดยใช้ไม้ขนอดขอดดินออกมาจากกองดิน แล้วผ่านการนวดโดยการย่ำด้วยเท้า หรือนวดด้วยมือ จากนั้นจะผสมด้วยทรายละเอียด จนเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วปั้นเป็นก้อนรูปทรงกระบอกสูงประมาณหนึ่งฟุต พร้อมที่จะนำไปขึ้นแป้นหมุน เพื่อปั้นเป็นหม้อตาลต่อไป

          เกวียนเมืองเพชรบุรี  ลักษณะของเกวียนในแต่ละจังหวัดจะมีความแตกต่างกันออกไปตามภูมิภาคและท้องถิ่น เกวียนเมืองเพชรบุรีมีรูปร่างลักษณะสมส่วนสวยงาม เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของศิลปะสกุลช่างเพชรบุรี มีลักษณะดังนี้
               -  งอนเกวียน  อยู่ทางส่วนยอดของเกวียนคล้ายกับช่อฟ้าโดยทั่วไปจะมีลักษณะทางเหลี่ยมและเหยียดตรง แต่ของจังหวัดเพชรบุรี จะงอนขึ้นรับกับเขาวัวได้อย่างกลมกลืน
               -  แอก  คือ ที่สับคอวัวซึ่งวัวต้องลากและแบกไปด้วย ลูกแอกของเกวียนเมืองเพชรบุรีจะกลึงอย่างสวยงาม
               -  คอมอบ  คือลูกตั้งจากทูปขึ้นไปรับกับแม่สอพอง มีลักษณะคล้ายสามง่ามหนังสติ๊ก เมืองอื่นไม่มีคอมอบ มีเฉพาะที่เมืองเพชรบุรีเท่านั้น
               -  แม่สอพอง  หรือแม่ศรีพอง บางเมืองเรียกแม่กำแพงหรือรามเกวียน เป็นไม้กลม ปลายงอนขึ้นสวยงามมาก มีลูกสีข้างขึ้นมาตั้งรับ เพื่อป้องกันสิ่งของที่บรรทุกมาบนเกวียนตกหล่น ลูกสีข้างของแม่สอพองของเกวียนเมืองเพชร เป็นไม้กลึงคล้ายลูกกรงของราวบันไดบ้าน
               -  เท้าแขนหน้าและเท้าแขนหลัง  มีลักษณะเหมือนคันทวย แต่หัวคว่ำลง มีความอ่อนช้อยงดงาม ทำหน้าที่ยึดระหว่าง
แม่สอพองกับคานใต้ท้องเกวียน เพื่อกันไม่ให้แม่สอพองแบะออก คานใต้ท้องเกวียนมีชื่อเรียกว่า แปรกขวางทาง
               -  แปรกบังดุม  คือส่วนที่ปิดหัวปิดท้ายของแปรกขวางทางและกันดุมไม่ให้หลุด หัวท้ายของแปรกบังดุมของเกวียนเมืองเพชรบุรี จะงอนขึ้นไปขนานกับแม่สอพอง ให้ความสมดุลและกลมกลืนกันได้พอดี
               -  ล้อเกวียน  มีส่วนประกอบคือกงและกำ วงรอบนอกของล้อเรียกว่า กงหรือฝักมะขาม ส่วนกำคือซี่ล้อที่ยืดระหว่างดุมกับกง กำของเกวียนเมืองเพชรบุรี เป็นไม้เหลาให้กลม บางแห่งใช้กลึงให้เรียวงาม ไม่เป็นไม้ซี่ ๆ เหมือนเมืองอื่น
               -  ดุมเกวียน  คือส่วนที่รับน้ำหนักจากกงและกำเกวียน ทำหน้าที่ให้ล้อหมุนไปได้ จะทำด้วยไม้ที่กลึงอย่างสวยงาม

          เรือนไทยเพชรบุรี  รูปแบบของเรือนไทยย่อมแตกต่างกันไปตามสภาพภูมิอากาศและวัสดุที่ใช้ในการสร้างในแต่ละท้องถิ่น เรือนไทยเพชรบุรี เป็นฝึมือของสกุลช่างเพชรบุรี มีลักษณะที่แตกต่างจากเมืองอื่น ๆ คือ
               -  แผนผัง  เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า แบ่งออกเป็นสามห้อง กำหนดด้วยเสาในสัดส่วนหนี่งต่อสาม หรือสามต่อห้า หรือห้าต่อเจ็ด ใต้ถุนสูงประมาณ ๒.๕๐ เมตร ยกพื้นเป็นสามระดับ ระดับที่สองสูงจากระดับที่หนึ่งประมาณ ๕๐ เซนติเมตร  ในจำนวนนี้เว้นช่องไว้เท่าหน้าไม้นับจากคานลงมา เรียกว่า ช่องดูโจร และนิยมการเข้าสลักไม้

               -  ปั้นลม  เป็นรูปทรงสามเหลี่ยมด้านเท่า มีความอ่อนช้อยเรียกว่า นวย จะเริ่มจากส่วนที่สอง โดยนับตัวแปเป็นหลัก วิธีทำปั้นลมให้อ่อนช้อย ช่างจะใช้วิธีขึงเชือกจากยอดสามเหลี่ยมมาที่มุมฐาน แล้วปล่อยให้เชือกตกท้องช้างมากน้อยตามความเหมาะสม จากอกไก่ไปจนถึงยอดปั้นลม เรียกว่า กระหม่อม จะมีความสูงเป็นส่วนที่สี่โดยนับจากขื่อขึ้นไปจนถึงอกไก่ แบ่งออกเป็นสามส่วน แต่จะไม่เกินกรอบสามเหลี่ยม เรียกว่า ปั้นลมหน้านาง
               -  ตัวเหงา  มีความยาวหนึ่งในสามของดั้ง หรือนับจากขื่อไปถึงอกไก่ แบ่งออกเป็นสามส่วนหรือจะเทียบหนึ่งในสี่ของตัวปั้นลมก็ได้ หางหงส์ส่วนใหญ่จะขนานคู่ไปกับปั้นลม ชูปลายเล็กน้อย ปั้นลมจะตั้งฉากกับจั่ว ไม่มีการชะโงกหรือง้ำหน้า หางหงส์ก็ตั้งฉากเช่นเดียวกัน

               -  ฝาเรือน  มีทั้งฝาปะกบและฝาสำหรวด เป็นฝาไม้ลูกตั้งที่ทำด้วยไม้กระบอก หรือไม้ฝา เว้นช่องว่างไว้กระด้วยจากหรือแฝก เพื่อกันความร้อน ในเขตเมืองนิยมใช้ฝาปะกน ส่วนในชนบทนิยมใช้ฝาสำหรวด

               -  หน้าต่างและค้ำยัน นิยมค้ำยันด้วยไม้หลี่ยมธรรมดา บางแห่งอาจใช้เหล็กเส้นขนาดสี่หุน ดัดให้งอเล็กน้อย ตั้งจากพรึงไปรับเชิงชาย ส่วนหน้าต่างมีวงกลมเป็นลวดบัวสองชั้นหรือสามชั้น ที่บานหน้าต่างมีอกเลารูปทรงงดงาม ใต้วงกบมีหย่องรองรับประดับไว้เพื่อความสวยงาม ส่วนใหญ่แกะสลักบนแผ่นไม้ บางแห่งอาจกลึงเป็นลูกตั้งอย่างประณีต

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |