| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

ขนบธรรมเนียมประเพณี
           ประเพณีชาวเพชรบูรณ์  เพชรบูรณ์เป็นแหล่งรวมประเพณีที่หลากหลาย เพราะมีกลุ่มชนอาศัยอยู่หลายเผ่า แต่วิถีชีวิตในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ประเพณีบางอย่างได้เสื่อมสลายไปหมดแล้ว และบางอย่างกำลังเสื่อมสลายไป พร้อมกับรับวัฒนธรรมใหม่เข้ามา แต่ประเพณีบางอย่างก็ยังคงปฎิบัติอยู่
            ประเพณีของชาวเพชรบูรณ์ ส่วนใหญ่คล้ายทางภาคอีสาน เช่น การทำบุญขึ้นบ้านใหม่ การกินดอง ทำบุญข้าวสาด บุญบั้งไฟ บุญพระเวส และสงกรานต์ เป็นต้น มีประเพณีที่แตกต่างออกไปจากที่อื่นคือ

               ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ  จัดขึ้นที่ตำบลในเมือง อำเภอเมือง ในเทศกาลทำบุญสารทคือ วันแรม ๑๕ ค่ำ เดือนสิบ ประเพณีนี้เกิดขึ้นเนื่องจากความเชื่อที่มีต่อ พระมหาธรรมราชา ที่มีประวัติความเป็นมาที่อัศจรรย์ อภินิหารของพระพุทธรูปที่พบ เมื่อประมาณ ๔๐๐ ปีมาแล้ว ที่พบในลำน้ำป่าสักโดยคนหาปลา จึงได้อัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดไตรภูมิ ซึ่งเป็นวัดที่อยู่กลางใจเมือง แต่เมื่อถึงวันสารท พระพุทธองค์นี้ได้หายไป และไปพบว่าอยู่ในลำน้ำ ณ ที่เดิมในลักษณะที่คล้ายดำผุดดำว่าย จึงได้อัญเชิญกลับวัดไตรภูมิ เป็นอยู่เช่นนี้ถึงสามครั้ง แสดงว่าพระพุทธรูปองค์นี้ชอบน้ำ และสามารถดลบัดาลให้ฝนตก จึงเกิดประเพณีอุ้มพระดำน้ำขึ้น ในเทศกาลทำบุญสารท เพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล
                ประเพณีแต่เดิม หลังถวายภัตตาหารเช้าแด่พระภิกษุแล้ว เจ้าเมืองเพชรบูรณ์พร้อมข้าราชการจากหน่วยงานต่าง ๆ ตลอดจนประชาชนก็จะอัญเชิญพระมหาธรรมราชาไปดำน้ำ โดยใช้เรือขนาดใหญ่ใช้คนถ่อ ๔-๕ คน และมีเรือเล็กประมาณ ๔๐ ลำขึ้นไป มีการตกแต่งประดับประดาเรืออย่างสวยงาม จากท่าน้ำวัดไตรภูมิไปสรงน้ำที่วังเกาะระสาร ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นวังมะขามแฟบ ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นวัดโบสถ์ชนะมาร
                ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ ได้มีการเปลี่ยนแปลง โดยมีพิธีสามขั้นตอนคือ
                    - ขั้นตอนที่หนึ่ง  พิธีบวงสรวงโดยมีพิธียกศาลเพียงตา และสวดคาถา โดยมีพราหมณ์ทำพิธี
                    - ขั้นตอนที่สอง  การอัญเชิญพระมหาธรรมราชา แห่รอบเมือง เพื่อให้ประชาชนได้สักการะบูชา กลางคืนมีมหรสพ
                    - ขั้นตอนที่สาม  พิธีอุ้มพระดำน้ำ โดยอัญเชิญพระพุทธรูปลงเรือ ซึ่งมีขบวนตกแต่งริ้วขบวนสวยงาม  แห่ไปตามลำน้ำไปที่หน้าวัดโบสถ์ชนะมาร ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานในการอุ้มพระดำน้ำ โดยหันพระพักตร์ขึ้นเหนือ ดำสามหน หันพระพักตร์ลงใต้แล้วดำอีกสามครั้ง ขณะที่อุ้มพระดำน้ำก็จะมีการสวดมนตร์ของพระสงฆ์ ลั่นฆ้องชัย หลังจากนั้นผู้ร่วมขบวนและชาวบ้านก็จะโปรยข้าวตอก ดอกไม้ โยนขนมข้าวต้มต่าง ๆ ให้ผู้ร่วมพิธีนำไปกิน วิดน้ำใส่กันเพื่อเป็นสิริมงคล มีการจัดขบวนทางบกและทางเรือ มีการประกวดเรือสวยงาม มีการแข่งขันพายเรือทวนน้ำ กลางคืนมีการแสดงมหรสพสมโภช
                ประเพณีบุญบั้งไฟ  มีจัดในหลายพื้นที่ จัดระหว่างเดือนมีนาคมถึง กรกฎาคม แต่บุญบั้งไฟที่จุดที่ตำบลนาติ้ว อำเภอหล่มสัก มีความแตกต่างจากท้องถิ่นอื่น โดยจะจัดในเดือนหก เป็นการบวงสรวงเจ้าพ่อผาแดง เพื่อให้เจ้าพ่อบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล วิธีการทำบั้งไฟคงเหมือนกับที่อื่น ๆ แต่ขบวนแห่มีความแตกต่างกันออกไปคือ จะมีนางเทียนซึ่งเป็นร่างทรงของเจ้าพ่อผาแดงเดินนำหน้า มีขบวนแห่บั้งไฟซึ่งมีการตกแต่งอย่างสวยงาม มีขบวนรำเสื้อแขบลาน ซึ่งมีผู้รำแต่งกายด้วยเสื้อม้อห้อมสีดำ คอกลมแขนกระบอก ตัวเสื้อตกแต่งด้วยแถบใบลานแห้งสีเหลือง แถบกว้างประมาณ ๒ เซนติเมตร ใช้เสื้อเหมือนกันทั้งชายหญิง ผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่พื้นบ้าน ผู้ชายนุ่งกางเกงขาก๊วยสีดำ โพกหัวด้ววยผ้าสีแดง มีกระดิ่งห้อยที่เอวสองข้าง สวมเล็บยาวคล้ายการฟ้อนเล็บของภาคเหนือ ดนตรีใช้กลองขนาดใหญ่เป็นกลองสองหน้ามีฆ้องและฉาบ สำหรับท่ารำไม่มีท่ากำหนดไว้ เพียงแต่รำไปตามจังหวะกลองเท่านั้น ขบวนแห่จะมีตัวตลก แต่งกายประหลาดคล้ายผีตาโขนของจังหวัดเลย
                ประเพณีแต่งงาน  คนในหมู่บ้านนาสนุ่น อำเภอศรีเทพ มีประเพณีแปลกกว่าที่อื่นคือ เมื่อฝ่ายชายส่งเถ้าแก่ไปทาบทามสู่ขอฝ่ายหญิง จะเรียกสินสอดทองหมั้นตามฐานะ ฝ่ายชายจะต้องสร้างเรือนหอที่เรียกว่า มาดเรือน (มาดแปลว่าเรียกร้อง) ในที่ดินที่ฝ่ายหญิงจัดไว้ พิธีแต่งงานจะจัดหลังจากการสู่ ขอประมาณหนึ่งปี เพื่อให้เวลาฝ่ายชายปลูกเรือนหอ ฝ่ายชายจะเข้าป่าตัดไม้สำหรับปลูกเรือนหอ ฝ่ายหญิงจะเตรียมทอผ้าทำที่นอนหมอน และเสื้อผ้าไว้ให้ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายชาย จากนั้นฝ่ายหญิงจะเข้าป่าไปช่วยฝ่ายชายเตรียมไม้ด้วย บางครั้งไปอยู่ด้วยกันจนฝ่ายหญิงท้องก่อนแต่งงาน หลังจากได้เครื่องเรือนครบแล้ว ญาติฝ่ายชายก็จะมาช่วยกันสร้างบ้าน บางครั้งมีการระดมปลูกบ้านเรือนในวันแต่งงานเพราะถือว่าเป็นวันดี ในวันนั้นญาติฝ่ายหญิง จะมีการนำไม้เครื่องเรือนไปซ่อนเรียกค่าไถ่ จากฝ่ายชายเป็นที่สนุกสนาน
                การบวชนาค  พิธีบวชนาคของชาวบ้านนางวี่ อำเภอเมือง มีความแปลกจากที่อื่นคือ ผู้ที่จะบวชจะนัดบวชพร้อม ๆ กันหลายคน บางครั้งมีถึง ๑๐ - ๒๐ คน บวชที่วัดโพธิกลาง ซึ่งเป็นวัดในหมู่บ้าน กำหนดวันบวชเป็นวันัพฤหัสบดี เดือนสี่ ของทุกปี ซึ่งเชื่อกันมาแต่โบราณว่า หากไม่บวชในวันนี้ นาคคนใดคนหนึ่งจะต้องตาย ก่อนถึงวันบวชสามวัน ผู้บวชจะต้องนุ่งผ้าม่วง ห่มผ้าสไบสีต่าง ๆ เรียกว่า เข้ามาด ไปขอขมาญาติผู้ใหญ่ ก่อนถึงวันบวชหนึ่งวันเรียกว่า วันสุกดิบ จัดพิธีที่บ้านของตน มีการทำขวัญเหมือนภาคกลาง มีการเตรียมอาหารเลี้ยงญาติพี่น้องและแขกที่มาร่วมงาน กลางคืนมีการแสดงฉลอง สมัยก่อนนิยมเพลงโคราช
                วันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันบวชจะมีการแห่นาคมาที่วัดโดยให้นาคเดินเอง พ่อแม่จะอุ้มผ้าไตรเดินนำหน้า ญาติพี่น้องจับผ้าสไบของนาค มีการร้องเพลงประสานเสียงดนตรี เนื้อเพลงมักเกี่ยวกับสาวคนรัก ให้นาคตัดรักตัดสวาท เมื่อถึงวัดจะต้องแห่เข้าทางประตูทิศเหนือเรียกว่า ประตูนาค ไปนมัสการหลวงพ่อควร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่มีผู้เคารพสักการะ จากนั้นจะแห่รอบโบสถ์สามรอบ ขณะเดินก็จะร้องเพลงแห่นาคไปด้วย จนนาคเข้าโบสถ์ พระอุปัชฌาย์ก็จะทำพิธีบวชเช่นเดียวกับที่อื่นๆ
            การแต่งกาย  มีแบบฉบับเป็นของตนเอง ปัจจุบันยังอนุรักษ์ไว้โดยจะมีการแต่งกายแบบพื้นเมืองในโอกาสพิเศษ
                เครื่องแต่งกายชาย  ประกอบด้วยเครื่องนุ่งและเครื่องห่ม
                    เครื่องนุ่ง  เครื่องนุ่งพื้นเมืองของชายได้แก่
                        - ผ้าขาวม้าฝ้าย  ใช้นุ่งในโอกาสลำลองส่วนตัวหรือนุ่งอาบน้ำ ในอดีตชายชาวพื้นเมืองนิยมสักลายด้วยหมึก สักบริเวณลำตัวและขามาจนถึงหัวเข่า การนุ่งผ้าขาวม้า มีส่วนให้ได้แสดงลวดลายการสักขา
                        - ผ้าโสร่งฝ้าย  ผ้าโสร่งไหม ใช้นุ่งในโอกาสลำลอง ลวดลายผ้าโสร่งมีลักษณะเป็นตาสี่เหลี่ยมใช้ด้ายหรือไหมต่างสีทอเข้าด้วยกัน ผ้าโสร่งเป็นี่นิยมในหมู่ผู้สูงอายุมากกว่าผู้ที่อยู่ในวัยหนุ่ม
                        - กางเกงขาก๊วย  ใช้นุ่งในโอกาสลำลอง ขณะทำงานบ้านและทำการเกษตร รูปแบบคล้ายกางเกงจีน ความยาวคลุมหัวเข่าเล็กน้อย เป็นที่นิยมใช้กันในทุกวัย
                        - กางเกงแพร  ในอดีตก่อนสงครามมหาเอเชียบูรพา ใช้เป็นเครื่องแต่งกายชุดสุภาพเป็นทางการ รูปแบบเป็นกางเกงจีนยาวระดับข้อเท้า ตัดเย็บด้วยผ้าแพรเนื้อหนาสีเข้ม สวมทับเสื้อผ้าเนื้อบางคอกลมผ่าครึ่งอก แขนสามส่วน แล้วสวมทับด้วยเสื้อราชปะแตน สวมหมวกกะโล่ ปัจจุบันกางเกงแพรใช้เป็นชุดลำลองอยู่กับบ้าน ใช้แพรสีต่าง ๆ
                        - โจงกระเบน  ใช้นุ่งในโอกาสพิเศษ เช่น วันสงกรานต์หรืองานรื่นเริงต่าง ๆ  นิยมใช้ผ้าพื้นสีเข้ม เช่น น้ำเงิน กรมท่าแดง เขียว แต่จะเรียกว่า ผ้าม่วง ทำจากผ้าฝ้ายพื้น ผ้าฝ้ายพิมพ์ลาย ผ้าใยสังเคราะห์และผ้าไหม
                    เครื่องห่ม  ในอดีตชาวพื้นเมืองไม่นิยมสวมเสื้อเมื่ออยู่ในโอกาสลำลองในบ้านจะใช้ผ้าขาวม้าพาดไหล่  เครื่องห่มของชายแบ่งออกได้ดังนี้
                        - ผ้าขาวม้า  เป็นผ้าอเนกประสงค์ ในฤดูร้อนจะใช้พาดไหล่แทนการสวมเสื้อ ฤดูหนาวใช้ห่มทับเสื้อกันหนาว พันคอ หรือโพกศีรษะ
                        - เสื้อหม้อฮ่อม  ใช้ในโอกาสลำลองทำงานบ้านงานเกษตร ตัดเย็บจากผ้าฝ้ายย้อมด้วยต้นครามบ้านเป็นสีกรมท่า มีลักษณะเป็นเสื้อคอกลมผ่าหน้า ตามความยาวของเสื้อ ใช้กระดุมเม็ดแบนหรือผูกเชือก แขนยาวระดับศอก
                        - เสื้อคอกระดุม  นิยมใส่ในชายสูงอายุ ตัดเย็บจากผ้าขาวเนื้อบางหรือผ้าป่าน คอกลมชิดคอผ่ากลางอกมาถึงระดับอกมัดกระดุมเม็ด แขนยาวระดับศอก
                        - เสื้อคอพวงมาลัย  นิยมใส่ในโอกาสลำลองและงานรื่นเริง เป็นเสื้อคอกลมกว้างพอสวมหัวได้ ตัดเย็บจากผ้าเนื้อปานกลาง ไม่บางเท่าผ้าป่าน ใช้ผ้าพื้นหรือผ้าดอกลวดลายสีสดใสก็ได้ แล้วใช้ผ้าขาวม้าคาดเอว
                        - เสื้อประจำจังหวัด  เป็นเสื้อคอกลม ผ่าหน้าตลอดความยาว แขนยาวเหนือศอกเล็กน้อย ตัดเย็บด้วยผ้าเนื้อเรียบสีเขียวใบไม้ ขลิบรอบคอ และริมผ้าพับตลบปลายแขน ด้วยผ้าสีเหลืองสด มีกระเป๋าปะที่อกเสื้อด้านซ้าย ปักสัญลักษณ์รูปพ่อขุนผาเมือง
                เครื่องแต่งกายสตรี  มีทั้งเครื่องนุ่งและเครื่องห่ม ดังนี้
                    เครื่องนุ่ง  มีผ้าซิ่น ผ้าโจงกระเบนและแบบสากลนิยม
                        - ผ้าซิ่นหรือผ้าถุง  การใช้ผ้าซิ่นของอำเภอตอนบนและตอนล่างของจังหวัดจะแตกต่างกัน อำเภอตอนบนจะนุ่งผ้าซิ่นฝ้ายมัดหมี่ในโอกาสปกติ  ผ้าซิ่นไหมมัดหมี่จะนุ่งในโอกาสพิเศษ เช่น ไปทำบุญหรือไปร่วมกิจกรรมในสังคม  การนุ่งซิ่นไหมจะนุ่งซิ่นฝ้ายเนื้อบางเรียกว่าซิ่นรองไว้ด้านใน
                        การนุ่งซิ่นในเขตอำเภอตอนบนจะให้ซิ่นมีความยาวระดับหน้าแข้ง ไม่นุ่งยาวกรอบเท้า ในเขตอำเภอตอนล่างนิยมนุ่งผ้าพื้นสีต่าง ๆ และผ้าพิมพ์ลายไทย การนุ่งจะนุ่งยาวกว่า
                        - ผ้าโจงกระเบน  นิยมนุ่งในเขตอำเภอตอนล่าง เมื่อใช้ในโอกาสปกติจะใช้ผ้าพื้น และผ้าพิมพ์ลายไทย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่นุ่งโจงกระเบน
                    เครื่องห่ม  มีผ้าแถบ ผ้าเบี่ยงและเสื้อแบบต่าง ๆ
                        - ผ้าแถบ  ในสตรีสูงอายุจะใช้ผ้าแถบพันรอบอกแทนการสวมเสื้อ
                        - ผ้าเบี่ยง  เป็นผ้าขาวบาง ยาวประมาณ ๒.๕๐ เมตร กว้าง ๐.๕๐ เมตร สตรีสูงอายุจะนำมาห่มทับเสื้อ โดยห่มแบบผ้าสไบ ใช้ในโอกาสไปทำบุญ
                        - เสื้อชั้นใน  มีอยู่หลายรูปแบบ เช่น เสื้อแขนกลวงเป็นเสื้อสตรีสูงอายุมีแขนซ้ายเพียงแขนเดียว เสื้อชั้นในสองแขนตัวเสื้อตัดด้วยผ้าสี่เหลี่ยมผืนผ้า จีบสุดตอนบนให้พอดีลำตัว มีแขนเสื้อเป็นลายเย็บด้วยผ้าเป็นสายโยงบ่าทั้งสองข้าง จากด้านหน้าไปด้านหลัง
                        - เสื้อประจำจังหวัด  ใช้รูปแบบเดียวกันกับเสื้อประจำจังหวัดของชาย
ภูมิปัญญาชาวบ้าน
            การเกษตรกรรม  ชาวเพชรบูรณ์ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรมมีทั้งพืชไร่และพืชสวน ผลผลิตทางการเกษตรที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ มะขามหวาน
            มะขามหวานมีหลายพันธุ์ ตั้งชื่อตามท้องถิ่นหรือตามลักษณะของฝัก ของเนื้อและตามชื่อเจ้าของพันธุ์ โดยมีพันธุ์หมื่นจง เป็น
มะขามหวานต้นแรกของประเทศไทย พบที่อำเภอหล่มเก่า
                การปลูกมะขามหวาน  พื้นที่ปลูกควรเป็นพื้นที่น้ำท่วมไม่ถึง ดินร่วนหรือดินปนทราย ถ้าเป็นที่ลุ่มต้องยกร่องหรือยกดินให้สูงกว่าระดับน้ำ ควรปลูกกลางแจ้ง
                    วิธีปลูก  มีอยู่หลายวิธี แต่นิยมการทาบกิ่ง เพราะคงพันธุ์เด่นได้ดี ต้นตอมีรากแก้ว
                    การติดฝัก  มะขามจะออกดอกในปีหนึ่ง ๆ เป็นจำนวนมาก การติดฝักมากน้อยขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์ ปริมาณน้ำ และองค์ประกอบอื่น ๆ  หลังจากติดฝักใหม่ ๆ มะขามหวานต้องการธาตุไนโตรเจน เพื่อช่วยให้ฝักเจริญเติบโตจนขนาดของฝักสมบูรณ์
                    การเก็บฝัก  มะขามหวานจะสุกไม่พร้อมกัน จะทยอยกันสุกหลายรุ่น ผู้เก็บต้องมีความชำนาญในการดูว่าฝักไหนสุกไม่สุก หลังจากเก็บฝักแล้ว ควรนำมาผึ่งลมให้ฝักแห้งสนิท เริ่มเก็บฝักเมื่อเปลือกเปลี่ยนจากสีเขียวอ่อนเป็นสีน้ำตาลหรือสีนวล  ฝักแก่ที่แห้งดีจะกลวง มีน้ำหนักเบา ดีดฝักดูจะมีเสียงดังป๊อก ๆ   ฝักที่ยังแก่ไม่จัดที่เรียกว่าคาบหมู จะมีน้ำหนักมาก
                    มะขามหวานเก็บฝักได้ประมาณเดือนธันวาคม ถึงเดือนกุมภาพันธ์ การเก็บฝักต้องทำด้วยความประณีต ใช้กรรไกรตัดขั้วห่างจากฝักประมาณ ๑ เซนติเมตร ระวังอย่าให้ฝักแตก
ผ้าทอพื้นเมือง
            ผ้าทอเพชรบูรณ์มีหลายชนิดตามการใช้งาน มีทั้งผ้ามัดหมี่ ผ้าขิดและผ้าพื้น ทอจากฝ้ายและใยสังเคราะห์
            ผ้าทอเพชรบูรณ์แบ่งตามเขตภูมิศาสตร์วัฒนธรรมจะแบ่งเป็นสองเขตคือผ้าทอในเขตอำเภอตอนบนได้แก่อำเภอหล่มเก่า อำเภอหล่มสักและอำเภอเมือง กับผ้าทอในเขตอำเภอตอนล่างได้แก่อำเภอหนองไผ่ อำเภอวิเชียรบุรี อำเภอวังโป่งและอำเภอศรีเทพ
            ผ้าทอในแต่ละเขต  มีลักษณะเฉพาะตัวที่โดดเด่นสวยงาม ผ้าที่ทอในเขตอำเภอหล่มเก่า อำเภอหล่มสัก มีลักษณะเด่นที่สีและเทคนิคการทำลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์คือวัตถุดิบ จะใช้ฝ้ายและไหมที่ผลิตในครัวเรือน สีที่ใช้ย้อมใช้สีธรรมชาติซึ่งจะใช้สีที่นุ่มนวล มีสีคราม สีน้ำตาล เป็นต้น เทคนิคการลงลาย จะใช้การมัดหมี่และใช้ด้ายต่างสี
            ส่วนในเขตอำเภอตอนล่าง มีลักษณะคล้ายกับสิ่งทอในภาคอีสาน จะมีหลากสี และโครงสร้างของผ้าที่ใช้เป็นผ้านุ่งจะต่างกัน
            ประเภทของผ้าทอพื้นเมือง  แบ่งออกได้เป็นสามประเภทคือ
                ผ้าฝ้าย  เป็นผ้าทอที่สวมใส่สบาย เพราะระบายอากาศที่ดูดซึมความซื้นได้ดี ผ้าที่ผลิตขึ้นมาจะใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม ผ้าที่ใช้ในครัวเรือนและผ้าที่ใช้ในพิธีกรรม งานประเพณี และงานบุญต่าง ๆ ผู้ทอจะทอด้วยความศรัทธา ผลงานจะปราณีตสวยงามและมีคุณค่า
                ผ้าไหม  เป็นผ้าที่ใช้ไหมแท้เป็นด้ายพุ่งและด้ายยืน เดิมชาวพื้นเมืองจะใช้ไหมที่ผลิตเองทุกขั้นตอนเช่นเดียวกับการทอผ้าฝ้าย
                ปัจจุบันผ้าไหมเพชรบูรณ์ได้รับความนิยมสูงมาก การทอผ้าจึงเป็นหัตถกรรมพื้นบ้านที่ทำรายได้ดี และนับวันจะแพร่หลายมากยิ่งขึ้นด้วยลวดลายสีสัน และฝีมือทอผ้าอันประณีตงดงาม แหล่งทอผ้าไหมพื้นเมืองที่เป็นสินค้าออกที่สำคัญ อยู่ที่บ้านวังโบสถ์ ตำบลบ่อไทย บ้านเพชรละคร อำเภอหนองไผ่ รูปลักษณะของผลิตภัณฑ์คล้ายกับผ้าไหมอีสาน
                แหล่งผลิตผ้าไหมพื้นเมืองในเขตอำเภอตอนบนอยู่ที่ตำบลบ้านคิ้ว บ้านหวาย อำเภอหล่มสัก บ้านวังบาล บ้านหินกลิ้ง อำเภอหล่มเก่า และอำเภอน้ำหนาว
            ประเภทผ้าพื้นเมืองตามการใช้สอย มีอยู่หลายประเภทด้วยกันคือ
                ผ้าห่มสีเขา  ทอจากผ้าฝ้ายมีลวดลายในโครงสร้างของผ้า ลวดลายส่วนใหญ่เป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน สีของผ้าเส้นด้ายที่ใช้ทอจะใช้สองสี ใช้เป็นผ้าขนห่มและผ้าคลุมไหล่ในฤดูหนาว
                ผ้าขาวม้า  มีทั้งชนิดทอจากฝ้ายและไหม ผ้าฝ้ายจะใช้ด้ายสองสี ได้ลวดลายเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส และสี่เหลี่ยมผืนผ้าตามที่ต้องการ ผ้าขาวม้าไหมส่วนใหญ่จะใช้เป็นผ้าพาดบ่าหรือผ้าพันเอว
                ผ้าซิ่น  ผ้าซิ่นพื้นเมืองในเขตอำเภอตอนบน แตกต่างกับอำเภอตอนล่างโดยมีโครงสร้างของผ้าซิ่นเป็นสามส่วนคือหัวซิ่น ตัวซิ่น และตีนซิ่น
                ซิ่นฝ้าย  เป็นซิ่นที่ใช้กันทุกครัววเรือน เพราะดูแลรักษาง่าย ทนทาน สีสวย ทำลวดลายได้ง่าย ลวดลายที่นิยมคือ ซิ่นลายมัดหมี่ ซิ่นมุก และซิ่นราชวัตร
                ผ้าโสร่งไหม  เป็นผ้านุ่งของชาย ลวดลายของผ้าโสร่งเกิดจากการนำเอาผ้าไหมหลาย ๆ สี เข้ามาทอด้วยกัน ลวดลายจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
                ผ้าเบี่ยง  เป็นผ้าขาวเนื้อบาง ขนาด ๐.๕๐ - ๑.๘๐ เมตร ใช้สำหรับห่มทับเสื้อนอกคล้ายการห่มสไป ในอดีตการทอผ้าเบี่ยงจากฝ้าย ใช้การทอแบบลายธรรมดา
            ลวดลายผ้าพื้นบ้าน  เป็นภูมิปัญญาชาวพื้นเมือง และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน แบ่งออกได้ดังนี้

                การทอธรรมดา  คือ การทอลายขัด ใช้ทอผ้าขาวม้าและผ้าซิ่น จะทำให้เกิดลวดลาย โดยวิธีทอด้วยเส้นด้ายต่างสีกันหรือจะใช้การทอมัดหมี่ก็ได้

                การทอยกดอก  ทำให้เกิดลวดลายในตัว ภาษาถิ่นเรียกว่า เก็บชิด คือ ให้เส้นด้ายสานกันเป็นลวดลายตามที่ต้องการ
                กล่าวได้ว่าผ้าพื้นเมืองเพชรบูรณ์จำแนกตามวิธีทอเป็นสองประเภทคือผ้าขิด และผ้ามัดหมี่

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |