| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

นาฎดุริยางค์ศิลป์ ดนตรี และการละเล่นพื้นบ้าน
            วงตุ๊บเก่ง  เป็นดนตรีพื้นบ้านของผู้ที่อยู่ในแถบตำบลละเดียว และตำบลป่าเสา อำเภอเมือง ฯ ปัจจุบันมีผู้สืบทอดดนตรีชนิดนี้เพียงไม่กี่คน
            ในสมัยสงครามมหาเอเซียบูรพา ได้มีการแข่งขันวงตุ๊บเก่งระหว่างวงของบ้านป่งแดงกับวงของบ้านสะเดียว วงบ้านป่าแดงชนะ เพราะมีเพลงมากกว่า ปัจจุบันวงที่มีชื่อเสียงคือวงป่าแดง
                ประเภทเครื่องดนตรี  เพลงที่บรรเลงจะเป็นเพลงบรรเลงเล่นในงานศพ งานเทศกาลวงกรานต์ งานอุ้มพระดำน้ำ แต่ละวงจะมีผู้เล่นห้าคน เครื่องดนตรีประกอบด้วย ฆ้องกระแต หนึ่งใบ ฆ้องโหม่งสองใบ กลองสองหน้า สองใบ ปี่แต้ สองเลา
                เพลงที่เล่น  มีประมาณ ๓๒ เพลง แต่ที่นิยมมีเพียง ๘ - ๙ เพลง คือ เพลงสาธุการ เพลงสามใบหยัก เพลงปลงศพ เพลงเดินหน เพลงแก้วน้อยดับไฟ เพลงตะเข้ลากหาง เพลงนางช้อง เพลงแกะชนกัน
                เครื่องยกครู  ประกอบด้วย กรวยหมาก ๑ คู่ บายศรี ๑ ใบ ด้าย ๑ ไจ ปลาย่าง ๑ ตัว เทียนน้ำมนต์ ๑ เล่ม บุหรี่ ๑ ซอง เหล้าขาว ๑ ขวด เงิน ๖๖ บาท แก้ว ๑ ใบ ขันน้ำมนต์ ๑ ใบ ธูป ๙ ดอก ข้าวเหนียว ๑ ปั้น
                เจ้าภาพจะเป็นผู้เตรียมเครื่องยกครู การยกครูทำที่บ้านโดยใช้ปี่นำวง

           เพลงฉ่อย  เป็นวรรณกรรมรูปแบบหนึ่งที่นิยมในภาคกลาง ได้เข้ามาสู่จังหวัดเพชรบูรณ์มานานในศตวรรษก่อน มีร้องเล่นการหลาย ๆ ท้องที่ทั้งในอำเภอเมือง อำเภอหล่มสัก อำเภอศรีเทพ และอำเภอหนองไผ่ แต่เพลงฉ่อยที่สืบทอดมาถึงปัจจุบันและมีชื่อเสียงแพร่หลายคือเพลงฉ่อยบ้านสะเดียง
                ประวัติความเป็นมา  แม่เพลงฉ่อยและพ่อเพลงฉ่อยต่าง ๆ ของชาวเพชรบูรณ์โดยเฉพาะนั้นจะมีเพลงฉ่อยบ้านสะเดียวเท่านั้น ที่เป็นชนดั้งเดิมของชาวเพชรบูรณ์ ซึ่งได้รับอิทธิพลของเพลงฉ่อยภาคกลาง
                อุปกรณ์การเล่น  เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบด้วยฉิ่ง ฉาบ กรับ และโทน เครื่องประกอบจังหวะ ในเวลาต่อมามีเพียงการปรบมือและการร้องรับเท่านั้น
                การแต่งกาย  ทั้งชายและหญิงมีการแต่งการคล้ายกันคือนิยมนุ่งผ้าโจงกระเบน ฝ่ายชายใส่เสื้อคอกลมหรือคอพวงมาลัย ลายดอกสีสด มีผ้าขาวม้าคาดเอว ฝ่ายหญิงใส่เสื้อคอกลม หรือคอแหลม มีทั้งสีพื้นและลายดอกสีสด มีผ้าพาดไหล่คนละสี ไม่นิยมใส่เครื่องประดับ ทั้งชายและหญิงประแป้ง เป็นลายพร้อย
                ลักษณะคำประพันธ์  นิยมใช้กลอนหัวเดียวแบบเพลงพื้นบ้านทั่วไป โดยเฉพาะกลอนไลและกลอนลา เพราะหาคำลงสัมผัสได้ง่าย บทหนึ่งมีสองวรรค คำในวรรคตั้งแต่ ๖ - ๑๒ คำ คำสุดท้ายของวรรคหน้ามักจะมีสัมผัสกับคำที่สาม สี่ ห้า ของวรรคหลัง และคำท้ายบทส่งสัมผัสต่อเนื่องด้วยสระเสียงเดียวกันจนจบบท บทหนึ่งมีความยาวไม่จำกัด
                วิธีเล่น  เล่นกันเป็นชุด การร้องจะเริ่มตั้งแต่บทไหว้ครู โดยฝ่ายชายจะไหว้ครูก่อน ในระหว่างไหว้ครูจะไม่มีการปรบมือ หลังจากไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไหว้บิดามารดาแล้วก็จะถึงบทไหว้ครูเพลง
                ต่อจากไหว้ครูก็จะเข้าบทเรียน ทำนองบทเกริ่น จะใช้ทำนองเพลงโคราชทั้งหญิงและชาย เนื้อเรื่องแบ่งเป็นสองฝ่ายคือหญิงเนื้อหนึ่ง ชายเนื้อหนึ่ง โต้ตอบกัน
                หลังจากเกริ่นแล้วก็จะเข้าเพลงตับต่าง ๆ ซึ่งมีจังหวะเพลงเหมือนกัน ระหว่างที่ร้องจะมีการปรบมือให้จังหวะมีลูกคู่ ร้องสอดกระทุ้งว่า หนอยแน่ หรืออุ๊ยแม่ ชาล้าชา โดยตลอด ยกเว้นตอนจบจากบทการร้องอาจจะร้องไปจนจบบท แล้วลูกคู่จึงรับวรรคสุดท้ายวรรคหนึ่ง แล้วร้องใหม่อีกวรรคหนึ่ง ให้ลูกคู่ร้องสลับกันก็ได้
                ลำดัการเล่น ดำเนินไปแบบเดียวกับเพลงฉ่อย ในจังหวัดอื่นคือ บทไหว้ครู บทเกริ่น บทประ การร้องโต้ตอบซึ่งประกอบด้วยตับต่าง ๆ บทลาหรือร้องลา
                เนื้อหาที่นำมาร้องในเพลงฉ่อย บ้านสะเดียง นอกจากจะมีการร้องโต้ตอบเชิงเกี้ยวพาราสีแล้ว ยังมีการนำเรื่องราวในวรรณคดี หรือนิทานพื้นบ่านเช่น นกกระจาบ ขุนช้างขุนแผน พระอภัยมณี ฯลฯ

            ระบำศรีเทพ  สถาบันราชภัฎเพชรบูรณ์ได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องเทวรูป ประติมากรรม และท่าร่ายรำจากคัมภีร์นาฎศาสตร์ และประดิษฐท่ารำมี ๒๔ ท่า
                เพลงที่ใช้ประกอบ  ได้นำเพลงขอมดำเนินในอัตราชั้นเดียว นำมาขยายเป็นอัตราสองชั้น มาใช้บรรเลงประกอบการแสดง
                การแต่งกาย  นำมาจากเทวรูปที่ปรากฎในเมืองโบราณศรีเทพ และศึกษาเพิ่มเติมจากเครื่องแต่งกายของขอม ที่มีอายุใกล้เคียงกับอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ



            รำเสื้อแขบลาน  เป็นการรำที่มีมานานแล้ว พบที่ตำบลบ้านติ้ว อำเภอหล่มสัก แขบลานเป็นภาษาพื้นเมืองแปลว่า แถบ จึงสามารถเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า รำเสื้อแถบลาน การตั้งชื่อตั้งตามลักษณะการแต่งตัวในเวลารำคือ เสื้อสำหรับแต่งตัวเวลารำจะมีแถบใบลานแห้งมาเย็บติดเป็นลวดลายต่าง ๆ สวยงาม
            การรำเสื้อแถบลาน จะออกแสดงในงานเทศกาลต่าง ๆ เช่น เทศกาลเข้าพรรษา เทศกาลบุญบั้งไฟ (บ้องไฟ)  ศิลปะการฟ้อนรำประเภทนี้มีอยู่ ณ ที่นี้เพียงแห่งเดียวเท่านั้น แต่เริ่มมาแต่สมัยใดยังไม่มีผู้ใดทราบ
                การแต่งกาย  เสื้อที่ใช้เป็นเสื้อหม้อฮ่อมไม่มีปก แขนยาวทรงกระบอก ตามลำตัวและแขนเสื้อเย็บติดด้วยแถบลาน อ่อนที่ตากแห้งแล้ว กว้างประมาณ ๑ เซนติเมตร ใช้กรรไกรตัดริมให้เป็นหยักสวยงาม แล้วนำไปเย็บติดกับเสื้อให้มีลวดลายตามที่ต้องการ อาจย้อมสีเหลืองอ่อน ๆ ก็ได้ เสื้อของผู้รำหญิง และชายจะเหมือนกัน ที่ต่างกันคือ ผู้ชายนุ่งกางเกงสีดำขาสั้นแบบชาวบ้าน ส่วนผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่นแบบชาวบ้าน ส่วนมากจะเป็นผ้าไหมมัดหมี่ ที่เอวจะติดกระดิ่งข้างละลูก เวลารำจะมีเสียงดังตามจังหวะกลอง น่าฟังมาก ศีรษะทุกคนทั้งชายหญิงจะโพกผ้าแดง ผู้รำจะใส่เล็บ ซึ่งทำด้วยซี่ไม้ไผ่เล็ก ๆ สานเป็นกระบอก สำหรับใส่นิ้วมือ ปลายเล็บเรียวยาวประมาณ ๑ ฟุต พันด้วยไหม หรือด้ายแดงสลับกับสีเหลือง และที่ปลายเล็บทำเป็นดอกแดง
                ดนตรี  มีอยู่สามชนิด คือ กลองขนาดใหญ่ เรียกว่า กลองบั้ง เป็นกลองสองหน้า ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เจาะตรงกลาง ยาวประมาณ ๑ - ๓ ฟุต  เวลาตีประกอบการรำต้องใช้สองคนหาม โดยหันหน้ากลองไปทางเดียวกับไม้คานหาม คนหลังเป็นผู้ใช้ไม้เล็ก ๆ ตีตามจังหวะที่ต้องการ ดนตรีชิ้นต่อมาคือ ฆ้อง เป็นฆ้องขนาดใหญ่หรือเล็กก็ได้ โดยทั่วไปมีขนาดใหญ่ ให้คนหามกลองคนหน้า หรือคนอื่นตีก็ได้ การตีต้องตีให้เข้ากับจังหวะเสียงกลอง ชิ้นที่สามคือ ฉาย ต้องตีให้เข้าจังหวะเสียงกลองเช่นกัน
                ท่ารำ  วิธีรำ เพียงแต่ยกมือที่ใล่เล็บยาว ๆ ขึ้นแล้วเต้นไปตามจังหวะเสียงกลอง ฆ้องและฉาบ เพื่อให้กระดิ่งที่ผูกไว้ที่เอวดังไปตามจังหวะ ส่วนมือก็รำไปตามที่ต้องการ
     รำโจ่ง รำโทน และรำกลองยาว


                รำโจ่ง (รำโทน)    เป็นการละเล่นพื้นบ้านแถบอำเภอวิเชียรบุรี นิยมเล่นในเทศกาลสงกรานต์ ตอนเย็นหรือตอนค่ำ โดยแบ่งหญิงชายไว้คนละพวก สมมติให้ฝ่ายชายเป็นวัว ฝ่ายหญิงเป็นคนต้อนวัว ให้ฝ่ายหญิงไล่ต้อนฝ่ายชายเมื่อได้จนครบแล้ว จึงชวนกันออกมารำโดยให้ผู้ชายอยู่ในวง ในทีท่าเหมือนกำลังล้อมคอก ระหว่างไล่ต้อนและรำนี้ ใช้โทนตีให้จังหวะประกอบการรำ ดังโจ่ง จะโจง ครึ่ม ๆ จึงเรียกว่า รำโจ่ง
                รำกลองยาว  มีความแตกต่างจากรำกลองยาวที่อื่นคือ จะเน้น การแต่งกายแบบโบราณ นุ่งผ้าโจงกระเบน ใส่เสื้อแขนกระบอก หลากสี มีผ้าสีผูกเอว และคาดศีรษะ โดยใช้ผ้าสีฉูดฉาด เช่น เหลือง แดง ชมพู เครื่องดนตรีประกอบด้วยกลองยาว ห้าลูก ฉิ่ง ฉาบ ฆ้อง ปี่ชวา ซออู้ พิณ และแคน
            การละเล่น ตับเต่า  เล่นกันอยู่ในแถบพื้นที่ทางตอนเหนือของจังหวัดเพชรบูรณ์คือ อำเภอหล่มสัก และอำเภอหล่มเก่า เคยนิยมเล่นกันมากในสมัยก่อน คล้ายการแสดงลิเก ละครนอก และหมอลำ เป็นบทร้อยกรองพื้นถิ่นอีสานลักษณะหนึ่ง มีทำนองขับลำอยู่สองทำนองคือ
                - ทำนองเร็ว หรือทำนองแมงตับเต่า  ใช้สำหรับลำแทรกให้ตลก สนุกสนาน ทำนองแมงตับเต่า มีส่วนคล้ายทำนองกลอน
                - ทำนองช้า  หรือทำนองโอ่หนังสือ  มักใช้สำหรับดำเนินเรื่องตอนสำคัญต่าง ๆ ท่วงทำนองมีลักษณะบ่งบอกถึงความโศกเศร้า และวิงวอน
                จำนวนผู้เล่น  สมัยโบราณใช้ผู้ชายล้วน ไม่จำกัดจำนวน ประมาณ ๕ - ๑๐ คน ปัจจุบันมีผู้หญิงเข้ามาร่วมแสดงด้วย
                การแต่งกาย  ผู้แสดงแต่งกายเลียนแบบเครื่องแต่งกายของลิเกคือ ตัวพระ นุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อสีมีสายสังวาล ทับทรวง  ตัวนาง นุ่งผ้าซิ่นพื้นเมือง หรือนุ่งผ้าจีบหน้านาง สวมเสื้อสี หรือผ้าสไบเฉียง มีเครื่องประดับให้สวยงาม
                สำหรับผู้เล่นที่เป็นกษัตริย์รวมทั้งพระญาติวงศ์ จะนิยมสวมเทริด โดยยนำไม้ไผ่มาสานและตกแต่งด้วยกระดาษตะกั่วสีต่าง ๆ ให้ดูสวยงาม
                เครื่องดนตรี  ที่ใช้ประกอบการเล่นคือ ระนาด ๑ ราว กลอง ๑ ลูก แคน ๑ - ๒ เต้า ฉิ่ง ๑ คู่ พิณ ๑ ตัว ฉาบ ๑ คู่ ซอปี๊บ ๑ คัน (กระโหลกซอทำด้วยปี๊บ)
                เรื่องที่เล่น  ใช้วรรณกรรมอีสานเรื่องต่าง ๆ และเรื่องจากบทละครเช่นท้าวสีทน นางสิบสอง ท้าวสุริยวงศ์ การะเกด นางแตงอ่อน ท้าวก่ำตาดำ จำปาสี่ต้น พระเวสสันดร ท้าวผาแดงนางไอ ขุนทึ่ง ขุนเทือง นางผมหอม ปลาแดกปลาร้า สังข์ศิลป์ชัย ลิ้นทอง โสวัต
                วิธีการเล่น  ก่อนเล่นต้องบูชาหรือไหว้ครูก่อน ผู้เล่นทุกคนออกมาร่ายรำหน้าเวทีเรียกว่า แห่ท้าวแห่นาง เป็นการรำเบิกโรงก่อนที่จะเริ่มเล่น ผู้เล่นที่ออกมาเล่นครั้งแรก ทุกคนต้องร้องขึ้นต้นด้วยบทไหว้ครู เพื่อเป็นการขอพรให้ผู้เล่าสามารถในการร่ายรำ และขับลำโดยไม่ติดขัด จากนั้นจึงแนะนำตัวเอง เล่นเป็นใครในเรื่องนั้น
                การละเล่นตับเต่าจะสนุกหรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้เล่น การเล่นตับเต่าสามารถเล่นได้ทุกโอกาสในงานมงคล และอวมงคล
            การละเล่นแม่นางด้ง  นิยมเล่นในหมู่บ้านชนบทตั้งแต่สมัยโบราณ โดยนำอุปกรณ์ของใช้ในชีวิตประจำวันของชาวบ้านมาเป็นอุปกรณ์การเล่นคือ กระด้ง ที่ใช้ฟัดข้าว ร่อนข้าว และใช้ตากอาหารมาใช้
            การละเล่นนางด้ง ที่ใช้เป็นอุปกรณ์การเล่น ส่วนคำว่านางด้ง เป็นเพราะการเล่นชนิดนี้มักนิยมใช้ผู้หญิงเล่น จึงเรียกการเล่นนี้ว่า นางด้ง มักเล่นในบริเวณวัด และนิยมเล่นกันในงานสงกรานต์ มีผู้เล่นจำนวนตั้งแต่ ๑๐ คนขึ้นไป แบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งใช้ผู้หญิงถือกระด้งสองคน กลุ่มที่สองเป็นผู้ร้องเพลงเชิญนางด้ง
                อุปกรณ์การเล่น  แบ่งออกเป็นสองประเภทคือ อุปกรณ์ที่เป็นเครื่องเซ่นไหว้ประกอบด้วยขันธ์ห้าคือ ดอกไม้ ธูปเทียน ๕ ชุด แป้ง กำไลมือ น้ำหอม แหวน เสื้อผ้าผู้หญิง กระจก ตะเกียง หวี ตะแกรง
                อุปกรณ์ที่ใช้ในการเล่นประกอบด้วย กระด้ง ๑ ใบ สากตำข้าว ครกไม้ ๒ อัน
                วิธีการเล่น  ก่อนการเล่นต้องเตรียมเครื่องมือเซ่นไหว้ทุกอย่างให้ครบถ้วน แล้วนำสิ่งของทั้งหมดนำมาใส่ไว้ในตะแกรง และจุดไฟที่ตะเกียง นำไปวางตอนปลายสากข้างใดข้างหนึ่ง
                    ขั้นตอนที่ ๑ นำปูนที่ใช้กินกับหมากทาที่สากตำข้าว และครกไม้ทั้งสองข้าง ระหว่างด้านบนและด้านล่างให้รอบทั้งสองข้าง และที่กระด้งใช้ปูนกินกับหมาก ทำเครื่องหมายกากบาทตรงกลาง ด้านหลังของกระด้ง
                    ขั้นตอนที่ ๒ นำสากตำข้าว ครกไม้ทั้งสองอัน มาวางขนานกัน ห่างกันพอประมาณแล้วจึงนำกระด้งคว่ำหน้า ลงมาวางไว้บนสากตำข้าว ให้ขอบทั้งสองของกระด้ง ให้ตรงกับรอยนปูนที่ทำเครื่องหมายไว้บนสากตำข้าว
                    ขั้นตอนที่ ๓ ใช้ผู้เล่นกลุ่มที่หนึ่ง ซึ่งเป็นผู้หญิงสองคน นั่งหันหน้าชนกันระหว่างสากไม้และกระด้ง ใช้มือทั้งสองจับที่ขอบกระด้ง
                    ขั้นตอนที่ ๔ ให้ผู้ร่วมเล่นอื่น ๆ ในกลุ่มที่สองที่เหลือร้องเพลง ตบมือหรือเคาะภาชนะที่ทำให้เกิดเสียง เพื่อเป็นการประกอบจังหวะ
                    เพลงที่ใช้ประกอบการเล่นเป็นเพลงเชิญนางด้งให้มาสิงในกระด้ง โดยร้องซ้ำ ๆ หลายรอบจนกว่านางด้งจะเข้ามาสิงที่กระด้ง
                    เมื่อนางด้งเข้ามาสิงที่ในกระด้งแล้ว กระด้งจะดิ้นไปมาอย่างช้า ๆ แล้วเร็วขึ้น ทำให้ผู้เล่นคือ ผู้จับกระด้งต้องลุกจากที่แล้วเดินตามกระด้ง เพื่อนำไปหาเครื่องเซ่นไหว้ ถ้าคนยกเครื่องเซ่นไหว้วิ่งหนีกระด้งก็จะตาม เมื่อตามทันก็จะตีคนที่นำเครื่องเซ่นไหว้หนี ดังนั้น จึงเกิดการตามการหนีทำให้ผู้คนแตกตื่น ทำให้เกิดความสนุกสนาน
                    หลังจากนั้นก็จะนำเครื่องเซ่นไหว้ไปวางไว้กับที่ กระด้งจะนำผู้เล่นทั้งสองมาหาเครื่องเซ่นไหว้ แล้วกระด้งก็จะดิ้นตีเครื่องเซ่นไหว้ในตะแกรง จนกระจัดกระจายแล้วค่อย ๆ หยุดไปถือเป็นการหยุดเล่น ถ้าจะเล่นใหม่ต้องเปลี่ยนตัวผู้เล่นทั้งสองคนที่จะถือกระด้งทุกครั้ง และเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ใหม่ทุกครั้ง

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |