| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม

            ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ  เป็นประเพณีที่นำเอาต้นเค้าของประเพณีการทำบุญสารท มาผสมผสานกับความเชื่อในเรื่องอิทธิปาฎิหารย์ของพระพุทธรูปองค์หนึ่งมีนามว่า พระพุทธมหาธรรมราชา อันเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยจัดขึ้นในงานเทศกาลสารทไทย ตรงกับวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือนสิบ เป็นประเพณีที่แปลกไปจากจังหวัดอื่น ๆ

            หลักเมืองเพชรบูรณ์  ตั้งอยู่บนถนนหลักเมือง ใกล้ศาลากลางจังหวัด ประวัติของเสาหลักเมืองปรากฎหลักฐานว่า เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๗ สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนำเสาหินมาจากเมืองศรีเทพ
            เสาหินหลักเมืองดังกล่าวมีลักษณะพิเศษกว่าเสาหลักเมืองอื่น ๆ คือ มีความเก่าแก่เป็นเสาหินทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนบนเป็นรูปสี่เหลี่ยมปลายมน ขนาดด้านหน้ากว้างประมาณ ๓๐ เซนติเมตร ด้านข้างประมาณ ๑๕ เซนติเมตร ฝังลงไปในดินโผล่สูงจากพื้นศาลประมาณ ๘๕ เซนติเมตร
            มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ศาลหลักเมืองน่าจะตั้งอยู่บริเวณวัดมหาธาตุ และก่อนที่จะย้ายมาอยู่ ณ ที่ปัจจุบันนั้นศาลหลักเมืองอยู่ที่โรงเรียนโฆสิตวิทยา การจัดสร้างศาลหลักเมืองใหม่ จัดทำเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๓

            หลักเมืองนครบาลเพชรบูรณ์  ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข ๒๑ ถนนสายสระบุรี - หล่มสัก ตรงที่แยกบ้านบุ่งน้ำเต้า อำเภอหล่มสัก เสาหลักเมืองทำด้วยไม้ มีลักษณะเสาหัวเม็ดทรงมัน สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๗  เนื่องจากในระหว่างสงครามมหาเอเซียบูรพา ทางรัฐบาลมีนโยบายย้ายเมืองหลวงไปอยู่ในที่ปลอดภัย จึงได้ประกาศใช้พระราชกำหนด ระเบียบบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ และสร้างพุทธบุรี พ.ศ.๒๔๘๗  ต่อมาได้มีการทำพิธีฝังเสาหลักเมืองนครบาลเพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๗
            เดิมเสาหลักเมืองนครบาลเพชรบูรณ์ปล่อยทิ้งไว้ ต่อมามีการสร้างเป็นศาลหลักเมืองเป็นอาคารไม้จตุรมุข ตั้งอยู่บนเนินดิน ต่อมาได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙ เป็นอาคารจตุรมุข ยอดปรางค์แบบขอม และมีรูปแบบศิลปะอย่างอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์
บุคคลสำคัญ
            พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  พระองค์เคยเสด็จมาเมืองเพชรบูรณ์ ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาจักรีในสมัยกรุงธนบุรี

            ในครั้งนั้น อะแซหวุ่นกี้แม่ทัพพม่ายกกำลังมาล้อมเมืองพิษณุโลก กองทัพไทยมีเจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพมีกำลังน้อยกว่า และขาดแคลนเสบียงอาหาร จึงจำต้องนำกำลังตีฝ่าวงล้อมของทหารพม่าไปทางทิศตะวันออก มาชุมนุมกำลังที่เมืองเพชรบูรณ์ ที่ตำบลท่าพล อำเภอเมือง ฯ ในปัจจุบัน
            ก่อนยกทัพกลับเมืองพิษณุโลก พระองค์ได้นำกองทัพผ่านมาทางวัดพระศรีมหาธาตุ พาเหล่าทหารทำพิธีพุทธบูชาหลวงพ่อเพชร พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ประจำเมืองเพชรบูรณ์ เมื่อเสร็จพิธี ได้นำทหารเปล่งคำว่า มีชัยสามครั้ง จากนั้นได้นำกองทัพเข้าตีเมืองพิษณุโลกกลับคืนมาได้สำเร็จ ดังนั้นในเวลาต่อมาจึงได้เรียกหลวงพ่อเพชรว่า หลวงพ่อเพชรมีชัย
            พระยาเพชรรัตน์สงคราม (เฟื่อง  เฟื่องเพชร)  เป็นชาวกรุงเทพ ฯ เมื่อเข้ารับราชการได้เป็นที่พระสงครามภักดี นายอำเภอน้ำปาด  ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๐ ได้เป็นผู้รั้งราชการเมืองเพชรบูรณ์ และได้เป็นที่พระยาเพชรรัตน์สงคราม ผู้ว่าราชการเมืองเพชรบูรณ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๒
            พระยาเพชรรัตน์สงคราม  เป็นผู้มีสติปัญญาความรู้ความสามารถในทุกด้าน ตั้งใจปฏิบัติงานเพื่อให้เมืองเพชรบูรณ์เจริญ โดยจัดรูปแบบการปกครองเมืองเพชรบูรณ์ แบบมณฑลพิษณุโลก ทำให้มณฑลเพชรบูรณ์เป็นที่รู้จักในหมู่นักปกครอง

            จอมพล ป. พิบูลสงคราม  เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๐ ที่จังหวัดนนทบุรี เมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม แล้วได้เข้ามาเป็นนักเรียนนายร้อย และนักเรียนโรงเรียนเสนาธิการทหารบก สอบได้ที่หนึ่ง ทางราชการกระทรวงกลาโหม จึงได้ส่งไปศึกษาวิชาการทหารที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อกลับมารับราชการในกองทัพบกแล้ว ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๕ ก็ได้ร่วมมือในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
            ในช่วงเวลาของสงครามมหาเอเชียบูรพา จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการพิจารณาย้ายเมืองหลวงให้ไปอยู่ในที่ปลอดภัย และเพื่อฟื้นฟูพัฒนาสถาบันทางศาสนา จึงได้ยกร่างพระราชกำหนดสร้างนครบาลขึ้นใหม่ เพื่อย้ายสถานที่ราชการส่วนกลางไปตั้งอยู่ในเขตนครบาลใหม่ ชื่อว่า พระราชกำหนดนครบาลเพชรบูรณ์ และสร้างพุทธบุรี พ.ศ.๒๔๘๗

            พลเอก พิจิตร  กุลละวณิชย์  เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕ ที่กรุงเทพ ฯ  เมื่อเรียนจบจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยแล้ว ได้ศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมนายร้อย แล้วไปศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยเวสท์ป๊อยท์ สหรัฐอเมริกา แล้วกลับมารับราชการในกองทัพบก ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรผู้บังคับหมวดและการรบพิเศษจู่โจม - โดดร่ม และโรงเรียนชั้นนายพัน เหล่าทหารราบสหรัฐอเมริกา โรงเรียนเสนาธิการทหารบก และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
            ระหว่างรับราชการได้ดำรงตำแหน่งทางการทหาร ตั้งแต่เป็นครูโรงเรียนทหารราบศูนย์การทหารราบ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๒ จนเป็นหัวหน้ากองยุทธการ กองทัพภาคที่ ๓ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐  เป็นผู้บัญชาการกองพลที่ ๑ รักษาพระองค์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๔  เป็่นแม่ทัพภาคทัพภาคที่ ๑ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗ เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก  เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๙ เป็นรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒ และเป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหม เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔
            ในระหว่างปี พ.ศ.๒๔๒๔ - ๒๕๒๕  ขณะที่ทำหน้าที่รองผู้อำนวยการผสม พลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่ ๑๖๑๗ (พตท.๑๖๑๗) ได้จัดกำลังพลจากหน่วยต่าง ๆ ขึ้นปฎิบัติงานตามแผนยุทธการผาเมืองเผด็จศึก ๑,๒,๓ จนสามารถทำลายฐานที่มั่นสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย บริเวณเขาค้อได้สำเร็จ จนได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้น ๔ อัศวิน
            นอกจากนั้น ยังเป็นผู้ริเริ่มและมีส่วนร่วมในการสร้างพระตำหนักเขาค้อ การสร้างอนุสรณ์ผู้เสียสละเขาค้อ จัดตั้งหมู่บ้าน ๓๓ หมู่บ้าน โครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็ก การสร้างพิพิธภัณฑ์อาวุธ และการสู้รบเขาค้อ การสร้างสวนสัตว์เปิดเขาค้อ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ การจัดตั้งธนาคารข้าวอันเนื่องมาจากพระราชดำริ การจัดระบบการเกษตรแผานใหม่เขาค้อ และการปลูกป่าทดแทน

            นายปัญจะ  เกสรทอง  เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๔ ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษา ที่โรงเรียนเพชรพิทยาคม อำเภอเมือง ฯ จังหวัดเพชรบูรณ์
            นายปัจจะ  เกสรทอง  เป็นผู้ประสบความสำเร็จทางการเมืองคนหนึ่ง เนื่องจากได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากจังหวัดเพชรบูรณ์ ถึง ๑๑ ครั้ง นับเป็นผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งมากที่สุดของวงการเมืองไทยผู้หนึ่ง ทำให้ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งสำคัญคือ ในปี พ.ศ.๒๕๓๑ - ๒๕๓๔  ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร และเป็นประธานรัฐสภา พร้อมกันด้วย ถือเป็นตำแหน่งสูงสุดในฝ่ายนิติบัญญัติ
            นอกจากนั้น ยังได้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๐ และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในปี พ.ศ.๒๕๔๑ และ พ.ศ.๒๕๔๒

            นายจุล  คุ้มวงศ์  เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๖ ที่กรุงเทพ ฯ จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ จากโรงเรียนวัดเทพศิรินทร บิดามารดาประกอบอาชีพค้าขาย ต่อมาเปลี่ยนเป็นอาชีพเกษตรกรรม ทำสวนอยู่บริเวณสามเสนใน สนามเป้า กรุงเทพ ฯ
            นายจุล เป็นผู้มีนิสัยชอบอิสระ แสวงหาความรู้และชอบหาประสบการณ์ชีวิต จึงแยกตัวออกไปประกอบอาชีพของตนหลายอาชีพ ในที่สุดได้มาทำสวนอยู่ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ตำบลดงขุย แถบวัดหนองพยอม ทำไร่ข้าวโพด ไร่ฝ้าย ปลูกเงาะ ทุเรียน ส้ม ฯลฯ  รวมทั้งเลี้ยงหมูด้วย สวนถูกน้ำท่วมในปี พ.ศ.๒๔๘๓ เหลือเพียงต้นส้มประมาณ ๑๕๐ ต้น เป็นส้มพันธุ์ดีในยุคนั้น เป็นส้มของเจียไต้จึง (ปัจจุบันคือ บริษัทเจริญโภคพันธุ์)
            นายจุล ได้รับคำแนะนำจากหลวงพ่อทบ ให้ไปหาซื้อที่ใหม่ที่สามแยกวังชมภู ซึ่งเดิมเป็นป่าหมาก มีซับน้ำชุ่มชื้นเหมาะกับการทำสวนผลไม้ จึงได้เริ่มปลูกส้ม สัปปะรดฮาวาย เลี้ยงไก่ ขายไก่ ปลูกพุทรา พันธุ์กัลลัตตา แตงโม ข้าวโพด อ้อย ถั่วเขียว ถั่วขาว แะลกล้วย นำพืชผลที่ได้ไปขายที่ตลาดสามแยกวังชมภู ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๔-๒๔๘๕ ได้เริ่มปลูกอ้อยส่งโรงหีบอ้อยน้ำตาลทรายแดง ที่ตะพานหิน จังหวัดพิจิตร
            นายจุล ได้หาพันธุ์ส้มในแถบลุ่มแม่น้ำป่าสัก ได้พันธุ์ดี ที่บ้านปากน้ำ และคลองศาลา อำเภอเมือง ฯ ต่อมาส้มที่นำมาจากดงขุย มีอายุมากขึ้นกว่าสิบปี ส้มเหล่านั้นได้ปรับปตัวมีรสหวาน อร่อย จึงได้ขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นอีกประมาณ ๑,๓๐๐ ไร่ เกิดเป็นตำนานไร่ส้มกำนันจุลที่เลื่องลือของจังหวัดเพชรบูรณ์

            นายจุล เป็นผู้มีนิสัยเอื้อเฟื้อ ชอบผูกมิตรกับคนทั่วไป จึงเป็นที่รักใคร่และเป็นที่พึ่งของชาวบ้าน ในละแวกตำบลวังชมภู จึงได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน และเป็นกำนันตำบลวังชมภู ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๘๘ - ๒๕๐๑  รวม ๑๔ ปี ได้สร้างชุมชนให้เห็นความสำคัญของการร่วมมือ ร่วมใจในการพัฒนาชุมชน ไร่กำนันจุลมักจะได้ต้อนรับบุคคลสำคัญเป็นที่พักของแขกบ้านแขกเมืองเพชรบูรณ์ และได้มีโอกาสถวายการต้อนรับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งทรงเสด็จเยี่ยมไร่กำนันจุล เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๗

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |