| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางวัฒนธรรม
อุทยานเมืองเก่าจังหวัดพิจิตร
            เมืองพิจิตรเดิมอยู่ในเขต อำเภอโพทะเล  ต่อมาได้อพยพมาตามลำแม่น้ำน่านเก่าขึ้นมาทางเหนือ  ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านสระหลวง  ในเขตเมืองเก่า อำเภอเมืองพิจิตร  อยู่ห่างจากตัวเมืองปัจจุบันไปทางทิศตะวันตกประมาณ 8 กิโลเมตร  ต่อมาเมื่อลำน้ำน่านเก่าเปลี่ยนทางเดินจึงได้ย้ายเมืองมาตั้งใหม่ในตัวเมืองปัจจุบัน
            อุทยานเมืองเก่ามีลักษณะเป็นเมืองโบราณ  มีกำแพงเมือง คูเมือง เจดีย์เก่า  มีสวนรุกขชาติกาญจนกุมาร  ศาลหลักเมือง  วัดมหาธาตุ ซึ่งมีพระธาตุเจดีย์ทรงลังกา  และถ้ำชาละวัน
โพธิประทับช้าง
            ชื่อนี้มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยามีความว่า  พระเพทราชาเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งจางวางช้างได้ตามเสด็จ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อเสด็จ ฯ ไปนมัสการ พระพุทธชินราชและพระพุทธชินสีห์ที่เมืองพิษณุโลก  ได้นำภรรยาพระราชทานซึ่งในขณะนั้นมีครรภ์แก่ไปด้วย  เมื่อมาถึงหมู่บ้านแห่งนี้นางเกิดเจ็บครรภ์และคลอดบุตรที่ใต้ต้นมะเดื่อใหญ่  บุตรคนนั้นจึงได้ชื่อว่า เจ้าเดื่อ  ส่วนขบวนช้างพระที่นั่งของสมเด็จ พระนารายณ์มหาราชได้หยุดอยู่ที่ใต้ต้นโพธิใหญ่  ต่อมาเมื่อเจ้าเดื่อได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระสรรเพ็ชญที่ 8  (พระเจ้าเสือ)  จึงทรงสร้างวัดขึ้นที่หมู่บ้านแห่งนี้ และพระราชทานนามว่า วัดโพธิประทับช้าง  วัดนี้ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่านเก่าด้านทิศตะวันออก  ตำบลโพธิประทับช้าง  อำเภอโพธิประทับช้าง  หน้าวัดมีต้นตะเคียนใหญ่ประมาณ 7 คนโอบ  กล่าวกันว่ามีอายุกว่า 250 ปีมาแล้ว
จิตรกรรมฝาผนังวัดห้วยเขน
            วัดห้วยเขน อยู่ที่ตำบลห้วยเขน  อำเภอบางมูลนาก  พระอุโบสถหลังเก่าสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2456 มีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องทศชาติชาดก  และพุทธประวัติ  เป็นภาพที่ให้สีได้สวยงาม
เกาะศรีมาลา
            มีลักษณะเป็นมูลดินเล็กๆ อยู่กลางคูเมือง  นอกกำแพงเมืองพิจิตรเก่า  สันนิษฐานว่าเดิมน่าจะเป็นป้อมหรือหอคอย  สำหรับตรวจตราความเคลื่อนไหวของข้าศึกภายนอกกำแพงเมือง  เพราะตั้งอยู่นอกกำแพงเมือง และอยู่กลางคูเมือง
ถ้ำชาลวัน
            มีประวัติความเป็นมาจากวรรณคดีเรื่องไกรทอง  บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ตัวถ้ำสันนิษฐานว่าอยู่กลางแม่น้ำน่านเก่า  อยู่ในเขตบ้านวังกระดี่ทอง  ตำบลย่านยาว  ปากถ้ำกว้างประมาณหนึ่งเมตร  ยาวประมาณหนึ่งเมตรครึ่ง และลึกประมาณสี่เมตร  มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า เมื่อประมาณเกือบร้อยปีมาแล้ว มีพระภิกษุวัดนครชุมรูปหนึ่ง เข้าไปสำรวจถ้ำ โดยได้จุดเทียนไขส่องทางเข้าไป  เมื่อเดินไปจนเทียนไขหมดไป 1 เล่มก็ยังไม่ถึงที่สุดของถ้ำ จึงไม่ทราบว่าภายในถ้ำ มีความวิจิตรงดงามตามที่บรรยายไว้ในเรื่องไกรทองเพียงใด ปัจจุบันดินได้พังทลายทับถมจนถ้ำตื้นเขินทรุดโทรมไป
            ชาลวัน    เป็นจรเข้ใหญ่ที่เลื่องชื่อของแม่น้ำน่านเก่าเมืองพิจิตร  มีเรื่องราวมาตั้งแต่สมัยที่เมืองพิจิตรมีเจ้าเมืองปกครอง  ตามตำนานกล่าวว่า  มีตายายสองคนออกไปหาปลา พบไข่จรเข้ที่สระน้ำแห่งหนึ่งจึงเก็บมาฟักเป็นตัวแล้วเลี้ยงไว้ในอ่างน้ำ  เพราะยายอยากเลี้ยงไว้แทนลูก  ต่อมาเมื่อจรเข้ตัวใหญ่ขึ้นจึงนำไปเลี้ยงไว้ในสระใกล้บ้าน  และหาปลามาเลี้ยงเป็นประจำ  ต่อมาจรเข้ใหญ่ขึ้น ตายายหาปลามาให้ไม่พอ  จรเข้จึงกินตายายเป็นอาหาร  แล้วออกจากสระไปอาศัยอยู่ในแม่น้ำน่านเก่า  ซึ่งไหลผ่านบ้านวังกระดี่ทอง  บ้านดงเศรษฐี  บ้านดงชะพลู  บ้านหนองคะเชนทร  บ้านเมืองพิจิตรเก่า  บ้านท่าข่อยจนถึงบ้านบางคลาน  จรเข้ตัวนี้ได้ออกอาละวาดอยู่ในแม่น้ำ ตั้งแต่ย่านเหนือเขตวังกระดี่ทอง  จนถึงเมืองเก่า  เที่ยวกินคนทั้งบนบกและในน้ำไม่เว้นแต่ละวัน  จนได้นามว่าไอ้ตะละวัน  ต่อมาจึงเพี้ยนเป็นชาละวัน  คนรุ่นเก่าเล่าถึงความใหญ่โตของชาละวันว่า เวลามันลอยตัวปริ่มน้ำขวางคลอง  หัวและหางจะยาวจรด 2 ฝั่งคลอง
            ต่อมาชาลวันไปคาบเอาบุตรสาวคนหนึ่งของเศรษฐีเมืองพิจิตร  ขณะที่อาบน้ำอยู่ที่แพท่าน้ำหน้าบ้าน  เศรษฐีจึงประกาศให้สินบนหลายสิบชั่ง  พร้อมทั้งยกลูกสาวอีกคนหนึ่งให้แก่ผู้ที่ฆ่าชาลวันได้  มีพ่อค้าคนหนึ่งจากเมืองล่าง  สันนิษฐานว่าจากเมืองนนทบุรี ชื่อไกรทอง  ได้เข้ามาอาสาจับชาลวันได้ด้วยหอกลงอาคมของหมอจระเข้

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |