| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์

การตั้งถิ่นฐาน
            เมื่อปี พ.ศ. 2536  ได้ตรวจมีการตรวจสอบแหล่งโบราณคดีที่ตำบลป่าคำ อำเภอเมือง  พบโบราณวัตถุที่ทำให้สันนิษฐานได้ว่า  เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย อายุประมาณ 2,000-3,000 ปี  จากการสำรวจด้วยภาพถ่ายทางอากาศ พบว่าชุมชนโบราณอยู่ในเขตจังหวัดพิจิตรรวม 10 แห่ง คือ ที่บ้านเมืองเก่า ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง  ที่บ้านโคกใต้  บ้านไดรัง ตำบลห้วยร่วม  บ้านห้วยเรียงใต้ ตำบลวังกรด  บ้านไดปลาดุก ตำบลวังสำโรง อำเภอบางมูลนาก  บ้านทุ่งโพธิ อำเภอโพธิประทับช้าง  บ้านปุ่มประดู่ ตำบลดงเสือเหลือง อำเภอตะพานหิน  บ้านทับคล้อ ตำบลทับคล้อ  บ้านหมองเดื่อ ตำบลเขาทราย อำเภอทับคล้อ และที่บ้านทุ่งพระเนียด ตำบลหนองหลุม อำเภอวชิรบารมี
            นอกจากนี้ ยังปรกฎร่องรอยเมืองโบราณชื่อ เมืองไชยบวร  อยู่ในเขตตำบลบ้านน้อย อำเภอโพทะเล  สันนิษฐานว่าเป็นเมืองปากยมที่มีอยู่ในศิลาจารึกสมัยกรุงสุโขทัย  ปากยม คือ บริเวณที่แม่น้ำยมไหลมาบรรจบแม่น้ำน่าน  แต่เนื่อจากแม่น้ำน่านได้เปลี่ยนทางเดินไปตั้งสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ทำให้กำหนดที่ตั้งเมืองปากยมไม่ได้
            เมืองพิจิตรเก่าเป็นของกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่ปี พ.ศง 1959  ตามที่ปรากฎหลักฐานในจารึกลานทอง  ซึ่งพบที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ที่เมืองพิจิตรเก่า มีข้อความเป็นพระบรมราชโองการเลื่อนสมณศักดิ์ พระเถรพุทธสาคร ซึ่งเป็นพระครูธรรมโมลีศรีราชบุตร เมื่อปี พ.ศ. 1959  ซึ่งอยู่ในรัชสมัยสมเด็จพระศรีนครินทราชาแห่งกรุงศรีอยุธยา
            จากพงศาวดารเมืองเหนือ ในเรื่องพระยาแกรก มีความว่า เมื่อพระยาโคตมเทวราช หนีพระยาแกรก ไปตั้งเมืองใหม่ที่บ้านโกณทัญญคาม  ซึ่งเป็นชุมชนโบราณ มีผู้อยู่อาศัยมาแล้วหลายชั่วคน  ต่อมาเจ้ากาญจนกุมารผู้เปนพระราชบุตร ได้ครองเมืองต่อจากพระราชบิดา  จึงได้นามว่า เจ้าโคตรตะบอง และได้สร้างเมืองพิจิตร  มีเชื้อสายปกครองสือต่อกันมาประมาณ 200 ปี วงศ์โคตรตะบองก็สิ้สุดลง เนื่องจากไม่มีรัชทายาทสืบราชสมบัติ คงมีแต่สามัญชนเป็นเจ้าเมืองปกครองต่อมา
            เมื่อกรุงสุโขทัยมีอำนาจแผ่อาณาเขตลงมาทางใต้ เมืองพิจิตรจึงตกอยู่ในอำนาจการปกครองของอาณาจักรสุโขทัย และอยู่ในฐานะเมืองหน้าด่านทางทิศใต้ หรือเมืองลูกหลวง เมื่อกรุงสุโขทัยเสื่อมอำนาจลง และกรุงศรีอยุธยามีอำนาจขึ้น เมืองพิจิตรจึงมาขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา ในสมัยอยุธยาตอนปลาย เมืองพิจิตรมีเมืองขึ้นอยู่เมืองหนึ่งคือ เมืองภูมิ หรือเมืองภูมิพระราชทาน  อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองพิจิตร อยู่ห่างไปประมาณ 70 กิโลเมตร ซึ่งเป็นชุมชนขนาดเล็ก ในรัชสมัยพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือสมเด็จพระเจ้าเสือ ได้ทรงสร้างวัดโพธิประทับช้าง เป็นอนุสรณ์สถาน ที่พระองค์ได้ประสูตร ณ ที่นั้น
            พวกที่อพยพมาอยู่ในเขตจังหวัดพิจิตร ได้ดำเนินมาโดยตลอดเป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้ว ประกอบด้วย ชาวไทยจากภาคกลาง  ลาวโซ่ง จากจังหวัดเพชรบุรี และราชบุรี  ลาวยวน จากจังหวัดสระบุรี  ลาวพวน จากอำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี  ลาวขี้ครั่ง จากภาคอิสาน และชาวไทยอิสาน  สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
            กล่าวกันว่า เมืองพิจิตรเดิมชื่อว่า เมืองสระหลวง หรือเมืองโอฆบุรี  ในเขตจังหวัดพิจิตรยังมีชุมชนโบราณอีก 2 เมือง คือ เมืองบ่าง อยู่ในเขตตำบลทุ่งโพธิ อำเภอตะพานหิน และอีกเมืองหนึ่งไม่ปรากฎชื่อ อยู่ในเขตตำบลทับคล้อ อำเภอทับคล้อ  เมืองที้งสองนี้มีผู้สันนิษฐานว่าน่าจะชื่อเมืองนครพังคา และเมืองแสงเชรา
            ตามพงศาวดารเหนือ มีตำนานกล่าวถึงเมืองพิจิตรอยู่ 2 เรื่องด้วยกัน คือเรื่องพระยาแกรก กล่าวถึงการสร้างเมืองไชยบวร และเรื่องสร้างเมืองพิษณุโลก กล่าวถึงการสร้างเมืองโอฆบุรี
            เมืองไชยบวร ยังมีแนวคูเมืองและกำแพงเมืองเหลืออยู่ คูเมืองมีขนาดใหญ่ และลึก มักจะเรียกว่า บึงไชยบวร และเรียกเมืองไชยบวรว่า เมืองชีบวน
            สำหรับเมืองโอฆบุรี พงศาวดารเหนือกล่าวว่า เป็นเมืองที่พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกสร้างขึ้นพร้อมกับเมืองพิษณุโลก
สมัยกรุงศรีอยุธยา
            เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1  พระเจ้าอู่ทอง ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมื่อปี พ.ศ. 1893  เมืองพิจิตรมีฐานะเป็นหัวเมืองหนึ่งใน 16 เมือง และหลังจากที่สมเด็จพระบรมไตรโกนาถ ทรงจัดลำดับฐานะหัวเมืองเป็นหัวเมืองเอก โท ตรี และจัตวา  พระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง ระบุฐานะของเมืองพิจิตรว่า เป็นหัวเมืองชั้นตรี ขึ้นกับสมุหกลาโหม มีออกญาเทพาธิบดีศรีณรงคฤาไชยอภัยพรียพาหะ ตำแหน่งเจ้าเมืองนา 5,000
สมัยรัตนโกสินทร์
            เมื่อครั้งศึกพม่าในสงครามเก้าทัพ  กรมพระราชวังบวรสถานภิมุข  ได้ให้เจ้าพระยามหาเสนา  ยกทัพขึ้นไปรักษาเมืองพิจิตรไว้
            พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงผนวชอยู่ได้เสด็จธุดงค์ไปยังเมืองเหนือหลายเมือง  รวมทั้งเมืองพิจิตรด้วย  โดยได้แวะประทับที่เขาลูกช้างและบ้านขมัง  เมื่อปี พ.ศ. 2376  และเมื่อพระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชย์แล้วได้เสด็จหัวเมืองเหนือ  พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เมื่อครั้งยังบรรพชาเป็นสามเณรได้โดยเสด็จพระราชดำเนินด้วย  ได้เสด็จไปทางลำน้ำเก่าหรือลำน้ำพิจิตร
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลวงธรเณนทร์ (แจ่ม)  ได้ย้ายเมืองพิจิตรไปสร้างใหม่ที่บ้านปากทาง ตำบลปากทาง เมื่อปี พ.ศ. 2424   ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2427  ได้ย้ายเมืองอีกครั้งไปตั้งอยู่ที่บ้านท่าหลวง ตำบลในเมือง  อันเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดในปัจจุบัน
            ปี พ.ศ. 2448  พระยาศรีสุริยราชวราภัย (จร) เจ้าเมืองพิจิตร ได้สร้างกรมทหารเมืองพิจิตรที่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน  คือกรมทหารราบที่ 17   มีนายพันตรีหลวงราชานุรักษ์ เป็นผู้บังคับการกรม
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้โปรดเกล้า ฯ  ให้เปลี่ยนคำว่าเมืองเป็น จังหวัด เมื่อปี พ.ศ. 2459  และเปลี่ยนตำแหน่งผู้ว่าราชการเมือง เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด  และประกาศให้ใช้ชื่ออำเภอให้ตรงกับชื่อตำบลที่ตั้งที่ว่าการอำเภอ  จังหวัดพิจิตรได้เปลี่ยนชื่ออำเภอเมืองเป็นอำเภอท่าหลวง อำเภอภูมิเป็นอำเภอบางมูลนาก กรมมหารราบที่ 17  ถูกยุบไปขึ้นอยู่กับกรมทหารราบ มณฑลพิษณุโลก
            หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง  ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476  ยกเลิกมณฑลเทศาภิบาล  ได้มีการตั้งเทศบาลเมืองพิจิตรขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2479
 


มรดกทางธรรมชาติ

            แม่น้ำในจังหวัดพิจิตรมีอยู่สามสายด้วยกันคือ  แม่น้ำยม  แม่น้ำพิจิตร  และแม่น้ำน่าน  ทั้งสามสายไหลจากจังหวัดพิษณุโลก  ไหลผ่านพื้นที่ตอนกลางของจังหวัด จากเหนือไปใต้เรียงตามลำดับจากตะวันตกไปตะวันออก  แล้วไหลเข้าสู่จังหวัดนครสวรรค์ ดังนี้
แม่น้ำยม

            ไหลผ่านจังหวัดพิจิตร เป็นระยะทางประมาณ 124 กิโลเมตร   โดยไหลมาจากจังหวัดพิษณุโลกทางตอนเหนือ ผ่านอำเภอสามง่าม  อำเภอโพธิประทับช้าง  กิ่งอำเภอนาราง  และอำเภอโพทะเล  เข้าสู่จังหวัดนครสวรรค์
            แม่น้ำยมมีลักษณะคดเคี้ยวค่อนข้างมาก  แต่มีการกัดเซาะตลิ่งน้อย  มีน้ำมากในฤดูฝน  และน้ำจะแห้งในฤดูแล้ง  สามารถเดินข้ามได้เป็นห้วง ๆ  เช่นในเขต อำเภอสามง่ามทางตอนบน  บริเวณลุ่มน้ำยมมีร่องรอยการเปลี่ยนแปลงทางเดินของลำน้ำเก่า  มีสภาพเป็นหนองบึงขนาดต่างๆ  ปรากฎอยู่ทั่วไป  ลำน้ำสาขาของแม่น้ำยมส่วนใหญ่อยู่ในเขตจังหวัดพิจิตร   มีต้นกำเนิดอยู่ในที่ราบลุ่มระหว่างลุ่มน้ำปิงกับลุ่มน้ำยมในแนวเขตตะวันตก- ตะวันออก  ลำน้ำสาขาของแม่น้ำยมในเขตจังหวัดพิจิตร ที่สำคัญมีอยู่ 9 สาย ได้แก่  คลองบ้านนา  คลองรังนก  คลองไผ่รอบ  คลองวังกระทิง  คลองหนองคล้า  คลองวังหิน  คลองหนองขานาง  คลองห้วยแก้ว  และคลองท่าขมิ้น  คลองเหล่านี้บางแห่งมีน้ำตลอดปี  บางแห่งแห้งและตื้นเขินในฤดูแล้ง
แม่น้ำพิจิตร
            คือทางเดินเก่าของแม่น้ำน่านไหลผ่านเขตอำเภอเมือง อำเภอโพธิประทับช้าง อำเภอตะพานหิน แล้วบรรจบแม่น้ำยมที่บ้านบางคลาน  อำเภอโพทะเล ต้นน้ำไหลแยกจากแม่น้ำน่านที่บ้านวังกระดี่ทอง  อำเภอเมือง  สภาพลำน้ำคดเคี้ยว  บางแห่งตื้นเขิน และแห้งในฤดูแล้ง
แม่น้ำน่าน
            ไหลผ่านจังหวัดพิจิตรเป็นระยะทางประมาณ 97  กิโลเมตร  โดยไหลผ่านมาจากจังหวัดพิษณุโลก  ผ่านอำเภอเมืองโดยมีแม่น้ำวังทองไหลมาบรรจบ  ผ่านอำเภอตะพานหิน และอำเภอบางมูลนาก แล้วเข้าสู่จังหวัดนครสวรรค์  แม่น้ำน่านในช่วงที่อยู่ในเขตจังหวัดพิจิตรมีความกว้างประมาณ 120 เมตร  และลึกประมาณ10 เมตร  มีลักษณะคดเคี้ยว และมักเปลี่ยนทางเดินบ่อยครั้ง  ทำให้เกิดมีสภาพเป็นหนองบึงเล็ก ๆ  อยู่ทั่วไปในบริเวณที่เป็นที่ราบ
            ลำน้ำสาขาของแม่น้ำน่าน  ส่วนที่อยู่ในเขตจังหวัดพิจิตรส่วนใหญ่มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาเพชรบูรณ์  ส่วนใหญ่เป็นลำน้ำขนาดเล็ก  มีน้ำเฉพาะในฤดูฝน  นอกจากแม่น้ำวังทองที่มีน้ำไหลตลอดปี  ลำน้ำสาขาที่สำคัญ มี 15 สายได้แก่  คลองทาฬ่อ  คลองท่าหลวง  คลองสากเหล็ก  คลองบ้านตากแดด  คลองคัน  คลองคด  คลองหนองไม้เหลี่ยม  คลองห้วยเกตุ  คลองร่องกอกใหญ่  คลองสันเทา  คลองบางไผ่  คลองวังหินเพลิง  คลองห้วยกรวด  คลองบุษบงเหนือ และคลองวัว
บึงสีไฟ
            เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่  อยู่ในเขตตำบลในเมือง  อำเภอเมือง  เดิมมีพื้นที่ประมาณ 12,000 ไร่  มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ  แต่ต่อมาบึงนี้มีสภาพตื้นเขินบางส่วน  ปัจจุบันเหลือพื้นที่อยู่เพียงประมาณ 5,400 ไร่  บึงสีไฟมีน้ำขังอยู่ตลอดปี  ลักษณะของบึงกลมคล้ายกระทะ  แต่รีไปทางตะวันตกเล็กน้อย  มีอาณาเขตทิศเหนือจรด ตำบลคลองคะเชนทร  ทิศใต้จรดตำบลฆะมัง และตำบลเมืองเก่า  ทิศตะวันออกจรดตำบลในเมือง  ทิศตะวันตกจรด ตำบลโรงช้าง
ป่าสงวนแห่งชาติ
            มีอยู่ 3 แห่งด้วยกัน  เป็นพื้นที่ประมาณ 3,900 ไร่  ได้แก่ ป่าสงวนแห่งชาติป่าหนองดง  หรือวนอุทยานนครไชยบวร  อยู่ในเขตตำบลท่าเสา  อำเภอโพทะเล มีพื้นที่ประมาณ 1,100 ไร่  ประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2509
            ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาเจ็ดลูก- เขาตะพาบนาก -เขาชะอม  อยู่ในเขตตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ  มีพื้นที่ประมาณ 1,150 ไร่  ประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ. 2527
            ป่าสงวนแห่งชาติเขาทราย-เขาพระ  อยู่ในเขตอำเภอทับคล้อ  มีพื้นที่ประมาณ 1,900 ไร่  ประกาศเป็นป่าสงวนเมื่อปี พ.ศ. 2527

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |