| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

จังหวัดปราจีนบุรี

            จังหวัดปราจีนบุรี  ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศไทย มีพื้นที่ประมาณ ๔,๗๖๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๒,๙๗๖,๐๐๐ ไร่
            ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดนครนายก และจังหวัดนครราชสีมา
            ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดสระบุรี และจังหวัดนครราชสีมา
            ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดสระแก้ว
            ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดนครนายก และจังหวัดฉะเชิงเทรา
            ลักษณะภูมิประเทศ แบ่งออกเป็นลักษณะ คือ
            ตอนบน  เป็นที่อยู่ลึกเข้าไปทางตอนเหนือของบริเวณเขาใหญ่ ซึ่งเป็นรอยต่อกับจังหวัดนครราชสีมา มีลักษณะเป็นภูเขาที่ราบสูงและป่าทึบ มีเขตติดต่อกับเทือกเขาดงพญาเย็น บริเวณยอดเขามีที่ราบสูง ๑,๓๒๖ เมตร และบริเวณเชิงเขาสูง ๔๗๔ เมตร จากระดับน้ำทะเล มีลักษณะเป็นที่ราบสูงคล้ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำหลายสาย ได้แก่ พื้นที่ในเขตอำเภอประจันตคาม อำเภอนาดี และบางส่วนของภำเภอกบินทร์บุรี
            ตอนล่าง  พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ แล้วไหลผ่านอำเภอศรีมหาโพธิ อำเภอประจันตคาม อำเภอเมือง และอำเภอบ้านสร้าง แล้วไหลเข้าเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา
ทรัพยากรน้ำ

            แหล่งน้ำผิวดินเป็นแหล่งน้ำในแม่น้ำลำคลอง และลำห้วยต่าง ๆ มีต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาบรรทัด และเขาสอยดาวทางด้านเหนือ แล้วเกิดเป็นแควสำคัญสองแคว คือแควหนุมาน และแควพระปรง แควทั้งสองไหลบรรจบกันที่อำเภอกบินทรบุรี เป็นต้นน้ำบางปะกง แล้วไหลฝ่านอำเภอศรีมหาโพธิ อำเภอประจันตคาม อำเภอเเมือง อำเภอบ้านสร้าง ฝั่งแม่น้ำนครนายก ไหลมาบรรจบที่ตำบลบางแดน แล้วไหลเข้าเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา ลำน้ำสายหลักที่ไหลมาบรรจบแม่น้ำบางปะกงคือ

            คลองพระปรง  เกิดจากคลองพระสทึง  ซึ่งมีต้นน้ำอยู่ที่เทือกเขาในเขตจังหวัดจันทบุรี และคลองพระปรง  ซึ่งมีต้นน้ำจากเทือกเขาในเขตอำเภอวัฒนานคร  ไหลมาบรรจบกันที่บ้านทุ่งช้าง จังหวัดสระแก้ว แล้วไหลฝ่านอำเภอกบินทร์บุรี และไปบรรจบกันแควหนุมานในเขตอำเภอเดียวกัน
            แควหนุมาน  เกิดจากห้วยเขาขาด เขากำพร้า ในเขตอำเภอนาดี และเขากำแพง เขารังในเขตอำเภอกบินทร์บุรี ไหลมาบรรจบกันที่บ้านสะพานหิน อำเภอกบินทร์บุรี เป็นแควหนุมาน แล้วไหลไปบรรจบกับคลองพระปรง ในเขตอำเภอเดียวกัน เป็นแม่น้ำบางปะกง
            ลำน้ำประจันตคาม  เกิดจากเทือกเขาในเขตอำเภอประจันตคาม ใหลมาบรรจบแม่น้ำบางปะกง ที่บ้านห้วยแหลม อำเภอเมือง ฯ
ทรัพยากรป่าไม้

            ป่าไม้เขตจังหวัดปราจีนบุรี มีพื้นที่ป่าตามกฎหมายอยู่ประมาณ ๑,๔๑๕,๐๐๐ ไร่  ประมาณร้อยละ ๔๘  ของพื้นที่จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอประจันตคาม อำเภอกบินทร์บุรี และอำเภอนาดี  แบ่งเป็นอนุรักษ์ ๑,๒๑๖,๐๐๐ ไร่  ป่าเศรษฐกิจ ๑๒,๐๐๐ ไร่  และพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ๑๘๘,๐๐๐ ไร่
            ปัจจุบันปราจีนบุรีมีป่าสงวนแห่งชาติอยู่ห้าแห่งคือ ป่าแก่งดินสอ แก่งใหญ่ และป่าเขาสะโตน  ป่าทุ่งโพธิ ป่าห้วยใคร้ ป่าน้ำตกเขาอีโต้ และป่าประดู่วังตะเคียน
            มีอุทยานแห่งชาติสามแห่งคือ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน และอุทยานแห่งชาติปางสีดา
            สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าดิบ ป่าแดง และป่าเบญจพรรณ  พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ไม้ตะเคียน ไม้ยาง ไม้มะค่าโมง ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้พยอม ไม้ดง ไม้ประดู่ ไม้ตะแบก ไม้พวง ไม้ชิงชัน ฯลฯ  นอกจากนี้ยังมีไม้ไผ่  ซึ่งเป็นวัสดุสำคัญในการผลิตสินค้าหัตถกรรม เช่น ผลิตภัณฑ์จักสานไม้ไผ่ เฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ เป็นต้น
ประชากร

            จังหวัดปราจีนบุรี มีชนเชื้อชาติใหญ่ ๆ คือ ไทยกลางร้อยละ ๓๐ ไทยอีสานและไทยพวนร้อยละ ๖๐  ชาวไทยกลาง จะอยู่ในแถบอำเภอบ้านสร้าง และอำเภอเมือง ฯ ไทยอีสานส่วนใหญ่ จะอยู่ในแถบอำเภอนาดี อำเภอกบินทร์บุรี และอำเภอประจันตคาม กลุ่มชาวไทยพวน จะอยู่ในเขตอำเภอศรีมมโหสถ ที่ตำบลโคกปีป ตำบลคูลำพัน  ตำบลดงกระทงยาม
            ชาวโพธิอีสานส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและรับจ้าง ชาวไทยอีสานได้นำขนบธรรมเนียมประเพณี และภาษาถิ่นมาด้วย  เช่น มีการจัดงานแห่ประสาทผึ้งที่อำเภอประจันตคาม งานบุญบั้งไฟที่อำเภอกบินทร์บุรี และอำเภอศรีมโหสถ งานบุญข้าวหลามที่อำเภอกบินทร์บุรี  อำเภอศรีมโหสถ  และอำเภอนาดี
            ชาวไทยพวนนับถือศาสนาพุทธอย่างเคร่งครัด และยึดถือประเพณีมาก มีความขยันหมั่นเพียร อดทน และมัธยัสถ์มาก จึงมีฐานะความเป็นอยู่ดี อาชีพส่วนใหญ่คือ ทำการเกษตร
            ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุธถึงร้อยละ ๙๘  มีวัดในพระพุทธศาสนาอยู่ ๓๔๑ วัด  มีโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรม สอนธรรม และสอนบาลีอยู่ ๑๐๓ แห่ง มีในทุกอำเภอยกเว้นอำเภอศรีมโหสถ
            จังหวัดปราจีนบุรีเป็นแหล่งที่ตั้งของอารยธรรมอันเก่าแก่มาหลายยุคหลายสมัย ได้พบโบราณสถาน และโบราณวัตถุอยู่เป็นจำนวนมาก

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |