| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์

            ก่อนการสถาปนาอาณาจักรล้านนา เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 1839  ดินแดนในพื้นที่ภาคเหนือของไทย  มีนครรัฐอิสระตั้งอยู่ก่อนแล้ว ได้แก่ เมืองพะเยา  เมืองลำปาง  เมืองลำพูน  เมืองแพร่  และเมืองน่าน
สมัยอาณาจักรล้านนา และอาณาจักรสุโขทัย
            เมืองแพร่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับ  เมืองลำพูน  ลำปาง  พะเยา  และน่าน  มาก่อน การสถาปนาอาณาจักรล้านนา  เมื่อปี พ.ศ. 1986  พระเจ้าติโลกราช  กษัตริย์อาณาจักรล้านนาได้ส่งกองทัพมาตีเมืองแพร่  ซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองอิสระ ท้าวแม่นคุณ เจ้าเมืองแพร่  ยอมอ่อนน้อม  เมืองแพร่จึงได้เข้ารวมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนา  ในฐานะเป็นเมืองประเทศราช
            ทั้งอาณาจักรสุโขทัย และอาณาจักรล้านนา  ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง และพ่อขุนเม็งราย ต่างถือว่าเมืองแพร่และเมืองน่าน เป็นเมืองบริวารของอาณาจักรของพระองค์  โดยที่อาณาจักรสุโขทัยปกครองเมืองแพร่ในฐานะ หัวเมืองชั้นนอก  ในสมัย พระญาลิไทย  พระองค์ได้ยกกำลังพลมาอยู่ที่เมืองแพร่นาน 7 เดือน  ทรงบูรณะซ่อมแซมพระธาตุช่อแฮ และพระธาตุจอมแจ้ง  เมื่อปี พ.ศ. 1921  กรุงสุโขทัยตกเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา  เมืองแพร่จึงตั้งตัวเป็นอิสระ  ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 1954  เมืองแพร่ได้ทำศึกกับเมืองน่านและได้ชัยชนะ  เจ้าเมืองแพร่จึงตั้งตนเป็นเจ้าเมืองน่าน  แต่ต่อมาเพียงหนึ่งปีเศษ  เมืองน่านก็ตั้งตัวเป็นอิสระโดยได้รับความช่วยเหลือจากกองทัพเมืองเชลียง
สมัยอาณาจักรอยุธยา
            เมืองแพร่ตกเป็นหัวเมืองประเทศราชของกรุงศรีอยุธยาครั้งแรกในปี พ.ศ. 2003  ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  เมื่อสิ้นรัชสมัยของพระองค์  เมืองแพร่ก็กลับมาอยู่ในอำนาจของอาณาจักรล้านนาอีก  จนถึงปี พ.ศ. 2088  สมเด็จพระไชยราชาธิราช  ได้อาณาจักรล้านนามาเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา  เมืองแพร่จึงตกอยู่ภายใต้การปกครองของกรุงศรีอยุธยา
            ในปี พ.ศ. 2101  พระเจ้าบุเรงนองกษัตริย์พม่า  ยกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นราชธานีของอาณาจักรล้านนาได้  บรรดาหัวเมืองต่าง ๆ ในอาณาจักรนี้จึงตกเป็นของพม่า และพม่าได้เกณฑ์กำลังจากหัวเมืองเหล่านี้ลงมาตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 2112  เมืองแพร่ก็เช่นเดียวกับหัวเมืองในอาณาจักรล้านนาอื่น ๆ  ต้องตกอยู่ในอำนาจของพม่า จนปี พ.ศ. 2127  สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกู้เอกราชจากพม่าได้ และขับไล่พม่าออกไปจากดินแดนไทยทั้งหมด อาณาจักรล้านนาจึงกลับมาเป็นของกรุงศรีอยุธยาจนถึง พ.ศ. 2177 พระเจ้าสุทโทธรรมกษัตริย์พม่า ได้ยกกองทัพมาตีเมืองเขียงใหม่ และหัวเมืองอื่น ๆ ในอาณาจักรล้านนาได้ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2204  สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ทรงขับไล่พม่าออกไปจากอาณาจักรล้านนา
            ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2304  พม่าได้ยึดครองอาณาจักรได้ทำให้หัวเมืองต่าง ๆ ของอาณาจักรล้านนา  ตกอยู่ในอิทธิพลของพม่า  เมืองแพร่จึงขึ้นกับพม่าในครั้งนั้น  ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2305  พม่าได้เกณฑ์ให้ พระยาแพร่ (มังไชยะ)  คุมกำลังชาวแพร่มาในกองทัพ เนเมียวสีหบดี  ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา  แต่พระยาแพร่ได้หนีกลับไปเสียก่อน
สมัยกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์
            เมื่อปี พ.ศ. 2313  สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ยกทัพขึ้นไปขับไล่พม่าที่ยึดเมืองเชียงใหม่อยู่  เมื่อกองทัพกรุงธนบุรี ยกไปถึงเมืองพิชัย  มังไชยะหรือพระยาเมืองไชย เจ้าเมืองแพร่  ได้เข้ามาสวามิภักดิ์ จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็น พระศรีสุริยวงศ์ แล้วให้ครองเมืองแพร่ต่อไป  เมื่ออะแซหวุ่นกี้ยกทัพยึดครองหัวเมืองฝ่ายเหนือ ได้จับตัวมังไชยะไปไว้ที่เมืองยอง  ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2330  มังไชยะได้ชักชวนพระยายอง ยกกำลังไปโจมตีพม่าที่ยึดครองเมืองเชียงแสนได้  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงให้มังไชยะมาทำราชการอยู่ที่กรุงเทพ ฯ

            หลังจากมังไชยะแล้ว เมืองแพร่ยังมีเจ้าเมืองปกครองต่อมาอีกหลายคน เช่น เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์อุดร  ในปี พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองส่วนภูมิภาค โดยจัดให้มีการปกครองแบบ เทศาภิบาล แบ่งเขตการปกครองออกเป็น  มณฑล  จังหวัด  อำเภอ  ตำบล และหมู่บ้าน  เทศาภิบาลมณฑลมีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้สำเร็จราชการมณฑล เมืองแพร่ขึ้นกับมณฑลลาวเฉียง  ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลพายัพ  ที่ว่าการมณฑลอยู่ที่เมืองเชียงใหม่  การปกครองตามรูปแบบใหม่นี้ ทำให้อำนาจเจ้าเมืองที่มีอยู่เดิมลดลง

            เมื่อปี พ.ศ. 2445 เกิดเหตุการณ์กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ขึ้น นำโดยพะกาหม่อง  สล่าโปชัย และหม่องจีนา  นำกำลังประมาณ 50 คน  บุกเข้าโจมตีสถานีตำรวจ  ที่ทำการไปรษณีย์ และจวนที่พักพระยาไชยบูรณ์  ข้าหลวงประจำเมืองแพร่ จากนั้นเข้าปล้นคลังหลวง และบุกเข้าเรือนจำ ปล่อยนักโทษเป็นอิสระ  ทำให้กองกำลังเงี้ยวเพิ่มขึ้นเป็นประมาร 300 คน  เมื่อยึดเมืองแพร่ได้สำเร็จ ก็ไปเชิญให้เจ้าหลวงเมืองแพร่ ปกครองบ้านเมืองดังแต่ก่อน ทางกรุงเทพ ฯ ได้ส่งกำลังจากหัวเมืองใกล้เคียงเข้าปราบปราม โดยให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม  แสงชูโต) เป็นแม่ทัพยกกำลังมาปราบปรามจนสงบราบคาบ
            หลังเหตุการณ์กบฏ  เจ้าพิริยเทพวงศ์อุดร เจ้าหลวงเมืองแพร่ได้ไปพำนักอยู่ที่เมืองหลวงพระบางประเทศลาว  จึงถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งเจ้าเมือง  เนื่องจากขาดราชการนานเกินกำหนด ในภาวะที่บ้านเมืองไม่สงบ  ตำแหน่งเจ้าหลวงเมืองแพร่จึงถูกยกเลิก


มรดกทางธรรมชาติ

            จังหวัดแพร่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญที่ได้กล่าวมาแล้วแต่ตอนต้น ดังนั้น การสงวนพื้นที่ป่าเอาไว้ จึงมีความสำคัญและจำเป็น  พื้นที่ป่าไม้ของจังหวัดแพร่แบ่งประเภทออกได้ดังนี้
ป่าไม้ถาวรตามมติ ครม.
            มีอยู่ 20 ป่า ด้วยกันคือ  ป่าห้วยเบี้ยบ่อทอง  ป่าแม่พวก  ป่าแม่แคม  ป่าแม่ก๋อน  แม่สาย  ป่าแม่สอง  ป่าแม่ติ๊ก-แม่กาง-แม่คำปอง  ป่าแม่จั๊วะ-แม่มาน  ป่าแม่ยม  ป่าห้วยแม่ยาง  ป่าแม่ลาย-แม่กง  ป่าห้วยไร่-เขาพลึง  ป่าแม่แย้-แม่สาง  ป่าแม่ปาน  ป่าห้วยไร่-เขาพลึง  ป่าแม่แย้-แม่สา  ป่าแม่ปาน  ป่าแม่คำมี
ป่าสงวนแห่งชาติ
            มีจำนวน 27 ป่า คือ  ป่าแม่สร้อย  ป่าแม่กิ๋งและป่าแม่บง  ป่าแม่ปง และป่าแม่ลอง  ป่าแม่ลู่ และป่าแม่แป้น  ป่าแม่ลาน และป่าแม่กาง  ป่าแม่ต้าดอนขุน  ป่าแม่ต้าฝั่งซาย  ป่าแม่ต้าฝั่งขวาตอนใต้  ป่าแม่ยมตะวันตก  ป่าแม่สอง  ป่าแม่ปง และป่าแม่เป้า  ป่าห้วยป้อม  ป่าแม่แฮด  ป่าแม่ยาง  ป่าแม่คำมี  ป่าแม่เติ๊ก-แม่กาง-แม่คำปอง  ป่าแม่ก๋อน และป่าแม่สาย  ป่าห้วยเปี้ย และป่าและป่าห้วยบ่อทอง  ป่าบ่อแคม  ป่าแม่จั๊วะ และป่าแม่นาน  ป่าแม่แย้ และป่าแม่สาง  ป่าแม่ปาน และป่าแม่ยมตะวันตก  ป่าแม่พวก  ป่าบ่อแก้ว-ป่าแม่สูง-ป่าแม่สิน  ป่าแม่เข็ก และป่าแม่จั๋วะฝั่งซ้าย
อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า
            มีจำนวน 4 แห่ง คือ  อุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย  อุทยานแห่งชาติแม่ยม  อุทยานแห่งชาติดอยผากอง และเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าดอยหลวง


แพะเมีองผี

            อยู่ระหร่าวตำบลทุ่งโฮ้งกับ ตำบลน้ำชำ  อำเภอเมือง  ห่างจากตัวเมีองแพร่ไปประมาณ 28 กิโ ลเมตร เป็นธรรมชาติที่มีความโดดเด่นมากที่สุดของจังหวัดแพร่  คำว่าแพะ ในภาษาถิ่นเหนือ  หมายถึง ป่าแพะ ที่มีลักษณะเป็นป่าโปร่ง มักอยู่ตามภูเขา มีดินตื้นและแห้งแล้งมาก  ทำให้ต้นไม้มีขนาดเล็ก และแคระแกร็น  มีไม้พุ่มเล็ก ๆ  ส่วนคำว่าเมืองผี หมายถึง สถานที่ที่มีความเงียบวังเวง ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่  มีแต่เสียงลมพัดดังคลายเสียงภูติผีปีศาจ
            บริเวณแพะเมืองผีมีเสาดินรูปทรงต่าง ๆ คล้ายดอกเห็ด  ยอดเจดีย์และจอมปลวก  บางส่วนมีแสงสะท้อนระยิบระยับ  มีหินสีต่าง ๆ ผสมอยู่กับเนี้อดินแลดูสวยงาม  ได้จัดตั้งเป็นวนอุทยานแพะเมืองผี เมื่อปี พ.ศ. 2524  ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 167 ไร่


ถ้ำผานาง

            อยู่ที่บ้านผาหมู  อำเภอร้องกวาง  เป็นถ้ำธรรมชาติขนาดใหญ่นี้มีความสวยงาม  มีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า ถ้ำนางคอย  ปัจจุบันจึ่งมักนิยมเรียกว่า ถ้ำผานางคอย  ตัวถ้ำอยู่บนผาสูงประมาณ 50 เมตร  หน้าถ้ำมีลานหินกว้าง ตัวถ้ำมีความลึก ที่มีลักษณะยาวขนานไปในระดับพื้นดินประมาณ  150 เมตร  กว้างประมาณ 20 เมตร  ภายในถ้ำเป็นพี้นดินเรียบ  บางตอนมีเหวลึก  ผนังถ้ำมีหินงอก หินย้อยที่สวยงาม  ส่งแสงสะท้อนเป็นประกายระยิบระยับ เมื่อต้องแสงสว่างไปตลอดความยาวของถ้ำ  เมื่อเกือบถึงปากสุดของถ้ำที่ทะลุมีทางออกกว้าง ปริเวณกลางถ้ำมีหินงอกขนาดใหญ่มีลักษณาคล้ายผู้หญิอู้มลูกไว้ในอ้อมแขน เรียกว่า ผานางคอย  เป็นจุดสำคัญของถ้ำนี้
            ถ้ำผานาง มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีของชาวจังหวัดแพร่ และจังหวัดใกล้เคียง มีตำนานเล่าสืบกันมาถึงความรักของหญิงชายคู่หนึ่ง ที่มีฐานันดรศักดิ์ต่างกัน จนในที่สุดต้องสังเวยความรักด้วยชีวิต  เรื่องมีอยู่ว่าเมื่อประมาณปี พ.ศ. 1700  อาณาจักรแสนหวีมีความเจริญรุ่งเรือง   กษัตริย์ที่ปกครองมีความสามารถ  และมีมีราชธิดาองค์หนึ่งมีสิริโฉมงดงาม และมีน้ำพระทัยดี  มีพระนามว่า เจ้าหญิงอรัญญานี  ครั้งหนึ่ง เจ้าหญิงได้เสด็จโดยชลมารคแล้วเรือล่ม หัวหน้าฝีพายได้ช่วยเหลือเจ้าหญิงไว้ได้ ทั้งสองจึงเกิดรักกัน จนเจ้าหญิงทรงครรภ์  พระราชบิดาทราบเรื่องก็ทรงพิโรธ จึงได้ขังเจ้าหญิงไว้ แต่ฝ่ายชายก็หาโอกาสช่วยพาหนีลงมาทางใต้ โดยมีกองทหารไล่ตามอย่างกระชั้นชิด เมื่อมาทันที่หุบเขาแห่งหนึ่ง เจ้าหญิงถูกยิงด้วยธนู ฝ่ายชายจึงพาไปหลบซ่อนในถ้ำเพื่อรักษาพยาบาล เจ้าหญิงเห็นว่าทหารกำลังตามมา  จึงให้ฝ่ายชายหนีไปก่อน และบอกว่าจะคอยฝ่ายชายอยู่ในถ้ำนี้ตลอดไป ถ้ำนี้จึงได้ชื่อว่า ถ้ำผานางคอย และถ้ำนางคอย
 

แก่งหลวงและถ้ำเอราวัณ

            อยู่ที่บ้านแก่งหลวง  ตำบลแม่ปาน  อำเภอลอง  แก่งหลวงมีลักษณะเป็นคุ้งน้ำอ้อมภูเขา  กลางลำน้ำมีโขดหินเป็นเกาะแก่งอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อน้ำไหลมากระทบโขดหิน จะแตกเป็นฟองกระจายสวยงาม
           บริเวณใก้ลเคียงกับแก่งหลวง  มีถ้ำที่สวยงามแห่งหนึ่งคือ ถ้ำเอราวัณ ปากถ้ำกว้าง  ภาพในถ้ำมีลักษณะคล้ายห้องโถง  เผดานถ้ำสูงมีหินย้อยลงมาสวยงาม  บริเวณกลางถ้ำมีหินงอกลักษณะคล้ายช้างเอราวัณ จึ่งได้ชื่อว่าถ้ำเอราวัณ
หล่มด้ง
           อยู่ในอุทยานแห่งชาติแม่ยม  อำเภอสอง   มีลักษณะเป็นแอ่งน้ำจืดตามธรรมชาติ อยู่บนยอดเขาสูง แอ่งน้ำมีรูปร่างเป็นวงกลมคล้ายกระด้ง มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 120 เมตร  คล้ายทะเลสาบบนปากปล่องภูเขาไฟ  ซึ่งลักษณะนี้มีอยู่แห่งเดียวในจังหวัดแพร่  น้ำในหล่มด้งเป็นน้ำฝนที่ตกลงมาขังอยู่ เป็นน้ำใสสะอาด เป็นแหล่งที่เกิดสาหร่ายชนิดหนึ่ง ที่ชาวบ้านเรียกว่า ผำ หรือไข่น้ำ  ใช้ทำเป็นอาหารเชื่อว่าทำให้ร่างกายภาพมีสุขภาพแข็งแรง มีอายุยีนยาว  สาหรายชนิดนี้จะขึ้นในน้ำที่สะอาดเท่านั้น
น้ำตกแม่เกิ้ง
            อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย  อำเภอวังชิ้น คำว่าแม่เกิ๋ง เป็นภาษากะเหรี่ยงแปลว่า ขั้นบันได  น้ำตกแห่งนี้เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ น้ำมากและมีน้ำอยู่ตลอดปี มีความสูงถึง 7 ชั้น ลดหลั่นกันลงมาตามไหล่เขาที่ลาดชัน  สามารถมองเห็นได้แต่ระยะไกล  โดยจะเห็นเป็นสายน้ำสีขาวยาว พาดผ่านไหล่เขาที่ปกคลุมด้วยต้นไม้หนาแน่น  ระยะทางจากน้ำตกชั้นที่ 1 ถึงชั้นที่ 7 ยาวประมาณ  200  เมตร  บางช่วงของแต่ละชั้นมีแอ่งน้ำให้ลงเล่นน้ำได้อย่างปลอดภัย
 

บ่อน้ำร้อนแม่จอก

            อยู่ที่บ้านแม่จอก ตำบลแม่ป้าก อำเภอวังชิ้น  เป็นบ่อน้ำร้อนธรรมชาติ ที่มีน้ำร้อนผุดขึ้นมาบนพื้นที่ประมาณ 10 ไร่  อยู่ที่บริเวณเชิงเขา บ่อน้ำร้อนมีอยู่หลายบ่อ อุณหภูมิของน้ำสูงประมาณ 90 องศาเซลเซียส  น้ำที่ผุดจากบ่อน้ำร้อนจะไหลลงสู่ลำเหมืองใกล้ทุ่งนาของชาวบ้าน บริเวณบ่อน้ำร้อนได้รับการพัฒนาให้ไปมาได้สะดวก และตบแต่งให้มีความสวยงาม เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยว จัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้ที่ต้องการอาบน้ำแร่ไว้บริการ
 

ภูเขาหินปะการัง

            อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยผากลอง ตำบลต้าผามอก อำเภอลอง  ภูเขาหินปะการังเป็นภูเขาหินปูน มีลักษณะเป็นยอดเขาแหลม เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกรอบ ๆ ยอดเขา  เมื่อหินปูนบริเวณยอดเขาถูกน้ำฝนกัดกร่อนเป็นเวลานาน จึงกลายเป็นยอดแหลมเล็ก ๆ จำนวนมาก  มีลักษณะคล้ายปะการังในทะเล  เมื่อขึ้นไปถึงยอดเขาภูเขาหินปะการัง จะได้เห็นทิวทัศน์ที่สวยงามจากแอ่งที่ราบเวียงต้า และได้พบเห็นพืชพันธุ์ไม้ท้องถิ่น ที่มีอยู่มากมายหลายพันธุ์

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |