| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางวัฒนธรรม

แหล่งทางประวัติศาสตร์
    เขาครึ่ง
            อยู่ระหว่างเขตต่อของอำเภอร้องกวาง  จังหวัดแพร่ และอำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน  เป็นภูเขาที่มีตำนานเล่าสืบกันมาว่า เจ้าเมืองแพร่และเจ้าเมืองน่าน ในสมัยหนึ่งได้เดินทางมาพบกัน ณ ที่นี้ และได้กำหนดเขตระหว่างเมืองทั้งสอง
    ช่องเขาพลึง
            เป็นช่องเขาติดต่อกันระหว่างจังหวัดแพร่ และจังหวัดอุตรดิตถ์  ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาท แห่งกรุงศรีอยุธยา พระองค์ได้ยกกองทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ โดยเดินทัพผ่านช่องเขาแห่งนี้
    บ่อเหล็กลอง
            ตั้งอยู่บนภูเขาในพื้นที่ตำบลบ่อเหล็กลอง  อำเภอลอง  เป็นแหล่งแร่เหล็กที่มีคุณภาพดีที่สุดของอาณาจักรล้านนา  แร่เหล็กที่ขุดได้จากบ่อนี้เรียกว่า เหล็กลอง  ในสมัยพระเจ้าติโลกราช แห่งอาณาจักรลาน  ยกทัพมาทำศึกกับกรุงศรีอยุธยา  เมื่อเดินทัพมาถึงเมืองลอง  ได้เห็นช่างเหล็กใช้เหล็กเมืองนี้ทำอาวุธแจกจ่ายให้ทหาร  เมื่อทางกรุงศรีอยุธยาได้เมืองแพร่เป็นประเทศราช  เจ้าเมืองลองต้องส่งเหล็กลองไปเป็นเครื่องราชบรรณาการ
    บ้านเด่นไชย
            อยู่ที่อำเภอเด่นชัย  เป็นที่ชุมนุมพลของกำลังทหารจากเมืองใกล้เคียง และกองทัพหลวงที่ยกมาปราบกบฎเงี้ยวที่เมืองแพร่ เมื่อปี พ.ศ. 2445


มรดกทางพระพุทธศาสนา

            การสร้างวัดในจังหวัดแพร่  แบ่งออกได้เป็นสองลักษณะตามความมุ่งหมายคือ  เพื่อให้เป็นที่ปฏิบัติศาสนกิจตามลักษณะแรกนี้ จะสร้างวัดขึ้นในแหล่งชุมชนในเขตกำแพงเมืองเก่ารอบ ๆ คุ้มเจ้าหลวง  เป็นวัดเก่าแก่มีอยู่เป็นจำนวนมากในบริเวณใกล้เคียงกัน  อีกลักษณะหนึ่งเป็นการสร้างวัดเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ  ตามตำนานทางพระพุทธศาสนา  วัดประเภทนี้จะสร้างขึ้นอยู่บนภูเขา หรือในเขตชุมชนรอบนอก
            ศิลปะการก่อสร้างจะมีทั้งศิลปะล้านนา เชียงแสน สุโขทัย อยุธยา พม่าและไทยใหญ่  บางวัดเป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดแพร่  ได้แก่วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร  บางวัดมีประวัติเก่าแก่สร้างมาพร้อมกับการสร้างพลนคร ได้แก่วัดหลวง  วัดที่สำคัญ ๆ ในจังหวัดแพร่  พอประมวลได้ดังนี้


วัดพระธาตุช่อแฮ

            อยู่ที่ตำบลช่อแฮ  อำเภอเมือง  เป็นปูชนียสถานเก่าแก่ คู่บ้านคู่เมืองของเมืองแพร่มาเป็นเวลาช้านาน  พระธาตุเจดีย์บรรจุพระเกศา และพระธาตุข้อศอกซ้ายของพระพุทธเจ้า  องค์พระธาตุเจดีย์เป็นเจดีย์แปดเหลี่ยมบัลลังก์  ย่อมุมไม้สิบสอง  ปลียอดกลม  เป็นศิลปะแบบเชียงแสน  บุด้วยทองดอกบวบ  สูง 33 เมตร  ฐานที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างด้านละ 11 เมตร  ทุกปีจะมีงานนมัสการพระธาตุช่อแฮ  ในระหว่างวันขึ้น 11-15 ค่ำ เดือน 4 หรือตรงกับเดือน 6 เหนือ


วัดพระบาทมิ่งเมือง

            อยู่บริเวณใจกลางเมืองแพร่  เป็นวัดสำคัญประจำเมืองแพร่  เกิดจากการรวมวัดโบราณ 2 วัด คือ วัดพระบาท และวัดมิ่งเมือง  ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กัน วัดทั้ง 2 วัดนี้ เป็นวัดขนาดใหญ่และเป็นวัดประจำเมืองแพร่  วัดพระบาท เป็นวัดที่อุปราชหรือเจ้าหอหน้าเป็นมรรคนายก  มีพระพุทธบาทจำลองเป็นสัญญลักษณ์  วัดมิ่งเมือง เป็นวัดที่เจ้าผู้ครองนครเป็นมรรคนายก  เป็นวัดที่ตั้งอยู่กลางใจเมือง  มีพระธาตุมิ่งเมืองเป็นสัญญลักษณ์  วัดทั้งสองแห่งนี้ไม่ปรากฎหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด  สันนิษฐานว่าเจ้าผู้ครองแพร่เป็นผู้สร้าง  และวัดพระบาทน่าจะสร้างขึ้นก่อน ปี พ.ศ. 2480  วัดมิ่งเมืองก็น่าจะสร้างขึ้นในสมัยเดียวกัน  วัดทั้งสองแห่งนี้รวมกันเป็นวัดเดียวกัน เมื่อปี พ.ศ. 2492  และได้เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีฃนิดวรวิหาร  มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร เมื่อปี พ.ศ. 2498
            ปูชยวัตถุสำคัญของวัดคือ  พระพุทธบาทจำลอง  พระเจดีย์มิ่งเมืองและพระพุทธโกศัยศิริชัยศากยมุนี  ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของเมืองแพร่


วัดหลวง

            อยู่ในบริเวณเขตกำแพงเมืองเก่า  เป็นวัดเก่าแก่มีประวัติการสร้างคู่กันมากับเมืองแพร่ พระวิหารหลวงเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าแสนหลวง  พระประธานของเมืองพลนคร  เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสน  หุ้มด้วยทองคำทั้งองค์  มีตุงกระด้างทำด้วยไม้สักยาวประมาณ 3 เมตร แกะสลักลวดลายเป็นรูปพญานาค 4 คู่  ตอกติดกับเสาหงส์  มีลักษณะเป็นศิลปแบบพม่า  มีพระธาตุไชยช้างค้ำประดิษฐานอยู่ภายในบริเวณวัด


วัดหัวข่วง

            อยู่ที่ตำบลในเวียง  อำเภอเมือง  เป็นวัดเก่าแก่เชื่อกันว่าสร้างในสมัยเดียวกันกับพระธาตุช่อแฮ และวัดพระหลวงธาตุเนิ้ง เมื่อปี พ.ศ. 1387  ขุนหลวงเจ้าเมืองพล (เมืองแพร่)  ชราภาพแล้ว  จึงยกเมืองพลให้ท้าวพหุสิงห์ครอง ท้าวพหุสิงห์มีความศรัทธาในพระบวรพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า  หลังจากครองเมืองพลได้หนึ่งปี  จึงให้ขุนพระวิษณุวังไชยไปว่าจ้างชาวเมืองเวียงพางคำเชียงแสน มาซ่อมแซมบูรณะวัดหลวง แม่เฒ่าจันคำวงค์  แม่ของขุนหลวงพลเห็นฝีมือของช่างที่สามารถบูรณะวัดหลวงได้สวยงาม จึงให้ช่างดังกล่าวสร้างวัดขึ้นวัดหนึ่ง  โดยใช้พื้นที่ที่ใช้เป็นข่วงเล่นกีฬาประจำเมือง เป็นที่สร้างวัดและเรียกชื่อวัดนี้ว่า วัดหัวข่วงสิงห์ชัย


วัดพระนอน

            อยู่ตำบลในเวียง  อำเภอเมือง  บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำยม  อยู่ใกล้กับวัดหลวง  เป็นวัดเก่าแก่ของเมืองแพร่  เป็นวัดเดียวที่ยังคงรูปแบบสถาปัตยกรรมผสมผสาน ระหว่างศิลปะเชียงแสน  ศิลปะสุโขทัย และศิลปะอยุธยาตอนปลาย ได้อย่างกลมกลืน  โดยที่พระอุโบสถเป็นศิลปะสมัยเชียงแสน  ไม่มีการเจาะหน้าต่าง แต่เจาะผนังเป็นช่องแสงตามแบบศิลปะสุโขทัย  ลวดลายหน้าบันเป็นศิลปะแบบอยุธยาตอนปลาย  ผูกเป็นลายก้านขด  มีภาพรามเกียรติ์ประกอบ  วิหารพระนอนมีรูปแบบการก่อสร้างเช่นเดียวกับพระอุโบสถ  ตกแต่งบริเวณชายคาเป็นไม้ฉลุโดยรอบ  หลังคาประดับด้วยไม้แกะสลัก เป็นรูปพระยานาคบริเวณหน้าจั่ว  ภายในวิหารมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางไสยาสน์ ยาว 9 เมตร  ลงรักปิดทองตลอดองค์ประดิษฐานอยู่ พระพุทธไสยาสน์องค์นี้ เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่สร้างมาแล้วกว่าพันปี  ทุกปีจะมีประเพณีไหว้พระนอน ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7
(เดือน 9 เหนือ)


วัดศรีชุม

            อยู่ที่ตำบลในเวียง  อำเภอเมือง  ในเขตกำแพงเมืองด้านประตูศรีชุม  เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของเมืองแพร่ มีอายุนานกว่าพันปี  เป็นวัดที่เคยมีความสำคัญมาก่อน  เพราะเดิมการถวายสลากภัต  ต้องถวายที่วัดศรีชุมก่อน  การถือน้ำพิพัตน์สัตยาก็ทำพิธีที่วัดนี้  พระอุโบสถและพระวิหาร  เป็นสถาปัตยกรรมสมัยเชียงแสน  พระพุทธรูปสำคัญ 3 องค์ ได้แก่พระประธาน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสมัยเชียงแสน  พระพุทธรูปยืนที่วัดนี้ เป็นพระพุทธรูปยืนที่สูงใหญ่ที่สุดของเมืองแพร่  ตามตำนานกล่าวว่า  สร้างขึ้นในสมัยเจ้าเทพวงศ์  เจ้าหลวงเมืองแพร่  พระพุทธรูปปางมารวิชัย ทำด้วยทองสำริดสมัยเชียงแสน นอกจากนี้ยังมีเจดีย์ศิลปะแบบล้านนา อายุประมาณพุทธสตวรรษที่ 20 เป็นรูปทรงปราสาท ฐานย่อมุม 28 กว้างด้านละ 5 วา


วัดจอมสวรรค์

            อยู่ที่ตำบลในเวียง อำเภอเมือง  เป็นวัดเก่าแก่สร้างด้วยศิลปะพุกาม (พม่า)  มีศิลปวัตถุและโบราณวัตถุที่สวยงามและทรงคุณค่า  ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2523  โบสถ์  ศาลาการเปรียญและกุฎิ อยู่ในอาคารเดียวกัน  ตัวอาคารสร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง  มีหลังคาเหล็กใหญ่ลดหลั่นกันเป็นชั้นรวม 9 ชั้น  ฝาผนังแบ่งเป็นตอน ๆ คล้ายข้ออ้อย  เสาและเพดานประดับกระจกสีทำเป็นลวดต่าง ๆ  มีบันไดขึ้นลงด้านหน้า 2 ข้าง  ประดับด้วยทองเหลือง ตีและเจาะให้เป็นลวดลายแบบพม่า  เสาไม้ในส่วนของอาคารที่เป็นโบสถ์ลงรักปิดทอง  ตกแต่งลวดลายคล้ายสีทองน้ำ มีข้อความเป็นภาษาพม่า จารึกไว้รอบเสามีจำนวนทั้งสิ้น 35 ต้น  เสาอื่น ๆ อีก 14 ต้น  ลงรักปิดทองและประดับกระจกสี  เจดีย์มีรูปทรงแบบพม่าคือ มีเจดีย์ใหญ่อยู่กลางรายล้อมด้วยเจดีย์เล็กทั้ง 4 ด้าน ๆ ละ 3 องค์


วัดพระธาตุจอมแจ้ง

            อยู่บนเนินเขาเตี้ย ๆ ในเขตบ้านต้นไคร้  ตำบลป่าแดง  อำเภอเมือง  ห่างจากพระธาตุช่อแฮไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 2 กิโลเมตร  มีประวัติความเป็นมาคู่กันกับพระธาตุช่อแฮ  มีตำนานเล่ากันมาว่า  เมื่อพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรดสัตว์  เมื่อมาถึงดอยลูกหนึ่งอยู่ทางทิศใต้ของดอยธชัคบรรพต เป็นเวลาจวนใกล้สว่าง (ใกล้ แจ้ง)  จึงเรียกว่าดอยจวนแจ้ง และได้เรียกกันต่อมาว่าพระธาตุจอมแจ้ง  วัดพระธาตุจอมแจ้งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหลวงพ่อทันใจ  ซึ่งมีประวัติว่าใช้เวลาสร้างเพียงวันเดียว

วัดพระหลวง
                      อยู่ที่บ้านพระหลวง  ตำบลดอนมูล  อำเภอสูงแม่น เป็นวัดเก่าแก่ และสำคัญมากวัดหนึ่ง
            ของจังหวัดแพร่  มีเจดีย์ศิลปะสุโขทัย  องค์เจดีย์เอนเล็กน้อย คนทั่วไปจึงเรียกว่า
            วัดพระหลวงธาตุเนิ้ง (เนิ้ง แปลว่า เอน)  กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนพระธาตุ หอระฆัง
            และพระอุโบสถ เป็นโบราณสถานแห่งชาติ  วัดนี้มีตำนานเล่าว่าวัดพระหลวง
            และบ้านพระหลวงเดิมเป็นดงหลวง  มีสัตว์ร้ายอาศัยอยู่ มีงูใหญ่หรือภาษาเหนือเรียกว่า งูหลวง
            งูหลวงนั้นขุดรูอาศัยอยู่ตรงบริเวณองค์พระเจดีย์  มักกินสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านและพ่อค้าอยู่เสมอ
            มีพ่อค้าคนหนึ่ง ม้าของตัวถูกงูตัวนี้กินไป  จึงได้ฆ่างูตัวนี้แล้วตัดเป็นท่อน ๆ ไว้ที่ปากรูงูนั้น
            ต่อมาซากรูนั้นได้กลายเป็นท่อนเงินท่อนทอง  จึงได้นำส่วนหนึ่งฝังไว้ที่รูงูนั้น
            ต่อมาชาวบ้านมาสร้างวัด และสร้างเจดีย์ไว้บนรูงูแห่งนั้น

วัดพระธาตุปูแจ

            ตั้งอยู่บนเนินเขาลูกหนึ่ง  สูงประมาณ 150 เมตร  อยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของหมู่บ้านบุญเริง ตำบลบ้านเวียง  อำเภอร้องกวาง  เป็นปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดแพร่  เชื่อกันว่าพระธาตุปูแจได้บรรจุพระธาตุตาตุ่มข้างขวาของพระพุทธเจ้า  กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ มีประเพณีไหว้พระธาตุปูแจทุกปี ในวันขึ้น 11-15 ค่ำ เดือน 3 (เดือน5 เหนือ)


วัดพระธาตุพระลอ

            อยู่ที่บ้านพระธาตุพระลอ ตำบลบ้านกลาง อำเภอสอง  มีประวัติเกี่ยวเนื่องกับเวียงสรอง ซึ่งเป็นเมืองโบราณที่มีอยู่ในวรรณคดีไทยเรื่อง ลิลิตพระลอ  เป็นที่ประดิษฐานพระศรีสรรเพชญ  พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของอำเภอสอง
            เดิมวัดพระธาตุพระลอเรียกธาตุหินส้ม  เนื่องจากก่อนที่จะสร้างพระธาตุพบว่ามีซากอิฐและหินกองใหญ่อยู่ที่นั้น  หินมีลักษณะเป็นหินส้ม  สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย  รูปแบบของเจดีย์เป็นเจดีย์ทรงลังกา  ประเพณีการนมัสการพระธาตุพระลอ มีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 (เดือน 7 เหนือ) ของทุกปี
    วัดสะแล่ง
            อยู่ที่ตำบลห้วยอ้อ  อำเภอลอง  เป็นวัดเก่าแก่สมัยเดียวกับ พระธาตุศรีดอนคำ  เป็นพระธาตุเจดีย์ที่บรรจุพระธาตุพระอุระของพระพุทธเจ้า  พระอุโบสถเป็นทรงล้านนาประยุกต์  ประวัติความเป็นมาของวัดมีว่า  วัดนี้สร้างในสมัยพระนางจามเทวี  เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ มีโบราณวัตถุเป็นพระพุทธรูปสมัยต่าง ๆ  ตั้งแต่สมัยทวาราวดี จนถึงอยุธยาตอนปลาย
            มีตำนานเล่าสืบกันมาว่า  เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาที่ดอยสะแล่งแก้วดอนมูล หรือดอยสะแล่งหลวง เจ้าเมืองและชาวบ้าน ต่างพากันไปถวายบิณฑบาตแก่พระพุทธเจ้า และพระสงฆ์สาวก  เมื่อพระพุทธเจ้าเสวยพระกระยาหารแล้ว ชายาเจ้าเมืองได้ถวายดอกสะแล่งเป็นพุทธบูชา  พระพุทธเจ้าทรงรับและอนุโมทนา แล้วทรงมีพุทธฎีกาพยากรณ์ว่า  ในอนาคตกาล สถานที่แห่งนี้จะเป็นที่ประดิษฐานพระธาตุของพระองค์  และสถานที่แห่งนี้จะมีความเจริญรุ่งเรืองสืบต่อไป  จากการที่ชายาเจ้าเมืองถวายดอกสะแล่งเปนพุทธบูชา และดอยแห่งนี้มีต้นสะแล่งอยู่ วัดนี้จึงมีชื่อว่า วัดสะแล่ง

วัดพระธาตุแหลมลี่
                        อยู่ที่บ้านแม่ลอง ตำบลปากกาง อำเภอลอง  เป็นวัดเก่าแก่ในเขตอำเภอลอง 
            พระประธานในวิหารเป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ ชื่อ พระเววา  โบสถ์อายุกว่า 200 ปี 
            ก่ออิฐถือปูน  หลังคามุงด้วยกระเบื้องดิน คันทวยเป็นไม้แกะสลัก เป็นรูปนาคและลายกนก 
            ตรีโบสถ์เป็นศิลปกรรมแบบล้านนาผสมพม่า  พระธาตุเจดีย์ในวัดนี้มีอยู่ 2 องค์ คือ 
            พระธาตุน้อย และพระธาตุแหลมลี่
                      พระธาตุน้อยมีฐานเหลี่ยม องค์พระธาตุเจดีย์เป็นรูปแปดเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง
            ด้านบนเป็นรูปทรงระฆังคว่ำ เป็นศิลปะสมัยล้านนาตอนต้น ปัจจุบันอยู่ในสภาพทรุดโทรม 
            ส่วนพระธาตุแหลมลี่เป็นรูปแปดเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง 
            ได้มีการบูรณะจึงอยู่ในสภาพดี

พระธาตุศรีดอนคำ
            อยู่ที่บ้านห้วยอ้อ ตำบลห้วยอ้อ อำเภอลอง  เป็นพระธาตุเจดีย์เก่าแก่  เชื่อกันว่าสร้างขึ้นพร้อมกับพระธาตุขวยปู  พระธาตุปูตั๊บ  พระธาตุไฮสร้อย และพระธาตุแหลมลี่  องค์พระธาตุเจดีย์เป็นศิลปะแบบล้านนา เป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของอำเภอสอง  ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ  งานนมัสการพระธาตุศรีดอนคำมีในระหว่างวันขึ้น 12 -15 ค่ำ เดือนสิบสอง (เดือนยี่เหนือ )

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |