| หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |


จังหวัดระนอง

            จังหวัดระนอง  ตั้งอยู่ในภาคใต้ตอนบนทางฝั่งตะวันตก ทางงด้านทะเลอันดามัน มีชายแดนติดต่อกับประเทศพม่าเป็นแนวยาวประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดต่าง ๆ และประเทศพม่าดังนี้
            ทิศเหนือ  ติดต่อกับ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร
            ทิศตะวันออก  ติดต่อกับ อำเภอเมืองชุมพร อำเภอสวี อำเภอพะโต๊ะของจังหวัดชุมพรและอำเภอไชยยา อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
            ทิศใต้  ติดต่อกับ อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา
            ทิศตะวันตก  ติดต่อกับ ทะเลอันดามันและประเทศพม่า
ลักษณะภูมิประเทศ

            จังหวัดระนอง มีรูปร่างเป็นพื้นที่เรียวยาวและแคบ จากทิศเหนือสู่ทิศใต้มีความยาวเหนือสุดจากอำเภอกระบุรี ถึงใต้สุดอำเภอสุขสำราญ ประมาณ ๑๖๙ กิโลเมตร  มีส่วนกว้างสุด กว้างประมาณ ๙ กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ ๒,๐๑๖๑,๐๐๐ ไร่
            พื้นที่ส่วนใหญ่มีลักษณะส่วนใหญ่มีสภาพเป็นป่าเขา ด้านทิศตะวันออกมี เทือกเขาตะนาวศรี ทอดตัวเป็นแนวยาว จากทิศเหนือไปทิศใต้ ประกอบด้วยภูเขาสูงสลับซับซ้อน ภูเขาสูงที่สุดได้แก่ ภูเขาตาโซงโดง สูงประมาณ ๑,๗๐๐ ฟุต จากระดับน้ำทะเล อยู่ในเขตอำเภอกะเปอร์
            ลักษณะของพื้นที่ที่ลาดเอียงจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก ประมาณร้อยละ ๘๖ ของพื้นที่ มีสภาพเป็นป่าไม้และภูเขา มีต้นไม้ใหญ่น้อยค่อนข้างสมบูรณ์ เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารหลายสายที่สำคัญ เช่น แม่น้ำกระบุรี เป็นแม่น้ำกั้นพรมแดนระหว่างไทยกับพม่า นอกจากนี้ยังมีคลองที่สำคัญคือ คลองลำเลียง คลองปากจั่น ในเขตอำเภอกระบุรี คลองละอุ่น ในเขตอำเภอละอุ่น คลองกะเปอร์ ในเขตอำเภอกะเปอร์ และ คลองบางริ้น ในเขตอำเภอเมือง ฯ

            ชายฝั่งทะเลติดกับทะเลอันดามัน ยาวประมาณ ๖๙ กิโลเมตร พื้นที่มีสภาพเป็นป่าชายเลนมีไม้โกงกาง ตะบูน แสมขึ้นอยู่หนาแน่น ส่วนที่เป็นชายหาดค่อนข้างเรียบ และกว้าง มีความโค้งเว้าตามธรรมชาติสวยงาม เหมาะที่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยว บางแห่งมีภูเขาติดกับชายฝั่งทะเล มีเกาะใหญ่น้อยนอกชายฝั่งจำนวน ๖๒ เกาะ เกาะสำคัญที่มีผู้อยู่อาศัยได้แก่ เกาะพยาม เกาะสินไห เกาะช้าง และ เกาะเหลา เป็นต้น
ทรัพยากรธรรมชาติ
            แหล่งน้ำ  ประกอบด้วยแม่น้ำกระบุรี และคลองสำคัญอีก  ๘  สาย ดังนี้

                - แม่น้ำกระบุรี  เป็นแม่น้ำสายสำคัญของจังหวัดระนอง เป็นแม่น้ำที่กั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่า ต้นกำเนิดจากเขาน้ำตุ่น และเขาจอมแหทางทิศเหนือ ไหลผ่านอำเภอกระบุรีลงสู่ทะเลอันดามัน มีความยาวประมาณ ๙๕ กิโลเมตร
                - คลองปากจั่น  ต้นกำเนิดจากเขาปลายคลองบางนา ทางทิศเหนือ ไหลไปบรรจบแม่น้ำกระบุรี ที่บ้านนาน้อย มีความยาวประมาณ ๓๐ กิโลเมตร
                - คลองลำเลียง  ต้นกำเนิดจากเขาบางใหญ่และเขาแดน ทางทิศเหนือ ไหลผ่านอำเภอกระบุรี แล้วไหลลงสู่ทะเลอันดามัน มีความยาวประมาณ ๒๐ กิโลเมตร
                - คลองวัน  ต้นกำเนิดจากเขาหินลุ ทางด้านทิศเหนือ ไหลไปบรรจบแม่น้ำกระบุรีที่บ้านทับหลี มีความยาวประมาณ ๒๐ กิโลเมตร
                - คลองกระบุรี  ตันกำเนิดจากเขาผักแว่นในเขตจังหวัดชุมพร และจังหวัดระนอง ไหลไปบรรจบแม่น้ำกระบุรี มีความยาวประมาณ ๒๐ กิโลเมตร

                - คลองละอุ่น  ต้นกำเนิดจากเทือกเขาห้วยเสียด และเขาหินด่าน ไหลไปบรรจบแม่น้ำกระบุรี มีความยาวประมาณ ๓๕ กิโลเมตร
                - คลองกะเปอร์  ต้นกำเนิดจากเขายายหม่อน ไหลลงสู่ทะเลอันดามัน ที่บ้านบางลำพู อำเภอกะเปอร์ มีความยาวประมาณ ๓๒ กิโลเมตร
                - คลองกำพวน  ต้นกำเนิดจากเขาพรตานี  ไหลลงสู่ทะเลอันดามัน ที่ตำบลกำพวน กิ่งอำเภอสุขสำราญ

            ป่าไม้  ในจังหวัดระนองมีป่าไม้อยู่สองประเภทคือ ป่าบกและป่าชายเลน
                - ป่าบก  จากข้อมูลที่ได้จากภาพถ่ายดาวเทียม เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔  จังหวัดระนองมีพื้นที่ป่าไม้อยู่ประมาณ ๖๐๓,๐๐๐ ไร่ ประมาณร้อยละ ๒๔ ของพื้นที่จังหวัด ได้ประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ มีอยู่ ๘ แห่ง เป็นพื้นที่ประมาณ ๕๐๗ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๓๑๗,๐๐๐ ไร่ ประกอบด้วย ป่าคลองลำเลียง อำเภอละอุ่น พื้นที่ ๒๒,๕๐๐ ไร่  ป่าน้ำตากหงาว  อำเภอเมือง ฯ พื้นที่ ๑,๘๐๐ ไร่ ป่าเลนคลองม่วง อำเภอกะเปอร์ พื้นที่ ๑๐๐,๐๐๐ ไร่   ป่าคลองเส็ตกรวด  ป่าเขาหินช้าง และป่าเขาสามแหลม อำเภอมือง ฯ  พื้นที่ ๑๙,๕๐๐ ไร่  ป่าคลองหัวเขียว  และ ป่าคลองเกาะสุย อำเภอเมือง ฯ  พื้นที่ ๗๗,๐๐๐ ไร่  ป่าเกาะช้าง อำเภอเมือง ฯ พื้นที่ ๑๒,๕๐๐ ไร่  ป่าเกาะพยาม อำเภอเมือง ฯ  พื้นที่ ๑๑,๐๐๐ ไร่   ป่าคลองหินกอง และ ป่าคลองม่วงกลาง  อำเภอเมือง ฯ พื้นที่ ๗๓,๐๐๐ ไร่
            นอกจากนี้ยังมี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา  กิ่งอำเภอสุขสำราญ และอุทยานแห่งชาติแหลมสน อำเภอกะเปอร์
                - ป่าชายเลน  มีพื้นที่ประมาณ ๑๗๒,๐๐๐ ไร่  ประมาณร้อยละ ๘ ของพื้นที่จังหวัด ไม้ป่าชายเลนที่สำคัญได้แก่ โกงกาง ปรง ถั่ว ตะบูน ปราสักและอื่น ๆ  ใช้ในการเผาถ่นที่มีคุณภาพสูง พื้นที่ป่าชายเลนที่เป็นแนวตลอดเขตทิศตะวันตกของจังหวัด จากอำเภอกระบุรีเลียบตามแนวแม่น้ำกระบุรี ลงมาทางทิศใต้จนถึงเขตติดต่อกับจังหวัดพังงา ปัจจุบันมีสภาพเสื่อมโทรมอันเนื่องมาจากอุตสาหกรรมเผาถ่าน และบางส่วนได้แปรสภาพเป็นนาเลี้ยงกุ้ง
ประชากร
            จังหวัดระนองมีประชากรน้อยที่สุดของประเทศไทย ในปี พ.ศ.๒๕๔๒  มีประชากรประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ คน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ  รองลงมาคือ อำเภอกระบุรี อำเภอกะเปอร์  อำเภอละอุ่น และกิ่งอำเภอสุขสำราญ
            ประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพมาจากถิ่นอื่น เนื่องจากประชากรดั้งเดิมมีจำนวนน้อย มีที่ดินว่างเปล่าอยู่มาก และที่ดินในจังหวัดระนองเป็นดินเก่า ที่ยังไม่ได้ทำการเกษตร หน้าดินจึงอุดมสมบูรณ์กว่าที่อื่น ประกอบกับจังหวัดมีทรัพยากรป่าไม้ ประมง และแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ ทำให้ประชากรจากจังหวัดทางภาคใต้ ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อพยพเข้ามาทำมาหากินในจังหวัดระนองเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่มาประะกอบอาชีพด้านการประมง การเกษตร ธุรกิจค้าขาย และขายแรงงาน
            นอกจากนี้ยังมีชนกลุ่มน้อยคือ ประชากรกลุ่ม ชาวน้ำ ซึ่งมีภูมิลำเนาที่หมู่ บ้านเกาะเหลา ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง ฯ และที่ เกาะสินไห ชาวน้ำที่เกาะเหลาปลูกบ้านอยู่ในน้ำริมฝั่งประมาณ ๒๐ หลังคาเรือน มีจำนวน ๕๐ คน อาศัยหาสัตว์น้ำยังชีพ โดยเฉพาะการดำหอยจากก้นทะเล

| หน้าต่อไป | บน |