| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางธรรมชาติ

             ระนอง เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีธรรมชาติในรูปแบบต่าง ๆ อย่างครบถ้วน มีป่าทีอุดมสมบูรณ์ทั้งป่าบกและป่าน้ำ ชายแลน ท้องทะเลมีเกาะแก่งต่าง ๆ อยู่เป็นจำนวนมาก มี คอคอดกระที่นับว่าเป็นแผ่นดินที่แคบที่สุดของแหลมลายู มีภูเขา น้ำตก พันธ์ไม้และสัตว์ป่านานาชนิด
พื้นที่ป่า
             จังหวัดระนองเคยได้ชื่อว่าบ้านเล็กในป่าใหญ่ เพราะมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ได้มีการรักษาป่าดังกล่าวด้วยกันหลายรูปแบบ คือกำหนดให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธ์สัตว์ เป็นต้น
             ป่าสงวนแห่งชาติ  มีอยู่ ๑๓ ป่าด้วยกันคือ
                 - ป่าน้ำขาว  มีพื้นที่ประมาณ ๑๖๕,๐๐๐ ไร่  อยู่ในเขตตำบลปากจั่น อำเภอกระบุรี
                 - ป่าน้ำจืด ป่ามะมุ และป่าปากจั่น  มีพื้นที่ประมาณ ๗๗,๐๐๐ ไร่ อยู่ในเขตตำบลปากจั่น ตำบลมะมุ ตำบลน้ำจืดน้อย ตำบลน้ำจืด อำเภอกระบุรี
                 - ป่าลำเลียง  มีพื้นที่ประมาณ ๑๔๓,๐๐๐ ไร่ อยู่ในเขตตำบลลำเลียง อำเภอกระบุรี
                 - ป่าคลองลำเลียง - ละอุ่น  อยู่ในเขตตำบลบางแก้ว ตำบลละอุ่นใต้ ตำบลบางพระใต้ ตำบลละอุ่นเหนือ ตำบลบางพระเหนือ อำเภอละอุ่น  ตำบลทรายแดง ตำบลบางบอน ตำบลหาดส้มแป้น ตำบลบางริ้น ตำบลหงาว ตำบลราชกรูด อำเภอเมือง
                 - ป่าคอลเส็ดกวด ป่าเขาหินช้างและะป่าเขาสามแหลม  มีพื้นที่ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ไร่ อยู่ในเขตตำบลม่วงกลวง ตำบลกะเปอร์ ตำบลนาคา ตำบลกำพวน และกิ่งอำเภอสุขสำราญ
                 - ป่ากะเปอร์  มีพื้นที่ประมาณ ๓๖,๐๐๐ ไร่ อยู่ในเขตตำบลกะเปอร์ ตำบลเชี่ยวเหลียว ตำบลบ้านนา ตำบลม่วงกลวง  ตำบลบางหิน อำเภอกะเปอร์ ตำบลนาคา อำเภอกะเปอร์
             อุทยานแห่งชาติ  มีอยู่ ๔ แห่งด้วยกัน

                 - อุทยานแห่งชาติแหลมสน  อยู่ในเขตอำเภอกะเปอร์ ประกอบด้วยพื้นที่ริมทะเลตั้งแต่ราชกรูด อำเภอเมือง ฯ ลงไปทางใต้ผ่านตำบลม่วงกลวง ตำบลกะเปอร์ ตำบลบางหิน ตำบลนาคา อำเภอกะเปอร์ เลยไปจนถึงอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา และครอบคลุมเกาะต่าง ๆ ในทะเลอันดามัน ประมาณ ๒๐ เกาะได้แก่ เกาะค้างคาว หมู่เกาะคำ ฯลฯ สถานที่ท่องเที่ยวประกอบด้วยชายหาดที่มีความสวยงามหลายแห่ง หาดประภาส หาดบางเบน และแหลมสน

                         หาดบางเบน  เป็นหาดทรายขนาดใหญ่ มีสวนสนที่ร่มรื่น บริเวณชายหาดเมื่อออกไปจะเห็นเกาะแก่งในทะเลสายงาม
                         หาดแหลมสน  อยู่ห่างจากหาดบางเบนไปประมาณ ๔ กิโลเมตร มีหาดทรายขาวสะอาด และแหล่งปะการังที่อยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ การเดินทางจะต้องใช้เรือจากแม่น้ำระนอง หรือจากบริเวณใกล้ ๆ กับอุทยาน ฯ
                 - อุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว  อยู่ห่างจากตัวจังหวัดระนอง ไปตามทางหลวงหมายเลข ๔ (ระนอง - พังงา)  ประมาณ ๑๕ กิโลเมตร เมื่อมองจากถนนสายนี้จะเห็นน้ำตกหงาวไหลลงมาจากผาสูงสวยงามมาก บริเวณอุทยานร่มรื่น ในฤดูแล้งน้ำค่อนข้างน้อย ณ อุทยานแห่งนี้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปูเจ้าฟ้า ซึ่งเป็นปูน้ำจืดชนิดใหม่ของโลก อาศัยอยู่ตามซอกหินบริเวณสองข้างลำธาร พบในเขตอุทยาน ฯ นี้เป็นแห่งแรก
                 - อุทยานแห่งชาติกระบุรี  ตั้งอยู่ในเขตอำเภอกระบุรี ตรงบริเวณแม่น้ำกระบุรีซึ่งกั้นพรมแดนไทย - พม่า
                 - อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยาายาม  อยู่ห่างจากปากน้ำระนองไปประมาณ ๓ กิโลเมตร มีหาดทรายขาวสะอาด ทอดตัวเป็นแนวยาวไปตามตัวเกาะ บริเวรรอบ ๆ เกาะ มีสิ่งแวดล้อมที่สวยงามเหมาะแก่การดำน้ำ ตกปลา อยู่หลายแห่งเช่น เกาะสินไห เกาะช้าง
            เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า  มีอยู่ ๔ แห่งด้วยกัน
                 - เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าคลองนาคา  อยู่ในเขตอำเภอกะเปอร์
                 - เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าทุ่งระยะ - นาสัก  อยู่ในเขตอำเภอกระบุรี
                 - เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าอุทยานเสด็จในกรมหลวงชุมพร   อยู่ในเขตอำเภอกระบุรี
                 - เขตห้ามล่าสัตว์ป่าชายเลนม่วงกลวง  อยู่ในเขตกิ่งอำเภอสุขสำราญ

            ศูนย์วิจัยป่าชายเลนจังหวัดระนอง  ตั้งอยู่ที่บ้านล่าง ตำบลหงาว อำเภอเมือง ฯ มีพื้นที่ป่าชายเลนสำหรับศึกษาวิจัย ประมาณ ๓,๗๐๐ ไร่ พื้นที่บริเวณศูนย์วิจัยประมาณ ๗๐ ไร่ ได้รับการประกาศเป็น เขตสงวนชีวมณฑลของโลก เป็นแห่งที่ ๔ ของประเทศไทย ปัจจุบันมีประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมโครงการ ๑๐๑ ประเทศ

                 - เขตสงวนชีวมณฑล  เขตสงวนชีวมณฑลป่าชายเลนจังหวัดระนอง ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง ทิศเหนือจรดคลองระนอง และปากน้ำระนอง ทิศใต้จรดทะเลอันดามันและคลองทรายขาว ทิสตะวันออกจรดอุทยาน ฯ น้ำหงาว ทิศตะวันตกจรดทะเลอันดามัน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหงาว และบางส่วนของตำบลปากน้ำ ตำบลบางริ้น และตำบลราชกรูด สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของประเทศไทย มีพื้นที่ประมาณ ๓๐๓ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๑๘๙,๐๐๐ ไร่  จำแนกพื้นที่ออกเป็น สามส่วน คือ  ส่วนแรกเป็น พื้นที่แกนกลาง เป็นพื้นที่มีสภาพธรรมชาติสมบูรณ์ ยังไม่มีการรบกวนจากการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เป็นพื้นที่ที่เคยดำเนินการวิวจัยระบบนิเวศน์ป่าชายเลนนานาชาติมาเป็นเวลานาน มีข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์เผยแพร่ทั่วโลก มีไม้โกงกางขนาดใหญ่กว่า ๓๐ เมตร อยู่เป็นกลุ่มแห่งเดียวในประเทศไทย มีพื้นที่แกนกลางรวมทั้งสิ้นประมาณ ๔๖ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๒๙,๐๐๐ ไร่ บริเวณที่สองเป็น พื้นที่กันชน เป็นพื้นที่ที่สามารถให้มีการฟื้นฟูและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในรูปแบบต่าง ๆ อย่างยั่งยืน ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวและให้ความรู้แก่ประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ โดยได้กำหนดพื้นที่กันชนไว้ ๑๙๔ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๑๒๑,๐๐๐ ไร่ พื้นที่กันชนที่เป็น น้ำ ทะเล คลอง  ๑๒๑ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๗๘,๐๐๐ ไร่ พื้นที่เกาะและภูเขาประมาณ ๑๑ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๗,๐๐๐ ไร่   บริเวณที่สามเป็น พื้นที่รอบนอก เป็นพื้นที่ที่มีการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันเช่น การเกษตร แหล่งชุมชน และอุตสาหกรรมต่าง ๆ อยู่นอกเขตพื้นที่ป่าชายเลน ซึ่งจำเป็นต้องมีการจัดการ และควบคุมการขยายตัวของชุมชน และคงไว้ซึ่งคุณภาพของสภาพแวดล้อมที่ดี เพื่อให้มีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ป่าชายเลน ในพื้นที่เขตสงวนชีวมณฑลให้น้อยที่สุด เขตพื้นที่รอบนอกนี้มีพื้นที่ประมาณ ๖๓ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๔๐,๐๐๐ ไร่
             การดำเนินการศึกษาวิจัยระบบนิเวศน์ป่าชายเลนที่สำคัญได้แก่ โครงการวิจัยสมดุลทางนิเวศน์วิทยา และกำลังผลิตของป่าชายเลนในประเทศไทย โดยศึกษาเกี่ยวกันโครงสร้างของป่าชายเลน มวลชีวภาพ และการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติ  การหมุนเวียนของธาตุอาหาร คุณสมบัติของดิน ตลอดจนสัตว์ที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลน

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |