| ย้อนกลับ |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางพระพุทธศาสนา

ศาสนสถาน

            วัดสุวรรณคีรีวิหาร  เป็นวัดแห่งแรกของจังหวัดระนอง ตั้งอยู่ในเขตตำบลเขานิเวศน์ อำเอเมือง ฯ บริเวณที่ตั้งเป็นที่ราบ แวดล้อมไปด้วยภูเขา และบ้านเรือนของประชาชน สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๓ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ  เมื่อคราวที่พระองค์เสด็จ ฯ ประพาสหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันตก ทรงเห็นว่า วัดสุวรรณคีรีทาราม ประสบกับธรรมชาติและเป็นวัดร้าง จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระยารัตนเศรษฐี ผู้ว่าราชการเมืองระนองดำเนินการสร้างวัดนี้มาแทน พร้อมกับพระราชทานนามว่า วัดสุวรรณคีรีวิหาร ชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดหน้าเมือง ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปหินอ่อนห้าองค์ และธรรมาศน์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ พระราชทานไว้
            วัดอุปนันทาราม (วัดด่าน)  ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองระนอง สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๖ โดยนายบาเซ่ง ได้บริจาคที่ดินจำนวน ๘ ไร่เศษ เป็นสถานที่สร้างวัด ต่อมาบริษัทไซมิสตินท์ได้บริจาคที่ดินเพิ่มอีกรวม ๒๒ ไร่เศษ ได้รับวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๑  โดยมีพระครูศีลพงษ์คณารักษ์ (หลวงพ่อบรรณ พุทธสโร) เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก

            วัดจันทาราม  เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ทางสังคม คือเป็นวัดที่ตั้งอยู่ใกล้เขตแดนประเทศพม่า เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างของจังหวัดระนอง และทางราชการได้ใช้เป็นประชุมและอบรมข้าราชการประชาชน ภายในวัดมีสถานที่ให้ประชานที่เดินทางไกลมาพักผ่อน และมีการจัดกิจกรรมอื่น ๆ ที่อำนวยประโยชน์ต่อการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นประจำ
            วัดจันทาราม ตั้งอยู่ในเขตตำบลน้ำจืด อำเภอกระบุรี สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๓ เดิมชื่อ วัดประทุมธาราเทพนิมิตร ตามประวัติกล่าวว่าเมื่อพระยาอัษฎงคตทิศรักษา (คอซิมบี้ ณ ระนอง)  ย้ายที่ตั้งเมืองตระ จากตำบลปากจั่น มาตั้งที่ตำบลน้ำจืด เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๘ แล้ว ด้วยเหตุที่พระอัษฎงคต ฯ รู้จักชอบพอและเคารพนับถือ หลวงพ่อจันทรซึ่งจำพรรษาอยู่ที่วัดขี้ไฟ ซึ่งอยุ่ตรงข้ามตำบลน้ำจืด ห่างจากเมืองตระ ไปทางเหนือเล็กน้อย จึงได้นิมนต์หลวงพ่อจันทร์มาอยู่ที่ตำบลน้ำจืด โดยสร้างวัดให้ที่เชิงเขาชายคลองน้ำจืด ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๑ กิโลเมตร โดยสร้างเป็นกุฎิหลังเล็ก ๆ ด้วยไม้ มุงหลังคาจาก กั้นด้วยจากอยู่ได้เฉพาะรูปเดียว เรียกว่าวัดปทุมธาราเทพนิมิตร แต่ชาวบ้านเรียกว่า วัดน้ำจืด ซึ่งที่ถูกควรเรียกว่า สำนักสงฆ์
            เมื่อได้สร้างโรงอุโบสถขึ้นที่หลังเขา ทำด้วยไม้ หลังคามุงจาก พอเป็นที่ทำสังฆกรรมได้ จึงได้ให้บรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรในละแวกนั้น
            หลวงพ่อจันทร์เป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดนี้ถึง ๑๑ ปี มรณภาพเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๕ อายุได้ ๘๐ ปีเศษ ได้นำชื่อของท่านมาตั้งเป็นนามวัดเพื่อเป็นอนุสรณ์ว่า วัดจันทาราม

            วัดสุวรรณคีรี   เดิมชื่อวัดปากจัน สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๐๘ สาเหตุของการเปลี่ยนชื่อวัด เนื่องด้วยเหตุผลที่ถือตามภูมิประเทศ ประกอบกับเคยมีชาวบ้านได้ขุดพบทองนพเก้าในบริเวณนี้ จึงได้เรียกว่าวัดสุวรรณคีรี ได้รับวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๒
            ภายในวัดมีเจดีย์เก่าแก่อายุนับร้อยปี ส่วนยอดทำด้วยทองคำแท้ ปัจจุบันเหลือแต่ซากเจดีย์เก่าปรากฎเด่นชัด มีลักษณะเป็นอุเทสิกข์เจดีย์ มีความกว้างด้านละ ๑๐ เมตร สูง ๑๕ เมตร

            วัดปทุมธาราราม  ตั้งอยู่ในเขตตำบลกะเปอร์ อำเภอกะเปอร์ ตัววัดตั้งอยู่บนที่ราบสูง สภาพแวดล้อมเป็นลำคลองและป่าไม้ ประกอบด้วยอาคารเสนาสนะที่เก่าแก่ อุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฎิ เจดีย์ มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น ๑๐๐ ไร่
            วัดปทุมธาราราม สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๓๑๑ ชื่อวัดขนานนามตามลักษณะสภาพแวดล้อม แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดบางปรุ ตามชื่อคลองที่วัดตั้งอยู่ ได้รับวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๒
ศาสนบุคคล

            หลวงพ่อบรรณ  พุทธสโร  เป็นชาวเมืองไชยา เป็นผู้สร้างวัดอุปนันทาราม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๖ และเป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดดังกล่าว ต่อมาได้เป็นเจ้าคณะจังหวัดระนอง ได้รัวบพระราชทานทินนามเป็นที่ พระครูศีลพงศ์คณารักษ์ มรณภาพเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๖ ที่วัดหาดส้มแป้น
            หลวงพ่อบรรณ ได้บำเพ็ญประโยชน์ทางการศึกษาในจังหวัดระนองเป็นอันมาก โดยเฉพาะด้านภาษาไทยเด็กชาวระนองในครั้งนั้น ต่อมาได้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นในวัดอุปนันทาราม ซึ่งต่อมาทางราชการได้ขยายการศึกษาจัดตั้งโรงเรียนตามตำบลต่าง ๆ เมื่อโรงเรียนขาดแคลนครูสอน หลวงพ่อบรรณก็ได้นำญาติของท่านจากเมืองไชยามาเป็นครูสอน
            หลวงพ่อบรรณได้นำความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาทั้งวัฒนธรรมไทยมาเผยแพร่ให้ชาวระนอง ในครั้งนั้นให้รู้จักและถือปฎิบัติ ทั้งนี้เนื่องจากว่าในห้วงเวลานั้น ระนองเป็นจังหวัดที่ตั้งขึ้นใหม่ ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวจีนที่ผู้สำเร็จราชการเมืองระนองพาเข้ามาเพื่อทำเหมืองแร่ ท่านจึงเป็นที่เคารพนับถือ และเลื่อมใสศรัทธาของชาวไทยและชาวจีนในจังหวัดระนอง ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ เป็นเจ้าคณะจังหวัดได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นเกจิอาจารย์ที่ศักดิ์สิทธิ์ แม้แต่ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามยังมาบนบานเมื่อมีภัย
            หลวงพ่อจันทร์ วัดจันทาราม  เดิมท่านเป็นพระภิกษุชาวพม่า จำพรรษาอยู่ที่วัดขี้ไฟ (เถ้า) ในประเทศพม่า ต่อมาพระยารัษฎานุประดิษฐ์ ฯ (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เมื่อครั้งเป็นที่พระยาอัษฎงคตทิศรักษา เจ้าเมืองกระบุรี มีความเลื่อมใสศรัทธาได้นิมนต์ท่านมาตั้งสำนักสงฆ์อยู่ในตำบลน้ำจืด เมืองกระบุรี โดยสร้างวัดประทุมธาราเทพนิมิตร ต่อมาได้พัฒนาขึ้นเป็นวัดอย่างสมบูรณ์
            หลวงพ่อจันทร์เป็นพระภิกษุที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย สันโดษและมีเมตตาธรรมสูง ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดประทุมธารา ฯ อยู่ถึง ๒๒ พรรษา มรณภาพเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๕ อายุได้ ๘๐ ปีเศษ บรรดาผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาจึงได้เปลี่ยนชื่อวัด เพื่อเป็นเกียรติและอนุสรณ์แก่ท่านว่า วัดจันทาราม
            พระครูอุดมคุณาจารย์ (รื่น คัมภีโร)  อดีตเจ้าอาวาสวัดนกขาง ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๔ ที่บ้านน้ำจืด อำเภอกระบุรี อุปสมบทเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒ ที่วัดศิลาลาย อำเภอบกเบี้ยน จังหวัดมะริด ประเทศพม่า
            ท่านได้ศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง ในระยะ ๓ - ๔ ปีแรก เพราะวัดอยู่ในถิ่นทุรกันดาร ท่านมุ่งเน้นไปในทางปฎิบัติ ภายหลังได้ย้ายมาศึกษาปฎิบัติธรรมที่วัดสุวรรณคีรี จังหวัดระนอง

           หลวงพ่อเบี้ยว อุปกิจโจ  เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๑  ที่ตำบลบ้านทุ่ง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎรธานี อุปสมบทเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๖  ณ วัดวังตะวันตก อำเภอเมือง ฯ แล้วได้ไปจำพรรษาตามที่ต่าง ๆ ครั้งสุดท้ายจำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์สามัคคีธรรม ตำบลกะเปอร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๘
            เมื่อได้มาจำพรรษาที่สำนักสงฆ์สามัคคีธรรม ท่านก็ได้พัฒนาสำนักสงฆ์แห่งนี้เรื่อยมา โดยได้ขอบริจาคที่ดินเพิ่มอีก ๑๐ ไร่เศษ จากเดิมที่มีอยู่เพียง ๓ ไร่เศษ เริ่มขออนุญาติสร้างวัดเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๓ และสร้างอุโบสถ พัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรืองสืบมา และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ในปี พ.ศ.๒๕๑๓  ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดธรรมาวุธาราม ได้รับการคัดเลือกเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕
            ขณะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส หลวงพ่อเบี้ยวได้ปกครองคณะสงฆ์โดยสามัคคีธรรม อบรมผู้ที่เข้ามาบวชเรียนด้วยความรัก ความเมตตา ให้ผู้ที่มาบวชเรียน มีความรู้ในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี
            ท่านได้ถึงแก่มรณภาพเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗  ที่วัดธรรมาวุธาราม ท่านนับเป็นเกจิอาจารย์รูปหนึ่งที่ชาวระนองเลื่อมใสศรัทธา

| ย้อนกลับ | บน |