| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์

การตั้งถิ่นฐาน
            ในสมัยโบราณเมืองระนองตั้งอยู่กลางป่าดง  อยู่ไกลจากเมืองหลวง มีเส้นทางสัญจรทุรกันดาร การเดินทางเป็นไปด้วยความลำบาก จึงได้รับสมญานามว่า เมืองสุดหล้าฟ้าเขียว
            จากการสำรวจของนักโบราณคดี ปรากฎว่าในเขตจังหวัดระนอง มีแหล่งอารยธรมที่เก่าแก่น่าสนใจมาก่อนประวัติศาสตร์ ตามลำคลอง ถ้ำ และภูเขาหลายแห่งในเขตอำเภอกระบุรี ชาวบ้านได้พบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ เครื่องปั้นดินเผาโดยเฉพาะหม้อตะคันชนิดต่าง ๆ มากมาย ภายในถ้ำพระขยางค์ อำเภอกระบุรี เคยมีภาพเขียนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ แต่ต่อมาภายหลังได้ถูกลบและเขียนกลบทับเสียหมด นอกจากนี้ยังมีหลักฐานปรากฎอยุ่ตลอดชายฝั่งทะเล และเกาะต่าง ๆ
พัฒนาการท่งประวัติศาสตร์
    สมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น
            กระบุรี - ระนองในเส้นทางการค้าโบราณ  มีเส้นทางอยู่ ๕ เส้นทางด้วยกันคือ
                 - เส้นทางที่ ๑  แหลมอินโดจีน โดยเฉพาะภาคใต้ตอนบนของประเทศไทย เป็นเส้นทางติดต่อค้าขายของชาวอินเดียและชาวจีน โดยมีพ่อค้าชาวอินเดีย พร้อมด้วยพราหมณ์ เดินทางโดยเรือใบ จากอินเดียภาคใต้มาแวะที่ตะกั่วป่า ซึ่งมีเกาะคอเขาอยู่ที่ปากน้ำ แล้วเดินทางต่อไปตามลำน้ำจนถึงเขาสก ข้ามเขาสกล่องเรือต่อไปตามลำน้ำตาปี เดินทางต่อไปตั้งหลักแหล่งที่เขาตก อำเภอสิชล และหมู่บ้านโมคลาน ส่วนอีกพวกหนึ่งเดินทางต่อไปตั้งหลักแหล่งที่ปากแม่น้ำโขง พ่อค้ารุ่นแรกดังกล่าวนี้ นักประวัติศาสตร์หลายคนลงความเห็นว่า ได้เดินทางต่อมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๐๐ - ๒๐๐
             เมืองกระบุรี ระนอง คุระบุรี ตะกั่วป่า พังงา และกระบี่ เป็นเมืองชายฝั่งทะเลอันดามันฝั่งตะวันตกของแหลมมลายู ซึ่งมีเทือกเขาสลับซับซ้อนติดต่อกันไป ส่วนด้านอ่าวไทยซึ่งอยู่ฝั่งตะวันออกของเทือกเขาตะนาวศรี ก็มีเมืองชุมพร หลังสวน ไชยา สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราชเป็นต้น  การติดต่อกันระหว่างชายฝั่งทะเลอันดามันกับอ่าวไทย มีความกันดารมากในสมัยโบราณ น้ำที่ไหลจากทิวเขาตะนาวศรีได้กลายเป็นต้นน้ำของแม่น้ำปากจั่น และแม่น้ำกระบุรี ซึ่งไหลไปออกทะเลอันดามันที่ระนอง ทางฝั่งตะวันตกเป็น เมืองมลิวัน ซึ่งแต่เดิมเป็นของไทย มาตกเป็นของอังกฤษในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อ่าวไทย กลายเป็นเส้นทางค้าขายของพ่อค้าในสมัยโบราณ ซึ่งเดินทางข้าม คอคอดกระ อันเป็นส่วนที่แคบที่สุดของแหลมมลายู นับเป็นเส้นทางการค้าเส้นทางแรก และสำคัญยิ่งแห่งหนึ่งในสมัยโบราณ
                 - เส้นทางที่ ๒  ปรากฎหลักฐานชุมชนโบราณที่ภูเขาทอง ตำบลกำพวน กิ่งอำเภอสุขสำราญ และอาจมีชุมชนเก่าแห่งอื่น เช่นที่ตาคลี บางหิน และกะเปอร์ ซึ่งยังไม่มีการสำรวจ เพราะมีคลองต้นน้ำจากเทือกเขา กลายเป็นคลองบางหิน คลองกะเปอร์ ซึ่งพ่อค้าจากชุมชนโบราณกำพวน บางหิน กะเปอร์ ได้เดินทางผ่านบ้านเชี่ยวเหลียง บ้านนา ลัดเลาะหุบเขาไปติดต่อสค้าขายกับชุมชนโบราณที่บ้านท่าชนะ ไชยา  พุมเรียง และบ้านดอน สุราษฎร์ธานี
                 - เส้นทางที่ ๓  คือชุมชนชาวเกาะเขา ซึ่งเป็นเกาะยาวไปถึงปากน้ำตะกั่วป่า ปากน้ำคุระบุรี ปากน้ำตะกั่วป่าเป็นสถานีการค้าที่เก่าแก่และสำคัญที่สุดในสมัยโบราณ มีหลักฐานระบุเด่นชัดมากกว่าแหล่งอื่น ๆ
                 - เส้นทางที่ ๔  เป็นเส้นทางจากปากอ่าวพังงาไปยังคลองท่อม มีการตั้งหลักแหล่ง และเดินทางติดต่อกับจังหวัดตรัง และนครศรีธรรมราช
                 - เส้นทางที่ ๕  เป็นเส้นทางจากปากน้ำกันตัง โดยล่องเรือไปตามแม่น้ำตรัง แล้วเดินทางผ่านห้วยยอด ทุ่งสง ต่อไปถึงนครศรีธรรมราช
             เรื่องราวของ อาณาจักรตามพรลิงค์ และ อาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งเชื่อมโยงกับชุมชนโบราณกำพวน คุระบุรี และตะกั่วมีดังนี้
             จากเอกสารจีนตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ ๒ - ๓ กล่าวว่า เส้นทางการค้าขายของจีนติดต่อระหว่าง โก - ยิง (KO - Ying)  ผ่านเมืองตุน - สุน (Tun - Sun)  น่าจะอยู่บนคาบสมุทรไทยตรงที่ตะวันออกพบกับตะวันตก ปราชญ์ไทยเห็นว่าควรจะอยู่ระหว่าง กำพวน - ท่าชนะ - ไชยา - คุระบุรี - ตะกั่วป่า - บ้านดอน ลงไปจนถึงนครศรีธรรมราช ดังปรากฎว่า พวกหู (Hu)  เคยมาตั้งหลักแหล่งถึง ๕๐๐ ครอบครัว และพวกพราหมณ์อีกนับพันคน  อาจจะเป็นชาวอินเดีย - อาหรับ   และเปอร์เซีย  ที่เคยมาค้าขายสมัยราชวงศ์ถัง ถึงคริสตศตวรรษที่ ๕ - ๖  ปรากฎชื่อเมือง ปัน - ปัน (Pan Pan)  ในบันทึกของ มา - ตวน - ลิง  (MaTuan - Lin)  สันนิษฐานว่าคงอยู่ที่บ้านดอน - ท่าทอง สุราษฎร์ธานี
             ค.ศ.๖๐๐ - ๗๐๐  เมืองสำคัญที่เป็นต้นเค้าของรัฐที่เรืองอำนาจชื่อ ตามพรลิงค์ มีรูปแบบที่แตกต่างจากศรีวิชัย ทางด้านศิลปกรรมเช่น เทวาลัยของพราหมณ์บนเนินเขาคา อำเภอสิชล เทวาลัยพราหมณ์ บ้านโมคลาน ล้วนบ่งบอกถึงวิวัฒนาการของศาสนาฮินดู ที่แพร่หลายเข้ามาตั้งแต่สมัยตามพรลิงค์ ก่อนสมัยศรีวิชัย
             ค.ศ.๗๐๐ - ๘๐๐  พบบันทึกชื่อเมือง โพ - สิห์ (Fo - Shih)  หรือ  สิ - ลิ - โฟ - สิห์ (Shih - Li - Fo - Shih) ซึ่งก็คืออาณาจักรศรีวิชัยนั่นเอง มีเมืองหลวงอยู่ที่นครศรีธรรมราชและไชยา ตามลำดับ คือ
                 - ค.ศ.๖๗๑ - ๙๐๐ (พ.ศ.๑๒๑๔ - ๑๔๔๓) ไชยาเป็นเมืองเอก
                 - ค.ศ.๙๐๐ - ๑๐๐๐ (พ.ศ.๑๔๔๓ อ- ๑๕๔๓) นครศรีธรรมราชเป็นเมืองเอก
                 - ค.ศ.๑๐๐๐ - ๑๒๐๔ (พ.ศ.๑๕๔๓ - ๑๗๔๘) ไชยาเป็นเมืองเอก แต่ถูกโจฬะตีแตก
                 - ค.ศ.๑๔๐๐ - ๑๕๐๐ (พ.ศ.๑๙๔๓ - ๒๐๘๓) ไชยาตั้งตัวได้อีกครั้ง
                 - ค.ศ.๑๕๐๐ (พ.ศ.๒๔๐๓) นครศรีธรรมราชกลับมีอำนาจ แต่ถูกยุบเข้าเป็นเมืองพระยามหานครของกรุงศรีอยุธยา
            วิวัฒนาการบ้านเมืองบนคาบสมุทรไทย  พอจำแนกออกเป็นการตั้งหลักแหล่งเป็น สถานีการค้า (Way Station) และการตั้งสถานีการค้าหรือ เมืองท่าค้าขาย (Entreport) ติดต่อเมืองอื่น จัดระบบรัฐและส่งต่ออำนาจทางการปกครองติดต่อกับเมืองเล็กเมืองน้อยอื่น ๆ  มีศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ศิลปวัฒนธรรม ตลอดถึงเป็น เมืองศาสนา (Religious city)
                 - ชุมชนโบราณฝั่งตะวันตก  ส่วนใหญ่เป็นสถานีการค้า โดยได้ขุดพบโบราณวัตถุ เช่น ถ้วย ชาม หม้อ ไห อิฐ หิน ลูกปัด เหรียญเงิน ซึ่งมีอายุเก่าแก่ถึงสมัยราชวงศ์ถัง แหล่งที่ขุดพบมากคือที่ภูเขาทอง ตำบลกำพวน กิ่งอำเภอสุขสำราญ  ที่บ้านทุ่งตึก ด้านตะวันตกของเกาะคอเขาซึ่งเป็นเกาะที่มีขนาดกว้าง ๕ กิโลเมตร ยาว ๑๕ กิโลเมตร ในอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา เกาะนี้ทอดยาวไปถึงปากน้ำตะกั่วป่า
      โบราณวัตถุที่พบที่ทุ่งตึก - เมืองทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา มีลักษณะคล้ายคลึงกับที่พบที่แหล่งโบราณคดีภูเขาทอง ตำบลกำพวน กิ่งอำเภอสุขสำราญ และยังมีแหล่งที่พบลูกปัดโบราณอีกมากที่เนินเขา ตั้งแต่กำพวน ถึง คุระบุรี มีลักษณะคล้ายคลึงกับลูกปัดและโบราณวัตถุที่พบที่ควนลูกปัด อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่  ต่างกันที่ทุ่งตึก เมืองทอง พบภาชนะดินเผาของต่างชาติมากกว่า แสดงว่ามีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติมากกว่า
                 - สถานีการค้าหรือเมืองท่าค้าขายติดต่อกับชุมชนโบราณทางฝั่งตะวันออก  หลักฐานที่ปรากฏจากแหล่งโบราณคดีฝั่งตะวันตก มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องด้วยการติดต่อค้าขาย แลกเปลี่ยนสินค้ากับชุมชนโบราณทางฝั่งตะวันออกเป็นลำดับดังนี้
                       เขาสามแก้ว  ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำท่าตะเภา ตำบลนาชะอัง อำเภอเมืองชุมพร มีการขุดพบโบราณวัตถุยุคสำริด ก่อนยุคประวัติศาสตร์ พบกลองมโหรทึกสำริด วัฒนธรรมดองซอน มีอายุประมาณ ๕๐๐ - ๑๐๐ ปีก่อนคริสตกาล พบรูปสัตว์สำริด เครื่องประดับสำริด ลูกปัดหินคาร์เนเลียน ลูกปัดแก้ว ต่างหูหิน ภาชนะดินเผา และเศษชิ้นส่วนโบราณวัตถุใกล้กับแหล่งที่พบกลอง
                   ท่าชนะ - หนองหวาย  บริเวณที่เป็นแนวยาวทอดตัวไปตามสันทรายของชุมชน โดยเฉพาะท่าชนะ ตำบลวัง พบเครื่องมือยุคหินกลาง เป็นหินกะเทาะ ที่มีเครื่องมือหินขัด ตุ้มหูหยก อายุประมาณ ๓๐๐ ปีก่อนคริสตกาล รวมทั้งเต่าหยก กำไลหิน กำไลแก้ว กำไลเหล็ก หินดุ ตะกรันดินเผา ลูกกลิ้งสำหรับทำสายผ้าดินเผา เศษภาชนะพื้นเมือง  ดินเผาลักษณะคล้ายกับที่พบในแหล่งโบราณคดีแห่งอื่นทางฝั้งตะวันตก นอกจากนี้ยังพบเทวรูป เช่น พระพิฆเนศศิลา ศิวลึงค์ศิลา เอกะมุขลึงค์ศิลา เก่าแก่ที่สุดที่พบในไทย (พ.ศ.๑๐๐๐)
                   ชุมชนกำพวนรุ่นเก่าแก่  เคยเดินทางไปค้าขายติดต่อกับชุมชนท่าชนะ หนองหวายและไชยา โดยผ่านทางเขาชาคลี บางหิน วังกุ่ม ต่อไปทางเชียวเหลียง บ้านนา แล้วเดินลัดเลาะไปตามหุบเขาไปถึงท่าชนะ ไชยา มาตั้งแต่สมัยโบราณ เพระโบราณวัตถุที่พบจะรุ่นเดียวกับที่พบที่กำพวน สุขสำราญ  ทุ่งตึก เกาะคอเขา คุระบุรี ตะกั่วป่าและพังงา
                   เขาศรีวิชัย  อยู่ในเขตตำบลศรีวิชัย อำเภอพุนพิน อยู่บนฝั่งแม่น้ำตาปี ทางด้านใต้ของแหล่งโบราณคดีท่าชนะ - ไชยา ได้ขุดพบโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่แปลกจากแหล่งอื่น บนเขาศรีวิชัยมีซากโบราณสถาน เทวสถาน ชิ้นส่วนอาคาร มีอิฐกระจายอยู่ทั้งบนภูเขาและเชิงเขา พบพระวิษณุสององค์ มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒  รุ่นเดียวก้บที่พบบนเขาพระเหนอ เขาพระนารายณ์ อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา
                   เวียงสระ  อยู่ในเขตตำบลเวียงสระ อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นเมืองโบราณ มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ตัวเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๘ เส้น ยาว ๑๔ เส้น มีซากโบราณสถาน พระพุทธรูปหินทรายแดงหลายองค์ มีอู่เรือโบราณสามแห่ง พบพระพุทธศากยมุนีศิลา สกุลช่างสารนารถ พุทธศตวรรษที่ ๑๑ และเทวรูปรุ่นเก่า มีพระนารายณ์ พระวิษณุ จำหลัก และพระอาทิตย์ศิลา เป็นต้น
             จากข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก จะพบว่าชุมชนฝั่งตะวันตก แม้จะไม่หนาแน่นเท่าฝั่งตะวันออก แต่ก็นับว่าเป็นแหล่งชุมชนโบราณที่มีอายุเก่าแก่ เมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว ไม่แพ้ชุมชนฝั่งตะวันออก
             เมืองกระบุรีกับประวัติศาสตร์ยุคต้นของระนอง  เมืองระนองเคยเป็นชุมชนโบราณที่มีการติดต่อค้าขายกับอินเดีย และจีน เป็นเส้นทางที่เดินลัดเทือกเขาตะนาวศรีจากต้นน้ำกระบุรีคือที่ปากจั่น ไปยังต้นแม่น้ำชุมพร เป็นชุมชนโบราณอันดับสองรองจาก ชุมชนภูเขาทอง กำพวน กิ่งอำเภอสุขสำราญ
                   กระบุรี  คำนี้มีจารึกอยู่ที่ฐานพระพุทธรูปโบราณที่อำเภอไชยา และปรากฎหลักฐานบันทึกของจีนเรียกกระบุรี ว่าเกียโลหิ และครหิ (Ki - Lo - Hi -  Karahi)  จากหนังสือการค้าเมืองนานไฮ ระบุว่า เกียโลหิ, ครหิ หรือกระบุรี  เคยส่งฑูตไปติดต่อค้าขายที่เมืองจีน เมื่อปี พ.ศ.๑๑๕๑  (ตรงกับสมัยอาณาจักรโยนก ทวารวดี โคตรบูรณ์ ตามพรลิงค์ ก่อนศรีวิชัย)
             เมืองกระ (บุรี)  หัวเมืองในสิบสองนักษัตร  นักประวัติศาสตร์ยอมรับว่า ภาคใต้มีหลักฐานทางโบราณคดีทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่ตามพรลิงค์ ลิกกอร์ ลังกาสุระ มีศิลปยุคเก่าเป็นหลักฐานก่อนสมัยศรีวิชัย แต่มีศิลปวัฒนธรรมด้านศาสนาที่เด่นชัดใยยุคศรีวิชัย ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๘  มีอาณาเขตทางเหนือสุด คือเมืองประจันตขันธ์ (บางสะพาน)  มีจารึกอยู่ที่เสาหินหลักเมืองยืนยันทางตะวันตกสุด เมืองกระบุรี คุระบุรี ตะกั่วป่า ทางใต้สุดปลายแหลมมลายู ศิลปะร่วมสมัยที่พบตั้งแต่บางสะพานลงมาชุมพร กระบุรี ไชยา บ้านควน สิชล นครศรีธรรมราช ถ้ำสุวรรณคูหา ตะกั่วทุ่ง วัดเวียง  ถ้ำเขาปินะ วัดคีรีวิหาร ห้วยยอด ตรัง วัดเวียง วัดเบิก ลำปำ พัทลุง เจดีย์วัดสะเทิงพระ สงขลา และพระพุทธไสยาสน์ในถ้ำวัดคูหาภิมุข ยะลา หากนำมาเทียบเคียงจะพบความคล้ายคลึงกัน ส่วนใหญ่เป็นศิลปะสมัยพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรศรีวิชัย ผู้เรืองอำนาจและเกรียงไกรมากที่สุด
             ตามตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช และตำนานเมืองนครศรีธรรมราชมีกล่าวถึงการสร้างเมืองสิบสองนักษัตร คือ

 
ปีนักษัตร เมืองนักษัตร
ชวด  (หนู) เมืองสาย (บุรี)  ถือตราหนู
ฉลู    (วัว) เมืองตานี  ถือตราวัว
ขาล  (เสือ) เมืองกะลันตัน   ถือตราเสือ
เถาะ  (กระต่าย) เมืองปะหัง   ถือตรากระต่าย
มะโรง   (งูใหญ่ เมืองไทร (บุรี)  ถือตรางูใหญ่
มะเส็ง  (งูเล็ก)  เมืองพัทลุง   ถือตรางูเล็ก
มะเมีย  (ม้า) เมืองตรัง  ถือตราม้า
มะแม  (แพะ) เมืองชุมพร   ถือตราแพะ
วอก  (ลิง) เมืองบันทายสอ  ถือตราลิง
ระกา  (ไก่) เมืองสะอุเดา   ถือตราไก่
จอ  (สุนัข) เมืองตะกั่วป่า  ถือตราสุนัข
กุน (หมู) เมืองกระ (บุรี)  ถือตราหมู
             เมืองสิบสองนักษัตร  เป็นเมืองขึ้นแก่เมืองนครศรีธรรมราชมหานคร ซึ่งถือตราดอกบัว
             หลักฐานสมัยอยุธยา มีการระบุเมืองกระไว้ในกฎหมาย ทำเนียบศักดินาทหารหัวเมือง พ.ศ.๑๙๙๗ ว่าเมืองกระเป็นเมืองจัตวา ขึ้นกับเมืองชุมพร เมื่อสมัยอยุธยาตอนต้นประมาณ ๕๕๐ ปีมาแล้ว
             สมัยรัตนโกสินทร์ สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จมาเกณฑ์หัวเมืองปักษ์ใต้ฝั่งตะวันตก ให้ต่อเรือรบเตรียมไปตีเมืองทวาย พระยาแก้วโกรพ เจ้าเมืองกระบุรีได้คุมทัพเรือไปช่วยทำศึกด้วย
             ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาเพชรกำแหงสงคราม (ซุย)  เจ้าเมืองชุมพร ยกทัพไปช่วยตีมะริด - ทวาย แต่ทำงานผิดพลาด จึงถูกถอดออกจากตำแหน่ง แล้วทรงแต่งตั้งให้นายยัง บุตรชายเจ้าเมืองกระเป็นเจ้าเมืองชุมพร ในราชทินนามพระยาเพชรกำแหงสงคราม ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณมาจนอายุ ๘๕ ปี จึงกราบถวายบังคมลาออกจากราชการ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๗
             พ.ศ.๒๔๒๘  พระอัษฎงคตทิศรักษา  (คอซิมบี้ ณ ระนอง)  ย้ายเมืองจากปากจั่น มาตั้งเมืองกระใหม่ที่ตำบลน้ำจืด  ได้เป็นเจ้าเมืองกระใหม่คนแรก และคนสุดท้าย เพราะหลังจากนั้นทางราชการได้ยุบเมืองกระบุรี เป็นอำเภอกระบุรี ขึ้นกับจังหวัดระนอง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๙ โดยมีหลวงจันทรภักดี ฯ (ย้อย ธนบัตร)  เชื้อสายพระยาแก้วโกรพ มาเป็นนายอำเภอกระบุรีคนแรก
                 - ประวัติเจ้าเมืองกระบุรี   เมื่อปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ท้องที่เมืองกระบุรีเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ กระจายอยู่ห่าง ๆ กัน อยู่ในปกครองของเมืองชุมพร โดยมีนายแก้ว  เชื้อสายเจ้าพระยานครได้อพยพจากเมืองนคร ฯ มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลนาน้อย (ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลปากจั่น)  ต่อมาได้เป็นนายบ้านปกครองดูแลชาวบ้าน ต่อมาได้มีความดีความชอบ จึงได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้รวบรวมหมู่บ้านต่าง ๆ ที่นายแก้วปกครองอยู่ ยกฐานะขึ้นเป็นเมืองจัตวาขึ้นกับเมืองชุมพร ซึ่งเป็นหัวเมืองชั้นตรี เพื่อให้เมืองกระบุรีเป็นเมืองหน้าด่านรับข้าศึกพม่าคู่กับเมืองมลิวัล และโปรดเกล้า ฯ ให้นายแก้วโกรพเป็น พระแก้วโกรพ ตำแหน่งเจ้าเมืองกระบุรี
             อาณาเขตเมืองกระบุรี ทิศเหนือ ติดต่อกับเมืองท่าแซะ ทิศตะวันออกจดเมืองชุมพร ติดต่อกับเมืองมลิวัล (เมืองวิคตอเรีย พอยท์ของพม่าในปัจจุบัน)
             พระแก้วโกรพได้สร้างเมืองโดยใช้ดินก่อเป็นกำแพงล้อมรอบเรียกว่า บ้านค่าย อยู่ในเขตตำบลปากจั่นปัจจุบัน เมื่อพระแก้วโกรพชราภาพ ได้กราบทูลลาออกจากตำแหน่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ นายเทพ บุตรคนที่สองของพระแก้วโกรพ เป็น พระศรีสมบัติ สืบทอดตำแหน่งเจ้าเมืองแทน
เมืองระนองสมัยอยุธยา - สมัยรัตนโกสินทร์
             สมัยอยุธยา  ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กับสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ระหว่างปี พ.ศ.๑๙๙๑ - ๒๐๗๒ ได้มีการปรับปรุงระบบการปกครองบ้านเมือง โดยยกเลิกการปกครองแบบที่มี เมืองลูกหลวงสี่ด้าน ราชธานี ที่ใช้มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และได้มีการขยายเขตการปกครองเมืองหลวง ให้กว้างออกไปโดยรอบ จัดเป็นแบบในวงราชธานีกับนอกราชธานี
             ในวงราชธานีนั้นถือเอาเป็นเมืองหลวงเป็นหลัก และมีเมืองจัตวาขึ้นอยู่รายรอบหัวเมือง เมืองจัตวาเหล่านี้มี ผู้รั้ง (เจ้าเมือง) กับกรมการเมืองเป็นพนักงานปกครอง  โดยให้อยู่ในบังคับบัญชาของเสนาบดีทั้งหลายในราชธานี
             ส่วนหัวเมืองที่อยู่นอกวงราชธานี หรือเมืองชายแดน หน้าด่าน จัดให้เป็นหัวเมืองชั้นเอก ชั้นโท ชั้นตรี  ตามขนาดและความสำคัญของเมืองนั้น ๆ ซึ่งต่อมาเรียกว่า หัวเมืองชั้นนอก ซึ่งต่างก็มีหัวเมืองเล็ก ๆ คั่นอยู่เช่นเดียวกันกับในวงราชธานี มีจำนวนมากน้อยตามขนาดของอาณาเขต โดยกำหนดตามท้องที่สุดแต่จะให้พนักงานปกครองต่างเมืองไปมาถึงกันได้ภายในวันหรือสองวัน เพื่อจะได้บอกข่าวช่วยเหลือกันเมื่อมีเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่นภาวะสงครามได้ทันเวลา
             บรรดาหัวเมืองชั้นนอกเหล่านี้พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งเจ้านายในราชวงศ์ หรือข้าราชการชั้นสูงศักดิ์เป็นผู้สำเร็จราชการ เรียกว่า เจ้าเมือง หรือพระยามหานคร ตามแต่ฐานะของเมือง มีอำนาจปกครองบังคับบัญชาสิทธิ์ขาดต่างพระเนตรพระกรรณ ทุกประการ
             เมืองระนอง  มีลักษณะเป็นหัวเมืองขนาดเล็ก ขึ้นอยู่กับเมืองชุมพร ซึ่งเป็นหัวเมืองชั้นตรี มีอาณาเขตติดฝั่งทะเลตะวันออก และฝั่งทะเลตะวันตก นอกจากเมืองระนองแล้ว ยังมีเมืองตระ (อำเภอกระบุรี)  เมืองปะทิว เมืองตะโก เมืองหลังสวน และเมืองมลิวัล (ปัจจุบันอยู่ในประเทศพม่า)
             สมัยกรุงธนบุรี  ไม่ปรากฎมีเหตุการณ์และหลักฐานทางประวัติศาสตร์บ่งไว้ สันนิษฐานว่ายังคงเป็นหัวเมืองขึ้นตรงต่อเมืองชุมพร
             สมัยรัตนโกสินทร์  เมืองระนองมีชื่อปรากฎอยู่ในพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ว่าเป็นเมืองที่พม่ายกทัพผ่านเข้ามา เพื่อไปตีเมืองชุมพร
             เมืองระนองมีพลเมืองอยู่น้อย แต่มีทรัพยากรอยู่มาก คือ แร่ดีบุก ที่เรียกกันสมัยโบราณว่า ตะกั่วดำ ด้วยเหตุนี้จึงมีราษฎรจากเมืองชุมพร และเมืองหลังสวน อพยพเข้ามาขุดแร่ดีบุกไปขายมาแต่โบราณ ทางราชการได้ผ่อนผันให้ราษฎร ส่ง ส่วยดีบุกแทนการรับราชการ ซึ่งได้ทำกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ โดยให้มี เจ้าอากรภาษีรับผูกขาดอากรดีบุก มีอำนาจที่จะซื้อและเก็บส่วยดีบุกแก่ทางราชการปีละ ๔๐ ภารา (หนึ่งภารา หนัก ๓๕๐ ชั่ง)
             ในการเก็บรวบรวมและจัดส่งส่วยอากรแร่ดีบุกให้ทางราชการนั้น ราษฎรชาวเมืองได้ยกย่องให้ นายนอง ซึ่งเป็นผู้นำที่ดี และเป็นหัวหน้าหมู่บ้านเป็นผู้รวบรวมส่งไป นายนองมีความดีความชอบในภาระหน้าที่ดังกล่าว จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงระนอง เจ้าเมืองคนแรก ต่อมารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้มีผู้ประมูลผูกขาดส่งภาษีอากรดีบุกขึ้นเรียกว่า นายอากร
             ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ.๒๓๘๗  มีคนจีนชื่อ คอซูเจียง  ซึ่งต่อมาได้เป็นที่ พระดำรงสุจริต ฯ (ต้นตระกูล ณ ระนอง )  ได้เดินทางมาตั้งภูมิลำเนาอยูที่เมืองตะกั่วป่า ได้ยื่นเรื่องขอประมูลอากรดีบุก แขวงเมืองตระ และระนองได้ จึงได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นที่ หลวงรัตนเศรษฐี ตำแหน่งขุนนาง นายอากร
             ในปี พ.ศ.๒๓๙๗  หลวงระนอง เจ้าเมืองระนองถึงแก่กรรม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์ หลวงรัตนเศรษฐี เป็น พระรัตนเศรษฐี ผู้สำเร็จราชการเมืองระนอง ถือศักดินา ๘๐๐ ไร่
             ภาษีอากรที่เก็บ ณ เมืองระนองในสมัยนั้นมี ๕ อย่างคือ ภาษีดีบุกที่ออกจากเมือง ภาษีสินค้าขาเข้าเมือง ร้อยชักสาม ตามราคา อากรฝิ่น  อากรสุราและอากรบ่อนเบี้ย ทั้ง ๕ อย่างนี้เรียกภาษีผลประโยชน์ สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรง ฯ ทรงกล่าวว่า ลักษณะที่ให้ผู้ว่าราชการเมืองรับผูกขาดเก็บภาษีผลประโยชน์ดังกล่าวนี้ ดูเหมือนจะจัดขึ้นที่เมืองระนองก่อน ครั้นเห็นว่าเป็นประโยชน์ จึงได้ขยายออกไปยังเมืองใกล้เคียงคือ ตะกั่วป่า พังงา และภูเก็ต
             ในเวลาต่อมาปรากฎว่าอังกฤษ จัดการปกครองหัวเมือง ซึ่งได้ไปจากพม่าเข้มงวดกวดขันมาชิดชายพระราชอาณาเขต ทางทิศตะวันตก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำริว่า ถ้าให้เมืองระนองและเมืองตระ ขึ้นอยู่กับเมืองชุมพร จะรักษาราชการทางชายแดนไม่สะดวก จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้ยกเมืองระนอง และเมืองตระ ขึ้นเป็นหัวเมืองจัตวา ขึ้นตรงต่อกรุงเทพ ฯ และเลื่อนบรรดาศักดิ์พระรัตนเศรษฐี ขึ้นเป็น พระยารัตนเศรษฐี ผู้ว่าราชการเมืองระนอง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๕
             ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๐  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า พระยารัตนเศรษฐี ชราภาพจึงพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนยศขึ้นเป็น พระยาดำรงสุจริต ฯ ตำแหน่งจางวางผู้กำกับราชการเมืองระนอง และทรงแต่งตั้งพระศรีโลหภูมิพิทักษ์ (คอซิมก๊อง)  บุตรคนใหญ่ของพระยาดำรงสุจริต ฯ และอยู่ในตำแหน่งผู้ช่วยราชการเมืองระนองเวลานั้น เป็นพระยารัตนเศรษฐี ผู้ว่าราชการเมืองระนอง
             ปี พ.ศ.๒๔๓๓  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จ ฯ  เลียบแหลมมลายูโดยทางเรือพระที่นั่งไปจากกรุงเทพ ฯ แล้วทรงช้างพระที่นั่งเสด็จ ฯ ทางสถลมารคจากเมืองชุมพร ข้ามแหลมมลายูไปลงเรือที่เมืองกระบุรี แล้วเสด็จ ฯ ทางชลมารคจากเมืองระนอง ตรวจหัวเมืองชายทะเลในพระราชอาณาเขต ผ่านไปในเมืองมลายูของอังกฤษ ประทับที่เมืองเกาะหมาก เมืองสิงคโปร์ ขาเสด็จ ฯ กลับได้ทอดพระเนตรหัวเมืองมลายู และหัวเมืองไทยทางปักษ์ใต้
             ในปี พ.ศ.๒๔๖๐  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จ ฯ เลียบหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตก และที่เมืองระนอง ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระระนองศรีสมุทรเขตต์  (คออยู่โงย)  เป็นผู้ว่าราชการเมืองระนองต่อไป

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |