| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |



ขนบธรรมเนียมประเพณี
            ประเพณีท้องถิ่นของจังหวัดระนอง มีลักษณะเดิมเป็นของตนเอง และปฎิบัติกันมานานจนเป็นแบบอย่าง ความคิดและการกระทำที่ได้ยึดถือปฎิบัติสืบต่อกันมา และยังคงมีอิทธิพลอยู่ในสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะประเพณีที่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีการดำเนินชีวิต แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ประเพณีพื้นบ้านบางอย่างไม่มีการสืบทอด
            การแต่งกาย  ก่อนปี พ.ศ.๒๔๘๕ ชาวระนองแต่งกายตามแบบโบราณที่ยึดถือกันมาคือ
                -  ผู้หญิง  นุ่งผ้าโจงกระเบน ผ้าดอก ห่มผ้าสไบเฉียง คนสูงอายุนิยมสวมเสื้อคอกระเช้า เสื้อกั๊กบ่าเล็ก ๆ หากไปงานพิธีหรือไปวัด จะสวมเสื้อมีแขน มีผ้าพาดบ่า หรือห่มสไบเฉียง ไว้ผมยาวเกล้ามวย สับหวีโค้ง หิ้วกระเช้าหมาก ต่อมาสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศรัฐนิยม โดยกำหนดให้ผู้หญิงนุ่งผ้าถุง แทนนุ่งโจงกระเบน แต่ปัจจุบันหันไปนุ่งผ้าปาเต๊ะ และนุ่งกระโปรงตามแบบสากลมากขึ้น ส่วนผู้ที่มีอายุมาก ๆ ยังนิยมนุ่งผ้าโจงกระเบนตามแบบโบราณ
                -  ผู้ชาย  พวกข้าราชการนุ่งผ้าโจงกระเบน หรือนุ่งผ้าม่วง สวมเสื้อราชปะแตน สวมถุงน่องรองเท้า ส่วนชาวบ้านที่มีฐานะดีเวลาออกงานจะนุ่งผ้าโจงกระเบน นุ่งผ้าทอมือ สวมเสื้อคอกลม เสื้อกุ่ยเฮง ผ้าขาวม้าคาดเอว คนทั่วไปจะนุ่งกางเกงขาสั้น กางเกงขาก๊วย หรือกางเกงแพรจีน คาดเข็มขัด ถ้ามีฐานะดีมักจะใช้เข็มขัดทองคำ นาก หรือเงิน ทรงผมนิยมตัดผมทรงดอกกระะทุ่ม หรือตัดด้านข้างศีรษะสั้นเกรียน ผมด้านบนศีรษะไว้ยาว หัวแสกกลาง ปัจจุบันนิยมแต่งกายและไว้ผมตามแบบสากลทั่วไป
            สมัยก่อนผู้มีฐานะดีทั้งชายหญิงนิยมสวมสายสร้อยทองคำเต็มคอ สวมแหวนหลาย ๆ วง บางนิ้วอาจสวม ๒-๓ วง เด็ก ๆ นิยมไว้ผมจุก สวมกำไลข้อมือ ข้อเท้าซึ่งทำด้วยทองคำ นาก หรือเงิน หญิงสาวนิยมสวมกำไลข้อมือและข้อเท้าเช่นกัน
            การกินอยู่  ชาวระนองในอดีต นิยมจัดอาหารเป็นสำรับใส่ถาดหรือใส่กระบะ (ทำด้วยไม้) หรือจัดใส่โตก ผู้มีฐานะดีจะใช้โตก กินบนพื้นโดยนั่งล้อมวงรอบสำรับกับข้าว ผู้ชายนั่งขัดสมาธิ ผู้หญิงและเด็กนั่งพับเพียบ  คนสูงอายุมักนั่งชันเข่าข้าวหนึ่ง ถ้าเป็นขุนนางมีฐานะก็จะมีคนคอยรับใช้อีกด้วย
            อาหารโดยทั่วไปตักใส่ถ้วยตั้งรวมในถาด โตก หรือกระบะ ตักข้าวใส่จานหรือโคม ใช้มือเปิบอาหารใส่ปาก การนั่งกับพื้นล้อมวงกินอาหารยังพบเห็นอยู่บ้างตามชนบท แต่มีจำนวนน้อยลงไปตามลำดับ
            กิริยามารยาท  โดยทั่วไปชาวระนองเป็นคนสุภาพอ่อนน้อม กิริยามารยาทเรียบร้อย พูดจาไพเราะอ่อนหวาน ตามแบบฉบับของคนไทยทั่วไป ผู้น้อยต้องให้เกียรติผู้ใหญ่ เคารพนบนอบไม่ทำตัวเสมอท่าน เวลาเข้าหาผู้ใหญ่จะสำรวมเดินค้อมตัว รู้จักกล่าวคำขอโทษ ขอบใจ กับบุคคลทั่ว ๆ ไป
            ลักษณะเด่นประการหนึ่งของประเพณีการแนะนำตัวของชาวระนองคือ เมื่อจะแนะนำใครจะต้องบอกถึง ปู่ ย่า ตา ยาย ด้วยเป็นการลำดับความเป็นมาในครอบครัวอย่างชัดเจน ซึ่งจะเป็นลักษณะของสังคมชนบท

            ประเพณีเสด็จพระแข่งเรือ  เริ่มจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๐ แต่ได้มีการหยุดจัดไประยะหนึ่ง มาเริ่มจัดใหม่ปี พ.ศ.๒๕๒๓  จนถึงปัจจุบัน ประเพณีจะจัดในช่วงวันออกพรรษาคือ ตั้งแต่วันแรมค่ำ เดือนสิบเอ็ด
            กิจกรรมที่สำคัญคือ การแห่เรือพระ โดยจะมีการนำเรือมาตกแต่งให้สวยงาม และอัญเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานบนเรือ แล้วแห่ไปตามลำน้ำกระบุรี นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันเรือประเภทต่าง ๆ เช่น ประกวดเรือยาวประเภทสวยงาม ความคิด ตลกขบขัน ประกวดเพลงเรือ ปัจจุบันประเพณีนี้จะจัดในบริเวณแม่น้ำกระบุรี ช่วงคอคอดกระ ซึ่งมีประชาชนทั้งชาวไทยและชาวพม่าตลอดจนจังหวัดใกล้เคียง ให้ความสนใจมาชมเป็นจำนวนมาก

            ประเพณีการร้องเพลงเรือ  เป็นประเพณีงานประเพณีเสด็จพระแข่งเรือ เพลงเรือ อำเภอกระบุรี เป็นเพลงพื้นบ้านของภาคใต้ประเภทหนึ่ง มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีลักษณะเป็นกลอนแปด หรือกลอนสี่สองวรรค ร้องเป็นภาษาท้องถิ่น คือภาษาพื้นเมืองสำเนียงปักษ์ใต้ ใช้ถ้อยคำคล้องจองกัน ท่วงทำนองเรียบง่าย ฟังง่าย มีคนร้องนำเรียกว่า แม่เพลง และลูกคู่ เป็นผู้รับ ลูกคู่จะมีกี่คนก็ได้ ซึ่งแตกต่างจากเพลงเรือภาคกลาง
            เพลงเรือในสมัยเริ่มแรก จะร้องเป็นท่วงทำนองสั้น ๆ เช่น เฮโล เฮโล สาระพา สาว ๆ ไม่มาชักพระไม่ไป ฝ่ายหญิงจะร้องแก้ว่า เฮโล เฮโล สาระพา หนุ่ม ๆ ไม่มาชักพระไม่ไป ต่อมาจึงได้มีวิวัฒนาการขึ้นตามลำดับ
            เรือลำหนึ่ง ๆ อาจจะมีผู้หญิงทั้งลำเรือหรือผู้ชายทั้งลำ หรือทั้งผู้หญิงผู้ชายอยู่ในเรือเดียวกัน สำหรับบทเพลงเรือแม่เพลงจะร้องเป็นเรื่องราว เช่น ร้องเรื่องประวัติงานเสด็จพระแข่งเรือ ประวัติการลอยกระทง ชมโฉมสตรี เกี้ยวพาราสี ฝากรัก ตัดพ้อต่อว่า ชมความงามตามธรรมชาติ ชมเรือพระ ชมผู้นำท้องถิ่น บทเพลงเชิญชวนคนลงเรือพาย เชิญชวนให้ละเว้นอบายมุข การต่อต้านภัยต่าง ๆ ฯลฯ
            เวลาพายเรือไปเทียบคู่กับเรือลำอื่น ก็อาจจะมีการโต้คารมกันระหว่างเรือสองลำ โดยผลัดกันร้องผลัดกันรับ ร้องโต้ตอบ ร้องแก้กัน ทำให้คนที่พายเรือสนุกสนาน เพลิดเพลินไม่เหนื่อย เกิดความสามัคคีกลมเกลียวกัน นอกจากนั้นการร้องเพลงเรือทำให้มีจังหวะทำนอง ในการโยกตัวและความพร้อมเพรียงในการพายดูแล้วสวยงาม
บุคคลสำคัญของท้องถิ่น

            พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี  (คอซูเจียง ณ ระนอง)  เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองระนอง และเป็นต้นตระกูล ณ ระนอง เป็นชาวจีนฮกเกี้ยน เกิดในประเทศจีนเมื่อปี พ.ศ.๒๓๔๐  เมื่ออายุได้ ๒๕ ปีได้เดินทางมาประกอบอาชีพเป็นกรรมกรอยู่ที่เกาะหมาก (เกาะปีนัง)  ต่อมาได้เข้ามาค้าขายที่เมืองตะกั่วป่า อยู่ในความอุปการะของท้าวเทพสุนทร จากนั้นได้ย้ายไปตั้งหลักแหล่งที่เมืองพังงา จนมีทุนทรัพย์มากขึ้น จึงได้ต่อเรือกำปั่นใบลำหนึ่ง ขึ้นล่องค้าขายอยู่ทางหัวเมืองฝั่งตะวันตก โดยรับซื้อสินค้าที่เกาะหมากแล้วเที่ยวขายตามหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันตก ไปจนถึงเมืองระนอง เมืองตระ (กระบุรี)  และรับซื้อสินค้าตามหัวเมืองเหล้านั้นเช่นดีบุก พริกไทย จันทน์เทศ ไปขายยังเกาะหมากจนชำนาญรู้ลู่ทาง และคุ้นเคยกับหัวเมืองแถบนี้เป็นอย่างดี และเห็นว่าเมืองระนองเป็นแหล่งที่มีสายแร่ดีบุกเป็นจำนวนมาก จึงได้ย้ายมาตั้งหลักแหล่งมาอยู่ที่เมืองระนอง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๘
            ขณะที่อยู่เมืองพังงาได้แต่งงานกับหญิงไทยชาวเมืองพังงา มีบุตรชาย ๕ คน และเมื่อย้ายไปอยู่ที่เมืองระนอง มีบุตรชายที่เกิดจากภรรยาคนที่สองอีกหนึ่งคน ในบรรดาบุตรทั้งหกคน ได้รับราชการมีบรรดาศักดิ์เป็น พระยาถึงสี่คน
            พ.ศ.๒๓๘๙  ได้ขอประมูลผูกขาดอากรดีบุกเมืองระนองและเมืองตระ และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ และได้โปรดเกล้า ฯ ให้เป็นที่ หลวงรัตนเศรษฐี ตำแหน่งนายอากรเมืองระนอง โดยกำหนดให้ส่งอากรดีบุกต่อเจ้าพนักงานที่กรุงเทพ ฯ ปีละ ๒ งวด ได้ถวายอากรดีบุกเป็นโลหะดีบุก หนัก ๑๔,๐๐๐ ชั่งต่อปี
            ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๙๗  หลวงระนองเจ้าเมืองคนเดิมถึงแก่กรรม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้โปรดพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนขึ้นเป็น พระรัตนเศรษฐี ผู้สำเร็จราชการเมืองระนองแทนเจ้าเมืองคนเดิม ถือศักดินา ๘๐๐ ไร่ และโดยที่เมืองระนองอยู่ชายแดนทางทะเล จึงให้พระรัตนเศรษฐีจัดแจงเรือและกำลังคน พร้อมอาวุธออกลาดตะเวณรักษาปากน้ำตามอ่าวคุ้ง แขวงเมืองระนอง ป้องกันโจรสลัดหรือศัตรูเข้ามาก่อการร้ายในบ้านเมือง
            พ.ศ.๒๔๐๕  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ยกเมืองระนองขึ้นเป็นหัวเมืองจัตวาขึ้นตรงกับกรุงเทพ ฯ เช่นเดียวกับเมืองชุมพร และโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์พระรัตนเศรษฐีเป็นที่ พระยารัตนเศรษฐี ผู้สำเร็จราชการเมืองระนอง ถือศักดินา ๒,๐๐๐ ไร่
            พ.ศ.๒๔๑๙  ได้เกิดเหตุกรรมกรชาวจีนกำเริบที่เมืองระนอง ทางกรุงเทพ ฯ ได้ส่งกำลังมาช่วยปราบจนราบคาบ
            พ.ศ.๒๔๒๐  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนยศพระยารัตนเศรษฐี ขึ้นเป็นที่ พระยาดำรงสุจริต ฯ ตำแหน่งจางวางผู้กำกับราชการเมืองระนอง และทรงตั้งพระยาศรีโลหะภูมิพิทักษ์ (คอซิมก๊อง)  บุตรชายคนที่สองของพระยาดำรงสุจริต ฯ เป็นที่พระยารัตนเศรษฐี ผู้ว่าราชการเมืองระนองแทน
            พ.ศ.๒๔๒๔  พระยาดำรงสุจริต ฯ ถึงแก่อนิจกรรม เมื่ออายุได้ ๘๐ ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้พระราชทานที่ดินให้เป็นที่ฝังศพที่เขาระฆังทอง เมืองระนอง

            พระยาดำรงสุจริต ฯ  (คอซิมก๊อง ณ ระนอง)  เป็นบุตรชายคนที่สองของพระยาดำรงสุจริต (คอซูเจียง)  เป็นเจ้าเมืองระนองคนที่สอง ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๒๐ - ๒๔๓๙  และเป็นข้าหลวงเทศาภิบาล มณฑลชุมพระคนแรก ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๓๙ - ๒๔๔๔ เป็นเจ้าเมืองนักพัฒนามากกว่าจะเป็นพ่อค้าอย่างบิดา งานพัฒนาที่สำคัญคือ การสร้างถนนจากชุมพรไปยังเมืองกระบุรี การสร้างเรือนตะเกียงที่ปากน้ำเมืองระนอง
            หลังจากรับตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลชุมพร ในปี พ.ศ.๒๔๓๙ พระยาดำรงสุจริต ฯ (คอซิมก๊อง)  ได้มอบราชการเมืองระนองให้แก่พระศรีรัตนเศรษฐี (คอหยูหงี)  บุตรชายคนโตเป็นผู้รักษาเมืองแล้วกลับไปจัดราชการตอนปลายปี โดยเริ่มจากงานด้านการปกครอง การรักษาความสงบเรียบร้อย การโยธา และก่อสร้างสถานที่ราชการ การศึกษาและศาสนา การภาษีอากร การศาล และส่งเสริมอาชีพของราษฎร
            พระยาดำรงสุจริต ฯ (คอซิมก็อง)  มีบุตรธิดารวม ๒๖ คน รับราชการ ๘ คน ถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๓

          พระยารัษฎานุประดิษฐ์ ฯ  (คอซิมบี้ ณ ระนอง)  เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๐ เป็นบุตรคนสุดท้องของพระยาดำรงสุจริต ฯ (คอซูเจียง)  เมื่อเจริญวัยบิดาได้ส่งไปศึกษาในประเทศจีน จึงอ่านและเขียนภาษาไทยไม่ได้ แต่สามารถพูดได้ถึง ๕ ภาษา คือ จีน (พูดได้ ๕ ภาษา) ไทย อังกฤษ อินเดีย และมลายู  เป็นผู้มีประสบการณ์สูง เพราะต้องติดตามบิดาไปตามเมืองต่าง ๆ ของประเทศจีน และเคยตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ไปยังมลายู อินโดนิเซีย และยุโรป ด้วย
            พระยารัษฎา ฯ เริ่มเข้ารับราชการเมื่ออายุ ๒๕ ปี เมื่อพระยารัตนเศรษฐี (คอซิมก๊อง)  เป็นเจ้าเมืองระนอง
            พ.ศ.๒๔๒๕  เป็นหลวงบริรักษ์โลหะกิจ ผู้ช่วยเจ้าเมืองระนอง
            พ.ศ.๒๔๒๗  เป็นพระอัษฎงคตทิศรักษา เจ้าเมืองกระบุรี
            พ.ศ.๒๔๖๓   เป็นพระยารัษฎานุประดิษฐ์ ฯ เจ้าเมืองตรัง
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นสมาชิกองคมนตรี และมีพระราชดำริจะให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงเกษตรด้วย
            พระยารัษฎานุประดิษฐ์ ได้สร้างสรรค์ความเจริญให้แก่ชาติบ้านเมืองตลอดเวลา ที่รับราชการเป็นอันมาก ด้วยความมีคุณภาพและคุณธรรม ดังจะเห็นได้จากผลงานของท่านดังนี้คือ
            ครั้งที่ได้ดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ได้ใช้กุศโลบายที่เรียกว่า หนามยอกเอาหนามบ่ง  กล่าวคือ ในครั้งนั้นช่างชาวจีนที่เป็นกรรมการเหมืองแร่ ในเมืองระนอง ตะกั่วป่า และภูเก็ต ได้จัดตั้งกลุ่มอั้งยี่ขึ้นมา ได้ก่อเหตุและทะเลาะวิวาทกับคนไทยและเจ้าของเหมืองแร่ ในขณะที่อังกฤษก็ฉวยโอกาสเอาเปรียบไทย หากพฤติกรรมใดเป็นประโยชน์แก่เจ้าของเหมือง ชาวอังกฤษก็จะรับว่ากรรมกรจีนเหล่านั้น อยู่ในอำนาจบังคับของตน แต่ถ้าไม่เกิดประโยชน์ก็จะปฎิเสธไม่รับรู้
            พระยารัษฎา ฯ แก้ปัญหาด้วยการแต่งตั้งหัวหน้าอั้งยี่เป็นกรรมการพิเศษ เข้ามาช่วยป้องกันเหตุร้ายในกรณีที่เกิดกรณีพิพาท โดยมอบภาระหน้าที่ให้หัวหน้าสายรับผิดชอบไปแก้ปัญหา โดยตัวท่านเองไกล่เกลี่ยให้ความยุติธรรม ทำให้ปัญหาลดลงและหยุดไปในที่สุด
            สำหรับราษฎร ท่านใช้หลักการปกครองแบบ พ่อปกครองลูก เอาใจใส่ดูแลอย่างใกล้ชิด โดยออกตรวจงานและเยี่ยมเยียนราษฎรในทุกท้องที่ที่รับผิดชอบ เมื่อพบผู้เดือดร้อนก็ช่วยแก้ปัญหาให้โดยเร็ว สอนให้ราษฎรขยันทำมาหากิน และมีศีลธรรม ทางฝ่ายราชการก็ได้สร้างคนให้สามารถปฎิบัติงานแทนท่าน ด้วยการอรมสั่งสอนจนมั่นใจ แล้วแต่งตั้งให้เป็นนายอำเภอ ถ้าทำงานบกพร่องจะเรียกมาตักเตือน ใช้ธรรมเป็นอำนาจ การให้บำเหน็จดูที่ผลงาน ทุกคนจึงให้ความศรัทธาและเคารพ
                -  การรักษาความสงบเรียบร้อย  โดยแก้ปัญหาโดยให้ทุกคนถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องปราบปรามโจรผู้ร้าย ร้วมกับเจ้าหน้าที่ของทางราชการ หมู่บ้านใดไม่ให้ความร่วมมือจะมีความผิดได้รับโทษ ทุกบ้านต้องมีเกราะไว้เคาะเป็นสัญญาณบอกเหตุร้าย เมื่อได้ยินสัญญาณดังกล่าวให้ทุกคนมาร่วมประชุม โดยมีอาวุธติดตัวไปด้วย ใครไม่เข้าประชุมให้ผู้ใหญ่บ้านจดชื่อเสนอกรมการอำเภอเพื่อลงโทษต่อไป ให้กำนันผู้ใหญ่บ้านทำบัญชีประวัติคนพาลเอาไว้ หากบ้านใดมีวัวควายหายไป ผู้ใหญ่ กำนัน จะต้องรับผิดชอบจับคนร้ายมาลงโทษให้ได้ นอกจากนี้ยังจัดให้มี ตำรวจม้า และเสนอให้มีการติดตามผู้ร้ายที่หลบหนี เข้าไปในเขตปกครองจังหวัดอื่น
                -  ด้านการส่งเสริมอาชีพ  พระยารัษฎา ฯ ได้ขอพระราชทานยืมเงิน ๖,๐๐๐ เหรียญ เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนให้ราษฎรยืมไปทำทุนโดยคิดดอกเบี้ยต่ำ ทำให้ราษฎรสามารถขยายพื้นที่เพาะปลูก มีรายได้สูงขึ้นมีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น และได้ขอพระบรมราชานุญาตยกเว้นภาษีช่วงเริ่มต้นของการเพาะปลูก ๖-๑๐ ปี ให้ด้วย จัดให้มีตลาดนัดขึ้นในชุมชนแต่ละแห่งอาทิตย์ละครั้ง  เพื่อเป็นการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน นอกจากนั้นยังได้ดำเนินการชักชวนบริษัททุ่งคาราเบอร์ บริษัททุ่งคาเปาด์ บริษัทสะเตรทเทรดดิ้ง มาลงทุนทำเหมืองแร่ที่ภูเก็ต และบริษัทเอเซียติคมาดำเนินการที่ตะกั่วป่า ติดต่อธนาคารชาร์เตอร์ ในปีนังมาเปิดสาขาที่ภูเก็ต นับเป็นธนาคารต่างประเทศแห่งแรกที่เข้ามาเปิดทำการในประเทศไทย
                -  ด้านการศึกษาและศาสนา   ได้ให้การสนับสนุนการศึกษาอย่างจริงจังโดยจัดให้มีมาสอนตามวัด นิมนต์พระสงฆ์มาสอนเด็กและชาวบ้านให้อ่านออกเขียนได้ โดยใช้เงินรายได้จากเหมืองแร่เป็นเงินเดือนครู ๔-๑๐ บาท ต่อเดือน ดำเนินการซ่อมแซมวัดวาอาราม ตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม และอาราธนาพระธรรมปาสาจารย์จากนครศรีธรรมราช มาเป็นเจ้าคณะมณฑลภูเก็ต จำพรรษาอยู่ที่วัดโฆสิตวิหาร โดยปรับปรุงวัดให้เป็นศูนย์กลางฟื้นฟูพระพุทธศาสนาของมณฑล
            นอกจากนี้ยังได้ส่งเยาวชนไปศึกษาวิชาการปกครองและระเบียบราชการที่กระทรวง ทบวงกรมต่าง ๆ ในกรุงเทพ ฯ เมื่อจบการศึกษาแล้วได้กลับมารับราชการทำประโยชน์ให้แก่ชาติบ้านเมือง ในส่วนตัวท่านเองก็ได้ออกแนะนำ อบรมเจ้าหน้าที่ทุกระดับ ก่อนส่งผู้ใดไปรับตำแหน่งจะเรียกมาอบรมสั่งสอน ตักเตือนเพื่อให้ไปปฎิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
                -  ด้านการสาธารณสุข  ในสมัยนั้นการสาธารณสุขยังไม่มีหน่วยงานใดรับผิดชอบโดยตรง พระยารัษฎา ฯ ได้จัดหาแพทย์ประจำตำบล หรือพระสงฆ์ ที่มีความรู้ทางแพทย์แผนไทยมาช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บแก่ราษฎร จัดส่งเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ด้านอนามัย ออกไปแนะนำชาวบ้านตามตำบลต่าง ๆ
            ในจังหวัดภูเก็ตมีผู้คนเสียชีวิตด้วยโรคต่าง ๆ ปีละมาก ๆ จึงได้สร้างโรงพยาบาลที่ภูเก็ต มีอุปกรณ์ด้านการแพทย์ครบครัน ที่ทันสมัยที่สุดคือ เครื่องเอกซ์เรย์ ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องแรกที่นำเข้ามาใช้ในประเทศไทย ท่านได้ชักชวนบรรดามิชชันนารีจากหัวเมืองมลายู มาทำงานในโรงพยาบาลภูเก็ตเป็นจำนวนมาก ได้ตั้งด่านกักกันโรคขึ้นที่เกาะตะเภา หน้าเมืองภูเก็ต เพื่อสะกัดกั้นเชื้อกาฬโรค จัดการสุขาภิบาลให้เป็นระบบ
            พระยารัษฎา ฯ เป็นผู้ที่มีบุคคลิกและวิธีการทำงานที่โดดเด่น ใหม่แปลกได้รับการยกย่องว่าเป็นนักปกครองที่ยอดเยี่ยม กล่าวคือ มีความเชื่อมั่นในตนเอง ขยัน ใฝ่รู้ มีความคิดริเริ่ม ซื่อสัตย์สุจริต ผ่อนปรน มีเมตตาธรรม มีคุณสมบัติของสัตบุรุษ ใช้คนเหมาะกับงาน ใช้ทั้งพระเดชและพระคุณ จริงใจต่อผู้น้อย และให้ประชาชนมีส่วนร่วม สมควรเป็นนักปกครองตัวอย่างที่ปฎิบัติงานประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |