| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

เอกลักษณ์ทางธรรมชาติ

           คอคอดกระ  เป็นผืนแผ่นดินที่แคบที่สุดของแหลมมลายู เชื่อมระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิคกับมหาสมุทรอินเดีย ส่วนที่แคบที่สุดยาวประมาณ ๔๔ กิโลเมตร อยุ่ในเขตตำบลมะมุ อำเภอกระบุรี ช่วงหลักกิโลเมตรที่ ๕๔๕ ของเส้นทางหลวงหมายเลข ๔  ช่วงจังหวัดชุมพร - ระนอง ผู้ที่เดินทางผ่านเส้นทางสายนี้ สามารถแวะชมทิวทัศน์แม่น้ำกระบุรี ณ ริมทางหลวง โดยเฉพาะในยามเย็นจะมองเห็นดวงอาทิตย์ตกลับเหลี่ยมเขาในเขตพม่า

           แม่น้ำกระบุรี  เป็นแม่น้ำกั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่า ต้นน้ำอยุ่ที่ปลายทิวเขาตะนาวศรี ไหลลงสู่ทะเลอันดามัน ในเขตอำเภอเมือง มีลำคลองหลายสายไหลมาบรรจบแม่น้ำกระบุรี ปากแม่น้ำกระบุรีกว้าง ๕ กิโเมตร แม่น้ำกระบุรีมีความยาวทั้งสิ้น ๑๓๙ กิโลเมตร ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำมาตั้งแต่สมัยโบราณ

            ภูเขาหญ้า  อยู่ในเขตตำบลหงาว อำเภอเมือง ฯ อยุ่ห่างจากตัวเมืองระนอง ไปตามทางหลวงหมายเลข ๔ (ช่วงระนอง - พังงา)  ประมาณ ๑๓ กิโลเมตร เป็นภูเขาที่ปกคลุมไปด้วยหญ้าสีเขียวขจีตามแแนวเนินเขาจากเหนือจรดใต้ ในช่วงฤดูร้อนหญ้าจะแห้งเป็นสีน้ำตาล ตรงที่ราบเชิงเขามีทางเดินเท้าขึ้นอยู่สันเขา ซึ่งจะสามารถชมทิวทัศน์ได้โดยรอบ เนินเขาบริเวณนี้ไม่มีต้นไม้ใหญ่ขึ้น คงมีแต่หญ้าขึ้นปกคลุมอยู่ตลอดปี
            ประวัติความเป็นมาคือ เมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีมาแล้ว เขตพื้นที่ตำบลหงาวเป็นป่าทึบ บริเวณภูเขาหญ้าเป็นทุ่งว่างเปล่า มีฝูงวัวและฝูงม้าป่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านเรียกฝูงวัวป่าเหล่านี้ว่า โหง่ว ต่อมาจำนวนสัตว์ดังกล่าวได้ลดลงเป็นลำดับ แต่คนรุ่นต่อมายังคงเรียกสถานที่ดังกล่าวว่า หงาว ซึ่งเพี้ยนมาจากคำว่า โหงว
            ปัจจุบันภูเขาหญ้า เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวระนอง

            บ่อน้ำพุร้อน  อยู่ในสวนสาธารณะรักษะวาริน ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งหนึ่งของคลองหาดส้มแป้น อยู่ห่างจากตัวเมืองระนองไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข ๔๐๐๕  (ถนนชลระอุ)  เลียบไปตามคลองหาดส้มแป้นประมาณ ๑ กิโลเมตร
            บ่อน้ำร้อนมีอยู่ ๓ บ่อ ด้วยกันคือ บ่อพ่อ บ่อแม่ และ บ่อลูก  เป็นบ่อน้ำพุร้อนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมีอุณหภูมิประมาณ ๕๐ - ๖๕ องศาเซลเซียส ประกอบด้วยแร่ธาตุที่สำคัญคือ เหล็ก สังกะสี แมงกานีส ฟลูออไรด์ ไนเตรท ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกายของมนุษย์
            ธารน้ำแร่  ในสมัยก่อนจังหวัดระนอง มีแร่ดีบุกมากมายในแม่น้ำลำธาร ปะปนอยู่กับกรวด และทรายตามท้องน้ำ เมื่อใช้ภาชนะร่อนแร่ที่เรียกว่า เลียง มาร่อนหาแร่ก็จะหาแร่ดีบุกได้ในปริมาณไม่น้อย แต่เมื่อราคาแร่ดีบุกตกต่ำ ทำให้อาชีพการร่อนแร่ตามแม่น้ำลำคลองหมดไป

            ป่าชายเลน  ชาวจังหวัดระนองเรียกป่าชายเลนว่า ป่าโกงกาง เพราะไม้โกงกาง เป็นพันธุ์ไม้ที่พบมากที่สุดในป่าชายเลน แต่ป่าชายเลนยังมีพันธุ์ไม้ชนิดอื่น ๆ อีกมากเช่น แสม ประสัก ตะบูน และเสม็ด เป็นต้น
            ป่าชายเลนจะขึ้นอยู่ในบริเวณชายฝั่งทะเลที่มีน้ำทะเลท่วมถึง สภาพดินส่วนใหญ่เป็นโคลนหรือเลน บางแห่งมีทรายปนอยู่ ลักษณะดินเป็นดินเหนียวที่อัดตัวแน่น บริเวณที่พบส่วนใหญ่ได้แก่ ปากอ่าวชายฝั่งทะเล ริมตลิ่ง แม่น้ำ หาดเลน และบริเวณที่อยู่ในอิทธิพลของน้ำจืดและน้ำเค็ม ที่เรียกว่า เขตน้ำกร่อย ดินในบริเวณป่าชายเลนจะมีสีดำอันเนื่องมาจากเศษซากพืชและสัตว์สะสมทับถมกันอยู่นอกจากนั้นบริเวณป่าชายเลน ยังมีสิ่งมีชีวิตบนผิวดินเช่น ปู หอย กุ้ง และปลา อาศัยอยู่ด้วยกัน
            ป่าบกและป่าชายเลน มีความแตกต่างกันตรงที่ป่าชายเลนมีความสลับซับซ้อนมากกว่า อันเนื่องจากปัจจัยของน้ำเค็ม น้ำจืด และแผ่นดิน
            พืชพันธุ์ไม้ในป่าชายเลนเมื่อได้แสงอาทิตย์จะเกิดการสังเคราะห์แสง โดยส่วนหนึ่งของธาตุอาหาร ซึ่งพืชไปใช้ได้มาจากธาตุอาหารทั้งจากพื้นที่บนบก และการพัดพาของคลื่นในกระแสน้ำ เมื่อพืชเจริญเติบโตและมีซากของพืชทับถมลงสู่พื้นดินเบื้องล่าง ก็จะสลายกลายเป็นอินทรีย์วัตถุ เช่นเดียวกับการสลายตัวของซากสัตว์ เป็นอาหารให้แก่พืชและสัตว์เล็ก ๆ เช่น แพลงตอน แบคทีเรีย ฟังโจ โปรโตซัว เมื่อพืชและสัตว์ดังกล่าวเจริญเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นอาหารของสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ได้แก่ กุ้ง หอย ปู ปลา ซึ่งมนุษย์สามารถนำมาใช้เป็นอาหารได้ จึงกล่าวได้ว่าบริเวณป่าชายเลนเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |