| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

            สิ่งสำคัญคู่บ้านคู่บ้าน  มีอยู่ ๔ ประการด้วยกันคือ
                - พระแสงราชศัตราประจำเมืองระนอง  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งเสด็จ ฯ เลียบมณฑลปักษ์ใต้ ได้พระราชทานพระแสงราชศัตราประจำเมืองระะนอง แก่พระระนองบุรีศรีสมุทเขตร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ.๒๔๖๐  เพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งพระราชอำนาจ ที่ได้ทรงมอบให้ไว้ และมีพระราชดำรัสตักเตือนให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และข้าราชการช่วยกันรับราชการฉลองพระเดชพระคุณ รักษาพระแสงไว้มิให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศได้แม้เล็กน้อย ให้ตั้งตนอยู่ในความสุจริต ซื่อตรง จงรักภักดี อยู่ในราชกำหนดกฎหมาย และประพฤติตนให้เป็นพลเมืองดีทั่วกัน

                -  ศาลหลักเมืองจังหวัดระนอง  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยกเมืองระนองเป็นหัวเมืองจัตวาขึ้นตรงต่อกรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ ๒๑  กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๐๕  แต่ไม่ปรากฎว่าเคยมีหลักเมืองมาก่อน ดังนั้นในปี พ.ศ.๒๕๓๐  เทศบาลเมืองระนอง จึงได้ริเริ่มโครงการสร้างศาลหลักเมืองขึ้น ณ บริเวณที่เคยเป็นบ้านพักเก่าของพระยารัตนเศรษฐี เจ้าเมืองระนอง ริมคลองหาดส้มแป้น
            ตัวศาลหลักเมืองมีลักษณะเป็นศาลาจตุรมุข ทรงไทย มียอดศาลาตามลักษณะภูมิสถาปัตย์ พระธาตุไชยา จำนวนห้ายอด มีความสูงถึงยอด ๑๓.๖๐ เมตร ตัวศาลมีขนาดกว้างยาวด้านละ ๖ เมตร
            สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ ได้เสด็จแทนพระองค์ มาประกอบพิธียกเสาหลักเมืองและทรงเปิดศาลหลักเมือง เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๓  ในการเสด็จครั้งนี้ได้ทรงประกอบพระราชพิธีพระราชทานพระพุทธนวราชบพิธ ประจำจังหวัด และพระพุทธนวราชบพิธจำลองประจำอำเภอต่าง ๆ ด้วย

                -  ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองกระบุรี  ตั้งอยู่ในเขตตำบลปากจั่น ทางด้านซ้ายเป็นแม่น้ำคลองจั่น ด้านขวาเป็นแม่น้ำคลองหลีก ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองนี้เดิมเรียกว่า พระเสื้อเมือง  บริเวณนี้เดิมเป็นคูเมืองสองชั้นเป็นแนวดิน เป็นเส้นทางเดินเท้าไปจังหวัดชุมพร ไม่มีชุมชนตั้งอยู่คาดว่าเป็นเมืองร้าง เพราะผู้คนหนีโจรผู้ร้ายไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตลาดปากจั่น

                -  หอพระประจำจังหวัดระนอง  ตั้งอยู่ในเขตตำบลเขานิเวศน์ อำเภอเมือง ฯ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕ เนื่องในวาระเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๒๐๐ ปี บริเวณที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของศาลากลางจังหวัด เป็นที่ประดิษฐานรูปเก้า พระเกจิอาจารย์
ศิลปหัตถกรรมและงานช่างท้องถิ่น
            ในเขตจังหวัดระนองมีงานด้านศิลปกรรม และงานช่างท้องถิ่นอยู่น้อย ลักษณะของศิลปะที่มีอยู่เป็นศิลปะแบบผสมผสาน คล้ายคลึงกับจังหวัดต่าง ๆ แถบฝั่งทะเลตะวันตกทั่ว ๆ ไป มีทั้งศิลปะแบบไทย จีน และพม่า

            จิตรกรรม  ส่วนใหญ่เป็นงานที่สร้างขึ้นใหม่เป็นภาพเขียนบนฝาผนังอาคารศาสนสถาน ที่เรียกว่า จิตรกรรมฝาผนัง เป็นภาพเกี่ยวกับคติธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา ภาพพุทธประวัติ
            รูปแบบงานเขียนโดยทั่วไปจะเขียนด้วยสีน้ำบนฝาผนังโดยตรง ผลงานดังกล่าวปรากฎอยู่ในอุโบสถ วัดธรรมาวุธาราม อำเภอกะเปอร์ วิหารพระพุทธไสยาสน์วัดวารีบรรพต อำเภอเมือง ฯ และในอุโบสถวัดมัชฌิมเขต อำเภอกระบุรี

            ประติมากรรม  งานประติมากรรมส่วนใหญ่สร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธาในพระพุทธศาสนา หรือนำไปใช้ตกแต่งงานสถาปัตยกรรม เช่น พระพุทธรูปปางต่าง ๆ ลวดลายประดับโบสถ์  วิหาร ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ฯลฯ
              งานประติมากรรมที่ปรากฎให้เห็นโดยทั่วไป พอประมวลได้ดังนี้
                  -  ประติมากรรมพระพุทธประวัติ วัดจันทาราม  อยู่ในเขตตำบลน้ำจืด อำเภอกระบุรี เป็นประติมากรรมปูนปั้นลอยตัว เนื้อเรื่องเป็นพุทธประวัติตอนต่าง ๆ ตกแต่งด้วยลวดลายใช้สีสันคล้ายของจริง พื้นฝาผนังเขียนภาพทิวทัศน์ประกอบเนื้อเรื่อง อยู่ในวิหารราย ลดหลั่นตามแนวเชิงเขา ๓ ชั้น ๆ ละ ๑๑ ห้อง รวม ๓๓ ห้อง สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒
                  -  พระพุทธไสยยาสน์วัดวารีบรรพต  เป็นประติมากรรมปูนปั้นลอยตัวขนาดใหญ่ ยาว ๓๐ เมตร ประดิษฐานอยู่ที่วัดวารีบรรพต (วัดบางนอน)  ตำบลบางนอน อำเภอเมือง ฯ พุทธลักษณะเป็นศิลปะสมัยสุโขทัย สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๗  โดยฝีมือช่างชาวนครศรีธรรมราช ประดิษฐานอยู่ในวิหารบนเชิงเขาสูง
                  -  พระประจำวัน ณ ที่พักสงฆ์ ช่องเขาเทพประสิทธิ์  เป็นรูปปูนปั้นลอยตัว ตามปางประจำวัน สูงประมาณ ๕ เมตร ฐานกว้าง ๒.๕๐ เมตร  อยู่ในเขตตำบลทรายแดง อำเภอเมือง ฯ
                  -  พระะพุทธรูปไม้ วัดสุวรรณคีรี  ประดิษฐานอยู่ที่วัดสุวรรณคีรี ตำบลปากจั่น อำเภอกระบุรี เป็นประติมากรรมแกะสลักพระพุทธรูปด้วยไม้เนื้อแข็ง ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๓๕ เซนติเมตร สูง ๗๓ เซนติเมตร มีลักษณะประณีตสวยงาม สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๖๐  พร้อมกับที่สร้างวัดปากจั่น (สุวรรณครี)
                  -  พระสังกัดจาย  วัดตโปทาราม และวัดหาดส้มแป้น  เป็นประติมากรรมปูนปั้นลอยตัวขนาดใหญ่ มีลักษณะโดดเด่นสวยงาม ประดิษฐานอยู่สองแห่งคือ วัดตโปทาราม และวัดหาดส้มแป้น  อำเภอเมือง ฯ โดยเฉพาะที่วัดหาดส้มแป้นฐานพระพุทธรูปออกแบบอย่างสวยงามเป็นลายดอกบัวและพญานาค สร้างโดยฝีมือช่างมอญ จากประเทศพม่า
            งานสถาปัตยกรรม  งานสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่เป็นศาสนสถานในพระพุทธศาสนา และศาสนาอื่น ๆ เช่น เจดีย์ วิหาร กุฎิสงฆ์ ศาลเจ้าจีน และมัสยิด ได้แก่

                  -  เจดีย์ทรงพม่าวัดสุวรรณคีรี  วิหารวัดอุปนันทาราม ตำบลเขานิเวศน์ อำเภอเมือง ฯ  สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๔๐  รูปทรงศิลปแบบพม่า ส่วนยอดแกะสลักด้วยโลหะเป็นชิ้น ๆ อย่างสวยงามมองดูเด่นเป็นสง่า มีความสูงประมาณ ๘ เมตร ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ ๗ เมตร ภายในเจดีย์บรรจุเครื่องประดับมีค่า
                  -  เจดีย์เก่าวัดสุวรรณคีรี  ประดิษฐานอยู่ในวัดสุวรรณคีรี ตำบลปากจั่น อำเภอกระบุรี สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๒ เป็นเจดีย์ทรงระฆัง ศิลปะลังกา ฐานกว้างด้านละ ๓.๕๐ เมตร สูง ๕ เมตร เป็นสถาปัตยกรรมที่ชาวบ้านสร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธา แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น
                  -  เจดีย์รากลอย วัดปทุมทาราม  อยู่ในเขตตำบลกะเปอร์ อำเภอกะเปอร์ สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๗๕ เป็นศิลปะแบบลังกา ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมกว้างด้านละประมาณ ๖ เมตร สูงประมาณจากพื้นถึงฐานด้านบน ๒.๕๐ เมตร องค์เจดีย์ตั้งลอยอยู่บนฐาน ความสูงขององค์เจดีย์ ๗.๕๐ เมตร เป็นเจดีย์รูปทรงระฆัง มีปล้องไฉนหรือบัวกลุ่ม ปลียอดและเม็ดน้ำค้าง สร้างโดยช่างชาวอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา
                  -  เจดีย์รูปทรงหกเหลี่ยม  วัดหาดส้มแป้น  สร้างครอบเจดีย์เก่าที่มีอายุกว่าร้อยปี ลักษณะเป็นรูปหกเหลี่ยมแต่ละเหลี่ยมกว้างประมาณ ๓ เมตร สูงจากฐานถึงยอดประมาณ ๑๗ เมตร ฝีมือช่างท้องถิ่น องค์เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่นำมาจากเชียงรุ้ง และมุกดาหาร

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |