| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางธรรมชาติ

ป่าไม้
            จังหวัดมหาสารคามเหลือพื้นที่ป่าอยู่น้อยมาก เนื่องจากปัจจัยที่ไม่เอื้ออำนวยหลายประการ อย่างไรก็ตาม ยังมีป่าผืนสุดท้ายให้อนุรักษ์ไว้เป็นมรดกของแผ่นดิน
ป่าโคกใหญ่

            อยู่ในเขต อำเภอวาปีปทุม มีพื้นที่ประมาณ ๔,๐๐๐ ไร่ เป็นป่าสาธารณประโยชน์ หรือป่าชุมชนมาแต่เดิม ประกอบด้วย ป่าโคกต่าง ๆ ได้แก่ โคกหนองโจด โคกดอนหัน โคกแปะ โคกดุงใหญ่ โคกป่าผีหลอก เมื่อรวมเข้าด้วยกันแล้วจึงเรียกว่า ป่าโคกใหญ่ เป็นป่าเบญจพรรณ หรือป่าเต็งรัง พื้นดินในป่าเป็นทราย บางแห่งเป็นกรวดลูกรัง น้ำจากป่านี้ไหลลงสู่ห้วยลำเสียวใหญ่ ลำเสียวเล็ก และมีทุ่งนารอบ ๆ ป่าประมาณ ๘,๐๐๐ ไร่
            จากการสำรวจพบว่าป่าโคกใหญ่ มีพืชจำพวกต้นไม้ และหญ้าที่สำคัญอยู่ ๑๓๖ ชนิด มีสัตว์ป่าอยู่ ๖๑ ชนิด มีพืชหลายชนิดใกล้จะสูญพันธุ์ เช่น สะแบง ค้อ ส้มกบ และหมากแงว เป็นต้น
ป่าสมุนไพร และอายุรเวทแผนไทย วัดป่าอรัญญิการาม
            อยู่ในเขต ตำบลวังแสง อำเภอแกดำ มีพื้นที่ประมาณ ๗๕ ไร่ เป็นป่าที่มีสมุนไพรอยู่ ๑๖๐ ชนิด มีต้นไม้ชนิดต่าง ๆ อยู่ ๑๙๑ ชนิด จำนวนประมาณ ๗,๘๐๐ ต้น
            โครงการสวนป่าสมุนไพร เริ่มเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ ครบ ๕๐ ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์พัฒนาให้การศึกษา และให้บริการแก่ประชาชน
วนอุทยานโกสัมพี
            อยู่ริมแม่น้ำชี ในเขตสุขาภิบาลหัวขวาง อำเภอโกสุมพิสัย มีพื้นที่ประมาณ ๑๒๕ ไร่ มีต้นไม้ขึ้นหนาทึบ ป่าแห่งนี้เดิมชื่อหนองบุ่ง หรือบุ่งลิง เนื่องจากเป็นป่าที่มีแอ่งน้ำขัง และมีฝูงลิงอาศัยอยู่ฝูงใหญ่ ประมาณ ๘๐๐ ตัว กลางป่ามีหนองบุ่ง พื้นที่ประมาณ ๓ ไร่ ทางด้านตะวันตกมีบึงบอน มีศาลปู่เจ้าอยู่ตรงกลาง ทางเข้าด้านใต้มีศาลประดิษฐานพระพุทธรูปมิ่งเมือง เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านเคารพนับถือ
หนองบ่อ
            เป็นแหล่งต้นน้ำของลำน้ำเสียวใหญ่ อยู่ในเขตสุขาภิบาลบรบือ ในฤดูแล้งพื้นที่บริเวณรอบ ๆ หนองบ่อจะมีส่าเกลืออยู่เต็ม สามารถนำมาผลิตเป็นเกลือสินเธาว์ได้ น้ำใต้ดินที่สูบขึ้นมาทำเกลือมีความเค็มมากกว่า น้ำทะเลในอ่าวไทยถึง ๒ เท่า และเมื่อน้ำไหลเข้าลำน้ำเสียวทำให้ผลิตผลทางการเกษตรเสียหาย ทางราชการจึงให้เลิกทำเกลือเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๒ และให้กรมชลประทานจัดทำโครงการพัฒนาลุ่มน้ำเสียวใหญ่ และอ่างเก็บน้ำหนองบ่อ มีพื้นที่โครงการประมาณ ๑,๙๐๐ ไร่
ป่าหินร่อง
            อยู่ในเขตตำบลดอนกลาง อำเภอโกสุมพิสัย เป็นป่าคุ้มครองมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ และเป็นป่าสงวนแห่งชาติในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ มีพื้นที่ประมาณ ๖๐ ไร่ มีศิลาทรายสีแดงเป็นผืนแผ่ไปในแนวป่าเป็นแห่ง ๆ  แห่งละประมาณ ๒ ไร่ มีหลุมทรงกระบอกกลมลึก บางหลุมมีเส้นผ่าศูนย์กลางกว้างประมาณ ๑ เมตร  มีน้ำขังอยู่วัวควายได้อาศัยใช้ดื่มกิน ศิลาทรายนี้เป็นสินแร่ธรรมชาติ เช่นเดียวกับในท้องถิ่นอื่น ๆ สันนิษฐานว่า ศิลาทรายในแหล่งธรรมชาติบางแห่ง ถูกสกัดไปใช้ในการสร้างปราสาทหิน และนำไปสลักเป็นรูปเคารพหน้าบัน ทับหลัง เป็นต้น ธรรมชาติของป่าหินร่องที่ปูลาดด้วยศิลาแลง มีแอ่งน้ำธรรมชาติมีทางน้ำไหล จากโคกดอนลงไปตามลาดชันสู่บ้านหินแห่เป็นระยะทางประมาณ ๗ กิโลเมตร เป็นสถานที่น่าท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง
แก้งตาด
            เป็นแก่งหินดานขวางกั้นแม่น้ำชี อยู่ทางด้านทิศเหนือ และทิศตะวันออกของวนอุทยานโกสัมพี ในช่วงฤดูแล้ง ระหว่างเดือนธันวาคม - พฤษภาคม น้ำในลำน้ำชีจะลดลงจนเห็นหินดาน เป็นพะลานกว้างประมาณ ๓๐ เมตร ขวางกั้นทางน้ำคล้ายฝายน้ำล้น น้ำไหลกระทบหินเป็นสายสาดกระเซ็นเป็นฟองตลอดเวลาแลดูสวยงาม ที่ที่ไปเที่ยวชมวนอุทยานโกสัมพีมักจะเลยไปชม และเล่นน้ำตามแก่งหินดังกล่าวนี้
อุทยานมัจฉา
            อยู่ที่บ้านโขงกุดหวาย ตำบลเกิง อำเภอเมือง ฯ บริเวณอุทยานอยู่ในกุดหวาย คำว่ากุดหมายถึงทางน้ำที่เปลี่ยนทางเดินเป็นเวลานาน บริเวณกุดหวายเดิมมีต้นหวายเกิดล้อมรอบ บนเนินกลางกุดมีหญ้าคาหญ้าแฝกขึ้นงอกงาม บริเวณหัวคุ้งน้ำ เจ้าอาวาสวัดโพธิศรี ได้ไปตั้งสำนักสงฆ์เพื่อเป็นสวนหญ้า สำหรับเกี่ยวมามุงศาสนสถานในสมัยโบราณ ปัจจุบันได้ตั้งเป็นวัดชื่อวัดพิทักษ์สามัคคีโพธิศรี ๒
            เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗  กรมชลประทานได้ขุดลอกเป็นคุ้งน้ำตามแนวเดิม กว้างประมาณ  ๑๒๐ เมตร ลึกจากผิวดินประมาณ ๑๐ เมตร โค้งเป็นรูปเกือกม้า ยาวประมาณ ๘๐๐ เมตร มีความจุน้ำประมาณ ๙๖,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร ทางด้านทิศตะวันตกมีทางน้ำธรรมชาติ ไหลลงสู่ลำน้ำชี เมื่อเกิดน้ำหลากในเดือนตุลาคม ฝูงปลาเผาะซึ่งเป็นตระกูลปลาสวาย อาศัยอยู่ตามแม่น้ำโขง และปากน้ำสาขาแม่น้ำโขงเช่น ปากแม่น้ำมูล ได้รวมกันเป็นฝูงว่ายทวนกระแสน้ำขึ้นมารวมกับปลาเลี้ยงที่น้ำท่วมบ่อ เช่น ปลาตะเพียน ปลายี่สก ปลานิล ปลาไน ได้มารวมกันอยู่ในโขงกุดหวายเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะปลาเผาะมีมากกว่าชนิดอื่น และเป็นปลาขนาดใหญ่ ลำตัวยาวประมาณ ๒ ศอก ชอบว่ายเหนือน้ำตามกินอาหารที่คนโยนลงไปให้ รวมปลาชนิดต่าง ๆ ณ ที่นี้มีหลายแสนตัว จึงได้มีการปิดกั้นทางน้ำไม่ให้น้ำไหลลงแม่น้ำชี และได้มีการเสริมคันดินยาวประมาณ ๓๐ เมตร กว้าง ๘ เมตร แล้วตั้งชื่อว่าอุทยานมัจฉา ดำเนินการโดยมีวัดเป็นศูนย์กลาง
            สำนักงานประมงจังหวัดมหาสารคามได้เข้ามาร่วมสนับสนุน ทำเป็นโครงการอนุรักษ์ปลาหน้าวัด เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสฉลองสิริราชย์สมบัติครบ ๕๐ ปี มีการจัดสวนไม้ดอกไม้ประดับ โดยความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |