| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางพระพุทธศาสนา

วัดพุทธมงคล

            อยู่ที่บ้านสระ ตำบลคันธารราษฎร์ อำเภอกันทรวิชัย เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมงคล พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของอำเภอกันทรวิชัย เป็นพระพุทธรูปหินทราย ศิลปทวาราวดี สูงประมาณ ๔ เมตร เดิมอยู่ในสภาพชำรุด ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้ทำการต่อเติมให้สมบูรณ์ และได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุสำคัญของชาติ เมื่อ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘ ปัจจุบันพระพุทธมงคลได้ประดิษฐานอยู่ที่ลานโพธิของวัด รอบลานโพธิมีใบเสมาหินสมัยทวาราวดีปักล้อมอยู่สองชั้นทั้งแปดทิศ ลักษณะใบเสมาเป็นแผ่นเรียบแบน และแบบแท่งเหลี่ยม
พระพุทธกันทรวิชัยอภิสมัยธรรมนายก
            สร้างขึ้นในโอกาสที่กรุงรัตนโกสินทร์ มีอายุครบ ๒๐๐ ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีเททอง พระราชทานนาม และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญ พระปรมาภิไธยย่อ ภปร. ประดิษฐานบนผ้าทิพย์ด้านหน้าของฐานพระบรมรูป พระพุทธกันทรวิชัย ฯ ได้ประดิษฐานอยู่ที่หอพระ หน้าสถานีวิจัยศิลปะ และวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ต้นแบบของพระพุทธรูปองค์นี้ ได้มาจากพระพิมพ์ดินเผากันทรวิชัย ซึ่งได้มีการขุดพบสามครั้ง มีสามขนาดคือ ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ พระพิมพ์ดินเผาเหล่านี้มีลักษณะสวยงามมาก มีคุณค่าทางศิลปะอย่างสูงยิ่ง ฝีมือการปั้นและการเผาปราณีตเป็นพิเศษ เป็นพระปางสมาธิแบบสมาธิเพชร ประทับนั่งวิปัสนาอยู่บนดอกบัว ในแบบพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน นิกายสุขาวดี
            ได้ทำการขยายแบบจากพระพิมพ์ดินเผากันทรวิชัย หล่อเป็นพระพุทธรูปสำริด ซึ่งอาจจะเป็นแบบฉบับของพระพุทธรูปแบบอิสานต่อไป การสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ด้วยวัตถุประสงค์สามประการคือ
            ประการแรก เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว พุทธศาสนิกชนทั่วไปให้ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย
            ประการที่สอง เพื่อให้เป็น พระพุทธรูปที่มีเอกลักษณ์อันเป็นแบบฉบับของอีสาน
            ประการที่สาม เพื่อฟื้นฟูภูมิปัญญาดั้งเดิมในการหลอมหล่อโลหะของชาวอีสาน อันมีมาแต่โบราณ
            ต่อมาเมื่อ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระพุทธกันทรวิชัย ฯ แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง อัญเชิญไปประดิษฐานยังหน่วยงาน และศาลากลางจังหวัดในภาคอีสาน
พระธาตุนาดูน
            พระธาตุนาดูนอยู่ที่โคกดงเค็ง ตำบลพระธาตุ อำเภอนาดูน มีพื้นที่ ๙๐๒ ไร่
            ในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ได้มีผู้คนพบโบราณวัตถุในบริเวณทุ่งนาดูน ตำบลดงปัง ซึ่งเดิมอยู่ในเขตอำเภอวาปีปทุม ในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ชาวนากลุ่มหนึ่ง ได้ไปขุดค้นบริเวณเนินดินแห่งหนึ่ง สูงจากพื้นดินโดยรอบประมาณ ๑ เมตร มีต้นไม้เล็ก ๆ ขึ้นปกคลุมโดยรอบเนิน แต่ตรงกลางเนินไม่มีหญ้าและต้นไม้เลย เมื่อขุดลงไปทางทิศตะวันออกของเนินก็พบศิลาแลง ๓ ก้อน และเมื่อขุดลึกลงไป ๑.๘๐ เมตร ได้พบโบราณวัตถุทำด้วยสำริด และเมื่อขุดค้นทางด้านทิศตะวันตกของเนินลึกเพียง ๑ ศอก ก็พบพระพิมพ์ดินเผาเป็นจำนวนมาก เมื่อข่าวนี้แพร่ออกไป ก็ได้มีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาขุดค้น หาโบราณวัตถุกันเป็นจำนวนมาก
            เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรที่ ๗ ขอนแก่น พร้อมเจ้าหน้าที่จากอำเภอนาดูน มหาสารคาม ได้ทำการขุดค้นพบยอดสถูปสำริด ๑ ชิ้น แต่ไม่พบองค์สถูป ต่อมาได้มีผู้นำองค์สถูปพร้อมด้วยตลับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุมอบให้เจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งแผ่นทองคำรูปกลีบบัว กับแผ่นสำริดรูปดอกบัวบานวงกลม ซึ่งเป็นแผ่นรองรับองค์สถูปมามอบให้นายอำเภอนาดูน จึงเป็นอันว่าทางการได้พบส่วนประกอบของสถูปบรรจุตลับพระบรมสารีริกธาตุครบทุกชิ้นส่วน ชาวมหาสารคามจึงเห็นว่าควรสร้างองค์สถูปเจดีย์องค์ใหญ่ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้เป็นการถาวร ณ ตำบลที่ขุดพบนั้น แต่เมื่อสร้างจริงได้ไปสร้าง ณ ทำเลแห่งใหม่ที่โคกดงเค็งที่เป็นที่ราบสูงกว้างใหญ่ ห่างจากจุดเดิมประมาณ ๒ กิโลเมตร
            กรมศิลปากรได้ออกแบบองค์พระสถูปเจดีย์โดย ประยุกต์รูปทรงของสถูปสำริด ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ค้นพบ กับลักษณะศิลปกรรมแบบทวาราวดี มีความสูง ๕๐.๕๐ เมตร ฐานชั้นล่างเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสยาวด้านละ ๓๕.๗๐ เมตร ผนังภายนอกเป็นหินล้างประดับด้วยกระเบื้องดินเผา ส่วนสูงสุดซึ่งเป็นลูกแก้ว และฉัตรประดับด้วยเกร็ดกระจกสีทอง ส่วนประกอบขององค์พระธาตุแบ่งออกเป็นสามส่วน คือ
            ส่วนฐาน มี ๓ ชั้น ชั้นแรกเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส มีบันไดขึ้นตรงกลางทั้งสี่ด้าน สูงจากฐานราก ๓.๗๐ เมตร รอบฐานประดับด้วยรูปยักษ์แบกปูนปั้น ซึ่งหมายถึงการยอมรับในพระพุทธศาสนา ตามสถาปัตยกรรมแบบทวาราวดี ชั้นที่สอง เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมจตุรัสย่อมุมไม้สิบสอง สูง ๕ เมตร มีชั้นทางเดินปูด้วยกระเบื้องรอบชั้นนี้ ตรงกลางแต่ละด้านประดับด้วยซุ้มจระนำ ประดิษฐานพระพุทธรูป  แต่ละช่วงของมุมตกแต่งด้วยพระพิมพ์ดินเผาจำลองขนาดใหญ่กว่าองค์จริง ที่ขุดพบบริเวณเมืองโบราณนครจัมปาศรี นอกจากนั้นได้ประดับลวดลายแบบทวาราวดีไว้บนซุ้ม จรนำทั้งสี่ด้าน ที่มุมทั้งสี่ของชั้นที่สอง มีพระธาตุขนาดเล็ก ที่จำลองมาจากองค์ใหญ่ตั้งอยู่ประจำในทิศเฉียง แต่ละองค์มีปล้องไฉน ๑๓ ปล้อง เปรียบกับพระโพธิสัตว์ ๑๓ ชาติ ชั้นที่สามเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง เช่นเดียวกับชั้นที่สอง ตรงกลางของแต่ละด้าน มีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปประจำทิศตามปรัชญา ทางฝ่ายมหายาน นิกายวัชรยาน คือ ทิศตะวันออก พระอักโขภยาพุทธะ ทิศตะวันตก พระอมิตาพุทธะ ทิศเหนือ พระอโมฆสิทธิ และทิศใต้ พระรัตนสัมภวะ แต่ละองค์ประทับเป็นประธานของแต่ละเขต เพื่อช่วยให้สรรพสัตว์เข้าสู่พระอาทิพุทธะ ซึ่งประทับอยู่ตรงกลางสวรรค์ และมุ่งสู่นิพพาน ชั้นที่สองและชั้นที่สาม เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมลดชั้น
            ส่วนองค์พระธาตุ  ก่อนถึงองค์พระธาตุ จะเป็นชั้นทรงแปดเหลี่ยม สูง ๑.๖๐ เมตร ทำหน้าที่เชื่อมต่อ ระหว่างส่วนฐานกับส่วนองค์ธาตุ ชั้นดังกล่าวนี้วางรอบรับลวดบัวหงาย ซึ่งเป็นปากขององค์พระธาตุทรงระฆังกลม ตามลัทธิความเชื่อแบบฮินดูที่ว่า รูปสี่เหลี่ยมคือโลกมนุษย์ รูปแปดเหลี่ยมเป็นห้วงอวกาศ และรูปทรงกลมคือห้วงสวรรค์
            ส่วนล่างขององค์พระธาตุเป็นฐานกลม ประดับด้วยบัวหงายล้อมรอบสูง ๑.๐๐ เมตร ดอกบัวหมายถึงแสงสว่างและความรุ่งเรือง
            ส่วนองค์พระธาตุเป็นระฆังทรงสูง พัฒนามาจากครึ่งวงกลม สูง ๑๑.๐๐ เมตร เป็นชั้นที่ใช้ประดิษฐานสถูป บรรจุพระบรมสารีริกธาตุองค์ที่ขุดพบดังกล่าวแล้ว องค์ระฆังใหญ่ส่วนที่เป็นโดม คือส่วนสำคัญที่สุดของเจดีย์ เพราะเป็นแหล่งที่บรรจุสิ่งต่าง ๆ เหมือนกับครรภ์ของมนุษย์ ทางพุทธศาสนา จัดอยู่ในชั้นกามภูมิ แต่ทางพราหมณ์ถือว่าเป็นชั้นสูงสุด ภายในองค์ระฆังจะเป็นโพรงเรียกว่าคูหา ใช้เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
            ส่วนยอดของพระธาตุ  ก่อนจะถึงส่วนยอดจะมีแท่นบัลลังก์รองรับท่อนรูปทรงหม้อน้ำ สูง ๔.๖๐ เมตร ตัวแท่นบัลลังก์เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม ตามตำราสิงหลถือว่าเป็นแท่นบูชาอันสูงสุด ส่วนหม้อน้ำมีรูปทรงหม้อน้ำเรียกว่าหม้อ ปูรณฆกะ หมายถึงหม้อแห่งความอุดมสมบูรณ์ หม้อน้ำของพระธาตุนาดูนตั้งอยู่บนแท่นบัลลังก์ เหนือองค์ระฆังแล้วต่อด้วยปล้องไฉน เป็นพระธาตุทรงหม้อน้ำ ปล้องไฉนมีจำนวน ๖ ปล้อง เรียงขนาดลดหลั่นลงจากล่างไปบน สูง ๖.๘๐ เมตร หมายถึงชั้นของเทวโลกทั้ง ๖
ชั้น ตามคติพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ส่วนสูงสุดคือส่วนของปลียอด ลูกแก้ว หรือฉัตรยอด มีความสูงรวม ๑๒.๐๐ เมตร ลูกแก้วหมายถึงดวงอาทิตย์ที่ให้แสงสว่างให้พลังงาน และความอบอุ่น ลูกแก้วอยู่ใต้ยอดฉัตร ถือว่าเป็น อรูปภูมิ เป็นเส้นทางผ่านไปสู่ชั้นนิพพาน
            คณะรัฐมนตรี พิจารณาเห็นว่า พระธาตุนาดูนมีที่ตั้งอยู่ใจกลางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นแหล่งศูนย์กลางพุทธศาสนา ศิลป วัฒนธรรม การเมือง และการปกครองมาตั้งแต่อดีตมาถึงปัจจุบัน จึงมีมติให้บริเวณพระธาตุนาดูนเป็นพุทธมณฑลอีสาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ เป็นต้นมา และกำหนดให้มีวันจัดงานนมัสการพระธาตุนาดูน อย่างเป็นทางการในวันมาฆบูชาของทุกปี
พระธาตจูมคำ
            พระธาตจูมคำ ตั้งอยู่ที่วัดบ้านหนองสิมน้อย ตำบลบรบือ อำเภอเมือ ฯ สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๕ จุดประสงค์เพื่อให้เป็นศาสนสถาน และเป็นที่เคารพบูชา ก่อสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมไทยอีสานผสมกับภาคกลาง โดยได้รูปแบบจากมณฑป พระพุทธบาทสระบุรี มีฐานกว้าง ๑๘ เมตร ยาว ๒๐ เมตร องค์พระธาตุทำเป็นสามชั้น ชั้นบนประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลอง และพระพุทธไสยาสน์ ชั้นกลางประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัย รอยพระพุทธบาทจำลอง และพระพุทธรูปประจำวัน ภายนอกรายล้อมด้วยระฆัง ซุ้มประตูหน้าต่าง มีจิตรกรรมเรื่องเวสสันดรชาดก บานประตูหน้าต่างสลักเป็นลายรูปกินนร รอบนอกถัดวงระฆังออกไปด้านทิศตะวันออก ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ ด้านทิศใต้เป็นเรื่องทศชาติเว้นเรื่องเวสสันดร ด้านทิศตะวันตก เรื่องผาแดงนางไอ่ รอบนอกด้านทิศตะวันออก ทิศใต้ และทิศตะวันตก มีรูปหล่อปูนปั้นติดฝาผนัง
แบบนูนสูง เป็นเรื่องพุทธประวัติ ส่วนชั้นใต้ดินจัดเป็นพิพิธภัณฑ์โบราณวัตถุ และศิลปะวัตถุ

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |