| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางวัฒนธรรม

            จังหวัดมหาสารคาม จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า ได้มีมนุษย์อยู่อาศัยมา ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ประมาณ ๓,๓๐๐ ปีมาแล้ว
แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงเหียน
            อยู่ที่บ้านเชียงเหียน ตำบลเขวา อำเภอเมือง ฯ มีลักษณะเป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ ผังเมืองเป็นรูปกลมรีมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑ กิโลเมตร มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ มีคันดิน ๓ ชั้น คูน้ำ ๒ ชั้น ด้านนอกตัวเมืองโบราณมีเนินดินโบราณคดีอีก ๕ แห่ง ได้แก่ ดอนข้าวโอ ดอนปู่ตา ดอนย่าเฒ่า ดอนยาคู และหอนาง
            จากการขุดค้นครั้งแรก ได้พบโครงกระดูกมนุษย์ มีเครื่องใช้สำริดฝังร่วมอยู่ด้วยหลายโครง ต่อมาได้ขุดค้นพบว่ามีชั้นดินลึกประมาณ ๖ เมตร ชั้นดินล่างสุด แสดงถึงการเริ่มต้นอยู่อาศัยในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีอายุประมาณ ๒,๐๐๐ - ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว พบภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ ภาชนะดินเผาเคลือบ และภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง ชั้นดินด้านบนสุด พบหลักฐานการอยู่อาศัยของคนยุคปัจจุบัน
กู่น้อย
            ตั้งอยู่ที่บ้านหมี่ ตำบลเขวา อำเภอเมือง ฯ สภาพเป็นเนินดินอยู่กลางทุ่งนา มีคูน้ำรูปสี่เหลี่ยมล้อมรอบ บริเวณกลางเนิน มีส่วนฐานของอาคารศิลาแลงใสกรอบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าอยู่ ๑ ชั้น พบฐานรูปเคารพหินทรายทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส เมื่อพิจารณาจากลักษณะ และแผนผังของโบราณสถานแล้ว สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นสถาปัตยกรรมที่เรียกว่าปราสามหิน ที่สร้างขึ้นในศิลปะแบบเขมร ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗
กู่บ้านเขวา
            ตั้งอยู่ที่บ้านเขวา ตำบลเขวา อำเภอเมือง ฯ พบว่ามีฝังหลักของอาคารคือ ปราสาทประธานก่อด้วยศิลาแลง มีเรือนธาตุเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสเพิ่มมุมขนาด กว้างยาวด้านละ ๕ เมตร มีมุขยื่นต่อด้านหน้า ส่วนบนทำเป็นชั้นลดเลียนแบบเรือนธาตุซ้อนขึ้นไป ๔ ชั้น จึงถึงส่วนบัวยอดปราสาท บริเวณมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน มีวิหารหรือบรรณาลัยตั้งอยู่ ๑ หลัง แต่เหลือเฉพาะส่วนที่เป็นรากฐาน ที่มีลักษณะเป็นห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีมุขยื่นเท่านั้น มีขนาด กว้าง ๖ เมตร ยาว ๗.๕ เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันตก อาคารทั้งสองมีกำแพงศิลแลงล้อมเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง ๒๕ เมตร ยาว ๓๗ เมตร บริเวณกึ่งกลางกำแพงแก้วด้านหน้า มีประตูซุ้ม (โตปุระ) มีผังเป็นรูปกากบาทขนาดกว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๑๑ เมตร เพื่อใช้เป็นทางเข้าสู่ศาสนสถาน และอยู่ในสภาพชำรุดเช่นกัน แต่เดิมภายในกู่แห่งนี้ มีรูปเคารพอยู่ ๒ รูป ปัจจุบันเก็บไว้ที่วัดมหาชัย
            จากการขุดแต่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ - ๒๕๔๑ ได้พบจารึกที่วงกบประตูห้องมุขหน้าปราสาทประธาน เป็นจารึกภาษาขอม ภาษาสันสกฤต แปลแล้วมีความว่า เชิญบูชา พระเจ้าที่อยู่ในอาศรม ตัวอักษรสันนิษฐานว่า จารึกเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗ พบพระบุเงิน ศิลปะล้านช้าง อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ - ๒๒ หลายสิบองค์บรรจุอยู่ในไห พบภาชนะดินเผา กระเบื้องดินเผา และเครื่องประดับหลังคากระจายอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะบริเวณหน้ามุขปราสาทประธาน สันนิษฐานว่าเดิมอาจมีหลังคา เครื่องไม้อยู่ด้านหน้าปราสาทประธาน จากหลักฐานที่ปรากฏแสดงให้เห็นว่า อาคารดังกล่าวนี้คงสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นศาสนสถาน ประจำสถานพยาบาล (อโรคยศาล) ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (ศิลปะแบบบายน) ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ซึ่งจารึกจากปราสาทตาพรหมที่นครวัด ได้กล่าวถึงการสร้างอโรคยาศาล จำนวน ๑๐๒ แห่ง ในสมัยของพระองค์ และที่พบในประเทศไทยมีอยู่กว่า ๒๐ แห่ง
แหล่งโบราณคดีบ้านค้อน้อย
            ตั้งอยู่ในบริเวณบ้านค้อน้อย ตำบลตลาด อำเภอเมือง ฯ มีลักษณะเป็นเนินดินขนาดเล็ก มีร่องรอยคูน้ำคันดินล้อมรอบ ผังเมืองเป็นรูปวงรี มีพื้นที่ประมาณ ๒๐๐ ไร่ พื้นที่ส่วนหนึ่งปัจจุบันกลายเป็นหนองน้ำสาธารณะ จากการสำรวจได้พบเศษภาชนะดินเผากระจายอยู่ทั่วไป สันนิษฐานว่า เป็นชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยทวาราวดี
เมืองโบราณกันทรวิชัย

            อยู่ที่บ้านสระ ตำบลคันธารราษฎร์ อำเภอกันทรวิชัย มีลักษณะเป็นเมืองโบราณ มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ผังเมืองเป็นรูปกลมรี คูเมืองกว้าง ๑๘ เมตร และมีคันดิน ๒ ชั้น ความสูงของคันดินปัจจุบันประมาณ ๓ เมตร กว้างประมาณ ๖ เมตร ภายในเมือง มีโบราณสถานสำคัญหลายแห่ง เช่น อุ่มญาคู วัดพุทธมงคล และวัดสุวรรณาวาส พบเศษภาชนะดินเผากระจายอยู่ทั่วไป มีทั้งแบบเนื้อหยาบ ลายเชือกทาบ เคลือบน้ำโคลนสีแดง สันนิษฐานว่า เมืองโบราณแห่งนี้ คงมีการอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย สืบต่อมาจนถึงสมัยทวาราวดี
โบราณสถานอุ่มยาคู
            อยู่ที่บ้านสระ ตำบลคันธารราษฎร์ อำเภอกันทรวิชัย ในเขตเมืองโบราณกันทรวิชัย เป็นอาคารก่อด้วยอิฐรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านหลังเป็นแท่นยกพื้นคล้ายฐานชุกชี ด้านข้างมีใบเสมาปักอยู่ สันนิษฐานว่าเป็นอุโบสถ สิ่งที่สำคัญคือ ได้ขุดพบแผ่นเงินดุนจำนวนมาก บรรจุอยู่ในภาชนะดินเผา พบพระพิมพ์ดินเผาปางสมาธิ ๑ องค์ สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๖ ศิบปะสมัยทวาราวดี
กู่คูขาด (วัดป่ากู่แก้ว)
            อยู่ที่บ้านดอนหน้อง ตำบลมะขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย ภายในบริเวณวัดมีซากอาคารก่อด้วยอิฐ และศิลาแลง แต่ปรักหักพังจนไม่ทราบรูปทรงที่แท้จริง มีคูน้ำรูปเกือกม้าล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง ปัจจุบันมีการสร้างพระพุทธรูปปูนปั้น ทับบนส่วนหนึ่งของศาสนสถานเดิม และสร้างอุโบสถทับส่วนหนึ่งของคูน้ำทางด้านทิศใต้
            จากหลักฐานที่ปรากฏ สันนิษฐานว่า โบราณสถานแห่งนี้น่าจะเป็นศาสนสถานในศิลปะกรรมแบบขอม ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗ ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ เมื่อ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘
เตาเผาบ้านเขียบ
            อยู่ที่บ้านเขียบ ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย มีลักษณะเป็นเนินขนาดใหญ่ มีพื้นที่ประมาณ ๑๐๐ ไร่ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวัดบ้านเขียบ (วัดพุทธไชยาราม) จากการสำรวจได้พบร่องรอยของผนังเตาเผาภาชนะ และมีเศษภาชนะเนื้อแกร่งจำนวนมาก แต่ปัจจุบันถูกทำลายไปเกือบหมด สันนิษฐานว่า บริเวณนี้น่าจะเป็นแหล่งเตาเผา เพื่อผลิตภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง ประเภทไห มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๒ - ๒๔ เป็นวัฒนธรรมแบบล้านช้าง
กู่บ้านแดง
            อยู่ที่บ้านแดง ตำบลหนองแสง อำเภอวาปีปทุม เป็นศาสนสถานก่อด้วยศิลาแลง สร้างขึ้นเนื่องในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เป็นศิลปขอมแบบบายน ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ปัจจุบันอยู่ในสภาพปรักหักพังมาก สันนิษฐานว่า ประกอบด้วยปราสาทหิน ๓ หลัง ตั้งเรียงอยู่บนฐานเดียวกัน มีแนวกำแพงศิลาแลงล้อมรอบ เดิมทีบริเวณกรอบประตูทางเข้าปราสาท เคยมีทับหลังหินทรายแดง สลักรูปรัตนตรัยฝ่ายมหายานตั้งอยู่ แต่ปัจจุบันไปตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพิมาย กู่บ้านแดงใต้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ เมื่อ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘ และประกาศขอบเขตโบราณสถานเมื่อ ๑๕ มีนาคม ๒๕๒๖ มีพื้นที่ ๔ ไร่ ๒ งาน
กู่บ้านสนาม (วัดกู่สุนทราราม)
            อยู่ที่บ้านสนาม ตำบลเสือโกก อำเภอวาปีปทุม เป็นศาสนสถาน ก่อสร้างด้วยศิลาแลง น่าจะมีอาคารอยู่ตรงกลาง แต่เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้มีการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ทับไว้ แต่ยังคงเหลือแนวกำแพงศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากั้นอยู่โดยรอบ กู่บ้านสนามได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ เมื่อ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘ และประกาศกำหนดขอบเขตโบราณสถาน เมื่อ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๕
แหล่งโบราณคดีโนนท้อ
            อยู่ที่บ้านโชคชัย ตำบลหัวขวาง อำเภอโกสุมพิสัย มีลักษณะเป็นเนินดินขนาดใหญ่ กว้างประมาณ ๑๕๐ เมตร ยาวประมาณ ๕๐๐ เมตร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของลำชีน้อย (ลำชีหลง) ได้พบโบราณวัตถุหลายประเภทด้วยกัน เช่น เครื่องมือเครื่องใช้โลหะที่เป็นเหล็ก และสำริด เบ้าหลอมโลหะ ตะกรัน (ขี้แร่) และภาชนะดินเผา จากหลักฐานที่พบสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นชุมชนโบราณในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ประมาณ ๒,๕๐๐ - ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว ซึ่งเป็นยุคโลหะ และชุมชนแห่งนี้น่าจะมีความรู้เกี่ยวกับโลหกรรมเป็นอย่างดี
แหล่งโบราณคดีวัดป่ามัชฌิมวราราม
            อยู่ที่บ้านเขวาไร่ อำเภอโกสุมพิสัย มีลักษณะเป็นเนินดินรูปยาวรี กว้างประมาณ ๓๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๕๐๐ เมตร ความสูงเฉลี่ยประมาณ ๗ เมตร จากพื้นนาโดยรอบ พบเศษภาชนะดินเผาเคลือบโคลนสีแดง และลายเขียนสี พบตะกรันแร่เหล็กกระจายอยู่ทั่วไปทั้งเนินเป็นจำนวนมาก สันนิษฐานว่าบริเวณนี้มีการถลุงโลหะที่สำคัญ และอาจมีการผลิตเครื่องมือโลหะด้วย
แหล่งโบราณคดีบ้านดอนตูม
            อยู่ที่บ้านดอนตูม อำเภอโกสุมพิสัย มีลักษณะเป็นเนินดินรูปกลมรี ขนาดกว้างประมาณ ๒๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๔๐๐ เมตร สูงจากพื้นที่โดยรอบประมาณ ๕ เมตร สำรวจพบเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ แบบผิวเรียบ และแบบเคลือบน้ำโคลนสีแดง บางชิ้นตกแต่งผิวด้วยลายเชือกทาบ และลายเขียนสีด้านนอก พบเบี้ยดินเผาตะกรัน และเศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งที่เผาด้วยอุณหภูมิสูง สันนิษฐานว่าชุมชนโบราณแห่งนี้ได้ตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย สืบต่อมาจนถึงสมัยประวัติศาสตร์
แหล่งโบราณคดีวัดป่าสามัคคีธรรม
            อยู่ที่บ้านแพง ตำบลแพง อำเภอโกสุมพิสัย มีลักษณะเป็นเนินดินรูปยาวรี กว้างประมาณ ๒๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๘๐๐ เมตร สูงจากพื้นที่โดยรอบประมาณ ๓ เมตร สำรวจพบเศษภาชนะดินเผาแบบลายเขียนสี ลายเชือกทาบแบบเคลือบน้ำโคลนสีแดง และแบบผิวเรียบ ส่วนใหญ่พบบริเวณกลางเนิน พบตะกรันกระจายอยู่ทั่วไป สันนิษฐานว่า ชุมชนแห่งนี้อยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และเป็นแหล่งผลิตเครื่องมือเหล็ก
เมืองโบราณจัมปาศรี
            อยู่ในเขตตำบลสันตรัตน์ อำเภอนาดูน ตัวเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ ๑,๕๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๒,๗๐๐ เมตร มีคันดิน ๒ ชั้น คูน้ำ ๑ ชั้นล้อมรอบ บริเวณกลางเมืองมีคูน้ำคั่นอยู่ แบ่งตัวเมืองออกเป็นสองส่วน โบราณสถานส่วนใหญ่ อยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวเมือง โบราณสถานที่ตั้งอยู่ทั้งภายใน และภายนอก คันดินมีอยู่ ๓๕ แห่ง ๓๒ แห่งไม่ได้เป็นสถาปัตยกรรมแบบขอม
            สถาปัตยกรรมแบบขอมมีอยู่สองแห่งคือ กู่น้อย และกู่สันตรัตน์ ซึ่งอยู่ภายนอก กู่น้อยอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ กู่สันตรัตน์อยู่ทางทิศใต้ของตัวเมือง ส่วนศาลานางขาว ซึ่เป็นสถาปัตยกรรมแบบผสมระหว่างขอมกับศิลปพื้นเมืองอยู่ภายในเมือง
            จากการสำรวจพบว่า ชุมชนโบราณแห่งนี้มีการอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ โดยพัฒนาเข้าสู่ยุคสังคมเมือง มีการสร้างคูน้ำคันดินล้อมรอบเมืองเมื่อประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๑๒ แล้วขยายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ รับอิทธิพลทางพุทธศาสนาในวัฒนธรรมทวาราวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๖ ต่อมาเมื่อประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๑๖ อิทธิพลวัฒนธรรม และการเมืองของขอมได้แพร่เข้ามาพร้อมกับศาสนาฮินดู จึงเกิดศาสนสถานกู่น้อยขึ้น
            ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เมืองนครจัมปาศรี น่าจะเป็นศูนย์กลางของชุมชนในแถบนี้ ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ได้แพร่พุทธศาสนาฝ่ายมหายานเข้ามา และได้สร้างศาสนสถานประจำอโรคยาศาล ที่กู่สันตรัตน์
กู่น้อย
            อยู่ที่บ้านกู่โนนเมือง ตำบลกู่สันตรัตน์ อำเภอนาดูน ประกอบด้วยกำแพงศิลาแลงล้อมรอบทั้งสี่ด้าน มีร่องรอยคูน้ำรูปเกือกม้าล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง บริเวณกึ่งกลางกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออก และทิศตะวันตก มีประตูซุ้ม (โคปุระ) จากร่องรอยที่ปรากฏ สันนิษฐานว่า เดิมคงเป็นอาคารโถงมีเสาเป็นไม้กลมรองรับ หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง
            ปราสาทประธาน แกนในเป็นศิลาแลง กรุด้านนอกด้วยหินทราย หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ทางด้านทิศเหนือของปราสาทประธาน มีการสร้างอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ๑ หลังเป็นอาคารโถง
            จากการสำรวจได้พบประติมากรรมหลายชิ้น ที่เป็นงานศิลปกรรมแบบบาปวน และนครวัด (ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗) กู่น้อยได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ เมื่อ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘ และประกาศขอบเขตโบราณสถาน เมื่อ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๕ มีพื้นที่ ๘ ไร่ ๒ งาน ๙๔ ตารางวา
กู่สันตรัตน์
            อยู่ที่บ้านกู่โนนเมือง ตำบลกู่สันตรัตน์ อำเภอนาดูน ประกอบด้วยกำแพงศิลาแลงล้อมรอบทั้งสี่ด้าน เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีประตูซุ้ม (โคปุระ) อยู่ทางด้านหน้า (ทิศตะวันออก) ภายในกำแพงมีปราสาทศิลาแลง ๑ หลัง บริเวณมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีอาคารบรรณาลัยอยู่ ๑ หลัง บริเวณมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือภายนอกกำแพงแก้ว มีสระน้ำกรุด้วยศิลาแลงอยู่ ๑ แห่ง
            จากการสำรวจได้พบประติมากรรมสำคัญอยู่หลายชิ้น เช่น พระวัชระธร พระพุทธรูปปางนาคปรก ศิลปขอม แบบบายน อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘
            สันนิษฐานว่า กู่สันตรัตน์เป็นศาสนสถานประจำอโรคยาศาล ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ให้สร้างขึ้น กู่สันตรัตน์ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติเมื่อ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘ และประกาศขอบเขตโบราณสถานเมื่อ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๒๕ มีพื้นที่ ๕ ไร่ ๓ งาน
ศาลานางขาว
            อยู่ที่บ้านกู่โนนเมือง ตำบลกู่สันตรัตน์ อำเภอนาดูน อยู่ในเขตคันดินเมืองโบราณจัมปาศรี ตัวอาคารด้านหน้า ก่อเป็นแนวศิลาแลงจตุรมุข ตัวอาคารหลักตั้งอยู่ถัดมาทางทิศตะวันตก ประมาณ ๓๐ เมตร ประกอบด้วยอาคารจตุรัสย่อมุม มีมุขด้านทิศตะวันออกยาวกว่าด้านอื่น
            จากการสำรวจได้พบโบราณวัตถุหลายชิ้น มีศิลาจารึกขนาดเล็กอยู่ ๑ หลัก จารึกด้วยอักษรขอมโบราณภาษาเขมร มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ใช้กระเบื้องมุงหลังคาแบบขอม ได้พบภาชนะดินเผาจำนวนหนึ่ง
            โบราณสถานศาลานางขาว ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติเมื่อ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘
กู่ทอง
            อยู่ที่บ้านกู่ทอง ตำบลกู่ทอง อำเภอเชียงยืน มีลักษณะเป็นเนินดิน รูปร่างค่อนข้างกลม สูงจากพื้นที่โดยรอบประมาณ ๑.๕ เมตร จากการสำรวจพบเศษภาชนะดินเผากระจายอยู่ทั่วไป พบเครื่องประดับสำริดมีกำไลและตุ้มหู เป็นต้น ซากโบราณสถานก่อด้วยอิฐรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๒ เมตร อยู่ในสภาพปรักหักพังมาก ในบริเวณใกล้เคียงพบมูลดินที่มีร่องรอยของแนวอิฐอีก ๓ แห่ง สันนิษฐานว่าเป็นเจดีย์
            จากหลักฐานที่พบเข้าใจว่ากู่ทองเป็นงานศิลปกรรมแบบล้านช้าง ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๒ - ๒๔ กู่ทองได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติเมื่อ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘
แหล่งโบราณคดีโนนหนองบ่อ
            อยู่ที่บ้านโนนหนองบ่อ ตำบลบรบือ อำเภอบรบือ  มีลักษณะเป็นเนินดินรูปทรงกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ ๒๐๐ เมตร มีศาลเจ้าพ่อจูมดำตั้งอยู่ จากการสำรวจได้พบเศษภาชนะดินเผาแบบเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ บางชิ้นมีร่องรอยเขียนสีอยู่ด้วย พบตะกรันกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก ทางด้านทิศเหนือของเนินดิน สันนิษฐานว่า เป็นชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ที่รู้จักใช้ความรู้ด้านโลหกรรมเป็นอย่างดีแล้ว
กู่บัวมาศ
            อยู่ที่บ้านนกกอก ตำบลบัวมาศ อำเภอบรบือ  มีลักษณะเป็นศาสนสถานก่อด้วยศิลาแลง มีกำแพงศิลาแลงล้อมรอบ ภายในมีอาคารประธานก่อด้วยศิลาแลง และด้านบนก่อด้วยอิฐเสริมในสมัยหลัง กำแพงด้านทิศตะวันตกมีร่องรอยคล้ายซุ้มประตูทางเข้า ด้านนอกมีคูน้ำรูปเกือกม้าล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง
            สันนิษฐานว่า เป็นสถาปัตยกรรมขอม ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗
โบราณสถานบ้านโคกกู่ (วัดดอนกู่สามพันคำ)
            อยู่ที่บ้านโคกกู่ ตำบลหนองคูขาด อำเภอบรบือ  ลักษณะเป็นเนินดินโบราณ ได้เคยขุดพบโครงกระดูกมนุษย์ เครื่องประดับสัมฤทธิ์ ภาชนะดินเผาสีน้ำตาล มีการปั้นแปะรูปคนขี่ช้าง มีฐานอาคารก่อด้วยศิลาแลง รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง ๗ เมตร  ยาว ๘ เมตร มีคูน้ำรูปเกือกม้าล้อมอีกชั้นหนึ่ง  สันนิษฐานว่า มีการอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สืบเนื่องมาจนถึงสมัยที่ได้รับอิทธิพลศิลปะขอม ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๘
แหล่งโบราณคดีบ้านเมืองเตา
            อยู่ที่บ้านเมืองเตา ตำบลเมืองเตา อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย ลักษณะเป็นเนินดินรูปร่างค่อนข้างกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕๐๐ เมตร สูงจากระดับพื้นที่โดยรอบประมาณ ๕ เมตร ปรากฎร่องรอยแนวคูน้ำคันดิน ยกเว้นด้านตะวันตก และตะวันออกเฉียงใต้ พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ และภาชนะดินเผาบรรจุกระดูก พบตะกรันกระจายอยู่ทั่วไป ในบริเวณวัดศรีนครเตา มีสิมก่อด้วยอิฐสอดินทึบทั้งหลัง ฐานกว้าง ๕ เมตร ยาว ๖ เมตร พบใบเสมาหินรูปหม้อน้ำแห่งความอุดมสมบูรณ์ (บูรณฆฏะ) ซึ่งเป็นศิลปกรรมสมัยทวาราวดี สันนิษฐานว่า เป็นที่ตั้งชุมชนมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย สืบเนื่องมาถึงสมัยทวาราวดี
แหล่งโบราณคดีบ้านเมืองเจีย
            อยู่ที่บ้านเจีย ตำบลปะหลาน อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย  ลักษณะเป็นเนินดินรูปกลมรี กว้างประมาณ ๒๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๓๐๐ เมตร มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ พบโบราณวัตถุหลายประเภท เช่น ภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เศษภาชนะเนื้อแกร่ง และเครื่องเคลือบ พบกำไลสำริด หินดุ ลูกกลิ้งดินเผา และภาชนะดินเผาบรรจุกระดูก สันนิษฐานว่า เป็นที่อยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สืบเนื่องมาจนถึงสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น
โบราณสถานวัดบ้านกู่
            อยู่ที่บ้านกู่ ตำบลกู่ อำเภอยางสีสุราช  ลักษณะเป็นอาคารก่อด้วยอิฐศิลาแลง รูแสี่เหลี่อมผืนผ้า สันนิษฐานว่า มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๘

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |