| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางโบราณคดี | มรดกทางวัฒนธรรม |

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์

            จากหลักฐานทางโบราณคดี เมืองสตูลเคยเป็นที่อยู่ของมนุษย์ชาวถ้ำ ได้ขุดพบโบราณวัตถุประเภทหิน และเครื่องปั้นดินเผา เมื่อเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ชุมชนที่เจริญมาก่อนแห่งอื่นใน จังหวัดสตูลคือ ละงู ปัจจุบันคืออำเภอละงู อีกชุมชนหนึ่งคือบ้านบาราเกตุเป็นท่าเรือ มีชื่อปรากฏอยู่ในแผนที่ ที่ชาวตะวันตกเขียนไว้ ปัจจุบันอยู่ในเขต อำเภอท่าแพ เมืองสตูลมีความสัมพันธ์กับเมืองไทรบุรีมาแต่เดิม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของจังหวัด แบ่งออกได้เป็นสองยุค คือยุคก่อนประวัติศาสตร์ และยุคประวัติศาสตร์
ยุคก่อนประวัติศาสตร์

            ตามข้อมูลทางโบราณคดี ปรากฏร่องรอยของมนุษย์ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ตามแหล่งที่เป็นถ้ำ และเพิงผา ในพื้นที่จังหวัดสตูล ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ แหล่งโบราณคดีที่พบอยู่ที่ เขาโต๊ะพญาวัง อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ เขาโต๊ะนางดำ อยู่ในเขตตำบลนาทอน อำเภอทุ่งหว้า เขาขุมทรัพย์ ในเขตตำบลทุ่งหว้า อำเภอทุ่งหว้า
            ตามหลักฐานที่ค้นพบ จากแหล่งโบราณคดีทั้งสามแห่งดังกล่าวข้างต้น โบราณวัตถุที่พบเป็นเครื่องมือที่มนุษย์สมัยหินใช้ในการดำรงชีวิต อยู่ในห้วงยุคหินเก่าต่อกับยุคหินใหม่ เป็นประเภทที่ทำด้วยหิน และทำด้วยดินเผา ได้แก่เครื่องมือสะเก็ดหิน หินลับ ค้อนหิน ก้อนหินทรงหลายเหลี่ยม ภาชนะดินเผาแบบเรียบ แบบขัดมัน และแบบลายประทับ เป็นลายเชือกทาบด้านนอก มีอายุกว่า ๕,๐๐๐ ปี มาแล้ว
ยุคประวัติศาสตร์
            เมืองสตูลขึ้นกับราชอาณาจักรไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย ชุมชนที่มีความเจริญคือชุมชนละงู ชื่อเมืองนี้ปรากฏอยู่ในตำนานเมืองนครศรีธรรมราช และปรากฏชื่อนี้ในแผนที่ของชาวตะวันตก
            ตามตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ได้กล่าวถึงเมืองสิบสองนักษัตร ที่ขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๑๙๕๐ - ๒๐๐๐ พระพนมวัง นางสะเดียงทองได้ฟื้นฟูเมืองนครศรีธรรมราช และเมืองบริวารขึ้นใหม่ โดยได้แต่งตั้งเจ้าเมืองแขกทางตอนใต้ ๑๐ เมือง มีความในตำนานตอนหนึ่งว่า "เจสาวังให้ไปกินละงู ให้ชื่อราชายุรา เจนาคาลายังเมียหนึ่ง"
            แผนที่วาด ชื่อ Map of Kingdom of Siam and Cochin China จัดทำขึ้นโดยชาวตะวันตก เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๑ ปรากฏชื่อเมือง หรือท่าเรือทางชายฝั่งตะวันตก มีชื่อ ลูงู ก็คือ ละงู นั่นเอง
            เมืองสตูลมีความสัมพันธ์ด้านประวัติศาสตร์ กับเมืองไทรบุรีมาโดยตลอด เมืองไทรบุรีขึ้นกับราชอาณาจักรไทยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ไทรบุรีมาตั้งตัวเป็นอิสระเมื่อ ปี พ.ศ.๒๓๑๐ หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมืองไทรบุรีก็ได้กลับมาขึ้นกับราชอาณาจักรไทยตามเดิม ในฐานะหัวเมืองมลายู
            หลังปี พ.ศ. ๒๓๕๘  ละงูไม่มีผู้ปกครองดูแลเนื่องจากพระยาอภัยนุราชถวายเมืองคืน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เมืองสงขลาเป็นผู้ดูแล ดังปรากฏตามสำเนาจดหมายเหตุ ร.๒ มีความตอนหนึ่งว่า
            "แลเมืองสตูล ละงู ซึ่งพระยาอภัยนุราชถวายคืนนั้น เป็นปากน้ำทางข้าศึกขึ้นตั้งมั่นกับทัพมิให้ลงไปช่วยกันได้นั้นสำคัญอยู่ แล้วระยะทางก็ไกลกับเมืองสงขลาแต่ ๕ คืน จะให้ว่างเปล่าอยู่มิได้ ให้พระยาศรีสมบัติจางวาง กับพระยาสงขลา จัดแจงหลวงขุนหมื่นที่มีสติปัญญา สัตย์ซื่อมั่นคง ลงไปตั้งชักชวนเกลี้ยกล่อม แขก ไทยมีชื่อให้เข้ามาตั้งบ้านเรือน ทำไร่นา ปลูกยุ้งฉาง รวบรวมเสบียงอาหาร ทำร่มโรงไว้เรือรบ เรือไล่ รักษาปากน้ำสตูล ละงู ไว้ให้เป็นภาคภูมิแล้วจะได้คุมเชิงเมืองไทรบุรีไว้ด้วย ถึงราชการผันแปรมีมาประการใด จะได้ผันแปรตามราชการ"
การก่อตั้งเมืองสตูล
            นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๕๘ เป็นต้นมา ละงูไม่มีผู้ปกครองดูแลในฐานะเจ้าเมือง
            ในปี พ.ศ. ๒๓๖๓ พระเจ้าจักกายแมงแห่งราชวงศ์อลองพญา กษัตริย์พม่าคิดจะยกทัพใหญ่มาตีไทยอีก ได้มาชุมนุมพลที่เมืองเมาะตะมะ ได้เกลี้ยกล่อมให้พระยาไทรบุรีเข้าเป็นพวก และได้ชักชวนญวนให้เข้ามาตีไทยทางด้านทิศตะวันออก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้า ฯ ให้มีท้องตราไปสืบสวนว่าเป็นความจริงเพียงใด พอดีตนกูม่อมน้องชายเจ้าพระยาไทรบุรีได้ฟ้องเจ้าพระยานครว่า เจ้าพระยาไทรบุรีมีใจฝักใฝ่ต่อพม่า ประกอบกับหลักฐานอื่นอีกที่แสดงว่าเจ้าพระยาไทรบุรีเอาใจออกห่างจากไทย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงโปรดเกล้า ฯ ให้มีตราถึงเจ้าพระยาไทรบุรีเข้ามาแก้คดี แต่เจ้าพระยาไทรบุรีขัดขืน และตั้งแข็งเมือง ไม่ยอมส่งเครื่องราชบรรณาการตามปกติ พระองค์จึงโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยานครเป็นแม่ทัพ ยกกำลังจากเมืองนครศรีธรรมราช ไชยา พัทลุง และสงขลา ไปตีเมืองไทรบุรี ในการนี้ได้ลงมาต่อเรือรบที่สตูล และเมืองตรัง ทัพไทยยึดได้เมืองไทรบุรีเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๓๖๔ และยกกองทัพเรือไปยึดเกาะลังกาวีไว้ได้ในเวลาต่อมา แล้วกวาดต้อนชาวเมืองไทรบุรีมาอยู่ที่กรุงเทพ ฯ เจ้าพระยานครได้มอบหมายให้บุตรชาย คือ พระภักดีบริรักษ์ เป็นผู้รักษาเมือง ซึ่งต่อมาได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นที่พระยาอภัยธิเบศร์ ฯ พระยาไทรบุรี ส่วนเกาะลังกาวี ได้มอบหมายให้หลวงต่างใจราษฎร์เป็นผู้ปกครอง
            ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๔ ตนกูเต็น หลานเจ้าพระยาไทรบุรีคนก่อนได้ยกกำลังเข้าตีเมืองไทรบุรีไว้ได้ เป็นเหตุให้หัวเมืองทั้ง ๗ ของเมืองปัตตานี รวมทั้งกลันตัน ตรังกานู ก่อขบถขึ้นด้วย เจ้าพระยานครจึงยกกำลังลงไปปราบปราม โดยใช้กำลังจากเมืองนคร ฯ พัทลุง และสงขลา แต่ไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้จัดกองทัพลงมาช่วยรวม ๔ กองทัพ และจัดส่งกองทัพเรือมาสมทบด้วย ฝ่ายไทยตีเมืองไทรบุรีได้ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๑ หลานเจ้าพระยาไทรบุรีคนเดิมได้รวบรวมกำลังเข้าตีเมืองไทรบุรีไว้ได้อีก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้า ฯ ให้กองทัพไปตีคืน ฝ่ายขบถยึดได้เมืองตรัง และเตรียมเข้าตีเมืองสงขลา ฝ่ายไทยตีเมืองไทรบุรีได้เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๒ พวกขบถที่ยึดเมืองตรัง และที่กำลังล้อมเมืองสงขลาอยู่ จึงถอนตัวหนีกลับไปพ้นแดนไทย
            พระยาศรีพิพัฒน์ราชโกศา (พัด) แม่ทัพไทยจึงคิดจัดการปกครองเมืองไทรบุรีใหม่ โดยให้ชาวมลายูที่เป็นญาติของเจ้าพระยาไทรบุรี (ตนกูปะแงวัน) คนก่อนปกครองกันเอง จึงได้มีหนังสือกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเห็นชอบด้วย ดังนั้นในปี พ.ศ. ๒๓๘๒ จึงได้แบ่งเมืองไทรบุรีออกเป็น ๔ เมือง และจัดให้มีผู้ปกครองที่เป็นเครือญาติเจ้าพระยาไทรบุรีปกครองดังนี้
            เมืองไทรบุรี  ให้ตนกูอาหนุ่ม  เป็นผู้ว่าราชการ
            เมืองปะลิส  ให้ตนไซยิดฮูเซ็ม  เป็นผู้ว่าราชการ
            เมืองกุปังปาสู  ให้ตนกูอาลับ  เป็นผู้ว่าราชการ
            เมืองสตูล  ให้ตนกูมูฮำมัดอาเก็บ  เป็นผู้ว่าราชการ
            สำหรับเมืองสตูล ให้อยู่ในความปกครองของเมืองสงขลา เมืองไทรบุรี เมืองปะลิส และเมืองกุปังปาสู ให้ขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราช และต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๗ เพื่อความเหมาะสมบางประการ เจ้าเมืองสงขลาได้มีใบบอกแจ้งไปทางกรุงเทพ ฯ ให้ยกเมืองสตูลไปขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช และได้รับอนุมัติตามที่เสนอไป
            ประเพณีที่หัวเมืองมลายูต้องปฏิบัติคือ การส่งเครื่องราชบรรณาการต่อพระเจ้ากรุงสยาม สามปีต่อครั้ง และต้องส่งผ่านเมืองนครศรีธรรมราช ในฐานะผู้ปกครองหัวเมืองฝ่ายใต้ก่อน แล้วจึงส่งมากรุงเทพ ฯ พร้อมกันทั้งสี่หัวเมืองอันได้แก่ เมืองไทรบุรี เมืองปะลิส เมืองกุบังปาสู และเมืองสตูล
            เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๔ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ เสด็จสวรรคต หัวเมืองมลายูฝ่ายใต้ทั้งสี่หัวเมืองดังกล่าวได้จัดส่งเครื่องราชบรรณาการ และสิ่งของมาเคารพพระบรมศพ ในส่วนของเมืองสตูล มีดังนี้
            "พระยาสตูลทำดอกไม้ทองต้นหนึ่งสูงสองศอก มีกิ่งสี่ชั้นห้าชั้นทั้งยอด มีใบสองร้อยสามสิบแปดใบมีดอกเจ็ดสิบดอก ดอกไม้เงินต้นหนึ่งสูงต่ำ มีดอกใบเหมือนดอกไม้ทองแล้วจัดเครื่องราชบรรณาการ หอกต่อทองเถิงทองคู่หนึ่ง หอกต่อเงินเถิงเงินคู่หนึ่ง หอกต่อทองเลวห้าคู่ โลห์ทรายห้าคู่ ผ้าขาวยาว ๘๐ ศอก ๒๐ พับ ยาว ๕๐ ศอก ๒๐ พับ ยาว ๒๔ ศอก ๒๐ พับ ผ้าลายสีสิบผืน พรมเทศสิบผืน กับพระยาสตูลทูลเกล้า ฯ ถวาย นอกเครื่องราชบรรณาการ ปืนคาบศิลายี่สิบบอก กระบี่อังกฤษฝักหนังเล่มหนึ่ง กระบี่ฝักเล็กสิบเล่ม พระยาสตูลทราบความว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสู่สวรรคต พระยาสตูลจัดสิ่งของทูลเกล้า ฯ ถวายเข้ามาในการพระบรมศพ ผ้าขาวยาวห้าสิบศอก สองร้อยพับ พระยาสตูล ศรีตะวัน กรมการคุมดอกไม้ทองเงิน เครื่องราชบรรณาการ และสิ่งของเคารพพระบรมศพ เข้ามาทางเมืองนครศรีธรรมราช ให้นำส่งเข้าไปยังกรุงพระมหานครศรีอยุธยา ทูลเกล้า ฯ ถวาย ตามประเพณีขอบขัณฑเสมา....."
            ระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๘๒ - ๒๔๔๐ ซึ่งเมืองไทรบุรีอยู่ในความปกครองดูแลของเมืองสงขลา ๕ ปี และเมืองนครศรีธรรมราช ๕๒ ปี เมืองสตูลยังคงมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับ เมืองไทรบุรีซึ่งมีมาแต่เดิม เมื่อพระอินทรวิชัยเจ้าเมืองสตูลถึงแก่อนิจกรรม เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๘ ตนกูอาหมัดจึงได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นเจ้าเมืองไทรบุรีสืบต่อจากบิดา ได้เป็นที่พระยาฤทธิ์สงครามภักดี ศรีสุลต่านมหหมัด ฯ

            เมืองสตูลปกครองอาณาเขตทางทะเลตั้งแต่ปากน้ำปะลิสจนถึงเกาะพีพี ของเมืองกระบี่ มีสินค้าสำคัญคือรังนกนางแอ่น รายได้หลักคืออากรจากรังนก เมืองสตูลจึงได้รับขนานนามว่า สตูลเมืองแห่งพระสมุทรเทวา จึงมีตราพระสมุทรเทวาเป็นตราสัญลักษณ์ของจังหวัด
            พระยาอภัยนุราชเป็นเจ้าเมืองสตูล ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๘๒ - ๒๔๑๘ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นที่พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ ฯ สยามพิชิตภักดี จางวางเมืองสตูล ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๘ ตนกูอิสมาแอล บุตรชายจึงได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นเจ้าเมืองแทน และได้เป็นที่พระยาอภัยนุราช ฯ พระยาสตูล พระยาอภัยนุราช ฯ ได้ร่วมมือกับ เจ้าพระยาไทรบุรี ฯ ส่งกำลังจากเมืองสตูล ๒๖๐ คน ไปสมทบกำลังจากไทรบุรี และปะลิส ไปปราบกบฎชาวจีนที่เมืองถลาง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๙ ได้รับความชอบ ได้รับพระราชทานเหรียญตราช้างเผือกสยามชั้นสี่ ชื่อภูษาภรณ์
            ในปี พ.ศ. ๒๔๒๕ พี่น้องฝาแฝด คือพระยาอินทรวิชัย (ตนกูอะหมัด) กับตนกูมูฮำมัด ต่างก็แยกย้ายกันไปตั้งเมืองใหม่ ไม่ยอมขึ้นกับเมืองสตูล ตนกูอะหมัดไปปกครองท้องที่ตำบลบาราเกต ซึ่งเป็นที่ตั้งอำเภอท่าแพในปัจจุบัน ส่วนตนกูมูฮำมัดไปสร้างเมืองใหม่ที่ละงู เจ้าเมืองสตูลได้ฟ้องร้องต่อเจ้าพระยาไทรบุรีว่า ทั้งสองคนดังกล่าวเป็นกบฎ จึงถูกเรียกตัวไปสอบสวนที่เมืองไทรบุรี ต่อมาความทราบถึงกรุงเทพ ฯ เห็นว่าเป็นที่เกิดขึ้นระหว่างพี่น้อง จึงได้ระงับเรื่องไม่ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูล
            พระยาอภัยนุราช (ตนกูอิสมาแอล) ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๗ ตนกูอับดุลเลาะห์มาน ได้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองสตูลด้วยความเห็นชอบของเจ้าพระยาไทรบุรี ได้เป็นที่พระยาอภัยนุราช ฯ พระยาสตูลและได้ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๐
เมืองสตูลขึ้นต่อมณฑลไทรบุรี (พ.ศ.๒๔๔๐ - ๒๔๕๒)


            พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้รวมเมืองไทรบุรี เมืองปะลิส และเมืองสตูล เข้าอยู่ในมณฑลเทศาภิบาลเดียวกัน เรียกว่า มณฑลไทรบุรี เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาฤทธิ์สงครามรามภักดี (ตนกูอับดุลฮามิค) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาล มีอำนาจตรวจตราบังคับผู้ว่าราชการเมืองสตูล และเมืองปะลิส และนับว่าเป็นสุลต่าน หรือเจ้าผู้ครองนครคนสุดท้ายของเมืองไทรบุรี ที่ขึ้นต่อราชอาณาจักรไทย
            คูเต็นบินกูแมะได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นเจ้าเมืองสตูล เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๓ ได้เป็นที่หลวงอินทรวิชัย ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น พระอินทรวิชัย และพระยาอินทรวิชัยตามลำดับ นับเป็นเจ้าเมืองสตูลคนแรกที่มาจากข้าราชการธรรมดา ไม่มีเชื้อสายเจ้าเมืองเดิม ได้มีการจัดการปกครองตามแบบอย่างเมืองไทรบุรี
            เมืองสตูลได้รับสิทธิผูกขาดการเก็บภาษีจากรัฐบาลกรุงสยาม มีภาษีฝิ่น ภาษีโรงจำนำ ภาษีรังนก ไข่เต่าตนุ เปลือกหอย ค่าภาคหลวงไม้ ภาษีสินค้าขาเข้า สินค้าขาออก ภาษีเรือ ภาษีที่ดิน
            การใช้ภาษาทางราชการเดิมใช้ภาษามลายู ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นภาษาไทย ในขั้นแรกก็ประสบปัญหาอยู่บ้าง สำหรับคนรุ่นก่อน มีข้าราชการลาออกจำนวนหนึ่ง ตนกูเบ็นบุตรชายพระยาอินทรวิชัย (ตนกูอะหมัด) ได้ยุยงให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องจนทางกรุงเทพ ฯ ต้องส่งพระยาชลบุรานุรักษ์มาสอบสวน และจับกุมตนกูเบ็นมากรุงเทพ ฯ
เมืองสตูลขึ้นต่อมณฑลภูเก็ต (พ.ศ.๒๔๕๒ - ๒๔๖๔)

            เมื่อไทยได้ทำสัญญากับอังกฤษ มอบเมืองกลันตัน เมืองตรังกานู เมืองไทรบุรี และเมืองปะลิส ให้แก่อังกฤษ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๒ แต่เมืองสตูลยังเป็นของไทย และให้เป็นเมืองจัตวารวมอยู่ในมณฑลภูเก็ต พระยาอินทรวิชัย (ตนกูบินกูแมะ) ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นมหาอำมาตย์ตรี พระภูมินารถภักดี จางวางเมืองสตูล เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๗ และเมื่อออกจากราชการแล้ว ก็ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระโกชาอิศหากปลัดเมืองสตูล เป็นผู้ว่าราชการเมืองสตูลแทน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๙ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนเป็นพระยาสมันตรัฐบุรินทร์
เมืองสตูลขึ้นต่อมณฑลนครศรีธรรมราช
            ด้วยเหตุผลความสะดวกของเส้นทางคมนาคม เนื่องจากมีทางถนน และทางรถไฟ ทำให้การเดินทางระหว่างสตูลกับ นครศรีธรรมราชสดวกกว่า จากสตูลไปภูเก็ต จึงได้ให้เมืองสตูลมาขึ้นกับมณฑลนครศรีธรรมราช จนถึงสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ฯ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ ซึ่งได้จัดระเบียบราชการบริหารออกเป็นราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนภูมิภาค และราชการบริหารส่วนท้องถิ่น เมืองสตูลจึงเป็นจังหวัดโดยสมบูรณ์ไม่ต้องขึ้นกับมณฑลใดอีก
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕

            ในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ทางราชการได้มีนโยบายให้ อำเภออันเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดเป็น อำเภอเมืองเหมือนกันทั่วประเทศ อำเภอมาบังจึงเปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอเมืองสตูล ก่อนหน้านี้จังหวัดสตูลมีอยู่เพียงสองอำเภอคือ อำเภอมาบัง และอำเภออุไหง อุเป ต่อมาได้มีการตั้งกิ่งอำเภอ และเลื่อนฐานะขึ้นมาเป็นอำเภอคือ อำเภอละงู อำเภอควนกาหลง อำเภอท่าแพ อำเภอทุ่งหว้า อำเภอควนโดน และกิ่งอำเภอมะนัง
            เดิมเมืองสตูลเป็นเมืองปิด ไม่อยู่ในเส้นทางผ่านไปสู่เมืองใกล้เคียง ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ กรมประชาสงเคราะห์ได้จัดตั้งนิคมสร้างตนเองขึ้นที่ ตำบลทุ่งนุ้ย และตำบลควนกาหลง เปิดโอกาสให้ผู้คนจากถิ่นอื่นเข้ามาตั้งถิ่นฐาน จึงทำให้มีผู้คนต่างถิ่นฐาน และต่างวัฒนธรรมมาอยู่ร่วมกัน ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เมืองสตูลได้เปิดเส้นทางถนนเชื่อมต่อกับจังหวัดตรัง ทำให้การเดินทางไปสู่จังหวัดชายทะเลฝั่งตะวันตก หรือฝั่งทะเลอันดามันสดวกยิ่งขึ้น นอกจากนั้น อุทยานแห่งชาติทางทะเลหมู่เกาะตะรุเตา กับหมู่เกาะเภตรา ก็ทำให้นักท่องเที่ยวจากต่างจังหวัด และต่างประเทศเข้ามาเที่ยวชมกันมาก และเนื่องจากจังหวัดสตูลอยู่ติดกับชายแดนมาเลเซีย ทางจังหวัดได้เปิดเส้นทางรถยนต์ เชื่อมต่อระหว่างจังหวัดสตูลกับ รัฐปะลิสเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ส่วนทางเรือจังหวัดสตูลร่วมกับบริษัทในมาเลเซียเปิดการเดินเรือโดยสาร ระหว่างจังหวัดสตูลกับเกาลังกาวี ในรัฐเคดาร์ในมาเลเซีย ทำให้สตูลเป็นเมืองเปิดมากยิ่งขึ้น

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |